วันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555
[บทความ] บรรยายความ ตามท้าย....หมายเหตุ
บทกวีทั้ง 15 ตอน เป็นส่วนหนึงของหนังสือ บทกวี "วันวานของบางกรูด" ของพลอยโพยม โดยเป็นหัวข้อเรื่องที่ 1 ซึ่งมีชื่อหัวข้อเรื่องว่า
รำพึงถึงบางปะกง...
บทกวี วันวานของบางกรูด มี 6 หัวข้อเรื่อง ดังนี้คือ
1. รำพึงถึงบางปะกง
2. หลงทิวทุ่งตระการ
3. บ้านสวนหวนคะนึง
4. ซาบซึ้งซึ่งงานบุญ
5. การละเล่นรุ่นโบราณ
6. จรดจารในความจำ
และมีภาคผนวกท้ายเล่มอีกเป็นบทความ 4 บทความคือ
“จุลกฐิน” พิธีบุญแห่งชนชาวลุ่มน้ำบางปะกง
ประวัติหลวงพ่อโสธร
งานแห่หลวงพ่อโสธร
“ฉะเชิงเทรา” อัญมณีแห่งลุ่มน้ำบางปะกง
หมายเหตุ ของบทกวี หัวข้อเรื่อง รำพึงถึงบางปะกง
* ปลาเสือตอ เป็นปลาที่ไม่มีในแม่น้ำบางปะกง แต่ที่กล่าวถึงเนื่องจาก เป็นปลาที่กรมประมงเองให้เกียรติปรากฏภาพในบัตรเข้าชมของ สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำกรุงเทพฯ มีประวัติว่าเดิมมีที่บึงบอระเพ็ด และสูญพันธุ์ ไปกว่า 40 ปีแล้ว แต่ในปัจจุบัน พบว่ามีที่แม่น้ำสะแกกรัง แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำโขง
กล่าวกันว่า เป็นปลามีรสชาติอร่อยมาก โดยเฉพาะที่บึงบอระเพ็ดใครมาถึงบึงบอระเพ็ดแล้วไม่ได้กินปลาเสือตอ ถือว่ายังมาไม่ถึงบึงบอระเพ็ด
เป็นปลาที่ได้รับความนิยมมากจากนักเลี้ยงปลาสวยงาม เพราะมีสีสันและลวดลายที่สวยงาม เมื่อเวลาล่าเหยื่อจะกางครีบทุกครีบ ก่อนจะฉก แม้จะมีราคาที่แพง เพราะหายาก ปลาที่มีขายในตลาดปลาสวยงามทุกวันนี้ นำเข้าจากประเทศกัมพูชา แม้ปัจจุบัน มีผู้เพาะพันธุ์ได้แล้วจากการผสมเทียม แต่ยังได้ผลไม่แน่นอนและไม่คุ้มค่ากับการลงทุน
** การล้อมซั้ง หน้าหนาวดีที่สุดเพราะเป็นช่วงที่มี กุ้ง ปลา อุดมสมบูรณ์ เนื่องมาจากเป็นช่วงฤดูหลังจากเกี่ยวข้าว ที่ชาวนาจะต้องปล่อยน้ำออกจากท้องนาลงตามคลองต่างๆ และคลองที่มีประตูน้ำจะเปิดประตูน้ำ ระบายน้ำออกมา เมื่อถึงฤดูหนาว กุ้ง ปลา และสัตว์น้ำอื่น ก็มาอยู่สะสมกันเป็นจำนวนมาก
***แถวแถว และ แตก แตก เป็นการส่งสัญญาณเสียงบอกนกที่บางกรูด ในยามเย็นจะมีฝูงนกบินผ่านหลังคาบ้านข้ามแม่น้ำ เด็กๆได้รับการบอกต่อจากรุ่นพี่ว่าด้วยความเชื่อกันว่า ถ้าอยากเห็นนกบินเรียงเป็นแถวให้แหงนหน้าหาฝูงนก ยกสองมือป้องปากร้องตะโกนบอกนกกระยางว่า แถวแถว แถวแถว นกทั้งฝูงจะบินเรียงแถวหน้ากระดานให้ชม และถ้าตะโกนสั่งว่า แตกแตก แตกแตก นกกระยางที่บินเรียงแถวอยู่ จะบินแตกฝูงทันที การร้องสั่งนก ต้องบอกนกให้เข้าแถวก่อน จึงบอกให้แตกแถว เป็นเรื่องแปลกแต่จริง ได้ผลทุกครั้ง
เรือบิณฑบาตวัดบางกรูด...
ลอยน้ำไว้เฉยๆไม่ได้ จะล่มทันที ต้องมีคนนั่งให้น้ำหนักเรือ เวลาพายเรือ ห้ามยกพายขึ้นจากน้ำ พายต้องแตะน้ำในลักษณะ เรี่ยน้ำตลอดเวลา เป็นท่าพายที่สวยงาม เพราะพายฉวัดเฉวียนไปมาในน้ำ ต้องให้น้ำหนักและจังหวะ กับใบพาย ไม้พายที่เหมาะกับเรือชนิดนี้ คือ ต้องทำด้วยไม้แดง ถึงจะกินน้ำได้ดี เมื่อพระจอดรับบิณฑบาตจะต้องเกาะบันไดท่าน้ำ เพราะหยุดพาย เรือจะทรงตัวไม่ได้ พระที่รับบิณฑบาตต้องใช้มือเดียวในการถ่ายของที่ถวายลงสำรับในเรือ เรือพายได้เร็วมาก เพราะเล็กเพรียว เมื่อกลับถึงวัดต้องยกเรือขึ้นบกทุกครั้ง พอจะใช้ก็ยกลงมาใหม่ ท่าพายเรือสง่างามเพราะต้องนั่งตัวตรงตั้งฉาก 90 องศา เข่าชิดฝ่าเท้าต่อส้นเท้าเพราะเรือแคบมาก พระบางองค์ที่รูปร่างใหญ่มากก็นั่งไม่ได้
บ้านไม้บนแพเหล็ก...
บ้านบนแพหลังต้นๆ จะเป็นบ้านของระดับหัวหน้างาน จะทาสีสวยงามเป็นสีฟ้าอ่อน รอบบ้านมีการล้อมลูกกรง กันเด็กตกน้ำ ปลูกต้นไม้ในกระถาง ตั้งพื้นบ้าง แขวนบ้าง จะเห็นความเป็นอยู่ของคนบนบ้าน เช่น หุงข้าว กวาดบ้าน อาบน้ำให้เด็ก หรือเดินไปมาเป็นต้น กิจกรรมของบ้านแต่ละหลังในขบวนเดียวกัน จะแตกต่างกัน เป็นวิถีชีวิตที่ลอยมาให้เห็นแล้วก็ลอยเลยลับไปกับลำน้ำ
ปิดคลอง...
เป็นการหากุ้งปลาโดยในเวลาน้ำขึ้นนำเฝือกไปปักเลนกั้นปากคลองส่วนตัวของแต่ละบ้านหากเป็นคลองสาธารณะนิยมใช้ ตาข่ายกางกั้นขวางปากคลอง โดยต้องเหยียบปลายตาข่ายให้จมมิดเลนอย่างแน่นหนา ปลายด้านบน ปักไม้ไผ่ยึดตาข่ายด้านบนกันกุ้งปลากระโดดหนี และ เพื่อให้ผู้สัญจรโดยปลดตาข่ายให้เรี่ยพื้นน้ำ นำเรือสัญจรไปมาได้ แล้วดึงตาข่ายคล้องไม้ไผ่ไว้ดังเดิม รอจนน้ำลง จึงไปที่ปลายคลอง ที่น้ำแห้งแล้วไล่จับกุ้งปลามาจนถึงหน้าปากคลองบ้านเรือนส่วนใหญ่มักมีลำคลองทั้งขุดเอง และของสาธารณะ เพื่อใช้ประโยชน์จากน้ำ ทั้งเพื่อการเพาะปลูก อุปโภค บริโภค เป็นที่เก็บเรือและนำเรือขึ้นบกมาซ่อมแซม ยาเรือเป็นต้น
เสียงระฆังในตอนเย็น
จะตีหลังพระสวดมนต์เย็นเสร็จ
ปลาเที้ยว
เป็นคำท้องถิ่น ที่บางกรูดใช้เป็นคำเรียกชื่อปลาตีน หรือปลากระจัง
ดาวลูกไก่
เขียนย่อเรื่องตามเพลงของ พร ภิรมย์
ชื่อเรือ...
เรือกระแชง เรือขุด เรือแจว เรือฉลอม เรือชะล่า เรือบด เรือเป็ด เรือพ่วง เรือมาด เรือยนต์ เรือยาว เรือสำปั้น เรือหางยาว เรืออีโปง เรือเอี้ยมจุ๊น
ชื่อพันธุ์กุ้ง...
กุ้งกะต่อม กุ้งก้ามกราม กุ้งเคย กุ้งดีดขัน กุ้งตะกาด กุ้งตะเข็บ กุ้งฝอย กุ้งหัวมัน
ชื่อพันธุ์ปลา...
ปลากด ปลากระจก ปลากระจัง ปลากระทิง ปลากระทุงเหว ปลากระบอก ปลากระเบน ปลากระมัง ปลากระสง ปลากระสูบ ปลากระแห ปลากราย ปลากะพง ปลากะรัง ปลากา ปลากุเรา ปลาแก้มช้ำ ปลาข้าวเม่า ปลาเข็ม ปลาเขือ ปลาแขยง ปลาแขยงหิน ปลาเค้า ปลาจวด ปลาจิ้มฟันจระเข้ ปลาช่อน ปลาชะโด ปลาชะโอน ปลาซิว ปลาดุก ปลาตะกรับ ปลาตะโกก ปลาตะเพียนขาว ปลาตะเพียนทอง ปลาตีน ปลาเทพา ปลาเทโพ ปลาเนื้ออ่อน ปลาบ้า ปลาบู่ทราย ปลาปักเป้า ปลาแป้น ปลาแปบ ปลาพรหมหัวเหม็น ปลาม้า ปลาแมว ปลายี่สก ปลาลิ้นหมา ปลาสร้อย ปลาสลาด ปลาสวาย ปลาสิงโต ปลาเสือตอ ปลาเสือพ่นน้ำ ปลาหนวดพราหมณ์ ปลาหนามหลัง ปลาหมอ (หมอตาล) ปลาหมอนา (หมอไทย) ปลาหมู ปลาหลด ปลาหางกิ่ว ปลาหางไก่ ปลาไหล ปลาอีคุด
ชื่อเครื่องมือประมง...
ซั้ง ไซ ตุ้ม เฝือก ยอ ลอบ สวิง สุ่ม หลุมโจน แห
ปิดคลอง...
เป็นการหากุ้งปลาโดยในเวลาน้ำขึ้นนำเฝือกไปปักเลนกั้นปากคลองส่วนตัวของแต่ละบ้านหากเป็นคลองสาธารณะนิยมใช้ ตาข่ายกางกั้นขวางปากคลอง โดยต้องเหยียบปลายตาข่ายให้จมมิดเลนอย่างแน่นหนา ปลายด้านบน ปักไม้ไผ่ยึดตาข่ายด้านบนกันกุ้งปลากระโดดหนี และ เพื่อให้ผู้สัญจรโดยปลดตาข่ายให้เรี่ยพื้นน้ำ นำเรือสัญจรไปมาได้ แล้วดึงตาข่ายคล้องไม้ไผ่ไว้ดังเดิม รอจนน้ำลง จึงไปที่ปลายคลอง ที่น้ำแห้งแล้วไล่จับกุ้งปลามาจนถึงหน้าปากคลองบ้านเรือนส่วนใหญ่มักมีลำคลองทั้งขุดเอง และของสาธารณะ เพื่อใช้ประโยชน์จากน้ำ ทั้งเพื่อการเพาะปลูก อุปโภค บริโภค เป็นที่เก็บเรือและนำเรือขึ้นบกมาซ่อมแซม ยาเรือเป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น