วันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
ขอเชิญท่านน้อมใจ...รับบุญกุศล...
พลอยโพยมไปปฏิบัติธรรมมา 14 วัน ที่ยุวพุทธิกสมาคม มี พระครูปลัด ประจาก สิริวณฺโณ วัดปรินายก กทม . พระสว่าง ติกฺขวีโร วัดมหาธาตุท่าพระจันทร์ และ พระมหาทองมั่น สุทฺธจิตฺโต วัดภัททันตะอาสภาราม ชลบุรี เป็นพระวิปัสสนาจารย์ โดยปฏิบัติ วิปัสสนากรรมฐาน ด้วยการเจริญสติปัฎฐาน 4
สติปัฏฐาน 4 เป็นคำสมาสที่มาจากคำว่า สติ และปัฎฐาน
สติ แปลว่าการระลึกรู้อารมณ์ที่ผ่านมาแล้ว ระลึกรู้อารมณ์ที่ยังมาไม่ถึง หรืออาจเป็นการระลึกรู้อกุศลกรรมที่เคยทำมาก่อน การระลึกรู้เช่นนี้ไม่จัดว่าเป็นสติตามหลักการปฏิบัติธรรม
เพราะสติตามนัยนี้เป็นสภาวธรรมฝ่ายดี หมายถึงการระลึกรู้สภาวธรรมปัจจุบันภายในร่างกายที่ ยาววา หนาคืบ กว้างศอก มีใจครอง
การที่นักปฏิบัติคิดถึงเรื่องที่ผ่านมาแล้วหรือคิดถึงเรื่องในอนาคต การระลึกรู้เช่นนั้นจัดเป็นความฟุ้งซ่าน หรือ อุทัทจจะ ไม่ใช่สติที่แท้จริง แม้การระลึกถึงอกุศลกรรมที่เคยทำมาก่อน ก็ไม่ใช่สติ แต่เป็น กุกกุจจะ คือความเดือดร้อนรำคาญใจที่อกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว หรือในกุศลกรรมที่ยังไม่ได้กระทำ
ความจริงแล้วการระลึกรู้สภาวธรรมปัจจุบันที่ปรากฏอยู่เฉพาะหน้าในปัจจุบันขณะ ไม่ว่าจะเป็นสภาวะพองยุบของท้อง สภาวะเคลื่อนไหวของเท้า เวทนาที่เป็นความรู้สึกทางกายและใจ สภาวธรรมทางจิตต่างๆ เช่นจิตที่ประกอบด้วยความโลภ ความโกรธ ความฟุ้งซ่าน เป็นต้น หรือสภาวะการเดิน เหล่านี้จัดเป็นสภาวธรรมที่กำลังเกิดขึ้นกับเราในปัจจุบันขณะและเป็นอารมณ์ของการเจริญสติปัฏฐาน
ความหมายของปัฏฐาน แปลว่าเข้าไปตั้ง หมายถึงความจดจ่ออย่างต่อเนื่อง
สติปัฏฐาน จึงหมายถึงการระลึกรู้ การตามรู้ หรือการกำหนดรู้อย่างจดจ่อต่อเนื่อง เป็นการกำหนดรู้สภาวธรรมปัจจุบันโดยจดจ่อสภาวธรรมปัจจุบันในแต่ละขณะอย่างต่อเนื่อง
สติปัฏฐานเป็นคำไวพจน์ของสัมมาสติ คือการระลึกชอบ มีอารมณ์ 4 ประเภท คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งพระพุทธองค์ทรงเน้นเรื่องการเจริญ กายานุปัสสนา มากกว่าสติปัฏฐานอื่น
“ เยเนว ยนฺติ นิพพฺพานํ พุทฺธา เตสญฺจํ สาวกา
เอกายเนน มคฺเค สติปฎฺฐานสญฺญินา “
พระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ และพระอริยสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าเหล่านั้น ย่อมไปสู่พระนิพพานด้วยทางสายใด ซึ่งเป็นทางสายเอก ทางสายนั้นนักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหลายรู้ทั่วกันถึงแล้วว่า ได้สติปัฏฐาน ๔ ดังนี้
พระพุทธองค์ ได้ตรัสไว้ในสติปัฏฐานสูตรว่า
“ เอกายโน อยํ ภิกขฺเว มคฺโค สตฺตานํ วิสุทฺธิยา โสกปริเทวานํ สมติกฺกมาย ทุกฺขโทมนสฺสานํ อตฺถงฺคมาย ญายสฺสํ อธิคมาย นิพฺพานสฺส สจฺฉิกิริยาย ยทิทํ จตฺตาโร สติปัฎฐานา “
แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางคือสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ เป็นทางสายเดียว ที่เป็นไปพร้อมเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความเศร้าโศกเสียใจปริเวทนาการต่างๆ เพื่อดับทุกข์ ดับโทมนัส เพื่อบรรลุมรรค ผล นิพพาน ดังนี้
วิปัสสนา แปลว่าเห็นแจ้ง เห็นอย่างวิเศษ หมายความว่าเห็นปัจจุบัน เห็น รูปนาม (กาย กับใจ) เห็นพระไตรลักษณ์ และเห็น มรรค ผล นิพพาน
ขอสรุปว่าพลอยโพยม ปฏิบัติธรรมด้วยการ รักษาศีล 8 ทำทาน และภาวนา
การปฏิบัติ มี 3 อย่าง คือ เดินจงกรม นั่งสมาธิ และกำหนดอิริยาบถย่อย ตั้งแต่ตื่นจนหลับในแต่ละวัน ต้องระลึกรู้ตัว ตลอดเวลา และที่สำคัญยิ่งยวดต้องกำหนดรู้การระลึกรู้นั้นๆ เช่น เห็นหนอ เดินหนอ หิวหนอ เบื่อหนอ ง่วงหนอ นั่งหนอ พองหนอ ยุบหนอ ฯลฯ ถ้าเป็นการเคลื่อน ต้องกำหนดรู้ ให้ทันอาการปัจจุบัน อย่างละเอียด เช่น การเดินจงกรม มี หกระยะ ตัวอย่างของระยะที่หก คือ ยกส้นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ ลงหนอ ถูกหนอ กดหนอ เป็นต้น การกินข้าว ดื่มน้ำ อาบน้ำ ทุกอิริยาบถ ที่เกิดการเคลื่อนไหวรวมทั้ง ความคิด ความรู้สึก ต้องกำหนดรู้อย่างละเอียด พร้อมทั้งตามดู รู้อาการ รู้ความคิดตลอดเวลา
ตัวอย่างเช่น การกราบพระแบบสติปัฏฐาน 3 ครั้ง ใช้เวลาประมาณ 20 นาที จึงกราบพระเสร็จ ในขณะที่บางคน ใช้เวลา 30 -35 นาที นอกจาก กำหนดรู้ขั้นตอน ที่กำลังทำอยู่นั้นอย่างละเอียดแล้ว ยังเพิ่มเติม ด้วยการรับรู้การเหยียด การคู้ การงอ การยืดตัว ก้มตัว ของแต่ละขั้นตอนเป็นต้น
สองสามปีมานี้ พลอยโพยมเข้าปฏิบัติธรรมเพื่อการเตรียมตัวตายสำหรับตัวเอง ที่ต้องตายแน่ๆแต่จะเมื่อไร ก็เมื่อนั้น เก็บสะสมสติปัญญาน้อยนิดของตัวเองเป็นอริยทรัพย์เพื่อเก็บใส่กระเป๋า หอบหิ้วไปขึ้นบ้านใหม่ในชาติภพหน้า
ซึ่งพลอยโพยม ปฏิบัติ ด้วยความตั้งใจ อดทน พากเพียร ปลื้มปิติ กับการได้เข้าปฏิบัติ จึงมีจิตขอน้อมนำส่ง ผลบุญกุศล ที่ได้เพียรปฏิบัตินี้มายัง ผู้เข้ามาแวะเยี่ยมชม Web Site นี้ ทุกท่าน
ขอให้ท่านทั้งหลาย มีความสุข ความเจริญรุ่งเรือง มีอายุวรรณะ สุขะ พละ จะเดินทางไปที่ใด ให้ปลอดภัยในที่ทุกสถาน ตลอดกาลทุกเมื่อ คิดหวังสิ่งใดในทางที่ชอบที่ควรขอจงสมปรารถนา ขอให้ อุดมด้วย ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ที่มีความสุขอยู่แล้วขอให้สุขยิ่งๆ ขึ้นไป ที่มีความทุกข์ จะทุกข์กายหรือทุกข์ใจ ขอให้บรรเทา เบาคลาย ทุกท่านเทอญ
การที่พลอยโพยมน้อมนำส่งกุศลผลบุญมานี้เป็นส่วนหนึ่งใน บุญกิริยาวัตถุ 10 ในข้อ 6
ขอให้ ผู้ อ่าน ทำจิตให้เกิดกุศล อนุโมทนา รับผลบุญนี้ ด้วยใจของท่าน อันเป็นบุญกิริยาวัตถุ10 ข้อ7
การอนุโมทนาพลอยยินดีกับผู้อื่นที่เขาทำความดีก็ถือเป็นบุญกุศลด้วยเช่นกัน การที่ใจเรามีความรู้สึกยินดีต่อความดีของผู้อื่นเช่นนี้ เป็นบุญที่เกิดจากการที่จิตใจตั้งอยู่บนฐานของความยินดี จิตเป็นกุศลเกิดขึ้นเราก็ได้บุญ วิธีนี้เป็นบุญที่ทำง่ายที่สุด เราเพียงอนุโมทนาบุญ เพียงพูดว่าสาธุ สาธุ สาธุ หรือขออนุโมทนาบุญด้วย ซึ่งจะเกิดบุญได้ เราต้องน้อมใจให้ ยินดีด้วยจริงๆ มิใช่แค่ปากพูด ยิ่งเรารู้สึกยินดีจากใจจริงมากเท่าไรเราก็จะได้บุญมากเท่านั้น นี่เป็นปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการยินดี
เมื่อคุณแม่ยังมีชิวิตอยู่ ครอบครัวของพลอยโพยมเข้าปฏิบัติธรรม ตามโอกาสที่มี ของแต่ละคนรวมกัน 5 คน ทุกครั้งทุกคนที่กลับมาจากปฏิบัติธรรม จะต้องมากราบคุณแม่ คุณย่า คุณยาย เพื่อให้ท่านอนุโมทนาบุญ คุณแม่ ขาหัก เดินไม่ได้มา 7 ปี พี่ชายสอนท่านให้ฝึกหัดปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน แบบเบื้องต้นด้วยการนั่ง และนอน เว้นการเดินจงกรม มา สามสี่ปีแล้ว ท่านจะรอรับการกลับจากปฏิบัติธรรมของทุกคน ในขณะท่านอนุโมทนารับบุญนั้น ท่านยิ้มแย้มเบิกบาน ยกสองมือพนม พูดเสียงดังแจ่มใสว่า อันบุญกุศลนี้ ข้าพเจ้าขอรับมา ด้วยความยินดีและเต็มใจอย่างยิ่ง สาธุ สาธุ สาธุ
ขอเสริมเรื่องบุญกิริยาวัตถุ 10 ประการ คือ
1.ทานมัย บุญเกิดจากการให้ทาน
2.ศีลมัย บุญเกิดจากการรักษาศีล
3.ภาวนามัย บุญเกิดจากการเจริญภาวนา
4.อปจายนมัย บุญเกิดจากการอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่
5.ไวยยาวัจจมัย บุญเกิดจากการขวนขวายในกิจที่ชอบ
6.ปัตติทานมัย บุญเกิดจากการให้ส่วนบุญ
7.ปัตตานุโมทนามัย บุญเกิดจากการอนุโมทนาส่วนบุญ
8.ธัมมัสสวนมัย บุญเกิดจากการฟังธรรม
9.ธัมมเทสนามัย บุญเกิดจากการแสดงธรรม
10.ทิฏฐุชุกัมม์ การทำความเห็นให้ตรง การปรับปรุงความคิดเห็นให้ถูก
และขอคัดลอกบทความของพระอาจารย์มหาทองมั่นเรื่องของศีล มาดังนี้
ศีล เป็นอาภรณ์อันประเสริฐ
สีลํ อาภรณํ เสฏฐํ
ฤดูที่ดอกไม้บาน เป็นฤดูที่ยังความรื่นรมย์ ให้แก่มนุษย์และสัตว์ ดอกไม้หลากชนิด หลายสี บานสะพรั่ง อวดสีและกลิ่นอยู่บนต้น บางอย่างหอมมาก บางอย่างหอมน้อย บางอย่างไม่หอมเลย บางอย่างสวยทั้งสีและกลิ่น บางอย่างสีสวยแต่ไม่มีกลิ่น บางอย่างไม่สวยทั้งสีและไม่มีกลิ่น บางอย่างหอมชั่วเวลาเช้า บางอย่างหอมตอนสาย บางอย่างหอมเวลาบ่าย บางอย่างหอมเวลาเย็น บางอย่างหอมเฉพาะกลางคืน บางอย่างหอมทั้งวันทั้งคืน แต่บางอย่างก็หอมทนอยู่ได้หลายวัน ถึงกระนั้นเมื่อเหี่ยวแห้งร่วงโรยแล้วก็หมดหอม ไม่มีดอกไม้ชนิดใดเลยที่จะหอมอยู่เป็นนิจทั้งในเวลาบานและโรยหล่น แม้เมื่อเวลาบานอยู่ ถูกลมพัดร่วงพรูจากต้น จนประดับพื้นดินจะยังมองดูงามแปลกตา และกลิ่นของมันยังหอมกรุ่นเป็นที่ชื่นชอบของผู้พบเห็น แต่เมื่อมันเหี่ยวแห้งอับเฉา ก็ไม่เป็นที่ต้องการของผู้ใด
แต่คนมีศีล มิเป็นเช่นนั้น คนมีศีลนั้นหอมอยู่เสมอ หอมทั้งตามลมและทวนลม หอมทั้งในเวลามีชีวิตอยู่และละโลกนี้ไปแล้ว เป็นที่ชื่นชมรักใคร่ของคนทั่วไปในเวลาที่มีชีวิต เป็นที่เสียดาย อาลัยรัก และกล่าวขวัญสรรเสริญถึงในเวลาที่ตายจากไป ทั้งนี้เพราะตลอดเวลาที่มีชีวิต คนมีศีลไม่มีพิษมีภัยต่อผู้ใด มีกิริยาวาจาละมุนละไมน่ารัก ไม่ฆ่าตีข่มเหงเบียดเบียนทำร้ายใคร ทั้งด้วยกายและวาจาประกอบด้วยความเมตตากรุณาแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่เป็นนิจ
พวงมาลัยดอกไม้หอมที่นายช่างบรรจงร้อยไว้อย่างมีระเบียบย่อมงดงามน่าดู ควรค่าแก่การเป็นเครื่องสักการะฉันใด คนที่มีกิริยาวาจานุ่มนวลเรียบร้อย งดงาม ก็ควรค่าแก่ความเคารพนับถือยกย่องฉันนั้น
ด้วยเหตุนี้ พระสีลวเถระองค์อรหันต์ ผู้สาวกของพระพุทธเจ้า จึงสรรเสริญ ศีล ว่า ศีล เป็นอาภรณ์คือเครื่องประดับอันประเสริฐ
คนมีศีลเป็นเครื่องประดับจึงงดงามทุกเมื่อ
ศีล คือความไม่ล่วงละเมิดของผู้มีเจตนาตั้งใจงดเว้นจากความชั่ว ทางกาย วาจา และอาจตลอดไปถึงใจด้วย
บางคนอาจจะไม่ล่วงละเมิดเพราะตั้งใจไว้ก่อน เช่นตั้งใจว่าจะไม่ฆ่าสัตว์ ก็ไม่ฆ่าตามที่ตั้งใจไว้ แต่บางคนก็ไม่ล่วงละเมิดโดยที่มิได้ตั้งใจไว้ก่อน ต่อเมื่อมีเหตุที่จะล่วงละเมิดเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ก็คิดงดเว้นไม่ล่วงละเมิดได้เอง เช่น เห็นงูพิษเลื้อยเข้ามาในบ้าน รู้ว่าเป็นงูพิษ ถ้ากัดใครเข้าถึงตายได้ จึงหยิบไม้หมายจะตีงูให้ตาย แต่แล้วเกิดเมตตาสงสารว่างูก็มีชีวิตเช่นเดียวกับเรา อย่าทำมันเลย ก็โยนไม้ทิ้ง ไล่งูเสียออกจากบ้าน การกระทำเช่นนี้ก็เป็นศีล แต่เป็นศีลที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า มิได้เจตนาคิดจะงดเว้นมาก่อน
ศีล จึงเป็นเครื่องขัดเกลา กาย วาจา รวมไปถึงใจ ให้สะอาด เป็นเครื่องขัดเกลากิเลสอย่างหยาบที่จะล่วงออกมา ทางกาย ทางวาจา เป็นต้น
โดย...พระมหาทองมั่น สุทฺธจิตโต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น