วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
ชลวิถี.....ที่บางกรูด 4.......
กรบ
เป็นเครื่องมือประเภทแหลนสามเส้า ทำด้วยไม้ไผ่สามอันทำเป็นขากรบ ยาวอันละประมาณ 60 เซนติเมตร ส่วนปลายของขากรบ ประกอบด้วยเหล็กแหลมทั้งสามขา ส่วนโคนทำเป็นด้ามสำหรับจับ รูปร่างงอเหมือนหัวไม้เท้า ที่ปลายเหล็กแหลมอาจตกแต่งเป็นเงี่ยง เพื่อปลาจะได้ไม่ดิ้นหลุดไป
ฉมวก
สำหรับใช้แทงปลาคล้ายกรบและเป็นของใช้ติดบ้าน นอกจากใช้ในการแทงปลาแล้วยังเป็นของใช้ประจำบ้านสำหรับป้องกันอันตรายจากคนด้วยกันหรือสัตว์ร้ายอื่นๆ ที่อาจตั้งใจหรือพลัดหลงอย่างมิได้จงใจด้วยเช่น งูพิษ เป็นต้น
ฉมวก เป็นเครื่องมือขนาดเล็กใช้ตามหมู่บ้านชาวประมง ชาวบ้านริมน้ำ มักใช้ออกหาปลาเวลากลางคืนเดือนมืด ใช้เรือเล็กเป็นพาหนะ มีคนช่วยพายเรือไปด้วย พยายามเคลื่อนเรือไปอย่างเงียบๆ คนถือฉมวกยืนที่หัวเรือ อีกมือถือไต้จุดไฟหรือไฟฉาย เมื่อพบเห็นปลา หรือปูหรือสัตว์น้ำอื่นๆ ก็ใช้ความแม่นยำของตัวเองจ้วงแทงเต็มที่ เมื่อได้สัตว์น้ำก็ยกขึ้นเรือ
ฉมวกนี้ใช้ได้ทั้งในน้ำจืดและทะเล สัตว์น้ำที่จับได้เช่น ปลาดุก ปลาช่อน ปลาดุกทะเล ปลากระเบน ปูม้า ปูทะเล และแม้แต่ จระเข้น้ำเค็ม ( คนถือฉมวกก็กลายเป็นญาติของไกรทองไปด้วยเลยหากได้จระเข้มา แม้ว่าจระเข้ชาลวันที่ถูกไกรทองปราบนั้น เป็นจระเข้น้ำจืด)
ฉมวก มีทั้งฉมวกเดี่ยว ฉมวกสามง่าม ฉมวกปลาไหล
ขอล้วงปู (Crab Hook )
บางท้องถิ่นเรียกว่าขอขุดปู ทำด้วยเหล็กเส้นยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร ส่วนปลายทำให้โค้งคล้ายเบ็ด หรือขอ มีด้ามไม้สวมยาวประมาณสองเมตรเศษ หรือตามใจชอบและความถนัดของผู้ใช้
วิธีการใช้ ใช้ขอล้วงปูทะเลแหย่เข้าไปในรูปูในเวลาน้ำลด การสังเกตว่าเป็นรูปูทะเลคือการพิจารณาดูที่รอยตีนปูรอบๆปากรูปูว่าเป็นรอยตีนปูทะเล รูปูทะเลค่อนข้างใหญ่ตามขนาดของตัวปูนั่นเอง ในบางครั้งปูทะเลตัวใหม่ก็เข้ามาอาศัยรูปูเก่า ที่เจ้าของรูย้ายไปที่อื่นหรือถูกจับไปลงหม้อหรือกระทะไปแล้ว คนหาปูพอพบรูปูก็จะเอาขอล้วงปูแหย่เข้าไปในรู หากพบตัวปู ขอ ที่ปลายไม้จะกระทบกระดองปู มีเสียงดังแกรกๆ ให้ได้ยิน หากได้ยินเสียงกระทบของขอเหล็กก็มั่นใจได้เลยว่ามีปูทะเลอยู่ในรูแน่นอน แต่บางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะใช้ขอล้วงปูออกมาได้เช่นกัน พยายามจนหมดแรงคนหาปูกันเลยทีเดียว ก็ต้องพลิกแพลงหาวิธีใหม่ บางคนลงทุนขุดรูปูเข้าไปในโพรงดินเลย บางครั้งก็ต้องแปลกใจว่า ในรูปูนั้น บางรูก็เป็นทางตรง บางรูก็มีการหักมุมในรูปูข้างใน และบางครั้งรูปูทะเลลึกเกือบสามเมตรก็มี ไม้ขอยาวไม่ถึงก้นรู การกระทบกระดองปูของขอล้วงปูนั้นเพราะปูยังอยู่ไม่สุดปลายรูปูนั่นเอง
ประสบการณ์ที่เคยพบต้องประยุกต์ใหม่กับสถานที่ตั้งของรูปูด้วย คือหากเป็นร่องสวนขืนขุดรูปูเข้าไปมีหวังร่องสวนเสียหายแน่นอน ดังนั้นหากเป็นรูปูในสวนก็ไม่ใช้การขุดดินเข้าไป คนหาปูจะเอาลอบดักปลามาดักอุดที่ปากรูปู ไม่ต้องวางเหยื่อแต่อย่างใด เพราะปูทะเลมีธรรมชาติที่จะออกจากรูเมื่อน้ำขึ้นเพื่อออกมาหาอาหารกินนั่นเอง ดังนั้นตัวปูทะเลเองก็กลับตาลปัตรกลายเป็นอาหารของมนุษย์แทน เพราะพอออกจากรูก็หลงเข้าไปในลอบที่มีคนดักทางไว้อย่างสิ้นหนทางหลีกหลบ และปูไม่รู้ทันความพลิกแพลงของพวกมนุษย์ทั้งหลาย กว่าจะรู้ตัวก็หลงคลานเข้ามอยู่ในลอบเสียแล้ว
ทั้งกุ้งปลา และปู ซึ่งนับเป็นอาหารอันโอชะของมนุษย์ ล้วนแต่ถูกหลอกล่อในการจับมาเป็นอาหารด้วยวิธีการที่หลากหลาย
ไม่ใช่เพียงหลอกล่อปูเท่านั้น มนุษย์ยังมีความโหดร้ายในจิตใจ เลือดเย็นอีกต่างหาก
ถ้าปูถูกขอล้วงออกมาจากรูได้ คนหาปูที่คอยจ้องอยู่ก็จะเอามือตะครุบไล่จับด้วยความชำนาญ ก็จับกันด้วยสองมือเปล่านี่แหละ ทั้งๆที่ปูทะเลก็จะชูก้ามทั้งสองของปูออกมาทั้งต่อสู้และป้องกันตัวพัลวัน หากคนหาปูพลาดพลั้งก็จะถูกก้ามปูหนีบเอาต้องร้องโอดโอยกระโดดโลดวิ่ง ปูทะเลก็ใจเด็ด ไม่ยอมเลิกราปล่อยก้ามใหญ่ของตัวเอง เพราะรู้ว่านี่เป็นเดิมพันชีวิตปูของตน คนหาปูสลัดเท่าไรปูก็หนีบไม่ปล่อยเช่นกัน ปูบางตัวยอมสลัดก้ามตัวเองออกจากตัว ประเภทยอมสละอวัยวะบางส่วนเพื่อรักษาชีวิต ทำนองนั้นเลยทีเดียว หากรอดเงื้อมมือมนุษย์ในครั้งนี้ รอจนมีการลอกคราบ ก้ามปูจะงอกขึ้นมาได้ใหม่ได้
แต่หากปูพลาดพลั้งถูกจับได้จะถูกทำทารุณกรรม โดนหักปลายเล็บตีนของตัวเองออกมา 2 เล็บ คนหาปูจะเอาเล็บที่หักส่วนปลายแหลมออกมานี้เสียบค้างขัดที่รอยข้อต่อของบริเวณก้ามที่ขยับไปมาได้ทั้งสองก้าม เพื่อป้องกันไม่ให้ปูขยับก้ามปูมาหนีบมือคนหาปูได้อีกนั่นเอง (ช่างคิดกันจริงๆมนุษย์เรา) ปูทะเลนั้นไหนจะเจ็บปลายตีนที่ถูกหักเล็บแหลมออกมา ไหนจะเจ็บที่รอยเสียบที่ข้อต่อขยับของก้ามทั้งสองข้าง ปูทะเลก็หมดแรงสุดแต่มนุษย์จะจัดการต่อไป ปูบางตัวก็ถูกตอกอกเอามาทำกับข้าวภายในวันนั้น บางตัวก็ถูกขังไว้ก่อนกับน้ำขลุกขลิกอดอาหารอีกต่างหากจนถึงวันสิ้นชีพ
การขังปูทะเล หากไม่อยู่ในกระชังขังในน้ำถูกขังบนบกในภาชนะอื่นซึ่งมีน้ำในภาชนะเพียงเล็กน้อย ถูกมัดขาและก้ามด้วยเชือกและคลุมปิดภาชนะด้วยผ้าขาวบางชุบน้ำชื้นๆ ชาวบ้านเชื่อกันว่าหากปูทะเลถูกยุงกัดที่นัยน์ตาปูทะเลจะตาย จึงใช้ผ้าขาวบางชุบน้ำคลุมปิดที่ปากภาชนะไว้ แต่ในทางวิชาการอธิบายว่าปูตายเพราะขาดน้ำและความชุ่มชื้นรวมทั้งขาดอาหาร ความชุ่มชื้นแค่น้ำเพียงนิดหน่อยในก้นภาชนะไม่เพียงพอกับความต้องการ ปูบางตัวตายหลังถูกขังเร็วกว่าปูทะเลบางตัวเพราะสะบักสบอมกับการต่อสู้มาด้วย การใช้ผ้าขาวบางชุบน้ำนั้นเป็นการเพิ่มความชื้นให้ปูทะเลต่างหากที่ช่วยยืดอายุปูทะเลได้ไม่ใช่การป้องกันยุงมากัดนัยน์ตาปูอย่างที่ชาวบ้านเข้าใจกัน ผู้อ่านลองพิจารณากันเอาเองว่าจะเชื่อชาวบ้านดีหรือนักวิชาการดี พลอยโพยมเล่าสู่ให้อ่านทั้ง ความเชื่อของชาวบ้านที่บอกเล่ากันต่อๆมารุ่นแล้วรุ่นเล่าและคำชี้แจงของคนรุ่นใหม่ที่เรียกกันว่านักวิชาการ
ปูทะเลตัวใหญ่ก้ามใหญ่เมื่อนำมาทำอาหาร บางครั้งจะไม่ถูกทุบก้ามใหญ่ให้กินเนื้อได้ง่ายๆ ต้องรักษารูปทรงของก้ามไว้ ความลำบากก็เลยเกิดกับคนกินต้องค่อยๆแซะเนื้อปูออกมา เนื้อตรงก้ามใหญ่สุดแสนอร่อยจริงๆ ทั้งนี้เพื่อจะเอาก้ามปูมาแขวนเป็นกระดิ่งส่งเสียงดัง กรุ๊งกริ๊ง กรุ๋งกริ๋ง ยามถูกลมพัดให้เคลื่อนไหวแกว่งไกวไปมา เนื้อถูกกิน ก้ามเอามาทำกระดิ่งแขวน กระดองปูยังเอาไปทำของที่ระลึกได้อีก น่าสงสารประชากรปูทะเล จริงๆ นั่นเพราะเนื้อของเจ้าอร่อยมากนั่นเอง ปูทะเลเอ๋ย....
มีเครื่องมืออีกประเภทที่จะขอแยกออกไปเล่าสู่ต่างหากอีกตอน คือ อีจู้ ที่จะขอเล่าปิดท้ายของเรื่อง ชลวิถี.. ที่บางกรูด..
เครื่องมือที่เป็นไม้ไผ่ ใช้วิธีการรักษาสภาพให้คงทนด้วยการทาน้ำมันยาง
เครื่องมือที่เป็นเส้นด้าย หรือเชือกที่ทำจากด้าย ใช้วิธี ย้อมด้วยยางของผลไม้ดิบ เช่นมะพลับ หรือพลับไทย ตะโกดิบ โดยต้องต้มยางดิบกับน้ำบนเตาไฟ เอา สวิงแห อวน ตาข่าย ลงย้อม
ต่อมาเมื่อหมากหมดความสำคัญลง คนกินหมากกับพลูน้อยลงจนหมากพลูยาสูบแทบไม่มีราคา ก็มีคนคิดนำยางหมากดิบส่งออก ในการนำไปใช้สำหรับงานย้อมที่ต่างประเทศ แต่ในอดีตนั้นหมากไม่ได้นำมาใช้ในงานย้อมกัน
ปัจจุบันเครื่องมือจับสัตว์น้ำหลายประเภทเปลี่ยนจากงานจักสาน เป็นงานใช้วัสดุจากพลาสติก เป็นวัสดุประกอบ ในส่วนของด้าย เชือก ตาข่ายด้าย หวายที่ใช้ยึดหรือมัด ก็ใช้ไนลอนแทน บางประเภทก็เสริมด้วยเหล็ก บางประเภทยังคงใช้ไม้ไผ่เป็นแค่โครงสร้างของอุปกรณ์
ของใช้หลายประเภทยังคงมีใช้อยู่ แต่ปรับเปลี่ยนการสร้างหรือผลิต ด้วยวัสดุที่ทันสมัย คงทน กว่าเดิม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น