วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554
[บทความ]..."บางปะกง" มุขยาภรณ์แห่งสายน้ำ...
[บทความ]..."บางปะกง" มุขยาภรณ์แห่งสายน้ำ...
จังหวัดฉะเชิงเทรา มีพื้นที่ติดทะเล จำนวน 5,351 ตารางกิโลเมตร โดยมีชายฝั่งทะเลยาว 15 กิโลเมตร ที่อำเภอบางปะกง พื้นที่ปากแม่น้ำบางปะกงมีที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอ่าวไทย หรือทางตอนใต้ของจังหวัดฉะเชิงเทราระหว่างละติจูด 13 องศาเหนือ และลองติจูด 100 องศาตะวันออก โดยมีพื้นที่อยู่ในเขตเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดฉะเชิงเทรากับจังหวัดชลบุรี โดยมีพื้นที่เกี่ยวเนื่องบางส่วนอยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี มีความยาวตามลำน้ำบางปะกง 23.4 กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัดฉะเชิงเทรา 22 กิโลเมตร
สภาพพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำบางปะกง...เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำและที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเลเกิดจากการทับถมของดินตะกอนแม่น้ำบางปะกงและจากทะเล สภาพโดยทั่วไปของพื้นที่ปากแม่น้ำบางปะกงมีคลองน้อยใหญ่กระจายอยู่ทั่วไปมากกว่า 40 คลอง
ระบบนิเวศทะเลและชายฝั่ง "แม่น้ำบางปะกง"
ชายฝั่งคือป่าชายเลนที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ พื้นที่ติดทะเลทำให้เมืองนี้ได้รับอิทธิพลจากลมบกและลมทะเลอย่างเต็มที่ และด้วยลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ ฉะเชิงเทราจึงชุ่มชื้นด้วยฝนที่ตกต้องตามฤดูกาล อันนำพาพืชพรรณธัญญาหารให้ผลิดอกออกผลสะพรั่งตลอดปี
ชนิดพรรณไม้ที่พบ และเป็นตัวแทนป่าชายเลนบริเวณปากแม่น้ำบางปะกง ได้แก่ จาก แสมขาว แสมดำ ปอทะเล โกงกางใบเล็ก ตะบูนขาว โกงกางใบใหญ ่และลำพู พบพรรณไม้น้ำที่มีความสำคัญต่อทรัพยากรประมง โดยพบพรรณไม้น้ำรวม 35 ชนิด สาหร่าย 2 ชนิด
ทรัพยากรประมงในระบบนิเวศน้ำกร่อยแม่น้ำบางปะกง พบพันธุ์ปลารวม 170 ชนิด ใน 53 วงศ์ ปลากลุ่มใหญ่ที่พบในบริเวณนี้ที่เป็นปลาน้ำจืด คือวงศ์ Cyprinidae ปลากลุ่มเด่นอื่นที่พบ ได้แก่ กลุ่มปลาบู่ในวงศ์ Eleotridae, Gobiidae, Ambassidae, Sciaenidae, Clupeidae และ Ariidae
- พบปลาที่อยู่ในสถานภาพมีแนวโน้มสูญพันธุ์ 5 ชนิด คือ ปลาหงอนไก่, ปลาม้าน้ำ (Hippocampus kuda), ปลากะพงขี้เซา (Lobotes surinamensis), ปลากระทิงไฟ (Mastacembelus erythrotaenia), ปลาปักเป้าสกุล (Chonerhinus)
- ทรัพยากรกุ้งเป็นทรัพยากรเป้าหมายทางการประมงในบริเวณนี้ที่สำคัญ ได้แก่ กุ้งก้ามกราม (Machrobrachium rosenbergii), กุ้งหัวมัน (Metapenaeus brevicornis), กุ้งตะกาด (Metapenaeus spp.), กุ้งแชบีวย (Penaeus merguiensis) และเคยตาดำ (Mesopodopsis orientalis)
- เมื่อพิจารณาองค์ประกอบชนิดโดยรวมของสัตว์หน้าดิน พบไส้เดือนทะเลและหอยเป็นกลุ่มเด่น
นอกจากนี้ยังพบ โลมาอิรวดี ซึ่งโลมาอิรวดีได้รับการจัดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองลำดับที่ ๑๓๘ (สัตว์ป่าคุ้มครองเป็นสัตว์ป่าที่เกิดในธรรมชาติและมีรายชื่ออยู่ในประกาศคณะรัฐมนตรีให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ห้ามล่า ห้ามครอบครอง หรือห้ามเพาะพันธุ์ เว้นแต่จะได้รับอนุญาต) สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) ก็จัดให้โลมาอิรวดีอยู่ในบัญชีตัวแดง (Red List) โดยอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างวิกฤต (Critically Endangered)
ชนิดพันธุ์พืชป่าชายเลน ได้แก่ จาก ลำพู หงอนไก่ทะเล แสม โกงกาง โปรงขาว โปรงแดง ปอทะเล โพทะเล พังกาหัวสุมดอกแดง พังกาหัวสุมดอกขาว ฝาดดอกขาว ฝาดดอกแดง ตะบูนขาว และตะบูนดำ...
ด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งวัฒนธรรมผสมผสานอย่างเห็นได้ชัดของคนไทยเชื้อสายจีน แม่น้ำบางปะกง นอกจากเป็นสายน้ำแห่งชีวิตหล่อเลี้ยงชีวิตริมน้ำ และเป็นประโยชน์ด้านเกษตรกรรมแล้ว ยังนับว่าเป็นสายน้ำที่มากด้วยมนต์เสน่ห์ งดงามยิ่งนัก สองฝากฝั่งบางปะกงยังคงอุดมด้วยต้นจาก ต้นลำพูที่หาดูได้ยาก แม่น้ำที่กว้างไกล เห็นพื้นน้ำระยิบระยับตาสะท้อนเงาแดดยามกลางวัน และแสงจันทร์ยามค่ำคืน...จนอาจกล่าวได้ว่า..."บางปะกง" มุขยาภรณ์แห่งสายน้ำอย่างแท้จริง...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น