วันอังคารที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2554
[บทความ] เขาอ่างฤาไน ..ป่าสมบูรณ์สุดท้ายของภาคตะวันออก - ตอนที่ ๑
[บทความ] เขาอ่างฤาไน ..ป่าสมบูรณ์สุดท้ายของภาคตะวันออก - ตอนที่ ๑
ความเป็นมาของ "เขาอ่างฤาไน "
ชื่อ "เขาอ่างฤาไน" ฟังชื่อเขาแล้ว เข้าบรรยากาศ โบราณ กาลครั้งหนึ่งของเรื่องราว ท่านพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ตำนานปูชนียบุคคลของชาวแปดริ้ว ...เขาอ่างฤาไน ก็นับเป็นตำนานสานสืบธรรมชาติป่าดงพงไพร ของชาวแปดริ้ว เช่นกัน
เป็นเรื่องน่าทึ่งไม่น้อยที่ฉะเชิงเทราซึ่งอยูู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ฯ ไม่ถึงหนึ่งร้อยกิโลเมตร และเป็นเมืองที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว (จนปัจจุบันเป็นกึ่งเมืองอุตสาหกรรมไปแล้ว ) จะเป็นดินแดนที่มีป่าไม้กว้างใหญ่และอุดมสมบูรณ์ที่สุดของภาคตะวันออก
ป่าแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่า "พนมสารคาม " ซึ่งในอดีตเคยมีอาณาเขตไพศาล ติดต่อกับป่าในประเทศกัมพูชา ป่าเขาสอยดาวของจังหวัดจันทบุรี และป่าเขาชะเมาจังหวัดระยอง จึงอุดมด้วยไม้มีค่าและได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ที่มีสัตว์ป่าชุกชุมที่สุดในประเทศ
เคยมีเรื่องเล่าจากพ่อค้าที่เดินทางมาค้าขายแถบลุ่มแม่น้ำบางปะกงเมื่อห้าสิบกว่าปีมาแล้ว ว่า กลุ่มพ่อค้าไทยที่ไปซื้อควายและสินค้าอื่น ๆ จากกัมพูชาต้องเดินทางผ่านป่าผืนนี้ โดยเริ่มเข้าป่าที่พนนสารคาม (ชื่ออำเภอของจังหวัดฉะเชิงเทรา) ผ่านวังน้ำเย็น และคลองหาด (เดิมเป็นอำเภอในจังหวัดปราจีนบุรี ปัจจุบันเป็นอำเภอในจังหวัดสระแก้ว) กว่าจะเข้าเขตกัมพูชาได้ ต้องใช้เวลาถึงเดือนครึ่ง ป่าในขณะนั้นหนาทึบด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นเบียดเสียดหนาทึบ และตลอดเส้นทางที่พักแรมต้องจัดเวรยามตลอดเวลาเพื่อระแวดระวังภัยจากสัตว์ร้าย ที่มักลอบมาทำร้ายผู้เดินทาง
คุณค่าของป่าแห่งนี้เหลือคณานับ ที่สำคัญคือเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำบางปะกงเส้นเลือดใหญ่ของชาวฉะเชิงเทรา ลำธารที่ไหลลงแม่น้ำบางปะกงคือ คลองระบม คลองสียัดและคลองตะเกรา ทางตะวันออกของบริเวณเทือกเขาสิบห้าชั้นเป็นต้นน้ำลำธารคลองของคลองพระสะทึงใหญ่ที่ไหลลงสู่แม่น้ำปราจีนบุรี ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำบางปะกง ส่วนด้านจันทบุรีมีคลองโตนด ต้นน้ำที่เกิดจากเทือกเขาสิบห้าชั้นแล้วไหลลงสู่ทะเล ด้านชลบุรีและระยองก็มีลำห้วยหลายสายที่ไหลลงสู่แม่น้ำประแสร์ ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของจังหวัดระยอง ในฤดูฝน ป่าแห่งนี้จะดูดซับน้ำไว้มิให้ไหลลงสู่แม่น้ำมากเกินไปจนเกิดอุทกภัย และพอถึงหน้าแล้งก็จะปล่อยน้ำลงสู่แม่น้ำลำธาร ช่วยบรรเทาความแห้งแล้งและบำรุงพื้นที่เพื่อเกษตรกรรม
ความอุดมสมบูรณ์ของป่าทึบแห่งนี้เริ่มแปรเปลี่ยนไปเมื่อมีการก่อสร้างทางหลวงสายอู่ตะเภา-กบินทร์บุรี-โคราช ในปี ๒๕๐๖ ซึ่งแบ่งแยกป่าภาคตะวันออกกับป่าภาคอีสานออกจากกัน ตามด้วยเส้นทางจากสระแก้วไปโป่งน้ำร้อน (ปัจจุบันคืออำเภอสอยดาว) ซึ่งตัดพื้นที่ป่าไทยออกจากป่ากัมพูชาอีก ถนนหลวง ได้นำพาผู้คนจากภาคต่าง ๆ หลั่งไหลเข้ามาตั้งรกรากถิ่นฐานและถางป่าเพื่อทำกิน ที่ร้ายยิ่งไปกว่านั้นก็คือพื้นที่ป่าภาคตะวันออกได้มีผู้รับสัมปทานทำไม้เป็นเวลานาน ป่าไม้จึงถูกทำลายลงจนกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม สัตว์ป่าถูกล่าจนเหลือน้อยลงทุกที ป่าพนมสารคามหมดสภาพ และถูกแบ่งออกเป็น อำเภอสนามชัยเขต ในวันนี้ พื้นที่ป่าในอำเภอพนนมสารคามและสนามชัยเขตได้สูญสลายไปแล้วอย่างสิ่นเชิง
โชคดีที่ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐบาลได้กันพื้นที่กิ่งอำเภอท่าตะเกียบ( ปัจจุบันยกขึ้นเป็นอำเภอ)ซึ่งแบ่งแยกออกอำเภอสนามชัยเขต ไว้เป็นป่าอนุรักษ์ได้ทันท่วงที และประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในชื่อว่า "เขาอ่างฤาไน " และใน พ.ศ. ๒๕๓๑ ได้ประกาศพื้นที่ป่าแห่งนี้เป็นป่ารอยต่อห้าจังหวัด เพราะมีอาณาเขตครอบคลุมต่อถึงห้าจังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และปราจีนบุรี ทว่าเป็นที่น่าเสียดายที่ขณะนี้พื้นที่ป่าในจังหวัดปราจีนบุรี คือส่วนที่เป็นจังหวัดสระแก้วในปัจจุบัน และวังน้ำเย็นไม่มีป่าเหลืออยู่แล้ว อำเภอบ่อทองของชลบุรีก็เช่นเดียวกัน ส่วนเขตเขาชะเมาของระยองก็ถูกตัดขาดด้วยไร่อ้อยที่รายรอบ " เขาอ่างฤาไน" จึงเป็นผืนป่าสมบูรณฺ์ผืนสุดท้ายของภาคตะวันออกจริง ๆ
เขาอ่างฤาไน มีเนื้อที่ ๖๔๓,๗๕๐ ไร่ ทิศเหนือครอบคลุมอำเภอท่าตะเกียบ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา และอำเภอวังน้ำเย็นจังหวัดสระแก้ว ทิศตะวันออกครอบคลุมอำเภอวังน้ำเย็นจังหวัดสระแก้วและอำเภอโป่งน้ำร้อน (ปัจจุบันคืออำเภอสอยดาว) จังหวัดจันทบุรี ทิศตะวันตกอยู่ในอำเภอบ่อทองจังหวัดชลบุรี และทิศใต้อยู่อำเภอแกลงจังหวัดระยอง กิ่งอำเภอหางแมว อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
เขาอ่างฤาไน เป็นป่าลุ่มต่ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย ไม้ที่ครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของป่า คือไม้ตะแบกใหญ่ ซึ่งมีฤดูกาลที่จะออกดอกสีสันสดใส สวยสะพรั่งไปทั้งป่า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น