วันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2555
หมอยาแผนโบราณ..วัดบางกรูด
พลอยโพยมเติบโตมากับการใช้ยาพื้นบ้านไทย ๆ ที่บางกรูดมีทั้งหมอที่เป็นพระภิกษุสงฆ์ คือหลวงตาเหลี่ยม เจ้าอาวาสวัดบางกรูด หมอพระนิ่มรองเจ้าอาวาส ซึ่งต่อมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบต่อจากหลวงตาเหลี่ยม เป็นพระครูประสาทสรคุณ ทั้งสองหมอพระภิกษุ ก็จะมีชื่อเสียงรักษาโรคชะงัดนักในบางโรค ซึ่งท่านก็ต้องร่ำเรียนมา หลวงตาเหลี่ยมร่ำเรียนมาจากพระองค์ไหน พลอยโพยมไม่มีข้อมูล ท่านเป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่ พ.ศ. 2494-2521 ก่อนพลอยโพยมเกิด และเมื่อเริ่มไปวัดในวัยเด็ก ก็รู้สึกว่าหลวงตาเหลี่ยมชราแล้ว ใคร ๆ ก็เรียกหลวงตาไม่มีใครเรียกท่านว่าหลวงพ่อเลย
ส่วนพระหมอนิ่ม หรือพระครูประสาทสรคุณ ท่านเขียนเล่าไว้เองว่า ท่านร่ำเรียนวิชา แพทย์แผนไทยจากหลวงพ่อเขียน ซึ่งเป็นพระภิกษุที่วัดบางกรูดเช่นกัน หลวงพ่อเขียนเป็นหมอใจดี เป็นหมอที่จนมาก
คุณน้าของพลอยโพยม ( ท่านเป็นนายแพทย์สมัยใหม่ เป็นศัลยแพทย์ ปัจจุบันมีอายุ 80 กว่า ปีแล้ว ) ท่านเคยเล่าว่า หลวงพ่อเขียนเป็นหมอแผนโบราณที่เก่งมาก สมัยคุณน้ายังเด็กเวลาไม่สบายคุณตาบุญจะพาคุณน้าพายเรือข้ามฟากไปหาหลวงพ่อเขียน และก็รักษาหายทุกครั้ง โดยเฉพาะโรคตับทรุด (ชื่อที่เรียกกันสมัยนั้น) โรคตับทรุดในปัจจุบัน ก็คือโรคตับอักเสบ ซึ่งในขั้นอ่อน ๆ ก็คือดีซ่านที่เป็นแล้วตัวเหลืองนั่นเอง หลวงพ่อเขียนมียาแก้โรคนี้ชะงัดนัก ยายขาไปรับยาหม้อมาต้มให้คุณน้ากิน คุณน้าจำได่ว่ามีดอกบานไม่รู้โรยสีขาวเป็นตัวยาอยู่ด้วย มาจนวันนี้คุณน้าก็พบในเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับยาสมุนไพร ว่าดอกบานไม่รู้โรยสีขาวมีสรรพคุณในการบำรุงตับ
หลวงพ่อเขียนมรณภาพเมื่อ พ.ศ. 2495 มีอายุ 87 ปี
ขอขอบคุณภาพจาก
http://www.thailinet.com/199
ส่วนพระครูประสาทสรคุณเขียนเล่าไว้ว่า ท่านกำพร้าแม่ตั้งแต่อายุ 7 เดือน พ่อได้ยกให้เป็นลูกบุญธรรมของญาติ ต่อมาพ่อแม่บุญธรรมก็สิ้นไปอีกทั้งสองคน พี่ชายที่เป็นลูกของพ่อแม่บุญธรรมอุปสมบทที่วัดบางกรูด จึงได้ตามมาเป็นลูกศิษย์ และเรียนหนังสือที่วัดบางกรูด หลวงพ่อเขียนที่วัดบางกรูดถูกชะตา รับเป็นศิษย์และบุตรบุุญธรรม
หลวงพ่อเขียนเองก็ไม่มีเงินจะส่งเสียลูกศิษย์คนนี้ไปเรียนในเมืองได้ เพราะท่านก็จนมาก อยู่กับหลวงพ่อเขียนมาหลายปี หลวงพ่อเขียนมีเงินทั้งเนื้อทั้งตัว เพียง 6 บาทเท่านั้น พระครูประสาทสรคุณ เองก็ไม่มีใคร (หมายถึงญาติทั้งพ่อแม่จริง ญาติพ่อแม่บุญธรรม ที่เป็นฆราวาส ) จะส่งเสียให้ไปเรียนหนังสือในเมืองได้ เห็นหลวงพ่อเขียนมีวิชาความรู้ทางหมอแผนโบราณ จึงถามหลวงพ่อเขียนว่า หลวงพ่อครับการเรียนเป็นหมอลำบากไหมครับ เรียนดีหรือไม่ดี หลวงพ่อเขียนตอบว่า การเรียนเป็นหมอก็ดีเหมือนกัน มันมีวิชาอยู่กับตัว มันเหมือนน้ำซึมบ่อทราย แต่มันก็ไม่รวยอะไรนัก แต่ถ้าจะเรียนเป็นหมอต้องเรียนเป็นหมาเสียก่อน พระครูประสาทสรคุณ วัย 14 ปี ในขณะนั้น รู้สึกว่า คำพูดนี้น่าคิด เลยลาออกจากโรงเรียนไม่จบชั้น ป 4 คิดจะออกมาเรียนเป็นหมอ หลวงพ่อเขียนให้เรียนหนังสือขอมก่อน 1 ปี พอจะรู้ภาษาขอมบ้าง ก็เริ่มท่องบ่นท่องคัมภีร์ทางเวชศาสตร์ เมื่ออายุ 17 ปี ก็ไปขึ้นทะเบียนทหาร และไปสอบนักธรรมได้นักธรรมตรี และเรียนท่องคัมภีร์ทำยา ปรุงยากับหลวงพ่อเขียนเพื่อเรียนรู้การปรุงยา เก็บสตางค์ได้ทีละเล็กทีละน้อย ทีละ 5-10 สตางค์ บางที่ก็ 25 สตางค์ จากการผสมยาเมื่อมีคนไข้มาหาหลวงพ่อเขียนรักษาโรคต่าง ๆ และได้ปฏิบัติตรวจดูคนไข้ฝึกความชำนาญในทางเวชศาสตร์ ได้เก็บเงินเพื่อทำงานอุปสมบท ได้ราว 700 บาท แล้วไปสมัครสอบเป็นหมอแผนโบราณประกอบโรคศิลป์ ในสาขาเวชกรรม พอดีกับอายุ 20 ปี จึงอุปสมบทที่วัดบางกรูด ( ประศาสโสภณ) เมื่อ ปี พ.ศ. 2488 ก็มีใบแจ้งมาว่า สอบประกอบโรคศิลป์ในสาขาเวชกรรมได้ ต่อมาจึงประกอบโรคศิลป์ออกรักษาผู้ป่วยเรื่อยมา ดูแลปรนนิบัติหลวงพ่อเขียนเป็นประจำเพราะหลวงพ่อเขียนก็ชรามาก และออกรักษาคนไข้ไปด้วย ได้บูชาครูทุกปี บูชาครูครั้งหนึ่ง ๆ ก็ได้เงินราว 1 พันบาทเศษ ( พ.ศ.2490-2494)
พลอยโพยมก็ยังทันกับการที่ต้องไปรับยาจากพระเอามาต้มกินรักษาอาการป่วยไข้ต่าง ๆ ของคนในบ้าน
ส่วนใหญ่ เป็นยาหม้อ การกินยาก็ค่อนข้างลำบาก ต้องรับตัวยามาต้มในหม้อดินกันเองที่บ้าน
ส่วนหมอกลางบ้าน ชื่อหมอบุญ ก็ร่ำเรียนมาเช่นกัน หมอบุญจะทันสมัยกว่าพระภิกษุปรุงยาหม้อบางชนิดเป็นยาเม็ด ยาลูกกลอน ยาที่มีชื่อเสียงมากก็คือ ยาหอมแท่งทอง ยาหอมแท่งทองเป็นยาประจำบ้านและประจำตัวของยายขาคือเป็นยาแก้ เป็นลม หน้ามืดวิงเวียนศรีษะ ใจสั่น บำรุงหัวใจ เด็ก ๆ ทั้งหลายจึงไม่ต้องใช้ยาหอมแท่งทอง แต่ต้องช่วยยายขา ฝนแก่นไม้อีแทนกับฝาละมีเหยาะน้ำฝนเพื่อให้มีน้ำออกจากแก่นไม้เป็นน้ำกระสายยาในการกินยาหอมแท่งทอง โดยเอายาหอม เม็ด (แท่ง) ติดทองคำเปลวมาขยี้กับน้ำกระสายยาแก่นไม้อีแทน
เพิ่มเติม
ที่เรียกว่ายาหอมแท่งทองก็เพราะว่าหมอบุญ จะปรุงยาหอมนี้มีลักษณะ ยาว ๆ กลม ๆ คล้ายดินสอ แล้วตัดหั่นเป็นท่อนสั้น ๆ คล้ายเม็ดยาแต่รูปทรงเป็นแท่ง ๆ ไม่กลมแบนนั่นเอง แล้วจึงติดทองคำเปลวบนแท่งเม็ดยาอีกที มิใช่การใส่พิมพ์ยาเป็นเม็ด ๆ
หมอบุญยังมีสูตรยาชะงัดอีกสูตรคือและยาแก้ไข้ทับฤดู กินครั้งละ 5 เม็ด ขนาดของเม็ดยา ขนาด ยาเม็ดสีชมพู ( เราชาวบ้านเรียก ยาแก้ไข้แก้ปวด พาราเซททามอล ว่ายาเม็ดสีชมพู (ตามสีของเม็ดยานั่นเอง) แต่เม็ดยาของหมอบุญมีความหนาของขนาดเม็ดยามากกว่า เนื้อยาหยาบ ๆ สีน้ำตาลและบนเม็ดยาจะมีทองคำเปลวติดเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ไว้ หนึ่งด้าน ยาเม็ดนี้ต้องกินกับกระสายยาคือน้ำแช่ดอกมะลิแห้ง โดยบี้ยาเม็ดให้แหลกละลายกับน้ำกระสายยาดอกมะลิตากแห้ง กิน วันละ 3 ครั้ง กินสัก 3-4 วัน อย่างมากก็ 5 -7วัน ( ในกรณีที่เป็นมาก ไม่รีบกินยาตั้งแต่เริ่มเป็นใหม่ ๆ ) ยามีกลิ่นเพียงเล็กน้อยคล้าย ๆ ดอกไม้หรือท่อนไม้ตากแห้งหลาย ๆ อย่างรวมกัน
กระสายยา คือ น้ำหรือของเหลวที่ใช้สำหรับละลายยา หรือรับประทานพร้อมกับยา
พจนานุกรมศัพท์แพทย์และเภสัชกรรมแผนไทยฉบับราชบัณฑิตยสถานยังให้บทนิยามของคำว่า กระสาย หรือ กระสายยา ว่า เครื่องแทรกยา เช่น น้ำ, เหล้า, น้ำผึ้ง, น้ำดอกไม้ ซึ่งในทางเภสัชกรรมแผนไทยใช้แทรกยาเพื่อช่วยให้กินยาง่ายขึ้น และ หรือเสริมฤทธิ์ของยาให้มีสรรพคุณดีขึ้น
ประโยชน์ของกระสายยา
เพื่อช่วยเตรียมยาให้เป็นรูปแบบยาที่ต้องการ โดยเฉพาะยาลูกกลอนและยาแท่ง เพื่อช่วยให้กลืนได้สะดวก เพื่อช่วยให้ยานั้นแสดงฤทธิ์หรือออกฤทธิ์ได้เร็วและดีขึ้น ทั้งยังช่วยแก้ไข้ ป้องกันไข้ ป้องกันอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากการใช้ยาได้ นอกจากนี้ยังเสริมฤทธิ์กับตัวยาหลักอีกด้วย
พลอยโพยมมีพี่สาวลูกคุณป้า ที่ป่วยเป็นไข้ทับฤดู โดยพี่เขาไม่บอกผู้ใหญ่ตั้งแต่เริ่มต้น จนมีไข้ขึ้นสูงต้องนำส่งโรงพยาบาล ไปอยู่โรงพยาบาลในจังหวัดหลายวัน แต่อาการไม่ดีขึ้น การรักษาคือให้น้ำเกลือ และกินยาลดไข้ พี่สาวมีอาการร้อนในจนมีเลือดเกาะตามซี่ฟัน เป็นคราบเลือด เมื่อรู่้ว่าที่ป่วยไข้ขึ้นสูงเพราะโรคไข้ทับฤดูนี้จึงพากลับมารักษาต่อที่บ้าน กินยาหม้อของพระก่อน แล้วก็มากินยาเม็ดของหมอบุญ จนหายดี
และพลอยโพยมเองก็เคยเป็นไข้ทับระดู (มีประจำเดือนมา แล้วเกิดไม่สบาย เป็นไข้ในภายหลังในขณะยังมีประจำเดือน) และระดู ทับไข้(คือเป็นไข้ ไม่สบายก่อน ยังไม่หายก็มีประจำเดือนมา) แต่ อาการไม่มากเพราะกินยาหมอบุญนั้นเอง จนต่อมาหมอบุญก็เสียชีวิต ยาที่ปรุงไว้แล้ว ป้าอ้อยภรรยาของหมอบุญก็เจียดยาให้ชาวบ้านต่อ จนยาหมดชุด และไม่มีการปรุงยาใหม่อีก ต่อมาป้าอ้อยก็ย้ายบ้านจากตลาดวัดบางกรูดไปอยู่กับบุตรที่อื่น และไม่เคยย้อนกลับมาที่วัดบางกรูดอีกเลย
ต่อมา เมื่อ เรียนมหาวิทยาลัย พลอยโพยมก็ป่วยเป็นไข้ทับระดูอีก พ่อมังกรก็ไปเจียดยามาจากพระครูประะสาทสรคูณ ที่สำคัญมีต้นใต้ใบสดมาตำกับน้ำซาวข้าว พลอยโพยมก็เข็ดไปจนตายเพราะเหม็นเขียวแและรสขื่น ใหม่ ๆ พอกลืนลงคอก็ขย้อนออกมาอาเจียนทิ้งหมด แต่ไม่มีทางเลือกก็อดทนกินให้ได้ จนหายดี จากนั้นมา พลอยโพยมต้องดูแลตัวเองไม่ให้ป่วยเป็นไข้ทับระดู ระดูทับไข้อีก
แม้ในปัจจุบันที่พลอยโพยม มีลูกสาว เขาก็เคยป่วยเป็นไข้นี้ ต้องไปเจียดยาหม้อจากร้านยาหมอแผนโบราณในเมืองมาต้มกิน โดยต้องต้มกินถึง 2 ชุด หรือ 2 เทียบ
เพราะหมอแผนโบราณที่วัดบางกรูดนั้น ทั้งวิชาการ และสูตรยา ล้วนล่วงเลยลับหายไปกับตัวหมอแผนโบราณมาทุกยุค มีสูตรยาหลวงพ่อเขียนที่พระครูประสาทสรคุณบันทึกไว้หลายขนาน ขอยกมาเป็นตัวอย่าง ดังนี้
ยาแก้ไข้ 3 ฤดู เหมันต์ คิมหันต์ วสันต์
ท่านให้เอาจันหอม 3 บาท เปราะหอม 1 ว่านร่อนทอง 1 ว่านกลีบแรด 1 เนระภูสี 1 มหาสะดำ 1 ระย่อม 1 พิสนาส 1 รากไคร้เครือ 1 จันแดง 1 ใบน้ำเต้า 1 ใบพรมมิ 1 ใบสมี 1 เอาสิ่งละ 1 บาท ใบมะระ 6 บาท ใบพิมเสน 15 บาท ลูกมะกอกคั่ว 5 ลูก ลูกประคำดีควายย่างไฟ 2 ลูก รวมบดเป็นผงให้ละเอียด กินแก้กระหายน้ำ ใช้นำรากบัวหลวง แก้กระวนกระวาย ใช้น้ำกระจับ แก้เชื่อมน้ำดอกมะลิ กินแก้ไข้หวัด ปวดหัว ตัวร้อน ใช้น้ำร้อนแทรกยาทันใจ 1 ห่อ แก้ไข้ทับระดู หรือระดูทับไข้ ใช้ต้นลูกใต้ใบตำกับน้ำซาวข้าว แทรกยาทันใจ 1 ห่อ กิน เมื่อกินยานี้แล้ว จงทำบุญกรวดน้ำให้กับเจ้าของตำรามีหลวงพ่อเขียนเป็นต้น
นี่คงเป็นยาที่พ่อมังกรเคยไปเจียดมาให้พลอยโพยมกินในครั้งนั้นนั่นเอง
น่าเสียดายที่พระครูประสาทสรคุณไม่ได้บันทึกสูตรยาโรคตับทรุดของหลวงพ่อเขียนไว้ ทั้ง ๆ ที่คุณน้าหมอเองเคยไปกราบเรียนพระครูประสาทสรคุณไว้ว่าหลวงพ่อเขียนมีสูตรยาเด็ดชะงัดนัก คือยาแก้โรคตับทรุด
ต่อมาพ่อมังกรก็ศึกษายาแผนโบราณ มีหนังสือตำรายากองเต็มโต๊ะ นั่งศึกษาจดบันทึกจนดึกดื่นทุกคืนหลังจากที่เกษียณงานจากปลัดอำเภอมา
ท่องเที่ยวไปเสาะแสวงหาตัวยาตลอดยี่สิบปี พลอยโพยมเป็นห่วงว่าเข้าข่ายเป็นหมอเถื่อน แต่พ่อมังกรก็ไม่สนใจ พลอยโพยมไม่รู้ว่า พ่อมังกรมีการสื่อสารกับคนนอกอย่างไร ใช้วิธีการบอกต่อ ๆ กัน หรืออื่น ๆ แต่พ่อมังกร ก็ปรุงยาไว้หลายสูตร ที่เด่นดังมีคนถามหา ตามมาซื้อกันถึงบ้าน คือยาแก้โรคริดสีดวง เมื่อสิ้นบุญพ่อมังกร มีคนแปลกหน้ามาถามหาขอซื้อยาบ่อย ๆ เหมือนกัน แต่เราไม่กล้าให้ไป เพราะกลัวหยิบผิดสูตร ส่วนมากเป็ยยาผงบดละเอียด ต้องเอาไปปั้นกินเป็นยาลูกกลอนกินกับน้ำผึ้ง พ่อมังกรจะใส่ถุงพลาสติกรัดหนังยางไว้เป็นถุง ๆ แยกห้อยไว้เป็นประเภท ๆ ต่อมาพวกเราก็เทยาที่ผสมแล้วบรรจุถุุงพลาสติกไว้ ที่บดแล้วยังไม่ผสม ที่ยังเป็นวัตถุดิบยังไม่บด ทิ้งหมดตัดปัญหาเก็บแต่สูตรยาที่พ่อมังกรจดบันทึกไว้เป็นที่ระลึก เพราะพ่อมังกรดูจะมีความสุขกับการศึกษาค้นคว้าเรื่องยาสมุนไพรมาก
หมายเหตุ (เพิ่มเติม)
ยาชนิดต่างๆที่มาจากสมุนไพร
อันที่จริงสมุุนไพรแต่ละชนิดมีสรรพคุณหรือคุุณสมบัติทางยาในตัวเอง บางชนิดเพียงพอที่จะใช้เดี่ยว ๆ ได้ เพื่อบำบัดโรคหรืออาการบางอย่าง แต่เพื่อให้สรรพคุณในการรักษาแตกต่างกันไปหรือให้มีผลดีขึ้น จึงมีการนำสมุนไพรหลายชนิดมาผสมกันแต่โบราณ มีวิธีการปรุงแตกต่างกันไป เช่นต้ม บดแล้วผสมกัน ชงด้วยน้ำ จึงมีการเรียกยาที่มาจากสมุนไพรต่าง ๆ กัน ตามยุคสมัย ตามวิธีการผลิต การใช้ หรืออื่น ๆ เช่น ยาสมุนไพร ยากลางบ้าน ยาไทย ยาแผนโบราณ ยาแผนไทย
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.gotoknow.org
ศัพท์เหล่านี้ บางคำมีกำหนดไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับยา ที่ใช้ในปัจจุบันคือ ในพระราชบัญญัติยา ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2522 กำหนดว่า
ยาสมุนไพร
หมายความว่า ยาที่ได้จากพฤกษชาติ สัตว์ หรือแร่ ซึ่งมิได้ผสม ปรุง หรือแปรสภาพ
ยาแผนโบราณ
หมายความว่า ยาที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในการประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ หรือการบำบัดโรคสัตว์ ซึ่งอยู่ในตำรายาแผนโบราณที่รัฐมนตรีประกาศ หรือยาที่รัฐมนตรีประกาศเป็นยาแผนโบราณ หรือยาที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนตำรับยาเป็นยาแผนโบราณ
คำว่า ยาแผนไทย กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 ดังนี้
ยาแผนไทย
หมายความว่า ยาที่ได้จากสมุนไพรโดยตรงหรือที่ได้จากการผสม ปรุง หรือแปรสภาพสมุนไพรและให้หมายความรวมถึงยาแผนโบราณตามกฎหมายว่าด้วยยา
ดังนั้นตามกฎหมายยาแผนไทยครอบคลุมยาจากสมุนไพรต่าง ๆ ทั้งยาสมุนไพร ยาแผนโบราณ และอื่น ๆ ที่มีมาแต่โบราณทั้งหมด
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฉบับเสริมการเรียนรู้ เล่มที่ 1
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น