วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554
ลำพูพุ่ม ชชัฏเชื้อ
๏ ลำพูพุ่มชชัฏเชื้อ ชายแหลม หลากนา
ใดประดับดับเดือนแรม เร่งพร้อย
หึงเห็นหิ่งห้อยแวม หวาดหวาบ อกเอย
คิดพ่างพวงเพชรห้อย ห่วงห้วงกรรณนาง ฯ
โคลงนิราศฉะเชิงเทรา
พระนิพนธ์: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทินกร กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์
ในบ้านเราเมื่อกล่าวถึงต้นลำพูก็ต้องมีการกล่าวถึงหิ่งห้อย เป็นของคู่กันมาเสมอแต่ครั้งโบราณ
ซึ่งหิ่งห้อยก็ไม่ใช่จะมีเฉพาะตามต้นลำพูเท่านั้น
เช่นในแถบอีสานนั้นว่ากันว่าหิ่งห้อยที่อีสานมักเกาะตามต้นทิ้งถ่อน และชาวอีสานก็เรียกหิ่งห้อยว่าแมงทิ้งถ่อน
ในโลกนี้มีหิ่งห้อยมากกว่า 2 พันชนิด กระจายอยู่ในทวีปเอเชีย ยุโรป ออสเตรเลีย อเมริกาเหนือและอเมริกากลาง พบทั้งในพื้นที่ระดับน้ำทะเลและบนภูเขา
ในไทย พบหิ่งห้อย 10 สกุล คาดว่ามากกว่า 100 ชนิด พบใน 4 ภาค 35 จังหวัด แม้แต่ภูเขาสูงภาคเหนือที่ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ห้วยช้าง จังหวัดแพร่ และพบว่ามีทั้งหิ่งห้อยบก หิ่งห้อยน้ำ)
(ข้อมูลจากโครงการหิ่งห้อยในพระราชดำริ โดย คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ)
ดังนั้นที่ว่าหิ่งห้อยคู่กับลำพู เป็นเรื่องเฉพาะถิ่นเท่านั้น
พลอยโพยมเคยเห็นหิ่งห้อยในภาพยนตร์เกาหลี เรื่องหนึ่ง
หิ่งห้อยที่เกาหลีตัวใหญ่มากวาววับเกาะอยู่ที่ต้นไม้ริมหนองน้ำ ( The CLASSIC คนแรกของหัวใจ คนสุดท้ายของชีวิต)
อีกเรื่องนางเอกชาวต่างจังหวัดเอาหิ่งห้อยใส่ภาชนะเป็นกล่องเอามาเลี้ยงดูในเมืองหลวง ในกล่องปูทราย มีใบไม้รอง และคงมีความชื้นเพียงพอ ไม่แน่ใจว่าเอามาเลี้ยงได้จริงหรือเป็นแค่ถ่ายภาพยนตร์เท่านั้น น่าจะเป็นเรื่อง INNOCENTSTEP
( ความจำเกี่ยวกับเกาหลีเริ่มโบยบินกลับไปเกาหลีเสียแล้ว เหินห่างวงการแฟนคลับมา สามปีแล้วนั่นเอง)
ภาพนี้หากพลอยโพยมรู้จักการโฟกัสภาพในตอนนั้น คงจะชัดและงดงามไม่แพ้ภาพข้างล่างถัดไป
ส่วนภาคอื่นๆของประเทศไทย และต่างประเทศ ก็คงไม่มีต้นลำพูให้หิ่งห้อยเกาะกระพริบแสงหาคู่โดยถ้วนหน้ากัน หิ่งห้อยแต่ละชาติพันธุ์ ก็คงมีวิมานฉิมพลีของตัวเองแตกต่างกันไปตามสภาพภูมิประเทศที่เหมาะสมกับหิ่งห้อยแต่ละสายพันธุ์
ภาพจากอินเทอร์เนต
แต่ที่ฉะเชิงเทราอย่างที่เล่าแล้วว่าตามริมฝั่งน้ำบางปะกง แนวชั้นนอก ชั้นในของป่าจาก ประกอบด้วยต้นจาก ต้นแสม ต้นลำพู ต้นโกงกาง ต้นคลัก ต้นตะบูน ต้นปอทะเล โพธิ์ทะเล ต้นลุ่ย ต้นรังกะแท้ เป็นต้น เราจะพบว่า หิ่งห้อยจะเกาะอยู่ตามต้นลำพูเป็นส่วนใหญ่ อาจจะมีพบเห็นบ้างเล็กน้อยตามต้นแสมจนต้องใข้คำว่าน้อยมากจริงๆ
มารู้จักดอกลำพู ตูมๆ กันก่อน
ขอเปลื้องเสื้อผ้าของดอกลำพู วัยรุ่น แค่ตูมตั้ง ยังไม่ผลิแย้ม
ภาพวิวัฒนาการของดอกลำพู
จากดอกตูม
เริ่มผลิบาน
บานแล้วร่วง
ผลของลำพู
ลำพูบานรอการโรยร่วง
เก็บดอกลำพูกองพื้นใต้ต้นลำพู ดูให้ฃัดเจน
นำกลับมาบ้านเพื่อรอดู การบานสะพรั้งของดอกลำพู
ดอกเดิมที่ยังบานไม่หมดดอกเริ่มร่วงโรยแล้ว
ที่กำลังบานในภาพนี้เป็นดอกที่แย้มกลีบดอกอยู่จากภาพบน
แม้แต่ที่บางลำพูในกรุงเทพฯ ก็จะกล่าวขานถึงเรื่องราวในอดีตของต้นลำพู คู่กับหิ่งห้อย
ซึ่งเรื่องราวของบางลำพูในกรุงเทพฯ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบางกรูดเลย เพียงแต่ ที่บางลำพู เคยมีต้นลำพู และหิ่งห้อยมากมายเหมือนที่บางกรูดเคยมี แต่พลอยโพยมก็อยากนำมาเล่าต่อในที่นี้ ดังนี้
บางลำพู เป็นชื่อย่านการค้าสำคัญในอดีต นับตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ จนถึงสมัยปัจจุบัน มีทั้งตลาดสด และตลาดขายสินค้าอุปโภคบริโภคนานาชนิด และยังเรียกคลองรอบกรุงส่วนที่ผ่านบางลำพูนี้ว่า “คลองบางลำพู” อีกด้วย
บางลำพู ชื่อนี้มีการถกเถียงถึงที่มา นักภาษาศาสตร์บางท่านสันนิษฐานว่า “ลำพู” มาจากคำว่า
“Su-ngai Lampu”เป็นภาษามลายูออกเสียงว่า“สุไหงลัมปู” แปลว่า คลองที่มีตะเกียง ซึ่งหมายถึง กระโจมไฟให้สัญญาณการเดินทางทางน้ำในสมัยโบราณ
บางท่านว่าเป็นเพราะแถบนี้มีตัวหิ่งห้อยซึ่งเป็นแมงที่มีแสงเรืองในตัวจำนวนนับพันตัวส่องแสงระยิบระยับราวกับตะเกียง ด้วยเหตุที่สันนิษฐานดังนี้ การเขียนชื่อ “บางลำพู” จึงเป็น “บางลำภู” อยู่ระยะหนึ่ง
จนถึงประมาณ ปีพ.ศ. ๒๕๔๐ มีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่ง ร่วมกันจัดทำโครงการ “ถนนคนเดิน” ได้ศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งประวัติศาสตร์ของชุมชนย่านบางลำพู
จึงเกิดการตื่นตัวเกี่ยวกับชื่อ บางลำพู ว่าชื่อนี้น่าจะมาจากต้นลำพู
ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง ชอบขึ้นตามริมน้ำป่าชายเลนที่มีน้ำกร่อยจนถึงน้ำจืด หรือบริเวณริมป่าที่ติดกับแม่น้ำลำคลองที่มีโคลนเลนและน้ำท่วมถึง
ซึ่งในสมัยโบราณเล่ากันว่าบริเวณนี้มีต้นลำพูขึ้นอยู่หนาแน่นกระจายไปจนถึงบริเวณสองฝั่งปากคลองรอบกรุง ความหนาแน่นของต้นลำพูบริเวณน้ำให้เกิดอาชีพสำคัญ คือการตัดรากของต้นลำพูเอาไปทำจุกปิดขวดยานัตถุ์ ขวดยาธาตุ และขวดเหล้า
พวกพ่อค้าแม่ค้าที่พายเรือมาตามลำน้ำเจ้าพระยาเพื่อจะเข้าคลองรอบกรุง จะใช้ดงลำพูนี้เป็นที่หมายว่าถึงปากคลองรอบกรุงแล้ว
ในตอนกลางคืนแสงระยิบระยับจากหิ่งห้อยที่ชอบเกาะอยู่ที่ต้นลำพู ก็เป็นที่หมายสำคัญว่าถึงคลองรอบกรุงแล้ว จึงเรียกที่หมายนี้ตามลักษณะสำคัญของบริเวณว่า “บางลำพู”และ“คลองบางลำพู”
สถานที่แห่งแรกที่แก้จากคำว่า“บางลำภู” มาเป็น “บางลำพู” คือ ที่ทำการไปรษณีย์บางลำพู ถนนสิบสามห้าง
บางลำพูเคยมีต้นลำพูอยู่หนาแน่น มีหิ่งห้อยส่องแสงระยิบระยับเกาะอยู่ที่ต้นลำพู เป็นภาพอดีตครั้งสร้างกรุงเทพฯ ปัจจุบันต้นลำพูเหลือเพียงกลุ่มเดียวในสวนสันติปราการ แต่ชุมชนก็ยังมีความน่าสนใจตรงที่เป็นปากทางคลองรอบกรุง ทั้งเป็นแหล่งรวมไทย จีน มอญ ลาว เขมรมาแต่อดีต เป็นย่านการค้าขายไม่เคยซบเซา มาจนทุกวันนี้
ข้อมูลจาก
http://203.155.54.156/archives/ruttana/downloads/38.pdf
น่าแปลกที่ ต้นจาก มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Nypa
โดยคำว่า Nypa นี้มาจากคำในภาษามาเลย์คือคำว่า Nipah
ต้นลำพู ยังถูกสันนิษฐานว่ามาจากภาษามลายูอีก
ปัจจุบันที่บางกรูด ยังคงมีต้นลำพูอยู่มากมาย สิ่งที่ขาดหายไปคือหิ่งห้อยเพราะระบบนิเวศวิทยาของชายฝั่งบางปะกงถูกทำลายไปนั่นเอง
ต้นลำพู...
ถือเป็นพรรณไม้ชายเลนและชายคลองสามารถเติบโตได้ดีได้ในที่ ทั้ง สามน้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อยและน้ำเค็ม
เป็นไม้พุ่มมีใบมาก ใบสีเขียวบางเป็นมัน เจริญเติบโตได้ดีใน น้ำกร่อย จนถึงน้ำจืด มีรากอากาศหายใจขนาดใหญ่ใช้แทนไม้ก๊อกเป็นจุกขวดและทุ่นลอยได้ ดอกสีขาวและสีชมพุ มีกลิ่นหอมน้อยๆ ผลแก่รับประทานได้รสอมเปรี้ยว มีเมล็ดมากเมื่อผลแก่หลุดจากขั้วจะลอยน้ำไป แพร่พันธุ์ได้
ลำพู
ชื่อพฤกษศาสตร์: Sonneratia caseolaris (L.) Engler
ชื่อพื้นเมือง: ลำพู
ชื่อท้องถิ่น: ลำพู
วงศ์ SONNERATIACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
นิสัย ไม้ต้นขนาดกลาง – ขนาดใหญ่ สูง 8 - 20 เมตร ราก ระบบรากแก้วหยั่งลึกลงไปในดิน มีรากพิเศษออกตามลำต้น เป็นรากหายใจรูปคล้ายกรวยคว่ำ เรียวแหลมไปทางปลายราก ลำต้น ต้นตรงมีเนื้อไม้ ไม่ผลัดใบ กิ่งห้อยย้อยลง ต้นที่อายุน้อยเปลือกเรียบ แต่เมื่ออายุมากขึ้นเปลือกจะหยาบ แตกเป็นร่องลึกเป็นสะเก็ด
ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม แผ่นใบรูปรี รูปรีแกมขอบขนาน ฐานใบรูปลิ่ม ปลายใบแหลมทู่ หรือ เรียวแหลมสั้น หรือ มนเป็นติ่งสั้น เส้นใบไม่เด่นชัด ก้านใบค่อนข้างแบน สีแดงเรื่อๆ
ดอก สมบูรณ์เพศ ดอกเดี่ยว ที่ปลายกิ่ง วงกลีบเลี้ยงเป็นหลอดตื้นๆรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉกลึก 8 แฉก รูปใบหอกแกมรูปสามเหลี่ยม แฉกยาวกว่าหลอด โคนกลีบเลี้ยงด้านในสีแดงอมชมพู กลีบดอกรูปแถบ หรือ ขอบขนานแคบ สีแดงเข้ม อยู่ระหว่างกลีบเลี้ยง
เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ก้านชูอับเรณูยาว 2.5 - 4 เซนติเมตร โคนก้านสีแดงปลายสีขาวชมพู ร่วงง่ายภายในวันเดียว
เกสรเพศเมีย รังไข่ใต้วงกลีบ ภายในมี 4 ห้องติดกัน ก้านเกสรยาว มีเม็ดไข่มาก
ผล เป็นผลมีเนื้อและมีเมล็ดขนาดเล็กหลายเมล็ดฝังอยู่ในเนื้อผล ผลรูปกลม ด้านแนวนอนยาวกว่าแนวตั้ง สีเขียวอ่อน กลีบเลี้ยงติดแน่นกับผลแบน ไม่มีสันแผ่แฉกกว้าง บานออกไม่หุ้มฐานของผล
ลักษณะเด่น ฐานกลีบดอกด้านในเป็นวงสีแดงเลือดนก มีจุดประขาวอยู่ในวงสีแดง โคนใบ หรือบริเวณกิ่งและก้านตรง ยอดอ่อนเป็นสีชมพู
นิเวศวิทยา ขึ้นในเขตป่าชายเลนที่น้ำกร่อยจนถึงน้ำค่อนข้างจืด หรือ มีช่วงระยะเวลาที่ระดับความเค็มของน้ำน้อยกว่า 10 % เป็นเวลานาน มักขึ้นเป็นกลุ่มตามริมชายฝั่งแม่น้ำที่เป็นดินเลนเหนียวและลึก
ออกดอกเดือนสิงหาคม - ธันวาคม และออกผลเดือนตุลาคม - กุมภาพันธ์
ประโยชน์ ผลสุกมีกลิ่นหอมและนิ่มรับประทานได้ รากหายใจ นำไปทำจุกไม้ก๊อกปิดขวด ทำเป็นทุ่นลอยในการประมง
ที่มาของจ้อมูล
http://tanhakit.blogspot.com/2010/12/blog-post_7871.html
นายเกษตร ไทยรัฐ เล่าว่า
ผลสุก มีรสเปรี้ยวอมหวานเล็กน้อย มีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นเนย สามารถรับประทานได้ จะใช้จิ้มพริกเกลือ หรือน้ำปลาหวานก็ได้ อร่อยมาก ผลห่ามเปรี้ยวจัดทำแกงส้ม หรือกวนทำซอส ดอกลวกพอช้ำรับประทานกับน้ำพริก หรือยำดอก “ลำพู” รสชาติเด็ดขาดจริงๆ เกสรของดอกกางออกลักษณะคล้ายร่มเด็กๆ ชนบทนิยมนำไปเล่นอย่างสนุกสนาน เนื้อไม้ แข็งแรงทนทานใช้ประโยชน์มากมายหลายอย่าง
ซึ่งที่บางกรูด ไม่เคยมีใครใช้ประโยชน์ จากดอกลำพูและผลลำพู นอกจากเป็นของเล่นของเด็กๆ จึงนับว่านี่ก็เป็นความรู้ใหม่ของพลอยโพยมเช่นกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น