วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

นิทานธรรมชาติ...(พันนที) Photo By Tun's Family.





นิทานธรรมชาติ...โดย พันนที
...Photo By Tun's Family...


ถ้าอยากรู้ว่า...​สายลมอ่อนโยนแค่ไหน
เพียงมองกิ่งไม้ไหวตามแรงลม
บางครั้ง...​เธอ​จะเห็นกิ่งไม้หยอกล้อสายลมสนุกสนาน

ถ้าอยากรู้ว่า...​ดอกไม้อ่อนหวานเพียงไร
เพียงมองผีเสื้อปีกสวยเกาะกลีบบาง
บางที...​เธอ​จะ​ได้ยินเสียงผีเสื้อทักทาย​กับดอกไม้

ถ้าอยากรู้ว่า...​น้ำค้างยามเช้า​สดชื่นเพียงใด
เพียงมองหยดใสแต้มใบเขียว
บางครั้ง...​เธอ​จะเห็นว่ามีสายรุ้งซ่อนอยู่​ในน้ำค้าง

ถ้าอยากรู้ว่า...​ท้องฟ้าขี้เล่นแค่ไหน
เพียงลองจ้องตา​กับปุยเมฆในวันฟ้าใส มีสายลมอ่อน
บางที...​เธออาจเห็นท้องฟ้า​กำลังเล่านิทานก้อนเมฆ

​ถ้าอยากเห็น​ความงดงามยามเย็น
เพียงมองดอกหญ้าล้อแสงตะวันสีอ่อน
แล้ว​เธอ​จะรับรู้​ได้ถึง​ความอบอุ่นของดวงตะวัน

​ถ้าอยากรู้ว่าโลกใบนี้สวยแค่ไหน
เพียงลองมองสีสัน​ที่ธรรมชาติ​แต่งแต้ม
​ถ้าอยาก​ได้ยินเสียงหัวใจของตัวเอง
เพียงลองฟังเสียงของธรรมชาติ

ทุกชีวิตพึ่งพา
อยู่​เคียงข้าง...​​เป็น​เพื่อนกัน
เรียบง่าย สงบ งดงาม

​แม้เพียงดอกหญ้า
ก็มี​ความงาม...​​และคุณค่า
ให้ผีเสื้อตัวเล็ก​ได้ชื่นชม

จากแสงก่อเกิด​เป็นเงา
ทอดตามทางดวงตะวัน
เปลี่ยนแปลง...​ไม่หยุดนิ่ง
เหมือนชีวิต...​​ที่เปลี่ยนตามช่วงเวลา
การเปลี่ยนแปลง...​​คือ ธรรมชาติ
สัจธรรม...​ธรรมชาติ

เพียงมีเวลาให้ตัวเอง
ฟังเสียง นกร้อง สายลม สายน้ำ
มองท้องฟ้า ใบหญ้า ดอกไม้
แล้ว​เธอ​จะ​ได้ยินเสียงหัวใจ​กำลังร้องเพลง

เพียง​ใช้ใจมอง
เธอ​จะพบว่าใน​ความเรียบง่ายของธรรมชาตินั้น​
ช่างมหัศจรรย์เกินกว่า​ที่เรา​จะคาดถึง
​และเราเอง​เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่ง​ของธรรมชาติ

​ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลง
หัวใจของเรา​จะมีอิสระโบยบินจากการยึดติด
เพียงเข้าใจว่า​ความ​ต้องการพื้นฐานของชีวิต​คืออะไร​
เธออาจพบว่า...​อะไร​​ที่มากเกิน

แล้ว​เธอ​จะพบว่า
​ความสุข​ที่เรา​กำลังไขว่คว้า
มันอาจไม่​ได้อยู่​ไกลเกิน​จะ​ได้มา...​อย่าง​ที่เราคิด
​เพราะบางที...​​ความสุขก็อยู่​ตรงหน้าเรามานานแล้ว​.












วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2553

นิทานเรื่องเล่า : "หัวใจร้อยดวงพวงชมพู" ...Photo by Amorn Tun.




นิทานเรื่องเล่า : "หัวใจร้อยดวงพวงชมพู"

รู้จัก “ พวงชมพู ” ไหม ดอกไม้ดอกเล็ก ๆ น่ารักสีชมพู มีกลีบดอกเป็นรูปหัวใจ ใบก็เป็นรูปหัวใจ เป็นไม้เลื้อยหัวใจอ่อนไหวไม่ว่าอยู่ใกล้ใครพวงชมพูก็จะเอาหัวใจผูกพันไว้อย่างเหนียวแน่น...

ทำไมพวงชมพูจึงมีดอกเป็นรูปหัวใจ มีเรื่องเล่าต่อๆกันมาว่า ในวันที่ราชินีแห่งนางฟ้าลงมาเยี่ยมเมืองมนุษย์ บรรดาตุ๊กตาและของเล่นต่างพากันมาร้องทุกข์กับพระนางว่าบ้านของตุ๊กตาไม่สงบสุขเหมือนแต่ก่อน ตุ๊กตาตัวใหญ่รังแกตุ๊กตาตัวเล็กและเพื่อนฝูง มีการทะเลาะเบาะแว้งกันในหมู่ตุ๊กตา จนเด็กๆเองก็ไม่อยากเล่นกับตุ๊กตาเหมือนอย่างเคย




“ทำไมเป็นอย่างนั้นเล่า ” ราชินีเอ่ยถามนางฟ้าที่นำตุ๊กตาลงมาให้เด็กๆ

“ อาจเป็นเพราะทุกวันนี้นางฟ้ามีงานยุ่งจนต้องทำตุ๊กตาในเวลากลางวันซึ่งเป็นเวลาที่จะหาละอองดาวมาทำหัวใจให้ตุ๊กตายากเต็มที ” นางฟ้าตอบ

“ ไม่มีหัวใจให้ตุ๊กตาอย่างนั้นหรือ ” ราชินีทวนคำ

“ เราจะต้องช่วยตุ๊กตาเหล่านี้ ” ราชินีครุ่นคิดพลางเหลือบไปเห็นพลอยรูปหัวใจที่ปลายคทา พระนางค่อยๆแกะพลอยออก ขุดหลุมบนผืนดินและฝังพลอยสีชมพูลงไป

“ จงเติบใหญ่เป็นหัวใจที่งดงาม ” นางฟ้ากระซิบบอกเบาๆ

คืนต่อมาพื้นที่ตรงนั้นก็ได้เกิดต้นไม้เล็กๆมีดอกเป็นรูปหัวใจสีชมพูดวงน้อยสดใสเป็นร้อย ๆดวง มากพอจะทำหัวใจให้ตุ๊กตาอย่างไม่รู้หมดสิ้น...

นี่แหละหนอที่มาของเรื่อง ..."หัวใจร้อยดวงพวงชมพู"...







๐ โลมเลื้อยเลาะเลียบรั้ว.........เข้ากอดตัวเป็นพุ่มไพร
ลมเชยรำเพยไหว..............ระริกพลิ้วตามริ้วลม

ดอกดวงเป็นพวงช่อ............งามละออละเอียดกลม
ชมพูช่างดูสม................เป็นช่อชั้นดูหลั่นงาม

สาดสีเข้าแทรกสี..............ดุจมณีอันวาววาม
ยลภาพให้วาบหวาม............กำซาบซ่านสะท้านใจ

พวงเอยชมพูเด่น..............เจ้าเปรียบเช่นมงกุฎไพร
แต้มแต่งความสดใส............ให้โลกสวยด้วยพวงพรรณ






วันพุธที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สถานที่นี้คือ...วิถีชาวบางกรูด




สถานที่นี้คือ......วิถีชาวบางกรูด

ลำน้ำบางปะกง... ที่ไหลผ่านบางกรูด ก็ทำให้เกิด วิถีชาวบางกรูดมากมาย ทั้งฃีวิตความเป็นอยู่ประจำวันอันผูกพันกับสายน้ำ ความเชื่อถือที่เคยมีมา การประกอบอาชีพทำมาหาเลี้ยงชีพ เรื่องเล่าขานอันมีทั้งความสุขความทุกข์ ความรื่นรมย์ ความระทมทุกข์ ความสวยสดงดงามและความโหดร้าย เนื่องจากชีวิตเรามักเป็นกระจกสองด้าน สะท้อนภาพตามจริงของมวลมนุษย์

จากลำน้ำที่เป็นแม่คงคา...ผู้ให้ต่อผู้คนสองฝั่งฟาก แม่ที่มองดูเงียบสงบเยือกเย็น โอบอ้อมอารี สวยงามน่าตะลึงแลในยามอรุโณทัยแรกเริ่มแห่งวัน จนอาทิตย์อัสดง และสุริยาลาลับกับคงคา รวมถึงรัตติกาลมาขานเยือน
ในบางคราวแม่คงคานี้ก็ได้กลืนกินชีวิตของผู้คนที่ถึงฆาตต้องพินาศดับสูญด้วยสายแห่งคงคานี้อยู่เนืองๆ
โดยพระแม่นี้ก็มิได้พิโรธโกรธเคืองแต่ประการใด หากเป็นเพราะบุญทำกรรมแต่งแห่งชีวิตเหล่านั้นโดยแท้
เหตุการณ์ที่เกิดซ้ำซากบ่อยครั้ง คือ มีคนตกน้ำตายทั้งเด็กทั้งคนเมา และคำว่าปาฎิหารย์สำหรับบางคนบางครอบครัว

ตัวผู้เล่าเองอยู่ในข่ายปาฎิหารย์
ในวัยเด็กก่อนการตั้งชื่อจริง ผู้เล่าเคยติดตามคุณน้าสะใภ้ที่ลงไปทำงานสวนในตอนสายของวันหนึ่ง คุณน้าสะใภ้ได้สอยมะพร้าวอ่อนให้กิน ปกติชาวสวนมีวิธีการใช้มีดโต้เฉือนเปลือกจากก้นลูกมะพร้าวอ่อนทำช้อนสำหรับตักเนื้อมะพร้าว แต่ผู้เล่าขอคุณน้าขึ้นมาบนบ้านเพื่อจะมาเอาช้อนหอย ( ชาวบางกรูดเรียกช้อนสังกะสี ที่มีสีเคลือบ สีแดง สีเขียว สีน้ำเงินว่าช้อนหอย) หลังจากนั้นก็ไม่ได้กลับไปที่คุณน้าสะใภ้ คุณน้าคิดว่าผู้เล่าคงเปลี่ยนใจอยู่บนบ้านไม่ลงไปกินมะพร้าวแล้ว จนบ่าย คุณน้าเสร็จงานก็กลับขึ้นบ้าน อีกพักใหญ่ก็เริ่มเอะใจที่ไม่พบผู้เล่าบนบ้าน จึงมีการถามหากันขึ้นว่า ผู้เล่าอยู่กับใครที่ไหน นอกจากคุณน้าสะใภ้แล้วตั้งแต่สายไม่มีใครพบเจอผู้เล่าเลย หาจนทั่วบ้านว่าไม่ไปแอบนอนที่มุมใดของบ้าน สิ่งแรกที่แม่คิดคือหัวสะพานบ้าน กระโดดลงไปงมหาลูกตัวเองตามหัวสะพานก็ไม่พบ ทุกคนยิ่งร้อนใจ จากหัวสะพานบ้าน(ของคุณยาย) เปลี่ยนไปงมที่หัวสะพานบ้านคุณยายคนเล็กที่อยู่ติดกัน ไม่พบอีกเหมือนกัน แม่เริ่มหมดหวังขึ้นมาบนหัวสะพานแล้วก็มองเห็นผู้เล่านอนหงายหน้าลอยติดกอเถาวัลย์ที่ยื่นออกมาริมฝั่งไม่ไกลกับหัวสะพานบ้านคุณยายเล็กนัก แม่ตกใจ ร้องกรีดๆ เรียกแต่ชื่อเล่นของผู้เล่า ตะลึงจนทำอะไรไม่ถูกนอกจากส่งเสียงกรีดๆตะโกน คุณยายเล็กได้สติก่อนใครเพื่อนลงน้ำไปอุ้มผู้เล่าขึ้นมาบนฝั่ง



เป็นความเชื่อของคนที่บางกรูดว่า หากเด็กตกน้ำถ้าพบเห็นภายหลัง พ่อหรือแม่เด็กลงไปอุ้มลูกตัวเองเด็กคนนั้นจะตายไม่รอดชีวิต ผู้เล่าคิดเอาเองว่าเป็นความเชื่อที่คงมาจากสถิติที่เคยมีมานั่นเองกระมัง

การปฐมพยาบาลเด็กตกน้ำ คือการวางตัวเด็กคว่ำบนบ่าของคนที่แข็งแรง คือผู้ชาย ให้ศรีษะและเท้าห้อยลงท้องวางบนบ่าคนแบก แล้วก็ออกวิ่ง แรงวิ่งทำให้บ่าคนวิ่งกระแทกท้องคนตกน้ำ น้ำที่กลืนกินเข้าไปในท้องก็จะไหลออกทางปาก เป็นการขับน้ำในท้องออกมา
วิ่งกันหลายคน วนกันหลายรอบสวนที่มีบริเวณ 5 ไร่เศษ ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับเด็กหญิงคนนี้ ระดมคนในบ้านและลูกนา จนบ่ายจัด เสียงเล่าก็ข้ามฝั่งแม่น้ำ ว่า ที่บ้านนี้มีเด็กตกน้ำตายเพราะตัวเด็กหญิงเริ่มเขียวแล้ว
พ่อกลับจากทำงานที่ตัวจังหวัดมาถึงวัดบางกรูดก็มีคนบอกว่า ลูกสาวตกน้ำตาย พ่อกระโจนลงเรือพายจ้ำไม่กี่พรวดก็กลับถึงบ้าน แต่เมื่อมาถึงก็พบว่าลูกสาวฟื้นแล้ว

อันเนื่องจากมีญาติ ชื่อ พี่อุทัยวรรณ สรรพ์พิบูลย์ ที่อยู่บ้านในคลองศาลเจ้าไปธุระที่อื่น ขากลับนั่งเรือเมล์มาขึ้นเรือที่บ้าน ( ขึ้นเรือ แปลว่าก้าวขึ้นจากเรือขึ้นฝั่งน้ำ ลงเรือ คือการก้าวลงจากฝั่งน้ำ นั่งในลำเรือ) พี่อุทัยวรรณ พยายามมาช่วยแก้ไขสถานการณ์ แล้วในที่สุดพี่อุทัยวรรณก็แนะนำให้ ก่อไฟกองใหญ่พอประมาณที่จะเอากระทะใบบัว (ที่เมื่อก่อนหุงข้าวให้คนงานกิน ใช้กวนกระยาสารท กวนกะละแม) คว่ำครอบถ่านไฟที่จุดนั้น เอากระสอบปูวางที่ก้นกระทะที่คว่ำอยู่ เอามืออังดูรู้สึกถึงความร้อนพออุ่นๆของกระสอบ เอาตัวเด็กวางพาดคว่ำหน้าให้ศรีษะและเท้าห้อยลงเหมือนอยู่บนบ่า แล้วก็รอเวลาปาฎิหารย์

ปาฎิหารย์เกิดจริงกับเด็กหญิง เมื่อร่างกายได้รับไออุ่น (หรือจะเป็นบางทีมีควันไฟปนเล็กน้อยจากถ่านฟืน) เด็กหญิงที่นอนเงียบมาเป็นชั่วโมงๆ ก็เกิดมีเสียงถอนหายใจเฮือกใหญ่ แล้วน้ำก็ไหลพรูออกจากปาก รอว่าน้ำหยุดไหลแล้ว ก็กลับเอาเด็กขึ้นพาดบ่าใหม่วิ่งกระแทกเพื่อให้น้ำออกจากท้องเร็วขึ้น
พ่อจึงตั้งชื่อเด็กหญิงคนนี้ว่าอมร แปลว่าไม่ตาย ห้วน สั้นตรงความหมาย ทั้งที่ลูกชายอีกสี่คนของพ่อตั้งอย่างค่อนข้างไพเราะแต่ก็มีความหมายตรงกับบุคลิคของแต่ละคนจริงๆ


ปาฎิหารย์ที่สองของบ้าน เกิดกับน้องสาวชื่อนุชนาถ เป็นลูกสาวของคุณป้าตกน้ำตอนอายุมากกว่าผู้เล่า วันนั้นน้องนุชเธอนุ่งกระโปรงบานลายดอกสีแดง
ในตอนสาย ญาติอีกบ้าน ชื่อ พี่สนั่น วงศ์พยัคฆ์ พายเรือกลับจากวัดบางกรูกด สังเกตเห็นผ้าลายดอกสีแดงลอยติดลำไม้ไผ่ที่ปักอยู่หน้าหน้าผู้เล่าห่างฝั่งพอประมาณ เนื่องจากเมื่อคืนพี่ประมุข สามีพี่อุทัยวรรณ เอาเรือยนต์ของตนและเรือพ่วงอีก 2-3 ลำ ออกมาจอดที่หน้าบ้านรอรุ่งเช้าเพื่อไปตวงค่าเช่านา ทิ้งลำไม้ไผ่ที่ใช้ปักเป็นหลักผูกเรือไว้ยังไม่ได้ถอนลำไม้ไผ่ออกไป



พี่สนั่นพายเรือมาใกล้จึงพบว่าเป็นเด็กหญิงนุชมีกระโปรงพันวนอยู่กับลำไม่ไผ่ ด้วยกระแสน้ำที่กำลังไหลขึ้น หงายหน้าอยู่เช่นกัน จึงพากลับขึ้นมาบนฝั่ง และก็รอดชีวิตกลับมาด้วยวิธีเดียวกัน
คงเนื่องจากเราสองคนเริ่มมีแรงที่จะดิ้นรนในการที่อยากมีชีวิตอยู่ เราสองคนจึงมีลักษณะของการหงายหน้าปริ่มน้ำและที่ลอยน้ำได้เพราะกินน้ำ(สำลักน้ำ) เข้าไปในท้องในปริมาณมากพอที่ทำให้ตัวลอยปริ่มน้ำอยู่ได้ เด็กหญิงนุชรอดตายเพราะกระโปรงพันลำไม้ไผ่ ไม่ลอยเลยออกไปไกลหน้าบ้านนัก ซึ่งกระแสน้ำก็แรงพอที่พัดพาเด็กหญิงนุช ออกไปไกลฝั่งหลายวาทีเดียว
ส่วนผู้เล่าที่ตกน้ำหลายชั่วโมง จากสายจนบ่าย หากลอยตามกระแสน้ำที่ไหลลง สุดจะดาได้ว่าจะลอยเลยบ้านไปถึงไหน คงสุดปัญญาที่มานั่งเล่าเหตุการณ์ ทั้งสองเรื่องนี้กับเพื่อนๆได้อ่านกัน ต้องขอบคุณกอเถาวัลย์เยื้องหน้าบ้านคุณยายเล็กและพี่อุทัยวรรณ ส่วนน้องนุช ก็ต้องขอบคุณ ลำไม้ไผ่ ของพี่ประมุข และตัวพี่สนั่น

เมื่อไปเรียนหนังสือผู้เล่าไปอยู่กับคุณน้าที่บ้านพักแพทย์ที่โรงพยาบาลนนทบุรี( ปัจจุบันคือโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าฯ) ที่มีบ้านพักหลังโรงพยาบาลอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา และมีท่าขึ้นลงเรือ เคยพบเห็นผู้ปกครองพาลูกหลานที่ตกน้ำมาโรงพยาบาลหลายครั้ง พบว่า ที่โรงพยาบาลจะรับตัวเด็กไว้แล้ว ผายปอดจับนอนให้น้ำเกลือ หรืออาจให้ออกซิเจน และส่วนใหญ่ ก็ไม่รอดชีวิต ( เพราะมันช้าเกินการ) ผู้เล่าเคยแนะนำให้ญาติใช้วิธีแบบกับที่ตัวเองเคยรอดชีวิตมา แต่ เขาเหล่านั้นเชื่อมั่นว่าเด็กมาถึงมือหมอน่าจะรอดกว่าคำบอกเล่า จากนิสิตคนหนึ่ง จริงๆแล้ว ขั้นตอนกว่าหมอจะได้มาเห็นเด็กก็นานพอที่เด็กจะฟื้นด้วย ภูมิปัญญาพื้นบ้านมากกว่าการผายปอด การให้น้ำเกลือ การใช้ออกซิเจน การให้ยาของการแพทย์สมัยใหม่ (ขออภัยกับความคิดนี้หากมีผู้ไม่เห็นด้วยนะคะ)

เรื่องเล่านี้คงพอมีประโยชน์ต่อไปภายหน้าสำหรับอีกหลายๆชีวิตที่ตกน้ำ อย่างน้อยก็ถือว่าเป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้น แต่ก็คงมีปัญหากับเรื่องของการก่อกองไฟ และกระทะใบใหญ่อย่างคำบอกเล่า ว่า มีทุกบ้านหรือไม่เพราะความทันสมัยเข้ามาเยือน บ้านริมน้ำก็อาจไม่มีฟืน ไม่มีถ่าน เลิกทำขนมด้วยกระทะใบใหญ่ๆ

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่จบลงด้วยความเศร้าโศกระทมทุกข์
เยื่องหน้าบ้านคนละฝั่งน้ำ มีโรงสีขนาดเล็กของนายบู๋เลียด วันหนึ่ง ลูกสะใภ้แม่ลูกอ่อน อุ้มลุกน้อยมาอาบน้ำที่บันไดของโรงสี เพราะน้ำขึ้นเต็มฝั่ง
บันไดของโรงสีนี้แตกต่างจากบันไดสะพานท่าน้ำตามบ้านคนทั่วไป คือ บันไดของโรงสี ใช้ไม้กระดานตีเป็นแผงขึงเต็มหน้าพื้นที่ที่ติดชายแม่น้ำ เป็นแผงไม้กว้างใหญ่ เพื่อการขนข้าวขึ้นลงเรือและโกดังโรงสี แผงไม้นี้ทอดเอียงให้ลาด พอเดินได้ไม่ชันนัก เวลาคนแบกข้าวขึ้นลง และใช้งานได้กว้างขวาง การจอดเรือเพื่อทำงานนี้ได้หลายลำพร้อมๆกัน บนแผงไม้ใช้ไม้หน้าสาม ตีเป็นขั้นๆ ค่อนข้างถี่ ดังนั้นใต้ผืนน้ำเวลาที่น้ำขึ้นจะมีแผ่นกระดานของแผงไม้รองรับตลอดแนว

ขณะอาบน้ำให้ลูกน้อยนั้น เนื้อตัวเด็กที่ถูกน้ำ จะทำให้ตัวเด็กลื่นๆ แม้ไม่ถูตัวด้วยสบู่ อยู่มากกว่าผิวเด็กที่ไม่ถูกน้ำ ไม่ทราบว่าขณะนั้นใช้สบู่กับตัวเด็กด้วยหรือไม่ จู่ๆ หนูน้อยก็พลัดหลุดจากมือแม่ หลุดลอยไป แม่ไล่คว้าไม่ทัน ในลักษณะ เด็กจมน้ำ แม่ก็พยายามควานหาลูกและร้องให้คนช่วย
คนอีกฝั่งแม่น้ำ ได้ยินเสียงตะโกนโหวกเหวก เห็นคนงานของโรงสีกระโดดลงน้ำที่ท่าน้ำ พวกเราที่อยู่คนละฝั่งเห็นแต่ความโกลาหล
แล้วคำเล่าสู่กันฟังในวันรุ่งขึ้นที่ตลาดบางกรูดว่า เด็กน้อยตกน้ำตายในวันนั้น ด้วยเหตุการณ์ข้างต้น

น่าใจหายกับคุณแม่ท่านนี้คงเป็นฝันร้ายไปตลอดชีวิตที่ทำลูกหลุดพลัดจากมือแม่เองตามไขว่คว้าได้สัมผัสลูกไหวๆสุดท้ายเพียงปลายมือ ก็ไม่มีใครเขาพาเด็กอ่อนลงอาบน้ำในแม่น้ำกันสักบ้าน.
กับอีกข่าวว่ามีคนโน้นคนนี้เมาตกน้ำตาย


เมื่อย้ายบ้านจากบางกรูดมาอยู่ในที่ดินที่คุณยายยกให้แม่ แม่เคยพาหลานสาวอายุขวบกว่าๆนั่งเรือพายในคูน้ำ หลานสาวคนนี้ซุกซน ลุกขึ้นยืนแล้วตกป๋อมลงในคูน้ำ แม่เล่าว่า หลานสาว ลงไปนอนแอ้งแม้งลักษณะหงายท้อง เนื่องจากน้ำตื้นเพราะเป็นคูน้ำเอง แม่จึงมองเห็นท่านอนแอ้งแม้งของหลานคนนี้ โดยที่หลานเขาไม่ได้เคลื่อนไหวมือหรือเท้าของตัวเองเลย เลยทำให้มองภาพว่า หากเด็กเล็กเกินไปตกน้ำมือเท้าก็จะไม่ช่วยในการไขว่คว้าหาทางรอดละกระมัง และหลานสาวเขานุ่งกางเกงขาสั้นไม่เป็นกระโปรงที่ช่วยต้านน้ำ

ในวัยเด็กของผู้เล่าเด็กหญิงส่วนใหญ่นุ่งผ้าซิ่นขนาดของเด็กหรือกระโปรงกันเพราะกางเกงจะเย็บยากกว่า จึงมีแต่เด็กชายนุ่งกางเกงขาสั้นกัน
โดยเฉพาะผ้าซิ่น เมื่อนุ่งกระโจมอก แล้วเปิดริมชายผ้าซิ่นด้านปลายเล็กน้อยใช้มือวักอากาศเข้าในผ้าซิ่น เรียกว่าการตีโปง ก็จะได้โปงผ้าซิ่นลอยตุ๊บป่องช่วยพยุงตัวในน้ำ แล้วก็จะค่อยๆแฟบลง ก็ตีโปงกันใหม่อีกได้ตลอดเวลา



คนที่มีบ้านเรือนอยู่ริมน้ำต้องฝึกหัดเด็กภายในบ้านให้ ว่ายน้ำเป็นและพายเรือเป็น หลังจากสอนให้เด็กๆรู้จักการใช้มือพุ้ยน้ำใช้เท้าถีบตัวเองให้เคลื่อนที่ในน้ำ ใช้เท้ากระทุ่มน้ำได้ เด็กก็ต้องช่วยตัวเองด้วยการใช้เครื่องช่วยชูชีพที่มีอยู่ในธรรมชาติ เช่นการใช้มะพร้าวแห้งเจาะทำเชือกผูกเป็นคู่ วางระหว่างอกหรือการเกาะสะโพกจากเป็นทุ่นช่วยพยุงตัว เมื่อว่ายน้ำได้แล้วจึงจะหัดการพายเรือเผื่อว่าเรือล่มจะได้ไม่เกิดอันตราย

การมีบ้านอยู่ริมน้ำ เราก็มีหน้าที่อย่างหนึ่งที่เป็นไปเองโดยอัตโนมัติ คือเป็นหน่วยกู้ชีพช่วยเหลือคนที่เรือล่ม โดยเฉพาะในเวลาที่คลื่นลมแรงมักมีเรือล่มกลางแม่น้ำที่มีคลื่นแรง บางครั้งก็เป็นพระที่พายเรือบิณฑบาตข้ามฟากแม่น้ำในตอนเช้าเพราะทรงตัวในเวือไม่ดี เด็กผู้ชายในบ้านก็มีวีรกรรมนี้ให้ทำอยู่บ่อยครั้ง แม่น้ำก็ได้สร้างนิสัยการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทนด้วยวิถีแห่งธรรมชาติ



แม่น้ำก่อให้เกิดอาชีพประมงหลากหลายรูปแบบ เช่นทำโพงพาง การรออวน การพายกุ้ง การตกกุ้ง การตกปลา การทอดแห การล้อมซั้ง การปิดคลอง การยกยอ การไล่ช้อนกุ้งปลาตามริมฝั่ง เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆล้วนคิดกันขึ้นมาตามพื้นภูมิปัญญาชาวบ้าน ภาพการหาเลี้ยงชีพหมุนเวียนกันไปตามฤดูกาลและระบบนิเวศของลำน้ำ ผู้คนขวักไขว่เคลื่อนไหวเติมสีสันให้กับลำน้ำ

เด็กๆกับการแข่งว่ายน้ำ พายเรือ เป็นของธรรมดา บางครั้งก็มีการแข่งว่ายข้ามแม่น้ำ การแข่งพายเรือของเด็ก พายเดี่ยวด้วยเรือที่มีอยู่ไม่ใช่แข่งเรือยาวซึ่งมักจะมีในเทศกาลงานใหญ่ๆ ดังนั้นหากเรือใครเป็นเรือบด ก็จะได้เปรียบในรูปทรงของเรือที่เรียวเพรียวทั้งลมและกระแสน้ำ

การแข่งดำน้ำ ว่าใครจะทนอึดดำน้ำได้นานกว่ากัน การกระโดดน้ำจากหัวสะพาน การพุ่งหลาวลงน้ำ เด็กผู้หญิงมักสู้เด็กผู้ชายไม่ได้ แถมเด็กหัดใหม่ก็จะถูกพี่ๆผู้ชายกลั่นแกล้งหลอกให้กระโดดด้วยการเอาท้องลงน้ำ จุกกันไปหลายยกกว่าจะรู้ตัวว่าโดนหลอก ถ้าน้ำขึ้นไม่มากเอาหัวพุ่งลงมาหัวจิ้มดินเลนก็มีบ่อยๆ แต่ที่อกสั่นขวัญหาย ก็อยู่ตรงที่ พี่ๆแอบดำน้ำมาฉุดขาลากไปให้จมน้ำสำลักกระอักกระไอ เพราะมักมีคำโจษขานว่าในลำน้ำมีผีพรายจ้องมาฉุดเด็กๆ แต่แม้จะหวั่นกลัวแต่เด็กริมน้ำเปรียบก็เหมือนปลา เห็นน้ำแล้วก็อยากลงเล่น ลงว่ายโดยเฉพาะเล่นเป็นกลุ่มหลายๆคน มีเรื่องให้ตื่นเต้นสนุกสนาน เล่นน้ำกันจนนิ้วมือเหี่ยวเซียวซีด พวกผู้ใหญ่ต้องมาร้องเรียกให้เลิกเล่นน้ำกันบ่อยๆ บางทีเราพายเรือออกห่างฝั่ง แล้วก็กระโดดลงน้ำ ว่ายพาเรือเข้าฝั่งก็มีเหนื่อยก็เหนื่อย มาถึงวันนี้ยังแปลกใจว่าวิธีเล่นแบบนี้สนุกตรงไหนกันหนอ เป็นเพราะเด็กๆก็พยายามคิดค้นหาวิธีเล่นน้ำให้ดูแปลกพิสดารเท่านั้นเอง

พิษสงของการเล่นน้ำ บางที่ก็เป็นไข้หากเล่นตอนแดดจัด และบางทีก็เกิดเป็นหูน้ำหนวกรักษากันยาวนาน




...ลีลา...มาลี... Photo by Amorn Tun.














วันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2553

นิทานเรื่องเล่า : ตำนานรักอันยิ่งใหญ่...ของหิ่งห้อยและต้นลำพู



มีตำนานที่สืบทอดกันมานานกล่าวว่า
หิ่งห้อยคือวิญญาณของชายที่จุดตะเกียงโคมตามหา
หญิงคนรักที่ชื่อนางลำพูซึ่งจมหายไปในแม่น้ำ
เพราะฉะนั้นลำพูจึงเป็นต้นไม้ที่หิ่งห้อยชอบเกาะเนื่องจากความเชื่อที่ว่า
.....เป็นวิญญาณของคนรักของตน....

นิทานเรื่องเล่าเกี่ยวกับตำนานหิ่งห้อยกับต้นลำพูคงมีอีกมากมายทั่วโลก... เนื่องด้วยความมหัศจรรย์ของแมลงตัวน้อยที่เปล่งแสงยามค่ำคืนได้แบบนี้ แท้จริงแล้วตามข้อมูลทางวิทยาศาสตร์นั้น หิ่งห้อยจะเปล่งแสงเพื่อหาคู่กันต่างหาก ส่วนเรื่องลึกลับที่เดาไปต่างต่างนานา..ว่าทำไม... หิ่งห้อยต้องอยู่กับต้นลำพูด้วย..เพราะว่าใบของต้นลำพู เป็นแหล่งเก็บน้ำค้างอย่างดี อีกทั้งต้นลำพูยังเป็นแหล่งของเพลี้ยมากมาย หิ่งห้อยจึงมักมาเกาะกิ่งใบของต้นลำพูเพื่อหาอาหารและกินไข่เพลี้ยนั่นเอง...



ตำนานรักอันยิ่งใหญ่...ของต้นลำพูและหิ่งห้อย

ตำนานรักอันยิ่งใหญ่...ของหิ่งห้อยและต้นลำพู อีกเรื่องหนึ่งที่จะขอนำมาเล่าไว้ ณ ที่นี้ มีเนื้อความที่สนุกสนานดังนี้...

ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีชายหนุ่มชาวสวนผู้ขยันขันแข็งชื่อลำพู ได้ปลูกพืช ผัก และต้นไม้ทั้งหลาย ไว้ในสวนของเขาอย่างมากมาย ทำให้สวนของลำพูมีแต่ความร่มรื่น

หิ่งห้อย คือสาวน้อยแสนสวยประจำหมู่บ้าน นางเป็นหญิงสาวที่อ่อนหวาน มีจิตใจอ่อนโยน และนางเป็นที่รักของชายหนุ่มลำพู.. ทุกๆเย็น สาวน้อยหิ่งห้อยจะมานั่งพรอดรักกับคู่รักของนาง ที่สวนของชายหนุ่มเป็นประจำ

ภายในหมู่บ้านแห่งนี้มีเศรษฐีคนหนึ่ง มีลูกสาวที่ชื่อว่ากิ่งก้าน กิ่งก้านเป็นผู้หญิงที่เด็ดเดี่ยว และบ้าบิ่น สิ่งใดที่นางต้องการ นางจะต้องหาทางเอามาให้ได้ ไม่ว่าของสิ่งนั้นจะได้มาด้วยความยากลำบากสักเพียงใด

วันหนึ่งกิ่งก้านได้เดินทางไปถึงสวนของชายหนุ่มลำพู นางชื่นชมในความร่มรื่นของสวนยิ่งนัก จึงได้สั่งให้คนรับไช้ไปตามเจ้าของสวนออกมาพบ แต่ทว่า พอนางได้พบหน้าหนุ่มลำพู นางก็หลงใหลในตัวของชายหนุ่มยิ่งนัก



กิ่งก้านได้แต่พร่ำเพ้อหาหนุ่มลำพู นางต้องการหนุ่มลำพูมาเป็นคู่ครองของนางให้ได้ โดยที่ไม่สนใจว่าหนุ่มลำพูมีคู่รักอยู่แล้วก็คือ สาวหิ่งห้อย ลำพูอัดอัดใจเป็นยิ่งนัก ชายหนุ่มปฎิเสธความรักของสาวกิ่งก้านอย่างไม่ใยดี สาวกิ่งก้านรุกหนัก ไม่ยอมแพ้ และนั่นทำให้หนุ่มลำพูตัดสินใจชวนคนรัก แม่สาวหิ่งห้อย หนีไปด้วยกัน สาวหิ่งห้อยตอบตกลง คนรักทั้งคู่นัดกันในคืนเดือนแรมที่จะมาถึงนี้ บริเวณสวนของชายหนุ่ม

แต่นั่นไม่ได้รอดพ้นจากสายตาของสาวกิ่งก้าน เมื่อถึงคืนเดือนแรม ในเวลานัด สาวกิ่งก้านก็คืออุปสรรคความรักของลำพู และหิ่งห้อย

ท่ามกลางฝนฟ้าคะนอง มีแต่เพียงชายหาปลาคนหนึ่งเท่านั้น ที่มองเห็นว่า สาวกิ่งก้านยื้อยุด ฉุดกระชากหนุ่มลำพูไว้ และหลังจากนั้น ก็ไม่มีใครได้พบกับคนทั้ง 3 อีกเลย...

จนกระทั่งเวลาผ่านไป บริเวณคลองน้ำริมสวนของหนุ่มลำพู ก็มีต้นไม้ต้นหนึ่ง โผล่ขึ้นมา และพอตกกลางคืนรอบๆต้นไม้ต้นนั้น ก็จะมีแมลงตัวเล็กๆมีแสงสวยงาม บินรอบๆต้นไม้ ส่องแสงอย่างมีความสุข แต่ตรงโคนของต้นไม้นั้นเล่า กลับมีต้นไม้อีกชนิดหนึ่งแผ่ราก งอกขึ้นมายึดโคนต้นไม้ไว้ ชาวบ้านจึงเรียกต้นไม้นั้นว่า ต้นลำพู และเรียกแมลงที่ส่องแสงสวยงามนั้นว่า หิ่งห้อย และนี่ก็คือตำนานรัก ของต้นลำพู และหิ่งห้อย



" ต้นลำพูคือผู้ชาย ที่มีคนรักคือหิ่งห้อยที่เป็นผู้หญิง
ส่วนต้นโกงกางนั้น เป็นผู้หญิงอีกคนที่มาหลงรักต้นลำพู
หากต้นลำพูไม่สนใจต้นโกงกางเลย

ครั้นพอต้นลำพูจะตามหิ่งห้อยไป
โกงกางก็แผ่รากยึดลำพูไว้ด้วยความอาลัยรัก
นั่นคือ..ที่มาของต้นโกงกางที่มีรากมากมาย
และหิ่งห้อยจึงชอบอยู่คู่กับต้นลำพู..."



วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2553

[Article] 12th August - National Mother’s Day of Thailand (H.M. THE QUEEN'S BIRTHDAY)


[Article] 12th August - National Mother’s Day of Thailand (H.M. THE QUEEN'S BIRTHDAY)
Cr. - thaiworldview / National Mother’s Day of Thailand : Thai Language's Article by Ladymoon
Repost : http://bangkrod.blogspot.com/

The 12 August is Her Majesty Queen Sirikit's birthday or วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ in Thai language. This public holiday is celebrated nationwide as Mother's Day ("WAN MAE HENG CHAT" - วันแม่แห่งชาติ). The Queen is considered as the mother of all Thai people.

Starting a few weeks before the Queen's birthday, all buildings are covered up with Royal symbols and portraits of Her Majesty all over the Thai kingdom.

Born in 1932, Her Majesty the Queen has captured the hearts of the Thai people through her devotion to improving the welfare and well-being of her subjects. The Queen is also known for her efforts in reviving Thailand's folk arts and crafts. Her Majesty's SUPPORT Foundation (Foundation for the Promotion of Supplementary Occupations and Related Techniques) has been established in 1976 to include craft shops in the city and popular tourist areas. It also includes two Thai Folk Arts and Crafts Training Centers at Chitralada Villa and at Bangsai in Ayutthaya.

Every year in August, huge portraits of Her Majesty are raised in temples, administrative buildings, schools, houses, shops by individual people and organizations.

Despite her high office as Queen of the nation, Her Majesty Queen Sirikit is a mother highly regarded by her children. She brought them up in the mold of traditional Thai values in which the junior pay respect to the elder, obey their seniors and learn to be self-sufficient. The benevolence of Her Majesty the Queen praised by her subjects explains the love she has earned from her people who regard her as Mother of the Nation.



On the 12 August early morning time, Thai Buddhist people go to temple and make offerings to monks as usual.

On 12 August, jasmine, symbolic of the selfless virtue of a mother who gives life to her children, is seen everywhere in Thailand. Charitable activities, food offering to monks and donations are part of the events of the day to express children's gratitiude to every mother.

National flags decorate buildings to wish Her Majesty many happy returns of the day and a long life ("SONG PHRA CHAROEUN" - ทรงพระเจริญ).

In civil administrations, there are specific gatherings for the Queen's birthday. On this occasion, civil servants wear their most beautiful clothes. Then they listen to Buddhist sermons and to their director's speech.

During this day or the day before, mothers go to Thai schools. Children say little speechs about their love to their mother. Then every child stand in front of his mother, greet her feet ("WAI" - ไหว้) and say their love towards their mother.



Here is a little Thai text given in temples on 12nd August:

แม่ แม่ แม่ คำนี้ มีความหมาย - Mother Mother Mother. This word has a meaning,
มีพระคุณ มากมาย หลายสถาน - a lot of obligation.
แม่่เป็นได้ หลายสิ่ง หลายประการ - Mother is a lot of things, a lot of sorts.
เป็นธนาคาร เป็นพระพรหม เป็นร่มไทร - She is a bank, she is Brahma, she is tree shade.
เป็นผู้ให้ กำเนิด เกิดลูกรัก - She is giving birth to her children.
เป็นผู้ให้ ที่พัก พิงอาศัย - She is giving them a place to stay.
เป็นผู้ให้ ความการุญ อุ่นกายใจ - She is giving them kindness, warmth.
เป็นผู้ให้ อะไรอะไร ไม่รามือ - She is giving them everything, never slowing down.
ลูกเจ็บไข้ แม่ก็ให้ การรักษา - When the children are sick, the mother cure them.
ลูกโตมา แม่ก็ส่ง เรียนหนังสือ - When the children are growing, the mother sends them studying.
ลูกต้องการ ตำรา แม่หาซื้อ - When the children want something, the mother buys for them.
ลูกปรึกษา หารือ แม่ยินดี -
When the children consult their mother, she welcome them.




วันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2553

'Aim - Aun' : The Music for 'National Mother's Day of Thailand' / อิ่มอุ่น : ศิลปินต้นฉบับ - ศุ บุญเลี้ยง




เนื้อเพลง: อิ่มอุ่น
ศิลปินต้นฉบับ : ศุ บุญเลี้ยง


อุ่นใดๆ โลกนี้มิมีเทียบเทียม
อุ่นอกอ้อมแขนอ้อมกอดแม่ตระกอง
รักเจ้าจึงปลูก รักลูกแม่ย่อมห่วงใย
ไม่อยากจากไปไกล แม้เพียงครึ่งวัน
ให้กายเราใกล้กัน ให้ดวงตาใกล้ตา
ให้ดวงใจเราสองเชื่อมโยงผูกพัน

อิ่มใดๆ โลกนี้มิมีเทียบเทียม
อิ่มอกอิ่มใจ อิ่มรักลูกหลับนอน
น้ำนมจากอก อาหารของความอาทร
แม่พร่ำเตือนพร่ำสอน สอนสั่ง
ให้เจ้าเป็นเด็กดี ให้เจ้ามีพลัง
ให้เจ้าเป็นความหวังของแม่ต่อไป

ใช่เพียงอิ่มท้อง
ที่ลูกร่ำร้องเพราะต้องการไออุ่น
อุ่นไอรัก อุ่นละมุน
ขอน้ำนมอุ่นจากอกให้ลูกดื่มกิน





อิ่มอุ่น : ศิลปินต้นฉบับ - ศุ บุญเลี้ยง Download

อิ่มอุ่น : สุนารี ราชสีมา - Download





'Aim - Aun'
The Music for 'National Mother's Day of Thailand'
Artist : Su Boonleang (Composer & Song Writer)
Original Translation by Roytavan

"No other warmnesses in this world can be compared,
the warmness of dearest mum's cuddle.
You are the seed of love that mum will prudently take care of.
doesn't want to be apart, event half a day.
Let us be together, let our eyes contact
Let our two hearts be binded

No other fullnesses in this world can be compared
To the mum's heart full of love when see you are happily sleeping
Milk from the breasts is food of compassion
Mum keeps teaching to make a good and strong child out of you.
And to make you the hope of her.
It's the cry for mummy's warm milk.

Not only to be fed, the reason cries the baby,
But it is the cry for delicate warmness"

*******************


วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2553

..เล่าเรื่อง...เพลงลมหวน...



เพลงลมหวน เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง "แม่สื่อสาว" ประพันธ์คำร้องและทำนองโดย หม่อมหลวงพวงร้อย สนิทวงศ์และหม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์ ขับร้องโดย โสภา อุณหกะ เมื่อ พ.ศ. 2481 ภายหลังนำมาขับร้องใหม่โดย สวลี ผกาพันธ์, ดนุพล แก้วกาญจน์ และอรวรรณ เย็นพูนสุข

ภาพยนตร์ "แม่สื่อสาว" เป็นภาพยนตร์ขาวดำ สร้างโดยบริษัทอัศวินภาพยนตร์ ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล นำแสดงโดย ปริม บุนนาค (ผู้ซึ่งต่อมากลายเป็นหม่อมของพระองค์) เริ่มฉายเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2481


คำร้อง: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล
ทำนอง: หม่อมหลวงพวงร้อย สนิทวงศ์ / หม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์


ลมหวนชวนให้คิดถึงความหลัง
ภวังค์จิตคิดขื่นขมระทมใจ
ตัวใครเป็นคนผิดอยากถามนัก
รักไยใจจะกลับดังลมหวน
ใกล้เรากล่าวถ้อยนัยที่รัก
เจ็บนักพอถึงอื่นก็คืนคำ
มาทำชิดสนิทใหม่ใครจะเชื่อ
เบื่อแล้วไยจะมารับกลับคืน
ใกล้เรากล่าวถ้อยนัยที่รัก
เจ็บนักพอถึงอื่นก็คืนคำ
มาทำชิดสนิทใหม่ใครจะเชื่อ
เบื่อแล้วไยจะมารับกลับคืน...



ไวโอลิน บรรเลง...เพลงลมหวน : Download
เพลงลมหวน ขับร้องโดย ปาน ธนพร : Download





...ขนมโสมนัส...




...ขนมโสมนัส...

โสมนัส แปลว่า ความสุขใจ ความปลาบปลื้ม ความเบิกบาน

มองผ่านๆ หลายท่านอาจคิดว่า นี่คือขนมผิง ซึ่งไม่ใช่แน่นอน ขนมในภาพนี้ชื่อขนมโสมนัส ของจริงแท้แน่นอน เมื่อต้นปี พลอยโพยม ไปกราบอวยพรปีใหม่ คุณครู ได้ให้ขนมมากล่องหนึ่ง ท่านเล่าว่าท่านจบโรงเรียนการเรือนมา เมื่อมาอยู่ที่โรงเรียนดัดดรุณี ใหม่ๆ ท่านสอนการเรือนด้วย และได้สอนให้นักเรียนทำขนม โสมนัส นี้ด้วย นักเรียนหลายรุ่นหลายชั้น มีนักเรียนท่านหนึ่งทำขนมโสมนัสนี้ถูกใจท่านเพียงคนเดียว รุ่นพี่ท่านนี้ รุ่นพี่ห่างกับพลอยโพยมแบบมองไม่เห็นฝุ่น ต่อมารุ่นพี่ท่านนี้ ก็ ทำงาน มีครอบครัว ไม่ค่อยมีเวลามากนัก แต่ก็ยังทำขนมโสมนัสนี้มาให้ท่านบ้าง ต่อมาก็กลายเป็นคุณครูท่านมักจะขอให้ลูกศิษย์ท่านนี้ทำขนมโสมนัสให้ท่านนำไปแจกเทศกาลปีใหม่ ท่านอธิบายว่า นอกจากขนมดูสวยงาม รสชาติดีแล้ว ชื่อยังเป็นมงคล ที่คุณครูท่านได้นำความเบิกบาน ความสุขใจ ไปมอบให้ บุคคลที่ท่านนำไปมอบให้

เมื่อนำขนมกลับมาบ้าน ได้แบ่งขนมนี้สามส่วนส่วนหนึ่ง เก็บไว้รับประทาน (แบบชิมๆ ทุกคนที่ลองชิม บอกว่าอร่อยมากทุกคน เคยรับประทานที่อื่น ไม่ใช่รสชาติแบบนี้)อีก สองส่วน นำไปใส่บาตร และใส่ในเครื่องถวายสังฆทาน ในวันที่ใส่บาตร ได้กราบเรียนพระคุณเจ้าว่า ท่านเจ้าคะ ขนมถุงนี้เป็นขนมโบราณทำยาก และอร่อยมาก ดิฉันได้มาจากคุณครู ชื่อขนมโสมนัสเจ้าค่ะ ไม่ใช่ขนมผิงนะเจ้าคะ ท่านยังกรุณาบอกวิธีทำให้มาด้วย ใครที่ทำเป็นลองปรับวิธีการดูนะคะ สำหรับคนที่ทำไม่เป็น ลำบากหน่อยละค่ะ เพราะจะไม่ลงรายละเอียดถึงสูตร สัดส่วนนะคะ เล่าแต่วิธีการ
ขนมโสมนัสของคุณครู ทำวันเดียว คงไม่สำเร็จ



ขั้นตอนที่หนึ่ง ใช้มะพร้าวทึนทึก (หมายถึงมะพร้าวที่จวนจะแก่ ความสำคัญอย่างหนึ่งคือต้องรู้ว่า เนื้อมะพร้าวทึนทึก ที่กำลังดี นำมาขูดด้วยกระต่ายจีน (เครื่องมือขูดมะพร้าว ใช้ลวดตอกเป็นฟันถี่ ๆ บนหน้ากระดานสำหรับขูดมะพร้าวที่กะเทาะกะลาออกแล้ว.) มะพร้าวที่ได้จะเป็นมะพร้าวฝอยกว่า ขูดด้วยกระต่ายธรรมดา นำมะพร้าวนี้ไปคั่วให้กรอบ ต้องใช้ฝีมือที่จะคั่วให้กรอบเสมอกันแต้องระวังไหม้ด้วย จะทำให้มะพร้าวขม มะพร้าวเย็นดีแล้ว ก็เก็บใส่ปี๊บไว้ก่อน (เนื่องจากเป็นขนมโบราณ ก็ขอให้ย้อนไปสัก 60-70 ปีก่อนด้วยนะคะ

สมัยนั้น ไม่มีกล่องพลาสติค ไม่มีทัพเพอร์แวร์ รวมทั้งไม่มีถุงพลาสติคนะคะ ปี๊บที่ว่านี้เด็กรุ่นใหม่จะไม่รู้จัก ไม่ใช่ปี๊บใส่น้ำตาลปี๊บในท้องตลาดหรือปี๊บนำมันก๊าด ตัวสังกะสีที่ทำปี๊บ เนื้อหนา มีสีเขียว บ้าง สีน้ำตาลบ้าง คุณครูบอกว่า เป็นปี๊บที่ใส่สินค้ามาจากประเทศจีน ที่ด้านบนจะมีฝาปิดยกขอบสูงจากพื้นหน้าตัดของปี๊บด้านบน บางรุ่นก็มีห่วงรีๆสำหรับดึงฝาปี๊บขึ้นจากตัวปิ๊บ มีหลายขนาด (ที่บ้านพลอยโพยมคุณยายเอาไว้ใส่กระยาสารท ขนมแห้งๆ มีปี๊บเหลือๆก็ใส่หมากแห้งได้ด้วยฝาปิดแล้วหมุนนิดๆ ก็ถือว่าปิดได้สนิทในระดับหนึ่ง เพราะกระยาสารท เก็บได้ เป็นเดือนๆ โดยไม่ชื้น ในสมัยโบราณ ภาชนะใส่ของสำหรับเก็บไว้ มี ไม่กี่อย่าง เช่น ปี๊บ ไห และโหล ส่วนใหญ่ล้วนเป็นภาชนะที่ใส่สินถ้ามาจากจีน เช่นโหลซึ่งใส่ยาจีนมา ส่วนไห ก็ ไหกระเทียม ไหเต้าเจี้ยวเป็นต้น สำหรับในปัจจุบัน ก็ไม่ยากแล้ว ใช้การอบด้วยประสบการณ์ใหม่ ว่าใช้เวลาอบนานเท่าไร นะคะ

ขั้นตอนที่สอง นำน้ำตาลทรายไปเคี่ยวไฟ (ไม่ใช้คำว่าต้มน้ำแน่ค่ะ ต้องใช้คำว่าเคี่ยว เพราะจะต้องเคี่ยวจนน้ำตาลแห้งเป็นเกร็ด ใหม่อักครั้งไม่เหลือน้ำในน้ำตาล จากนั้นใช้ช้อนค่อยๆขูด น้ำตาลทรายเกร็ดนี้ออกมาใส่ตะแกรงตาละเอียด บางคนเรียกว่าว่าแล่ง แล่งจนน้ำตาลร่อนลงมาอยู่ใต้แล่ง เป็นการกรองให้น้ำตาลเกร็ดละเอียดได้ที่ (สมัยใหม่ บางคนใช้เป็นน้ำตาลไอซิ่ง)
ทั้งสองขั้นตอนยากที่ต้องใช้ความใจเย็น และฝีมือ หากทำปริมาณมากก็ใช้เวลาไป 2 วันแล้ว



ขั้นตอนที่สาม นำไข่ต่อยใส่กะละมัง แยกไข่ขาวออกจากไข่แดง (สำนวนที่ช่างของหวานเรียกกัน คือเรียกว่า รีดไข่ ( อ้อ ตอนที่ตอกไข่ใส่กะละมังหรือ ภาชนะอื่นๆ จะมีเศษไข่ขาวคงค้างที่ฟอง นิดหนึ่งนะคะส่วนนี้ช่างของหวานเรียกว่าน้ำค้าง ซึ่งในการทำฝอยทองต้องแยกน้ำค้างส่วนนี้ไว้ต่างหาก เป็นส่วนผสมไจ่แดงที่ จะโรยฝอย) การรีดไข่ ใช้มือขวาช้อนไข่ขึ้นมาวางบนมือซ้าย แล้วใช้มือขวา ค่อยๆรีดไล่ไข่ขาวออกจากไข่แดงจนหมด ก่อนหมด จะมีจุดข้นเหมือนขั้วของไข่ขาวนิดนึงด้วยนะคะ ถ้ารีดเด็ดไม่ดีไข่แดงก็แตกออกมา ไม่เป็นไข่แดงกลมๆ การรีดไข่ก็ต้องใช้ฝีมือด้วย ทำเบาๆค่ะ ทะนุถนอมแต่ห้ำหั่นให้สะบั้นแยกไข่ขาวไข่แดงออกจากกัน นำไข่แดงไปทำขนมมากมาก ที่ใช้ไข่แดงล้วนๆ
ใช้แต่ไข่ขาวนะคะ ทำมาตีให้ขึ้นฟู ต้องฟูจริงๆนะคะ บางท่านอาจใส่น้ำมะนาวเพื่อให้ไข่ขึ้นฟู แต่ของคุณครูไม่ใส่ค่ะ ตีไข่ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะฟู ไม่ต้องใช้ตัวช่วย ไม่ต้องหาทางลัดค่ะ เมื่อไหร่ก็เมื่อ ช่างขนมโบราณ ต้องมีแขนล่ำสัน นอกจากบ้านที่มีแรงงานชายอื่นๆลูกหลานหรือลูกจ้างในบ้านค่ะ
ไข่ขึ้นฟูได้ที่ บางคนเรียกว่า ไข่ตั้งยอด ค่อยๆใส่น้ำตาลที่ร่อนไว้ด้วยสัดส่วนตามสูตร ค่อยๆใส่น้ำตาล ก็ต้องตีไข่ไปเรื่อยๆ จนน้ำตาลหมด และไข่ยังฟูได้ที่
ต่อไปใช้วิธีเดียวกับการทำทองหยอด
คือตักไข่และน้ำตาลนี้ขึ้นใส่ถ้วยเล็กพอมือ แล้วใส่มะพร้าวที่คั่วไว้ด้วยสูตรลับอีกเช่นกันว่า ปริมาณมะพร้าวคั่วเท่าไร คลุกผสมจนมะพร้าว คั่วเข้ากันได้ดีกับไข่และน้ำตาล



นำถาดที่จะใช้ผิง ใช้เนยทาก้นถาด (ถ้าที่บ้านไม่มีเนย ก็น้ำมันหมูนี่แหละค่ะ) ใช้ช้อนตัก ไข่ น้ำตาล มะพร้าวที่ผสมข้นพอดีและคลุกเคล้ากันทั่วแล้ว ลงหยอดในถาด เป็นก้อนกลมๆกำลังสวยดังภาพ จนเต็มถาด แล้วนำไปผิง ในสมัยก่อนใช้การผิงกันนะคะ จึงมีขนม ทีเรียกว่า ขนมผิง ( ไม่ใช่ขนมโสมนัสที่กำลังเขียนนะคะ) ขนมหม้อแกง การผิงโบราณ ข้างล่างใช้ถ่าน ข้างบนใช้กาบมะพร้าวลูกมะพร้าว ที่เผาไฟมาก่อน พอเป็นก้อนแดงๆ ก็ตักมาวาง ที่ถาชนะแผ่นๆ ที่ปิดถาดขนม เกลี่ยถ่านลูกมะพร้าวให้เสมอกันดี)
คนทำก็มีสูตรเรื่องเวลาที่ผิงขนมโสมนัสนะคะ

แต่ในปัจจุบัน สูตรของคุณครูก็ประยุกต์ ใช้การเข้าเตาอบ เวลาของการอบไฟฟ้า ไม่ถึง 5 นาที และขั้นตอนการคั่วมะพร้าว ก็เป็นการอบมะพร้าวแทน แต่เรื่องของน้ำตาล ยังใช้วิธีเดิม รวมทั้ง มีสัดส่วนของการใส่มะพร้าวคั่วลงในถ้วยก่อนคลุก ว่า ถ้วยขนาดไหน มะพร้าวเท่าไร ( เหมือนทองหยอด ที่เขาจะตักไข่ที่ตีผสมแล้ว ยกเว้นการใสแป้ง ค่อยๆใสแป้ง คน เข้ากัน แล้ว หยอดไข่ ทีละถ้วย)
สูตรโบราณ ผิงได้ที่ ขนมจะจับตัวเป็นก้อน เพราะความร้อนของไฟ เอาขนมออกมาใส่ถาดใหม่



สีของขนมในภาพ เป็นสีขนมที่เกิดเองตามสัดส่วนของ วัตถุดิบที่ใช้ในการทำขนม ไม่ได้แต่งเติมในส่วนของสีนะคะ
ขนมของคุณครู กรอบนอกนุ่มใน เวลารับประทาน เหมือนมีการใส่ไส้ขนม เหนียวๆหนืดๆ เล็กน้อย เก็บไว้ สองสัปดาห์ ก็ยังเป็นรสชาตินี้อยู่
ลูกๆของพลอยโพยมไม่ค่อยชอบขนมไทย ต้องคะยั้นคะยอว่า แม่อุตส่าห์เก็บไว้ให้ หนูลองชิมหน่อย รับรองว่า หนูหาชิมอีกไม่ได้แล้วนะ รับประทานแล้ว ลูกๆ บอกว่า อร่อยจริงๆด้วย เหมือนขนมนี้มีไส้ข้างในด้วยขนมโสมนัสของคุณครู อร่อยมากๆ จริง ขนมรุ่นใหม่ ที่พลอยโพยม เคยรับประทาน จะคล้ายๆ คุกกี้เสียมากกว่า แต่ สูตรคุณครู จะคล้ายขนมผิง ( ก้อนกลมๆขาวๆ หวานๆ) แต่เป็นขนมผิงมีไส้ และความต่างที่ตัวขนม เพราะขนมผิงเขาใช้แป้ง ไม่ใช่มะพร้าวคั่ว......