วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2554
เรื่องเล่า เขาอ่างฤาไน สนามชัยเขต เหตุเกิดที่หนองคอก
เรื่องเล่า เขาอ่างฤาไน สนามชัยเขต เหตุเกิดที่หนองคอก
เรื่องที่เกี่ยวพันกับเขาอ่างฤาไน ที่ผู้เขียนขอแยกเล่าเรื่องเพิ่มเติมในส่วนของอำเภอสนามชัยเขต และหมู่บ้านหนองคอกอันเป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลคลองตะเกราอำเภอท่าตะเกียบ เพื่อแยกเรื่องเล่าออกไม่ปะปนกับเรื่องทางการของ เขาอ่างฤาไนที่กิ่งอำเภอสนามชัยเขต ในราว พ.ศ. 2521-2522 (ก่อนการปรับเป็นอำเภอ) ผู้เขียนทำงานอยู่ที่ธนาคารเอเชีย จำกัด สาขาฉะเชิงเทรา ( ธนาคาร ยูโอบี ในปัจจุบัน) ซึงเป็นสาขาเปิดใหม่ในปี พ.ศ.2521 ประชาชนชาวแปดริ้วให้การตอบรับกับการเปิดสาขาใหม่เป็นอย่างดี วันหยุดทำงานเสาร์อาทิตย์ พนักงานสาขาก็ไม่มีวันหยุด เราจะแยกย้ายกันออกไปหาเงินฝากเพิ่มเติมหลังสาขาเปิดทำการแล้วเกือบหนึ่งปี เพราะในช่วงการไปหาลูกค้าก่อนการเปิดสาขา ก็จะมีข้อมูลของลูกค้าเป้าหมาย ที่ได้รับการบอกต่อจากปากของลูกค้าเองมากมายที่ยังไม่ได้ไปเชิญชวนมาเป็นลูกค้าของธนาคาร ฯ
มีวันหยุดครั้งหนึ่ง ที่หัวหน้าของผู้เขียน คือสมุห์บัญชี พนักงานสินเชื่อ และพนักงานเคาน์เตอร์ (ชื่อเรียกตำแหน่งงานในสมัยนั้น) ซึ่งเป็นบุตรสาวของผู้จัดการสาขาเอง รวม 3 คน ได้ไปหาลูกค้าเป้าหมายที่ กิ่งอำเภอสนามชัยเขต ในวันเสาร์หนึ่ง แล้วไม่กลับมา คือหายไปทั้งวันทั้งคืน กลับมาวันอาทิตย์ตอนสายจัด และในเช้าวันจันทร์ เพื่อนที่ไป 2 คน ก็มีเรื่องเล่าให้เพื่อนคนอื่น ๆ ตกใจกันไปตาม ๆ กัน เรื่องมีอยู่ว่า
หลังจากตระเวนหาลูกค้าตั้งแต่สายจนเย็นแล้วของวันเสาร์ ก็มุ่งหน้าจะกลับมาที่ตัวเมือง ระหว่างทางขับรถจะออกจากถนนของหมู่บ้าน สองข้างทางนั้นมีบางช่วงเป็นป่าละเมาะ รถปิ๊กอัพที่ใช้เป็นพาหนะเกิดติดหล่ม ในขณะที่เย็นใกล้ค่ำ ทำอย่างไรก็ไม่สามารถนำรถขึ้นจากหล่มได้ จนความมืดโรยตัว ทั้งสามคน ( เพื่อน 2 คน หัวหน้า 1 คน) ตัดสินใจเดินย้อนเข้าหมู่บ้านที่มองเห็นอยู่ลิบๆ หลังจากล๊อครถเรียบร้อย ตกลงใจกันว่าต้องไปขอนอนในหมู่บ้านข้างหน้า แต่ในระหว่างเส้นทางไปสู่หมู่บ้าน มีบ้านเล็ก ๆ หลังหนึ่งอยู่ข้่างทางที่จะต้องเดินผ่านไป
เมื่อเข้าไปใกล้ก็ได้ยินเสียงดังเอะอะโวยวายกันในบ้าน เพื่อน ๆ แปลกใจว่าเขาจะทำอะไรกันจึงหยุดฟังก่อน ( ประเภทอยากรู้ อยากเห็น อยากฟัง..ทำนองนั้น) แล้วก็ต้องตกใจ ( ผู้เขียนจินตนาการเอาเองในขณะเขียนว่าเขาสามคน คงต่างเอามือของตนขึ้นมาปิดปากตัวเองไว้ ทำตาโตเท่าไข่ห่าน ยกบ่าตัวเองขึ้นไปชิดติดลำคอ หรือพูดสั้น ๆ คือ กลัวจนหัวหดนั่นเอง ) เพราะ เสียงเหล่านั้นเป็นการเตรียมการจะออกไปปล้นสถานที่แห่งหนึ่ง ทุกคนตกใจกลัวกันมาก (แน่นอนอยู่แล้ว คนฟังเรื่องเล่าก็ยังมีอารมณ์ร่วมกลัวไปด้วย) พวกเขาค่อย ๆ ถอยห่างออกจากบ้านหลังนั้น แล้วย้อนกลับไปยังจุดเดิมที่ใกล้กับรถที่จอดอยู่ แล้วก็หาพื้นที่ข้างทางซึ่งเป็นป่าละเมาะซ่อนตัวอยู่หนึ่งคืน โชคดีที่กลุ่มคน (กลุ่มโจร) ที่กำลังจะไปปล้นคนอื่นนั้น ไปคนละเส้นทางกัน คือไม่ได้ย้อนเส้นทางมาทางด้านที่มีรถจอดติดหล่มอยู่
ทั้งสามคนหลับ ๆ ตื่น ๆ อยู่ในป่า อยู่ 1 คืน ทั้งหวาดระแวง หวั่นกลัวกลุ่มคนที่กำลังทำตัวเป็นโจร กลัวก็กลัวเหลือแสน มืดก็มืด จนแทบไม่ได้ใส่ใจกับเหลือบยุงริ้นไร ที่ไต่ตอมกัดกินเลือดเนื้อ จนรุ่งเช้าจึงเดินไปที่หมู่บ้าน หาคนมาช่วยเอารถขึ้นจากหล่มได้ (ถามว่าผ่านบ้านโจรไหม ก็ผ่านแต่บ้านเงียบมากไม่รู้ว่ากลับมาหรือยังหรือกลับมาแล้วหลับกันทีั้งบ้าน) พวกเขาไม่ได้เล่าเรื่องนี้กับคนในหมู่บ้าน ต้องใช้คำว่า ปิดปากเงียบทำนองนั้น ตำราพิชัยสงครามจีนของซุนหวู๋กล่าวว่า รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง เราชาวแบงค์ ต้องท่่องจำให้ขึ้นใจในการออกไปหาลูกค้า คราวนี้ ต้องใช้คำว่า ไม่รู้เขา รู้แต่เรา เสียแล้ว ต้องทำตัว เงียบไว้ เงียบไว้ เชียวละ
เพื่อนพนักงานคนอื่นแปลกใจหลังจากหายตกใจกับชะตากรรมของเพื่อน 2 คน กับ หัวหน้า 1 คน มาก ว่า บ้านเรามีเรื่องอย่างนี้ด้วยหรือ มีคนเป็นชาวบ้านในตอนกลางวัน พอกลางคืนก็รวมตัวเป็นโจร มีอาวุธ ออกปล้นคนอื่นที่หมู่บ้านอื่น
ผู้เขียนฟังแล้วไม่แปลกใจนัก เพราะในสมัยที่ยังเป็นนิสิตในมหาวิทยาวลัย มีเพื่อน ๆ ที่ไปเข้าร่วมค่ายอาสา แยกย้ายกันไปหลายค่าย ร่วมกับนิสิตต่างคณะก็มี เป็นชมรมค่ายอาสาสมัครก็มี เป็นกิจกรรมภาคฤดูร้อนที่ฮิตมากในสมัยนั้น มีเพื่อนเคยมาที่อำเภอพนมสารคาม มาถามผู้เขียนว่า จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นอยู่กันอย่างไร เขาเคยมาตั้งค่ายพัฒนาที่อำเภอพนมสารคาม (น่าจะเป็นแถบสนามชัยเขตมากกว่า) มีคนพาไปทำความรู้จักกำนันในพื้นที่คนหนึ่งที่ชาวค่ายไปขอความร่วมมือ ถ้าใครมาย่านนี้ ต้องไปคารวะเจ้าที่ เจ้าทางของท้องถิ่นก่อนนั่นเอง เพื่อนถามว่า "นี่เธอ ทำไมกำนันที่จังหวัดเธอ ใหญ่โตจริง ๆ บารมีคับอำเภอเลย บ้านช่องใหญ่โตกว้างขวางอย่างที่ต้องมีคำว่ามาก ๆ ต่อท้ายด้วย ลูกน้องบริวารล้อมหน้าล้อมหลัง ท่าทางเหมือนพวกกำนันอิทธิพลในหนังไทยเลย แต่เขาใจดีนะ ต้อนรับพวกนิสิต นักศึกษาที่ไปตั้งค่ายอาสาพัฒนาอย่างดี เลี้ยงดูปูเสื่อเอิกเกริกเกรียวกราว เรานึกว่ากำนันที่มีลูกน้องถือปืนล้อมหน้าล้อมหลังยังกับหนังไทยนั้น มีแค่ในภาพยนตร์เสียอีก นี่มาเจอของจริง ตัวจริง เสียงจริง เชียวละ " ผู้เขียนก็เลยตอบไปว่า "เธอคงไปแถบ ๆ ที่ อยู่ไกลตัวเมือง เป็นป่าอยู่กระมัง ก็คงมีแบบนั้น และคงยังมีอีกมากมายหลายจังหวัด ไม่มีเฉพาะแต่ที่ฉะเชิงเทราหรอกน่าไม่ต้องแปลกใจ " (ตอนนั้นก็พูดเอาตัวชาวแปดริ้ว รอดตัวไปเท่านั้นเอง ไม่ได้คิดอะไรมาก)
เรื่องการผจญภัยชาวแบงค์ ที่สนามชัยเขต ผู้เขียนยังจำได้มาจนทุกวันนี้ ก่อนเขียนเรื่อง ก็โทรศัพท์ไปสอบถามเรื่องราวจากเพื่อนที่เป็นลูกสาวของผู้จัดการในสมัยนั้น เสียค่าโทรศัพท์ตั้งแพง เพราะเธอกำลังไปทำธุระที่ญี่ปุ่นพอดี เพื่อนหัวเราะว่าแหมยังจำได้อีก ไม่ได้ร่วมผจญภัยด้วยสักหน่อย การ confirm เรื่องครั้งนี้ ค่าโทร ฯ แพงทีเดียว นาทีละ เจ็ดแปดสิบบาทกระมัง
ส่วนหัวหน้า พี่สมุห์บัญชี (ภายหลังก็ย้ายไปเป็นผู้จัดการสาขา) ถามกลับมา เมื่อผู้เขียนสอบถามเรื่องราวทบทวนความจำของตัวเอง ว่า เอ้ารู้เรื่องนี้ด้วยเหรอ ตั้งนานแล้วนี่นะเก่งจังยังจำได้ พี่สมุห์บอกว่า กลุ่มโจรพวกนั้น ไม่ใช่คนพื้นที่ ไม่เป็นชาวแปดริ้ว เขาอพยพมาจากที่อื่น สำเนียงบอกว่ามาจากภาคไหนของไทย (พี่สมุห์ระบุภาคมาด้วย ) สมัยก่อนที่สนามชัยเขต เป็นป่า ยิ่งลึกก็ยิ่งเเป็นป่าทึบ นอกจากมีพวกต่างถิ่นแอบเข้ามาอยู่แล้ว บุกรุกป่า แล้วสนามชัยเขตยังเป็นที่หลบหนีซ่อนตัวของพวกหนีคุก หนีคดี หนีตำรวจ เพราะมีป่าเยอะมากที่พนมสารคาม
ดังนั้น กำนัน ที่เพื่อนกลุ่มไปตั้งค่ายอาสาพัฒนาพบเจอมาก็ต้องเป็นกำนันในแบบที่เขาไปเห็นมา ไม่อย่างนั้นก็ถูกโจรต่างถิ่นเข้าไปลูบคมเจ้าพ่อเสียยี่ห้อพ่อกำนันคนดังประจำถิ่นหมดกันพอดี ก็นับว่าไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไร (เรื่องที่แปลกแต่จริงกลับเป็นเรื่องว่าผู้เขียนย้อนภาพออกว่า เพื่อนเล่าเรื่องนี้ ที่มุมไหนของที่ทำการธนาคาร เพื่อนคนอื่นที่ร่วมฟังมีใครบ้าง แต่ละคนฟังแล้วทำหน้าตาอย่างไร คนเล่า ทำท่าทางอย่างไร แต่ขณะเดียวกันนี้ ผู้เขียน หาของชิ้นหนึ่งที่ หา เป็นอาทิตย์แล้ว ไม่รู้ว่าเอาวางไว้ที่ไหนในบ้านของตัวเอง )
ส่วนหมู่บ้านหนองคอก ซึ่งเป็นหมู่บ้านหนึ่งของตำบลตะเกรา อำเภอท่าตะเกียบ นั้น ผู้เขียนใช้เส้นทางนี้อย่างน้อยปีละครั้งมาเกือบยี่สิบปีแล้ว เพื่อเดินทางไปสู่เขาสอยดาวซึ่งถือเป็นเขตในอำเภอโป่งน้ำร้อนก่อน จนต่อมาตั้งเป็นอำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี เมื่อมีการตัดถนนหมู่บ้าหนองคอกออกไปเชื่อมกับถนนเส้นทางปราจีนบุรี (สระแก้ว ) จันทบุรี ใหม่ ๆ ผู้เขียนก็เปลี่ยนมาใช้เส้นทางนั้ ( จากเดิมที่ต้องใช้เส้นทางผ่านชลบุรี ) เรื่มตั้งแต่ทำทางเสร็จใหม่ๆ สองข้างทางในช่วงก่อนออกถนนใหญ่ เป็นป่าค่อนข้างทึบ บางช่วงเป็นลูกรัง บางช่วงยังเป็นดินปนกรวด มองเห็นแนวคันกั้นน้ำของส่วนหนึ่งของแควระบม-สียัด อยู่ไกลๆ ไม่มีบ้านเรือนผู้คนข้างทางเลย ป่าข้างทางมีไม้ป่าต้นสูงใหญ่ เป็นต้นยางนาใหญ่บ้าง และอื่น ๆ
ปีต่อ ๆ มา ป่าสองข้างทางก็ค่อย ๆโปร่งโล่งไปในแต่ละปีที่เพิ่มขึ้น จากที่ไม่มีบ้านเรือนของผู้คน มีแต่สถานีที่เกี่ยวกับพืช และสัตว์ ของกรมป่าไม้ มีด่าน ต.ช.ด. ตั้งด่านเป็นระยะ ก็เริ่ม มีบ้านหลังเล็ก ๆ ลักษณะกระต๊อบหลังคามุงจาก มีแปลงไร่อ้อย แปลงมันสำปะหลัง แปลงเล็ก ๆ มีแปลงดิน ที่เตรียมลงพันธุ์พืช แล้วค่อย ๆ เปลี่ยน เป็นบ้านใต้ถุนสูง มุงสังกะสีบ้าง มุงกระเบื้องบ้าง บ้านเหล่านี้มีประปรายยังไม่รวมเป็นกลุ่มลักษณะหมู่บ้าน แปลงอ้อย แปลงมัน กว้างใหญ่ขึ้น บางครั้งก็เจอไม้ใหญ่ที่ล้มทอดลำต้นกิ่งใบกับพื้นดินอยู่ในป่าข้างทาง เผลอไปไม่นาน ต้นไม้ป่าข้างทางต้นใหญ่ ๆ ก็ไม่มีเหลือ เหลือแต่ไม้ต้นเล็ก แต่มีความสูง คือสูงชะลูด ถนนเส่้นนี้ ในครั้งที่วิ่งผ่านในปีแรกๆ ไม่มีรถให้ต้องแซงหน้ากันเลย และนาน ๆ จะเห็นท้ายรถคันข้างหน้าบ้าง นาน ๆ จะมีรถวิ่งสวนทางมา รู้สึกเหมือนรถของเราวิ่งอยู่โดดเดี่ยวเดียวดายบนถนนสายนี้ ในขากลับตอนเย็นจะต้องวิ่งรถให้ผ่านถนนเส้นนี้ออกสู่ถนนใหญ่ก่อนห้าโมงเย็น เพราะเวลาแค่สี่ห้าโมงเย็นนั้นดูวังเวงใจกับสภาพรอบ ๆ ตัวแล้ว ในช่วงสี่ห้าปีแรกๆ ของถนนเส้นนี้ ไม่เคยพบเห็นสัตว์ป่า เพียงแต่ พบเห็นป้ายว่าระวังไฟไหม้
แต่ สี่ห้าปีถอยหลังไปนี้ ขับรถผ่านไปบางทีก็เจอมูลช้างกองอยู่ข้างทาง กลางถนนก็มี มีป้ายข้างทางเพิ่มขึ้นมาบอกว่าให้ "ระวังช้างป่าข้ามถนน"
ผู้เขียนรู้สึกเอาเองว่า จากการที่มีคนเข้าไปตั้งรกราก ถางที่ทำกิน ปลูกบ้านกันอยู่ประปราย ทำให้เริ่มมีคนประจำถิ่นที่เริ่มมีการสัญจรเข้าออกถนนเส้นนี้ เป็นกิจวัตร ไม่ใช่ ถนนทางผ่านเหมือนในอดีต จึงมีเหตุได้พบเจอกับช้างป่าที่ออกมาหากินในเวลากลางคืนหรืออย่างไร ข้อสงสัยที่บ่นทุกครั้งที่ผ่านถนนเส้นนี้ คือ ทำไมมีการตัดไม้ป่าต้นใหญ่ๆ ได้ ทั้งที่อยู่ใกล้ถนน ไม่ได้อยู่ป่าลึก ๆ เลย ตัดจนไม่เหลือไม้ใหญ่ให้พบเห็นข้างทางเสียแล้ว ไม่มีคนรับผิดชอบเลยหรืออย่างไร ชาวบ้านทำไมทะยอยกันมาปลูกบ้าน ทำไร่อ้อย ไร่มันก้นได้ เพิ่มจำนวน ทุก ๆ ปี บ่นอย่างไม่ต้องการคำตอบจากใคร คนที่นั่งร่วมรถก็ไม่มีใครพูดอะไรต่อสักทีเหมือนกัน ที่จริงคำตอบก็คือภาพที่เห็นอยู่เบื้องหน้า และด้านข้าง ซึ่งมีพื้นที่ มาก ขึ้น ๆ ทุกครั้งที่ต้องไปใช้ถนนเส้นนี้
เมื่อสองปีที่แล้ว เคยพบเห็นควาย 3-4 ตัว รวมกลุ่มกัน ในป่าข้างทางที่มีเพียงต่้นไม้ไม่สูงใหญ่แล้ว เป็นป่าโปร่ง ผู้เขียนขอให้ลูกชาย จอดรถจะลงไปถ่ายภาพ แต่รถหยุดกระทันหันไม่ได้ วิ่งเลยมาพอสมควร ลูกชายบอกว่า อย่าถอยรถกลับเลยค่อยถ่ายรูปตอนขากลับก็ได้ ผู้เขียน เป็นแม่ที่ดีมาก ก็เชื่อฟังเขา เลยไม่ทราบว่าเป็นควายอะไร ควายป่าหรือเปล่า พอขากลับ (อีก4-5 ชั่วโมงถัดมา) ก็ไม่พบควายกลุ่มนี้เสียแล้ว น่าเสียดายมาก นี่เพราะปล่อยโอกาสไปไม่ฉวยโอกาสในทันทีทันใดนั้นนั่นเอง นอกจากไม่ได้ภาพควายแล้ว ก็ไม่รู้อีกด้วยซ้ำว่าควายอะไรกันแน่ หากเป็นควายบ้านก็ไม่เคยพบเห็นพื้นที่ทำนาเลย หากเป็นควายเลี้ยงอย่างน้อยจะต้องมีเชือกร้อยรูจมูก ไว้สำหรับจูงพาไปไหนๆ หรือล่ามให้อยู่กับที่ แต่กลุ่มควายที่เห็นไม่ร้อยเชือกที่รูจมูก
จากนั้นมา ถ้าผู้เขียนนั่งรถที่ผู้อื่นเป็นคนขับ พบเจออะไรข้างทาง จะเด็ดเดี่ยวมากกับคำสั่งว่า จอดรถ จอดเดี๋ยวนี้เลย ถ้าไม่ถอยรถให้ เดินกลับไปเองก็ได้ ทุกคนรอบตัวผู้เขียนพากันบอกว่า ผู้เขียนเสียงดังและเด็ดขาดมากกับคำว่า จอด จอด จอดเดี๋ยวนี้ ตรงนี้ จอด (จอดรถ)
ส่วนที่อำเภอบ่อทองจังหวัดชลบุรี ในปี พ.ศ. 2528 ผู้เขียน และพี่น้องเคยได้รับการเชิญชวนไปซื้อที่ดิน เพราะมีญาติของเพื่อนน้องชายไปจับจองที่ดินทำกินที่นั่น ราคาที่ดิน(ซื้อสิทธิทำกิน) ราคาไร่ละ 2 หมื่นบาท ปีแรกที่ไปดูผืนที่ดินที่ทำกินของพี่สาวท่านนั้น อยู่ไม่ห่างไกลกับแนวป่านัก พี่สาวเขาทำไร่ ฟักแฟง แตงกวา ฟักทอง ขนุนและอื่นๆ ผลผลิตอวบใหญ่อุดมสมบูรณ์ดี ผลขนาดยักษ์ เลยทีเดียว พี่สาวบอกว่า จะช่วยดูแลพื้นที่ให้ แต่ต้องปลูกพืชพรรณไม้ เป็นลักษณะที่เข้ามาทำมาหากินนะซื้อทิ้งไว้เฉยๆ ไม่ได้ เผอิญตกลงใจกันไม่เป็นเอกฉันท์สำหรับที่ดินแปลงที่บ่อทอง จึงไม่ได้ซื้อไว้ อีกหลายปีถัดมา ไปเยี่ยมพี่สาวคนนี้อีก ตกใจมากที่แนวป่าที่เคยอยู่ไม่ห่างที่ดินของพี่สาวที่ใช้ทำกินอยู่นั้น กลายเป็นเห็นอยู่ลิบตา ดีไม่ดี ถ้าได้เข้าไปดูใกล้ๆ อาจจะกลายเป็นแนวต้นไม้ที่ปลูกขึ้นของคนที่ครอบครองสิทธิ์อยู่ เช่น ไม้ยางที่กรีดน้ำยาง หรือไม่ก็เป็นยูคาลิปตัสที่กำลังฮิตสุด ๆ ในขณะนั้นก็เป็นได้ พี่ชายบ่นว่าเสียดายที่ไม่ซื้อไว้ในคราวก่อน เพราะราคาปรับสูงขึ้นอีกมาก แต่ผู้เขียนไม่เสียดายเลย ดีใจที่เราไม่เป็นบุคคลที่เข้าร่วมทำลายผืนป่าของชาติ
พอปี 2538 ที่มีข้อความว่า ที่บ่อทองไม่เหลือผืนป่าแล้ว ก็นึกภาพออกชัดแจ๋วทีเดียว
แต่ที่บ้านหนองคอก นี้เล่า จะเหมือนที่บ่อทองหรือเปล่าหนอ
ส่วนที่ เขาอ่างฤาไน เอง เมื่อค้นหาจาก Google ก็จะพบเห็น ทริปต่างๆ มากมายของผู้คนที่เข้าไปเยี่ยมเยือนผืนป่าแห่งนี้ ลงภาพสัตว์ต่าง ๆ เล่าเรื่องความสนุกสนานเพลิดเพลินตื่นตาตื่นใจกับสิ่งที่เไปพบเห็นและเก็บภาพสวย ๆ มาฝาก มาแบ่งปันกัน เชิญชวนกันเข้าไปท่องเที่ยว ............ป่าสมบูรณ์ของ...ไม่แต่ฉะเชิงเทรา ต้องใช้คำว่า ของประเทศไทยเขาอ่างฤาไน สำหรับผู้เขียนเอง เมื่อเสิบกว่าปีมาแล้ว ผู้เขียนมีเพื่อนสาวชาวลำปางมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าผังเมืองของจังหวัดฉะเชิงเทรา จำได้ว่า เมือราวปี 2538-2539 เพื่อนคนนี้เล่าให้ฟังว่า ไปที่เขาอ่างฤาไนมา ในเรื่องงานกับคณะผู้ว่าราชการจังหวัดในสมัยนั้นคือ คุณฐิระวัตร กุลละวณิขย์ ยังบอกกับผู้เขียนว่า เข้าไปลึกมาก แต่เป็นป่าอุดมสมบูรณ์มาก มีน้ำตกด้วย น้ำตกไม่ใหญ่นัก ไม่เคยรู่้เลยว่าแปดริ้วมีป่าแบบนี้อยู่แม้จะเป็นรอยต่อ 5 จังหวัด แต่เขาเข้าไปทางด้านเขตของฉะเชิงเทรา ไปแล้วต้องค้างคืน เขาถามผู้เขียนว่า " เธอเคยมาไหม เธอรู้ไหมว่ามีป่าแบบนี้ในจังหวัดของตัวเอง "
ผู้เขียนตอบไปว่า "ไม่เคยไป และไม่เคยรู้ คำว่า เขาอ่างฤาไน ก็เพิ่งเคยได้ยิน ชื่อเพราะดีนะ รู้จักแต่เขาหินซ้อน แต่คำว่า แควระบม-แควสียัด รู้จัก ได้ยินชื่อมาบ้างเหมือนกันอย่างลาง ๆ เลือน ๆ"ถนนหนทางที่เข่าสู่เขาอ่างฤาไน เมื่อ พศ. 2538 นั้น เพื่อนเล่าว่า พอให้รถสามารถวิ่งเข้าไปได้ ในสภาพลุย เล็กน้อย ถ้าจะไปชมป่าต้องเดินเท้า เข้าไปด้านใน ผู้เขียนในขณะนั้นไม่เข้าใจบอกเพื่อนไปว่า ไว้ให้ถนนทำดี ๆ ก่อน จะ เข้าไปเที่ยวตามที่เขาชักชวน ว่า "เธอไม่เข้ามาดู ผืนป่าในบ้านเธอบ้างหรือไหนว่าไม่เคยมาไง" เขาอธิบายเสริมว่า ถ้าจะรักษาสภาพป่า การทำถนนเข้าไป ต้องไม่เป็นถนนที่กว้างใหญ่ ( เกิน 6 เมตร) เพราะ ถนนจะกลายเป็นแนวเส้นแบ่งเขตป่าออกเป็นสองส่วนตามแนวของถนน อีกทั้งสัตว์ป่าที่เคยใช้เส้นทางนั้น ๆ เป็นทางผ่าน จะรู้สึกไม่คุ้นเคยขึ้นมาได้ ผู้เขียนก็เลยนึกภาพถนนหนทางที่จะไปเขาอ่างฤาไน เป็นสภาพอย่างที่เพื่อนเล่าให้ฟังมาตลอด จึงไม่เคยได้ไปเยี่ยมเยือนผืนป่าที่สวยงามด้วยธรรมชาติและอุดมสมบูรณ์ของบ้านตัวเองเลยสักครั้งเดียว จนบัดนี้
เรื่องเล่าของพลอยโพยมออกไปไกลจากตำบลบางกรูดมากเลย แต่พลอยโพยมคิดว่า จะใช้คำว่าวันวานของบางปะกง ก็กว้างใหญ่เกินไปบางปะกง คือ อำเภอบางปะกง คือ ลำน้ำบางปะกงที่มีความยาวถึง 230 กิโลเมตร ( แต่ตำบลบางกรูดอยู่ในอำเภอบ้านโพธิ์ ) ถ้าใช้ วันวานของฉะเชิงเทรา ฉะเชิงเทรา ก็มีเนื่อที่ถึง 5 พันตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 3 ล้านไร่ เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่กว้างใหญ่เป็นอันดับสอง (รองจากจันทบุรี ) ของภาคตะวันออก
วันวานของบางกรูด... เป็นเพียงจุดเล็ก ๆ เป็นจุดเริ่มต้น ที่จะบอกกล่าวเล่าเรื่องราววิถีชีวิตในอดีตของผู้คนเมื่อห้าสิบปีที่แล่ว อันเป็นวิถีชีวิตเพียงบางส่วน บางมุม ของชาวบ้านริมฝั่งน้ำ ชาวนา ชาวสวน เรื่องเล่ายามวัยเยาว์ ซึ่งภาพรวมของความเป็นอยู่เหล่านั้นคล้ายคลึง ใกล้เคียงกันมากทั่วแคว้นแดนไทย มีรายละเอียดบางอย่างที่แยกเป็นเรื่องเฉพาะถิ่นเท่านั้น คำว่าวันวานของบางกรูด จึงดูจะมีเรื่องเล่ากินพื้นที่กว้างไกลนอกตำบลบางกรูดแต่ก็จะวนเวียนอยู่ในฉะเชิงเทรานี่เองเป็นส่วนใหญ่... แต่หากเป็นเรื่องราวของขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อ และวิถีไทยด้านอื่นๆ ก็อาจเป็นเรื่องคละเคล้ากันหลายถิ่นหลายภาคหลายเรื่องหลายแนวเพื่อประโยชน์ของผู้อ่านน้่นเอง ก็จะมีเรื่องราวที่ไม่เกี่ยวข้องกับจังหวัดฉะเชิงเทราด้วยอีกส่วนหนึ่ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น