วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
หมู่ไม้......ในสายธาร
ดอกผักตบชวาจากวิกิพีเดีย
กอหญ้าตะกรับ
อีกต้นมะพลับ เคียงกับผอบ
พุดจีบพุงจาบ ตะขาบตะขบ
ตับเต่าผักตบ ตาตื่นพื้นเมือง
พรรณพฤกษา พระยาศรีสุนทรโวหาร น้อย อาจารยางกูร
ภาพจาก อินเทอร์เนต
ขออภัยที่จำแหล่งที่มาไม่ได้
ตบชวา
คนทั่วไปมักเรียกต้นตบชวา ว่าผักตบชวา ซึ่งในปัจจุบันกลายเป็นวัชพืช ที่ก่อความเดือดร้อนกับชาวน้ำไม่ว่า ลำคลอง หรือลำน้ำโดยถ้วนทั่วกันทั่วโลก ก็ว่าได้
หากเมื่อย้อนเวลาไปสักห้าสิบปีที่แล้ว พลอยโพยมก็เรื่องราวของตบชวาหรือผักตบมาเล่าสู่
มีอาชีพเกษตรกรอีกอาชีพหนึ่งที่ใช้เนื้อที่ไม่มากมายนัก นั่นคือการเลี้ยงหมู ซึ่งใช้เนื้อที่ในการเลี้ยงไม่มาก ชาวบางกรูดที่ไม่ได้ทำสวนทำนา ก็สามารถเลี้ยงหมูกันได้ คือเลี้ยงจำนวนน้อยตัว รอบ ๆ วัดบางกรูดจะมีชาวบ้านเลี้ยงหมูกันบ้านละ 3-4 ตัว บ้าง ส่วนบ้านที่มีสวนก็สามารถเลี้ยงได้ในจำนวนที่สามารถรับภาระกันในการเลี้ยงกันได้
อาหารหมูในสมัยพลอยโพยมยังเด็ก ก็คือ เศษอาหารในบ้าน รำข้าวซึ่งต้องผสมกับผักอย่างอื่น ที่นิยมคือต้นกล้วยหั่นขวางลำต้น เป็นชิ้นบางๆเล็กๆ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่าหยวกกล้วย ซึ่งใช้กันมาช้านาน ทุกบ้านที่เลี้ยงหมูต้องมีหยวกกล้วยกลิ้งไปกลิ้งมาประจำพื้นใกล้เล้าหมู
แต่แล้ววันหนึ่งก็มีสิ่งแปลกประหลาดไหลลอยมาตามกระแสน้ำ เป็นกอ ๆ สีเขียวๆ ต่อมาก็เล่าสู่กันว่านั่นคือต้นสวะ (ผักตบชวา ) และเอามาหั่นเลี้ยงหมูได้ และแล้วก็เกิดกิจกรรม พายเรือออกไปเก็บต้นสวะ (ผักตบชวา ) กลางแม่น้ำ ริมแม่น้ำ แล้วแต่ว่าต้นสวะนี้จะลอยเป็นจุดน่าสนใจหมายถึง มีปริมาณ เป็นที่น่าพอใจว่าพายไปเก็บตรงไหนกันดีนั่นเอง
แล้วก็เกิดวิธีการ การใช้ลำไม้ไผ่ ปักหลักริมแม่น้ำเป็นเสายึด ใช้ลำไม้ไผ่อีกเช่นกันนอนลอยตามผิวน้ำ กั้นเป็นแปลงสำหรับเก็บต้นสวะนี้ ( หากเปรียบเทียบ ก็คล้ายๆ กระชัง ขังต้นสวะ เพียงแต่ไม่ต้องทำตาข่ายใต้น้ำ) ชาวบางกรูดออกไปเก็บสวะกันอย่างตั้งอกตั้งใจ จนเต็มลำเรือแล้วหอบขึ้นฝั่ง เอามาหั่นผสมกับรำข้าวเลี้ยงหมู
พลอยโพยมเห็นแล้วตื่นเต้นกับปรากฏการณ์ ที่แต่ละคนเหมือนได้ของดีในลำน้ำ บางคนไม่เหน็ดเหนื่อยพายเรือเอาสวะมาขึ้นฝั่งแล้วพายเรือออกไปเก็บใหม่
สวะเหล่านี้ ประตูน้ำท่าถั่ว เปิดประตูระบายน้ำออกมา แล้วต้นสวะก็ลอยออกสู่แม่น้ำบางปะกง
บางคนก็พิถีพิถัน ได้สวะมาถึงสะพานท่าน้ำ ก็ เอาสวะล้างในแม่น้ำดึงเศษผงอื่นๆหรือล้างรากของต้นสวะเองให้สะอาด บางครั้งก็มีเหตุการณ์ระทึกใจว่ามีปลิงตามกอสวะ แล้ว เกาะดูดเลือด คนที่เอาตัวเองลงไปแช่ในน้ำด้วย เล่ากันไปเล่ากันมา ว่า เข้าไปข้างในตัวคนได้บ้าง ฟังแล้ว พลอยโพยมในขณะนั้น ออกจะกลัวต้นสวะเหล่านี้
แล้วไม่นานต้นสวะที่มีคนทำแปลงไม้ไผ่เลี้ยงไว้ ก็ ออกดอกชูช่อ เป็นสีม่วงอ่อน ส่งช่อดอกขึ้นมายิ้มรับทักทายสายตาผู้ที่แลชม
พลอยโพยมจึงเริ่มรู้สึกว่า ต้นสวะเหล่านี้ งามมาก ทั้งกอที่แตกลำก้านใบมันเขียวสด รับแสงตะวัน เมื่อยามชูช่อดอก เต็มแปลงไม้ไผ่ ยิ่งงดงามตระการตาน่าพิศวง
ชาวบ้านที่เลี้ยงต้นสวะเหล่านี้ไว้ จะหวงแหน ต้นสวะเหล่านี้กันมาก เพราะเป็นของที่เหนื่อยยากต้องพายเรือออกไปเก็บมาเลี้ยงแพร่พันธุ์ไว้ พลอยโพยมก็ได้แต่ชะเง้อชะแง้แลชม ตรึงตราตรึงใจกับ กลีบดอกสีม่วงอ่อน ซึ่งมีหกกลีบ และจะมีกลีบดอกบนสุดใหญ่กว่ากลีบอื่นๆมีลวดลาย คล้ายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดสีม่วง ไล่สีอ่อนระเรื่อไปหาสีม่วงเข้ม และมีสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดเล็กสีเหลือง อยู่ใจกลางอีกที รวมทั้งเกสรที่เป็นสีม่วงม่วงอ่อนช้อย ชูเรณูที่ละเอียดอ่อน กลีบดอกของดอกสวะบอบบางเห็นลายเส้นของกลีบทุกกลีบ บางกลีบดอกเส้นกลางก็จะมีสีม่วงเข้ม
ช่อดอกก็เรียงไล่รอบก้านที่ชูช่อขึ้นมา ช่างงดงามพ่างเพี้ยงพิศวง จริงๆ
ต่อมาเมื่อโตขึ้น จึงพบว่าต้นสวะที่เคยรู้จักและบางคนเรียกว่าต้นยะวา แท้จริงคือ ตบชวา มีที่มาที่ไป และปัจจุบันที่เป็นอยู่ดังนี้คือ
ภาพจาก http://pineapple-eyes.snru.ac.th
ผักตบชวา (อังกฤษ: Water Hyacinth)
เป็นพืชน้ำล้มลุกอายุหลายฤดู สามารถอยู่ได้ทุกสภาพน้ำ มีถิ่นกำเนิดในแถบลุ่มน้ำอะเมซอน ประเทศบราซิล ในทวีปอเมริกาใต้ มีดอก สีม่วงอ่อน คล้ายช่อดอกกล้วยไม้ และแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วจนกลายเป็นวัชพืชที่ร้ายแรงในแหล่งน้ำทั่วไป มีชื่อเรียกในแต่ละท้องถิ่นดังนี้: ผักปอด, สวะ, ผักโรค, ผักตบชวา, ผักยะวา, ผักอีโยก, ผักป่อง
ผักตบชวาผ้าฝีมือประดิษฐ์ของพลอยโพยม
ยังทำได้ไม่งามนัก สภาพไม่ดีดอกยับยู่ยี่ เก็บไว้เกือบสิบปีแล้ว ที่ประดิษฐ์และเก็บไว้เพราะเป็นดอกไม้ที่เคยชอบมากในวัยเด็กนั่นเอง
ขบวนเรือแห่หลวงพ่อทางน้ำ ตลอดระยะทางจะพบผักตบชวาล่องลอยอยู่ในลำน้ำตลอดระยะทาง
ผักตบชวาถูกนำเข้ามาในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2444 ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยนำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซียในฐานะเป็นไม้ประดับสวยงาม โดยเจ้านายฝ่ายในที่ตามเสด็จประพาสประเทศอินโดนีเซีย ได้เห็นพืชชนิดนี้มีดอกสวยงาม จึงนำกลับมาปลูกในประเทศไทย และใส่อ่างดินเลี้ยงไว้หน้าสนามวังสระปทุม จนกระทั่งเกิดน้ำท่วมวังสระปทุมขึ้น[1] ทำให้ผักตบชวาหลุดลอยกระจายไปตามแม่น้ำลำคลองทั่วไป และแพร่พันธุ์อย่างกว้างขวางในปัจจุบัน
ผักตบชวาที่มารอคอยรับเรือขบวนแห่หลวงพ่อโสธรทางน้ำ
ผักตบชวามีลำต้นสั้นแตกใบเป็นกอลอยไปตามน้ำ มีไหล ซึ่งเกิดตามซอกใบแล้วเจริญเป็นต้นอ่อนที่ปลายไหล ถ้าน้ำตื้นก็จะหยั่งรากลงดิน ใบเป็นใบเดี่ยวรูปไข่หรือเกือบกลม ก้านใบกลมอวบน้ำตรงกลางพองออกภายในเป็นช่องอากาศคล้ายฟองน้ำช่วยให้ลอยน้ำได้ ดอกเกิดเป็นช่อที่ปลายยอดมีดอกย่อย 3-25 ดอก สีม่วงอ่อน มีกลีบดอก 6 กลีบ กลีบบนสุดขนาดใหญ่กว่ากลีบอื่น ๆ และมีจุดเหลืองที่กลางกลีบ ขยายพันธุ์โดยการแยกต้นอ่อนที่ปลายไหลไปปลูก
บางปะกงที่ดูด้อยความงามเพราะผักตบชวา
ประโยชน์
การบริโภค ดอกอ่อนและก้านใบอ่อนกินเป็นผักลวกจิ้มน้ำพริกหรือทำแกงส้ม
ใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ เช่นหมู ใช้ทำปุ๋ยหมัก ก้านและใบอ่อนนำมารับประทานได้ เครื่องจักสานผักตบชวา
ด้านสมุนไพร ใช้แก้พิษภายในร่างกาย และขับลม ใช้ทาหรือพอกแก้แผลอักเสบ
ผักตบชวาที่สร้างความลำบากให้พระคุณเจ้าในการพายเรือบิณฑบาต
พระคุณเจ้าเล่าว่า ลึกเข้าไปในคลองบางทีพบกอใหญ่มาก
ผักตบชวาที่สร้างความลำบากให้ตากล้องอยู่หลายวันเพราะจะได้ภาพที่ติดกอผักตบชวามาด้วยเสมอ
ผักกตบชวา เร่ลอยเข้ามาตามลำคลอง
ผักตบชวารุกราน รุกล้ำ ยึดครอง ลำน้ำบางปะกง
ผักตบชวาจัดเป็น "เอเลี่ยน สปีชี่ส์" หรือ "ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น" ที่เข้ามาแพร่ระบาดรุกรานจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศน์ในประเทศไทย มีการแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ใน 1 เดือนผักตบชวาเพียง 1 ต้นอาจขยายพันธุ์ได้มากถึง 1,000 ต้น ถึงแม้น้ำจะแห้งจนต้นตายแต่เมล็ดของมันก็ยังมีชีวิตต่อไปได้นานถึง 15 ปีและทันทีที่เมล็ดได้รับน้ำที่เพียงพอมันก็จะแตกหน่อเป็นต้นใหม่ต่อไป[3] จนกลายเป็นปัญหาทางน้ำและทวีความรุนแรงจนเป็นปัญหาระดับประเทศ ทำให้รัฐบาลต้องเสียงบในการกำจัดผักตบชวาจำนวนมาก ซึ่งไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นอีกกว่า 50 ประเทศทั่วโลกก็เจอปัญหาเช่นเดียวกันนี้ จะมีก็แต่ประเทศในแถบยุโรปเท่านั้นที่ปลอดการรบกวน และบริเวณที่ถูกผักตบชวาคุกคามมากที่สุดคือ ทะเลสาบวิกตอเรีย ประเทศไทยเองมีการเริ่มกำจัดผักตบชวามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ถึงขนาดมีการออกพระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวา พ.ศ. 2456[4][5] ปัจจุบันมีหน่วยงานและองค์ก่อนต่างๆได้เข้ามาช่วยเหลือในการกำจัด เช่น นำไปผลิตเป็นของใช้ อาหารสัตว์ ทำปุ๋ย ฯลฯ และมีการนำแมลงมวนผักตบจากแหล่งกำเนิดที่ทวีปอเมริกาใต้ เข้ามาทดลองปล่อยในประเทศไทย เพื่อควบคุมจำนวนประชากรของผักตบชวา
ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย
บางปะกงที่หลุดพ้นผักตบชวาไปชั่วคราว แล้ว ยะวา เจ้าก็จะมาเยือนใหม่
ตบชวาลอยน้ำกำลังงามไม่รกไป
ผักตบชวาสามารถช่วยในการบำบัดน้ำเสีย โดยการทำหน้าที่กรองน้ำที่ไหลผ่านกอผักตบชวาอย่างช้าๆ ทำให้ของแข็งแขวนลอยต่างๆ ที่ปนอยู่ในน้ำถูกสกัดกั้นกรองออก นอกจากนั้น ระบบรากที่มีจำนวนมากจะช่วยกรองสารอินทรีย์ที่ละเอียด และจุลินทรีย์ที่อาศัยเกาะอยู่ที่ราก จะช่วยดูดสารอินทรีย์ไว้ด้วยอีกทางหนึ่ง รากผักตบชวาจะดูดสารอาหารที่อยู่ในน้ำ ทำให้ไนโตรเจนและฟอสฟอรัสในน้ำเสียจึงถูกกำจัดไป อย่างไรก็ตามไนโตรเจนในน้ำเสียนั้น ส่วนมากจะอยู่ในรูปสารประกอบทางเคมี เช่น สารอินทรีย์ไนโตรเจน แอมโมเนียไนโตรเจน และไนเตรทไนโตรเจน พบว่า ผักตบชวาสามารถดูดไนโตรเจนได้ทั้ง 3 ชนิด แต่ในปริมาณที่แตกต่างกันคือ ผักตบชวาสามารถดูดอินทรีย์ไนโตรเจนได้สูงกว่าไนโตรเจนในรูปอื่นๆ คือ ประมาณ 95 % ขณะที่ไนเตรทไนโตรเจน และแอมโมเนียไนโตรเจน จะเป็นประมาณ 80 % และ 77 % ตามลำดับ[6] สถานที่แรกในประเทศไทยที่ใช้การบำบัดด้วยวิธีนี้คือ "บึงมักกะสัน" ซึ่งเป็นโครงการบึงมักกะสันอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยใช้หลักการบำบัดน้ำเสียตามแนวทฤษฎีการพัฒนาโดยการกรองน้ำเสียด้วยผักตบชวา (Filtration)[7]
จากวิกิพีเดีย
มะกอกลอยไหลไปตามกระแสน้ำ
ที่บ้านพลอยโพยมเลิกเลี้ยงหมูไปนานมากแล้ว จึงไม่มีการพายเรือออกไปเก็บ ต้นสวะ หรือต้น ยะวา (ของชาวบางกรูด) แต่ก็มีรายการพิเศษ ออกไปพายเรือเก็บผลมะกอก ที่ลอยมาตามน้ำ มากมายเช่นกัน
ต้นมะกอกชายน้ำ
ในสมัยนั้น ที่สวนไม่มีต้นมะกอก ดังนั้นมะกอกที่หล่นลอยมาตามลำน้ำ เมื่อหล่นร่วงจากต้นที่มักปลูกชายน้ำ จะถูกกระแสน้ำพัดออกไปห่างฝั่งมาก จึงเป็นที่ต้องตา หมายใจ ที่เราจะพายเรือออกไปเก็บกัน ซึ่งจะมีช่วงเวลา ที่มะกอกเหล่านี้จะหล่นลอยน้ำมา จะเก็บได้ กะละมังใหญ่ เอามาเชื่อมและดองกินกันในบ้าน ต่อมาเมื่อปลูกต้นมะกอกเองก็เลือกปลูกริมฝั่งคลอง เพื่อให้ลูกมะกอกของเรา หล่นลงในน้ำ แล้วจะได้ลอยออกไปสู่แม่น้ำ เพิ่มสีสันให้เกิดความตื่นเต้นออกไปเก็บมะกอกลอยน้ำของบ้านอื่นๆ บ้าง
มะกอก
สำหรับในบ้านเอง พอมีต้นมะกอกปลูกเอง กลับไม่ค่อยได้กินมะกอกเชื่อม มะกอกดอง เพราะต้นมะกอก และต้นมะดัน เป็นที่ชื่นชอบของมดแดงมาก จะมีมดแดงหลายรังจับจองเป็นเจ้าของต้น รวมทั้ง เด็กๆ รุ่นใหญ่ แยกย้ายกันไปเรียนในกรุงเทพฯ กันเกือบหมด เหลือแต่เด็กรุ่นหลัง เหลือไว้เป็นเพียงความหลังมาเล่าสู่เวลาได้พบกัน ถึง การพายเรือออกไปเก็บมะกอกน้ำกัน แล้วก็ได้หัวเราะชอบอกชอบใจกับความหลังเหล่านี้
ดอกโศกที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน
ต้นโศกเป็นต้นไม้ที่ชอบขึ้นริมน้ำ
แต่บางที่ไม่เรียกต้นโศก เรียกเป็นอโศก
หมู่ไม้ในแม่กก จะแยกยกเยี่ยงอย่างยล
ก กา ทั้ง กง กน ว่าปะปนระคนกลอน
ไม้สักอีกไม้โศก ไม้อุโลกสูงสลอน
นางกวักเหมือนกวักกร นางบังอรกวักเรียกใคร
พรรณพฤกษา พระยาศรีสุนทรโวหาร น้อย อาจารยางกูร
บัวสายแดง
เหล่ามิ่งไม้ไทรโศกอยู่ริมห้วย ลมชวยหล่นลอยกระแสสินธุ์
น้ำใสแลซึ้งถึงพื้นดิน ฟุ้งกลิ่นสุมามาลย์บานระย้า
สัตตบุษย์บัวแดงขึ้นแฝงฝัก พรรณผักพาดผ่านก้านบุปผา
แพงพวยพุ่งพาดพันสันตะวา ลอยคงคาทอดยอดไปตามธาร
สาหร่ายเรียงเคียงทับกระจับจอก ผักบุ้งงอกยอดชูดูสะอ้าน
ภุมรินบินเคล้าสุมามาลย์ ในธาราปลาพล่านตระการตา
พระราชนิพนธ์ ขุนช้างขุนแผน
สันตะวาใบพาย
ชนิดที่เคยอยู่ชายฝั่งแม่น้ำบางปะกง ซึ่งขณะนี้จากอำเภอบางปะกงถึงอำเภอบางคล้าสูญพันธุ์ไปแล้ว
กระจับ
จอก
ยังมีพรรณไม้ชายน้ำอย่างต้นมะกอก อีกหลายพันธุ์ เช่น ปอทะเล โพธิ์ทะเล ลำพู ลำแพน พังกาหัวสุ่ม (ประสัก หรือขลัก) แสม ตะบูน จาก เหงือกปลาหมอ ต้นกก ต้นลุ่ย รังกะแท้ โกงกาง ไปยาลน้อย
ในธาราปลาพล่านตระการตา....
ลองติดตามอ่านนะคะว่า ปลาที่อยูในลำน้ำบางปะกง มีปลาอะไรบ้าง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น