วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553
...กว่าจะเป็น...ขนมดอกโสน...
ดอกโสนช่อเรืองเหลืองอร่าม ฟ้าสีครามโค้งคุ้งทั่วทุ่งกว้าง
ทุ่งนาเขียวเรียวใบสอดแซมกลาง ลมพรูพร่างคว้างไกวไหวช่อตาม
ดอกโสนดูจะเป็นคู่รักกับท้องทุ่งท้องนา เป็นญาติกับบัวเผื่อน เป็นเพื่อนสนิทชิดใกล้กับบัวสาย แถมยังเกี่ยวดองคล้องความผูกพันกับเรือ อีโปง หรือเรือโปง ลุ่มโปง
เรืออีโปงคือ เรือขุด ชนิดหนึ่งพิเศษกว่าเรือขุดอื่นๆ เพราะทำจากต้นตาลผ่าซีกเป็น ๒ ซีกใช้แกลบสุมไว้จนเหลือแต่เปลือกนอก แล้วเลื่อยกระดานปิดท้ายยาด้วยชัน พายในบริเวณน้ำตื้น หรือระหว่างบ้านใกล้เรือนเคียง บรรทุกของหนักไม่ได้ อายุการใช้งานสั้น ถือเป็นเรือพื้นบ้านอย่างแท้จริง และก็พบ ว่ามีเรือโปงไม้สักบ้าง
เมื่อคราว ไปที่ มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์ที่ฉะเชิงเทรา ถามถึงเรือที่มหาวิทยาลัยกำลังจัดทำพิพิธภัณฑ์เรือ ถามอาจารย์ท่านหนึ่งว่า มีเรืออีโปงไหม อาจารย์หนุ่มใจดี บอกว่า ยังไม่มี เสียดาย ที่เมื่อก่อนเราเอาเรืออีโปง พายเข้าทุ่งไปเก็บดอกโสนกันประจำ ไม่ได้สนใจเลยว่าวันหนึ่งจะไม่มีเรือนี้ให้คนรุ่นหลังดู
ครั้งที่สองตอนพลอยโพยมตามหาถ่ายภาพปลา ที่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ กรมประมง เกษตรกลางบางเขน พบว่ามีมุมหนึ่งของกรมจัดวางเครื่องมือประมง และมีท่อนไม้ดำๆอยู่ท่อนยาวใหญ่ มีคนนั่งคุยกัน 2-3 คน พอเข้าไปถ่ายเครื่องมือประมง ก็เลยเห็นชัดว่าท่อนไม้ ดำๆเก่าๆคือต้นตาลขุด ถามเขาว่า นี่เรือ อีโปงนี่คะ มีคนหนึ่งตอบว่า อ๋อใช่ ก็เรือที่สมัยก่อนตอนเด็กๆ เราใช้พายไปเก็บดอกโสน กันไง
ดูเหมือนว่าพอพูดถึงเรืออีโปง คนก็จะพากันคิดถึงดอกโสน ทั้งที่ก็ใช้พายเรือไปเก็บบัวสาย หรือตกปลา หรือทำกิจธุระอื่นๆด้วย
แต่ที่ชัดเจน ทั้งเรืออีโปง ดอกโสน บัวสาย บัวเผื่อนล้วนแต่ เป็นของพื้นบ้านตามวิถีไทยชาวทุ่งจริงๆ
โสนเป็นพืชล้มลุก มีชีวิตตามช่วงฤดูกาลเหมือนบัวผัน บัวหลวง คือน้ำแห้งก็ตาย พอมีน้ำก็ฟื้นคืนสายพันธุ์รุ่นใหม่มาสืบสายตระกูลต้นโสน และโดยทั่วไป ดอกโสน ถือว่าเป็นไม้ตามฤดูกาล เจริญเติบโตในหน้าฝน มีดอกพอประปรายพอปลายฝนต้นหนาวซึ่งเป็นช่วงที่ชาวนารุ่นก่อนเกี่ยวข้าวกัน ดอกโสนก็จะบานสะพรั่งเต็มต้น พอน้ำแห้งนาโสนก็เหี่ยวเฉาทอดกาย(ลำต้น)สลายไปกับลมหนาว ช่วงปลายฝนต้นหนาวถือเป็นช่วงที่ถึงฤดูการกินขนมดอกโสน เคยมีการใช้คำว่า จะได้กินขนมดอกโสนเพียงปีละครั้ง ก็ตอนนี้แหละ ( แต่หลายหนหลายรอบหลายวัน เป็นเดือนๆก็ได้ถ้าไม่เบื่อเสียก่อน)
แต่ปัจจุบันระบบนิเวศของโลกเปลี่ยนแปลงไป ผลไม้มากมายที่เคยกินตามฤดูกาลก็กลายเป็นมีกินทั้งปี แต่นั่นเพราะวิชาการสมัยใหม่เข้ามาช่วย แต่ดอกโสนของพื้นบ้านที่ไม่มีนักวิชาการเกษตรหรือสถาบันใดสนใจ กลับปรับตัวผันตามความเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันดอกโสนก็เกือบจะมีตลอดปีอย่างแทบไม่น่าเชื่อ เพียงแต่สลับกันมีที่หมู่บ้านโน้น แล้วก็ตามมาด้วยหมู่บ้านนี้ ไม่ใช่ มีพรึบสะพรั่งดารดาษไปทั้งเมืองอย่างช่วงปลายฤดูฝน ต้นหนาวตามปกติ
เมนูรับประทานดอกโสนประจำปีของชาวทุ่งก็เอามายำ ชุบไข่ทอด ต้มจิ้มน้ำพริก ชุบแป้งทอด ทำแกงส้ม ล้วนเป็นอาหารคาว ส่วนของหวานก็ขนมดอกโสนนั่นเอง ดังภาพถ่ายประกอบ
วิธีทำขนมดอกโสนให้อร่อย ต้องมีเคล็ดลับเล็กน้อย
เดิมโดยทั่วไป จะใช้แป้งข้าวเจ้าทำขนมดอกโสน แต่ภูมิปัญญาที่คอยคิดสร้างสรรค์ของคนไทย ก็เริ่มใช้ข้าวเหนียวมาผสม บางที่ก็เสริมแป้งเท้ายายม่อม บางบ้านก็ใช้แป้งมัน
เครื่องปรุงและขั้นตอนการทำง่ายๆไม่ซับซ้อนยุ่งยาก
ส่วนประกอบ คือแป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว สัดส่วนที่เท่ากัน เสริมด้วยแป้งเท้ายายม่อม หรือแป้งมันอย่างใดย่างหนึ่งเพียงเล็กน้อย นวดแป้งและน้ำตาลปี๊บน้ำตาลทราย ( สัดส่วนน้ำตาลเท่ากัน) ค่อยๆนวดอย่างใจเย็นจนแป้งและน้ำตาลเข้ากันดีเป็นเนื้อเดียวกัน นำดอกโสนที่เก็บมาเรียบร้อยล้างน้ำทิ้งจนสะเด็ดน้ำแล้ว เทผสมลงไปคลุกนวดให้เข้ากันดีอีกที นำไปนึ่ง ขนมสุกก็นำมะพร้าวทึนทึกที่ขูดเตรียมไว้มาคลุกขนมที่นึ่งสุกเด็ดเป็นคำๆไว้ จัดลงจานก็ถือว่าเรียบร้อยแล้ว
รสชาติ ก็อยู่ที่ฝีมือและสัดส่วนที่ตัวแป้งและน้ำตาลละว่าใช้อย่างละเท่าไร คำว่าเล็กน้อยคือเท่าไร แป้งเท้ายายม่อมและแป้งมัน ช่วยให้ขนมดูขึ้นเงา (คุณสมบัติขึ้นเงานี้ แป้งเท้ายายม่อมมีมากกว่าแป้งมัน แต่ปัจจุบันแป้งเท้ายายม่อมที่เคยทำกันตามบ้านเรือนก็สูญหายไปไม่มีบ้านไหนทำกันแล้ว แม่ค้าที่จะหามาขายต้องไปซื้อมาขายจากที่อื่นไม่ใช่แป้งประจำท้องถิ่นอีกต่อไปเสียแล้ว)
คนไทยช่างเป็นช่างคิดประดิษฐ์สรรค์ มีบางบ้านนำดอกโสนมาทำขนมขี้หนู หรือที่เรียกอีกชื่อว่าขนมทราย
แถมบางบ้านใช้ลูกตาลสุกที่ทำขนมตาลนั้นมาทำขนมขี้หนู (บ้านเพื่อนทำให้กินหลายครั้ง ตัวขนมจะดูเปียกและตัวขนมมีน้ำหนักกว่าขนมขี้หนูธรรมดา รสชาติเป็นขนมขี้หนูและมีกลิ่นลูกตาลอร่อยไปอีกแบบหนึ่ง) โดยส่วนตัวยังไม่เคยกินขนมขี้หนูดอกโสน เพราะคนที่เคยทำมาขายได้เสียชีวิตไปเสียแล้วก่อนที่พลอยโพยมจะทันได้ซื้อมาลองชิม และขนมขี้หนูลูกตาลก็เช่นกัน คนเคยทำก็เสียชีวิตไปแล้ว ไม่แน่ใจว่าคนรุ่นหลังยังทำกันได้ไหม (คุณยายของพลอยโพยมทำกระยาสารทน้ำตาลปี๊บ อร่อยมาก และจะทำเผื่อเอาไปช่วยงานทอดกฐินของวัดบางกรูด คนในบ้านตั้งมากมายเป็นสิบฝึกหัดอย่างไรก็ทำไม่ได้ คุณยายตอนยังมีชีวิตอยู่ก็ฝึกหลานๆ แต่ไม่มีใครสืบทอดได้ ขอไว้เล่าคราวหลังนะคะ เพราะตอนนี้ เป็นเรื่องขนมดอกโสนอยู่น่ะค่ะ)
เล่ามาถึงตรงนี้ ก็เชิญหยิบขนมดอกโสนในภาพไปกินกันได้นะคะ มีตั้งมากมายหลายชิ้นซ้อนกันอยู่ ยกให้ชิมได้หมดจานเลยค่ะ
พลอยโพยม ขออนุญาตแทรกเรื่องราวน่ารักน่าทึ่งที่เคยเป็นขนบ (แปลว่าแบบอย่าง) เรื่องดอกโสนของชาวบางสะพานใหญ่ จังหวัดเพชรบุรี ในสมัยที่คนเล่าเคยเป็นเด็กด้วยสายเลือดชาวเพชรบุรี ปัจจุบันท่านอายุ 80 กว่าปีแล้ว ท่านเป็นคุณครู ภาษาไทยของพลอยโพยม ในปี 2510-2512 และศิษย์คนนี้ขอเรียกท่านว่าคุณครูไม่ใช้คำเรียกว่าอาจารย์ เพราะเป็นความผูกพันกับคำว่าคุณครูมาเนิ่นนานลึกซึ้งกว่าคำว่าอาจารย์ในความรูสึกของศิษย์คนนี้
คุณครูเล่าว่า ที่ลำน้ำเพชรบุรีที่ไม่กว้างนักในยุคนั้น ที่ริมฝั่งมีต้นโสนขึ้นที่ริมฝั่งเป็นระยะทางยาว มีทั้งสายบัว ผักบุ้งด้วย ในเทศกาลงานทอดกฐินของวัดบางสะพานใหญ่และวัดอื่นๆ อีกหลายวัดที่อยู่ริมน้ำ เมื่อถึงวันทอดกฐินซึ่งมักจะเป็นกฐินที่ทอดโดยคนพื้นที่ บรรดาลูกหลานญาติพี่น้องเพื่อนฝูงที่ร่วมคณะกฐินส่วนใหญ่ก็เป็นคนพื้นที่
ชาวบ้านที่อยู่ริมน้ำติดคลองก็มีขนบ ต้อนรับคณะกฐิน หรือบางทีก็เป็นเจ้าภาพกฐินจัดเตรียมการ ทอดดอกโสนชุบแป้งไว้รอคณะกฐิน นำเตาใส่เรือ ฟืนจุดไฟไว้ในเตาไฟมีกระทะ แป้งข้าวเจ้า นำมันหมู ล่วงหน้ามาก่อนคณะเรือพายของคนมาทอดกฐินจะมาถึง กะเวลาไว้อย่างรู้เวลาดีเพราะทำมาจนเป็นขนบแล้ว เมื่อมาถึงต้นโสนที่ออกดอกเรืองเหลืองอร่าม ก็โน้มดอกโสนจากต้นลงมาคลุกแป้งข้าวเจ้า ที่ไม่ได้ผสมน้ำจนเปียกแบบแป้งโกกิสมัยนี้นะคะ แป้งแค่หมาดๆ แล้วจับดอกโสนที่คลุกแป้งนี้ทอดน้ำมันหมูในกระทะ คนทำต้องมีศิลปะในการทอดด้วย ถ้าทอดไม่ดีดอกโสนก็ไหม้อับอายขายหน้าว่านี่ฝีมือใครทอด
ใช้เวลาเพียงนิดเดียวเองในการทอด แป้งเมื่อลงไปถูกน้ำมันที่ร้อนก็จะสามารถจับรวมตัวเป็นแผ่นหุ้มดอกโสนได้
ดอกโสนและแป้งสุกได้ที่ ก็คืนกิ่งดอกโสนกลับสู่ต้น ดอกโสนที่กลับไปประดับต้นโสนคราวนี้ก็กลายเป็นดอกโสนชุบแป้งทอด แล้วก็โน้มกิ่งอื่นๆ ลงมาทอดอีก สุกแล้วปล่อยคืนกลับที่ ทำแบบนี้ถัดต้นต่อไปเรื่อยๆ กะประมาณว่ามีให้คณะที่ร่วมมากับกฐินเพียงพอรับประทาน ต้นโสนและคณะพายเรือจะอยู่ฝั่งแม่น้ำเดียวกับที่ตั้งของวัดที่กำลังมุ่งหน้าไปทอดกฐิน
คนที่มาร่วมงานกฐินก็เป็นคนท้องถิ่นรู้ดีว่าตัวเองต้องทำอย่างไร ทุกคนจะเตรียมข้าวของตัวเองห่อใบบัวหรือใบตองแล้วแต่สะดวกหรือที่มีอยู่ พกน้ำพริกแห้งๆ เช่น น้ำพริกตาแดง น้ำพริกมะขาม น้ำพริกแมงดา ประมาณนี้ แล้วแต่ที่แต่ละคนชอบติดมาด้วย พายเรือผ่านผักบุ้งสายบัว ก็เก็บติดเรือมาด้วยจนมาถึงต้นโสนที่บนต้นมีดอกโสนชุบแป้งทอด ก็โน้มกิ่งดอกโสนลงมา เด็ดดอกโสนชุบแป้งทอดกินข้าวกับน้ำพริกที่เตรีมมา รวมทั้งผัก ที่เก็บมาจากริมน้ำเมื่อครู่นี้ ล้างผักด้วยน้ำในแม่น้ำนั้นแหละค่ะ แต่ทั้งนี้ที่วัดก็ยังมีของคาวหวานอื่นอีกอย่าเพิ่งนึกว่า มาทอดกฐินทั้งที กินแต่ข้าวและสายบัว ผักบุ้ง ดอกโสนชุบแป้งทอด นะคะ
แล้วคุณครูก็ติดตามคุณพ่อที่ไปรับราชการตำรวจไปเรื่อยๆ จนเรียนจบ แล้วมาเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนดัดดรุณีจังหวัดฉะเชิงเทรา แต่งงานกับคนฉะเชิงเทรา กลายเป็นคนแปดริ้ว ไปในที่สุด คุณครู มีเรื่องเล่า น่ารักๆ มากมายเกี่ยวกับบ้านเกิดที่เพชรบุรี
เป็นเทศกาลกินดอกโสนงานทอดกฐิน ที่สุดวิเศษ จริงๆ
แม่น้ำเพชรบุรี เป็นหนึ่งในเบญจสุทธคงคา อันประกอบด้วย แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำป่าสัก เจ้าพระยา แม่น้ำราชบุรี และแม่น้ำเพชรบุรี มีการตักน้ำเพื่อประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ ของพระมหากษัตริย์ นับแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นถึงปัจจุบัน เช่น พระราชพิธีตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่จะนำไปใช้ในพระราชพิธีราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ไทย
คุณครู เล่าว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงเคยเสวยน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี เพราะ น้ำในแม่น้ำเพชรบุรี มีรสชาติคล้ายน้ำฝนมาก รสชาติของน้ำที่เกิดจากน้ำฝนปนน้ำแม่น้ำ ค่อนไปทางเป็นน้ำฝน มีคำท้องถิ่น เรียกว่า น้ำมีน้ำหนัก
ขนบนี้ ทำกันตั้งตำบลและทุกวัด ที่อยู่ริมน้ำ ในสมัยนั้นค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น