วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2559

ต้นบุนนาค

ต้นบุนนาค



ต้นบุนนาค” หรือ “ต้นนาค” มีชื่อพื้นเมืองที่เรียกกันต่างไปในแต่ละท้องถิ่นของไทย คือ นาคบุตร, ปะนาคอ, สารภีดอย, ก๊าก่อ, ก้ำก่อ เป็นต้น

ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mesua ferrea Linn.
วงศ์ Guttiferae



เป็นไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ สูงประมาณ 15-25 เมตร ลำต้นเปลาตรง เปลือกเรียบสีน้ำตาลปนเทา เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ


ใบเป็นใบเดี่ยว รูปหอกหรือรูปขอบขนาน ออกตรงข้ามกัน ปลายใบแหลม โคนใบมน เนื้อใบเหนียวและค่อนข้างแข็งเป็นมัน


ใบอ่อนของบุนนาค

ยามเมื่อผลิใบอ่อนจะเป็นสีชมพูสดใสสวยงาม เมื่อใบแก่จะมีสีเขียวเข้ม

ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกเป็นกลุ่มตามซอกใบ ดอกใหญ่สีขาว มี ๔ กลีบกลีบดอกหนา มีกลิ่นหอมมาก กลางดอกมีเกสร ตัวผู้สีเหลืองสดจำนวนมาก ส่วนเกสรตัวเมียจะมีสีขาว

ช่วงเวลาออกดอกราวเดือนมีนาคม-กรกฎาคม ส่วนผลเป็นรูปไข่ ปลายผลแหลม เปลือกหนาแข็ง ภายในมีเมล็ด สีดำแข็ง ราว ๑ - ๔  เมล็ด





นอกจากจะมีกลิ่นหอมมากแล้ว บุนนาคยังมีสรรพคุณ ด้านพืชสมุนไพรมากมาย กล่าวคือ
ใบใช้แก้เสมหะและพอกสมานแผลสด,
ดอกใช้ปรุงเป็นยาบำรุงโลหิต บำรุงธาตุ บำรุงหัวใจ แก้อาการร้อนอ่อนเพลีย ขับเสมหะ ขับลม แก้กระหายน้ำ ระงับกลิ่นตัว,
ผลมีฤทธิ์ช่วยขับเหงื่อ และฝาดสมาน,
เมล็ดแก้โรคปวดตามข้อ รักษาโรคผิวหนัง,
รากใช้เป็นยาขับลมในลำไส้



สำหรับประโยชน์ด้านอื่นๆ ก็มีมากเช่นเดียวกันคือ
ลำต้นใช้ทำไม้หมอนรางรถไฟ งานก่อสร้าง ต่อเรือ และเครื่องเรือนต่างๆ
เปลือกลำต้นบดเป็นผงใช้แต่งกลิ่นธูปหอม
น้ำที่กลั่นได้จากดอกใช้แต่งกลิ่นสบู่
และน้ำมันจากเมล็ดใช้จุดตะเกียง และทำเครื่องสำอาง



ในพระไตรปิฎก ฉบับธรรมทาน หัวข้อ ‘ปุนนาคปุปผิยเถราปทาน’ ได้กล่าวถึง ผลแห่งการถวาย ‘ดอกบุนนาค’ บูชาของพระปุนนาคปุปผิยเถระ ไว้ว่า

“เราเป็นพรานเข้าไป (หยั่งลง) ยังป่าใหญ่ เราได้พบต้นบุนนาคมีดอกบาน จึงระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ได้เลือกเก็บดอกบุนนาคนั้น เอาแต่ที่มีกลิ่นหอมสวยงาม แล้วก่อสถูปบนเนินทรายบูชาแด่พระพุทธเจ้าในกัลปที่   ๙๒  แต่กัลปนี้ เราได้บูชาพระพุทธเจ้าด้วยดอกไม้ใด ด้วยการบูชานั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา ในกัลปที่   ๙๑ แต่กัลปนี้ ได้มีพระเจ้าจักรพรรดิพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า ตโมนุทะ ทรงสมบูรณ์ด้วยแก้ว   ๗ ประการ มีพลมาก คุณวิเศษเหล่านี้ คือปฏิสัมภิทา ๔วิโมกข์  ๘  และอภิญญา  ๖ เราทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้”



และในหัวข้อ ‘คิริปุนนาคิยเถราปทาน’ ได้กล่าวถึง ผลแห่งการถวาย ‘ดอกบุนนาค’ บูชาของพระคิริปุนนาคิยเถระ ไว้ว่า

“ครั้งนั้น พระสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโสภิตะ ประทับอยู่ที่ภูเขาจิตตกูฏ เราได้ถือเอาดอกบุนนาคเข้ามาบูชาพระสยัมภูในกัลปที่ 94 แต่กัลปนี้เราได้บูชาพระสัมพุทธเจ้า ด้วยการบูชานั้นเราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้”



การเป็นมงคล คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นบุนนาคไว้ประจำบ้านจะทำให้เป็นผู้มีความประเสริฐและมีบุญ เพราะบุนนาคคือผู้มีบุญผู้ประเสริฐ และยังเชื่ออีกว่ายังสามารถป้องกันภัยอันตรายจากภายนอกได้อีกด้วย เพราะใบของบุนนาคสามารถรักษาพิษสัตว์ต่างๆ ได้ เช่น พิษงู 
นอกจากนี้แล้ว นาคยังหมายถึงพญานาค ซึ่งเป็นพญาสัตว์ชนิดหนึ่งในสมัยพุทธกาล ที่มีแสนยานุภาพในอันที่จะปกป้องและคุ้มครองพิษภัยได้

ปัจจุบัน บุนนาคเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดพิจิตร





ต้นบุนนาคที่เป็นต้นไม้ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มีหลายพระองค์ดังนี้
๖.พระสุมังคลพุทธเจ้า (ผู้เป็นบุรุษประเสริฐ) ต้นนาค หมายถึง ต้นบุนนาค
๗.พระสุมนพุทธเจ้า (ผู้เป็นวีรบุรุษมีพระหฤทัยงาม) ต้นนาค หมายถึง ต้นบุนนาค
๘.พระเรวตพุทธเจ้า (ผู้เพิ่มพูนความยินดี) ต้นนาค หมายถึง ต้นบุนนาค
๙..พระโสภิตพุทธเจ้า (ผู้สมบูรณ์ด้วยพระคุณ) ต้นนาค หมายถึง ต้นบุนนาค

ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.baanmaha.com
https://groups.google.com/forum/#!topic/morkeaw/fQtTINTgwhk
ขอขอบคุณข้อมูลจากhttp://www.watkaokrailas.com