วันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554

สวัสดีปีใหม่...๒๕๕๕




สวัสดีปีใหม่
จำรัส เศวตาภรณ์ - อังศนา ช้างเศวต


สวัสดีปีใหม่ สวัสดีปีใหม่
ขอลาทีปีเก่า ที่ผ่านไป

สวัสดีปีใหม่ สวัสดีปีใหม่
ขออวยชัย ให้ท่านมีสุขทั้งกายใจ

วันนี้วันดีปีใหม่ ขอชาวไทยจงพ้นภัย
อันความทุกข์ที่ผลาญดวงใจ ขอจงหมดไปนับแต่วันนี้
ขอพระพรอันประเสริฐ ความงามเลิศแห่งดวงธรรม
จงมาประสิทธิ์จิตน้อมนำ ความศิวิไลสู่ใจชน.

สวัสดีปีใหม่ สวัสดีปีใหม่
ขอลาทีปีเก่า ที่ผ่านไป

สวัสดีปีใหม่ สวัสดีปีใหม่
ขออวยชัย ให้ท่านมีสุขตลอดไป

จงผ่านพ้นทุกอุปสรรค ที่ทั้งหนักและเข็ญใจ
ปลดโซ่ตรวนสู่ความเป็นไท ทั้งหัวใจและวิญญาณ
ขอเมืองไทยเป็นรัฐธรรม ขอชาวไทยเป็นชาววิไล
สู่ความหมายความศิวิไล พี่น้องไทยตลอดกาล

สวัสดีปีใหม่ สวัสดีปีใหม่
ขอลาทีปีเก่า ที่ผ่านไป

สวัสดีปีใหม่ สวัสดีปีใหม่
ขออวยชัย ให้ท่านมีสุขทั้งกายใจ

วันนี้วันดีปีใหม่ ขอชาวไทยจงพ้นภัย
อันความทุกข์ที่ผลาญดวงใจ ขอจงหมดไปนับแต่บัดนี้

สวัสดีปีใหม่ สวัสดีปีใหม่
ขอลาทีปีเก่า ที่ผ่านไป

สวัสดีปีใหม่ สวัสดีปีใหม่
ขออวยชัย ให้ท่านมีสุขตลอดไป

ขออวยชัย ให้ท่านมีสุขตลอดไป...





วันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554

[บทความ] ปฏิปทา ...ธรรมาจารย์ คุณแม่ ดร.สิริ กรินชัย

ปฏิปทา ...ธรรมาจารย์ คุณแม่ ดร.สิริ กรินชัย


หุ่นขี้ผึ้งคุณแม่ ดร. สิริ กรินชัย
ที่อาคารกรินชัย ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ฯ

ปฏิปทา แปลว่า ทางดำเนิน ข้อปฏิบัติ แนวทางปฏิบัติ ความประพฤติ

เกียรติประวัติอันฟุ้งขจร
คุณแม่ ดร. สิริ กรินชัย

คุณแม่ ดร. สิริ กรินชัย เป็นธิดาคนโตหลวงสิทธิ์โยธา (สังวาล ) และคุณแม่สาคร พจนสิทธิ์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ ที่จังหวัดนครราชสีมา
หลวงสิทธิ์โยธา ได้ไปตั้งโรงสีข้าวโรงแรก ที่จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อ คุณแม่ สิริ อายุ ๑๐ขวบ
ในวัยเด็กคุณแม่สิริชอบไปวัดชอบไปทำบุญร่วมกับคุณพ่อ (หลวงสิทธิ์โยธา) ไปวัด รักษาศีลห้า ที่บ้านคุณแม่ไม่ฆ่าสัตว์ แม่ครัวถูกสั่งห้ามซื้อสัตว์หรือปลาเป็น ๆ มาฆ่า แม้แต่ไข่ก็ต้องซื้อไข่แตกร้าวหรือไข่บุบ ถ้าไม่มีก็ไม่กิน เวลาไปวัดเสื่อผืนหมอนใบ ถือศีล แปด

เมื่อโตขึ้นคุณแม่สิริเรียนหนังสือเก่งมักสอบได้ที่ ๑ เสมอ มีความสามารถด้านศิลปะและดนตรี เคยแสดงโขน เป็นตัวพระลักษณ์ และละครรำเรื่องพระลอ โดยเป็นตัวพระลอ เล่นละครพันทางเรื่องขุนช้างขุนแผน คุณแม่สิริเล่นเป็นตัวพลายชุมพล สามารถขับร้องเพลงได้ ส่วนดนตรีไทยคุณแม่เล่นซอด้วง

งานด้านศิลปะ คุณแม่มีฝีมือมากในการปักจักร นวดหน้า แต่งหน้า ทำผม ตัดเสื้อ เคยชนะการประกวดได้ที่หนึ่ง เคยเรียนถ่ายภาพ สามารถล้างและอัดภาพได้เอง ผ่านการสอบได้เป็นที่สองวิชาการถ่ายภาพ มีพรสวรรค์ในการแต่งโคลงกลอน หลายประเภท แม้ในการบรรยายธรรมคุณแม่ก็สามารถพูดออกมาเป็นคำกลอนได้


จากดวงใจศิษย์ น้อมบูชาคุณแม่สิริ เมื่ออายุ 84 ปี
โดยพระชาญชัย อธิปัณฺโณ

เมื่อคุณแม่อายุได้ ๑๙ ปีได้สมรสกับคุณพ่อไชย กรินชัย อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลเมือง และเป็นนักธุรกิจ นักสังคมสงเคราะห์ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นบุตรชายคนสุดท้องของหลวงพลภักดิ์พานิช กับคุณแม่หริ่ง กรินชัย ที่โรงสีบุรีรัมย์ โดยเจ้าบ่าวเจ้าสาวได้พบกันครั้งแรกในวันเข้าพิธีสมรส และได้ย้ายตามคุณพ่อไชย ไปอยู่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ๗ ปี จึงย้ายกลับมาที่นครราชสีมา ทำการค้า ตัดผม ตัดเสื้อและรับสอน ขายเครื่องสำอาง ต่อมาได้หยุดพักผ่อนเพราะสุขภาพไม่แข็งแรง แพ้น้ำยาและสเปรย์
คุณแม่มีทายาท ๔ คน

คุณแม่สิริเองได้เข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานครั้งแรก ใน ปีพ.ศ. ๒๔๙๕ ที่วัดแจ้งนอก โดยมีแม่ชีพัฒน์ ดั่นประดิษฐ์ จากวัดมะกอก กรงเทพฯ เป็นอาจารย์ โดยเข้าปฎิบัติ ๗ วัน คุณแม่ต้องปิดร้านเข้าปฏิบัติธรรม
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทธิ์) ครั้งยังเป็น ท่านเจ้าคุณเทพสิทธิมุนี พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ ได้รับการอาราธนาจากคุณหญิงศรีศรศักดิ์ อาราธนาให้มาโปรดญาติมิตรชาวนครราชสีมา คุณแม่ได้เป็นศิษยานุศิษย์ จนท่านเจ้าคุณอาจารย์ใหญ่ เอ่ยปากชมว่า " มาโคราชเที่ยวนี้ ไม่เสียเที่ยว ได้อย่างนี้ไว้คนหนึ่ง คุณสิริคนนี้ต่อไปจะทำประโยชน์แก่พระศาสนา คอยดูนะ ต่อไป คน ๆ นี้จะสอนคน "

และคุณแม่ยังเป็นศิษย์ของพระครูภาวนาวิสิฐ เจ้าอาวาสวัดแสงธรรมเวฬุราม แม่ชีพัฒน์ ดั่นประดิษฐ์และแม่ชีแดง พจนสิทธิ์



ในปี พ.ศ.๒๕๑๔ได้สร้างตึกกรินชัยและย้ายเข้าไปอยู่ที่ตึกกรินชัย ได้บำเพ็ญกุศลในด้านธรรมทานตลอดมา อุทิศตึกกรินชัยนี้ให้ผู้ศรัทธาปฎิบัติวิปัสนากรรมฐาน มาปฎิบัติที่บ้าน ทั้งภิกษุ สามเณรแม่ชี ฆราวาสชายหญิง เด็กและผู้ใหญ่

ท่านเป็นนักสังคมสงเคราะห์ของจังหวัดนครราชสีมาเปี่ยมด้วยจิตเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์มากมาย อาทิ

เป็นกรรมการแพทย์อาสาสมัครในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
เป็นกรรมการเหล่ากาชาดได้รับพระราชทานเหรียญสมนาคุณ
เป็นกรรมการพุทธสมาคม และยุวพุทธิกสมาคมฯ นครราชสีมา

คุณแม่ สิริ ได้ทำหน้าที่ธรรมาจารย์มามากกว่า ๕๐ ปี โดยเป็นผู้ริเริ่มหลักสูตรปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ๗ วัน ชื่อหลักสูตร “พัฒนาจิตให้เกิดปัญญาและสันติสุข” ด้วยจิตที่เปี่ยมล้นด้วยมหาเมตตา ท่านสละบ้านกรินชัยให้เป็นสำนักสอนวิปัสสนากรรมฐานแก่สาธุชนที่สนใจ ต่อมาได้รับเชิญให้ไปสอนตามบ้าน หน่วยงาน องค์การของรัฐ และเอกชน รวมทั้งไปประกาศธรรมในต่างประเทศปีละ ๓ เดือน




เกียรติคุณที่ได้รับ

ได้รับพระราชทานเสาเสมาธรรมจักร รางวัลบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ด้านส่งเสริม และชักชวนให้คนมาปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง คัดเลือกโดยคณะกรรมการอำนวยการสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในวันวิสาขบูชา จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๒๘ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ท่าพระจันทร์ กทม.


ได้รับพระราชทานปริญญาครุศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาปรัชญาและศาสนา ของสภาการฝึกหัดครู โดยวิทยาลัยครูนครสวรรค์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๙

ได้รับโล่เกียรติคุณจากพระเทพโสภณ เจ้าอาวาสวัดไทยในนครลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๓๐ในฐานะผู้บำเพ็ญประโยชน์ช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยการสอนปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานให้แก่คนไทยและชาวต่างประเทศ ณ วัดไทยในนครลอสแองเจลิส โดยติดต่อกันเป็นเวลา 4 ปี และในรัฐอื่นๆของประเทศสหรัฐอเมริกา รวมเวลา ๘ ปี

ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาจิตวิทยา โดยมหาวิทยาลัยรามคำแหง จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๓๑ ณ อาคารใหม่ส่วนอัมพร

ได้รับโล่เกียรติคุณนักสังคมสงเคราะห์ดีเด่น ประจำปี ๒๕๓๐ ประเภทอาสาสมัคร ในสาขาพัฒนาจิตใจ โดยมูลนิธิศาสตราจารย์ปกรณ์ อังศุสิงห์ จาก ฯพณฯ ท่านศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ ณ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ได้รับพระราชทานโล่ประกาศเกียรติคุณ ในฐานะผู้ทำประโยชน์ดีเด่นการพัฒนาคุณภาพชีวิต จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พ.ศ. ๒๕๓๔ เสนอโดย คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

ได้รับพระราชทานรางวัล ประกาศเกียรติคุณ เป็นแม่ดีเด่นแห่งชาติ ปี พ.ศ. ๒๕๔๐จากพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสนอโดยจังหวัดนครราชสีมา และสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้น ๔ จตุรถาภรณ์มงกุฏไทย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘

ได้รับโล่และประกาศเกียรติคุณ เป็นสตรีตัวอย่าง ในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ สาขาการส่งเสริมและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ของมูลนิธิสังคมเพื่อไทย

ได้รับการประกาศเกียรติคุณเชิดชูเกียรติเป็น คนดีศรีแผ่นดิน จากสมาคมสื่อมวลชนส่วนภูมิภาคประเทศไทย พ.ศ.๒๕๔๓

ได้รับรางวัล “ OUTSTANDING WOMAN IN BUDDHISM” หรือ “สตรีผู้โดดเด่นแห่งพุทธศาสนาโลก” จากองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธโลก เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๔๕


ได้รับมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ “ผู้สูงอายุตัวอย่างประจำปี ๒๕๔๔ ” ของสมาคมคลังปัญญาอาวุโสแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๔๕

ได้รับโล่เกียรติคุณยกย่องในฐานะธรรมาจารย์และ ปูชนียบุคคลผู้ควรแก่การเคารพบูชาอย่างยิ่ง จากยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยฯ

ได้รับรางวัลกิตติคุณสัมพันธ์ “สังข์เงิน” ของสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๔๕ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ประเภทบุคคลภาคเอกชน


ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ “โล่พุทธคุณูปการกาญจนเกียรติคุณ” จากคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๒


ได้รับความสนใจสัมภาษณ์จากสื่อมวลชนทุกแขนง ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ เผยแพร่เกียรติคุณการเผยแพร่ธรรมอยู่เสมอ


บทกลอนน้อมบูชา คุณแม่สิริ กรินชัย อายุ 85 ปี
โดยพระชาญชัย อธิปัณฺโณ

ท่านดำรงตำแหน่ง “ธรรมาจารย์” ผู้ยิ่งใหญ่ของยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พระคุณอันยิ่งใหญ่ของท่านคู่ควรกับการจารึกว่า “คุณพระอาจารย์อ้าง อาจสู้สาคร”
ฉายมญฺญสฺส กุพฺพนฺติ ติฏฺฐนฺติ สยาตเป
ผลานิปิ ปรสฺ เสว รุกฺขา สปฺปุริสา อิว
สร้างร่มเงาให้ความร่วมเย็นแก่ผู้อื่นทั้งคนและหมู่สัตว์ ส่วนตัวเองยืนหยัดรับความร้อนของแสงแดดอย่างไม่พรั่นพรึง ถึงคราวมีลูกมีผลก็มีเพื่อผู้อื่น สัตว์อื่นได้รับประทาน หาใช่มีเพื่อตัวเองไม่ นี่คือปฏิปทาของพระพุทธสาวก



" คุณพ่อ (หลวงสิทธิ์โยธา)บอกว่า สิริเป็นลูกที่จะเป็นที่พึ่งของพ่อ นำชื่อเสียงเกียรติยศมาสู่วงศ์ตระกูลจริง ๆ เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันบ่งชัดมากว่าจะเป็นที่พึ่่งของพ่อได้จริง ๆ แล้วพ่อบอกว่ามีลูกกี่คน ก็ไม่มีใครช่วยพ่อได้มากเท่ากับสิริ ช่วยพ่อได้ทั้งทางโลกและทางธรรม งานธรรมคือไปวัดตั้งแต่ ๕ ขวบ คุณพ่อไปวัดทุกวันพระ ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ แม่ร้องไห้อยากไปวัด ตั้งแต่ ๓ ขวบ ผลที่สุดก็ไปวัดมาตั้งแต่นั้นเพราะไปมาตลอด "

" แม่ชอบให้ทาน จะต้องมีข้าวสารประจำถังอยู่หน้าบ้านเวลามีขอทานผ่านมาจะต้องให้ จนกระทั่งมีลูกก็เหมือนกัน ใจลูกเหมือนแม่ ชอบให้ทาน แล้วก็ไปวัดเหมือนกัน "

" พอแต่งงานไปก็ลำบาก ลำบากที่ต้องดูแลครอบครัวต้องปรนนิบัติสามี ทำทุกอย่างอะไรให้เป็นความดีของลูกผู้หญิง อ่านหนังสือสุภาษิตสอนหญิงจนพูดได้คล่องทั้งเล่มเลย ไม่ต้องอ่าน ว่าปากเปล่าได้เลย แล้วก็ตั้งปณิธานว่าถ้าจำเป็นจะต้องแต่งงาน เราจะทำดีที่สุด เมื่อมันมีอันจำเป็นจะต้องจากกันไป จะได้ไม่เสียดายว่าเรายังไม่ได้ทำความดี เราขาดตกบกพร่อง"

ท่านเจ้าคุณอาจารย์ใหญ่ เอ่ยปากชมว่า " มาโคราชเที่ยวนี้ ไม่เสียที่ยว ได้อย่างนี้ไว้คนหนึ่ง คุณสิริคนนี้ต่อไปจะทำประโยชน์แก่พระศาสนา คอยดูนะ ต่อไป คน ๆ นี้จะสอนคน "

"แม่ขอเตือนว่าอย่าได้ประมาท โดยเฉพาะโอกาสที่จะได้เข้าปฎิบัติวิปัสสนากรรมฐาน อย่าได้ผลัดวันประกันพรุ่ง สำหรับแม่เองนั้น ครั้งแรกที่ไดยินเรื่องวิปัสสนากรรมฐานจากคุณพ่อของแม่ แม่ก็หาโอกาสเข้าปฎิบัติกรรมฐานทันที แล้วก็รู้ว่าชีวิตของคนเราไม่เที่ยงแท้แน่นอน อาจจะตายก่อนเมื่อใดก็ได้ พอแม่ออกมาแม่ก็ทำตามที่ครูบาอาจารย์สอนทุกอย่าง แม่เริ่มรู้สึกเลยว่างานนี้เป็นงานที่สำคัญอย่างยิ่งในชีวิตมนุษย์"


" แม่อยากเห็นคนปฎิบัติธรรมมาก ๆ เพื่อจะได้มีความสันติสุขทั้งบ้านเรือน ทั้งในหน้าที่สังคม อยากให้มีเกิดขึ้น ถ้าคนปฎิบัติมาก ๆ แล้ว สงครามก็จะเบาลงไป ความอิจฉาริษยาเบียดเบียนก็จะเบาไป มีแต่ความเมตตากรุณาเกื้อกูลกัน เราก็จะอยู่เย็นเป็นสุขขึ้น แม่อยากมองเห็นทุกคนมีความสุข "



คุณแม่ดร.สิริ กรินชัย เปี่ยมไปด้วยความเสียสละทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างแม้ชีวิตให้กับงานพัฒนาคน โดยมิรู้จักเหน็ดเหนื่อย ทั้งกลางวันและกลางคืน ปีแล้วปีเล่าท่านจึงเป็นพุทธสาวิกาผู้เดินตามรอยพระบาทของพระศาสดาอย่างใกล้ชิดและเป็นมิ่งขวัญควรแก่การกราบไหว้บูชาของลูกโยคีตลอดนิตยกาล

“แม่คือแสงอุษาเบิกฟ้าสาง
ส่องสว่างกลางใจให้ไออุ่น
ผู้นำธรรมะพุทธคุณ
ช่วยเกื้อหนุนนำศิษย์เป็นนิจมา
แม่เมตตาอาทรสั่งสอนศิษย์
เฝ้าห่วงใยใกล้ชิดไม่เลือกหน้า
ถนอมรักดุจเป็นเช่นมารดา
เรียกท่านว่าคุณแม่ได้สนิทใจ”

ด้วยรักและอาลัย..คุณแม่ ดร. สิริ กรินชัย
โดยยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ฯ

คุณแม่ ดร.สิริ กรินชัย ผู้เป็นธรรมาจารย์ ที่พวกเราชาวยุวพุทธฯ
น้อมบูชาพระคุณอันหาที่สุดมิได้ ได้ละสังขารแล้ว ด้วยวัย ๙๔ ปี ๓ เดือน

http://www.ybat.org/v4/activity_view.asp?id=201



“ท่านเป็นผู้โชคดี ได้มาพบพระพุทธศาสนา มีโอกาสรับของขวัญจากพระพุทธเจ้า
ขอให้ทุกท่านมีความเพียร มีความอดทน มีความพอใจที่จะก้าวไปสู่ทางสันติสุข
โดยยึดมั่นปฏิบัติธรรมะ สมถะและวิปัสสนาอันเป็นทางตรงและถูกต้องแล้ว
ท่านจะต้องได้รับและรักษาของขวัญจากพระพุทธเจ้าไว้ คือ
ความสุข ไพบูลย์ สงบเย็น ด้วยคุณธรรมของศีล ทาน สมาธิและปัญญา”
คำสอนของคุณแม่ ดร.สิริ กรินชัย

http://www.ybat.org/v4/activity_view.asp?id=201



คุณแม่ ดร.สิริ กรินชัย
ตั้งอยู่ ณ ตึกมหาธาตุวิทยาลัย (ชั้นล่าง) วัดมหาธาตุ ฯ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพ ฯ
ขอเรียนเชิญเยี่ยมกราบคารวะคุณแม่ได้ทุกวัน

เชิญร่วมฟังสวดพระอภิธรรมและร่วมเป็นเจ้าภาพ ได้ทุกวันศุกร์เว้นศุกร์
เริ่มศุกร์ที่ 23 ธันวาคม 2554 เวลา 18.30 น. เป็นต้นไป
ติดต่อได้ที่มูลนิธิคุณแม่สิริ กรินชัย โทร 02-570-4014 แฟกซ์ 02-570-4791
และที่วัดมหาธาตุ คณะ 5 โทร 02- 222-6011 แฟกซ์ 02 223-3743
พระครูวิมลธรรมรังสี 089 -693-8600



พลอยโพยม ได้มีโอกาสเข้าปฎิบัติธรรมกับคุณแม่สิริ เมื่อ ปี พ.ศ. 2518 ขณะยังเป็นนิสิต ไปปฎิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่บ้านคุณแม่ที่โคราช ท่านรับผู้เข้าปฎิบัติได้ครั้งละ 15 คน พลอยโพยมเขียนจดหมายไปขอเข้าปฎิบัติ ตอนที่รับครบจำนวนแล้ว แต่คุณแม่ท่านมีเมตตารับพลอยโพยมเพิ่ม พลอยโพยมเลยมีบุญอย่างยิ่ง ได้ปูที่นอนนอนในห้องคุณแม่ เพราะห้องโยคีเต็มหมดแล้ว 7 วัน 6 คืน ที่พลอยโพยมได้เรียนรู้ธรรมะมากมายได้ลงมือปฎิบัติอย่างตั้งใจ



ในปีถัดมา ได้พาเพื่อนไปเข้าปฎิบัติอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ไม่ได้ผลดีนัก เพราะมีเพื่อนไปด้วยและเขาไม่ปฏิบัติ ตามกฎ คืองดวาจา
สู้ไปคนเดียวไม่ได้ และนอนรวมกับโยคีอื่น ๆ

ทานข้าววันละ 2 มื้อ มี 2 โต๊ะอาหาร และนั่งสลับที่นั่งเวียนกัน เพื่อให้ผู้เข้าปฎิบัติมีโอกาสได้ร่วมโต๊ะทานข้าวกับคุณแม่ทุกคน

ผู้เข้าร่วมปฏิบัติ เคยพบพระภิกษุ 1 องค์ แม่ชี 1 ท่าน คุณครู นักเรียน นักศึกษา



เมื่อเรียนจบก็ได้ทำงานธนาคาร มีภาระกิจยุ่งเหยิงเพราะเป็นสาขาเปิดใหม่ ชีวิตอยู่ดีมีสุขทำให้ลืมเลือนการเข้าปฎิบัติธรรม ที่แท้ผลบุญที่ได้จากการเข้าปฎิบัติธรรมสองครั้ง ส่งผลให้มีวิถีชีวิตที่ราบรื่นมาโดยตลอด มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน มีครอบครัวมีธิดาและบุตร

จน ปี พ.ศ. 2546 จึงกลับเข้าสู่เส้นทางนี้ใหม่อีกครั้ง จู่ ๆ ก็หวนระลึกได้ว่า ทำไมเราไม่เข้าปฎิบัติธรรม ใจนึกหาบุญกุศลที่จะช่วยให้กำลังใจ ลูก ๆ ที่เตรียมตัวสอบเอนทรานซ์ และทั้งสองคนก็ได้เข้าเรียนคณะและมหาวิทยาลัยตามต้องการ เว้นไปอีกสองสามปี คราวนี้เข้าปฎิบัติเพื่อชักนำลูกสาว ลูกชาย ได้เข้าปฎิบัติด้วย โดยตั้งจิตอธิษฐานขอให้ลูกทั้งสองคนได้มีโอกาสเข้าปฎิบัติธรรม ครั้งแรกเป็นการขอร้องแกมบังคับ แต่ครั้งที่ 2-3-4-....เขาสมัครใจเข้าปฎิบัติเองและและสืบเนื่องมาจนทุกวันนี้ แต่ก็แสวงหาพระอาจารย์เป็นพระภิกษุเนื่องจากคอร์สของคุณแม่ เป็นการปฎิบัติรวมกับผู้เข้าปฎิบัติกว่า 300 คน แต่คอร์สพระอาจารย์ ภิกษุเป็นคอร์สปฎิบัติเดี่ยวเข้มข้น นั่นเอง



เป็นโอกาสอันดีเป็นลาภประเสริฐ ที่พลอยโพยม ได้มีโอกาสเป็นลูกศิษย์โยคีของคุณแม่ ดร.สิริ กรินชัย ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ในชาตินี้ และได้มีโอกาสเป็นลูกคูณแม่ในทางธรรม

วันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2554

[บทความ] กะแช่..เคยแลเห็น

กะแช่..เคยแลเห็น




กระบอกไม้ไผ่


กระป๋องอลูมิเนียม






จั่นมะพร้าว


งวงตาล

ดอกจากที่ใช้ทำน้ำกะแช หรือน้ำตาลจากได้

กะแข่..เคยแลเห็น

ลูกจ้างนั้น หมั่นทำ น้ำกะแช่
ไปชะแง้ แม้เห็น เป็นสืบสาน
จั่นมะพร้าว คราวออก นอกจากตาล
สวนหลังบ้าน ผ่านเห็น โดดเด่นไกล

ปีนพะอง อันยาว ไต่สาวยอด
แล้วเล็งลอด เหล่าจั่น มาดมั่นได้
ต้องพอเหมาะ ไม่แก่ แลอ่อนไป
เตรียมท่อนไม้ หมายคลึง ซึ่งพึงตา

นวดจนน่วม อ่วมดี อย่างที่คาด
เอามีดปาด ปลายจั่น เท่านั้นน่า
โน้มเหนี่ยวจั่น อันเลือก ตรึงเชือกนา
ทุกวันมา มุ่งตรวจ สำรวจดู

อย่าลืมเลือน เฉือนซ้ำ จนน้ำไหล
กระบอกไผ่ ผูกไว้ สิ่งใดสู้
เจาะรูใช้ เชือกห้อย ค่อยร้อยรู
สวมจั่นอยู่ หยาดหยด ไหลรดลง

ปรับเปลี่ยนละ กระป๋อง เป็นต้องคล้าย
ปนประปราย หลายที่ พอมีหลง
เช้าและเย็น เน้นว่า ให้มาตรง
ห้ามมึนงง ง่วงเมา เอาแต่นอน

น้ำตาลเมา เขาคือ ชื่อกะแช่
ต้องเมาแอ๋ อ้อแอ้ คนแก่สอน
เปลือกตะเคียน เพียรหา มาหั่นทอน
ใส่ไว้ก่อน ตอนแรก แปลกอุรา

ไม่มีเปลือก เลือกไม้ มิใช่ยาก
ลูกจ้างถาก ฟากเสา ควานเฝ้าหา
กระดานไม้ ไสใช้ สมใจนา
เปลือกดีกว่า กล่าวถึง ซึ่งผลไว

ปลดกระบอก กรอกหน้า ยกมาซด
ลูกจ้างหมด เมื่อยล้า ใบหน้าใส
พากย์ตะลุง ฟุ้งเรื่อง ประเทืองใจ
เดินเอียงไหล่ ไกวหัว ตัวซุนเซ

พวกเราไม่ ใฝ่ทำ น้ำกะแช่
เล่าเพียงแต่ แลรู้ ดูหมิ่นเหม่
พี่ผู้ชาย หลายหน ปนเกเร
แอบหันเห เร่ลอง ลิ้มของดี

หากทำไว้ ไฟต้ม กลัวอมเชื้อ
สีเทาเรื่อ เอื้อเชิญ ชิมเร็วรี่
งวงตาลนั้น จั่นมะพร้าว เอาวิธี
ดอกจากมี เหมือนรส หวานสดครัน

ปาดจั่นรุก ทุกครั้ง ครายังได้
กระบอกใส่ สับเปลี่ยน หมุนเวียนผัน
จนน้ำหยด หมดคุ้ม เปลี่ยนสุ่มอัน
บางบ้านนั่น หันหา ฝ่าขั้นตอน

น้ำตาลปี๊บ เป็นของ ต้องขยัน
ปีนปาดจั่น หมั่นมา น่าเหนื่อยอ่อน
ทุกรุ่งเช้า ช่วงเย็น ใจเต้นรอน
แถมซับซ้อน ก่อนได้ ใช้อดทน

ตอนรองน้ำ ย้ำคำ นำเคล็ดลับ
มะเกลือสับ กลับข้าง ซึ่งต่างผล
ตะเคียนเคี่ยม พะยอม ย่อมแยบยล
ช่างคิดค้น ของดี วิถีไทย

ยางของไม้ ให้ผล จนแตกต่าง
ที่สรรสร้าง สารตน วนสงสัย
คนโบราณ ท่านไหน ได้รู้นัย
คุณและภัย ภูมิรู้ ขาวคู่ดำ
หนังสือบทกวีวันวานของบางกรูด





กะแข่..เคยแลเห็น

คุณสมบัติของยางไม้บางชนิด
น้ำตาลสด (ก่อนนำมาต้มไฟ)
ชาวสวนจะสับไม้ให้เป็นเกล็ดไม้ชิ้นเล็กๆ ใส่ไว้ก้นกระบอกก่อนที่จะนำไปรองน้ำตาลจากต้นมะพร้าว ยางไม้ฝาดของ ไม้พะยอม ไม้ตะเคียนทองและไม้เคี่ยมนี้จะละลายอยู่ในเนื้อน้ำตาลจากต้น มีคุณสมบัติช่วยรัดน้ำตาลจากต้นให้ใส เกิดฟองช้า ซึ่งเท่ากับช่วยให้น้ำตาลนี้ไม่มีรสเปรี้ยวหรือบูดช้าลงและเมื่อนำน้ำตาลไปต้มและเคี่ยวจะช่วยรัดเนื้อน้ำตาลให้ข้นแห้งเร็วขึ้นด้วย


น้ำตาลเมาหรือกะแช่
ได้จากการหมักน้ำตาลสด และชิ้นไม้มะเกลือแห้งย่างไฟ แล้วนำไปหมักในไหเคลือบหรือกระบอกตาล รอจนเกิด ยีสต์ YEAST ซึ่งจะใช้เป็นหัวเชื้อจากนั้น เริ่มหมักใหม่ด้วยน้ำตาลสด แช่ทิ้งไว้นานเพียง 1 วันก็จะได้กะแช่ หรือน้ำตาลเมาที่มีรสชาติคล้ายเบียร์สด ดื่มเพื่อสุขภาพหรือสังสรรค์ ในปริมาณที่พอเหมาะ การทำกะแช่ จำเป็นต้องใช้ไม้จากต้นมะเกลือ
(วีระ ,๒๕๔๗)

วันพุธที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2554

[บทความ] น้ำค้างกลางหาว คราวคืนเพ็ญ

น้ำค้างกลางหาว คราวคืนเพ็ญ


ภาพจากเรือนลำพูรีสอร์ท


ภาพจากเรือนลำพูรีสอร์ท




จันทร์ค้างฟ้า

การกินน้ำค้างกลางหาว

พลับจีนแห้ง หั่นบาง วางชามใหญ่
น้ำเดือดใส่ ให้พอ หน่อลูกหลาน
น้ำตาลกรวด กวนหมาย ละลายนาน
เจือรสหวาน การนี้ ราตรีมา

นภาลัย ไร้ฝน จนคืนค่ำ
รอสิ่งล้ำ น้ำค้าง กลางเวหา
แสงเงินยวง ดวงเพ็ญ เย็นยวนตา
อย่าชักช้า ชามตั้ง ยังนอกชาน

จากดึกดื่น คืนพ้น จนใกล้สาง
หยดน้ำค้าง พร่างพรม ผสมสาน
ยายขาปลุก ลุกตื่น ต่างชื่นบาน
กินตำนาน น้ำค้าง กลางหาวกัน

เจ็บคออยู่ รู้เบา บรรเทาบ้าง
น้ำเสียงสร้าง เซาะใส กระไรนั่น
มิค่อยบ่อย น้อยพลับ เลือนลับพลัน
ขอกล่าวขวัญ วันก่อน นึกย้อนดู

คุณยายชื่อ สมใจ ใช่ยายขา
ท่านสอนว่า ถ้าคำ เรียกนำหรู
คุณยายไซร้ ไม่เหมาะ แม่โฉมตรู
คะขาอยู่ รู้ที่ อย่ารีรอ

เราชาวบ้าน บางกรูด พูดไพเราะ
เพียงเสนาะ เพราะเสียง สำเนียงส่อ
หลานหญิงเขา ขานหา ยายขาพอ
หลานชายต่อ ตามอย่าง สร้างตำนาน

เหล่าหลานยาย หลานย่า ยายขาหมด
แล้วเลี้ยวลด จดเหลน เป็นคำขาน
ชวดขาครับ นับเนื่อง เรื่องวันวาน
ทุกคนพาน พ้องตาม เป็นความจริง
จากหนังสือบทกวี วันวานของบางกรูด

สืบเนื่องเรื่องน้ำตาล สำหรับน้ำตาลกรวด สมัยเราจะไม่ค่อยพบเห็นและได้กินกันเท่าไรนัก แต่สมัยที่คุณตาของพลอยโพยมยังมีชีวิตอยู่ พวกน้า ๆ และพี่ ๆ รุ่นโต จะได้กินน้ำตาลกรวดผสมน้ำค้างกลางหาวกันบ่อย ๆ เนื่องจากระยะนั้นยังมีเรือสินค้านำลูกพลับสดและลูกพลับแห้งมาขายที่ตลาดโรงสีล่าง พอถึงรุ่นพลอยโพยมโตขึ้นมาจะได้กินลูกพลับส่วนใหญ่เป็นลูกพลับแห้งเพราะมีคนซื้อมาจากกรุงเทพฯ จึงได้กินน้ำค้างกลางหาวน้อยมาก แต่ถ้าเป็นเต้าทึงก็จะได้กินบ่อย เต้าทึงนี้พลอยโพยมรู้สึกว่าถ้าไม่ใส่พลับแห้งรสชาติรู้สึกว่าแปร่ง ๆ ปร่า ๆ

การจะกินน้ำค้างกลางหาวได้ต้องใช้ภูมิปัญญาเพราะถ้าเอาขันหรือเอาชามไปรองน้ำค้างทั้งคืนก็ได้นิดเดียว คุณยายมีหลานหลายคนจะกินได้ทั่วถึงต้องตั้งชามวางกลางนอกชานกันหลายชาม และให้กินน้ำค้างเพียว ๆ คงได้แค่จิบ ๆ ติดลิ้น แต่ถ้าใช้วิธีที่คุณยายทำ โดยผ่าครึ่งพลับจีนแห้งแล้วซอยเป็นชิ้นบางยาวตามลักษณะของลูกพลับ พอหัวค่ำก็เอาน้้ำร้อนเดือดชงราดลูกพลับแห้งหั่นซอยในชาม แล้วใส่น้ำตาลกรวดและคนให้น้ำตาลกรวดละลายหมด ดังนั้นน้ำตาลกรวดคงต้องทำให้ เม็ดน้ำตาลเล็กที่สุด จะได้ไม่ต้องคนกันนาน น้ำตาลกรวดละลายดีแล้ว รอว่าน้ำค้างตกแล้วก็ยกชามนี้ออกไปตั้งรองน้ำค้าง พวกเด็ก ๆ ก็เข้านอนตามปกติ จวนฟ้าสางคุณยายก็จะปลุกเด็กตื่นมากินน้ำพลับแห้งชงผสมน้ำตาลกรวดเมื่อตอนหัวค่ำซึ่งมีน้ำค้างที่หยาดหยดลงมาทั้งคืน หรือค่อนคืน ลูกพลับแห้งเองก็มีรสหวานและกลิ่นหอมในตัวเอง

เป็นความเชื่อของคุณยายว่ากินน้ำค้างแล้ว อาการไอ ระคายคอ เจ็บคอ จะทุเลาเบาคลาย และการกินน้ำค้างจะทำให้หลาน ๆ เสียงเพราะเสนาะใส (ถือว่าเป็นความเชื่อส่วนบุคคล)
จะกินน้ำค้างได้ก็ต้องรอช่วงต้นฤดูหนาว นอกจากไม่มีฝนแล้วน้ำค้างก็จะมีมาก


แมลงทับ
ภาพจากhttp://www.baanmaha.com/community/thread33393.html

ยังมีสัตว์ที่กินน้ำค้างเป็นอาหารนั่นคือหิ่งห้อยแมลงมห้ศจรรย์
นอกจากนี้ยังมีแมลงทับอีกชนิดที่มีวงจรชีวิตที่แปลกประหลาดกล่าวคือ
แมลงทับจับคู่ผสมพันธุ์ในเวลากลางวันใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการยอมรับของเพศเมีย เมื่อผสมพันธุ์เสร็จตัวเมียวางไข่ที่บริเวณโคนต้นพืชอาหาร ลึกลงในดินประมาณ 1-2 เซนติเมตร กว่าจะเป็นแมลงทับแต่ละตัวได้ แมลงทับต้องใช้เวลาอาศัยอยู่ในดินนานถึง 2 ปี เมื่อเป็นตัวเต็มวัยก็มีชีวิตนานแค่ 1-3 สัปดาห์เท่านั้น

ซึ่งแมลงทับต้องคอยจนกว่าฝนจะตกหนัก และน้ำฝนไหลลงไปจนถึงปลอกดินแมลงทับจึงดันปลอกดินให้เปิดออก เดินขึ้นมาจากใต้ดินและเจาะผิวดินเป็นรูปกลมดันตัวเองขึ้นจากพื้นดิน เมื่อมีแสงแดดจึงบินไปกินอาหาร ผสมพันธุ์ และวางไข่ จำนวนแมลงทับในแต่ละปีมักจะมีความสัมพันธ์กับปริมาณน้ำฝนที่ตกในช่วงเข้าพรรษา ถ้ามีอากาศแห้งแล้งและปริมาณน้ำฝนน้อย จำนวนแมลงทับก็จะลดน้อยลงไปด้วย

ปกติพบแมลงทับเพียงปีละครั้งในช่วงฤดูเข้าพรรษา ระหว่างเดือน กรกฎาคม ถึง ตุลาคม
ที่บางกรูด แมลงทับจะอยู่คู่กับต้นมะขามเทศ และกินใบอ่อนของมะขามเทศ เหมือนหิ่งห้อยที่คู่กับต้นลำพู มะขามเทศและลำพูมีความคล้ายคลึงกันคือเป็นต้นไม้ที่ใบมากและใบเล็ก แต่ในท้องถิ่นอื่น ๆ ทั้งหิ่งห้อยและลำพู อาจจะมีคู่เป็นต้นไม้อื่น ๆ ตามถิ่นนั้น ๆ










คำเรียกขานของคนบางกรูดก็มีการเรียกขานที่แปลก ๆ เป็นต้นว่าคุณยายของพลอยโพยมนั้น เราไม่ได้เรียกคุณยายกันแต่เรียกว่ายายขา เนื่องจากพี่รุ่นโต ๆ เป็นหลานยายและเป็นผู้หญิงติดเรียงกันมาสี่คน พี่ ๆ เรียกท่านว่ายายขา หลานชายก็เรียกตามพี่ผู้หญิงว่ายายขาไปด้วย ไป ๆ มา ๆ หลายย่าก็เรียกยายขาตามจนชั้นเหลนหญิงเหลนชายก็เรียกท่านเป็นชวดขา
มีน้าสีนวลลูกน้องชายยายขาจะต้องเรียกน้องสาวคนเล็กของยายขาว่า อา แต่น้าสีนวลก็เรียกท่านว่า ขา ( ขา เฉย ๆ เลย) และเรียกยายขา ว่าป้าขา

บ้านญาติคือพี่อุทัยวรรณเจ้าของขนมต้องใจเรียกคุณแม่ตัวเองว่า แม่จ๋า แม่ของพลอยโพยมก็เรียกท่านว่า เจ้จ๋า เด็ก ๆ บ้านพลอยโพยมก็เรียกคุณแม่พี่อุทัยวรรณ ว่า ป้าจ๋า

ทางฝ่ายน้องชายพ่อของพลอยโพยม ลูก ๆ ของอาท่านนี้เรียกพ่อตัวเองว่า จ๋า ( จ๋า เฉย ๆ ไม่ได้เรียกพ่อจ๋า ) แล้วหลานปู่หลานตาก็เรียกอาท่านนี้ว่า จ๋า ( จ๋า เฉย ๆ อีกเหมือนกัน )

มีคุณยายสะใภ้อีกท่านเรียกแม่ของพลอยโพยมว่า หนูม่อม แม่ละม่อมก็เป็นหนูม่อมมาจนอายุ 80 กว่าปี ก็ยังถูกเรียกว่าหนูม่อม จนคุณยายสะใภ้คนเรียกท่านสิ้นไป
แม่ละม่อมของพลอยโพยมเรียกเพื่อนสมัยเรียนหนังสือว่า หนูสึ่ง ลูก ๆ แม่ละม่อม เรียกเพื่อนผู้หญิงคนนั้นของแม่ละม่อมว่า หนูสึ่งไปด้วย

ที่โพงพางของคนจีนชื่อนายอื้งเรียกลูกสาวคนสุดท้องว่าหนูอี่ หนูอี่คนนี้ popula มาก เพราะคนทั้งตลาดและตามบ้านเรือนคนอื่น ๆ เรียกหนูอี่กันทั้งนั้่้นรวมทั้งพลอยโพยมก็เรียกหนูอี่ที่เป็นรุ่นพี่หลายปีว่าหนูอี่ด้วย

สำหรับครอบครัวย่อยของพลอยโพยมเอง พลอยโพยมมีน้องชาย ลูกของน้องชายต้องเรียกพลอยโพยมว่า ป้า แต่กลายเป็นว่าต้วน้องชายเองกลับเรียกพี่สาวตัวเองว่า ป้า ตามลูก ๆ รวมทั้งพี่ชายที่เป็นโสดของพลอยโพยมก็พลอยเรียกพลอยโพยม ว่า ป้า ไปด้วย ส่วนพลอยโพยมก็เรียกน้องชายว่า น้า เหมือนที่ลูก ๆ ของพลอยโพยมเรียกน้าชาย พลอยโพยมเรียกสามีตัวเองว่า ลุง ตามหลาน ๆ เรียกหา คนอื่น ๆ ได้ยินคนบ้านนี้เรียกสรรพนามกันแล้วงงไปหมดว่านี่เขาเรียกอะไรกัน ลำดับญาติกันแบบไหนก็อธิบายไม่ถูกเหมือนกันเพราะมันเกิดเองโดยอัตโนมัติ มิหนำซ้ำที่บ้านสามีของพลอยโพยมซึ่งอยู่คนละฝั่งแม่น้ำบางปะกงก็เรียกขานกันคล้าย ๆ แบบนี้

จะว่าคนบางกรูดสับสนลำดับญาติไม่ถูกก็ไม่ใช่แน่ ถือว่าเป็นความนิยมของกลุ่มคนบางกลุ่มในชุมชนบางกรูดแล้วกัน

ไหน ๆ ก็ไหนแล้ว พลอยโพยมขออนุญาต แนะนำตัวและครอบครัวคุณตาบุญ คุณยายสมใจ พัวพันธุ์ บ้านหน้าวัดบางกรูด เสียเลย

ยายขาเป็น ประธาน ที่บ้านใหญ่
คุณตาไป ไกลลับ ท่านดับสูญ
มีลูกหลาน สานสืบ สายตระกูล
เราพร้อมมูล พูนสุข ทุกคืนวัน

กาญจนา นั้นหนึ่ง ซึ่งหลานรัก
แจ้งประจักษ์ จงกล คนขยัน
สุมาลี ที่เฟื่อง เรื่องจำนรรจ์
ร้องรำนั้น เสาวณีย์ ดีกว่าใคร

เบญจลักษณ์ จักรพล นุชนารถ
สืบทายาท ป้าละออ ก็ป้าใหญ่
น้องป้าออ อ๋อแม่ ละม่อมไง
มีหลานให้ ห้อมล้อม พร้อมห้าคน

อรรถโกวิท คนรอง น้องพี่ตี๋
คนโตนี้ อโณทัย ใฝ่กุศล
ตกแม่น้ำ นานหาย แทบวายชนม์
ได้ชื่อตน อมร พรสมญา

นพฤทธิ์ ฤทธิ์เด่น เห็นจะดื้อ
น้องเล็กหรือ ฉัตรชัย มิใคร่ซ่า
มีพี่น้อง สองขวัญ กัลยา
เป็นหลานย่า ทรงลักษณ์นี้ พี่ทรงพร

น้าสะใภ้ ทองใบ ได้ร่วมบ้าน
คนช่วยงาน เงาชัด รัตน์ สมร
เขยเข้าชาน ขานอยู่ ครูมังกร
ต่างหมุนจร แจ้งบุญ ของคุณยาย

บ้านโบราณ นานหลาย คุณยายเล็ก ( ประไพ เจริญวงษ์ )
น้าอเนก เนารวม ร่วมเชื้อสาย
อายุสั้น น้านันท์ นั้นวางวาย
อีกน้าชาย ชื่อแอ๋ว แล้วพี่ชวน

รวมสองบ้าน ชานรั้ว ครอบครัวหนึ่ง
คลุกคลีซึ่ง สุขนี้ ที่บ้านสวน
มาเรียนครู อยู่นี่ น้าสีนวล
พี่อ๊อดด่วน ดับไป ใจสะเทือน

ลุงโตผู้ รู้ใจ ได้ใช้สอย (ลูกจ้างของยายขา)
ป้าเชื่อมค่อย พลอยมา ครางานเกลื่อน ( แม่ลุงช้อย)
เก็บงานสวน ส่วนใหญ่ กว่าในเรือน
ไม่แชเชือน ช่วยกัน วันที่มา

ยังลุงช้อย ลูกนา กับน้านุ้ย
ออกไปลุย ลมแดด ที่แผดกล้า
ลุงช้อยไกล สุดกู่ อยู่ปลายนา
น้านุ้ยหนา แนวชิด ติดสวนเอย

น้ามิ่งขวัญ ผันย้าย เหย้าเรือนใหม่
บ้านท่าไข่ ให้หลาน ขานเฉลย
พี่เผดิม อภินันทน์ อันคุ้นเคย
ยังทรามเชย ชิดเรียง เคียงกันมา

หนึ่งสุดา พยาบาล งานสร้างสรรค์
เป็นหมอฟัน มาลี มีเงินหนา
แล้วกุนตี ศรีวรรณ สี่ขวัญตา
มาเยี่ยมย่า ยามเยาว์ เยือนแย้มยล

น้าเล็กสุด รุดหน้า ฝ่าความฝัน
วิจิตรนั้น อันคุณหมอ หนึ่งหน่อผล
เป็นน้องนุช สุดสาย ศศิวิมล
ขอเอ่ยวน เวียนหา ลูกป้าออ

กิตติพงษ์ พ้นผ่าน กาลจากก่อน
ทศพร สุนันทา ครานั้นหนอ
ไม่ร่วมบ้าน ชานเรือน ร่วมเคียงคลอ
แต่เกิดก่อ ผูกพัน กันเรื่อยมา

ยี่สิบสี่ สืบสาน หลานยายขา
สี่ลูกยา คุณตาบุญ อบอุ่นหนา
ยี่สิบห้า เหลนขวัญ ขอพรรณนา
อักษรา เรียงราย สาย “ พัวพันธุ์ ”
โดย พลอยโพยม หลานคนที่ ๑๗

วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2554

[บทความ] เจ้าจอม..น้อมถวายไข่หงส์

เจ้าจอม..น้อมถวายไข่หงส์



คำเรียก "เจ้าคุณ"
คำว่า ‘เจ้าคุณ’ นั้น ว่ากันว่ามีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่มิใช่ยศใช้เรียกยกย่องกันเองโดยทั่วๆ ไป ใช้ทั้งกับผู้หญิงและผู้ชาย ในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ก็มีบางตอนที่พวกบ่าวไพร่ และผู้พึ่งบารมีความมั่งคั่งของขุนช้าง เรียกขุนช้างว่า ‘เจ้าคุณ’

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า ‘เจ้าคุณ’ มาจากคำว่า ‘เจ้าประคุณ’ (หรือ ‘เจ้าพระคุณ’ นั่นเอง)

ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา จดไว้ว่าพระเจ้าเสือ ตรัสเรียก พระราชชนนีเลี้ยง (พระอัครมเหสีในพระเทพราชา ผู้ทรงอุปการะพระเจ้าเสือมาแต่ประสูติ ถึงแผ่นดินพระเจ้าเสือ ทรงสถาปนาเป็นกรมพระเทพามาตย์ ที่พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) ว่า ‘เจ้าคุณ’
ความมีอยู่ว่า ครั้งเมื่อพระเจ้าเสือเสด็จไปโพนช้างที่เมืองนครสวรรค์ ตรัสสั่งพระบัณฑูรใหญ่ (เจ้าฟ้าเพชร-ต่อมาคือพระเจ้าท้ายสระ) และพระบัณฑูรน้อย (เจ้าฟ้าพร-ต่อมาคือพระเจ้าอยู่หัวพระบรมโกศ) ให้ทำถนนข้ามบึงหูกวางให้แล้วในคืนเดียว เมื่อเสร็จแล้วดินพูนถนนจึงยังไม่ทันแห้งสนิท ทำให้ช้างพระที่นั่งไปถลำติดหล่มลงกลางทาง พระเจ้าเสือกริ้วพระราชโอรสทั้งสองว่าคิดกบฏ ให้จำไว้และเฆี่ยนทุกวัน พระบัณฑูรทั้งสองพระองค์จึงใช้ให้คนลงมาเชิญเสด็จ กรมพระเทพามาตย์เสด็จขึ้นไปทูลขอโทษ เมื่อพระเจ้าเสือทอดพระเนตรเห็นกรมพระเทพามาตย์ ตรัสถามว่า “เจ้าคุณขึ้นมาด้วยกิจธุระอันใด”

‘เจ้าคุณ’ ในวัง สมัยกรุงธนบุรี ที่ปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุ มีเพียง ‘เจ้าคุณใหญ่’ ท้าวทรงกันดาล (มอญ)

ที่มาของข้อมูล http://www.sakulthai.com โดย จุลลดา ภักดีภูมินทร์



สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

‘เจ้าคุณ’ ท่านแรก น่าจะเป็น เจ้าจอมแว่นหรือคุณเสือ เพราะในหมายร่างพระบรมราชโองการรัชกาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เรื่องฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กล่าวถึง ‘เจ้าคุณข้างใน’ ว่าเป็นผู้ทำแกงร้อนและทำขนมจีนน้ำยาเลี้ยงพระเลี้ยงคน มีคำอธิบายเชิงอรรถว่า ‘เจ้าคุณข้างใน’ คือ เจ้าจอมแว่น ยกย่องเรียกกันว่า ‘เจ้าคุณ’ เพราะในรัชกาล สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เจ้าจอมแว่นเป็นคนโปรดและเป็นใหญ่อยู่ในวัง



แม้สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จะมิได้ทรงสถาปนาพระอัครมเหสี แต่พระชายาเดิมทรงดำรงตำแหน่งพระอัครมเหสีโดยปริยาย คนทั้งหลายออกพระนามว่าพระพันวษา (หรือพระพันวัสสา) เมื่อถึงรัชกาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ จึงได้ทรงสถาปนา สมเด็จพระบรมราชชนนี เป็น กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ (ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เปลี่ยนเป็นสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี) ส่วนพระพี่พระน้อง ของ สมเด็จพระอมรินทรฯ ที่เป็นภรรยาข้าราชการอยู่ในขณะนั้น เช่น ท่านผู้หญิงนวล ภรรยาเจ้าพระยามหามหาเสนาฯ (บุนนาค) คนทั้งหลายนับถือยกย่องว่าทรงศักดิ์สิทธิ์สูงกว่าภรรยาข้าราชการอื่น ๆ เพราะเป็นพระพี่น้องของพระอัครมเหสี จึงเรียกกันว่า ‘เจ้าคุณ’ แทนที่เคยเรียกกันว่า ‘ท่านผู้หญิง’ ‘คุณหญิง’ หรือ ‘คุณ’



ที่เท้าความคำว่าเจ้าคุณ เพราะจะอ้างถึง เจ้าคุณที่มีนามว่าเจ้าจอมแว่น
เจ้าจอมแว่นมีประวัติความเป็นมาดังนี้
เจ้าจอมแว่น หรือ(เจ้านางแก้วฟ้า. เจ้านางคำแว่น. เจ้าจอมแว่น. เจ้าคุณข้างใน. คุณเสือ. เจ้านางเขียวค้อม. เจ้าน้อยเขียว)

ในปี พ.ศ. 2321 ครั้งสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขณะดำรงยศสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ไปตีกรุงเวียงจันทน์ และเชิญเสด็จพระราชบุตรในพระเจ้าศิริบุญสาร (พระองค์บุญ) มายังสยาม โดยประกอบด้วย เจ้านันทเสน เจ้าอินทวงศ์ และเจ้าอนุวงศ์ แต่ เจ้าพรหมวงศ์ พระอนุชา ได้หลบหนีไปเมืองอื่นเสีย ในการเดียวกันนี้ยังได้รับเจ้านางคำแว่น ซึ่งเป็นนางกำนัลของพระอัครมเหสีของพระเจ้าสิริบุญสารมาเป็นชายา ใน พ.ศ. 2322
เจ้านางคำแว่นขอให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ยกเว้นทำลายเมืองพานพร้าว ศรีเชียงใหม่ (จังหวัดหนองคายในปัจจุบัน) และได้รับตามคำขอ



เมืองพานพร้าว หรือ "ค่ายพานพร้าว" นี้เป็นค่ายทหารที่มั่นชั่วคราวของกองทัพไทย (ปัจจุบันคือ บริเวณ หน่วยปฏิบัติการตามลำแม่น้ำโขง)
ศึกครั้งนี้เรียกว่า "ศึกนางเขียวค้อม" ชาวพานพร้าวศรีเชียงใหม่ ได้สร้างเจดีย์ไว้เป็นอนุสรณ์ที่วัดนางเขียวค้อม บริเวณบ้านหัวทราย อำเภอศรีเชียงใหม่ ไว้เป็นที่เคารพสักการะของชาวพานพร้าว-ศรีเชียงใหม่ จนถึงทุกวันนี้ (ตำนานนางเขียวค้อมมีหลายสำนวน) และชาวเมืองได้ยกย่องเจ้านางคำแว่นเป็น เจ้านางเขียวค้อม

และในครั้งนั้นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางมาประดิษฐานไว้ที่ค่ายพานพร้าว โดยสร้างหอพระแก้วชั่วคราวเพื่อการนี้ ส่วนราษฎรชาวเวียงจันทน์ ส่วนหนึ่งให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองพานพร้าว ปะโค และเวียงคุก จากนั้น จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางพร้อมทั้งนำเชื้อพระวงศ์เวียงจันทน์ ข้าราชการ กรมการเมือง รวมทั้งราษฎรชาวเวียงจันทน์ที่เหลือลงมาที่กรุงธนบุรี



หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช บันทึกไว้ในหนังสือ โครงกระดูกในตู้ ว่า

เมื่อเจ้าจอมแว่นมาอยู่ในทำเนียบสมเด็จเจ้าพระยาฯ แล้ว ท่านผู้หญิง (สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี) ก็หึงหวงมาก มีปากเสียงกับสมเด็จเจ้าพระยาฯ ด้วยเรื่องคุณแว่นนี้อยู่บ่อย ๆ จนคืนวันหนึ่ง ท่านผู้หญิงถือดุ้นแสมไปยืนดักคอยอยู่ในที่มืด บนนอกชานเรือน พอคุณแว่นเดินออกมาจากเรือนหลังใหญ่ อันเป็นที่อยู่ของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านผู้หญิงก็เอาดุ้นแสมตีหัว คุณแว่นก็ร้องขึ้นว่า "เจ้าคุณขา คุณหญิงตีหัวดิฉัน"

สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็โกรธยิ่งนัก ฉวยได้ดาบออกจากเรือนจะมาฟันท่านผู้หญิง ฝ่ายท่านผู้หญิงก็วิ่งเข้าเรือนที่ท่านอยู่ แล้วปิดประตูลั่นดาลไว้ สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็เอาดาบฟันประตูอยู่โครม ๆ



เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกปราบดาภิเษก สถาปนาราชวงศ์จักรีและสถาปนากรุงเทพมหานคร ฯ เป็นราชธานีใหม่ เจ้านางคำแว่น จึงได้รับสถาปนาขึ้นเป็นที่ เจ้าจอม(แว่น) พระสนมเอก และโปรดให้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทจนชาววังยกย่องเป็น เจ้าคุณข้างใน และเป็นเจ้าคุณท่านแรกในจักรีวงศ์



เจ้าจอมแว่นเป็นผู้มีความกล้าหาญและมีศิลปะในการเพ็ดทูลเรื่องราวต่าง ๆ ที่ไม่มีผู้ใดกล้าจะกราบทูล ถ้าท่านเห็นว่าเป็นสิ่งสมควรและถูกต้องแล้ว ก็จะกราบทูลทันทีมิได้เกรงกลัวพระราชอาญา

ความกล้าหาญของเจ้าจอมแว่นเป็นที่ประจักษ์เมื่อ เมื่อปี พ.ศ. 2339 คราวที่สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกหาราช ทรงเหน็ดเหนื่อยพระวรกายจากการว่าราชการเมือง ขณะบรรทมหลับก็เกิดพระสุบินและทรงละเมอ ทำให้ข้าราชบริพารตกใจ มิรู้ที่จะทำอย่างไรดี เจ้าจอมแว่นใช้ความหาญกล้าตัดสินใจกัดนิ้วพระบาท จนพระเจ้าอยู่หัวทรงรู้สึกพระองค์และตื่นบรรทม เจ้าจอมแว่นได้รับความดีความชอบและเป็นที่โปรดปรานของพระองค์

ความจงรักภักดีและสุจริตใจของเจ้าจอมแว่นนี้ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกหาราช จึงไม่ทรงพิโรธ



เจ้าจอมแว่นยังมีความสามารถในการปรุงอาหารยิ่งนัก ดังปรากฏเป็นตำนานว่า
สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช นั้นโปรดเสวยไข่เหี้ย กับมังคุด เป็นอย่างยิ่ง อยู่มาวันหนึ่งก็โปรดจะเสวย แต่ไม่มีใครสามารถหาได้เลย เพราะไม่ใช่ฤดูกาลเหี้ยวางไข่ เจ้าจอมแว่น จึงประดิษฐ์ "ขนมไข่เหี้ย" ขึ้นตั้งเครื่องถวายแทนต่อมาหลายท่านเรียกขนมไข่เหี้ยด้วยชื่อใหม่ที่ฟังดูหรูหราว่า"ขนมไข่หงส์"

เมื่อครั้งทำบุญใหญ่ฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกหาราช ได้ทรงโปรดให้เลิกข้าวทำขนมจีนเลี้ยงพระสงฆ์นับพันรูปถึงวันละเกวียน โดยเจ้าจอมแว่นผู้มีชื่อเสียงในการปรุงน้ำยาที่สุดในสมัยนั้น ได้เป็นผู้ปรุงถวายพระในการเลี้ยงนี้เอง



เมื่อสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงสร้างกรุงเทพมหานคร และพระบรมมหาราชวังขึ้นนั้น สมเด็จพระอมรินทราฯ ก็มิได้เคยเสด็จเข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวังเลย ประทับอยู่ที่บ้านเดิมจนสวรรคต
เจ้าจอมแว่น เป็นพระสนมเอก ที่รับใช้เบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิด อีกทั้งยังมีหน้าที่อภิบาลพระเจ้าลูกเธอที่ยังทรงพระเยาว์อย่างเข้มงวด จนได้รับฉายาว่า "คุณเสือ"

แม้ว่าเจ้าจอมแว่นจะมีอุปนิสัยเข้มงวดจริงจังปานใดก็ตาม แต่ความจงรักภักดีอย่างจริงใจเป็นที่ประจักษ์แก่บรรดาพระเจ้าลูกเธอและพระเจ้าลูกยาเธอ เมื่อพระองค์ใดทรงมีปัญหาสำคัญ แก้ไขไม่ได้ด้วยพระองค์เอง มักจะขอร้องให้เจ้าจอมแว่นช่วยซึ่งทุกพระองค์ก็จะได้รับความช่วยเหลืออย่างเต็มใจเสมอ จึงเป็นที่เกรงกลัวและนับถือของทุกพระองค์



เจ้าจอมแว่นรับราชการในสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชอย่างใกล้ชิดแต่มิได้ให้ประสูติพระหน่อ นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้ถวายการอภิบาลพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีเชื้อสายเป็นชาวเวียงจันทน์เหมือนกัน รวมทั้งยังเป็นผู้ถวายการอภิบาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่ประสูติแต่เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี อีก 3 พระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าอาภรณ์ สมเด็จเจ้าฟ้ากลาง (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์) และสมเด็จเจ้าฟ้าปิ๋ว

เจ้าจอมแว่น ถึงแก่อนิจกรรมในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย



หมายเหตุ
กาพย์พระไชยสุริยา เป็นวรรณคดีที่ประพันธ์โดย สุนทรภู่ เป็นนิทานสำหรับสอนการเขียนอ่าน เชื่อว่าสุนทรภู่ประพันธ์ขึ้นในราวปี พ.ศ. 2383-2385 สำหรับใช้เป็นบทเรียนเขียนอ่านเพื่อถวายพระอักษรแด่พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี พระอัครชายา คือเจ้าฟ้าชายกลางแล้วเจ้าฟ้าปิ๋ว



สูตรขนมไข่หงส์
เครื่องปรุง
ตัวแป้ง
แป้งข้าวเหนียว 2 ถ้วย น้ำตาลทราย 1 ถ้วย น้ำ 2 ถ้วย
ไส้
ถั่วนึ่งบดละเอียด 2 ถ้วย น้ำตาลทราย ½ ถ้วย เกลือ 2 ช้อนชา พริกไทยป่น ½ ช้อนชา
วิธีทำ
-ผัดถั่วเขียว น้ำตาล เกลือ พริกไทยรวมกัน ใส่น้ำมันพืชเล็กน้อย พอเย็นปั้นเป็นก้อนกลมใส่ถาดแช่ตู้เย็นไว้ตอนห่อไส้จะได้ห่อง่ายๆ
-นวดแป้งข้าวเหนียวกับน้ำจนแป้งนุ่มเนียน ไม่ติดมือ คลึงแป้งที่นวดเป็นแผ่น ตักไส้ใส่ หุ้มให้มิด ทอดให้สุกเหลือง ตักขึ้นให้สะเด็ดน้ำมัน
-เคี่ยวน้ำตาลทรายกับน้ำจนเป็นยางมะตูมเหนียว ใส่ขนมที่ทอดไว้ คลุกให้น้ำตาลจับทั่วก้อน ตักขึ้น โดยต้องคลุกน้ำตาลขณะขนมยังร้อนอยู่มิฉะนั้นน้ำตาลจะไม่เคลือบติดขนมอย่างสวยงาม

ไข่ ของจริงจะมีรูปร่าง รียาวสีขาวขุ่น ไม่กลมอย่างขนม มีในฤดูร้อนต่อเนื่องฤดูฝนไข่คราวละ 15-20 ฟอง ใช้เวลาฟัก 45-50 วัน ไข่จะถูกกลบเป็นเนินดินหรือรังปลวก แต่ละปีจะมีไข่ 2-3 ครั้ง หรืออาจมากกว่านั้นในพื้นที่ซึ่งสภาพในฤดูแล้งและฤดูฝนไม่แตกต่างกัน

คนข้าง ๆ พลอยโพยมบอกว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะในสมัยก่อนนั้นมีแต่การศึก กองทัพต้องนอนกลางดินกินกลางป่า หากเสบียงอาหารที่เตรียมไปหมดลงก็ต้องหาสิ่งที่พอจะกินได้จากที่บริเวณนั้น ๆ กินไปตามมีตามเกิดทหารหาญ ส่วนใบเตยแสดงความคิดเห็นว่าเจ้าสัตว์ชื่อนี้อาจไม่ได้เป็นที่รังเกียจของสังคมไทยในยุคนั้นแม้จะมีชื่อไม่ไพเราะนัก แล้วก็มาอ่านเจอเรื่องการกินไข่ของเจ้าตัวชื่อไม่ไพเราะนี้ภายหลังอีก



เคยอ่านเจอ ใน http://www.lks.ac.th/kanlayanee_fence/61249/about/bangn112.html ว่า

คนโบราณนั้นกินไข่จริงนี้โดยการนำไปย่างไฟอ่อนๆก่อนย่างก็ใช้เข็มหรือของแหลม ๆ บรรจงเจาะไข่ให้เป็นรูเล็กๆจนทั่ว ไข่นั้นไม่แข็งเหมือนไข่เป็ดหรือไข่ไก่แต่จะอ่อนนุ่มนิ่มบุบๆบี้ ๆ คล้ายกับ ไข่เต่าลูกแต่โตกว่าไข่เป็ดมาก ดังนั้นถึงจะเจาะอย่างไรก็ไม่แตกแน่ ๆ ที่นี้ระหว่างที่ย่างอยู่นั้นก็จะพรมน้ำเกลือลงบน ไข่ไปเรื่อย ๆ จนไข่สุก รสชาตินั้นว่ากันว่าจะออกมัน ๆ เค็ม ๆ ไข่แดงรสมัน เคี้ยวร่วน กลิ่นหอมและรสอร่อยกว่าไข่เค็ม
นิยมกินแนมกับมังคุดจะอร่อยเป็นพิเศษ คาดกันว่าการกินไข่นี้กินกันมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

อ่านแล้วไม่ต้องผะอืดผะอมกันหรอก เพราะปัจจุบันพวกเราก็คงเคยกินเนื้อของตัวเงินตัวทองนี้ โดยไม่รู้ตัวและอาจจะหลงว่าของที่กินนั้นอร่อยเหลือแสนก็เป็นได้ เพราะแถบ ๆ ฉะเชิงเทรา มีคนล่าจับสัตว์ชื่อไม่ไพเราะเสนาะหูแถมถูกกล่าวถึงเวลาโมโหสุดขีดของหลาย ๆ คนอยู่บ่อย ๆ คนจับบอกว่ามีคนมารับซื้อเอาส่งไปโรงงานชื่อดังที่อีสาน ผลิตภัณฑ์ของโรงงานนี้ลือกระฉ่อนทั่วไทย ไปที่ไหน ๆ ก็พบเจอ เขาบอกว่าขายได้ราคาดีมาก ๆ เจ้าสัตว์ตัวนี้หายหน้าหายตาไปนานทีเดียว



ต่อมาได้พบเจ้าสัตว์นี้ที่วิทยาเขตกำแพงแสนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่นครปฐม ออกมาเพ่นพ่านตามแนวถนนด้านในข้างหลังที่ยังเป็น ป่าโปร่ง เล็ก ๆ ของวิทยาเขต ขับรถหลบแทบไม่ทัน พบเจอครั้งละตัว ห่าง ๆ ระยะกัน แต่นั่นยังน้อยไป ตอนลูกชาย ใบไผ่ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากรที่วังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม ตอนเปิดภาคเรียนใหม่ ๆ ปีแรก ขับรถเข้าไปลึกข้างในหน่อย กลายเป็นต้องจอดรถรอให้เจ้าของพื้นที่คลานหลบไปเสียก่อน แต่ละตัวเชิดหน้ามองคนในรถเหมือนจะบอกว่า

" ที่นี่ที่ของฉันนะจ๊ะ เธอมาแต่ไหนกันล่ะ รบกวนพวกฉันนะนี่รู้ไหม แดดร่มลมพัดโชยเย็นชื่นฉ่ำแบบนี้เป็นเวลาของพวกฉันออกมาสังสรรค์พบปะแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์กันนะ ว่าจะป้องกันการบุกรุกความสงบสุข จากเสียงรถยนต์เสียงแตรรถที่แสบแก้วหูอย่างที่เธอกำลังทำอยู่อย่างไรดี เธอก็มาพอดี เบื่อจริง ๆ ฉันไปดีกว่า "
แล้วก็คลานกระต้วมกระเตี้ยมเพราะความอ้วนพีหลบไปข้างทาง ตรงนั้นตัว ตรงนี้ตัว ไปหลาย ๆ ครั้งเข้าก็เริ่มชิน ถ้าไม่มีการออกมาทักทายก็ชักแปลก ๆ ใจว่า เจ้าของกิจการร่วมทุนที่ดินของมหาวิทยาลัยหายไปไหนกัน หรือว่าที่วังสนามจันทร์ก็มีคนมีอาชีพจับเจ้าสัตว์ตัวนี้ส่งไปขายเหมือนเมืองฉะเชิงเทรากันเล่านี่



โดยส่วนตัวพลอยโพยมรังเกียจสัตว์หลายประเภทฝังอกฝังใจ เช่นตุ๊กแกเจอที่ไหนขยักขย่อนจะอาเจียนทุกครั้งตั้งแต่เด็ก พอวัยนี้ เวลาพบเห็นก็ยังพอขยะแขยง คนโบราณบอกว่า ที่ตุ๊กแกร้องเพราะตับในท้องแก่ ต้องส่งเสียงร้อง ตุ๊กแก ตุ๊กแก เพื่อให้งูมากินตับ มีตุ๊กแกอยู่ตัวเขื่องตัวหนึ่งส่งเสียงร้องอยู่หลายวัน บางทีเปิดประตูครัวซึ่งอยู่นอกตัวบ้าน ก็จะเห็นเขากลิ้งกลอกสายตามองจ้องหยั่งเชิงอยู่ พลอยโพยมเคยแต่วิ่งอ้าวหนีทุกที พอเห็นหลาย ๆ ครั้ง เข้าก็เลิกหนีกล้ามองสบตาเจ้าตุ๊กแกวัดพลังจิตกัน กลายเป็นเจ้าตุ๊กแกคลานหนีไปอ้าวเลย เจ้าตุ๊กแกก็กลัวมนุษย์อยู่มากเหมือนกัน หลังจากที่เสียงร้องหายไปตัวตุ๊กแกก็หายไปด้วย



น้องชายเล่าว่าตุ๊กแกตัวนี้ถูกงูเขียวกินไปแล้ว แปลกแต่จริงว่างูเขียวไม่ได้กินตับตุ๊กแกที่ใคร ๆ บอกว่า ตุ๊กแกจะคอยอ้าปากให้งูล้วงตับออกมากิน กลายเป็นว่างูเขียวเขมือบกินตุ๊กแกทั้งตัว ก็เลยนึกสงสารตุ๊กแก คิดไปคิดมาตุ๊กแกก็ไม่ได้น่าเกลียดอะไรมากมาย ลวดลายบนตัวถ้าไม่กลัวก็สวยดีเหมือนกัน ลายพร้อยหลากสีไปทั้งตัวออกอย่างนั้น ต่างคนต่างอยู่บนโลกใบเดียวกัน ถามน้องชายว่าทำไมไม่ช่วยตุ๊กแกล่ะ น้องชายตอบว่างูเขียวเขมือบเข้าไปตั้งค่อนตัวแล้ว มันเป็นห่วงโซ่อาหารของกันและกันอยู่

ป่านนี้คงไปเกิดใหม่ในภพที่ดีกว่าการเป็นตุ๊กแกเรียบร้อยแล้ว มิหนำซ้ำขณะนี้ตุ๊กแกก็ถูกไล่ล่าจับไปขาย บ้านไหนมีตุ๊กแกหลายตัวทำลายขวัญคนในบ้านก็ไปส่งข่าวบอกคนจับตุ๊กแกขาย ขอเพียงส่งเสียงมา คน ๆ นี้จะรีบมาโดยเร็วไวเลยทีเดียว การจับตุ๊กแกไม่ยาก ตอนอยู่บ้านบางกรูดสมัยเด็ก ๆ พี่ชายเขาจับบ่อย ๆ โดยใช้ก้านตอก (คือแกนกลางของใบจากอ่อนที่ลิดใบไปทำใบจากมวนยาสูบ) ทำห่วงกลมที่ปลายก้านตอก แล้วเอาโคนตอกสอดเข้าไปในห่วงกลมนั้น เวลาคล้องคอตุ๊กแกได้แค่กระตุกโคนก้านตอก ห่วงที่ทำไว้จะรัดคอตุ๊กแก คล้องคอตุ๊กแกได้แล้วก็หิ้วร่องแร่งเอาออกไปนอกบ้าน เพราะในบ้านเด็กผู้หญิงมีหลายคนแต่ละคนกลัวตุ๊กแกกันหัวหด เกาะอยู่ตรงไหนไม่มีเด็กผู้หญิงกล้าเดินผ่านเพราะกลัวตุ๊กแกกระโดดลงมาเกาะคอเรา เลยต้องหดคอตัวเองไว้( คิดไปเองเป็นตุเป็นตะ ที่แท้แล้วตุ๊กแกก็กลัวคน) พร้อมกับส่งเสียงเจื้อยแจ้วแสบแก้วหูร้องเรียกคนอื่นมาไล่ไปให้ที เพื่อจะได้เดินผ่านที่ตรงนั้นได้ พวกผู้ชายก็เลยรำคาญใจมาช่วยจัดการให้ คนคล้องตุ๊กแกจะอยู่ห่างตัวตุ๊กแกแค่ระยะของก้านตอกเอง


จากวิกิพีเดียมีความว่า

ตุ๊กแกเป็นสัตว์ที่อยู่ในความเชื่อของชาวไทยมาแต่โบราณ เช่น เชื่อว่าตุ๊กแกมักถูกงูเขียวเข้ามากินตับ โดยอ้าปากให้งูเข้าไปกินถึงในท้อง แท้ที่จริงแล้ว งูเขียวเมื่อหาอาหารไม่ได้จะบังคับให้ตุ๊กแกอ้าปากเพื่อเข้าไปกินเศษอาหารที่ติดตามซอกปากของตุ๊กแก
นอกจากนี้แล้ว ยังเชื่อว่าเสียงร้องของตุ๊กแกยังเป็นการบอกถึงโชคลางของผู้ที่ได้ยินอีกด้วย ตามเวลาและจำนวนครั้งที่ต่างกัน เช่น 1 ครั้ง เชื่อกันว่า ผู้ได้ยินจะเสียเงินทองโดยไม่เต็มใจ แต่ถ้าได้ยินเสียงตุ๊กแกร้อง 3 ครั้ง เชื่อว่า คนในบ้านจะอยู่เย็นเป็นสุข พบกับความเจริญรุ่งเรือง หรือ ตุ๊กแกร้องตั้งแต่เวลา 6 นาฬิกาจนถึงเที่ยง เชื่อว่า จะได้รับข่าวดี เป็นต้น

ที่มาของข้อมูล วิกิพีเดีย และhttp://www.lks.ac.th/kanlayanee_fence/61249/about/bangn112.html
ที่มาของภาพประกอบเรื่องเจ้าคำแว่น http://mblog.manager.co.th/septimus/Oil-Painting-by-Unknown-Artist
และมิใช่ภาพของเจ้าจอมแว่นจริง เพียงแต่นำภาพมาสื่อทดแทน เมื่อคั่นข้อความที่ยาวมาก

วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2554

[บทความ] หวานล้ำ... น้ำตาลไทย

หวานล้ำ... น้ำตาลไทย


อ้อยควั่น

แต่เดิมตั้งแต่สมัยโบราณ เราทำน้ำตาลจากน้ำหวานของต้นตาล จึงเรียกสารให้ความหวานนั้นว่า "น้ำตาล" จนปัจจุบันถึงแม้ว่ารูปแบบของสารให้ความหวานจะเปลี่ยนไป ทั้งรูปลักษณ์ และวัตถุดิบซึ่งทำมาจากอ้อย แต่ชื่อน้ำตาลก็ยังคงถูกใช้อยู่ ส่วนชื่อน้ำตาลในความหมายเดิมเปลี่ยนชื่อเป็นน้ำตาลโตนดแทน


จั่นมะพร้าว

น้ำตาล ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 อธิบายว่า

“น้ำตาล" : สารประกอบคาร์โบไฮเดรตประเภทโมโนแซ็กคาไรต์และไดแซ็กคาไรต์ซึ่งมีรสหวาน โดยมากได้จากตาล มะพร้าว อ้อย, ถ้าเป็นความหมายเฉพาะอย่างและทำด้วยอะไร ก็เติมคำนั้น ๆ ลงไป เช่น ทำจากตาล เรียกน้ำตาลโตนด

ชื่อน้ำตาลชนิดต่างๆ
น้ำตาลโตนด ทำจากตาล
น้ำตาลมะพร้าว ทำจากมะพร้าว
น้ำตาลงบ ทำเป็นงบ
น้ำตาลทรายดิบ ทำจากอ้อยแต่ยังไม่ได้ทำให้เป็นน้ำตาลทราย
น้ำตาลทราย ทำเป็นเม็ด ๆ เหมือนทราย
น้ำตาลกรวด ทำเป็นก้อนแข็ง ๆ เหมือนกรวด
น้ำตาลตงุ่น เคี่ยวให้ข้น ๆ (ตงุ่น อ่านว่าตะหงุ่น เป็นการเรียกน้ำตาลที่เคี่ยวจนเป็นยางอย่างน้ำผึ้ง)
น้ำตาลปี่ หยอดใส่ใบตาลทำเป็นรูปปี่
น้ำตาลปึก หลอมเป็นปึก
น้ำตาลหม้อ หยอดใส่หม้อ
น้ำตาลสด รองมาใหม่ ๆ ยังไม่ได้เคี่ยว
น้ำตาลลวก ถ้าต้มให้เดือด
น้ำตาลเมา ถ้าใส่เปลือกตะเคียน มะเกลือ หรือเคี่ยมเป็นต้น หมักไว้ระยะหนึ่งจนมีแอลกอฮอล์ กินแล้วเมา


งวงตาล

น้ำตาลที่ปรากฏใน หนังสืออักขราภิธานศรับท์ ฉบับหมอ บรัดเลย์ เขียนเมื่อ พ.ศ. 2416 ในต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

มีคำว่าน้ำตาลชนิดต่างๆ ดังนี้
“ น้ำตาล คือ น้ำที่ไหล หยด ออกมาจากงวงตาลนั้น,
น้ำตาลกรวด, คือ น้ำตาลที่เป็นก้อนแข็งเหมือนกรวดนั้น, เหมือนน้ำตาลกรวดที่ทำด้วยน้ำตาลทราย,
น้ำตาลงบ, คือ น้ำตาลที่เขาทำเป็นงบๆ นั้น เช่น งบอ้อย,
น้ำตาลจาก, คือ น้ำตาลที่เขาทำจากงวงจากนั้น เช่น น้ำตาลมะพร้าว,
น้ำตาลทราย, คือ น้ำตาลที่เป็นเม็ดๆ เหมือนทรายนั้น,
น้ำตาลตงุ่น, คือ น้ำตาลที่เคี่ยวไว้ข้นๆ นั้น เช่น น้ำตาลตงุ่นเมืองเพ็ชร์บุรี,
น้ำตาลโตนฎ, คือ น้ำตาลที่เกิดแต่ต้นโตนฎนั้น เช่น น้ำตาลเพ็ชร์บุรี,
น้ำตาลปี่, คือ น้ำตาลที่ใส่เป็นรูปปี่นั้น เช่น น้ำตาลเพ็ชร์บุรี,
น้ำตาลปึก คือ น้ำตาลที่เขาหลอมเป็นปึกนั้น เช่น น้ำตาลงบ,
น้ำตาลเตา, คือ น้ำตาลที่เขาเคี่ยวมาจากเตานั้น เช่น น้ำตาลม่อนั้น,
น้ำตาลม่อ, คือ น้ำตาลที่เขาหยอดใส่หม้อนั้น เช่น น้ำตาลที่เขาขายตามตลาด,
น้ำตาลมะพร้าว, คือ น้ำตาลที่เกิดแต่มะพร้าวนั้น,
น้ำตาลหลอม, คือ น้ำตาลที่เหลวไปแล้วหลอมใส่หม้ออีกครั้งหนึ่ง เช่น น้ำตาลหลอม เพ็ชร์บุรี,
น้ำตาลสด, คือ น้ำตาลที่รองมาใหม่ๆ ยังไม่ได้เคี่ยวให้แห้งนั้น เช่น น้ำตาลในกระบอก,
น้ำตาลส้ม, คือ น้ำตาลที่ดองไว้ให้เปรี้ยว เช่น น้ำส้มกินเมา...”


น้ำตาลหม้อ


น้ำตาลสด

น้ำตาลสด
มีทั้งน้ำตาลสดจากตาลและน้ำตาลสดจากมะพร้าวเป็นน้ำหวานที่ได้จากการรองน้ำหวานจากงวงตาล (ช่อดอกของตาล) ที่ใช้มีดปาดปลายงวงตาลแล้วใช้กระบอกไผ่รองน้ำหวานนี้ไว้ หรือได้จากน้ำหวานของจั่นมะพร้าว (ช่อดอกของมะพร้าว) ด้วยวิธีเดียวกัน
ถ้าเป็นมะพร้าวชาวสวนจะใส่ เปลือกไม้ตะเคียนหรือเปลือกไม้เคี่ยม ถ้าไม่มีจะใช้ไม้ตะเคียนไสด้วยกบ ถ้าเป็นตาลมักใส่เปลือกไม้พะยอม ไว้ที่ก้นกระบอกตอนรองน้ำหวาน



น้ำตาลโตนด

น้ำตาลโตนด

โตนดก็คือต้นตาล ทุก ๆ เช้าชาวสวนจะเก็บกระบอกไม้ไผ่ที่รองน้ำหวานจากงวงตาลมาทั้งคืน แล้วใช้มีดปาดปลายงวงตาลทิ้งเล็กน้อย เมื่อตัดแล้วจะมีน้ำหวานไหลซึมออกมาจากปลายงวงแล้วนำกระบอกชุดใหม่รองไว้ และจะมาเก็บอีกทีในตอนเย็น จากนั้นนำน้ำหวานมากรองเอาเปลือกไม้พะยอมสับออกก่อนที่จะนำไปเคี่ยว เปลือกไม้พะยอมสับนี้ช่วยไม่ให้น้ำตาลสดในกระบอกบูดเสียง่าย ชาวบ้านจะใส่ลงในก้นกระบอกไม้ไผ่ก่อนนำไปรองน้ำหวานทุกครั้ง
และกระบอกไม้ไผ่เองก็ต้องผ่านการรมควันก่อนนำไปรองที่งวงตาลทุกครั้งด้วยเช่นกัน


น้ำตาลโตนด

เมื่อเคี่ยวน้ำตาลจนงวดได้ที่ก็กวนและตีเพื่อให้น้ำตาลขึ้นตัว แล้วจึงหยอดลงเบ้าหรือพิมพ์ ส่วนใหญ่เบ้าจะเป็นในรูปครึ่งวงกลมคล้ายถ้วย จะเรียกน้ำตาลรูปแบบนี้ว่าน้ำตาลปึก แต่หากใส่ในภาชนะต่างๆก็จะมีชื่อเรียกตามภาชนะที่ใส่ เช่น น้ำตาลปี๊บ น้ำตาลหม้อ เป็นต้น

น้ำตาลปึกที่ได้จากตาลโตนดของจังหวัดเพชรบุรี เมืองแห่งตาลโตนด จะมีสีอ่อนค่อนไปทางเหลืองนวลเกือบขาว (แต่บางจังหวัดก็มีสีน้ำตาลเข้ม ขึ้นอยู่กับวิธีการเคี่ยวของแต่ละที่) รสชาติหวานกลมกล่อม เวลากินจะได้กลิ่นหอมอวลของตาล เพิ่มเสน่ห์และรสของขนมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะขนมที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบทำให้ขนมเมืองเพชรเป็นที่ขึ้นชื่อลือชา


น้ำตาลมะพร้าว

น้ำตาลมะพร้าว

น้ำตาลมะพร้าวนั้นจัดเป็นน้ำตาลพื้นบ้านที่อยู่คู่ครัวไทยมานานมากเช่นกัน มีการผลิตขายกันอย่างแพร่หลายในหลายจังหวัด เช่น สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี เป็นต้น รวมทั้งตามบ้านสวนต่าง ๆ ทั่วไปที่ทำไว้บริโภคกันเองในครัวเรือน

การผลิตน้ำตาลมะพร้าวนั้นมีความพิถีพิถันมากกว่าจะรองน้ำตาลสดได้ แล้วนำมาเคี่ยวที่เตา จนน้ำตาลเริ่มแข็งตัวใช้เกรียงขูดออกจากกระทะ เทใส่ปี๊บ เรียกว่า "น้ำตาลปี๊บ" ถ้าเทลงใส่ถ้วยตะไลหรือพิมพ์ได้น้ำตาลที่มีลักษณะเป็นก้อนกลม ๆ แบบครึ่งถ้วย นิยมเรียกว่า "น้ำตาลปึก" เรียกเหมือนน้ำตาลโตนด


น้ำตาลมะพร้าว

เนื่องจากน้ำตาลมะพร้าวเป็นน้ำตาลที่ยังคงมีน้ำผสมอยู่จึงชื้นได้ง่าย ไม่สามารถคงรูปอยู่ได้นาน มีการคืนตัวเยิ้มเหลวง่าย ผู้ผลิตบางรายจึงผสมน้ำตาลทรายลงไปเล็กน้อยในการเคี่ยวน้ำตาลสดเพื่อผลิตน้ำตาลปึก เนื่องจากน้ำตาลทรายมีลักษณะเป็นผลึกจึงช่วยให้น้ำตาลมะพร้าวแห้งและแข็งตัวเร็วขึ้นสามารถปั้นเป็นก้อนได้ง่าย ปริมาณน้ำตาลทรายที่มากน้อยจะมีผลต่อรสชาติของน้ำตาลมะพร้าวคือรสชาติหวานมัน ถ้าใส่น้ำตาลทรายมากไปรสจะเปลี่ยนเป็นหวานแหลมตามปริมาณน้ำตาลทรายที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะส่งผลต่อการปรุงรสของอาหาร จะไม่ได้อาหารที่มีรสหวานมัน นอกจากนี้กระแสความนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป แต่ก่อนผู้บริโภคสนใจเฉพาะเรื่องรสชาติที่หวานมันของน้ำตาลมะพร้าว แต่ปัจจุบันผู้บริโภคกลับสนใจรูปลักษณะ ต้องการน้ำตาลสีขาวนวล เป็นก้อนแข็งไม่เยิ้มเหลว ซึ่งเป็นลักษณะที่ผิดธรรมชาติของน้ำตาลมะพร้าว

นอกจากน้ำตาลจะเยิ้มเหลวง่ายแล้ว น้ำตาลจะเปลี่ยนสีจากขาวเหลืองเป็นสีน้ำตาลเข้มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการเกิดปฏิกิริยาสีน้ำตาลที่เกิดขึ้นในตัวน้ำตาล ดังนั้นจึงมีการเติมสารฟอกขาวลงไปเพื่อฟอกสีน้ำตาลและช่วยคงสภาพสีขาวนวลของน้ำตาลไว้นาน ๆ สารฟอกขาวกลุ่มของสารซัลไฟด์หลายตัว ได้แก่ โซเดียม-โพแทสเซียมซัลไฟด์ โซเดียม-โพแทสเซียมไบซัลไฟด์ โซเดียม-โพแทสเซียมเมตาซัลไฟด์ เป็นสารฟอกขาวที่กระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้ใส่ในอาหารได้ แต่ในปริมาณที่กำหนด
สำหรับน้ำตาลมะพร้าวนั้นมีการกำหนดไว้ว่าไม่ให้มีการตกค้างเกิน ๔๐ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม


น้ำตาลมะพร้าว

ปัจจุบันการผลิตน้ำตาลปึกและน้ำตาลปี๊บมีความยากลำบากมาก เพราะต้นมะพร้าวที่มีอายุมากจะมีลำต้นสูงมาก ยากลำบากต่อการปีนขึ้นไปเก็บน้ำตาล อีกทั้งเสี่ยงต่อการตกต้นมะพร้าวลงมาบาดเจ็บ พิการหลายรายถึงกับเสียชีวิต เด็กรุ่นใหม่จึงไม่นิยมสืบทอดอาชีพนี้ ทำให้อาชีพการผลิตน้ำตาลมะพร้าวแท้ค่อย ๆ ลดน้อยลงไป หรือมีการเปลี่ยนแปลงกรรมวิธีการผลิตที่ทำให้ได้น้ำตาลปริมาณมากขึ้น มีผู้ผลิตบางรายผสมแป้งมัน กากน้ำตาล หรือน้ำตาลทราย ในปริมาณมาก เพื่อเพิ่มปริมาณและลดต้นทุนการผลิต และช่วยให้น้ำตาลไม่คืนตัวเร็วเกินไป มีการใส่สารฟอกขาวเพื่อให้ได้น้ำตาลสีขาวนวลน่ากิน ดังนั้น การควบคุมการผลิตที่ปราศจากสารเคมีที่เป็นพิษต่อสุขภาพ และส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตน้ำตาลมะพร้าวแบบดั้งเดิม สามารถคงการผลิตน้ำตาลมะพร้าวที่ไม่ผสมสารที่จะก่ออันตรายต่อผู้บริโภคจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ควรกระทำ ไม่เช่นนั้นเราอาจไม่ได้บริโภคน้ำตาลมะพร้าวแท้กันอีกต่อไป

มีกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตน้ำตาลมะพร้าวในจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความพยายามและตั้งใจที่จะอนุรักษ์วิธีการผลิตแบบดั้งเดิม โดยไม่ผสมแป้งมันหรือสารฟอกขาว อาจจะผสมน้ำตาลทรายเพียงเล็กน้อยเพื่อช่วยให้แห้งและสามารถปั้นเป็นก้อนได้ แต่จะระมัดระวังไม่ผสมน้ำตาลทรายมากไปเพราะจะทำให้รสชาติของน้ำตาลมะพร้าวเสียไป เพื่อคงคุณค่าของน้ำตาลมะพร้าวที่จะทำให้อาหารไทยให้มีรสชาติแบบไทยๆ และสืบสานการผลิตน้ำตาลมะพร้าวที่มีคุณภาพปลอดภัยต่อการบริโภค


น้ำตาลงบหรือน้ำตาลอ้อย

น้ำตาลงบ
คือน้ำตาลอ้อยซึ่งมีความผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยมาช้านาน มีขนมหลายชนิดนิยมใช้น้ำตาลจากอ้อย เช่น ขนมกระยาสารทหากใช้น้ำอ้อยกวนจะหอมอร่อย ขนมที่ต้องเคี่ยวน้ำตาลเทราดเช่นขนมนางเล็ดหรือข้าวแต๋น นอกจากนี้ขนมเทียน ขนมเข่ง ขนมต้ม ข้าวเหนียวแดง ฯลฯ ถ้าใช้น้ำตาลอ้อยก็จะเพิ่มรสชาติและความหอม

การทำน้ำตาลอ้อยโดยนำลำอ้อยมาหีบเอาน้ำอ้อย แล้วจึงเอามาเคี่ยวในกระทะใบบัวจนกว่าน้ำอ้อยจะเหนียวได้ที่และมีสีน้ำตาลเข้มจัด จากนั้นหยอดลงพิมพ์ที่เตรียมไว้ มีหลายรูปแบบ บ้างเป็นแผ่นกลมแบน เป็นท่อนทรงกระบอกคล้ายอ้อยควั่น ทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ หรือเป็นก้อนที่หารูปทรงไม่ได้เลยก็มี ชาวบ้านเรียกน้ำตาลอ้อยแบบนี้ว่า น้ำอ้อยหรือน้ำตาลงบ แต่ถ้าใส่กะทิลงไปในขั้นตอนการเคี่ยว หรือใส่ถั่วคั่ว งาคั่วและมะพร้าวขูดลงไปด้วย จะเรียกว่าน้ำอ้อยกะทิ เป็นขนมกินเล่นของเด็กๆและผู้ใหญ่สมัยก่อน


น้ำตาลงบ

นอกจากจะใช้ทำขนมแล้ว ยังมีอาหารหลายอย่างที่ต้องใช้รสหวานและกลิ่นหอมจากน้ำตาลอ้อยเท่านั้นจึงจะอร่อยตามต้นตำรับ เช่น ปลาตะเพียงต้มเค็ม (ของแท้ต้องมีลำอ้อยผ่าซีกรองที่ก้นหม้อด้วย) น้ำปลาหวานสะเดา ต้มฟักหวาน พะโล้ กวยจั๊บ เป็นต้น เพราะกลิ่นหอมของน้ำตาลอ้อยที่หอมเหมือนน้ำตาลไหม้จะช่วยขับกลิ่นเครื่องเทศในอาหารให้หอมอร่อยยิ่งขึ้น แถมยังได้คุณค่าจากวิตามิน แร่ธาตุและกากใยอาหารจากอ้อย โดยไม่มีสารเคมีเจือปนด้วย


น้ำตาลทรายแดง

น้ำตาลทรายแดง (Brown Sugar)
คุณลักษณะ
เป็นผงละเอียดหรืออาจจับกันเป็นก้อน มีสีน้ำตาลอ่อนถึงเข้ม มีความชื้นสูง ผลิตจากอ้อยธรรมชาติโดยตรง มีทั้งการเคี่ยวในกระทะเปิด หรือใช้กรรมวิธีการผลิตที่ทันสมัย คุณสมบัติพิเศษ คือ มีความหอมธรรมชาติและรสของอ้อยที่เด่นกว่าน้ำตาลทรายทั่วไป
น้ำตาลชนิดนี้ได้จากการนำน้ำอ้อยมาเคี่ยว ใส่ปูนขาวลงไปเล็กน้อย ไม่อย่างนั้นน้ำตาลจะไม่ตกทราย จากนั้นก็เคี่ยวน้ำเชื่อมต่อไปเรื่อย ๆ จนแห้ง จะออกมาเป็นเม็ดทรายบ้าง จับตัวเป็นก้อนเล็กก้อนใหญ่บ้าง สีออกน้ำตาลแดง จึงเรียกว่าน้ำตาลทรายแดงนั่นเอง


น้ำตาลทรายแดง

น้ำตาลทรายแดงจะหอมน้อยกว่าน้ำตาลอ้อย เพราะผ่านการกรองแยกเอากากน้ำตาล ซึ่งก็คือวิตามิน แร่ธาตุ และกากใยอาหารออกไปบางส่วน แต่ก็ยังเป็นน้ำตาลที่มีประโยชน์ ไม่มีสารเคมีเจือปน (หรือมีอยู่น้อย) ทำอาหารและขนมได้แทบทุกชนิด เช่น เต้าฮวย บัวลอยน้ำขิง เฉาก๊วย ถั่วเขียวต้มน้ำตาล เป็นต้น หรือใส่ในเครื่องดื่มต่าง ๆ แทนน้ำตาลทรายขาว เพียงแต่น้ำตาลชนิดนี้จะมีความหวานน้อยกว่าน้ำตาลทรายขาวประมาณครึ่งหนึ่ง เมื่อใช้แทนกันจึงต้องเพิ่มปริมาณเป็นสองเท่า อีกทั้งยังมีกลิ่นของอ้อยติดมาด้วย จึงอาจทำให้กลิ่นและรสชาติเครื่องดื่มเปลี่ยนไปบ้างเล็กน้อย แต่ถ้าคนที่ชอบจะบอกว่าหอมและอร่อยขึ้นกว่าเดิม


น้ำตาลทรายดิบ


น้ำตาลทรายดิบ

น้ำตาลทรายดิบ
สำหรับน้ำตาลชนิดนี้มีกระบวนการทำเช่นเดียวกับน้ำตาลทรายขาว (ทำมาจากอ้อย) เพียงแต่ไม่ได้นำไปผ่านกระบวนการฟอกสีให้ได้น้ำตาลที่มีผลึกขาวใส
น้ำตาลทรายดิบนี้ไม่ผ่านสารฟอกขาวและสามารถนำไปทำขนมหรืออาหารได้ทุกชนิด โดยไม่ต้องกังวลว่ากลิ่นและรสชาติของน้ำตาลจะไปรบกวนอาหาร จึงนิยมใช้ทำเบเกอรี่เพื่อสุขภาพ ให้ความหวานพอ ๆ กับน้ำตาลทรายขาว เพียงแต่หากนำมาทำอาหารบางชนิด เช่น แยม อาจจะทำให้แยมมีสีไม่สวย เป็นต้น


น้ำตาลกรวด

น้ำตาลกรวด
ก็คือ น้ำตาลทรายธรรมดาที่เกิดขึ้นระหว่างการผลิตและไม่เป็นเม็ดเล็ก แต่รวมตัวกันตกผลึกเป็นก้อนน้ำตาลขนาดใหญ่ จึงสามารถจับกลิ่นของน้ำตาลอ้อยไว้ได้ มักนิยมนำมาทำขนม และที่เคยพบ คือ นำไปชงน้ำเก๊กฮวย เพราะทำให้น้ำเก๊กฮวยมีรสชาติดี กลิ่นหอม คนจีนเชื่อว่าน้ำตาลชนิดนี้จะช่วยดับความร้อน ทำให้ร่างกายเกิดความเย็นและสมดุลขึ้น


น้ำตาลทรายขาว

น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์
หลังจากสกัดน้ำอ้อย ทำให้น้ำอ้อยใส ผ่านการต้ม (ได้น้ำเชื่อม) ผ่านการเคี่ยวได้ผลึกน้ำตาล และกากน้ำตาลที่ได้จากการเคี่ยวนี้รวมเรียกว่า แมสิควิท แล้วนำไปปั่นแยกผลึกน้ำตาล แมสิควิทที่ได้จากการเคี่ยวจะถูกนำไปปั่นแยกผลึกน้ำตาลออกจากกากน้ำตาล) โดยใช้เครื่องปั่น ผลึกน้ำตาลที่ได้นี้จะเป็นน้ำตาลดิบ



น้ำตาลดิบถูกนำไปละลายน้ำ แล้วถูกผ่านเข้า 5 ขั้นตอนการผลิต ดังนี้

1. การปั่นละลาย
นำน้ำตาลดิบมาผสมกับน้ำร้อน หรือน้ำเหลืองจากการปั่นละลาย น้ำตาลดิบที่ผสมนี้เรียกว่า แมกม่า และแมกม่านี้จะถูกนำไปปั่นละลายเพื่อล้างคราบน้ำเหลือง หรือกากน้ำตาลออก
2. การทำความสะอาด และฟอกสี
น้ำเชื่อมที่ได้จากหม้อปั่นละลาย จะถูกนำไปละลายอีกครั้งเพื่อละลายผลึกน้ำตาลบางส่วนที่ยังละลายไม่หมดจากการปั่น และผ่านตะแกรงกรองเข้าผสมกับปูนขาว เข้าฟอกสีโดยผ่านเข้าไปในหม้อฟอก (ปัจจุบันนิยมใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นตัวฟอก) จากนั้นจะผ่านเข้าสู่การกรองโดยหม้อกรองแบบใช้แรงดัน เพื่อแยกตะกอนออก และน้ำเชื่อมที่ได้จะผ่านไปฟอกเป็นครั้งสุดท้ายโดยกระบวนการแลกเปลี่ยนประจุ จะได้นำเชื่อมรีไฟน์ (Fine Liquor)

3. การเคี่ยว
น้ำเชื่อมรีไฟน์ที่ได้จะถูกนำเข้าหม้อเคี่ยวระบบสุญญากาศ เพื่อระเหยน้ำออกจนน้ำเชื่อมถึงจุดอิ่มตัว
4. การปั่นแยกผลึกน้ำตาล
แมสิควิทที่ได้จากการเคี่ยวจะถูกนำไปปั่นแยกผลึกน้ำตาลออกจากกากน้ำตาลโดยใช้เครื่องปั่น ผลึกน้ำตาลที่ได้นี้จะเป็นน้ำตาลรีไฟน์ และน้ำตาลทรายขาว
5. การอบ
ผลึกน้ำตาลรีไฟน์และน้ำตาลทรายขาวที่ได้จากการปั่นก็จะเข้าหม้ออบ เพื่อไล่ความชื้นออก แล้วบรรจุกระสอบเพื่อจำหน่าย ได้เป็นน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์


พะอง

นอกจากน้ำตาลมะพร้าวจะไม่มีเด็กรุ่นใหม่สืบทอดแล้วตาลโตนดก็เข่นกัน ชาวบ้านที่ไต่พะองปีนต้นตาล ต้นมะพร้าวส่วนมากคือผู้สูงวัยอายุ เกิน 50 ปี ผู้สูงวัยเหล่านี้ผูกพันกับการปีนขึ้นลงต้นตาลและมะพร้าวกันมาสี่สิบกว่าปี มีน้อยมากที่เป็นคนรุ่นฉกรรจ์ สำหรับต้นมะพร้าวสมัยใหม่ต้นจะไม่สูงมากนัก ส่วนต้นตาลซึ่งเป็นไม้ที่เติบโตช้า ต้นตาลส่วนใหญ่ที่ขึ้นไปรองน้ำหวานมักจะสูงมากบางต้นต้องใช้พะองถึง 3 ลำ และต้นตาลที่จะให้น้ำตาลได้ เมื่ออายุตาล12 ปี



ยังมีต้นจากที่ใช้วิธีเดียวกันกับต้นตาลและต้นมะพร้าว แต่น้ำหวานจากดอกจากได้น้อยมากจึงไม่มีการผลิตน้ำตาลจากออกจำหน่ายส่วนใหญ่แค่ใช้บริโภคในครัวเรือน
การรองน้ำหวานจากต้นตาล ต้นมะพร้าวและต้นจากคล้ายคลึงกันมาก แต่เป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นอย่างมากหลายขั้นตอน และต้องใช่ทั้งศาสตร์ (จากการเรียนรู้) และศิลป์ หากเล่าถึงรายละเอียดบทความก็จะยาวมาก ยังมีผลผลิตน้ำหวานที่รองได้จากตาล มะพร้าว และจากที่เรียกว่าน้ำตาลเมาหรือกระแช่อีกชนิดด้วยที่ไม่ได้กล่าวถึงไว้


พะอง คือ ลำไม้ไผ่สำหรับพาดขึ้นต้นไม้ต่างบันได โดยคงแขนงและตาไม้ไผ่ไว้เป็นที่เหยียบ

ที่มาของข้อมูล วิกิพีเดีย
Health & Cuisine
http://www.chiangraifocus.com
http://www.thaisugarmill.com
http://www.wangkanai.co.th
http://vegetarian-mystyle.blogspot.com