วันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สุขสันต์วันปีใหม่...2556



ภาพ ส.ค.ส.ของศิลปิน ฟารุต สมัครไทย



ศุภวาระ ดิถี ขึ้นปีใหม่ 2556
ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย
โปรดคุ่้มครองและอำนวยพรให้ทุกท่าน
ประสบแต่ความสุขสวัสดิ์พิพัฒน์มงคล สมบูรณ์พูนผลตลอดไป













วันอังคารที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ตำนานคริสต์มาส


ตำนานคริสต์มาส




ที่มาของคำว่า “คริสต์มาส”


คริสต์มาส.
มาจากคำในภาษาอังกฤษโบราณว่า “Christes Maesse” แปลว่า “บูชามิสซาของพระคริสต์เจ้า” เพราะจุดประสงค์หลักของเทศกาลนี้ ก็เพื่อฉลองการเสด็จลงมาเกิดเป็นพระบุตร (พระเยซูเจ้า) นั้นเอง คำว่า "Christes Maesse" พบครั้งแรกในเอกสารโบราณเป็นภาษาอังกฤษในปี 1038 และคำนี้ก็ได้แปรเปลี่ยนมาเป็นคำว่า Christmas "คริสต์มาส" ก็มีความหมายเช่นกัน คำว่า "มาส" แปลว่า"เดือน"



เทศกาลคริสต์มาส จึงเป็นเดือนที่เราระลึกถึงพระเยซูคริสต์เจ้าเป็นพิเศษ คำว่า"มาส" คือ"ดวงจันทร์" ตีความหมายในภาษาไทยคือพระเยซูทรงเป็นความสว่างของโลก เหมือนดวงจันทร์เป็นความสว่างในตอนกลางคืน

ทำไมต้องเป็น 25 ธันวาคม

ถึงแม้ว่าชาวคริสต์ทั่วโลกจะฉลองวันประสูติพระเยซุในวันที่ 25 ธันวาคม แต่ในความเป็นจริงแล้ว ก็ไม่ปรากฏหลักฐานที่ยืนยันว่า พระเยซูถือกำเนิดในวันที่ 25 ธันวาคมจริง หลักฐานที่เชื่อถือได้มาที่สุด น่าจะเป็นข้อความในพระคัมภีน์ที่ระบุว่า ใน ปี ค.ศ. 274 วันที่ 25 ธันวาคมเป็นวันฉลองวันเกิดขององค์สุริยะเทพ แห่งอาณาจักรโรมันและเนื่องจากสมัยนั้น ชาวยิวทั้งหมดถูกจับเป็นทาสอยู่ใต้อำนาจของจักรพรรดิต้องการลบล้างศาสนาอื่นให้หมดไป จึงมีพระบัญชาให้ทาสชาวยิว ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์ทั้งหมด ร่วมฉลองในวันนี้ด้วย แต่เนื่องจากคริสต์ศาสนามีหลักให้นับถือพระเจ้าเพียงองค์เดียว ทาสทั้งหมดจึงรู้วึกขมขื่นเหลือแสน ที่ต้องเฉลิมฉลองพระเจ้าของผู้อื่น แต่ด้วยภาวะจำยอมก็ต้องร่วมฉลองไปด้วย เพราะกลัวการลงโทษของพวกโรมัน ในที่สุดพวกทาสจึงแอบลงมติกันลับ ๆ เลือกวันที่ 25 ธันวาคมเป็นวันคล้ายวันประสูติของพระเยซูของตน แล้วจัดงานฉลองด้วยวิธีนี้ทาสชาวยิวก็ไม่ต้องรับโทษจากจักรพรรคในข้อหาฝ่าฝืนพระบัญชา ในขณะเดียวกัน ก็ไม่เป็นการผิดกฏในหลักศาสนาด้วย วันที่ 25 ธันวาคม จึงได้แจ้งเกิดกลายเป็นวัน “คริสต์มาส” มานับตั้งแต่นั้นเอง



คำอวยพร “ในวันคริสต์มาส”

คำอวยพรอมตะหนึ่งเดียวที่อยู่ยืนยง คู่กับเทศกาลวันคริสต์มาสคือคำว่า “Merry Christmas” เพราะคำว่า “Merry” ในภาษาอังกฤษโบราณมีความหมายว่า “สันติสุขและความสงบทางใจ” เป็นความหมายที่ลึกล้ำที่เหมาะกับการอวยพรในเทศกาลทางศาสนาอย่างคริสมาสมาก



ต้นคริสต์มาส
ชาวคริสต์ถือกันว่า ต้นคริสต์มาสคล้ายเป็นสัญลักษณ์ขององค์พระเยซูเจ้า ผู้เปรียบเสมือนต้นไม้แห่งชีวิตซึ่งเขียวสดอยู่เสมอในทุกฤดูกาล หมายถึง นิรันดรภาพ และความสว่างของพระองค์

ซานตาครอส
ซานตาครอส เป็นจุดเด่นหรือสัญลักษณ์ที่เด็กและผู้คนนิยมกันมากที่สุดในเทศกาลคริสต์มาส แต่ที่จริง ซานตาครอสแทบจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเทศกาลนี้เลย ชื่อ “ซานตาครอส” มาจากนักบุญ นิโคลาส เป็นนักบุญ ชาวฮอลแลนด์นับถือเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของเด็ก ๆ และมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 4 เมื่อชาวฮอลแลนด์กลุ่มหนึ่งอพยพไปอยู่ในสหรัฐฯ ก็ยังรักษาประเพณีนี้ไว้ คือฉลองนักบุญนิโคลาส ซึ่งนักบุญนี้จะมาเยี่ยมเด็ก ๆ และเอาของขวัญมาให้เด็กอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ลูกหลานของชาวฮอลแลนด์ที่อพยพมา จนประเพณีนี้เป็นที่รู้จักและแพร่หลายไปในอเมริกา



และมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง คือ ชื่อนักบุญนิโคลาสก็เปลี่ยนเป็นซานตาคลอส ที่มีลักษณะเป็นชายแก่ที่อ้วนใส่ชุดสีแดงอาศัยอยู่ที่ขั้วโลกเหนือ และมียานพาหนะเป็นกวางเรนเดียร์ลาก และจะมาเยี่ยมเด็กทุกคนในโลกนี้ในโอกาสคริสต์มาสโดยลงมาทางปล่องไฟของบ้าน เพื่อเอาของขวัญมาให้เด็กเหล่านั้นตามความประพฤติ



การร้องเพลงคริสต์มาส
เพลงคริสต์มาสที่เรานิยมร้องมากที่สุดในปัจจุบันได้แต่งขึ้นในศตวรรษที่ 19 จากประเทศอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ เพลงที่มีเสียงมากได้แก่ Silent Night, Holy Night เป็นภาษาไทยว่า "ราตรีสวัสดิ์ ราตรีสกัด"

ความเป็นมาของเพลงนี้คือ วันก่อนวันคริสต์มาสของปี ค.ศ. 1818 คุณพ่อ Joseph Mohr เจ้าอาวาสวัดที่ Oberndorf ประเทศออสเตรเลีย ได้ข่าวว่าออร์แกนในวัดเสีย ทำให้วงขับร้องไม่สามารถร้องเพลงตามที่ซ้อมไว้ได้ คุณพ่อเองตั้งใจจะแต่งเพลงคริสต์มาส หลังจากแต่งเสร็จก็เอาไปให้เพื่อน คนหนึ่งชื่อ Franz Gruber ที่อยู่หมู่บ้านใกล้ เคียงใส่ทำนอง และในคืนวันที่ 24 ธ.ค.นั้นเองสัตบุรุษและวัดใกล้ ๆ ก็ได้ฟังเพลง Silent Night เป็นครั้ง แรก โดยการเล่นกีตาร์ประกอบการขับร้อง ซึ่งกลายเป็นเพลงที่นิยมมากที่สุดทั่วโลก



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://twssg.blogspot.com/2009/12/legend-of-christmas.html
บทแปลโดยร้อยตะวัน
ขอขอบคุณภาพจาก อินเทอร์เนท

วันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2555

หมอยาแผนโบราณ..วัดบางกรูด



พลอยโพยมเติบโตมากับการใช้ยาพื้นบ้านไทย ๆ ที่บางกรูดมีทั้งหมอที่เป็นพระภิกษุสงฆ์ คือหลวงตาเหลี่ยม เจ้าอาวาสวัดบางกรูด หมอพระนิ่มรองเจ้าอาวาส ซึ่งต่อมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบต่อจากหลวงตาเหลี่ยม เป็นพระครูประสาทสรคุณ ทั้งสองหมอพระภิกษุ ก็จะมีชื่อเสียงรักษาโรคชะงัดนักในบางโรค ซึ่งท่านก็ต้องร่ำเรียนมา หลวงตาเหลี่ยมร่ำเรียนมาจากพระองค์ไหน พลอยโพยมไม่มีข้อมูล ท่านเป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่ พ.ศ. 2494-2521 ก่อนพลอยโพยมเกิด และเมื่อเริ่มไปวัดในวัยเด็ก ก็รู้สึกว่าหลวงตาเหลี่ยมชราแล้ว ใคร ๆ ก็เรียกหลวงตาไม่มีใครเรียกท่านว่าหลวงพ่อเลย

ส่วนพระหมอนิ่ม หรือพระครูประสาทสรคุณ ท่านเขียนเล่าไว้เองว่า ท่านร่ำเรียนวิชา แพทย์แผนไทยจากหลวงพ่อเขียน ซึ่งเป็นพระภิกษุที่วัดบางกรูดเช่นกัน หลวงพ่อเขียนเป็นหมอใจดี เป็นหมอที่จนมาก



คุณน้าของพลอยโพยม ( ท่านเป็นนายแพทย์สมัยใหม่ เป็นศัลยแพทย์ ปัจจุบันมีอายุ 80 กว่า ปีแล้ว ) ท่านเคยเล่าว่า หลวงพ่อเขียนเป็นหมอแผนโบราณที่เก่งมาก สมัยคุณน้ายังเด็กเวลาไม่สบายคุณตาบุญจะพาคุณน้าพายเรือข้ามฟากไปหาหลวงพ่อเขียน และก็รักษาหายทุกครั้ง โดยเฉพาะโรคตับทรุด (ชื่อที่เรียกกันสมัยนั้น) โรคตับทรุดในปัจจุบัน ก็คือโรคตับอักเสบ ซึ่งในขั้นอ่อน ๆ ก็คือดีซ่านที่เป็นแล้วตัวเหลืองนั่นเอง หลวงพ่อเขียนมียาแก้โรคนี้ชะงัดนัก ยายขาไปรับยาหม้อมาต้มให้คุณน้ากิน คุณน้าจำได่ว่ามีดอกบานไม่รู้โรยสีขาวเป็นตัวยาอยู่ด้วย มาจนวันนี้คุณน้าก็พบในเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับยาสมุนไพร ว่าดอกบานไม่รู้โรยสีขาวมีสรรพคุณในการบำรุงตับ
หลวงพ่อเขียนมรณภาพเมื่อ พ.ศ. 2495 มีอายุ 87 ปี



ขอขอบคุณภาพจาก
http://www.thailinet.com/199

  ส่วนพระครูประสาทสรคุณเขียนเล่าไว้ว่า ท่านกำพร้าแม่ตั้งแต่อายุ 7 เดือน พ่อได้ยกให้เป็นลูกบุญธรรมของญาติ ต่อมาพ่อแม่บุญธรรมก็สิ้นไปอีกทั้งสองคน พี่ชายที่เป็นลูกของพ่อแม่บุญธรรมอุปสมบทที่วัดบางกรูด จึงได้ตามมาเป็นลูกศิษย์ และเรียนหนังสือที่วัดบางกรูด หลวงพ่อเขียนที่วัดบางกรูดถูกชะตา รับเป็นศิษย์และบุตรบุุญธรรม



หลวงพ่อเขียนเองก็ไม่มีเงินจะส่งเสียลูกศิษย์คนนี้ไปเรียนในเมืองได้ เพราะท่านก็จนมาก อยู่กับหลวงพ่อเขียนมาหลายปี หลวงพ่อเขียนมีเงินทั้งเนื้อทั้งตัว เพียง 6 บาทเท่านั้น พระครูประสาทสรคุณ เองก็ไม่มีใคร (หมายถึงญาติทั้งพ่อแม่จริง ญาติพ่อแม่บุญธรรม ที่เป็นฆราวาส ) จะส่งเสียให้ไปเรียนหนังสือในเมืองได้ เห็นหลวงพ่อเขียนมีวิชาความรู้ทางหมอแผนโบราณ จึงถามหลวงพ่อเขียนว่า หลวงพ่อครับการเรียนเป็นหมอลำบากไหมครับ เรียนดีหรือไม่ดี หลวงพ่อเขียนตอบว่า การเรียนเป็นหมอก็ดีเหมือนกัน มันมีวิชาอยู่กับตัว มันเหมือนน้ำซึมบ่อทราย แต่มันก็ไม่รวยอะไรนัก แต่ถ้าจะเรียนเป็นหมอต้องเรียนเป็นหมาเสียก่อน พระครูประสาทสรคุณ วัย 14 ปี ในขณะนั้น รู้สึกว่า คำพูดนี้น่าคิด เลยลาออกจากโรงเรียนไม่จบชั้น ป 4 คิดจะออกมาเรียนเป็นหมอ หลวงพ่อเขียนให้เรียนหนังสือขอมก่อน 1 ปี พอจะรู้ภาษาขอมบ้าง ก็เริ่มท่องบ่นท่องคัมภีร์ทางเวชศาสตร์ เมื่ออายุ 17 ปี ก็ไปขึ้นทะเบียนทหาร และไปสอบนักธรรมได้นักธรรมตรี และเรียนท่องคัมภีร์ทำยา ปรุงยากับหลวงพ่อเขียนเพื่อเรียนรู้การปรุงยา เก็บสตางค์ได้ทีละเล็กทีละน้อย ทีละ 5-10 สตางค์ บางที่ก็ 25 สตางค์ จากการผสมยาเมื่อมีคนไข้มาหาหลวงพ่อเขียนรักษาโรคต่าง ๆ และได้ปฏิบัติตรวจดูคนไข้ฝึกความชำนาญในทางเวชศาสตร์ ได้เก็บเงินเพื่อทำงานอุปสมบท ได้ราว 700 บาท แล้วไปสมัครสอบเป็นหมอแผนโบราณประกอบโรคศิลป์ ในสาขาเวชกรรม พอดีกับอายุ 20 ปี จึงอุปสมบทที่วัดบางกรูด ( ประศาสโสภณ) เมื่อ ปี พ.ศ. 2488 ก็มีใบแจ้งมาว่า สอบประกอบโรคศิลป์ในสาขาเวชกรรมได้ ต่อมาจึงประกอบโรคศิลป์ออกรักษาผู้ป่วยเรื่อยมา ดูแลปรนนิบัติหลวงพ่อเขียนเป็นประจำเพราะหลวงพ่อเขียนก็ชรามาก และออกรักษาคนไข้ไปด้วย ได้บูชาครูทุกปี บูชาครูครั้งหนึ่ง ๆ ก็ได้เงินราว 1 พันบาทเศษ ( พ.ศ.2490-2494)





พลอยโพยมก็ยังทันกับการที่ต้องไปรับยาจากพระเอามาต้มกินรักษาอาการป่วยไข้ต่าง ๆ ของคนในบ้าน

ส่วนใหญ่ เป็นยาหม้อ การกินยาก็ค่อนข้างลำบาก ต้องรับตัวยามาต้มในหม้อดินกันเองที่บ้าน

ส่วนหมอกลางบ้าน ชื่อหมอบุญ ก็ร่ำเรียนมาเช่นกัน หมอบุญจะทันสมัยกว่าพระภิกษุปรุงยาหม้อบางชนิดเป็นยาเม็ด ยาลูกกลอน ยาที่มีชื่อเสียงมากก็คือ ยาหอมแท่งทอง ยาหอมแท่งทองเป็นยาประจำบ้านและประจำตัวของยายขาคือเป็นยาแก้ เป็นลม หน้ามืดวิงเวียนศรีษะ ใจสั่น บำรุงหัวใจ เด็ก ๆ ทั้งหลายจึงไม่ต้องใช้ยาหอมแท่งทอง แต่ต้องช่วยยายขา ฝนแก่นไม้อีแทนกับฝาละมีเหยาะน้ำฝนเพื่อให้มีน้ำออกจากแก่นไม้เป็นน้ำกระสายยาในการกินยาหอมแท่งทอง โดยเอายาหอม เม็ด (แท่ง) ติดทองคำเปลวมาขยี้กับน้ำกระสายยาแก่นไม้อีแทน
เพิ่มเติม
ที่เรียกว่ายาหอมแท่งทองก็เพราะว่าหมอบุญ จะปรุงยาหอมนี้มีลักษณะ ยาว ๆ กลม ๆ คล้ายดินสอ แล้วตัดหั่นเป็นท่อนสั้น ๆ คล้ายเม็ดยาแต่รูปทรงเป็นแท่ง ๆ ไม่กลมแบนนั่นเอง แล้วจึงติดทองคำเปลวบนแท่งเม็ดยาอีกที มิใช่การใส่พิมพ์ยาเป็นเม็ด ๆ
หมอบุญยังมีสูตรยาชะงัดอีกสูตรคือและยาแก้ไข้ทับฤดู กินครั้งละ 5 เม็ด ขนาดของเม็ดยา ขนาด ยาเม็ดสีชมพู ( เราชาวบ้านเรียก ยาแก้ไข้แก้ปวด พาราเซททามอล ว่ายาเม็ดสีชมพู (ตามสีของเม็ดยานั่นเอง) แต่เม็ดยาของหมอบุญมีความหนาของขนาดเม็ดยามากกว่า เนื้อยาหยาบ ๆ สีน้ำตาลและบนเม็ดยาจะมีทองคำเปลวติดเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ไว้ หนึ่งด้าน ยาเม็ดนี้ต้องกินกับกระสายยาคือน้ำแช่ดอกมะลิแห้ง โดยบี้ยาเม็ดให้แหลกละลายกับน้ำกระสายยาดอกมะลิตากแห้ง กิน วันละ 3 ครั้ง กินสัก 3-4 วัน อย่างมากก็ 5 -7วัน ( ในกรณีที่เป็นมาก ไม่รีบกินยาตั้งแต่เริ่มเป็นใหม่ ๆ ) ยามีกลิ่นเพียงเล็กน้อยคล้าย ๆ ดอกไม้หรือท่อนไม้ตากแห้งหลาย ๆ อย่างรวมกัน



กระสายยา คือ น้ำหรือของเหลวที่ใช้สำหรับละลายยา หรือรับประทานพร้อมกับยา

พจนานุกรมศัพท์แพทย์และเภสัชกรรมแผนไทยฉบับราชบัณฑิตยสถานยังให้บทนิยามของคำว่า กระสาย หรือ กระสายยา ว่า เครื่องแทรกยา เช่น น้ำ, เหล้า, น้ำผึ้ง, น้ำดอกไม้ ซึ่งในทางเภสัชกรรมแผนไทยใช้แทรกยาเพื่อช่วยให้กินยาง่ายขึ้น และ หรือเสริมฤทธิ์ของยาให้มีสรรพคุณดีขึ้น

ประโยชน์ของกระสายยา
เพื่อช่วยเตรียมยาให้เป็นรูปแบบยาที่ต้องการ โดยเฉพาะยาลูกกลอนและยาแท่ง เพื่อช่วยให้กลืนได้สะดวก เพื่อช่วยให้ยานั้นแสดงฤทธิ์หรือออกฤทธิ์ได้เร็วและดีขึ้น ทั้งยังช่วยแก้ไข้ ป้องกันไข้ ป้องกันอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากการใช้ยาได้ นอกจากนี้ยังเสริมฤทธิ์กับตัวยาหลักอีกด้วย



พลอยโพยมมีพี่สาวลูกคุณป้า ที่ป่วยเป็นไข้ทับฤดู โดยพี่เขาไม่บอกผู้ใหญ่ตั้งแต่เริ่มต้น จนมีไข้ขึ้นสูงต้องนำส่งโรงพยาบาล ไปอยู่โรงพยาบาลในจังหวัดหลายวัน แต่อาการไม่ดีขึ้น การรักษาคือให้น้ำเกลือ และกินยาลดไข้ พี่สาวมีอาการร้อนในจนมีเลือดเกาะตามซี่ฟัน เป็นคราบเลือด เมื่อรู่้ว่าที่ป่วยไข้ขึ้นสูงเพราะโรคไข้ทับฤดูนี้จึงพากลับมารักษาต่อที่บ้าน กินยาหม้อของพระก่อน แล้วก็มากินยาเม็ดของหมอบุญ จนหายดี

และพลอยโพยมเองก็เคยเป็นไข้ทับระดู (มีประจำเดือนมา แล้วเกิดไม่สบาย เป็นไข้ในภายหลังในขณะยังมีประจำเดือน) และระดู ทับไข้(คือเป็นไข้ ไม่สบายก่อน ยังไม่หายก็มีประจำเดือนมา) แต่ อาการไม่มากเพราะกินยาหมอบุญนั้นเอง จนต่อมาหมอบุญก็เสียชีวิต ยาที่ปรุงไว้แล้ว ป้าอ้อยภรรยาของหมอบุญก็เจียดยาให้ชาวบ้านต่อ จนยาหมดชุด และไม่มีการปรุงยาใหม่อีก ต่อมาป้าอ้อยก็ย้ายบ้านจากตลาดวัดบางกรูดไปอยู่กับบุตรที่อื่น และไม่เคยย้อนกลับมาที่วัดบางกรูดอีกเลย



ต่อมา เมื่อ เรียนมหาวิทยาลัย พลอยโพยมก็ป่วยเป็นไข้ทับระดูอีก พ่อมังกรก็ไปเจียดยามาจากพระครูประะสาทสรคูณ ที่สำคัญมีต้นใต้ใบสดมาตำกับน้ำซาวข้าว พลอยโพยมก็เข็ดไปจนตายเพราะเหม็นเขียวแและรสขื่น ใหม่ ๆ พอกลืนลงคอก็ขย้อนออกมาอาเจียนทิ้งหมด แต่ไม่มีทางเลือกก็อดทนกินให้ได้ จนหายดี จากนั้นมา พลอยโพยมต้องดูแลตัวเองไม่ให้ป่วยเป็นไข้ทับระดู ระดูทับไข้อีก

แม้ในปัจจุบันที่พลอยโพยม มีลูกสาว เขาก็เคยป่วยเป็นไข้นี้ ต้องไปเจียดยาหม้อจากร้านยาหมอแผนโบราณในเมืองมาต้มกิน โดยต้องต้มกินถึง 2 ชุด หรือ 2 เทียบ

เพราะหมอแผนโบราณที่วัดบางกรูดนั้น ทั้งวิชาการ และสูตรยา ล้วนล่วงเลยลับหายไปกับตัวหมอแผนโบราณมาทุกยุค มีสูตรยาหลวงพ่อเขียนที่พระครูประสาทสรคุณบันทึกไว้หลายขนาน ขอยกมาเป็นตัวอย่าง ดังนี้



ยาแก้ไข้ 3 ฤดู เหมันต์ คิมหันต์ วสันต์

ท่านให้เอาจันหอม 3 บาท เปราะหอม 1 ว่านร่อนทอง 1 ว่านกลีบแรด 1 เนระภูสี 1 มหาสะดำ 1 ระย่อม 1 พิสนาส 1 รากไคร้เครือ 1 จันแดง 1 ใบน้ำเต้า 1 ใบพรมมิ 1 ใบสมี 1 เอาสิ่งละ 1 บาท ใบมะระ 6 บาท ใบพิมเสน 15 บาท ลูกมะกอกคั่ว 5 ลูก ลูกประคำดีควายย่างไฟ 2 ลูก รวมบดเป็นผงให้ละเอียด กินแก้กระหายน้ำ ใช้นำรากบัวหลวง แก้กระวนกระวาย ใช้น้ำกระจับ แก้เชื่อมน้ำดอกมะลิ กินแก้ไข้หวัด ปวดหัว ตัวร้อน ใช้น้ำร้อนแทรกยาทันใจ 1 ห่อ แก้ไข้ทับระดู หรือระดูทับไข้ ใช้ต้นลูกใต้ใบตำกับน้ำซาวข้าว แทรกยาทันใจ 1 ห่อ กิน เมื่อกินยานี้แล้ว จงทำบุญกรวดน้ำให้กับเจ้าของตำรามีหลวงพ่อเขียนเป็นต้น



นี่คงเป็นยาที่พ่อมังกรเคยไปเจียดมาให้พลอยโพยมกินในครั้งนั้นนั่นเอง
น่าเสียดายที่พระครูประสาทสรคุณไม่ได้บันทึกสูตรยาโรคตับทรุดของหลวงพ่อเขียนไว้ ทั้ง ๆ ที่คุณน้าหมอเองเคยไปกราบเรียนพระครูประสาทสรคุณไว้ว่าหลวงพ่อเขียนมีสูตรยาเด็ดชะงัดนัก คือยาแก้โรคตับทรุด



ต่อมาพ่อมังกรก็ศึกษายาแผนโบราณ มีหนังสือตำรายากองเต็มโต๊ะ นั่งศึกษาจดบันทึกจนดึกดื่นทุกคืนหลังจากที่เกษียณงานจากปลัดอำเภอมา
ท่องเที่ยวไปเสาะแสวงหาตัวยาตลอดยี่สิบปี พลอยโพยมเป็นห่วงว่าเข้าข่ายเป็นหมอเถื่อน แต่พ่อมังกรก็ไม่สนใจ พลอยโพยมไม่รู้ว่า พ่อมังกรมีการสื่อสารกับคนนอกอย่างไร ใช้วิธีการบอกต่อ ๆ กัน หรืออื่น ๆ แต่พ่อมังกร ก็ปรุงยาไว้หลายสูตร ที่เด่นดังมีคนถามหา ตามมาซื้อกันถึงบ้าน คือยาแก้โรคริดสีดวง เมื่อสิ้นบุญพ่อมังกร มีคนแปลกหน้ามาถามหาขอซื้อยาบ่อย ๆ เหมือนกัน แต่เราไม่กล้าให้ไป เพราะกลัวหยิบผิดสูตร ส่วนมากเป็ยยาผงบดละเอียด ต้องเอาไปปั้นกินเป็นยาลูกกลอนกินกับน้ำผึ้ง พ่อมังกรจะใส่ถุงพลาสติกรัดหนังยางไว้เป็นถุง ๆ แยกห้อยไว้เป็นประเภท ๆ ต่อมาพวกเราก็เทยาที่ผสมแล้วบรรจุถุุงพลาสติกไว้ ที่บดแล้วยังไม่ผสม ที่ยังเป็นวัตถุดิบยังไม่บด ทิ้งหมดตัดปัญหาเก็บแต่สูตรยาที่พ่อมังกรจดบันทึกไว้เป็นที่ระลึก เพราะพ่อมังกรดูจะมีความสุขกับการศึกษาค้นคว้าเรื่องยาสมุนไพรมาก



หมายเหตุ (เพิ่มเติม)
ยาชนิดต่างๆที่มาจากสมุนไพร
อันที่จริงสมุุนไพรแต่ละชนิดมีสรรพคุณหรือคุุณสมบัติทางยาในตัวเอง บางชนิดเพียงพอที่จะใช้เดี่ยว ๆ ได้ เพื่อบำบัดโรคหรืออาการบางอย่าง แต่เพื่อให้สรรพคุณในการรักษาแตกต่างกันไปหรือให้มีผลดีขึ้น จึงมีการนำสมุนไพรหลายชนิดมาผสมกันแต่โบราณ มีวิธีการปรุงแตกต่างกันไป เช่นต้ม บดแล้วผสมกัน ชงด้วยน้ำ จึงมีการเรียกยาที่มาจากสมุนไพรต่าง ๆ กัน ตามยุคสมัย ตามวิธีการผลิต การใช้ หรืออื่น ๆ เช่น ยาสมุนไพร ยากลางบ้าน ยาไทย ยาแผนโบราณ ยาแผนไทย



ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.gotoknow.org

ศัพท์เหล่านี้ บางคำมีกำหนดไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับยา ที่ใช้ในปัจจุบันคือ ในพระราชบัญญัติยา ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2522 กำหนดว่า
ยาสมุนไพร
หมายความว่า ยาที่ได้จากพฤกษชาติ สัตว์ หรือแร่ ซึ่งมิได้ผสม ปรุง หรือแปรสภาพ
ยาแผนโบราณ
หมายความว่า ยาที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในการประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ หรือการบำบัดโรคสัตว์ ซึ่งอยู่ในตำรายาแผนโบราณที่รัฐมนตรีประกาศ หรือยาที่รัฐมนตรีประกาศเป็นยาแผนโบราณ หรือยาที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนตำรับยาเป็นยาแผนโบราณ

คำว่า ยาแผนไทย กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 ดังนี้
ยาแผนไทย
หมายความว่า ยาที่ได้จากสมุนไพรโดยตรงหรือที่ได้จากการผสม ปรุง หรือแปรสภาพสมุนไพรและให้หมายความรวมถึงยาแผนโบราณตามกฎหมายว่าด้วยยา
ดังนั้นตามกฎหมายยาแผนไทยครอบคลุมยาจากสมุนไพรต่าง ๆ ทั้งยาสมุนไพร ยาแผนโบราณ และอื่น ๆ ที่มีมาแต่โบราณทั้งหมด
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฉบับเสริมการเรียนรู้ เล่มที่ 1

วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ชุมเห็ดเทศ

ชุมเห็ดเทศ



ชื่อไทย ชุมเห็ดเทศ
ชื่อสามัญอังกฤษ: Ringworm Bush ,Candelabra Bush ,Seven Golden Candle-stick)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Senna alata (L.) Roxb. ( Cassia alata.Linn)
ชื่อวงศ์ LEGUMINOSAE-CAESALPINIOIDEAE
ชื่ออื่น ขี้คาก ลับมืนหลวง หมากกะลิงเทศ (ภาคเหนือ) ชุมเห็ดใหญ่ (ภาคกลาง)



ชุมเห็ดเทศเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง มีความสูง 2-3 เมตร ก้านใบนั้นยาว แตกกิ่งออกด้านข้างในแนวนอนขนานกับพื้น ในก้านหนึ่งนั้นจะมีใบแตกออกเป็น 2 ทาง มีลักษณะคล้ายใบมะยม แต่จะโตและยาวกว่า



ใบ
เป็นใบประกอบขนนก เรียงสลับ ใบย่อยจะเรียงกันเป็นคู่ ๆ 8-20 คู่ ลักษณะใบย่อยนั้นจะรูปขอบขนานแกมรูปรี โคนใบมน ตรงปลายใบของมันมนหรือเว้าเล็กน้อย ฐานใบมน และไม่เท่ากันทั้ง 2 ข้าง ขอบใบเรียบเป็นสีแดง. ก้านใบย่อยสั้นมาก



ดอก
ออกเป็นช่อใหญ่ ตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง สีเหลือง ดอกตูมนั้นคล้ายดอกข่า และเมื่อดอกบานจะเป็นสีเหลืองทองเข้ม ใบประดับสีน้ำตาลแกมเหลือง หุ้มดอกย่อยเห็นชัดเจน กลีบรองกลีบดอกจะมีอยู่ 5 กลีบ เป็นรูปขอบขนาน สีเขียวตรงปลายแหลม ก้านดอกนั้นจะสั้นและมีลายเส้นเห็นได้ชัด . เกสรตัวผู้จะมีอยู่ประมาณ 9-10 อัน แต่มีความยาวไม่เท่ากันอับเรณูเมื่อแก่จะมีรูเปิดที่ยอด ส่วนเกสรตัวเมียนั้นมีอยู่1อัน ผิวเกลี้ยง







ผล
ผลเป็นฝักแบนหนา ฝักเป็นรูปบรรทัด หนา ไม่มีขน จะมีปีกอยู่ 4 ปีก ผิวนอกนั้น จะขรุขระเป็นสีดำ เมล็ด
แบนรูปสามเหลี่ยม สีน้ำตาลเข้ม



ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.narahospital.com

ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด




นิเวศวิทยา
ถิ่นกำเนิด อเมริกาเขตร้อน ชอบขึ้นในที่ลุ่มริมน้ำ
ออกดอก ตุลาคม-มกราคม
ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด



ประโยชน์ ใช้ทั้งต้น ต้น ใบ ดอก ฝัก เมล็ด ราก ใช้เป็นยา มีสรรพคุณดังนี้:
ทั้งต้น
ใช้ขับพยาธิในลำไส้ ถ่ายพิษตานทรง รักษาซาง โรคผิวหนัง ถ่ายเสมหะ รักษาฟกบวม รักษาริดสีดวง ดีซ่าน และฝี
ต้น
ใช้เป็นยารักษาคุดทะราด และกลากเกลื้อน รักษากษัยเส้น ขับพยาธิ และขับปัสสาวะ รักษาท้องผูก และทำให้หัวใจเป็นปกติ



ใบสด แก้กลากเกลื้อน
ใบเพสลาด ดอก เมล็ด ใช้เป็นยาระบาย
มีสารสำคัญ เป็นสาร กลุ่ม anthraquinone เช่น rtein,emodin ฯลฯ ออกฤทธิ์ระบาย โดยไปกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ จึงไม่ควรใช้ติดต่อกันนาน ๆ
ขอขอบคุณข่อมูลจาก
จากหนังสือไม้ดอกไม้ประดับ
พรรณไม้ในสวนหลวง ร 9




ส่วนในหนังสือ ปลูกผักไทย ได้ทั้งอาหารและยา ของ รศ. ดร.วีณา เชิดบุญชาติ กล่าวไว้ว่า
ส่วนประกอบใบ มี anthroquinone หลายชนิด รวมทั้ง Tannin มีสารฟลาโวนอยด์และเทอร์บินอยด์

สรรพคุณและวิธีใช้



ดอก
เป็นยาระบาย โดยใช้ดอกสด 1-3 ฃ่อ ลวกจิ้มน้ำพริกสมานธาตุ อาจใช้ใบปิ้งไฟชงดื่มเป็นยาระบาย ทำให้ผิวหนังดี


ต้นและใบใบ
มีกลิ่นฉุน ต้มน้ำกินเป็นยาระบาย อมบ้วนปากและใช้เป็นยาฆ่าพยาธิตามผิวหนัง รักษากลากเกลื้อน ผิวหนังอักเสบเป็นผื่นคัน เส้นประสาทอักเสบ รักษากษัยเส้น ขับปัสสาวะและรักษากระเพาะอาหารอักเสบท รักษาโรคท้องผูก
วิธีใช้
ใช้ใบสด 30 กรัม ใส่น้ำ 1 ลิตร ต้มนาน 15 ยาที ดื่มครั้งละ 1 ถ้วยกาแฟ ก่อนอาหารเช้า-เย็น
ใบตากแห้ง กรัม ชงน้ำร้อน 1 แก้ว ดื่มก่อนอาหารเช้า-เย็น
ใบสด ขยี้ให้น้ำออกแล้วเติมเกลือเล็กน้อย ทาแก้กลากเกลื้อนวันละ 2 ครั้ง หรือใช้ใบสดผสมปูนแดงขยี้ให้น้ำออก แล้วท่าบ่อย ๆจนกว่าจะหาย หรือใช้ตำพอกหัวฝี



ดอก เป็นยาระบาย โดยใช้ดอกสด 1-3 ฃ่อ ลวกจิ้มน้ำพริก สมานธาตุ อาจใช้ใบปิ้งไฟชงดื่มเป็นยาระบาย ทำให้ผิวหนังดี

ฝัก
ช่วยขับพยาธิ เป็นยาระบาย

ต้นและราก
แก้กษัยเส้น บำรุงหัวใจ แก้ท้องผูก
ดอกและยอดอ่อน ใช้ลวกจิ้มน้ำพริก



ส่วนชุมเห็ดไทย ( Cassia tora L ) เมล็ดแก้ตับอักเสบ ทั้งต้น ขับพยาธิในท้อง แก้ไข้หวัด



ส่วนในหนังสือสารานุกรมสมุนไพร สมุนไพร สวนสิรีรุกขชาติ เล่ม 1 ระบุว่า



ตำรายาไทยใช้ใบและดอกเป็นยาระบาย โดยใช้ใบแห้งครั้งละ 12 ใบ ต้มหรือชงน้ำดื่มก่อนนอน หรือทำเป็นยาลูกกลอน
หรือใช้ดอกสด 2-3 ช่อ ต้มกินเป็นผักจิ้ม
การทดลองในคนและสัตว์ พบว่า ใบแก่มีฤิทธิ์น้อยกว่าใบอ่อน ส่วนต่าง ๆ ของชุมเห็ดเทศ มีสารกลุ่มแอนทราควิโนน เช่น rtein,emodin และ aloe-emodin ซึ่งมีฤทธิ์ระบาย โดยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ จึงไม่ควรกินติดต่อกันนาน เพราะเมื่อไม่่ได้รับยาจะทำให้ลำไส้ไม่ทำงานตามปกติ สตรีมีครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้



นอกจากนี้ยังใช้ใบสดเป็นยาทาภายนอกรักษากลากเกลื้อน โดยตำแข่เหล้า เอาส่วนเหล้าทาบริเวณที่เป็น วันละ 2-3 ครั้ง จนกว่าจะหาย พบว่าได้ผลดี แต่ใช้ไม่ได้ผลกับผู้ป่วยที่ตอดเชื้อราที่ผมและเล็บ


ยังมีชุมเห็ดไทยอีกชนิดหนึ่ง
ชื่อไทย ชุมเห็ดไทย
ชื่อ อังกฤษ Chumhet thai
ชื่ออื่น ชุมเห็ดควาย ชุมเห็ดนา ชุมเห็ดเล็ก ลับมืนน้อย พรมดาน หญ้าลึกลืน
ชื่อวิทยาศาสตร์ Senna tora (L.) Roxb.
ชื่อวงศ์ LEGUMINOSAE-CAESALPINIOIDEAE


ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.pharmacy.mahidol.ac.th

ลักษณะพฤกษศาสตร์
ไม้ล้มลุก วูง 0.5-1 เมตร แตกกิ่งก้านด้านข้างเป็นพุ่ม
ลักษณะใบ
ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ มีใบย่อย 3 คู่ รูปไข่กลับหรือรูปขอบขนานแกมไข่กลับ
ลักษณะดอก
ดอกช่อ ออกที่ซอกใบตอนปลายกิ่งและที่ปลายกิ่ง เป็นกระจุก 2-4 ดอก กลีบดอกสีเหลือง


ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.pharmacy.mahidol.ac.th ลักษณะผล
ผลเป็นฝัก
เมล็ด รูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน สีน้ำตาลแกมเขียว


สรรพคุณ
ต้นและราก ยาแก้ไข้ ขับปัสสาวะ
เมล็ด ทำให้นอนหลับ งานสาธารณสุขมูลฐานแนะนำให้ใช้เมล็ดคั่ว 10-13 กรัม ต้มน้ำดื่มเป็นยาระบาย หรือขนาด 5-15 กรัม ต้มน้ำดื่มขับปัสสาวะ พบวาาทุกส่วนมีสารกลุ่ม แอนทราควิโนน และการทดลองในสัตว์ สรุปว่าน้ำสกัดของเมล็ดมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ และบีบมดลูก สารสกัดเบนซีนมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังในหลอดทดลอง


ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.pharmacy.mahidol.ac.th

ที่มาของข้อมูล
หนังสือสารานุกรมสมุนไพร สมุนไพร สวนสิรีรุกขชาติ เล่ม 1




การใช้ข้อมูลพืชทุกชนิดเป็นยาสมุนไพร ผู้ใช้ควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียดจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เพราะพลอยโพยม ได้ยินข่าวมาว่า ในปัจจุบัน มีผู้ป่วยเป็นมะเร็งตับกันมาก โดยเฉพาะสตรี เนื่องจากการรับประทานอาหารเสริม (เพื่อทั้งสุขภาพ และความงาม) ทำให้ตับทำงานหนักเกินไปในการขับของส่วนเกินในร่างกาย
การกินสมุนไพรไทยต้องระมัดระวังเรื่องของปริมาณที่เหมาะสม หากกินมากไปก็เป็นการสะสมสารไว้ในร่างกายเป็นส่วนเกิน โดยเฉพาะในสรรพคุณของสมุนไพรพืช ดูเหมือนบางทีสมุนไพรมากมายหลาย ๆ ชนิด มีสรรพคุณกว้างขวางแบบครอบจักรวาล หรือการนำคุณสมบัติของพืชบางชนิด ที่มีฃื่อคล้ายกันหรือ ชื่อเรียกในท้องถิ่นที่ไปพ้องกับอีกชื่อ มาใช้โดยไม่ศึกษาให้ละเอียด โดยเฉพาะผลข้างเคียง หรือข้อห้าม
พลอยโพยม ยกตัวอย่างเช่น สมุนไพรไทย ๆ ชื่อชุมเห็ดเทศ ชุมเห็ดไทย ค่อย ๆ อ่าน พิจารณาเนื้อความความแตกต่างในบางรายละเอียดของสรรพคุณ เป็นต้น




ชุมเห็ดเทศ เป็นพรรณไม้ที่พบเห็นได้ทั่วไปที่บางกรูด โดยเฉพาะตามริมคูน้ำ หลุมหลาริมถนน เป็นพืชสมุนไพรที่พ่อมังกรของพลอยโพยม นิยมใช้ ในสรรพคุณ กิน
และเป็นที่บอกกล่าวเล่าขานของผู้ใหญ่ จะบอก เด็ก ๆ ว่า ถ้าเห็นดอกชุมเห็ดเทศ บานเหลืองอร่ามนั้นแปลว่ากำลังจะหมดฝน และย่างเข้าฤดูหนาว แล้ว
ทั้งนี้ชาวบ้านที่บางกรูดก็จะเรียกต้นชุมเห็ดเทศนี้ ว่า ต้นชุมเห็ด ( ชุมเห็ดเฉย ๆ )



แต่ในปัจจุบัน ฟ้าฝน และฤดูกาลของบ้านเราเริ่มแปรปรวน จนบางครั้งต้องใช้คำว่าวิปริตแปรปรวน ดอกชุมเห็ดเทศก็ใช้เป็นสัญญลักษณ์บอกฤดูกาลไม่ได้เสียแล้ว บางทีดอกชุมเห็ดเทศชูช่อดอกตูมเต็มต้นเหมือนเตือนว่า สายฝนแห่งวัสสะฤดู (วัสสานฤดู) กำลังผันลา เพื่อรับหน้าเหมันตฤดู แต่พอดอกตูมบานอร่ามเรืองเหลืองราวสุวรณอำพันผ่องในท้องทุ่ง ท้องฟ้าก็โปรยปรายสายฝนกระหน่ำลงมาติดต่อกันหลายวัน จนน้ำเนืองนองทั่วทั้ง ห้วย บึง หนอง คลอง ละหาน
หรือบางครั้งมีลมหนาวโชยมาจากเมืองเหนือในยามเช้าตรู่รุ่งอรุณเพียงแค่ให้รับรู้ว่านี่คือสายลมหนาวมาเยือนแล้วก็ลาลับคืออากาศเย็น ๆ กว่าปกติ และกินเวลาเพียง 2-3 วัน สายลมเหนือก็สลายไปกับไอแดด บ้านพลอยโพยมในระยะ หลัง ๆ เหลือแค่ 2 ฤดู คือฤดูร้อน และฤดูฝน ฤดูหนาว ก็กลายเป็นฤดูร้อน ทำให้ ฤดูร้อนดูว่าช่างยาวนานเสียเหลือเกินแล้ว


หมายเหตุ
1. คำว่าสาร anthraquinone และ anthroquinone พลอยโพยมใช้ตามเอกสารต้นฉบับตามที่อ้างอิงถึง
2 บทความนี้แก้ไขปรับปรุงบทความเรื่องชุมเห็ดเทศ เมื่อ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2555