วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2555

...วันวาน ของบางกรูด...(11)



...วันวาน ของบางกรูด...(11)



เสียงระฆัง ดังเหง่ง บรรเลงแว่ว
จะเลือนแล้ว รังสิมันตุ์ อันส่องจ้า
สุริยา ลาลับ กับคงคา
สิ้นทิวา ราตรี มีมาเยือน

บางปะกง คงจัก ขอพักนิด
ชมเชยชิด พิศงาม ตามเอ่ยเอื้อน
อัสดง หลงพร่ำ เพลงย้ำเตือน
หาใดเหมือน มัดตรึง ซึ้งฤทัย

บนฟากฟ้า ดารา พาพรายพร่าง
เด่นสล้าง โลมจิต พิสมัย
คืนจันทร์แรม แจ่มพราว กล่าวตามนัย
น่าสงสัย ใคร่ครวญ จำนวนใด

เดือนดวงเดียว เที่ยวหลบ มิพบแสง
ดาราแรง รัศมี สดสีใส
กระพริบยั่ว ยวนเย้า ดวงดาวไกล
ชวนหลงใหล ได้ปลื้ม ลืมไม่ลง


"พลอยโพยม"

วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2555

...วันวาน ของบางกรูด...(10)



...วันวาน ของบางกรูด...(10)



ทินกร อ่อนแสง แฝงยอดไม้
ดั่งดวงไฟ ไหวพราว วาวผสม
อัสดง ลงแล้ว แผ่วล้อลม
พัดพร่างพรม พรายพลิ้ว ริ้วประภา

สุพรรณสาย ฉายเฉิด เกิดแสงส่อง
ฉาบสีทอง ทับทาบ อาบวหา
ระยิบร้อย เรืองรอง ส่องธารา
ราวจินดา พร่าไล้ ให้แสนงาม

สุรีย์ฉัน วันนี้ จะลี้ลับ
พฤกษาขับ ขานพร่ำ ลำนำหวาม
แม้นล่วงเลย ร้างลา ทิวาวาม
รัตติยาม ย้ายหมาย เชิญฉายมา

บางปะกง หลงเพ้อ เจออาทิตย์
ฟ้าสนิท แนบน้ำ รำพันหา
ฝูงวัวควาย ผ้ายลัด ตัดทุ่งนา
แสนอ่อนล้า คราเสร็จ สำเร็จงาน

เคลิ้มหวีดหวิว ผิวปาก จากเจ้าของ
ท่วงทำนอง พร้องเสียง สำเนียงหวาน
กอไผ่เอน ออดอ้อ คลอสำราญ
ทุกเรือนชาน ขานยล สนธยา


"พลอยโพยม"

วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2555

...วันวาน ของบางกรูด...(9)



...วันวาน ของบางกรูด...(9)



กระแสชล ล้นไหล ไปเอื่อยเอื่อย
พระพายเฉื่อย เรื่อยพลิ้ว ระริ้วไหว
ตบชวา คราผ่าน ชูก้านใบ
มะกอกไหล ลอยน้ำ ลำแพนพา

ปอทะเล เร่หล่น ปนลำพู
คว้างลงสู่ อยู่ผิว ลิ่ววหา
เหลืองแสดแดง แจ้งจาง กระจ่างตา
เหมือนมาลา ไล้หน้า วาหินี

ดอกแสม แลสวย ด้วยปลิดขั้ว
โปรยปลิวทั่ว ทาบแซม แต่งแต้มสี
ลูกประสัก ขลักขาว มักยาวรี
จอกแหนมี มัจฉา ตั้งท่ารอ

เรือกระแชง ช่างคุ้น คุณลุงป้า
ชาวมอญมา ราจอด ทอดสมอ
บรรทุกตุ่ม เต็มเรือ เพื่อให้พอ
โอ่งไหหม้อ มีจาก ฟากปทุม

แวะตามแนว แจวเยือน เดือนสิบสอง
ป้าจะล่อง ลอยเรือ เพื่อขายตุ่ม
หน้าบ้านเรา เว้าไว้ ให้ชุมนุม
มากด้วยพุ่ม พงไม้ ได้ใบบัง

ว่ายน้ำอยู่ กรูรี่ ปรี่ไปเกาะ
เลียบลัดเลาะ ลำเรือ จะเพื่อหยั่ง
ของแปลกใหม่ ไม่รู้ ดูหรือยัง
อยากได้จัง หวังปอง เฝ้ามองชม


"พลอยโพยม"

วันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2555

...วันวาน ของบางกรูด...(8)



...วันวาน ของบางกรูด...(8)



คัคนางค์ ว้างใส ไร้เมฆหม่น
แดดจัดจน เจิดจ้า ฟ้าครามเด่น
มีผีตากผ้าอ้อม ย้อมฟ้าเป็น
สะท้อนเช่น ฉายเรื่อ เผือนภา

ตะวันคล้อย ลอยเคลื่อน เย็นเยือนแล้ว
ฟ้าเพริศแพรว แววแสง ลดแรงกล้า
บางปะกง คงคืน งามชื่นตา
ใกล้เวลา สายัณห์ ตะวันรอน

นาวาเหล่า เช้าลับ เริ่มกลับบ้าน
หัวสะพาน ชานท่า หน้าสลอน
ลงเล่นน้ำ ฉ่ำทั่ว ตัวเปียกปอน
ดำผุดว่อน ว่ายรี่ วารีเย็น

ฝูงปักษา ฟ้ากว้าง ปีกกางร่อน
คืนรังย้อน ยิ่งงาม เมื่อยามเห็น
ตะโกนแจ้ว แถวแถว เข้าแนวเป็น
ต้องตื่นเต้น แตกแตก พาแยกกัน

ป่านฉะนี้ นกน้อย คอยแม่นก
ป้อนเหยื่อกก อกอุ่น กรุ่นสุขสันต์
สกุณา นิกร จรทุกวัน
เดี๋ยวเดียวพลัน หันวับ บินลับไป


"พลอยโพยม"

วันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2555

...วันวาน ของบางกรูด...(7)



...วันวาน ของบางกรูด...(7)



กุ้งใหญ่ต้อง ล่องเรือ เมื่อน้ำมาก
ถึงน้ำหลาก ล้นฝั่ง ทำยังได้
หากน้ำน้อย ค่อยสุ่ม ลอบ ตุ้ม ไซ
สวิงไล่ ลงหา ช้อนมาเลย

หรือแช่น้ำ ล้ำฝั่ง ตั้งสวิง
ริมตลิ่ง รั้งไว้ อยู่ไม่เฉย
มือวักกวาด กวักน้ำ ซ้ำซ้ำเอย
กุ้งเล็กเคย คุ้นอยู่ รู้วิธี

ปูปลากุ้ง มุ่งมั่น ขยันหา
สองสัปดาห์ มาจับ นับสี่ที่
ซั้งชายฝั่ง ครั้งเก่า หนาวทุกปี
ปิดคลองนี้ ดีแท้ ของแน่นอน

ผูกไผ่เหลา เข้าโค้ง โยงตาข่าย
สี่ด้านชาย ปลายขึง กลางดึงหย่อน
สวมกระบอก เบื้องบน ชนสองตอน
ตรึงไขว้ก่อน ชอนรู อยู่กึ่งกลาง

ลำไผ่สั้น คันยอ อ๋อเชือกร้อย
ตรงกับรอย รูเก่า อันเราสร้าง
หัวสะพาน ฐานเหมาะ จำเพาะวาง
ปลายอีกข้าง เขาคล้อง คอยจ้องรอ

น้ำขึ้นยาม ยกยอ ขอสนุก
ปั้นดินคลุก เคล้ารำ เอานำล่อ
เล็งดินขว้าง กลางส่วน ในอวนยอ
กุ้งปลาพอ พบกลิ่น มากินรำ

ยกยอค้าง พลางมอง ของประสงค์
ค่อยดึงลง ลดคัน กันถลำ
สวิงใช้ ช้อนไว้ ไม่กรากกรำ
เป็นงานทำ ที่บ้าน คร้านตระเวน


"พลอยโพยม"

วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555

...วันวาน ของบางกรูด...(6)



...วันวาน ของบางกรูด...(6)



ลุ่มน้ำของ สองน้ำ คำนิเวศ
เนื่องเพราะเหตุ ทะเล ล้นเทร่อง
น้ำจืดกร่อย พลอยผล จนเนืองนอง
จึงสบช่อง เชิญชวน ควรลงแรง

เอาจานถ้วย อวยไห ไปล้างขัด
เลียบเลาะลัด ล้อมมา ปลาแขยง
เป็นฝูงใหญ่ ไล่งับ เศษกับแกง
สวายแย่ง แซงส่าย เวียนว่ายวน

ลงเล่นน้ำ ฉ่ำใจ ถูกไล่ตอด
ปากปลาสอด ลอดผ้า น่าฉงน
ปลาแขยง แข่งทึ้ง ซึ่งเนื้อคน
สัปดน ก้นฉัน หรือมันดี

ปลาเข็มเล็ม เลี้ยวใกล้ คว้าไล่จับ
แล้วลื่นลับ เล็กเรียว ตัวเพรียวนี่
เสือพ่นน้ำ ล้ำโชว์ โอ่ท่าที
ปลาซิวรี่ มีชุม กลุ่มกระจาย

เนื้อมะพร้าว ห้าวหน่อย ซอยลูกเต๋า
ทางของเจ้า เขาเลือก กรีดเชือกสาย
แทงรอดเนื้อ เมื่อสุด ทำหมุดปลาย
ขมวดท้าย หมายยุด รุดลงเรือ

เหลาไม้ไผ่ ผูกคัน นั้นแทนหลัก
เอาไปปัก ป่าจาก ฝากเป็นเหยื่อ
กุ้งก้ามกราม ตามทึ้ง ดึงหลายเทือ
สายตึงเชื่อ ช้าไย ให้ช้อนควาน

ช้อนใต้เชือก เลือกกะ ระยะเหมาะ
เอาเฉพาะ เพียงว่า น่าขนาน
ยกสวิง ยิ่งยิ้ม กริ่มเบิกบาน
กุ้งไต่คลาน การนี้ มีบ่อยไป


"พลอยโพยม"

วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2555

...วันวาน ของบางกรูด...(5)



...วันวาน ของบางกรูด...(5)



มีแขยง ปลาดุก ชุกปลากด
ทั้งปลาหลด กะพง ปลาลิ้นหมา
ปลาสลาด สวาย ปลาเทพา
อย่าชักช้า เทโพ ชะโดดัง

ปลาเนื้ออ่อน บู่ทราย พายหลายเที่ยว
มองแลเหลียว ตะเพียนทอง ของปองหวัง
ปลาช่อนใหญ่ ได้ละ ปลากระมัง
ตะโกกดั่ง ปลาสร้อย ค่อยหาเจอ

กระทุงเหว ปลาหมอ ตะเพียนขาว
ลำตัวยาว เค้าดำ ทำไผลเผลอ
นั่นปลากราย หางไก่ ไกลเพื่อนเกลอ
มัวมองเหม่อ กระสง คงหลงมา

ปลาหางกิ่ว ปลาแป้น ปลาปักเป้า
โน่นกุเรา หนวดพราหมณ์ รีบตามล่า
ปลากระสูบ ตะกรับ ช่วยจับนา
แถมปลากา ปลาแปบ แทบเต็มเรือ

ปนปลาแมว ปลาหมู คู่ปลาบ้า
ใกล้ปลาม้า กระบอก ออกทุกเมื่อ
เจ้าจิ้มฟันจระเข้ ปลาจวดเจือ
เคยแสนเบื่อ กระทิง เย่อหยิ่งมอง


"พลอยโพยม"

วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555

...วันวาน ของบางกรูด...(4)



...วันวาน ของบางกรูด...(4)



ปลาเที้ยวใกล้ ใบพาย ป่ายเพ่นพ่าน
คำเรียกขาน นานแล้ว แว่วติดหู
คือกระจัง ทั้งว่า ปลาตีนดู
หัวมู่ทู่ ชูส่าย ฝั่งชายเลน

ปักกิ่งไผ่ ในเลน เป็นที่อยู่
บรรดาหมู่ ปูปลา หลบมาเล่น
หอยและเพรียง เรียงรอบ เพราะชอบเย็น
ปลากระเบน กระแห ไม่แร่ไป

คำพื้นบ้าน ขานหา กันว่าซั้ง
ริมชายฝั่ง ทั้งกร่ำ ใช้คำได้
ทิ้งเวลา ว่าควร ล้วนร่วมใจ
ผ่าไม้ไผ่ ผูกเฝือก เลือกวันดี

นำเฝือกราย รอบล้อม โอบอ้อมทั่ว
เข้าเอาตัว รั้วใน ไม้ไผ่ซี่
ดึงไม้ปัก ชักกอง ของกิ่งมี
น้ำได้ที่ นี้สม ระดมงาน

สวิงเล็ก และใหญ่ ช้อนไล่หา
ส่งขึ้นมา นาวา พาขนาน
กุ้งดีดขัน กุ้งหัวมัน ให้ทันการ
ปูไต่คลาน กุ้งตะเข็บ รีบเก็บไว


กุ้งกะต่อม กุ้งตะกาด เรากวาดเกลี้ยง
ระวังเพรียง พลาดเชือด หลั่งเลือดได้
กุ้งก้ามกราม กุ้งฝอย ดีดลอยไกล
เกลียดปลาไหล ลื่นเรียว เสียเที่ยวรอ

หมู่มัจฉา คราเคลื่อน เยือนผ่านพบ
บ้างต้องลบ หลบคำ หน้านำหนอ
กลอนแปดนี้ มีปลา ไม่น่าพอ
ตั้งใจขอ ย่อปลา ว่าชื่อเลย

แล้วหลายพันธุ์ วันก่อน จะย้อนเอ่ย
มิคุ้นเคย คว้าจับ แต่กลับเผย
ลำแม่น้ำ คล่ำอยู่ จึงสู้เปรย
อยากเฉลย เล่าไว้ ให้รู้เรียน

พรหมหัวเหม็น เห็นยาก แขยงหิน
เพียงได้ยิน ข้าวเม่า เอาแต่เขียน
ปลาชะโอน โดนใจ ไร้วนเวียน
สิงโตเพียร พบเห็น ว่าเป็นไง

ปลาเสือตอ รอท่า ปลากระจก
อีกยี่สก กะรัง ยังอยู่ไหน
ปลาหนามหลัง แก้มช้ำ หาร่ำไป
อีคุดใฝ่ เฝ้ามอง ต้องระอา



"พลอยโพยม"

วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2555

...วันวาน ของบางกรูด...(3)




...วันวาน ของบางกรูด...(3)



ตะวันชาย บ่ายแสง ช่างแรงฤทธิ์
ดังชีวิต วารี ผีพรายสิง
ลูกคลื่นใหญ่ ไล่มา น่ากลัวจริง
ทั้งม้วนกลิ้ง ก่อนโถม ทิ้งโครมครัน

เสียงสาดซ่า ซัดมา เข้าหาฝั่ง
มองเหมือนคลั่ง คลุ้มโหด พิโรธผัน
ถ้าเรือน้อย ลอยสู้ อยู่ประจัญ
โต้คลื่นสั่น พลันเสียว เดี๋ยวล่มลง

น้ำขอดเหือด แห้งหาย สุดปลายขอน
งมโพรงกร่อน ซ่อนกุ้ง มุ่งประสงค์
ปูน้อยใหญ่ ไต่รู รู้ยืนยง
มีหลายวงศ์ คงจัก ต้องทักทาย

ปูทะเล ก้ามใหญ่ ให้ครั่นคร้าม
น่าเกรงขาม ยามหนีบ บีบรัดหลาย
สะบัดโดด โลดวิ่ง หวังสิ่งคลาย
เจ็บเจียนตาย ว้ายช่วย ด้วยเร็วไว

ปูแสม แช่ดอง เกลือกองอ่าง
ใต้ถุนล่าง ปูเปี้ยว ประเปรียวไหว
ปูก้ามดาบ ภาพนี้ เจนที่ใจ
น้ำขึ้นไล่ ไต่ปิด ดินมิดรู

ปูจากมาก มักอยู่ เคียงคู่จาก
ครั้นน้ำหลาก ล้วนไต่ ไวเหมือนหนู
ขึ้นสู่ยอด อยากรอด ปลอดศัตรู
ไม่อุดอู้ รู้หลบ พานพบกัน

คนมือไว ใจร้าย ปองหมายเจ้า
ประชิดเข้า เขารูด หล่นกรูดหัน
ตะครุบจับ หมับนี้ สุดหนีทัน
คงเสียขวัญ สั่นกลัว หัวอกปู

ชายฝั่งเลน ลาดรู้ ดูพิเศษ
เอกเทศ สังเกต ของเขตอยู่
พื้นชายเลน เด่นนัก จักมีรู
เด็กโจมจู่ คู้หา ปลาเขือกัน

รูข้างใต้ ใยโยง เชื่อมโพรงถึง
จากรูหนึ่ง จึงสู่ อีกรูนั่น
สองมือไล่ ล้วงรู อยู่ติดพัน
จับให้ทัน ไถหาย รูหลายจริง

ตัวละม้าย คล้ายคลึง ซึ่งปลาเที้ยว
เล็กนิดเดียว เกี่ยวเหงือก ห้อยเชือกนิ่ง
น้ำลงรุด มุดรู อยู่พักพิง
ริมตลิ่ง เริ่มลด จดน้ำมา

ต้มย่างปิ้ง ยิ่งช่าง อย่างอร่อย
สมกับคอย พลอยยุ่ง มุ่งมั่นหา
หายเหน็ดเหนื่อย เมื่อยตัว ทั่วกายา
แขนซ้ายขวา ล้าไหล่ ลองไล่รู



"พลอยโพยม"

วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2555

...บทกวีวันวาน บางกรูด (2)...



...บทกวีวันวาน บางกรูด (2)...


ครั้นยามสาย กระแสสินธุ์ ระรินไหล
เรือขวักไขว่ ไหวตาม โมงยามช่วง
ชลธาร การงาน ผ่านทั้งปวง
เภตราพ่วง เรือยนต์ ปนประปราย

เรือขุดมี ที่พอ ขอบอกเล่า
ลำน้ำเรา เช้าสาย บ่ายหลากหลาย
เรืออีโปง เรือเป็ด เรือมาดพาย
ปาดหัวท้าย ชะล่า หายากเย็น

เรือกระแชง สำปั้น นั้นเรือต่อ
ฉลอมรอ ลอยอยู่ ดูเสาเด่น
ขบวนเกลือ กองผ่อง ล่องตระเวน
เอี้ยมจุ๊นเป็น เช่นแถว แนวพ่วงมา

เหม็นอิดเอียน เวียนหัว ทั่วคุ้งน้ำ
ขี้เป็ดลำ ล่วงรุด สุดเมินหน้า
หางยาวเฟื่อง เครื่องฉิว ลิ่วทุกครา
เรือยาวพา สง่าศรี พิธีงาน

เรือบดเรียว เพรียวคล่อง ต้องใจเด็ก
เรือขุดเหล็ก แล่นแหวก น้ำแตกซ่าน
เพื่อขุดคลอง ของกรม ชลประทาน
จะมีบ้าน ผ่านปน สนใจดู

แพใหญ่เหล็ก หลายแพ แลตื่นเต้น
บนแพเห็น เน้นบ้าน สถานหรู
มาเมื่อไร ไกลห่าง ต่างวิ่งกรู
ใคร่อยากอยู่ ยามนั้น นั่นยั่วใจ

เรียกเรือบ้าน นานปี จะมีหน
สงสัยคน บนเรือ เขาเบื่อไหม
เมื่อไปจอด ทอดเทียบ เลียบท่าใด
เรือแจวใหญ่ ใช้กัน ในวันวาน

เรือก๋วยเตี๋ยว เลี้ยวคุ้ง มุ่งหน้าแน่ว
ชะเง้อแนว แล้วกู่ ร้องวู้ขาน
กลิ่นหอมไกล ให้รู้ รออยู่นาน
แตรสัญญาณ ย้ำมา เวลาเพล

ขนมจีน จดจ้อง ลอดช่องด้วย
ป้าบุญช่วย รวยชื่อ ไม่ลือเล่น
ใครจัดงาน บ้านไหน ได้กะเกณฑ์
เชิญโรยเส้น เน้นย้ำ ร่ำพึ่งพิง


"พลอยโพยม"

วันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2555

บทกวี วันวานของบางกรูด..(1)




...รำพึงถึงบางปะกง...



บางปะกง เจ้าเอย เคยมองอยู่
แต่เช้าตรู่ ตกเย็น เห็นแล้วหลง
ชลาลัย ไหลขึ้น ไหลคืนลง
น้ำเวียนวง วนคลื่น ล้วนตื่นตา

อรุณรุ่ง แรกวัน นั้นงามเหลือ
ตะวันเรื่อ เลื่อมลาย ปลายเวหา
เสียงไก่ขัน ขานแจ้ว ลอยแว่วมา
สกุณา พาผิน บินจากรัง

สุริยะ รัศมี ที่สาดส่อง
รุ่งเรืองรอง ทองทา สาครฝั่ง
ประกายวาว วิบไหว วิไลดัง
เทพไท้ฝัง เพชรพลอย ลอยวารี

ภิกษุสงฆ์ ลงเรือ บิณฑบาต
คัดพายวาด ลอยล่อง ต้องรังสี
จีวรเหลือง เรืองฉาย ลายมณี
แสงรวี สอดสาย พรายวับแวว

ริ้วรำไพ ไล้ลอด บนยอดหญ้า
ละลานตา แสงเพชร ราวเกล็ดแก้ว
หยาดน้ำค้าง พร่างอยู่ ดูพร่าแพรว
เหยียดยาวแนว มรกต สดอาภา

สายลมเย็น ยามโชย โรยระรื่น
พราวเป็นคลื่น กลืนหาย สายวหา
เรือลำน้อย คล้อยเคลื่อน เลื่อนธารา
ผืนนภา วิหค โผผกจร

เสียงจิ๊บจิ๊บ จำเรียง สำเนียงหวาน
เพลงขับขาน ปานไล้ โลมสมร
บินคลอเคลีย เคียงคู่ สู่อัมพร
หมู่ภมร ว่อนร่า มาแต่ไกล

มวลมาลี คลี่คลาย ขจายกลิ่น
ภุมริน บินหา ผกาไหน
สุมามาลย์ บานหอม ยวนย้อมใจ
ผีเสื้อไซ้ บุษบา พาอวลอาย

ควันไฟลอย ไหลเลื่อน เคลื่อนครัวบ้าน
อิ่มเอิบซ่าน ใส่บาตร บุญคาดหมาย
ปล่อยเป็ดไก่ ในรั้ว พาวัวควาย
เดินเรียงราย ปลายทุ่ง มุ่งทำกิน

ท้องทุ่งเสก สวรรค์ ให้สรรค์สร้าง
ชาวนาต่าง สางกิจ นิจสิน
แรงกายสาด หยาดเหงื่อ เรื่อหยดริน
รดแผ่นดิน ชุ่มชื้น ฉ่ำชื่นทรวง



"พลอยโพยม"



วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2555

[บทความ] ปลาหางกิ่ว..ลิ่วลำน้ำ

ปลาหางกิ่ว..ลิ่วลำน้ำ


ปลาหางกิ่วหม้อ

ชื่อไทย
หางกิ่วหม้อ
ชื่ออื่น แข้งไก่ หางแข็ง
ชื่อสามัญDUSKY JACK
ชื่อวิทยาศาสตร์Caranx sexfasciatus Quoy & Gaimard

ปลาหางกิ่วหม้อ : เป็นปลาทะเลของประเทศไทย และจัดเป็นตัวบ่งบอกความอุดมสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อมทางทะเลได้เป็นอย่างดี ทะเลที่มีปลาหางกิ่วหม้ออาศัยอยู่นั้นแสดงว่าสภาพแวดล้อมทางทะเล บริเวณนั้นมีความสมบูรณ์ แต่ช่างน่าเสียดายเหลือเกินที่ในเวลานี้จากข้อมูลการศึกษาวิจัยข้อมูลปลาทะเลของประเทศไทยพบว่า ปริมาณของปลาหางกิ่วหม้อมีปริมาณที่ลดลงอย่างน่าตกใจ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการลดลงลงของปลาชนิดนี้ คือ ระดับของมลพิษทางน้ำที่เกิด ซึ่งนำมาซึ่ง การปล่อยของเสียปริมาณมากมาย ลงสู่ทะเลในแต่ละปี

ข้อมูลทั่วๆ ไปของปลาหางกิ่วหม้อ

ลักษณะทั่วไป เป็นปลาทะเลประเภทปลาหางแข็งชนิดหนึ่ง มีลักษณะเหมือนปลาสีกุนทั่วๆไป แต่มีขนาดใหญ่กว่า ลำตัวค่อนข้างอ้วน ยาวเรียว หัวมีขนาดใหญ่และป้อม เกล็ดขนาดปานกลางบริเวณเส้นข้างตัวมีขนาดใหญ่แข็งคม โดยเฉพาะบริเวณโคนหางจึงเรียกว่า ปลาหางแข็งตาโตอยู่เกือบสุดท้ายจะงอยปาก ครีบหูยาวเรียวแหลม ครีบหลังยาวแยกเป็นสองอัน อันที่เป็นก้านครีบแข็งสั้นอันอ่อนส่วนหน้ายกสูงขึ้นและมีขนาดใกล้เคียงกับ ครีบก้น ครีบท้องมีขนาดเล็กอยู่ใต้ครีบหู ครีบหางปลายเป็นแฉกลึก พื้นลำตัวด้านบนเป็นสีน้ำเงินปนเขียว
ถิ่นอาศัย

พบได้ ตามทะเลเปิดทั่วไป บางครั้งจะเข้ามาอาศัยอยู่ตามโป๊ะ อยู่รวมกันเป็นฝูง พบมากบริเวณช่องเกาะคราม แสมสาร เกาะเต๋าและทะเลอันดามัน

อาหาร กินปลาขนาดเล็ก และสัตว์น้ำอื่นที่ขนาดเล็กกว่าขนาด
ความยาวประมาณ 40 – 60 ซม.
ประโยชน์ เนื้อปลามีรสดี ใช้ปรุงอาหารได้


ปลาหางกิ่วหม้อ( หางแข็ง, แข้งไก่ )

ชื่อไทย
หางกิ่วหม้อ
ชื่ออื่น แข้งไก่ หางแข็ง
ชื่อสามัญ Hardtall Scad
ชื่อวิทยาศาสตร์ Megalaspis cordyla

ลักษณะทั่วไป เป็นปลาทะเลประเภทปลาหางแข็งชนิดหนึ่ง ลำตัวยาวคล้ายกระสวย หัวค่อนข้างแหลม ตากลมโต ปากกว้าง หางยาวเรียวและคอด บริเวณโคนหางมีลักษณะคล้ายขาไก่ หรือแข้งไก่ บางท้องถิ่นจึงเรียกว่าปลาแข้งไก่ ครีบหลังและครีบก้นมีครีบฝอย ครีบหูเรียวโค้งคล้ายเคียว ลำตัวสีสีน้ำเงินปนเขียว หลังสีเขียวเข้ม ท้องสีขาวเงิน

เป็นปลาอาศัยทั้งบริเวณผิวน้ำและกลางน้ำ พบได้ทั่วไปทั้งในอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน


อาหาร กินปลาขนาดเล็ก และสัตว์น้ำอื่นที่ขนาดเล็กกว่า
ขนาด โดยทั่วไปยาวประมาณ 20-30 ซม.

ประโยชน์ เนื้อปลาใช้ปรุงอาหารได้ หรือแปรรูปประเภทปลาเค็ม



ปลาหางกิ่ว

ที่บางกรูดมีปลาหางกิ่วที่มีลักษณะไม่เหมือนปลาหางกิ่วหม้อ DUSKY JACK ค่อนข้างคล้าย ปลาหางกิ่วหม้อ Hardtall Scad แต่ลักษณะสีของลำตัว ไม่เหมือนกัน
แต่โดยรุปพรรณสัณฐานปลาหางกิ่วที่บางกรูด กลับคล้ายคลึงกับปลาม้า และชาวบ้านเรียกปลาชนิดนี้ว่าปลาหางกิ่ว ( ไม่เรียกปลาหางกิ่วหม้อ)


ปลาหางกิ่ว

และจากการหาข้อมูล พบว่า มีคนจากถิ่นอื่นนิยมมาตกปลาหางกิ่วกันที่ฉะเชิงเทรา มีภาพปลาหางกิ่ว เปรียบเทียบกับปลาม้า ซึ่งค่อนข้างคล้ายกันมาก
และในเอกสารวิชาการฉบับที่ 30 เรื่อง สภาวะการประมง ชนิด และการแพร่กระจายของสัตว์น้ำในแม่น้ำบางปะกง ของสถาบันประมงน้ำจืดแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2526 โดยสันทนา ดวงสวัสดิ์ และคณะ ได้แสดงชนิดของสัตว์น้ำที่สำรวจพบในแม่น้ำบางปะกง ระหว่างเดือน มีนาคม พ.ศ. 2525-กุมภาพันธ์ พ.ศ.2526 ปรากฏชื่อสัตว์น้ำทั้ง ปลาม้า โดยใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pseudociana soldado พบในเขต อำเภอบางปะกง อำเภอบ้านโพธิ์ อำเภอเมือง อำเภอบางคล้า อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา จนถึงอำเภอบ้านสร้าง อำเภอเมือ จังหวัดปราจีนบุรี แต่ไม่พบที่อำเภอเมืองจังหวัดนครนายก
และปลาหางกิ่ว ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pseudociana sp. พบในเขตอำเภอบางปะกง และอำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา


ปลาหางกิ่วตัวล่างสุด

พลอยโพยมค้นไม่พบข้อมูลปลาหางกิ่ว ( หางกิ่วเฉย ๆ ) ในหนังสือ ภาพปลาและสัตว์น้ำของไทยของกรมประมง เมื่อพลอยโพยมถามคนพายเรือผีหลอกว่า ปลาม้าและปลาหางกิ่วต่างกันอย่างไร ชาวประมงเรือผีหลอกตอบว่า ปลาม้าจะมีเกล็ดสีขาวมันวาว ส่วนเจ้าปลาหางกิ่วนั้นจะมีเกล็ดออกสีเหลืองครับ ยิ่งแหล่งที่อยู่ของปลาหางกิ่วเข้าใกล้ปากอ่าวเท่าไหร่สีของปลาหางกิ่วก็จะเหลืองจัดขึ้นเรื่อยๆ ...ครับ..


ปลาม้า

ครั้งแรกพลอยโพยมได้ปลาม้า น้ำหนัก 3 กิโลกรัม กว่า ๆ มา 1 ตัว แต่เสียดายที่ไม่ได้ถ่ายรูปไว้ เลยมีแต่ภาพปลาหางกิ่ว ลองดูภาพเปรียบเทียบปลาม้าและปลาหางกิ่วจากอินเทอร์เนทก็พอมองแยกออกได้เหมือนกัน


ปลาม้าตัวบน ปลาหางกิ่วตัวล่าง


ปลาหางกิ่วตัวบน ปลาม้าตัวล่าง


ที่มาของข้อมูล ภาพปลาและสัตว์น้ำของไทยของกรมประมง
ภาพจากอินเทอร์เนท

วันพุธที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2555

[บทความ] ปลาลิ้นหมา..มาเยี่ยมเยือน

ปลาลิ้นหมา..มาเยี่ยมเยือน


ปลาลิ้นหมาทะเล

วงศ์ปลาลิ้นหมา (วงศ์: Soleidae)

ปลาลิ้นหมาเป็นปลากระดูกแข็งในกลุ่มปลาที่มีก้านครีบ (Ray-finned fishes) ในอันดับ Pleuronectiformes

ปลาลิ้นหมา หรือเป็นที่รู้จักกันอีกหลายชื่อ เช่น ปลายอดม่วง ปลาลิ้นควาย หรือปลาใบไม้ หรือ "เป" ในภาษาอีสาน
จัดอยู่ในวงศ์ Soleidae แต่ก็พบปลาลิ้นหมา จัดอยู่ในวงศ์ Cynoglossidae หรือมีชื่อสามัญว่าTonguefishes มีประมาณ 137 ชนิด

แพร่กระจายอยู่ทั่วไป ในประเทศไทยส่วนใหญ่อาศัยในน้ำเค็ม พบได้ทั้งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน



มีลักษณะพิเศษคือ มองผิวเผินเหมือนมีแค่ด้านเดียว ปลาตัวปรับตะแคงข้างด้านใดด้านหนึ่ง (ซ้ายหรือขวาขึ้นกับชนิด) ราบไปกับพื้นน้ำเพื่อปรับตัวให้ซ่อนบนทราย ด้านท้องมีสีขาวส่วนอีกด้านหนึ่งมีสีน้ำตาลดำ หัวมีลักษณะโค้งมน หางแหลม ตาทั้งสองเมื่อยังเป็นตัวอ่อนเป็นสองข้างเหมือนปลาชนิดอื่น แต่เมื่อโตเต็มวัยจะไม่สมมาตร ตาข้างหนึ่งย้ายไปรวมกับอีกด้านหนึ่งของกะโหลก ครีบหลังและครีบทวารมีฐานครีบยาว ลำตัวแบนราบที่ด้านท้อง และโค้งเล็กน้อยทางด้านที่มีตา และเป็นรูปกลมรีเมื่อมองจากด้านข้าง เกล็ดมีลักษณะเป็นแบบโค้งมน (Cycloid) หรือมีขอบเป็นหยัก (Ctenoid)



ปลากลุ่มนี้เป็นตัวอย่างทฤษฎีการวิวัฒนาการและการปรับตัวของริชาร์ด ดอว์กินส์ ทั้งนี้ก็เพราะว่าบรรพบุรุษของปลาลิ้นหมาในธรรมชาติ อาศัยอยู่บริเวณพื้นใต้ทะเล ได้ปรับตัวให้นอนราบไปกับพื้นด้วยด้านใดด้านหนึ่งของลำตัว จึงได้มีการปรับตัวในเรื่องการมองเห็น และได้มีวิวัฒนาการในเรื่องของตา โดยทำให้ตาเคลื่อนที่เข้ามาอยู่ทางด้านบนของลำตัว เพื่อทำให้การมองเห็นดีขึ้น
ปลาในวงศ์นี้ออกหากินในเวลากลางคืน และมีการพรางตัวเพื่อประโยชน์ในการจับเหยื่อ จึงมีความสามารถในการปรับเม็ดสีที่ผิวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม


ปลาลิ้นหมาทะเล

โดยปกติแล้ว ปลาลิ้นหมามีแหล่งที่อยู่อาศัยคือ พื้นทะเล หรือพื้นท้องน้ำ ว่ายน้ำโดยขนานกับพื้นและพลิ้วตัวตามแนวขึ้นลง สามารถมุดใต้พื้นทรายหรือโคลนได้เวลาตกใจ บางครั้งอาจพบปลาลิ้นหมาบางชนิดเกาะอยู่ตามท้องเรือหรือเสาใต้น้ำ

จัดเป็นปลากินเนื้อ (Carnivore) ดังนั้นอาหารส่วนใหญ่ ได้แก่ สัตว์หน้าดินขนาดเล็ก (Zoobenthos) ลูกกุ้ง ลูกปู แอมฟิพอด (Amphipods) ปลาขนาดเล็ก แพลงก์ตอนสัตว์ เช่น โคพีพอด (Copepods)

ส่วนใหญ่แล้วปลาในกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในทะเล มีเพียงไม่กี่ชนิดที่พบในน้ำจืดหรือน้ำกร่อย

ความแตกต่างของชนิดพันธุ์และขนาดมีมาก
ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือ ชนิดพันธุ์ที่พบในทะเลเขตหนาวแถบอลาสกา ซึ่งมีขนาดยาวได้ถึง 2 เมตร และหนักได้ถึง 325 กิโลกรัม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hippoglossus hippoglossus
และเล็กสุดเพียง 10 เซนติเมตร


ส่วนชนิดน้ำจืดมี 5 ชนิด คือ Brachirus panoides, Brachirus harmandi, Achiroides leucorhynchos, Achiroides melanorhynchus และ Euryglossa siamensis ซึ่งทั้งหมดอยู่ในวงศ์ Soleidae

ปลากลุ่มนี้ อาจนำมาเป็นสัญญาณบอกเหตุของคุณภาพน้ำที่เปลี่ยนไป เช่น มีปริมาณออกซิเจนต่ำ ปริมาณของแอมโมเนียในน้ำสูง จะพบว่าปลาลิ้นหมาจะว่ายขึ้นมาบริเวณผิวน้ำก่อนปลาชนิดอื่น


ปลาลิ้นหมาน้ำจืด

ปลาลิ้นหมาน้ำจืด

ชื่อสามัญลิ้นหมาน้ำจืด
ชื่อสามัญ ลิ้นควาย ยอดม่วงน้ำจืด
ชื่อสามัญภาษาอังกฤษRIVER SOLE

ลักษณะทั่วไป

ปลาลิ้นหมาน้ำจืด เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งอยู่ในวงศ์ปลาลิ้นหมา (Soleidae)


ปลาลิ้นหมาน้ำจืด

เป็นปลาน้ำจืดประเภทปลาซีกเดียว รูปร่างรูปไข่คล้ายใบขนุน ลำตัวแบนบางเป็นแผ่น
ตาทั้งสองอยู่บนซีกลำตัวด้านเดียวกันจึงมีชื่อเรียกกันว่า “ปลาซีกเดียว" จากการพัฒนาและปรับตัวของปลา เพื่อให้เหมาะสมกับการดำรงชีพ ปลาชนิดนี้วัยอ่อนจะมีลำตัวซีกซ้ายและขวาเท่ากัน เมื่อเจริญเติบโตขึ้นรูปร่างของมันจะเปลี่ยนไปดังที่พบเห็นทั่วไป

หัวเล็กนัยน์ตาทั้งสองข้างอยู่ซีกลำตัวด้านขวาและอยู่ติดกับมุมปาก จะงอยปากกลมมน ปากแคบ ฟันซี่เล็กและแหลมคมอยู่โคนขากรรไกรทั้งสองข้าง ครีบหลัง ครีบหาง และครีบก้นติดเป็นแผ่นเดียวกันเกือบทั้งลำตัว ครีบอกเส้นเล็กมาก ไม่มีครีบหูครีบท้องโผล่ขึ้นมาเป็นติ่งเล็ก ๆ พื้นลำตัวสีน้ำตาลปนเหลืองมีประสีน้ำเงินเข้มเป็นแต้มใหญ่และเล็กอยู่ตามลำตัวและครีบ ซีกซ้ายของลำตัวสีขาว ใช้ในการยึดเกาะก้อนหินและโคลนตมตามพื้นดินใต้น้ำ

โดยปกติมักจะไม่เคลื่อนไหว อาหารได้แก่สัตว์น้ำหน้าดินขนาดเล็ก เช่นไส้เดือนน้ำ, ลูกกุ้ง เป็นต้น


ปลาลิ้นหมา น้ำจืด

ปลาลิ้นหมาน้ำจืดเป็นปลาที่มักอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่สะอาด ไม่ค่อยลอยตัวขึ้นเหนือน้ำ ดังนั้น คนสมัยก่อนหากเห็นปลาลิ้นหมาลอยตัวขึ้นมาเหนือน้ำ จะเก็บน้ำใส่ตุ่ม เพราะเป็นสัญญาณบ่งชี้แล้วว่าน้ำจะเสีย ปลาลิ้นหมาน้ำจืดพบในแม่น้ำตอนล่างใกล้กับปากแม่น้ำของทุกภาค ตามแหล่งน้ำสายใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในภาคกลาง และภาคอีสาน ไม่พบในแม่น้ำโขง

ปลาลิ้นหมาเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจเนื้อปลามีรสดี ใช้ปรุงอาหารได้ โดยปรุงสดและทำปลาตากแห้ง อีกทั้งเลี้ยงเป็นปลาสวยงามได้ด้วย


แต่ปัจจุบันหาได้ยากขึ้นเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทางสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดชัยนาทได้ทำการเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้อยู่

เมื่อสมัยที่พลอยโพยมอยู่บ้านบางกรูด เวลาพายเรือข้ามฝั่งแม่น้ำในหน้าน้ำกร่อย เมื่อพายออกไปไกลฝั่ง บ่อยครั้งจะได้ยินเสียงร้องดัง อืด.... อืด...ลากเสียงยาวอยู่ใต้ท้องเรือ เสียงร้องเป็นระยะ ๆ และคล้ายกับว่า เสียงนี้ดังติดอยู่กับใต้ท้องเรือ จนเข้าไปใกล้ฝั่งแม่น้ำของอีกฝั่ง เสียงนี้ก็จะหายไป คำบอกเล่าที่รับฟังมา คือ บอกกล่าวกันมาเป็นทอด ๆ ว่า เป็นเสียงร้องของปลาลิ้นหมา
พี่ ๆ บอก อย่างนี้ โดยบอกว่า ผู้ใหญ่บอกไว้ พอมีเพื่อน ๆ สมัยเรียนมหาวิทยาลัยมาเที่ยวบ้านตอนปิดเทอมใหญ่เป็นเวลาหลาย ๆ วัน พอเพื่อน ๆ ถาม ว่า อุ๊ย นั่นเสียงอะไร พลอยโพยมก็จะบอกว่า เสียงปลาลิ้นหมา เพื่อนถามว่า เธอรู้ได้อย่างไร พลอยโพยมก็จะตอบว่า ผู้ใหญ่บอกมา วันนี้พลอยโพยม ก็ต้องใช้คำว่า ผู้ใหญ่บอกมา กับท่านผู้อ่าน เช่นกัน

และในหน้าน้ำจืด จะไม่มีเสียงร้อง อืด..... อืด .....นี้ เป็นเพื่อนเวลาพายเรือคนเดียวข้ามแม่น้ำบางปะกง พลอยโพยมคิดว่า เป็นปลาลิ้นหมาทะเลมากกว่าจะเป็นปลาลิ้นหมาน้ำจืด จึงจะได้ยินเสียงในหน้าน้ำเค็มของชาวบ้านบางกรูด แต่ที่จริงควรเรียกว่าหน้าน้ำกร่อย

ข้อมูลของ ชื่อวิทยาศาสตร์ และชื่อภาษาอังกฤษ ของปลาลิ้นหมาค่อนข้างสับสน เพราะใช้ไม่ตรงกันจากแหล่งข้อมูลหลายแหล่ง อาจเป็นเพราะข้อมูลนั้น ๆ กล่าวถึงเฉพาะปลาลิ้นหมาที่ผู้ให้ข้อมูลพบเห็นมาเพียงบางสายพันธุ์ พลอยโพยมขออภัยที่ไม่อาจสรุปข้อมูลนี้ได้

หนังสือภาพปลาและสัตว์น้ำของกรมประมง จะแยกปลาลิ้นหมา ออกเป็น
1.ปลาลิ้นควายเกล็ดลื่น หรือปลาใบขนุน ปลาลิ้นเสือ เป็นปลาทะเล
2 ปลาลิ้นหมา ลิ้นหมาเกล็ดใหญ่ ปลาซีกเดียว พบตามชายฝั่งทะเลทั่วไป
3.ปลาลิ้นควาย ปลาลิ้นหมาน้ำจืด รูปร่างคล้ายใบขนุน เป็นปลาที่พบได้ตามแหล่งน้ำแม่น้ำสายใหญ่ทั่วไปในประเทศไทย

เนื่องจาก มีนกรสาวน้อยที่บ้านบอกพลอยโพยมว่า มีการเปลี่ยนแปลงชื่อสัตว์น้ำภาษาอังกฤษกันใหม่ (พลอยโพยมไม่แน่ใจว่าชื่อวิทยาศาสตร์ หรือชื่อภาษาอังกฤษ) แม่ต้องระวังการนำมาใช้นะ เดี๋ยวไม่ อัฟเดท พลอยโพยม เลยไม่กล้าอ้างอิง หากอ่านข้อมูลแล้ว ใช้ไม่ตรงกัน ยกเว้น เป็นชื่อตามที่ใช้ตามผลงานวิจัย

ภาพจากอินเทอร์เนท
ที่มาของข้อมูล วิกีพีเดีย
บทความของพิทยารัตน์ สุขสุเดช. นักวิทยาศาสตร์สถานีวิจัยย่อยชะอา จ.เพชรบุรี. สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา
หนังสือภาพปลาและสัตว์น้ำของกรมประมง

วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2555

[บทความ] หวนกลับสู่ ...หมู่มัจฉา..ปลากระทิงไฟ..ปลาม้า

หวนกลับสู่ ..... หมู่มัจฉา

ปลากระทิงไฟ..ปลาม้า


ปลากระทิงไฟ

ขอย้อนกลับมาหน้าวัดบางกรูดอีกครั้งเพื่อสานต่อเรื่องราวของปลาในลำน้ำบางปะกงตรงบางกรูด เมื่อห้าสิบปีที่แล้วซึ่งยังกล่าวไม่ครบถ้วน ตามจำนวนปลาที่เคยมาแหวกว่ายในสายชลให้ผู้คนได้ยังชีพอยู่อย่างยืนยาว
บทความที่เกี่ยวกับ "ในธาราปลาพล่านตระการตา" กล่าวค้างไว้ถึงปลาวงศ์ปลาช่อน ซึ่งมีทั้ง ปลาช่อนหลายชนิด ปลาชะโด ปลากระสง แล้วพลอยโพยม ก็มาเขียนเรื่องราวบนฝั่งบกเสียเกือบสิบเดือน

พลอยโพยมขอย้อนกลับมาเล่าเรื่องปลา เพื่อให้จบครบกระบวนความ แต่ขอลงรายละเอียดของปลาบางชนิดเท่านั้น


ปลากระทิงไฟ

ปลากระทิงไฟ
ชื่อสามัญ : Fire Spiny Eel
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mastacembelus erythrotaenia

ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืดที่อยู่สกุลเดียวกับปลากระทิงดำ รูปร่างคล้ายปลาไหล มีขนาดความยาวประมาณ 20 - 70 เซนติเมตร ลำตัวเรียวยาว และแบนข้าง มีจะงอยปากเป็นติ่งเล็กยื่นออกมาทำหน้าที่รับความรู้สึก พื้นลำตัวสีน้ำตาลเข้ม ข้างลำตัวมีเส้นหรือจุดสีแดงขนาดใหญ่และเล็กเรียงตามความยาวลำตัวบริเวณนัยน์ตาจนถึงโคนครีบหาง ครีบหางและครีบก้นเชื่อมติดกันถึงครีบหลังตอนท้าย ครีบทั้งหมดมีสีแดงสด บริเวณขอบครีบหนังเป็นกระดูกแหลมแข็งสำหรับป้องกันตัวจากศัตรู ครีบหูมีสีดำขอบแดง ลักษณะทางอนุกรมวิธานที่แตกต่างจากปลากระทิงชนิดอื่นคือ ปลากระทิงไฟไม่มีกระดูกที่เป็นหนามแหลมอยู่บริเวณหน้า นัยน์ตา ปลากระทิงไฟที่พบในภาคกลาง จะมีสีแดงสดใสกว่าแหล่งน้ำอื่น


ปลากระทิงไฟ

ถิ่นอาศัย
ประเทศไทย มีอยู่ในบริเวณน้ำจืดและน้ำกร่อย ในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน ทางภาคใต้ที่ทะเลน้อย (ทะเลสาบสงขลาตอนใน) แม่น้ำตาปี ชาวใต้เรียกชื่อปลานี้ว่าปลากระทิงลายดอกไม้
อาหารของปลากระทิงไฟคือแมลง ลูกกุ้ง ลูกกบ และปลาขนาดเล็ก
และจากหนังสือภาพปลาและสัตว์น้ำของไทยของกรมประมงกล่าวว่า ปลากระทิงไฟมีรสชาติดี
เและเคยพบปลากระทิงขนาดใหญ่ที่มีความยาวถึง 1 เมตร
ปัจจุบันปลากระทิงไฟ กลายเป็นที่นิยมเลี้ยงในตู้ปลา กลายเป็นปลาประเภทสวยงาม และด้วยเหตุที่เป็นที่นิยมของผู้คนทำให้ปลากระทิงไฟในวันนี้อยู่ในสภาวะใกล้จะสูญพันธุ์



ปลากระทิงไฟ

ในสมัยพลอยโพยมยังเด็ก เมื่อถึงฤดูกาลล้อมจับกุ้งจับปลาในซั้ง อันเป็นช่วงต้นฤดูหนาว (ในสมัยก่อน และเป็นช่วงใกล้ฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวในนาของชาวนา ซึ่งทำนากันเพียงปีละครั้งเท่านั้น) เป็นช่วงปลายของหน้าน้ำจืดในแม่น้ำใกล้จะเป็นหน้าน้ำกร่อย
ปลากระทิงไฟ เป็นปลาที่พบเจอจับได้ทุกครั้ง แต่ลวดลาย ที่มีจุดสีแดงบนลำตัวของปลากระทิงไฟ ในความรู้สึกของเด็ก ๆ ทุกคน คือ ปลาชนิดนี้ หน้าตาน่าเกลียดน่าชังมากกว่าจะมีเด็กคนใดมองว่า กระทิงไฟนี้สวยงามมีคุณค่า ยิ่งความคิดที่จะลิ้มชิมรสชาติของปลาชนิดนี้ไม่เคยปรากฎ เนื่องจากผู้ใหญ่ในบ้านไม่กินเป็นตัวอย่างด้วย เด็ก ๆ จึงออกอาการรังเกียจจะเหวี่ยงทิ้งลงน้ำก็เสียดายว่า น้านุ้ย (ลูกนาของยายขา) ที่มาช่วยจับซั้ง กินปลานี้ได้ ปลากระทิงไฟที่ช้อนได้มาจึงยกให้น้านุุ้ย พร้อมกับปลาไหล ปลาม้า และส่วนแบ่งอื่น ๆ ก็มิใช่ว่าเราจะยกเฉพาะของที่เราไม่กินกันให้น้านุ้ยเท่านั้น กุ้งก้ามกราม หรือกุ้งอื่น รวมทั้งปลาช่อน ปลากราย ปลาฉลาด ปลาตะเพียน และอื่น ๆ เราก็แบ่งสรรให้ทุกครั้ง เพียงแต่ว่า ปลาชนิดที่เราไม่กิน เราจะไม่แบ่งไว้ในบ้านแต่จะยกให้น้านุ้ยไปหมด แต่ปลาแขยงนั้นนอกจากไม่กินเองแล้ว เราก็ไม่ได้ให้น้านุ้ยไป หาก ยังเป็น ๆ ก็ปล่อยไป หากตายแล้วก็เอาไปต้มเลี้ยงน้องหมาซึ่งมีชื่อน่ารักว่า เจ้าดอกรัก ที่ดุมากชื่อเสียงดังกระฉ่อนบางกรูดฝั่งบ้านของพลอยโพยม

ต่อมาพลอยโพยม พาหลานและลูก ๆ ไปเที่ยวสวนจตุจักร หาซื้อปลาสวยงามตัวเล็ก ๆ มาเลี้ยงในตู้ปลา เห็นปลากระทิงในตู้ปลาสำหรับขาย ก็แปลกประหลาดใจ ว่า อ้าวคุณปลากระทิงไฟมาเวียนว่ายอยู่ในตู้ปลากับเขาด้วย กลับมาบ้านเล่าให้พี่ชาย น้องชายของพลอยโพยมฟัง เขาร้อง ฮ้า...จริงเหรอ..โธ่เอ๋ย หน้าตาเนื้อตัวปลากระทิงไฟน่าเกลียดน่าชังออกปานนั้น ตอนจับได้ แทบอยากเหวี่ยงลงน้ำไป

ตอนพลอยโพยมไปเก็บภาพปลาที่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำกรุงเทพ ฯ ของกรมประมง ยกกล้องอยู่นานกว่าจะกดชัตเตอร์ได้ ตาที่จ้องรอจังหวะที่จะถ่ายภาพ ก็ยังมองเมินไม่เห็นความสวยงามจนแล้วจนรอด รู้สึกเหมือนมองงูหรือปลาไหลที่รู้สึกแหยง ๆ หวาด ๆ ยังรังเกียจรังงอนอยู่ไม่วาย


ปลาม้า

ปลาม้า

ชื่อสามัญ ปลาม้า
ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ SOLDER CROAKER
ชื่อวิทยาศาสตร์ Boesmania microlepis
บางท้องถิ่นเรียกปลาม้าว่า ปลากวาง
ลักษณะทั่วไป

เป็นปลาพื้นเมืองของไทย เป็นปลาน้ำเค็มที่เข้ามาอยู่ในน้ำจืดเป็นครั้งคราว จึงอยู่ได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำกร่อย มีรูปร่างเรียวยาว ลำตัวด้านข้างแบนหางซึ่งเป็นบริเวณตั้งแต่รูก้นไปถึงปลายหางยาวเรียว หัวค่อนข้างเล็ก หน้างอนขึ้นเล็กน้อย จะงอยปากสั้นทู่ ปากเล็กและอยู่คล้อยไปทางใต้ส่วนหัว นัยน์ตาค่อนข้างเล็ก มีเกล็ดขนาดเล็กที่หัวและลำตัว ครีบหลังยาว ส่วนปลายครีบจรดโคนหาง ครีบหูเล็กปลายแหลม ครีบท้องอยู่ใกล้อกมีก้านแข็งยืดยาวออกมาเป็นปลายแหลม ครีบหางยาวปลายแหลม พื้นลำตัวสีน้ำตาลปนเทาหรือสีเขียวอ่อนหลังสีเทาปนดำ ท้องสีขาวเงิน ครีบต่าง ๆ สีน้ำตาลหรือเหลืองอ่อน ถุงลมของปลาม้าทำให้เกิดเสียงได้ .


ปลาม้า


ถิ่นอาศัย

ปลาม้าอาศัยตามแหล่งน้ำจืดพบมากแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสุพรรณบุรี แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่จังหวัดนนทบุรีจนถึงชัยนาท ภาคอีสานจับได้น้อย จากแม่น้ำโขงเรียกว่า ปลากวาง

อาหารของปลาม้าคือลูกกุ้ง ลูกปู

ปลาม้ามีขนาดความยาวประมาณ 17-60 ซ.ม.

ประโยชน์

เนื้อปลาใช้ปรุงอาหารได้ดี นำมาปรุงอาหารประเภทต้มยำ นึ่ง ทอด ถุงลมนำไปตากแห้งสำหรับทอดหรือต้มตุ๋นเป็นอาหาร ที่เราเรียกกันว่า กระเพาะปลา และทำเป็นกาวที่เรียกว่าไอซิงกลาส


ปลาม้า เป็นพันธุ์ปลาที่เคยมีชุกชุมในเขตจังหวัดสุพรรณบุรีและเป็นที่มาของชื่ออำเภอบางปลาม้า


คุณสมบัติพิเศษ ของปลาม้าสามารถทำเสียงร้องได้เนื่องจากมีถุงลมขนาดใหญ่ นั่นเอง
ชาวมีนกรเล่าให้พลอยโพยมฟังว่า
ปลาม้าในช่วงฤดูการผสมพันธุ์และวางไข่ ปลาม้าจะมารวมกันเป็นฝูง ปลาม้าจะส่งเสียงร้องเหมือนเสียงม้าร้อง ในช่วงเวลากลางคืนปลาม้าตัวผู้จะว่ายไล่จับปลาม้าตัวเมีย และจับคู่กัน ว่ายคลอเคลียกันไป

ครั้นพลอยโพยมถามว่า เป็นปลาม้าตัวผู้หรือปลาม้าตัวเมียร้อง หรือร้องทั้งตัวผู้และตัวเมีย และร้องเพื่อหาคู่ และมีเสียงกู่ตอบมาว่า ตกลงฉันจะคู่กับเธอ หรือว่าร้องระหว่างกำลังแสดงความรักกัน หรือฟังไม่ได้ศัพท์ว่าตัวไหนร้อง หรือหลาย ๆ ตัวร้องเพราะอิจฉาที่ตัวเองยังหาคู่ไม่ได้ เวลากลางวันส่งเสียงร้องร้องไหม หรือร้องเฉพาะเวลากลางคืน และปลาม้ามารยาทดีมีความสัมพันธ์เป็นเวลาร่ำเวลาเฉพาะเวลากลางคืนหรือเปล่า

คำตอบสั้น ๆ ง่าย ๆ ไม่ต้องมีคำถามอื่นใดให้ต่อความยาวสาวความยืดคือ "ผมไม่ใช่ปลาม้าครับ " พร้อมกับส่งสายตาถามย้ำมาว่า "เข้าใจไหม" พลอยโพยมก็เลยต้องพยายามทำความเข้าใจแบบราง ๆ ไม่แจ่มแจ้งสักเท่าไร

วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2555

[บทความ ] วันวาน...อำเภอบ้านโพธิ์

วันวาน...อำเภอบ้านโพธิ์



การตั้งชุมชนของคนในสมัยโบราณมักเลือกทำเลอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เมื่ออพยพมาตั้งบ้านเรือนหลาย ๆ ครัวเรือนมากขึ้น ก็เกิดเป็นหมู่บ้าน แล้วจึงสร้างวัด หรือศาสนสถานเอาไว้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา การคำนวณอายุชุมชนที่เป็นที่ตั้งของอำเภอบ้านโพธิ์ประมาณการโดยอาศัยอายุของวัด



อำเภอบ้านโพธิ์ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านสนามจันทร์ มีหลักฐานว่าสร้างวัดสนามจันทร์ ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2400 บ้านสนามจันทร์มีอายุ 154 ปี

บ้านสนามจันทร์ในครั้งโบราณมีลักษณะเป็นป่าทึบ มีสัตว์ดุร้ายอาศัยอยู่จำนวนมากโดยเฉพาะเสือ มักออกไปลักเป็ด ไก่ กินเป็นอาหาร บางครั้งก็กัดคนก่อความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นอันมาก ทางราชการได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปปราบเสือ เป็นพระยา 3 ท่าน ซึ่งท่านได้ออกมาตั้งจั่นดักเสือที่หนองน้ำ ราษฎรเรียกว่า หนองสามพระยา โดยใช้จั่นดักเสือหลายจั่น ชาวบ้านจึงเรียกชื่อบริเวณนี้ว่าเป็นบริเวณ “สนามจั่น” บางคนก็พูดว่า ทำจั่นไว้ “สามจั่น” ไป ๆ มา ๆ นานเข้าบริเวณนี้ก็เรียกเป็น สนามจั่น และกลายเป็นบ้านสนามจันทร์

ส่วนหนองสามพระยาได้ตื้นเขินเป็นพื้นนา ปัจจุบันคือบริเวณที่ตั้งโรงพยาบาลบ้านโพธิ์

ต่อมาทางราชการได้กำหนดการปกครองหัวเมือง แบ่งมณฑลออกเป็นเมือง อำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน บริเวณที่ชาวบ้านเรียกว่า “สนามจั่น” หรือสามจั่น และเพี้ยนเป็น “สนามจันทร์” จึงเป็นตำบลสนามจันทร์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา



ในปี พ.ศ. 2446 มีรายงานการตรวจราชการมณฑลปราจีน ของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมรุพงศ์สิริพัฒน์ กราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เรื่องการยุบอำเภอหัวไทร ไปรวมกับอำเภอบางคล้า และจัดตั้งเป็นอำเภอ ความว่า
“ถ้าดูตามลำน้ำที่ว่าการอำเภอหัวไทรกับอำเภอบางคล้าห่างกันทางราว 1 ชั่วโมง เห็นด้วยเกล้าฯว่าควรจะยกเลิกอำเภอหัวไทรเสีย คงย้ายไปตั้งตำบลสนามจันทร์ ที่จะเรียกนามอำเภอสนามจันทร์ ใต้เมืองฉะเชิงเทรา”

และอีกข้อความหนึ่งในความว่า อำเภอเมืองฉะเชิงเทรามีหมู่บ้านมาก ควรแบ่งท้องที่ตั้งเป็นอำเภอขึ้นอีกหนึ่งอำเภอ ที่ว่าการอำเภอถ้าไปตั้งในคลองประเวศบุรีรมย์ก็ไม่อยู่กึ่งกลางท้องที่ จึงเลือกที่ใต้วัดสนามจันทร์เป็นที่ตั้งอำเภอ ความกราบบังคมทูลดังนี้
“ราษฎรที่อยู่ทางลำน้ำไปมาลำบากเห็นด้วยเกล้าฯ ว่าควรตั้งที่ลำน้ำเมืองฉะเชิงเทรา เหนือปากคลองสนามจันทร์ เพราะเป็นท้องที่ มีบ้านเรือนราษฎรตั้งอยู่โดยรอบ แลเป็นทำเลโจรผู้ร้ายปล้นสะดมชุกชุม ส่วนนามอำเภอเรียกว่า อำเภอสนามจันทร์ เกล้าฯ ได้เลือกที่ใต้วัดสนามจันทร์ เป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอแลจะยกโรงตำรวจภูธร ที่อำเภอหัวไทรมาตั้งอยู่ที่อำเภอสนามจันทร์ด้วย”



สรุปได้ว่าการตั้งอำเภอสนามจันทร์นั้นได้แยกพื้นที่จากอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2447 ใช้ชื่อว่า อำเภอสนามจันทร์ ตามชื่อหมู่บ้าน และตำบลที่ตั้งอำเภอ ที่ว่าการอำเภอสนามจันทร์หลังแรก เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว หลังคามุงด้วยจาก นายอำเภอคนแรก คือ ขุนประจำจันทเขตต์ (ชวน)



ระหว่าง พ.ศ.2447 – พ.ศ. 2449 มีการปรับแก้ไขเขตของหมู่บ้าน และตำบลตาม พ.ร.บ. ลักษณะการปกครองท้องที่ รศ. 116 (พ.ศ. 2440) แนวทางการกำหนด เขตตำบล ดังนี้ “หลายหมู่บ้านรวมกันราว 10 หมู่บ้าน ให้จัดเป็น 1ตำบล ให้ผู้ว่าราชการเมืองปักหมายเขตตำบลนั้นให้ทราบได้โดยชัดเจนว่าเพียงใด ถ้าที่หมายเขตรไม่มีลำห้วย หนอง คลอง บึง บาง หรือ สิ่งใด เป็นสำคัญได้ ก็ให้ผู้ว่าราชการเมืองจัดให้มีหลักปักหมายเขตรอันจะถาวรอยู่ไปได้ยืนนาน”

เป็นการกำหนดเขตตำบลโดยใช้ ลำห้วย หนอง คลอง บึง บาง เป็นแนวเขต ตำบลสนามจันทร์เมื่อก่อนนี้เข้าใจว่ามีพื้นที่อยู่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำ จึงถูกแบ่งเขตออกจากกัน โดยมีแม่น้ำบางปะกงเป็นเส้นแบ่งเขต พื้นที่ทางฝั่งขวายังคงใช้ชื่อตำบลสนามจันทร์เหมือนเดิม ทั้งนี้อาจเป็นเพราะมีเนื้อที่มากกว่า ส่วนทางฝั่งซ้ายซึ่งเป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอตั้งชื่อใหม่ว่า ตำบลบ้านโพธิ์ มีหลักฐาน คือ โฉนดที่ดินที่ออกให้ราษฎรเมื่อ รศ. 125 (พ.ศ. 2449) เปลี่ยนชื่อเป็นตำบลบ้านโพธิ์แล้ว

เหตุที่ตั้งชื่อว่า บ้านโพธิ์ เนื่องจากท้องถิ่นนี้มีต้นโพธิ์ขึ้นอยู่ทั่วไป เมื่อก่อนวัดสนามจันทร์ก็มีต้นโพธิ์ใหญ่หลายต้น ชาวบ้านมีความเคารพเพราะเป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ จึงเอาผ้าเหลืองห่มต้นโพธิ์ ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์



พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้ตั้งกองเสือป่าขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2454 และทรงสถาปนาพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เป็นค่ายหลวงสำหรับประชุมและซ้อมรบ แบบเสือป่า เพื่อเป็นกำลังร่วมป้องกันประเทศ และเสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมอยู่เนือง ๆ



ทางราชการได้พิจารณาเห็นว่าชื่ออำเภอไปพ้องกับชื่อพระราชวังสนามจันทร์ จึงเปลี่ยนชื่ออำเภอสนามจันทร์เป็นอำเภอเขาดิน สมัยขุนเหี้ยมใจหาญ (พงษ์ บุรุษชาติ) เป็นนายอำเภอ

เขาดินอยู่ชายแดนติดต่อกับอำเภอบางปะกง เป็นเนินหินแกรนิต สูงประมาณ 15 เมตร เป็นที่ตั้งของวัดเขาดิน ภายในวัดมีมณฑปร้างเก่าแก่มาก เข้าใจว่าเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท เหตุที่เอาเขาดินมาตั้งเป็นชื่ออำเภอแทนสนามจันทร์ คงเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เคยเสด็จประพาสวัดเขาดิน เมื่อ พ.ศ. 2402 ซึ่งถือเป็นความปีติและเป็นสิริมงคล จึงเอาชื่อเขาดินมาเป็นชื่ออำเภอ

ต่อมาปรากฏว่าเขาดินอยู่ในเขตอำเภอบางปะกง จึงเปลี่ยนชื่ออำเภออีกครั้งหนึ่ง จากเขาดินมาเป็นอำเภอบ้านโพธิ์ ตามชื่อของตำบล เมื่อ พ.ศ. 2460 สมัยขุนเจนประจำกิจ (ชื้น) เป็นนายอำเภอ



ตั้งแต่ตั้งอำเภอมา มีนายอำเภอปกครอง โจรผู้ร้ายที่ว่าชุมชุมก็หมดไป ชาวอำเภอบ้านโพธิ์ มีความเป็นอยู่ที่สงบสุข เรียบง่าย

อำเภอบ้านโพธิ์เป็นเพียงอำเภอเล็ก ๆ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา แต่ก็มีประวัติศาสตร์ของที่มาที่ไปของ หลาย ๆ ชุมชน กระจัดกระจายกันที่น่าสนใจ
นอกจากตำบลบางกรูด ตำบลท่าพลับ ตำบลสนามจันทร์ ตำบลบ้านโพธิ์แล้ว ยังมีตำบลเกาะไร่ที่พลอยโพยมขอกล่าวถึง




ตำบลเกาะไร่ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ ตั้งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำบางปะกง ล้อมรอบด้วยคลอง ได้แก่ คลองแขวงกลั่น จระเข้น้อย แพรกนกเอี้ยง บางเรือน ประเวศบุรีรมย์ หลอดหวังปิ้ง และหลอดตาเกด พื้นที่เป็นที่ราบ น้ำท่าบริบูรณ์ ประชาชนมีอาชีพทำนาเป็นหลัก จึงมองดูเหมือนเกาะกลางน้ำ ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงตั้งชื่อว่า “เกาะไร่”
เมื่อนานวันเข้า พื้นน้ำที่ล้อมรอบเกาะไร่ตื้นเขินกลายเป็นพื้นดิน ต่อมามีผู้ลอกขุดดินบริเวณที่เคยเป็นน้ำล้อมรอบเกาะ ได้พบเสากระโดงเรือใหญ่ พร้อมกับท้ายบาหลีของเรือสำเภาใหญ่ พบหีบเหล็กใส่สินค้า และข้าวของอันมีค่าอีกมากในบริเวณชั้นดินที่ถูกทับถม พบเปลือกหอยปรากฏอยู่ทั่วไป

ซึ่งถ้าพิจารณาสถานที่ตั้งของตำบลเกาะไร่แล้ว ก็ต้องแปลกใจกับสิ่งที่ขุดพบซึ่งแสดงถึงความเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ในอดีต



ส่วนตำบลบ้านโพธิ์นั้น เป็นชื่อของตำบลในหลาย ๆ จังหวัดด้วยเช่น จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดตรัง จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดหนองคาย เนื่องจากการเรียกชื่อชุมชนนั้นชาวบ้านมีหลักการเรียกชื่อคล้าย ๆ กัน เช่น ลักษณะเด่นของภูมิประเทศ พืชพันธุ์ไม้ในท้องถิ่น ตำนานเรื่องเล่าของท้องถิ่น เป็นต้น

ที่มาของข้อมูล วิกิพีเดีย
หนังสือจังหวัดฉะเชิงเทรา
ภาพ เป็นภาพแม่น้ำบางปะกงหน้าที่ทำการอำเภอบ้านโพธิ์

วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2555

[ บทความ] เล่าซ้ำประตูน้ำ...บ้านท่าถั่ว


หัวตลาดประตูน้ำท่าถั่ว


ต้นมะม่วงต้นนี้คงแปลกใจที่พลอยโพยมมาที่นี่หลายครั้ง แม้จะมีกล้องในมือแต่ก็ไม่เคยถ่ายภาพ คราวนี้มะม่วงต้นนีี้กำลังชูช่อร้องเชื้อเชิญพลอยพโยมว่า เข้ามาเถอะ และก็ถ่ายภาพไว้เถอะอีกหลาย ๆ ปี ภาพตรงนี้ก็จะเปลี่ยนไปอีกนะ
สองครั้งก่อนที่เธอมาฉันไม่มีช่อเชื้อเชิญเธอ แต่วันนี้ช่อมะม่วงของฉันก็สวยงามเหมือนช่อมะม่วงที่อื่น ๆ ใช่ไหม
ทำให้พลอยโพยมมีแรงใจเดินเข้าไปข้างในเป็นครั้งที่สาม


คลองที่ไม่สุนทรีในการเก็บภาพแต่ก็คือสภาพจริงของวันนี้


เมื่อก่อนนั้นลำคลองท่าถั่วนี้ ก็ใช้ อาบน้ำซักผ้า ของผู้คนในคลองและที่ตลาดแห่งนี้


พบคุณป้าท่านหนึ่งกำลังขูดมะพร้าวด้วยกระต่ายขูดมะพร้าวแต่สถานที่ค่อนข้างมืดและลืมปรับ เมนู ของกล้อง


เดินเข้ามาหลายครั้งแล้วแต่ไม่กล้าถ่ายภาพเก็บไว้เพราะใจหดหู่มากกับสภาพที่เห็น


ถ้าตอนเด็ก ๆ ไม่เคยมาที่ตลาดนี้ จะนึกภาพสมัยก่อนไม่ได้เลยว่าเป็นอย่างที่เขียนได้อย่างไร


บริเวณกลางตลาดจะเห็นว่ายังมีแนวของห้องแถวเข้าไปอีกยาว


บ้านเรือนของคนที่ยังมีหลงเหลืออยู่ในตลาดประตูน้ำท่าถั่ว
แต่เป็นคนรุ่นหลังที่มาขอเช่าห้องอยู่อาศัยเพื่อการเข้ามาทำงานใบบริเวณใกล้เคียง มิใช่ทายาทของพ่อค้าแม่ค้ารุ่นก่อน


จากแม่น้ำบางปะกงหันหน้าสู่ปากอ่าวเลยวัดผาณิตารามจะมีคลองใหญ่ เมื่อเลี้ยวขวาเข้ามานี่คือคลองท่าถั่ว หรือชื่อทางการคือคลองประเวศบุรีรมย์ เรือที่จะสัญจรผ่านประตูน้ำท่าถั่วต้องจอดรอเวลาการเปิดบานประตูที่ด้านนอกบานประตู


ด้านนอกสู่ปากคลองท่าถั่วซึ่งจะบรรจบกับแม่น้ำบางปะกง


บานประตูน้ำชั้นนอก


บานประตูน้ำชั้นนอก


การทำงานของบานประตูน้ำชี้นใน


การทำงานของบานประตูน้ำชั้นใน


บ้านพักเจ้าหน้าที่ และที่ทำการสถานีประตูน้ำ


ทางเดินริมคลองไปสู่ประตูน้ำชั้นนอกซึ่งเดินได้จากตัวตลาด


บานประตูน้ำขั้นใน


บานประตูชั้นใน
เรื่อที่มาจากคลองสวนที่ต้องการออกสู่ปากคลองท่าถั่วเพื่อออกสู่แม่น้ำบางปะกง ต้องจอดรอเวลาเปิดประตูน้ำของสถานี ระหว่างที่รอ ผู้คนก็จะขึ้นไปตลาดที่อยู่ริมฝั่ง รวมทั้งเรือหางยาวที่วิ่งรับจ้างซึ่งมีสิทธิจอดเป็นที่เป็นทางเป็นแถวหน้าตลาดได้ เจ้าของเรือก็อยู่เรียกผู็โดยสารอยู่บนฝั่ง



บริเวณที่มีเรือนและศาลาเล็ก ๆ พื้้นดินเป็นรูปโค้ง เป็นระบบจัดทางของน้ำเป็นสองทาง ทางซ้ายมือเมื่อหันหน้าหาภาพ เป็นเส้นทางให้เรื่อที่จะสัญจรเข้าออกประตูน้ำใช้เส้นทางนี้ตรงไปที่ประตูบานชั้นใน ส่วนทางขวามือของภาพเป็นเส้นทางหรือช่องทางปิดเปิดน้ำในแม่น้าเข้ามาในประตูน้ำ หรือเพื่อระบายออกเมื่อครั้งยังไม่ตั้งเครื่องสูบน้ำ
ทางเดินเข้าออกของน้ำ และทางสัญจรของเรือจะเป็นคนละเส้นทางกัน จะเห็นลำไม้ไผ่ผูกเป็นมัดยาว ขวางกลางระหว่าทางเดินของทางนี้เพื่อสกัดผักตบชวาด้วย


บริเวณริมคลองท่าถั่วที่มีตลาดท่าถั่วอยู่ริมฝั่ง


หลังบานประตูชั้นใน
ฝั่งที่มีภาพคน คือบริเวณริมคลองที่เป็นที่ตั้งของตลาดประตูน้ำท่าถั่วจะเป็นตลาดอยู่ฝั่งเดียวของลำคลอง


ตัวบานประตูปิดเปิด ที่เวลาปกติจะขึ้นไปเดินก็ได้
จะเห็นบานประตูชั้นนอกอีก 1 บาน


ตัวบานประตูที่ปิดเปิดได้ด้วยระบบเครื่องทุ่นแรง


เครื่องทุ่นแรงส่วนหนึ่งที่ใช้ในการเปิดบานประตู


ด้านหลังของบานประตูชั้นในคือลำคลองประเวศบุรีรมย์
ซึ่งในส่วนบริเวณแถบนี้ไปถึงคลองสวน ชื่อท้องถิ่นที่เรียกกันของคลองประเวศบุรีรมย์ในช่วงนี้คือเรียกกันว่าคลองท่าถั่ว
ด้านขวามือที่เห็นหลังคาบ้าน และทางซีมนต์ลาดลงน้ำนั้นคือบริเวณตลาดท่าถั่วเป็นหัวตลาด ตัวตลาดท่าถั่วเป็นเรือนแถวยาวเข้าไป แต่บัดนี้มีแนวต้นไม้ปิดบังเสียหมด เมื่อสมัยก่อนแนวต้นไม้ขวามือคือแนวจอดเรือมากมายหลายประเภทด้วยวัตถุประสงค์ เข้ามาทำธุรกรรมต่าง ๆ กัน ที่ตลาดประตูน้ำท่าถั่ว


ที่ทำการสถานีประตูน้ำท่าถั่ว
จะอยู่ระหว่างกึ่งกลางบานประตูชั้นนอก และชั้นในและอยู่คนละฝั่งกับตลาดประตูน้ำท่าถั่ว


ทางเดินริมคลองระหว่างบานประตูชั้นในไปสู่บานประตูชั้นนอก


ท่อระบายน้ำเพื่อระบายน้ำจากภายในประตูน้ำ มี 6 ท่อ เป็นระบบที่กรมชลประทานมาดำเนินการภายหลัง

ซึ่งในการรอรับน้ำจากวิกฤตน้ำท่วม ต้องเดินเครื่องสูบน้ำออก เพราะน้ำภายในที่รับการผันน้ำจากกรุงเทพ ฯ ฝั่งตะวันนอก ผ่านมาสู่คลองประเวศบุรีรมย์นั้น ระดับน้ำภายในประตูต่ำกว่าระดับข้างนอกประตูน้ำ
น้ำจะไหลออกตามช่องทาง ด้านข้างของประตูน้ำ เป็นแนวการระบายน้ำจากเครื่องสูบน้ำภาพถัดไป


ช่องทางเดินของการระบายน้ำด้วยเครื่องสูบน้ำ


ช่องทางระบายน้ำออกจากชั้นในของประตูน้ำ


ทางบรรจบของช่องระบายน้ำด้วยเครื่องสูบ ทั้ง 6 ท่อ
ที่บรรจบกับปากประตูน้ำที่เปิดรับน้ำตามธรรมชาติ และเปิดให้เรือสัญจรไปมา

(เพิ่มเติม )
ในสมัยก่อนจะมีเรือบรรทุกสินค้าเป็นเรือกระแชงบรรทุกสินค้ามาจากกรุงเทพมหานครหรือ ปทุมธานี มาที่เมืองฉะเชิงเทรา โดยผ่านประตูน้ำท่าถั่ว รวมทั้งยังมีเรือยนต์โดยสารเดินทางผ่านไปมาระหว่างกรุงเทพมหานครและฉะเชิงเทรา การไปกลับคลองสวนก็โดยสารเรือยนต์ได้

แม่ละม่อมต้องไปเก็บค่าเช่านาของยายขาที่ตำบลแสนภูดาษ ทั้งที่อยู่ริมแม่น้ำ และอยู่ในคลองแสนภูดาษ เขตอำเภอบ้านโพธิ์เดียวกันทุก ๆ ปี หากอยู่ในคลองแสนภูดาษแม่ละม่อมจะต้องเข้าออกประตูน้ำเลาะมาตามคลองใหญ่และคลองสาขา แม่ละม่อมจะคุมเรือสำหรับบรรทุกข้าวค่าเช่ากลับมาที่บางกรูด สองถึง สี่ลำ แล้วแต่ว่า จะไปที่ไหน ค่าเช่าเท่าไร แม่ละม่อมจะมีลุงช้อย น้านุ้ย และแรงงานคนอื่น ๆ ที่อยู่หลังบ้านในคลองศาลเจ้าอีกหลายคนที่จ้างมาเพื่อไปตวงข้าว ขนข้าวเปลือกจากลานข้าวลูกนาที่เช่านาลงเรือ เมื่อมาถึงบ้านก็ขนข้าวเปลือกนี้เข้ายุ้งข้าว โดยจะหุงข้าว ทำกับข้าว ใส่หม้อ ใส่ปิ่นโต ถ้วยชามช้อนเอาใส่กระจาด เตรียมน้ำกินใส่เรือไปแต่เช้ามืด มื้อเช้าก็คงกินในเรือหน้าประตูน้ำ ส่วนมื้อกลางวันก็กินที่บ้านลูกนา กว่าจะกลับก็บ่ายคล้อย

ยังจดจำได้ว่าเคยมาที่ประตูน้ำท่าถั่วนี้เพื่อจะไปคลองสวน ทางเดียวที่จะมาก็คือนั่งเรือมาทางน้ำ เมื่อเลี้ยวขวาจากแม่น้ำบางปะกงเข้าสู่คลองท่าถั่วนี้จะมีประตูน้ำบานเหล็กกั้นไว้ มีเรือจอดรอกันหลายลำด้วยธุรกรรมต่าง ๆ กัน ทั้งเรือเครื่อง เรือยนต์ที่เป็นเรือจูง เรือพ่วงและเรือแจวหลาย ๆ ลำ ขาไปแม่ละม่อมขึ้นบกไปที่ตลาดประตูน้ำเพื่อลงเรือต่อ ส่วนใหญ่เป็นเรือหางยาวที่จอดรอที่หน้าตลาดมากมาย เจ้าของเรือจะร้องบอกเองว่าเรือของตนจะไปที่ไหน ผู้โดยสารก็ไปตามเรือที่จอด ตอนขาไปแม่ละม่อมไม่สนใจร้านค้าต่าง ๆ เลย

ที่ด้านในก็มีเรือรอที่จะออกมาข้างนอกไปสู่แม่น้ำ
แต่เมื่อถึงเวลาขากลับ แม่ละม่อมบอกว่าต้องรอเวลาประตูเปิด เวลานั้นก็เป็นเวลาที่แม่ละม่อมพาเดินในตลาด ร้านของกินก็มีมากมายหลายร้าน เช่น ข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว ขนม น้ำแข็ง ไอศครีม และมีร้านขายของชำ ขายเสื้อผ้า ขายของใช้ต่าง ๆ แทบทุกบ้านเป็นร้านค้าขายของไปในตัว มีโต๊ะ มีแผง วางของขายหน้าร้านและในร้าน

เมื่อถึงเวลาบานประตูเปิดออก ก็จะมีทั้งเรือที่อยู่ข้างในมุ่งหน้าออกมาข้างนอก เรือที่รอด้านนอกก็เข้าไปข้างใน แต่นึก ๆ ก็รู้สึกว่าไม่ใช่เหตุการณ์สับสน ดูมีระเบียบ เพราะ เมื่อถึงทีของเรือที่เรานั่ง เรือของเราก็ผ่านประตูน้ำออกมาได้ เจ้าหน้าที่จะจัดเวลาการมาก่อนหลัง ถ้าแม่ละม่อมมาแบบไปตวงข้าว ก็ต้องไปแจ้งให้เจ้าหน้าที่ประตูน้ำรู้ จะได้คิวการเข้าการออก

การเข้าออกประตูน้ำเป็นไปตามคิวบางครั้งก็มีเรือออกไปสามสี่ลำ จึงถึงคราวเรือเข้าได้เข้าไปในประตูน้ำบ้าง แล้วก็จะมีเรือออกมาอีก การเปิดประตูน้ำ ไม่ได้กำหนดเวลาตายตัวว่าเวลาเท่าไร สถานีใช้ระดับน้ำเป็นตัวกำหนดเวลา เวลาเปิดประตูน้ำก็คือเวลาที่น้ำในประตูน้ำกับระดับน้ำหน้าประตูน้ำอยู่ในระดับเดียวกัน ซึ่งชาวบ้านที่เป็นชาวน้ำจะรู้เวลาค่อนข้างใกล้เคียง

เพิ่มเติม บริเวณปากคลองประเวศบุรีรมย์ มีประชาชนอาศัยอยู่ทั้งสองฝั่งคลอง ด้านหนึ่งเป็นบ้านปากคลองท่าถั่ว ตำบลสนามจันทร์ อำเภอบ้านโพธิ์ อีกด้านหนึ่งเป็นบ้านท่าถั่ว ตำบลบางกรูด อำเภอบ้านโพธิ์


ศาลาการเปรียญ วัดผาณิตาราม
วัดได้ไม้พื้นและต้นเสามาจากโรงสีข้าวและโรงเลื่อย