วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ปลาแป้นแก้ว

ปลาแป้นแก้ว



ภาพปลาแป้นแก้วยักษ์ภาพจาก http://www.biogang.net

ปลาแป้นแก้ว

ชื่ออังกฤษ: Siamese glassfish;

ชื่อวิทยาศาสตร์: Parambassis siamensis

ในวงศ์ปลาแป้นแก้ว Ambassidae

ปลาแป้นแก้วเป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็กชนิดหนึ่ง



ภาพจากอินเทอร์เนท

ลักษณะทั่วไป

มีลำตัวตัวใสหรือสีขาวคล้ายสีข้าวเม่า มีครีบหลัง 2 อัน ครีบหลังอันแรกมีก้านครีบแข็งเป็นหนานแหลมอยู่ 7 ก้าน ครีบหลังอันที่สองมีเฉพาะก้านครีบฝอย ครีบก้นมีก้านครีบที่เป็นหนานแหลมอยู่ 3 ก้าน มีเกล็ดกลมบางใสและหลุดง่าย ลักษณะเนื้อโปร่งใสจนมองเห็นอวัยวะภายใน ตามลำตัวมีจุดสีดำอยู่ทั่วไป

ถิ่นอาศัย

มีอยู่ทั่วไปตามแม่น้ำลำคลอง ในประเทศไทยพบมากที่บริเวณลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ชาวบ้านในแถบกาญจนบุรีและราชบุรีเรียกปลาแป้น แต่ชาวบ้านแถบแม่น้ำเจ้าพระยาและบึงบอระเพ็ดเรียกว่าปลาข้าวเม่า ส่วนชื่อปลากระจกเป็นชื่อที่เรียกกันในหมู่พ่อค้าส่งปลาไปจำหน่ายต่างประเทศ ปลาแป้นนี้ยังพบได้ในลาว , กัมพูชา, เวียดนาม, มาเลเซีย, สิงคโปร์และอินโดนีเซีย



ภาพจากอินเทอร์เนท

นิสัย

นิยมอยู่รวมกันเป็นฝูงในแหล่งน้ำทั่วไป รักสงบไม่รบกวนปลาอื่น เป็นปลาที่หากินในเวลากลางคืน มักจับได้ในปริมาณทีละมาก ๆ โดยใช้แสงไฟล่อเพื่อให้ปลามากินแมลงบนผิวน้ำ

ขนาด

มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 6 เซนติเมตร

อาหาร

กินจุลินทรีย์และตัวอ่อนของแมลงน้ำ จำพวกสัตว์น้ำและแมลงขนาดเล็ก



ปลาตัวนี้ติดมากับอวนที่รอกุ้งกะปิในลำน้ำบางปะกง เมื่อมาถึงฝั่ง ปลาก็ตายเสียแล้ว

ประโยชน์

นิยมใช้บริโภคกันในท้องถิ่น อีกทั้งยังนิยมเลี้ยงกันเป็นปลาสวยงามอีกด้วย โดยการฉีดสีเข้าไปในตัวปลาเป็นสีสันต่าง ๆ เช่น สีน้ำเงิน, สีเหลือง, สีส้ม หรือสีแดง เพื่อประโยชน์ทางการค้า โดยมีชื่อเรียกเฉพาะว่า "ปลาเรนโบว์" รือ "ปลาสายรุ้ง" ซึ่งสีเหล่านี้ก็จะจางและซีดลงไปเองตามเวลา

ยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ เช่น "ปลาข้าวเม่า" หรือ "คับของ" หรือ "แว่น" ในภาษาเหนือ เป็นต้น

ที่มาของข้อมูล ภาพปลาและสัตว์น้ำของไทย โดย สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์



ภาพจากอินเทอร์เนท

วงศ์ปลาแป้นแก้ว

วงศ์: Ambassidae อดีตเคยใช้ Chandidae,

อังกฤษ: Asiatic glassfish

วงศ์ปลากระดูกแข็งวงศ์หนึ่ง

ในอันดับปลากะพง

พบทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และทะเล

มีลักษณะโดยรวมมีรูปร่างเป็นรูปไข่ ส่วนหัวและท้องกว้าง ลำตัวแบนข้าง หัวโต ตาโต ปากกว้าง ครีบหลังแบ่งออกได้เป็น 2 ตอน ตอนแรกเป็นก้ามแข็งแรงและแหลมคม ตอนหลังเป็นครีบอ่อน ครีบหางเว้าลึก ครีบก้นมีก้านแข็ง 3 ชิ้น ครีบท้องมีก้านแข็ง 1 ชิ้น ครีบอกเล็ก ลำตัวโดยมากเป็นสีใสหรือขุ่นจนสามารถมองเห็นกระดูกภายในลำตัวได้ ด้านท้องมีสีเงิน

เป็นปลากินเนื้อ มักอยู่รวมกันเป็นฝูงขนาดใหญ่ เป็นปลาขนาดเล็กมีขนาดโดยเฉลี่ยประมาณ 10 เซนติเมตร อาศัยอยู่ในเขตอบอุ่นของชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียจนถึงฟิลิปปินส์และออสเตรเลีย มีทั้งหมด 8 สกุล 49 ชนิด

สำหรับในประเทศไทยพบในน้ำจืด 5 ชนิด โดยชนิดที่พบมากที่สุดคือ ปลาแป้นแก้ว (Parambassis siamensis) และชนิดที่ใหญ่ที่สุดคือ ปลาแป้นแก้วยักษ์ (P. wolffii)

มีชื่อสามัญเรียกโดยรวมว่า "แป้นแก้ว" หรือ "แป้นกระจก" หรือ "กระจก" หรือ "ข้าวเม่า" ในภาษาถิ่นเหนือเรียกว่า "แว่น" ในภาษาอีสานเรียกว่า "คับของ" หรือ "ปลาขี้ร่วง"

มีความสำคัญคือเป็นปลาเศรษฐกิจใช้บริโภคในพื้นถิ่น เช่น บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลาง โดยทำปลาแห้งและบริโภคสด อีกทั้งยังนิยมเลี้ยงกันเป็นปลาสวยงามด้วย โดยมักฉีดสีเข้าในลำตัวปลา เป็นสีสันต่าง ๆ เช่น สีเหลือง, สีส้ม, สีน้ำเงิน และเรียกกันในแวดวงปลาสวยงามว่า "ปลาเรนโบว์" หรือ "ปลาสายรุ้ง" ซึ่งเมื่อเลี้ยงนานเข้า สีเหล่านี้จะหลุดหายไปเอง โดยที่ปลาไม่ได้รับอันตราย

ที่มาของข้อมูล วิกิพีเดีย

ยังมีปลาวงศ์ปลาแป้นซึ่งอาจจะทำให้เกิดความสับสนได้

ปลาแป้นแก้วนี้ที่บางกรูดเรียกว่า ปลากระจก

วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ปลาเข็ม

ปลาเข็ม



ปลาเข็มตัวเมีย ภาพจากวิกิพีเดีย

ชื่ออังกฤษ: Wrestling Halfbeak, Malayan halfbeak, Pygmy halfbeak

ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dermogenys pusilla

อยู่ในวงศ์ปลาเข็ม Hemiramphidae

ปลาเข็มเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง



ภาพจากwww.bestfish4u.com

ลักษณะทั่วไป

มีรูปร่างเรียวยาวคล้ายเข็มเย็บผ้า ริมฝีปากล่างคือส่วนที่ยื่นยาวออกมาเหมือนปลายเข็ม อันเป็นที่มาของชื่อ ปากยาวแหลม ขากรรไกรล่างคือส่วนที่ยื่นออกมา ขากรรไกรบนมีขนาดเล็กเป็นรูปสามเหลี่ยมใช้สำหรับจับเหยื่อและต่อสู้ป้องกันตัวระหว่างปลาพวกกันเดียวเอง โดยมักจะพุ่งแทงกัน

มีครีบอกขนาดใหญ่และแข็งแรง ทำให้สามารถกระโดดจับแมลงที่อยู่เหนือผิวน้ำเป็นอาหารได้ เหยื่อของปลาเข็มจะต้องอยู่ในน้ำที่มีระดับความลึกของน้ำไม่เกิน 10 ซม . ซึ่งเป็นระดับที่ปลาเข็มหากิน นอกจากนี้แล้วยังมีสายตาที่แหลมคม สามารถมองเห็นวัตถุที่เหนือน้ำได้ดีกว่าปลาชนิดอื่น ๆ นิยมอยู่กันเป็นฝูง ๆ ประมาณ 8-10 ตัว โดยมีตัวผู้เป็นจ่าฝูงเพียงตัวเดียว ปลาตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้อย่างเห็นได้ชัด เป็นปลาที่ออกลูกเป็นตัว ครั้งละไม่เกิน 30 ตัว



ภาพจาก http://school.obec.go.th

ถิ่นอาศัย

พบได้ตามแหล่งน้ำนิ่งเช่น บ่อ สระ บึง ท้องร่องสวน สำหรับแหล่งน้ำไหลพบได้จากแม่น้ำและลำธารที่มีกระแสน้ำไหลปานกลางพบได้ทั่วไปทั่วประเทศไทย ในต่างประเทศพบได้ตั้งแต่บังกลาเทศจนถึงคาบสมุทรมลายูและอินโดนีเซีย

นิสัย

เป็นปลาที่ก้าวร้าวชอบต่อสู้กันเอง อยู่เป็นกลุ่มโดยมีปลาตัวผู้เป็นจ่าฝูง

การสืบพันธุ์ ตัวผู้ที่มีความแข็งแรงและกัดเก่งเท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์ครอบครองตัวเมีย นี่เป็นวิธีการคัดเลือกพันธุ์ตามธรรมชาติ ซึ่งจะได้ลูกหลานที่แข็งแรงเพื่อความอยู่รอด ปลาตัวผู้จะใช้ปากแยงบริเวณก้นตัวเมียเป็นการกระตุ้นความรู้สึกทางเพศให้แก่ตัวเมีย ในขณะว่ายเคียงคู่ไป ตัวผู้จะสอดอวัยวะที่ใช้ในการฉีดน้ำเชื้อเข้าไปในช่องเพศเมีย ตัวอสุจิจะถูกดูดซึมเข้าไปที่ผนังของรังไข่ และถูกใช้ไปบางส่วนในการปฏิสนธิกับไข่ หลังจาก 3 - 5 สัปดาห์ ลูกปลาตัวแรกก็จะเกิดจากแม่ปลา

ขนาด

เป็นปลาขนาดเล็ก ความยาวเต็มที่ประมาณ 8 เซนติเมตร

อาหาร

กินตัวอ่อนของแมลง ลูกน้ำ และสัตว์น้ำขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ตามผิวน้ำ



ปลาเข็มหม้อภาพจาก http://market.onlineoops.com/39634

ประโยชน์

ปลาเข็มชนิดนี้ คนไทยนิยมเพาะเลี้ยงกันมานานแล้วเพื่อใช้สำหรับต่อสู้กันเพื่อการพนัน คล้ายกับปลากัด โดยจะเพาะเลี้ยงกันในหม้อดินจึงเรียกกันว่า "ปลาเข็มหม้อ" โดยจะมีรูปร่างและขนาดที่ใหญ่กว่าปลาที่พบในธรรมชาติ และนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม สำหรับปลาที่ออกสีขาวจะเรียกว่า "ปลาเข็มเผือก" หรือ "ปลาเข็มเงิน" และปลาที่มีสีออกสีทองจะเรียกว่า "ปลาเข็มทอง"

ที่่มาของข้อมูล วิกิพีเดีย

หนังสือสาระน่ารู้ปลาน้ำจืดไทย เล่ม ๒ โดย สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์ พ.ศ. 2547

ประทีปพันธุ์ปลาhttp://www.bestfish4u.com

ปลาในวงศ์ปลาเข็ม (วงศ์: Hemiramphidae) เป็นวงศ์ของปลาจำพวกหนึ่ง ที่พบได้ทั้งในทะเล, น้ำกร่อย และน้ำจืด

เป็นปลาที่มีทั้งออกลูกเป็นไข่และออกลูกเป็นตัว โดยพวกที่ออกลูกเป็นตัว มักจะเป็นปลาที่อาศัยอยู่ในน้ำจืด และที่ออกลูกเป็นไข่มักเป็นปลาทีอาศัยอยู่ในทะเล

ที่มาของข้อมูลจากวิกิพีเดีย



ภาพจากhttp://www.ninekaow.com

ปลาเข็มและปลากระทุงเหว มีรูปร่างคล้ายกันมาก โดยที่ปลากระทุงเหวเมืองเองก็มีชื่อหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ปลาเข็มแม่น้ำ และปลากระทุงเหวมีขนาดใหญ่กว่าปลาเข็ม คือ มีขนาด 10-25 ซ.ม. และกระโดดได้พ้นน้ำเป็นต้น พลอยโพยมไม่สามารถถ่ายภาพปลาเข็มได้เลย ซึ่งที่จริงแล้วพลอยโพยมคุ้นเคยกับปลาเข็มมากที่สุดเนื่องจาก ไม่ว่าจะเป็น ในแม่น้ำ ลำคลอง หนองบึง บ่อน้ำ ท้องร่องสวน สรุปว่าไปที่ไหน ๆ ก็เป็นต้องได้เจอะเจอปลาเข็ม โดยเฉพาะที่แม่น้ำหน้าบ้านบางกรูด เวลาเด็ก ๆ ลงเล่นน้ำ ทั้งปลาแขยง ปลาซิว ปลาเข็มล้วนอยู่ไม่ห่างจากตัวพวกเราเลย ว่ายมาเป็นฝูง ๆ รอบ ๆ ตัวเราด้วยซ้ำไป

และมักเห็น ปลาเข็มบ้าง ปลากัดบ้างอยู่ในโหลแก้ว ที่เด็กผู้ชายในบ่้านจับมาแล้วคงจะยกโหลปลาเหล่านี้เอาไปกัดกับเด็กบ้านอื่นหรือเปล่าไม่แน่ใจเหมือนกัน เพราะไมได้เอามากัดกันในบ้าน เด็กผู้หญิงไม่นิยมไปบ้านผู้อื่นที่ไม่มีกิจธุระที่ผู้ใหญ่ส่ั้งให้ไปต้องสงบเสงี่ยม หรือจะทโมนไพรอย่างไรก็ได้แต่ต้องอยู่ภายในบริเวณบ้านหรือสวนของเราเอง ยกเว้น การออกไปเก็บข้าวตกในท้องนา หรือออกไปเล่นว่าวในท้องนา ซึ่งเป็นท้องนาของเราเองนั่นแหละ ในชีวิตของพลอยโพยม ก็เลยไม่เคยพบเห็นการชนไก่ การให้ปลากัดกัน ล้วนแล้วแต่เรื่องบาปกรรมทั้งนั้นทีเดียว

วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ปลาตะกรับ

ปลาตะกรับ



ภาพจาก วิกิพีเดีย

ปลาตะกรับ

ชื่อสามัญอังกฤษ มีชื่อเรียกหลายชื่อเช่น: Spotted scat, Green scat,spadefish, spotted spadefish, butterfish, และ spotted butterfish)

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Scatophagus argus

อยู่ในวงศ์ปลาตะกรับ (Scatophagidae)

ปลาตะกรับเป็นปลาน้ำเค็มชนิดหนึ่ง

ลักษณะทั่วไป

มีรูปร่างสั้น แบนข้างและกว้างมาก หัวทู่ ปากเล็ก หางมน เกล็ดเล็ก เป็นแบบสาก สีพื้นลำตัวมีสีแตกต่างกันมากอาจเป็นสีเขียว, สีเทาหรือสีน้ำตาล ครึ่งบนของลำตัวสีเข้มกว่าและมีแถบสีเทาเข้มหรือดำพาดขวางหลายแนวและแตกเป็นจุดที่ด้านล่างหรือเป็นแต้มเป็นจุดทั่วตัวดูล้ายเสือดาว ครีบต่าง ๆ มีสีเหลืองอ่อนอมเทา มีครีบคู่แผ่ออกได้ในลักษณะคล้ายพัด ลูกปลาตะกรับมีสีสันสวยงาม จึงเป็นปลาสำคัญในตลาดปลาสวยงามทั้งในและต่างประเทศ

ปลาตัวผู้จะมีหน้าผากโหนกนูนกว่าตัวเมียแต่ขนาดลำตัวจะเล็กกว่าเล็กน้อย เส้นก้านครีบหลังชิ้นที่ 4 จะยาวที่สุด ขณะที่ตัวเมียเส้นก้านครีบหลังเส้นที่ 3 จะยาวที่สุด บริเวณส่วนหัวของตัวเมียบางตัวจะเป็นสีแดง โดยลักษณะดังกล่าวจะเห็นได้ชัดเจนเมื่อปลามีความยาวมากกว่า 4 นิ้วขึ้นไป ถิ่นอาศัย

มีการกระจายพันธุ์กว้างขวาง บริเวณชายฝั่งในเขตชายฝั่งทะเลเขตอบอุ่น พบตั้งแต่ทวีปแอฟริกา, ทะเลแดง, เอเชียใต้, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ซูลาเวซี, อินโดนีเซีย ตลอดจนถึงโซนโอเชียเนีย

ในประเทศไทยมีพบอยู่ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ปลาตะกรับเป็นปลาทะเลที่สามารถปรับตัวให้อาศัยอยู่ในน้ำกร่อยหรือน้ำจืดสนิทได้ โดยปกติจะอาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเลที่เป็นพื้นโคลนใกล้ปากแม่น้ำหรือป่าชายเลน เป็นสัตว์น้ำที่อพยพไปๆมาๆ ระหว่างแหล่งน้ำจืดกับน้ำทะเล

สำหรับปลาในบางพื้นที่มีความหลากหลายทางสีมาก เช่น ปลาบางกลุ่มจะมีลายพาดสีดำเห็นชัดเจนตั้งแต่ส่วนหัว และลำตัวมีสีแดงเข้มจนเห็นได้ชัด ถูกจัดให้เป็นชนิดย่อยที่มีชื่อเรียกว่า "ตะกรับหน้าแดง" (S. a. var. rubifrons)



ปลาตะกรับหน้าแดง ภาพจาก วิกิพีเดีย

ในปี พ.ศ. 2547 ในเอกสารสัมนาวิชาการประมง ปี พ.ศ. 2547 มีรายงงานว่า ปลาตะกรับในทะเลสาบสงขลาสามารถพบได้ตลอดปี มี 2 ชนิด คือคือปลาตะกรับเขียว ( S.argus ) อีกชนิดคือ ปลาตะกรับหัวแดง ( S. tetracanthus sirimontaporn, 1984) (ทะเลสาบสงขลามีความเค็มของน้ำที่ผันแปรสูง)

หมายเหตุ พลอยโพยมไม่แน่ใจกับข้อมูลของปลาตะกรับหน้าแดงและปลาตะกรับหัวแดง ทั้งชื่อไทยและชื่ออังกฤษหากมีผู้จะใช้ข้อมูลนี้ กรุณาตรวจสอบใหม่)

นิสัย

เป็นปลาที่อาศัยอยู่เป็นกลุ่ม เป็นปลาที่มีนิสัยก้าวร้าวพอสมควร ตกใจง่าย ไม่ชอบแสงจ้าหรือสว่างมาก หากินอยู่ตามใต้ผิวน้ำไปจนถึงพื้นท้องน้ำ

อาหาร

เป็นปลาที่กินทั้งพืชและสัตว์ เช่น ลูกกุ้ง ลูกปลา สัตว์หน้าดิน แพลงก์ตอน และสาหร่ายที่เกาะตามสิ่งต่าง ๆ

ขนาด

ขนาดเมื่อโตเต็มที่ยาวได้ถึง 38 เซนติเมตร

ประโยชน์

นิยมตกเป็นเกมกีฬาและใช้รับประทานเป็นอาหารเป็นที่นิยมอย่างมากโดยเฉพาะในภาคใต้ และเป็นปลาที่มีราคาค่อนข้างแพง นอกจากไทยแล่้วยังเป็นที่นิยมบริโภคของชาว ฟิลิปปินส์ ใต้หวัน อีกด้วย

และยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาตู้สวยงามอีกด้วย โดยในที่เลี้ยง ปลาตะกรับเป็นปลาที่สามารถทำความสะอาดตู้ได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถกินตะไคร่น้ำและสาหร่ายบางชนิดได้

ชื่ออื่น ๆ เรียกว่า "กระทะ" หรือ "แปบลาย" ในภาษาใต้เรียกว่า "ขี้ตัง" และชื่อในแวดวงปลาสวยงามจะเรียกว่า "เสือดาว" ตามลักษณะลวดลายบนลำตัว

วงศ์ปลาตะกรับมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ใน 2 สกุล (วิกิพีเดีย )

ที่พบในไทยคือปลาตะกรับ (Scatophagus argus)

ที่มาของข้อมูล วิกิพีเดีย

และรายงานการสัมนาวิชาการประมงประจำปี 2547



ภาพจากอินเทอร์เนท

ความต้องการและราคาปลาในท้องตลาด

คนไทยนิยมบริโภคปลาชนิดนี้มากบริเวณภาคใต้  โดยเฉพาะปลาตะกรับที่จับได้จากทะเลสาบสงขลา  จะเป็นอาหารเมนูเด็ดตามร้านอาหารและภัตตาคารที่มีชื่อเสียงหลายแห่งในจังหวัดสงขลา  ผู้นิยมบริโภคอาหารทะเลจะรู้จักกันดีว่าหากไปรับประทานอาหารตามร้านต้องไปเนิ่น ๆ เพื่อรีบสั่งแกงส้มปลาตะกรับ หรือปลาขี้ตัง เพราะหากไปช้าจะถูกจองหมด สำหรับชาวประมงแล้ววันไหนจับปลาตะกรับได้มากก็จะสบายใจเพราะสามารถขายได้ราคาดีเพราะตลาดมีความต้องการสูง  ดังนั้นในปี 2550  ราคาปลาตะกรับที่มีไข่ขนาด 5 ตัว/กก. ราคากก.ละ 300-350 บาท ขนาด 10 ตัว/กก. กก.ละ 250-300 บาท 15 ตัว/กก. กก.ละ 150-200 บาท

ขนาดที่นำมาปรุงอาหารมีขนาดเท่าฝ่ามือเท่านั้นจะนำไปปรุงเป็นแกงส้ม  ต้มส้ม โดยทำความสะอาดแล้วหั่นครึ่งตัวใส่ลงในน้ำแกงส้มที่เตรียมไว้ หรือไม่ก็นำมาทอดกรอบทั้งตัวราดด้วยเครื่องผัดต่าง ๆ ตามชอบ

เมื่อมีผู้บริโภคมากจึงมีการจับมาก จนทรัพยากรในธรรมชาติลดลงอย่างต่อเนื่อง ปลาตะกรับจึงนับว่าเป็นปลาที่ใกล้สูญพันธุ์จากทะเลสาบสงขลา จึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาวิจัยการเพาะขยายพันธุ์ปลาชนิดนี้เพื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติทดแทนส่วนที่หายไปเพื่อลดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และในอนาคตหากกรมประมงสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ในเชิงพาณิชย์  การเพาะเลี้ยงปลาตะกรับก็จะเป็นปลาทะเลชนิดใหม่ให้เกษตรกรเลี้ยงเป็นอาชีพ



ภาพจากอินเทอร์เนท

ความสำเร็จเบื้องต้นในการผสมพันธุ์เทียมปลาตะกรับของ สวช. สงขลา

สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง   สำนักวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง  กรมประมง  ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาตะกรับครั้งแรกเมื่อ วันที่ 7 กันยายน 2550

โดยใช้วิธีการผสมพันธุ์เทียม  พ่อพันธุ์ขนาด 40-50 กรัมและแม่พันธุ์ขนาด 130-200 กรัม คัดเลือกแม่พันธุ์ที่มีขนาดไข่  400-450 ไมครอน  มาฉีดฮอร์โมน suprefact เข้มข้น 15-20 µg/kg  หลังจากฉีดฮอร์โมนตั้งแต่ 32 - 38 ชั่วโมงสามารถรีดไข่ได้ ขึ้นอยู่กับระยะของไข่ของแม่พันธุ์ที่นำมาฉีด  ไข่ที่พร้อมผสมกับน้ำเชื้อมีขนาดตั้งแต่ 600-700 ไมครอน  เมื่อผสมไข่กับน้ำเชื้อการปฏิสนธิจะเกิดขึ้นหลังผสม 30 นาที ซึ่งจะนับเมื่อไข่เริ่มมีการแบ่งเป็น 2 เซลล์  จากนั้นตัวอ่อนจะพัฒนาไปเรื่อยๆเป็นระยะ 128 เซลล์ในเวลา 90  นาที เป็นระยะบลาสตูล่า (blastula) ภายในเวลา 2 ชั่วโมง 30  นาที       ระยะแกสตรูล่า (gastrula) ภายใน  5 ชั่วโมง  ระยะนิวรูล่า (neurula) ภายใน 8 ชั่วโมง และฟักออกเป็นตัวภายในเวลา 16-19 ชั่วโมง  ซึ่งสถาบันฯ ได้ทำการฟักแล้วจำนวน 3 รุ่น ได้ เปอร์เซ็นต์การฟัก 79-88 %  การอนุบาลลูกปลา  3 รุ่น ได้อัตรารอดของลูกปลาแต่ละรุ่นเป็น 7.3-22.7%  

ที่่มาของข้อมูล

http://www.coastalaqua.com/webboard/index.php?topic=681.0

ปลาตะกรับและชาวบางกรูด



เป็นปลาที่จะได้พบเห็นในหน้าน้ำกร่อย บางทีก็ติดเข้ามาในอวนที่รอกุ้งกะปิในแม่น้ำ สำหรับที่บ้านพลอยโพยมมีขอนต้นตาลทอดยาวอยู่ในเลน นอกจากน้องชายจะลงไปงมกุ้งก้ามกรามในช่วงน้ำลงตามซอกของขอนไม้ หรือโพรงที่รอยต่อของขอนหรือปลายสุดของขอน บางทีก็จะได้ปลาตะกรับด้วย แต่เนื่องจากจะได้ปลาตะกรับโดยการล้อมซั้งหรืองมปลายขอน ครั้งละไม่กี่ตัว เอามาประกอบอาหารก็ไม่พอสำหรับคนในบ้าน ปลาตะกรับก็เลยไม่เคยมีเมนูของแม่ละม่อมอีกชนิดหนึ่งเหมือน ปลาหลาย ๆ ชนิดที่ได้กล่าวถึงมาแล้ว (ครอบครัวของพลอยโพยม มีสมาชิกในครอบครัวมากคน)





วันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ปลาหนามหลัง

ปลาหนามหลัง



ปลาหนามหลัง

ชื่อสามัญอังกฤษINDIAN RIVER BARB

ชื่อวิทยาศาสตร์ Chylocheilichthys apogon

อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae)

วงศ์ย่อย Cyprininae

ลักษณะทั่วไป

เป็นปลาน้ำจืดในวงศ์ปลาตะเพียนขาว ลำตัวค่อนข้างแบน เกล็ดขนาดใหญ่ หัวใหญ่ จะงอยปากยาวและแหลม ไม่มีหนวด นัยน์ตาโตและอยู่ใกล้จมูก ปากเล็กและอยู่ปลายสุด กระโดงหลังสูงมีก้านเดี่ยวเป็นหนามแข็ง และขอบหยักเป็นฟันเลื่อย ครีบหางแยกเป็นแฉกลึก ลำตัวส่วนบนสีเขียวอมเหลือง ด้านท้องสีเหลืองนวล โคนหางมีจุดดำขนาดใหญ่ข้างละจุด ครีบต่าง ๆ สีส้ม นัยน์ตาแดง เมื่อติดอวนหรือตาข่ายจะปลดออกได้ยาก เพราะหนามแหลมที่ครีบหลัง



ที่มาของภาพ

http://www.siamfishing.com

ถิ่นอาศัย

พบแพร่กระจายทั่วไปในแม่น้ำสายใหญ่และแหล่งน้ำนิ่ง คลอง หนองและบึงตามภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ

นิสัย

จากสารนิพนธ์ของ ศศิมล สกุลไทยเทียนชัย ในการสำรวจและเก็บตัวอย่างของปลาในแม่น้ำว้าและแม่น้ำมางเขตอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน.พบว่ามีปลาหนามหลังและมีพฤติกรรมชอบอยู่เป็นฝูง

มีข้อมูลจากhttp://biodiversity.forest.go.th/index.php?option=com_dofanimal&view=showanimal&id=852 ว่าพบปลาหนามหลังขาวในลุ่มแม่น้ำโขง ชอบอยู่ในที่บริเวณน้ำขุ่นมีพื้นเป็นโคลนปนทราย

ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ย้ายถิ่นเข้ามาตามแม่น้ำสาขาในบางฤดูกาล



อาหาร

กินหอยน้ำจืดขนาดเล็ก ลูกปลาและพืชน้ำ

ขนาด

ความยาวประมาณ 7-15 ซ.ม. ประโยชน์

จัดเป็นปลาที่มีราคาถูก นำมาทำปลาร้าหรือปรุงสด และถูกเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม

มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ทางภาคกลางเรียกว่า ปลาหนามหลัง ไส้ตัน ตะเพียนทราย ในภาคอีสานบางจังหวัดเรียกว่า แม่กระแด้ง ไส้ตัน พบทางภาคใต้มีชื่อว่า หญ้า ตาแดง

จากสารนิพนธ์ของ ศศิมล สกุลไทยเทียนชัย ในการสำรวจและเก็บตัวอย่างของปลาในแม่น้ำว้าและแม่น้ำมางเขตอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่านระบุชื่ออืนของปลาหนามหลังในท้องถิ่นเรียกกันว่า ปีก ,หนาม , หนามแต็บ



ที่มาของภาพ

http://www.siamfishing.com

ที่มาของข้อมูล

ภาพปลาและสัตว์น้ำของไทย โดยสมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์



ที่มาของภาพ

http://www.ninekaow.com/wbs/?action=view&sub=05&id=0008147

ปลาหนามหลังนี้ที่บางกรูดเรียกกันว่าปลาตะเพียนทราย ไม่พบบ่อยนัก

หมายเหตุ

มีหลายข้อมูล รวมทั้งวิกิพีเดีย ที่ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ของปลาหนามหลังว่า Mystacoleucus marginatus

วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ปลาเทพา

ปลาเทพา

ชื่ออื่น มีชื่อเรียกในภาษาอีสานว่า "เลิม"



ชื่ออังกฤษ: Chao Phraya giant catfish

ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pangasius sanitwongsei

อยู่ในวงศ์ปลาสวาย Pangasiidae



ปลาเทพาเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งในจำพวกปลาไม่มีเกล็ดหรือปลาหนัง เป็นปลาขนาดใหญ่ไล่เลี่ยกับปลาบึก จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับปลาสวายและปลาเทโพ

ลักษณะทั่วไป

มีรูปร่างคล้ายปลาสวาย ลำตัวเรียวยาว หัวโต มีส่วนหัวค่อนข้างสั้นแต่มีลักษณะแบนและกว้าง ปากกว้างกว่าปลาในสกุลเดียวกันและชนิดอื่น ๆจงอยปากค่อนข้างสั้น มีฟันแหลมคมอยู่บนขากรรไกรทั้งสองข้าง หนวดเล็กและสั้น 2 คู่ อยู่ที่ริมฝีปากบนและมุมปาก นัยน์ตามีขนาดเล็กและอยู่เหนือมุมปาก



มีลักษณะเด่นที่กระโดงหลัง ครีบหู และครีบท้องมีก้านเดี่ยวอันแรกยื่นออกมาเป็นเส้นเดี่ยวยาวมาก จึงดูสง่างามในเวลาว่ายน้ำมากกว่าปลาชนิดอื่นในวงศ์เดียวกัน เมื่อว่ายน้ำจะตั้งชั้นเหมือนปลาฉลาม ครีบหางเป็นแฉกลึกมีแถบสีจางตามแนวยาวทั้ง 2 แฉก ครีบไขมันอยู่ในแนวสันหลังอยุ่ใกล้กับครีบหาง หัว สันหลังและข้างสีดำปนเทา ท้องสีขาว มีจุดสีขาวขนาดใหญ่สะดุดตาอยู่เหนือช่องเหงือก ครีบก้นมีฐานยาวตอนหน้ามีแถบสีคล้ำตามแนวยาว

ถิ่นอาศัย

พบในประเทศไทยและประเทศในแถบอินโดจีน ในประเทศไทยเฉพาะในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำโขงเท่านั้น ปัจจุบันได้สูญพันธุ์ไปแล้วจากแม่น้ำเจ้าพระยา และหายากในแม่น้ำโขง แต่ปัจจุบันสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้วโดยวิธีการผสมเทียม



นิสัย รักสงบ ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ปกติจะว่ายน้ำตลอดเวลา ปลาเทพาในธรรมชาติชอบน้ำที่ใสสะอาดมีการไหลเวียนอย่างดี เนื่องจากมันจะว่ายอยู่ตลอดเวลา



อาหาร

เป็นปลากินเนื้ออาหารอาหารที่ชอบได้แก่ซากสัตว์ที่ตายลอยอยู่บนผิวน้ำ แต่ลูกปลาขนาดเล็กมักชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่และอาศัยอยู่ในบริเวณน้ำนิ่ง กินแมลงน้ำ และสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร เคยพบปลาเทพาในบ่อเลี้ยง มักจะเห็นปลาเทพา กินปลานิลขนาดใหญ่จนติดคาคอเพราะกลืนไม่เข้า และลอยตายในเวลาต่อมา มักชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ แย่งกันกินอาหาร



ขนาด มีขนาดประมาณ 1 - 1.25 เมตร ใหญ่สุดพบยาวได้ถึง 3 เมตร และมีน้ำหนักมากว่า 100 กิโลกรัม

ประโยชน์

เนื้อมักถูกนำมาขายแทนเนื้อปลาบึก (Pangasinodon gigas) ซึ่งหายาก และมีราคาแพงกว่า นอกนี้แล้วยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับปลาพิการที่ลำตัวสั้นกว่าปกติมีราคาสูงมาก แต่เป็นปลาที่มีกลิ่นคาวจัด



ชื่อวิทยาศาสตร์ของปลาเทพานั้น ตั้งขึ้นโดย ดร.ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ อธิบดีกรมประมงคนแรก เพื่อเป็นเกียรติแด่ ม.ร.ว.สุวพันธุ์ สนิทวงศ์ ในฐานะเป็นผู้ผลักดันและบุกเบิกให้มีหน่วยงานทางด้านการศึกษาและจัดการสัตว์น้ำในประเทศ ซึ่งก็คือกรมประมงในปัจจุบัน



กรมประมงได้ทำการเพาะพันธุ์ปลาเทพาสำเร็จเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2526 ด้วยวิธีการฉีดฮอร์โมนผสมเทียมโดยใช้พ่อแม่พันธุ์ปลาที่จับได้จากแม่น้ำโขง จากนั้นสถานีวิจัยประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา กรมประมง จึงทำการวิจัยเพาะขยายพันธุ์ โดยวิธีการผสมเทียม จนได้ รับความสำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2540 อีกครั้ง



 

ที่มาของข้อมูล

วิกิพีเดีย

ภาพปลาและสัตว์น้ำของไทยโดยสมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์

http://thaifishingcenter.com/board/index.php?topic=92.0



ภาพปลาเทพา(ไม่นับรวมภาพที่จัดในตู้งานประมงน้อมเกล้า 2 ภาพแรก ) เป็นภาพที่ถ่ายคนละปีกันโดยถ่ายจากสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำกรุงเทพฯ บางเขน โดยกรมประมงจัดให้ในตู้เลี้ยงปลาตู้ใหญ่ชั้นล่างเมื่อเปิดประตูเข้าไปก็จะพบปลาเทพา ปลาเทโพและปลาสวายอยู่รวมในตู้เลี้ยงปลาเดียวกัน คอยทักทายเชื้อเชิญแขกที่มาเยือนสถานที่นี้ โดยเฉพาะปลาสวายเผือกมีอยู่หลายตัวในภาพสีโทนที่เป็นสีเขียวหม่น ซึ่งปลาสวายเผือกจะตัวเล็กมากเมื่อเทียบกับปลาเทโพและปลาเทพา



พลอยโพยมไม่สามารถแยกปลาเทโพและปลาเทพาได้ ก็ถ่ายภาพไปเรื่อย ๆ หลายครั้งที่ไปถ่ายภาพปลาที่ต้องการจะใช้รูปประกอบหนังสือวันวานของบางกรูด แต่บรรรณาธิการ คัดภาพปลาและสัตว์น้ำออกหมดเพราะฝีมือพลอยโพยมที่อ่อนด้อยฝีมือ นั่นเอง ปลาเทโพและปลาเทพาปลาสวายเป็นปลาที่ไม่คิดจะใช้ภาพ แต่ความที่คิดว่าถ่ายไว้ก็ไม่เสียหายอะไร ก็เลยมีภาพที่แม้จะไม่สวยงาม ชัดเจน แต่พลอยโพยมเองก็ได้เห็นความแตกต่างของปลาเทโพและปลาเทพา ปลาเทพามีที่สังเกตที่กระโดงหลังที่ยาวและตั้งชันเวลาว่ายน้ำ และมีจุดสีขาวขนาดใหญ่สะดุดตาอยู่เหนือช่องเหงือก



ส่วนปลาเทโพและปลาสวายมีที่สังเกตก็คือ ปลาที่มีจุดสีดำขนาดใหญ่เหนือครีบหูคือปลาเทโพ มีกระโดงหลังสูงกว่าปลาสวาย แต่สั้นกว่าปลาเทพา และในปี พ.ศ. 2555 นี้ ในตู้ปลาตู้นี้ไม่มีปลาสวายเผือกที่เคยมีหลายตัวแต่ปีนี้ไม่มีเหลือเลยสักตัว คนเลี้ยงบอกว่า ปลาตาย และมีการจัดตู้ปลาด้วยโทนสีฟ้า ทำให้รู้สึกว่าปลาในตู้ดูสดใสเริงร่ากว่าโทนสีเขียวหม่น (แต่สงสัยว่าพลอยโพยมคิดไปเองเสียมากกว่า อาจจะเริงร่าเพราะมีเนื้อที่ในตู้เลี้ยงปลาให้ว่ายน้ำได้มากขึ้น ปลาสวายเผือกที่เคยเกะกะเส้นทางว่ายน้ำหายไปหมดแล้ว)

ปลาเขาก็ต้องจัดเส้นทางจราจรของเขาเหมือนรถบนถนนของมนุษย์ รถเล็ก ๆ เช่นรถมอเตอร์ไซด์ ก็วิ่งซอกแซกทำให้รถยนต์เสียสมาธิหากไม่ระวังก็เกิดเฉี่ยวชนกันได้ ปลาก็เหมือนกันเห็นเขาว่ายน้ำแบบต้องเอี้ยวตัวหลบปลาตัวอื่น ๆ เสมอ หลบได้อย่างรวดเร็ว ปลาเขาไม่มีลู่จราจรตีเส้นเหมือนถนนของเรา ไม่มีไฟแดงไฟเหลืองไฟเขียว ไม่ต้องมีป้ายเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา ตรงไปหรือ u turn คิดดูแล้วปลาเขามีประสาทและสัญชาติญาณ ดีมาก ๆ เลย

วันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2555

แกงเทโพ... โอ้อร่อย..

แกงเทโพ



แกงเทโพ ถือว่าเป็นแกงไทยโบราณชนิดหนึ่ง เป็นแกงที่รสชาติเข้มข้น ต้นตอทีมีผู้คิดสูตรแกงเทโพนี้ คงใช้เนื้อปลาเทโพ และด้วยภูมิปัญญาของคนคิดสูตร ต้องมีความพิเศษในการเอาปลาเทโพมาแกงไม่ให้เหม็นคาว รสชาติเข้มข้นอร่อยแปลกจากแกงอื่น ๆ และมีผู้ดัดแปลงเนื้อปลามาเป็นเนื้อหมู ในภายหลัง ปัจจุบันมักใช้เป็นหมูสามชั้น และทำให้มีคนเรียกแกงเทโพนี้ว่าแกงหมูเทโพ ( พลอยโพยมสันนิษฐานเอาเอง)

ส่่วนประกอบของแกงหมูเทโพ

1. น้ำพริกแกงเผ็ด

2. หัวกะทิ และ น้ำกะทิ

3. หมูสามชั้น

4. ผักบุ้งไทย

5. ผลมะกรูด

6.ใบมะกรูด

7.มะขามเปียก

8.น้ำตาลปี๊บ

9.น้ำปลา



เครื่องปรุงน้ำพริก

ปัจจุบันมีน้ำพริกแกงสำเร็จรูปขาย สารพัดแกง ไม่ต้องยุ่งยากสำหรับคนที่ปรุงน้ำพริกไม่เป็น แต่ในสมัยพลอยโพยมเด็ก ๆ แต่ละบ้านต้องตำน้ำพริกเอง และส่วนประกอบที่สำคัญก็อยู่ที่น้ำพริกแกงนี้เป็นสำคัญด้วยตามมาด้วยรสชาติ ที่ต้องทั้งเข้มข้นและกลมกล่อมไปพร้อม ๆ กัน อดีตนายกรัฐมนตรีท่านสมัคร สุนทรเวช ท่านเคยบอกเคล็ดลับการปรุงอาหารให้อร่อยถูกใจเลิศล้ำลิ้นผู้ลิ้มลอง ท่านเคยบอกว่า ไม่ยากเลย ง่าย ๆ เคล็ดลับมีเพียงปรุงให้รสชาติของอาหารที่ทำ ปรุงให้ได้รสชาติกลมกล่อมเท่านั่้น ง่าย ๆ จริง ๆ อย่างท่านว่า แต่ กลมกล่อมของแต่ละคนแต่ละแม่ครัว ที่จะเป็นที่ยอมรับของคนกิน ก็อยู่ที่กึ๋นของแต่ละท่าน

ตอนเด็ก ๆ เมื่อแม่ละม่อมลงมือตำน้ำพริก ก็จะสั่งเด็ก ๆ ว่า เอาพริกแห้งแกงมาผ่าแช่น้ำโดยเอาเมล็ดและไส้พริกออกก่อน หากมีเชื้อราซึ่งสมัยก่อนเราไม่รู้พิษสง ก็แค่ใช้มีดขูด ๆ เชื้อราออกก่อนและล้างน้ำให้หมดล้างให้พิถีพิถันกว่าพริกเม็ดอื่น พริกที่ไม่มีเฃื้อราก็ล้างด้วย ( หากเป็นสมัยหลัง ๆ พลอยโพยมก็จะทิ้งไปทั้งเม็ดเลยไม่ล้างออกหรอก ไม่ใช่ขี้เกียจแต่กลัวว่าจะล้างเชื้อราออกไม่หมดมากกว่า) จำนวนพริก แล้วแต่ แม่ละม่อมจะสั่งว่า 7 เม็ด 10 เม็ด 15 เม็ด หรือจำนวนอื่น ๆ ซึ่งไม่เท่ากันในแต่ละประเภทแกงที่จะทำ และขึ้นกับขนาดของเม็ดพริกแห้งด้วย รวมทั้งขนาดของหม้อที่แม่ละม่อมต้องการแกงด้วย



ซอยตะไคร้ กองไว้บนเขียงตามจำนวนต้นตะไคร้ที่แม่ละม่อมให้ไปตัดมาจากสวน 3 ต้น 5 ต้น กองตะไคร้ซอยจะมีขนาดกองใหญ่กว่าเครื่องปรุงน้ำพริกอื่น ๆ ไม่นับพริกแห้งที่ลอยในชามแช่น้ำไว้ ซอยข่าเป็นแว่น ๆ ไม่มากนัก ปอกหอมแดง กระเทียม ซอยผิวมะกรูดนิดหน่อย ก่อนลงครกตำแม่ละม่อมจะเป็นคนจัดสรรเครื่องปรุงทุกอย่างด้วยสายตา ไม่ต้องมีการตวงวัด บางครั้งก็ได้รับคำสั่งว่า เพิ่มของบางอย่าง บางอย่างแม่ละม่อมก็เขี่ยออกจากกอง ถูกใจแล้วถึงจะลงมือตำได้

โดยตำพริกแห้งที่บีบน้ำออกให้หมดน้ำก่อน หรือเหลือน้ำให้น้อยที่สุด ตำพริกแห้งให้แหลกก่อนจึงจะใส่เครื่องปรุงอื่น ๆ ลงตำรวมกัน การใส่เกลือป่นจะทำให้พริกแห้งแหลกเร็วขึ้น แต่ส่วนใหญ่แม่ละม่อมจะไม่ใส่เกลือป่น ตำพริกเพรียว ๆ เมื่อใส่เครื่องปรุงอื่น ๆ ลงไปตำจนละเอียดถูกใจแม่ละม่อมแล้ว จึงใส่กะปิ เป็นสิ่งสุดท้ายของการตำน้ำพริก ส่วนใหญ่ แม่ละม่อมจะคะเนกะปิจากการปั้นเป็นก้อน กลม ๆ เบี้ยว ๆ ให้เป็นก้อนก็แล้วกันเท่านั้น ขนาด ต่าง ๆ กัน ตามประเภทของแกง ( แม้บางครั้ง จำนวนเม็ดพริกแห้งที่ใช้แกงเผ็ด เท่ากับจำนวนพริกแห้งของแกงส้มหรือแกงอื่น ๆ แต่ก้อนกะปิของแม่ละม่อม ก็ไม่เท่ากันจน เรารู้สึกได้ พอจะรู้ใจ ว่าถ้าเป็นแกงส้มก็เอาช้อนตักกะปิจากไหกะปิ สักเท่าไรดี ถ้าเป็นแกงเผ็ด ตักสักเท่าไรดี )

ตำน้ำพริกได้ที่แหลกละเอียดถูกใจ กะปิก็คลุกเคล้าทั่วครกแล้ว ก็จะนำน้ำพริกนี้ลงไปผัดกับหัวกะทิ ในกะทะ โดยตักหัวกะทิบางส่วนลงกะทะบนเตาไฟ ต่างน้ำมันก่อน เคี่ยวจนแตกมัน แล้วจึงเอาน้ำพริกแกงลงไปผัดกับหัวกะทิ ถ้าน้ำมันจากหัวกะทิน้อยไป ก็ค่อย ๆ เติมหัวกะทิเพิ่มลงไปในกะทะ กลิ่นของการผัดน้ำพริกแกงกับหัวกะทิ หากคนอยู่ใกล้ ไม่จาม ฟืด ๆ ก็อย่าหวังเลยว่า แกงหม้อนี้จะอร่อยไปได้ ความฉุนของน้ำพริกเป็นตัวบ่งชีี้ความเข้มข้นของน้ำพริกที่ปรุงตอนตำน้ำพริก หลังจากจามหลาย ๆ ครั้งแล้วทั้งคนลงมือผัดน้ำพริกแกง กับผู้ที่อยู่ในบริเวณครัวก็นำเนื้อหมูสามชั้นที่หั่นไว้ ลงไปผัดพอสุกนิด ๆ จึงเติมน้ำกะทิได้ หากน้ำแกงชักงวดลงตอนผัดและหัวกะทิที่คั้นไว้หมดแล้ว ก็ค่อย ๆ ใช้ทัพพีช้อนหน้าของน้ำกะทิ ค่อย ๆ เติมได้ ปรุงน้ำปลาเล็กน้อย



หมูสุกแล้ว ก็ตักหมูที่ผัดน้ำพริกนี้ ลงในหม้อที่มีน้ำกะทิอยู่ นำหม้อไปตั้งไฟ เมื่อเดือดแล้ว ก็นำผักบุ้งที่หัั่นไว้ (หลังจากล้างสะอาดเรียบร้อยก่อนหน้านี้ ใส่ผักบุ้งพักไว้ในตะแกรงให้น้ำสะเด็ดด้วย ) ลงในหม้อแกง ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาลปี๊บ และมะขามเปียกที่แช่น้ำขยำและคั้นน้ำมะขามเปียกข้น ๆ ในชามนั้นไว้แล้ว (ชาวบางกรูดเรียกมะขามเปียกนี้ว่า ส้มมะขาม) ปรุงให้ได้รสกลมกล่อมเข้มข้น อย่าลืมใส่ผลมะกรูดผ่าครึ่งลูกลงไปในหม้อด้วย ก่อนยกหม้อลง ก็ฉีกใบมะกรูดตามแนวแกนกลางของใบ ลงไปในหม้อ

ที่บ้านพลอยโพยมไม่เคยใช้ปลามาแกงเทโพ ไม่ว่าจะเป็นปลาเทโพ หรือปลาอื่น ๆ กินกันแต่ แกงหมูเทโพ เด็ก ไม่ชอบกินหมูสามชั้น และไม่กินหมูมัน ๆ หรือติดมัน มีหมูมันติดมานิดหน่อยก็เขี่ยหมูมันออกก่อน แต่อย่างไรก็ดีแกงหมูเทโพนี้ หากใช้หมูเนื้อแดงไม่ว่าสันในหรือเนื้อสะโพกเอามาใช้แกงหมูเทโพก็ไม่อร่อย เราก็ต้องยอมกินแกงหมูเทโพหมูสามชั้น เขี่ยหมูมันออกตอนกิน

ผักบุ้งที่ใช้แกง เป็นผักบุ้งไทย ไม่ใช้ผักบุ้งจีน ผักบุ้งไทยนี้ ก็เป็นก้านใหญ่ใบใหญ่ ไม่ใช่ผักบุ้งที่ใช้จิ้มน้ำพริกหรือผักบุ้งที่กินกับส้มตำ ยอดผักบุ้งยาวประมาณช่วงแขนแค่ข้อศอก



น้ำแกงในหม้อต้องลอยหน้าด้วยมันกะทิและความมันของหมูสามชั้น น้ำแกงต้องสีแดงเข้มข้น หากน้ำแกงเหลืองซีด เพราะอ่อนน้ำพริก แกงหม้อนี้ก็ไม่อร่อย ไม่ว่าจะปรุงรสอย่างไร ก็อ่อนน้ำพริกแกงของสำคัญไปเสียแล้ว เมื่อเด็ก ๆ โตขึ้น และแยกย้ายกระจายวงครอบครัวบ้านริมน้ำ มาอยู่เฉพาะครอบครัวของแม่ละม่อมเองที่คนละตำบลกัน แม่ละม่อมก็กลายเป็นย่า และยาย แม่ละม่อมก็มีลูกจ่้างหญิงเป็นลูกมือถ่ายทอดวิชากับข้าวอยู่หลายปี หลายคน จนเราเลิกจากการเป็นเกษตรกรเพาะและเลี้ยงกุ้ง-ปลา

ตอนแม่ละม่อมแข็งแรงดี พอบ่ายสามโมง แม่ละม่อมก็เรียกลูก ๆ เข้าครัว คนเข้าครัวก็คือ พี่ชายและน้องชายของพลอยโพยม ส่วนตัวพลอยโพยมเองพอแม่เรียก ก็คว้าจอบคว้าเสียมออกไปปลูกต้นไม้ เพราะบ่ายสามสี่โมงเย็น ตะวันรอนอ่อนแสงไม่แผดจ้านั่นเองก็ไม่มีใครว่าอะไรเพราะพลอยโพยมออกไปปลูกต้นไม้ ลำบากกว่าอยู่ในครัวเสียอีก แล้วก็มีเวลาอยู่บ้านน้อยมากเพราะภารกิจการงาน มาตอนนี้ก็แสนเสียดายที่ไม่ได้ฝึกทำกับข้าว ( หมายถึง การอยู่หน้าเตา) กับแม่ละม่อมไว้



ผักบุ้งที่เหมาะสำหรับแกงเทโพ

แม่ละม่อมมีลูกชายสองคนเป็นลูกมือแทนลูกจ้าง ต่อมาก็วางมือเหลือเป็นเพียงผู้ชิมรส เวลาชิมตอนปรุงกับข้าว น้องชาย พี่ชาย มักถามแม่ละม่อมคนชิมว่า แม่..มันขาดอะไรไป อ่อนรสอะไร แม่ละม่อมวัยชราแต่อารมณ์ขันเหลือเฟือ มักตอบลูกชายว่า ขาดฝีมือ อ่อนฝีมือ เป็นประจำ แล้วแม่ละม่อมก็จะบอกว่า เติมน้ำปลาอีกครึ่งทัพพี หรือส้มมะขามอีกนิด หรือน้ำตาลสักก้อนนิ้วโป้ง ชิมจนพอใจบอกว่าเอาละใช้ได้

พลอยโพยม ทำกับข้าวไม่เป็นแต่มีฝีมือในการขูดมะพร้าวจากกระต่ายขูดมะพร้าวได้สะอาดขาวเปี๊ยบ ซอย ตะไคร้ ใบมะกรูด ผักฃีฝรั่ง หอมแดง ให้ละเอียดยิบไม่แพ้ฝีมือแม่ละม่อม มาตั้งแต่อยู่บ้านริมแม่น้ำ

ยังมีกับข้าวโบราณที่ทำให้นึกถึงแม่ละม่อมอีกคือ แกงบอน แกงบวน หน่อไม้ต้มเปรอะ กะปิคั่ว สะเดาน้ำปลาหวาน และน้ำพริกเผา คิดถึงแม่ละม่อมมากจริง ๆ มีหลานแม่ละม่อมที่เป็นลูกคุณน้า สืบทอดฝีมือแม่ละม่อมไว้ได้ สองสามคน นาน ๆ ทีต้องไปขออาศัยกินกับเขา เพราะเราไม่ได้หัดทำไว้นั่นเอง ยังดีว่าหน้าสะเดาออกดอกยังขอร้องน้องชายให้ทำให้กินได้เพราะไม่ยุ่งยากนัก

การตำน้ำพริกในครกอ่างศิลาที่มีสากเป็นหิน เด็กผู้หญิงจะถูกผู้ใหญ่สอนว่า บ้านอื่น ๆ เขาจะวัดความเป็นลูกผู้หญิงว่าเป็นแม่บ้านแม่เรือนเก่งงานในครัวหรือไม่จากเสียงโขลกน้ำพริก เสียงโขลกน้ำพริกที่ถี่รัวจะทำให้บ้านอื่นๆ ปรารถนาอยากได้ไปเป็นลูกสะใภ้ หลานสะใภ้ ดังนั้น เด็ก ๆ ผู้หญิงจะโขลกน้ำพริก เสียงยาน ๆ ยืด ๆ จังหวะห่าง ๆ ไม่ได้ เป็นเรื่องน่าอับอายของบ้าน แม้ว่าบ้านแต่ละหลังที่บางกรูดจะอยู่ห่างกันมาก แต่เมื่อบ้านอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ก็จะมีเรือสัญจรผ่านไปผ่านมาที่หน้าบ้านตลอดเวลา เสมอ

เมื่อมีหลาน ปรากฎว่าหลานสาวคนโตของแม่ละม่อม ก็ยังถูกสอนอย่างนี้อยู่ และเป็นเรื่องขำขันกันทุกวันนี้ ที่หลานสาวคนนี้ซึ่งเป็นลูกของน้องชายของพลอยโพยม ตำน้ำพริกเสียครกแตกเป็นสองส่วน สืบความได้ว่าครกหินใบนี้ ใช้งานมานานตั้งแต่พลอยโพยมยังเด็ก ทั้งสึกและกร่อนและเพื่อปลอบใจหลาน แม่ละม่อมบอกว่าครกมีรอยร้าวอยู่แล้ว ผลที่ตำน้ำพริกครกแตก ทุกวันนี้หลานคนนี้มีอายุ 30 ปีต้น ๆ ยังโสด และพากันเรียกหลานสาวคนนี้กันว่าหลานชายต่างหาก



ต้นบอน



แกงบอน



กะปิคั่ว

ที่มาของภาพ จากอินเทอร์เนท

วันพุธที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ปลาเทโพ

ปลาเทโพ



ชื่ออื่น"หูหมาด", "หูดำ" หรือ "ปึ่ง" ในภาษาเหนือ

ชื่ออังกฤษ BLACK EAR CATFISH

ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pangasius larnaudii

อยู่ในวงศ์ปลาสวาย (Pangasiidae)

ปลาเทโพเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง เป็นปลาไม่มีเกล็ดขนาดใหญ่คล้ายปลาสวาย



ลักษณะทั่วไป

รูปร่างคล้ายปลาสวายเพราะเป็นปลาในสกุลเดียวกัน มีหัวโต หน้าสั้นทู่กว่าปลาสวาย ลำตัวยาว ค่อนข้างแบน นัยน์ตาค่อนข้างโต อยู่เหนือมุมปาก ปากกว้าง มีฟันซี่เล็กแหลมคมอยู่บนขากรรไกรทั้งสองข้าง มีหนวดเล็กและสั้นอยู่ริมฝีปากบนมุมปากแห่งละคู่ กระโดงหลังสูงและมีก้านเดี่ยวอันแรกเป็นหนามแข็ง ครีบหูมีเงี่ยงแหลมแข็งข้างละอัน มีครีบไขมันอยู่ใกล้กับโคนครีบหาง ครีบหางมีขนาดใหญ่ปลายเป็นแฉกลึก ลำตัวบริเวณหลังมีสีดำคล้ำหรือสีน้ำเงินปนเทา หัวสีเขียวอ่อน ท้องสีขาวเงิน มีจุดสีดำขนาดใหญ่อยู่เหนือครีบหู



ถิ่นอาศัย

ในประเทศไทยพบว่าปลาเทโพอาศัยอยู่ในแม่น้้าสายต่าง ๆ เช่น แม่น้้าโขง แม่น้้ามูลหรือแม้แต่สาขา ของแม่น้้าเจ้าพระยาแม่น้้าปิงและยังสามารถพบได้ในอ่างเก็บน้้าขนาดใหญ่เช่นอ่างเก็บน้้าเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ เคยพบชุกชุมในแม่น้ำเจ้าพระยา

ปลาเทโพจัดเป็นปลาน้้าจืดที่มีรสชาติอร่อย ราคาแพงและเป็นที่ต้องการของตลาด ท้าให้ปลาเทโพที่จับได้จากธรรมชาติเหลือน้อยลง





นิสัย

รักสงบ ว่องไวปราดเปรียว ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง และมักอยู่รวมกับปลาสวาย

อาหาร

กิน สัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าและซากของสัตว์ปลาขนาดใหญ่กินพืช เช่น ผลไม้, เมล็ดพืช, ปลา, หอย, แมลง ตลอดจนถึงซากสัตว์

ขนาด

มีขนาดประมาณ 50 เซนติเมตร ใหญ่สุดได้ถึง 1.5 เมตร

ประโยชน์

เป็นปลาที่นิยมบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำมาปรุง "แกงเทโพ" มีการเพาะเลี้ยงในประเทศไทยมานานกว่า 50 ปี และนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม

มีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก เช่น "หูหมาด", "หูดำ" หรือ "ปึ่ง" ในภาษาเหนือ เป็นต้น



ปัจจุบันสามารถ การเพาะพันธุ์ปลาเทโพ ด้วยการผสมเทียมโดยวิธีฉีดฮอร์โมน ท้าให้มีลูกปลาออกสู่ตลาดจึงมีเกษตรกรนำมาเลี้ยงในบ่อดินและในกระชังเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีผลผลิตปลาเทโพออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง

ปลาเทโพเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย อดทนต่อสภาพแวดล้อมและมีปลาเทโพเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย อดทนต่อสภาพแวดล้อมและมีราคาสูง การเลี้ยงปลาเทโพในบ่อที่น้้าไหลหรือเลี้ยงในกระชังจะได้ปลาที่มีคุณภาพ เนื้อดี กลิ่นสาบลดลง เป็นที่นิยมของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น



ที่มาของข้อมูล

ภาพปลาและสัตว์น้ำของไทยโดยสมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์

วิกิพีเดีย

www.fisheries.go.th/if-ubon/web2/images/download/platapo.pdf

วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ปลาบู่ทราย..ปลาบู่ทอง..ของคนไทย





ปลาบู่ทรายจากวิกิพีเดีย

ชื่อสามัญไทย ปลาบู่ทราย

ชื่ออังกฤษ Sand Goby, Marbled Sleeper goby

ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oxyeleotris marmorata

วงศ์ปลาบู่ทราย Eleotridae

ชื่่ออื่น ๆ บู่จาก บู่ทอง บู่เอื้อย บู่สิงโต




ปลาบู่ เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง

ลักษณะทั่วไป

มีลักษณะลำตัวกลมยาว ส่วนหางค่อนข้างแบน ปากกว้างเฉียงขึ้นข้างบนเล็กน้อย นัยน์ตาเล็กโปนกลมตั้งอยู่ค่อนไปทางบริเวณหัว ถัดริมฝีปาก มีรูจมูกคู่หน้าเป็นหลอดยื่นขึ้นมาติดกับร่องเหนือริมฝีปาก ครีบหลังมีสองอัน ครีบหางกลมมน มีลวดลายดำและสลับขาว สีลำตัวสีน้ำตาลเหลืองมีรอยปื้นสีดำกระจายไปทั่วตัว สีตัวของปลาบู่ทรายแตกต่างกันไปตามถิ่นที่อยู่อาศัย ในบางตัวสีอาจกลายเป็นสีเหลืองทองได้ จึงทำให้ได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า "ปลาบู่ทอง" ปลาบู่ทรายจัดเป็นปลาขนาดกลางและเป็นปลาชนิดเดียวในครอบครัวนี้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด



ถิ่นอาศัย

ปลาบู่ทราย เป็นปลาที่พบได้ทั่วไปในน้ำจืดและน้ำกร่อยเล็กน้อยในหลายประเทศโดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหมู่เกาะมลายู ได้แก่ บอร์เนียว เกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย มาเลเซีย จีน ไทย สำหรับในประเทศไทย พบปลาบู่ขยายพันธุ์ทั่วไปตามแม่น้ำลำคลอง และสาขาทั่วทุกภาคตามหนองบึง และ อ่างเก็บน้ำต่าง ๆ

นิสัย และพฤติกรรม

ปลาบู่ชอบอยู่นิ่ง ๆ ตามดินอ่อน พื้นทรายและ หลบซ่อนตามก้อนหิน ตอไม้ เสาไม้ รากหญ้าหนา ๆ เพื่อรอให้เหยื่อผ่านมาแล้วเข้าโจมตีทันทีด้วยความรวดเร็ว ปลาบู่เคลื่อนไหวช้าในระดับกลางน้ำ แต่จะปราดเปรียวเมื่ออยู่บนพื้นดินก้นแหล่งน้ำและสามารถหยุดการเคลื่อนไหวได้อย่างกระทันหัน ตามปกติแล้วในเวลากลางวันปลาบู่จะทรงตัวนิ่งไม่เคลื่อนไหว ทำให้บางคนเข้าใจว่าปลาหลับ

(เพิ่มเติม )เมื่อถึงเวลาผสมพันธุ์

ปลาบู่ตัวผู้จะหาสถานที่ในการวางไข่ได้แก่ ตอไม้ เสาไม้ ทางมะพร้าว ฯลฯ แล้วทำความสะอาดวัสดุดังกล่าว หลังจากนั้นตัวผู้จะเข้าเกี้ยวพาราสีพร้อมไล่ต้อนตัวเมียให้ไปที่เตรียมไว้เพื่อการวางไข่ โดยธรรมชาติแล้วปลาบู่มีการจับคู่ผสมกันเป็นคู่ไม่เหมือนกับปลาตะเพียนที่ไล่ผสมพันธุ์กันเป็นหมู่ ปลาบู่ส่วนใหญ่เริ่มมีการ ผสมพันธุ์ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง แล้วแต่ความพร้อมของคู่ผสมตั้งแต่ตอนค่ำจนถึงเช้ามืด ธรรมชาติของปลาบู่นั้นผสมพันธุ์แบบภายนอกตัวปลา คือ ตัวเมียปล่อยไข่ออกมาติดกับวัสดุแล้วตัวผู้ปล่อยน้ำเชื้อออกมาผสมโดยที่ไข่ปลาบู่จะติดกับตอไม้ เสาไม้ หรือวัสดุอื่น ๆ ที่ปลาบู่สามารถวางไข่ติด และตัวผู้จะเฝ้าดูแลไข่โดยใช้ครีบหูหรือครีบหางพัดโบกไปมา ไข่ที่ได้รับการผสมจะเป็นตัวภายในเวลา 28 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 25-27 องศาเซลเซียส

. อาหาร

ปลาบู่ทรายเป็นปลากินเนื้อได้แก่สัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าทั้งลูกกุ้ง ลูกปลาและหอย เป็นปลาที่กินจุ สามารถกินอาหารหนักเท่ากับน้ำหนักของตัวปลาเอง ต่อวันและทุก ๆ วัน

ขนาด

มีขนาดลำตัวประมาณ 30 เซนติเมตร ใหญ่ที่สุด 60 เซนติเมตร จัดเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสกุล Oxyeleotris



  ประโยชน์

เป็นปลาเนื่้อนุ่ม รสดี มีก้างน้อย โดยทั่วไปนำมาทำอาหารจำพวกนึ่ง ต้มยำ ต้มเค็ม

ปัจจุบันนิยมเพาะเลี้ยงกันอย่างกว้างขวาง จัดเป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่ง มีราคาขายที่แพง ส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ สามารถทำรายได้เข้าประเทศแต่ละปีมีมูลค่าหลายสิบล้านบาท ได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ฯลฯ

นอกจากนี้แล้วในตัวที่มีสีกลายไปจากสีปกติ เช่น สีทองหรือสีเงิน พบมีการเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอีกด้วย

ปลาบู่ทราย จัดเป็นปลาที่ผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยมากชนิดหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากนิทานพื้นบ้านเรื่อง ปลาบู่ทอง เป็นต้น

คนไทยไม่นิยมกินเพราะรังเกียจผิวหนัง ที่มีลักษณะคล้ายหนังงูและยังมีความเชื่อถือเกี่ยวกับนิทานปรัมปราว่าเป็นปลาที่หลายร่างมาจากคน

ส่วนคนจีนนิยมกินเพราะเชื่อว่าให้พลังทางเพศ





นิทานพื้นบ้าน (folktales)

ในวิชาคติชนวิทยา (folklore) หมายถึง เรื่องเล่าที่เล่าต่อๆ กันมา จากคนรุ่นหนึ่งมาสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง โดยไม่ทราบว่า ใครเป็นผู้แต่ง เช่น เราไม่สามารถบอกได้ว่า ใครแต่งนิทานเรื่องสังข์ทอง ปลาบู่ทอง โสนน้อยเรือนงาม ไกรทอง นางสิบสอง เพราะนิทานเหล่านี้ ถ่ายทอดโดยการเล่าจากความทรงจำต่อๆ กันมา เช่น ปู่ย่าตายายเล่าให้พ่อแม่ฟัง พ่อแม่เล่าให้ลูกหลานฟัง หรือมีการแพร่กระจายจากท้องถิ่นหนึ่งไปสู่อีกท้องถิ่นหนึ่ง นิทานเรื่องเดียวกัน เช่น นิทานเรื่องสังข์ทอง จึงอาจมีหลายสำนวนได้ ขึ้นอยู่กับผู้เล่าแต่ละคน ผู้เล่าที่ต่างวัยกัน ผู้เล่าที่เป็นผู้หญิง ผู้เล่าที่เป็นผู้ชาย ผู้เล่าในแต่ละท้องถิ่น อาจเล่านิทานเรื่องเดียวกันต่างกันออกไป ทำให้เกิดนิทานสังข์ทองสำนวนต่างๆ ขึ้น ดังนั้น เมื่อเราศึกษานิทานพื้นบ้าน เราจึงไม่ควรตั้งคำถามว่า นิทานสำนวนใดถูกต้อง หรือสำนวนใดเป็นสำนวนต้นแบบ หากแต่เราควรยอมรับความหลากหลายของนิทานสำนวนต่างๆ ที่เล่ากันในท้องถิ่นต่างๆ หรือในบริบทต่างๆ และควรทำใจให้สนุกสนานไปกับรายละเอียด ที่อาจต่างกันไปในแต่ละสำนวน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
(http://kanchanapisek.or.th/kp6/New/sub/book/book.php?book=26&chap=1&page=t26-1-infodetail01.html)




นิทานพื้นบ้านเรื่องปลาบู่ทอง

มีชายคนหนึ่งคนหนึ่งมีอาชีพหาปลามีภรรยา 2 คน คนแรกชื่อขนิษฐา มีลูกสาวชื่อ เอื้อย ส่วนคนที่สองชื่อ ขนิษฐี มีลูกสาวชื่อ อ้าย และ อี่

วันหนึ่งได้ออกไปหาปลาโดยมีนางขนิษฐา นั่งพายท้ายเรือให้ และไม่ว่าจะเหวี่ยงแหไปกี่ครั้งก็ได้เพียงปลาบู่ทองตัวเดียวเท่านั้น จนกระทั่งเย็นก็ตัดสินใจที่จะเอาปลาบู่ทองที่จับได้เพียงตัวเดียวกลับบ้าน แต่ขนิษฐาผู้เป็นภรรยาเกิดความสงสารปลาบู่ ขอให้ปล่อยปลาไป จึงบันดาลโทสะฟาดนางขนิษฐาจนตายและทิ้งศพลงน้ำไป เมื่อกลับถึงบ้านเอื้อยก็ถามหาแม่ ผู้เป็นพ่อจึงตอบไปว่าแม่ของเอื้อยได้หนีตามผู้ชายไป และจะไม่กลับมาบ้านอีกแล้ว

นับตั้งแต่วันนั้นขนิษฐีผู้เป็นแม่เลี้ยงของเอื้อย และอี่กับอ้ายน้องสาวทั้งสองก็กลั่นแกล้งใช้งานเอื้อยเป็นประจำโดยที่พ่อไม่รับรู้และไม่สนใจ

เอื้อยคิดถึงแม่มากจึงมักไปนั่งร้องไห้อยู่ริมท่าน้ำ และได้พบกับปลาบู่ทองซึ่งเป็นนางขนิษฐากลับชาติมาเกิด เมื่อเอื้อยรู้ว่าปลาบู่ทองเป็นแม่ก็ได้นำข้าวสวยมาโปรยให้ปลาบู่ทองกิน และมาปรับทุกข์ให้ปลาบู่ทองฟังทุกวัน

นางขนิษฐีและลูกสาวเห็นเอื้อยมีความสุขขึ้น เมื่อถูกกลั่นแกล้งก็อดทนไม่ปริปากบ่นจึงสืบจนพบว่านางขนิษฐาได้มาเกิดเป็นปลาบู่ทอง และได้พบกับเอื้อยทุกวัน ดังนั้นเมื่อเอื้อยกำลังทำงานนางขนิษฐีก็จับปลาบู่ทองมาทำอาหารและขอดเกล็ดทิ้งไว้ในครัว

เอื้อยได้พบเกล็ดปลาบู่ทองก็เศร้าใจเป็นอย่างมาก นำเกล็ดไปฝังดินและอธิษฐานขอให้แม่มาเกิดเป็นต้นมะเขือ เอื้อยมารดน้ำให้ต้นมะเขือทุกวันจนงอกงาม เมื่อขนิษฐีทราบเรื่องเข้าก็โค่นต้นมะเขือ และนำลูกมะเขือไปจิ้มน้ำพริกกิน



เอื้อยเก็บเมล็ดมะเขือที่เหลือไปฝังดินและอธิษฐานให้แม่ไปเกิดเป็นต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทองในป่า และไม่ให้ผู้ใดสามารถโค่น ทำลาย หรือเคลื่อนย้ายต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทองได้

วันหนึ่งพระเจ้าพรหมทัตเสด็จประพาสป่าได้พบกับต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทอง โปรดให้นำเข้าไปปลูกในวัง แต่ไม่มีผู้ใดสามารถเคลื่อนย้ายต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทองได้ พระเจ้าพรหมทัตจึงประกาศว่าผู้ใดที่เคลื่อนย้ายต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทองได้จะให้รางวัลอย่างงาม

ขนิษฐีและอ้ายกับอี่เข้าร่วมลองถอนต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทองด้วยแต่ไม่สำเร็จ เอื้อยขอลองบ้างและอธิษฐานจิตบอกแม่ว่าขอย้ายแม่เข้าไปปลูกในวัง เอื้อยจึงถอนต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทองได้สำเร็จ



พระเจ้าพรหมทัตถูกชะตาเอื้อยจึงชวนเข้าไปอยู่ในวังและแต่งตั้งให้เอื้อยเป็นพระมเหสี ฝ่ายขนิษฐีและลูกสาวอิจฉาเอื้อยจึงส่งจดหมายไปบอกเอื้อยว่าพ่อป่วยหนักขอให้เอื้อยกลับมาเยี่ยมที่บ้าน

เมื่อเอื้อยกลับมาบ้าน นางขนิษฐีก็ได้แกล้งนำกระทะน้ำเดือดไปวางไว้ใต้ไม้กระดานเรือน และทำกระดานกลไว้ เมื่อเอื้อยเหยียบกระดานกลก็ตกลงในหม้อน้ำเดือดจนถึงแก่ความตาย ขนิษฐีให้อ้ายปลอมตัวเป็นเอื้อยและเดินทางกลับไปยังวังของพระเจ้าพรหมทัต

เอื้อยได้ไปเกิดใหม่เป็นนกแขกเต้า เมื่อเกิดใหม่แล้วก็บินกลับเข้าไปในพระราชวัง พระเจ้าพรหมทัตเห็นนกแขกเต้าแสนรู้ ไม่รู้ว่าเป็นเอื้อยกลับชาติมาเกิดก็เลี้ยงไว้ใกล้ตัว อ้ายเห็นดังนั้นก็ไม่พอใจ สั่งคนครัวให้นำนกแขกเต้าไปถอนขนและต้มกิน

แม่ครัวถอนขนนกแขกเต้าและวางทิ้งไว้บนโต๊ะ นกแขกเต้าจึงกระเสือกกระสนหลบหนีเข้าไปอยู่ในรูหนู มีหนูช่วยดูและจนขนขึ้นเป็นปกติ แล้วเอื้อยก็บินเข้าป่าไปจนเจอกับพระฤๅษี

พระฤๅษีตรวจดูด้วยญานพบว่านกแขกเต้าคือเอื้อยกลับชาติมาเกิดจึงเสกให้เป็นคนตามเดิม และเสกเด็กให้มีชีวิตเพื่อให้เป็นลูกของเอื้อย เมื่อเด็กนั้นโตขึ้นก็ขอเอื้อยเดินทางไปหาบิดา เอื้อยจึงเล่าเรื่องทั้งหมดให้บุตรชายฟังและร้อยพวงมาลัยเพื่อให้บุตรชายนำไปให้พระเจ้าพรหมทัต

เมื่อพระเจ้าพรหมทัตได้พบกับบุตรชายของเอื้อยและพวงมาลัย ก็ขอให้เด็กชายเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟังว่าได้มาลัยมาอย่างไร เด็กชายก็เล่าตามที่เอื้อยเล่าให้ฟัง เมื่อทราบเรื่องทังหมดแล้วพระเจ้าพรหมทัตก็สั่งประหารชีวิตอ้าย อี่ และขนิษฐี และไปรับเอื้อยเพื่อให้กลับมาครองบัลลังก์ร่วมกันอีกครั้ง

นิทานเรื่องปลาบู่ทองได้ถูกนำมาสร้างทั้งภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายครั้งดังนี้


ภาพยนตร์ ปลาบู่ทอง (2508)ภาพยนตร์ 16 มม.นำแสดงโดย ไชยา สุริยัน, ภาวนา ชนะจิต อ้าย - ปรียา รุ่งเรือง

ละครโทรทัศน์ ปลาบู่ทอง (2510)นำแสดงโดย พัลลภ พรพิษณุ กับ เยาวเรศ นิศากร (รับบท เอี้อย-อ้าย)

ภาพยนตร์ ปลาบู่ทอง (2522)ภาพยนตร์ 35 มม. นำแสดงโดย ปฐมพงษ์ สิงหะ ,ลลนา สุลาวัลย์

ภาพยนตร์ ปลาบู่ทอง (2527)ภาพยนตร์ 35 มม. นำแสดงโดย สุริยา ชินพันธุ์, เพ็ญยุพา มณีเนตร

ภาพยนตร์ ปลาบู่ทอง (2537)ภาพยนตร์ 35 มม. นำแสดงโดย สรพงษ์ ชาตรี, ขวัญภิรมย์ หลิน

ละครโทรทัศน์ ปลาบู่ทอง (2537)นำแสดงโดย ปริญญา ปุ่นสกุล ,อัจฉรา ทองเทพ

ละครโทรทัศน์ ปลาบู่ทอง (2552)นำแสดงโดย วสุ ประทุมรัตน์วัฒนา, พีชญา วัฒนามนตรี

ที่มาของข้อมูล

ภาพปลาและสัตว์น้ำของไทย โดย สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์

http://ppnf.igetweb.com/index.php?mo=3&art=501347

วิกิพีเดีย

ที่มาภาพนิทาน จากอินเทอร์เนท

ปลาบู่ เป็นปลาที่ไม่เคยเป็นเมนูของแม่ละม่อม และเป็นปลาที่พลอยโพยมรังเกียจว่าเหมือนงูเสียมากกว่าปลา เนื้อนุ่มรสดีปานใดก็ไม่เคยลิ้มลองสักที แต่ตอนเด็ก ๆ ก็ไม่ทราบหรอกว่า ปลาบู่ทองก็คือปลาบู่ธรรรมดาที่พบเห็นอยู่ นิทานเรื่องปลาบู่ทองอ่านแล้วก็น้ำตาไหลสงสารแม่ขนิษฐาและเอื้อยมาก ส่วนละครจักร ๆ วงศ์ ก็แสนตราตรึงใจกับเยาวเรศ นิศากร กับบทนางเอกเอื้อย ที่ไม่มีใครมาลบเลือนความตรึงตรานี้ได้



ปลาบู่สิงโต