วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2554
[บทความ] วัด..สัญลักษณ์ แห่งความศรัทธาของชาวพุทธ
วัด..สัญลักษณ์ แห่งความศรัทธาของชาวพุทธ
ในอดีตกาลครั้งที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนหลักธรรมที่ทรงตรัสรู้ได้โดยพระองค์เอง ได้ทรงเสด็จไปยังแคว้นต่าง ๆ เพื่อเผยแผ่พระธรรมคำสอน หมายพระทัยที่จะช่วยเวไนยสัตว์ ให้หลุดพ้นไปจากวัฎสงสาร มิได้ทรงประทับถาวร ณ ที่แห่งใด จนกระทั่ง เสด็จไปกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ของพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งเกิดความเลื่อมใสหลังจากได้ทรงสดับธรรมแล้ว ได้ถวายสวนไผ่ เวฬุวัน อันเป็นพระราชอุทยานสำหรับเสด็จประพาส ตั้ังอยู่นอกเมืองราชคฤห์ เป็นสังฆาราม เพื่อเป็นที่ประทับของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและคณะสงฆ์ วัดเวฬุวันมหาวิหาร ถือเป็นอารามหรือวัด แห่งแรกในพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่ใกล้เชิงเขาเวภารบรรพต อยู่ริมฝั่งแม่น้ำสรัสวดี
วัดแห่งที่สอง คือ วัดเชตวันมหาวิหาร ซึ่งสร้างโดยอนาถบิณฑิกเศรษฐี มหาเศรษฐีแห่งกรุงสาวัตถี ตั้งอยู่นอกเมืองสาวัตถี ของพระเจ้าปเสนทิโกศล ซึ่งเดิมเป็นพระราชอุทยานสำหรับเสด็จประพาสของเจ้าเชต เจ้าชายในราชวงศ์โกศลแห่งเมืองสาวัตถี ท่านอนาถบิณฑกเศรษฐีซื้อต่อมา เมื่อสร้างวัดถวายสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยใช้ชื่อวัดตามเจ้าของที่ดินเดิม ซึ่งพระพุทธเจ้าได้เสด็จประทับจำพรรษาที่วัดนี้ รวมถึง 19 พรรษา นับว่าทรงจำพรรษาที่วัดนี้ยาวนานที่สุด และเป็นวัดที่เกิดเรื่องราวต่างๆ ในครั้งพุทธกาลและพระสูตรในพระพุทธศาสนามากมาย วัดเชตวันมหาวิหาร ตั้งอยู่ทางใต้ของแม่น้ำราปติ หรือแม่น้ำอจิรวดีในสมัยพุทธกาล
วัดแห่งที่สาม คือ วัดบุพพาราม ของนางวิสาขา มหาอุบาสิกาผู้ได้รับยกย่องว่า เป็นหญิงงามเบญจกัลยาณี และต่อมาได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า เป็น เอตทัตคะ เป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในฝ่ายผู้เป็นทายิกา ( ผู้ถวายทาน) วัดนี้ ก่อสร้างเป็นโลหะปราสาทสองชั้น ควบคุมการก่อสร้างโดยพระโมคคัลลานะ โดยมีมูลเหตุมาจาก เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ ซึ่งนางวิสาขาได้ถอดและลืมไว้
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ได้เกิดธรรมเนียมจาริกแสวงบุญสักการะสังเวชนียสถาน ในสถานที่ ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และสถานที่เสด็จปรินิพพาน และธรรมเนียมการสาร้างพระบรมธาตุเจดีย์ประดิษฐานพระอัฐิธาตุ เพื่อเคารพบูชา ทั้งสามวัดในพุทธกาลดังกล่าวล้วนเกิดมาจากความเลื่อมใสศรัทธา ในพระธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งสิ้น วัดจึงถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความศรัทธาของชาวพุทธ
เมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามาประดิษฐานในประเทศไทย ธรรมเนียมการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์เพื่อเคารพสักการระบูชา มีมาแต่ครั้งสมัยทวารวดี ดังจะเห็นได้จากซากโบราณสถาน อันประกอบด้วยเจดีย์และอาคารประกอบอื่น ถือได้ว่าเป็นวัดแห่งแรก ๆ ในดินแดนประเทศไทย
วัดเป็นสถานที่สำคัญยิ่งสำหรับคนไทย เป็นศูนย์รวมของจิตใจของพุทธศาสนิกชน เป็นสถานเผยแพร่พระธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป เป็นที่ภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษา เป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้คนในชุมชน วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นแหล่งรวมความรู้ เป็นสถานศึกษา เป็นที่พึ่งทางใจทางกายด้วยความสงบร่มเย็นภายในวัด วัดเป็นสถานที่ทำบุญหรือประกอบพิธีกรรมทางศาสนา การทำบุญเป็นโอกาสที่คนในชุมชนได้มาพบปะสังสรรค์ เป็นสถานที่จัดมหรสพ การละเล่นต่าง ๆ
สำหรับผู้คนในสมัยโบราณ มักส่งบุตรหลานไปฝากกับพระเพื่อให้ได้เล่าเรียนหนังสือ อบรมจรรยามารยาท วัดจึงเป็นสถานที่ให้การศึกษาที่สำคัญในสมัยก่อน กุลบุตรเข้ามาศึกษาเล่าเรียนได้รับความรู้ อ่านเขียนหนังสือ ได้คำสั่งสอนหลักธรรมจากพระ บางครั้งยังมีโอกาสได้ศึกษาภาษาบาลี วัดมีพระภิกษุทำหน้าที่เป็นครูอบรมสั่งสอนศิษย์ ส่วนพระภิกษุก็ได้ศิษย์ไว้ปรนนิบัติรับใช้ เด็กบางคนเมื่อมีอายุพอสมควร ได้บรรพชาเป็นสามเณร ได้ศึกษาพระธรรมขั้นสูงขึ้นไปอีก เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ชายไทยส่วนมากมักอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ คนโบราณมักจะใช้คำว่าบวชเรียน เพื่อสื่อความหมายของการบวชเณรและบวชพระ ส่วนชายไทยรุ่นใหม่จะถูกปลูกฝังว่าการบวชพระนั้นบวชเพื่อทดแทนพระคุณพ่อแม่ หรือผู้มีพระคุณอื่น ๆ จนเป็นขนบธรรมเนียมว่าชายไทยส่วนใหญ่ ต้องบวชพระให้โยมพ่อ โยมแม่ได้เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ ซึ่งบางคนก็บวชเพื่อศึกษาพระธรรมคำสอนให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และบวชตลอดชีวิตก็มีเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ผู้มีอันจะกินในสมัยก่อนจะนิยมบริจาคที่ดินของตนเองสร้างวัดประจำชุมชนของตน ประวัติของวัดราษฎร์ส่วนใหญ่เกิดจากแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ดำเนินรอยตามครั้งพุทธกาล มีลูกหลานในวงศตระกูลอุปภัมภ์ค้ำชูวัดที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้สืบต่อกันมาหลายยุคหลายสมัย วัดเหล่านี้มีมากมายกระจายทั่วดินแดนแคว้นไทย
พื้นที่ภายในวัดแบ่งเป็น สามส่วนหลักดังนี้
1.เขตพุทธาวาส ถือเป็นเขตที่มีความสำคัญที่สุดของวัด กำหนดไว้ให้เป็นที่สำหรับพระสงฆ์ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา คือพระอุโบสถ อันเป็นที่ประกอบสังฆกรรม เช่นการอุปสมบท การรับกฐิน การสวดปาติโมกข์ ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานของวัด
นอกจากนี้ อาจมีวิหารพระ วิหารหรือหอพระไตรปิฎก หรือสถูปเจดีย์ ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
2. เขตสังฆาวาส เป็นที่อยู่อาศัยของพระภิกษุสงฆ์ คือ
กุฎิต่าง ๆ อันเป็นที่อยู่อาศัยของพระภิกษุ สามเณร
ศาลาการเปรียญ เป็นสถานที่สำหรับภิกษุสงฆ์แสดงพระธรรมเทศนา รวมทั้งพุทธศาสนิกชนสามารถใช้ประโยชน์เป็นสถานที่บำเพ็ญกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
โรงครัว สำหรับเป็นที่เก็บอาหารและประกอบอาหารของพระภิกษุสงฆ์
3 เขตธรรณีสงฆ์ คือพื้นที่นอกเหนือจากเขตพุทธาวาส และเขตสังฆาวาส เช่นฌาปนสถาน ศาลาต่าง ๆ โรงเรียนพระปริยัติธรรม สวนสาธารณะในวัด
สีมาและลูกนิมิตสีมาและซุ้มสีมา คือเครื่องหมายแสดงขอบเขตสำหรับการทำสังฆกรรมของพระภิกษุในเขตพระอาราม เขตสีมาเป็นเขตที่มีความสำคัญที่สุดของวัด ด้วยเป็นเขตหวงห้ามเฉพาะพระภิกษุ หากมีการทำสังฆกรรมใด ๆ เกิดขึ้นในเขตสีมาแล้ว พระภิกษุทุกรูปที่ก้าวย่างเข้ามาต้องเข้าร่วมสังฆกรรมด้วยทันที การที่พระพุทธองค์กำหนดเขตสีมาขึ้นมาก็เพื่อเป็นกฎระเบียบให้พระสงฆ์ปฎิบัติสังฆกรรมร่วมกันอย่างพร้อมเพรียง
ในสมัยพุทธกาลยังไม่มีการสร้างอุโบสถนั้น การทำสังฆกรรมต้องการเพียงพื้นที่โล่งที่มีการกำหนดขอบเขตชัดเจนเท่านั้น โดยเขตดังกล่าวกำหนดให้มีขนาดเล็กสุดสำหรับพระภิกษุสงฆ์ จำนวน 10 รูปขึ้นไปกระทำการได้และไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว เนื่องจากพิธีกรรมเน้นที่สาระมากกว่ารูปแบบ ต่อมาพระพุทธศาสนาได้รับการยอมรับมากขึ้น มีการปรับปรุงกฎระเบียบให้รัดกุมยิ่งขึ้น การกำหนดตำแหน่งสีมาจึงมีการกำหนดเป็นระเบียบแบบแผนชัดเจน เห็นได้จากวัดในสมัยสุโขทัย ที่มีการกำหนดตำแหน่งสีมาตรงกับทิศทั้ง 8 ล้อมพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า
นิมิต คือ วัตถุที่ใช้กำหนดเขตสีมา โดยนำมาวางเป็นเครื่องหมายให้คนเห็นเป็นหลักฐาน เช่นเดียวกับการกำหนดขอบเขตที่ดินในปัจจุบันในพุทธบัญญัติเดิมระบุไว้ว่า นิมิตที่ใช้กำหนดเขตสีมานั้นต้องเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้โดยง่าย อาจแสดงด้วยวัตถุ 8 ชนิด คือ ภูเขา ศิลา ป่าไม้ ต้นไม้ จอมปลวก หนทาง แม่น้ำและน้ำ แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ไม่มีความสะดวกที่จะใช้นิมิตตามธรรมชาติเหล่านี้ จึงนิยมสร้างนิมิตขึ้นมาแทน โดยนิยมสร้างเป็นลูกหินกลมขนาดใหญ่ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเรียก "ลูกนิมิต" หลังจากนั้นจะนำไปฝังลงดินที่ต้องการกำหนดเขต ส่วนใบสีมาก็คือเครื่องหมายที่แสดงให้รู้ว่าใต้ดินตรงนั้นมีลูกนิมิตฝังอยู่ พระอุโบสถที่สร้างเสร็จใหม่จะต้องกระทำพิธีผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิตก่อน จึงจะใช้ทำสังฆกรรมได้
บทความนี้คงพอคลายข้อสงสัยของพุทธศาสนิกชนที่เคยสงสัยยามไปแสวงบุญตามวัดสายปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ว่าทำไมวัดนี้ไม่มีโบสถ์ ไม่มีโบสถ์แล้วถือว่า สถานที่นี้เป็นวัดหรือไม่ เมื่อไม่มีโบสถ์แล้ว พระในวัดประกอบพิธีกรรมสังฆกรรมกันอย่างไร
ที่จังหวัดอุดรธานีมีวัดชื่อ "วัดนาหลวง" หรือ "วัดอภิญญาเทสิตธรรม" อยู่ที่ภูย่าอู อำเภอบ้านผือ เป็นวัดใหญ่ และไม่มีพระอุโบสถ สถานที่ใช้ทำสังฆกรรมเป็นศาลาใหญ่ โปร่งกว้าง และเป็นเขตที่วัดใช้คำศัพท์ว่า พุทธาวาส สำหรับพระสงฆ์ ทำวัตร สวดปาติโมกข์ รับกฐิน อุปสมบท มีพระพุทธรูป ประดิษฐาน และใช้เป็นที่ปฎิบัติธรรมของพุทธศาสนิกชน รวมทั้งการฟังธรรม โดยที่เขตพุทธาวาสนี้มีทุกอย่างครบถ้วนสำหรับพระอุโบสถต้องมี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น