วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2556
เดินเท้าเปล่าเข้าโรงเรียน 2
บ้านนาจำลอง
หากเราไม่ไปด้านสวนจะไปด้านถนนดินยกสูง ก็คือไม่ข้ามสะพานหน้าบ้านพี่ทัย แต่เดินเลียบคลองศาลเจ้า จะผ่านหน้าบ้านน้านุ้ย ผ่านอย่างชนิดเดินใต้ชายคาบ้านน้านุ้ยเลยทีเดียว
น้านุ้ยเคยเป็นเด็กอยู่กับคณะละครงิ้วมาก่อนและคุณตาบุญของพลอยโพยมไถ่ตัวเอามาเลี้ยง ต่อมาก็ชอบพอกับน้าผาดสาวในบ้านพี่ทัย น้านุ้ยกับน้าผาดก็เลยเป็นลูกนาทำนาแปลงหนึ่งประมาณ 40 กว่าไร่ ของยายขาปลูกบ้านอยู่ท้ายสวน อยู่เยื้องหน้าบ้านพี่ทัยคนละฝั่งคลอง มีควายสองตัว ชื่อเจ้าเล็กและเจ้าหมอก เวลากลางวันน้านุ้ยก็เอาเจ้าสองตัวออกจากโรงควาย ไปผูกกับโคนต้นไทรใหญ่ริมคลอง ต้นไทรต้นนี้มีรากห้อยย้อยระย้ายาวมากสามารถโหนแกว่งตัวเป็นทาร์ซานได้สบาย ๆ ถ้ามีแรงส่งดี ๆ ก็ข้ามคลองศาลเจ้าได้เลยทีเดียว เจ้าเล็กและเจ้าหมอกผูกอยู่ ไม่ไกลกับกองฟางสองกอง สุดเขตน้่านุ้ยจะมีเส้นทางเล็กเลียบคลองต่อไปอีก หลังบ้านน้านุ้ยมีบ่อน้ำ ปลูกกล้วยอ้อยและมะพร้าวที่ริมบ่อ น้านุ้ยมีลูกชายหญิงกับน้าผาดหลายคนล้วนแต่เป็นรุ่นเด็กกว่าพลอยโพยมทั้งสิ้น
ถัดจากบ้านน้านุ้ย ก็มีบ้านป้าเชื่อมแม่ลุงช้อยอยู่คนละฝั่งคลองกับน้านุ้ยและลุงช้อยด้วยคืออยู่ฝั่งคลองซีกด้านพี่ทัย บางครั้งพี่ชายก็อยากเดินไปโรงเรียนกับเพื่อนที่เป็นหลานป้าเชื่อมชื่อพี่สนิทก็จะมาข้ามคลองที่หน้าบ้านป้าเชื่อม ซึ่งสะพานข้ามคลองเป็นเพียงต้นหมากทอดข้าม ที่กลางคลองมีไม้ไผ่ยาวปักไว้ช่วยพยุงตัว เราจะต้องทรงตัวเลี้ยงตัวเดินไปถึงกลางคลองให้ได้แล้วคว้าลำไม้ไผ่ไว้โน้มลำไม้ไผ่พยุงตัวเดินข้ามต่อบนลำต้นหมากอีกครึ่งคลองถึงฝั่งคลองด้านโน้นก็ปล่อยลำไม้ไผ่ให้คนที่จะเดินถัดไปได้ใช้ยืดเป็นหลัก และที่หน้าบ้านป้าเขื่อมนี้เองที่บางครั้งพลอยโพยมตกน้ำกลางคลอง หัวหูหน้าตาเนื้อตัวเสื้อผ้าเปียกปอน แต่กระเป๋านักเรียนไม่เปียกเพราะพี่ชายเป็นคนถือให้ในช่วงเวลาข้ามคลองหน้าบ้านป้าเชื่อม แต่พลอยโพยมก็ไม่เคยเกโรงเรียนเลยสักครั้งเดียวพอไปถึงโรงเรียนเสื้อผ้าก็เกือบแห้งแล้ว
เหตุจูงใจอีกอย่างที่พี่ชายพาพลอยโพยมมาข้ามคลองที่บ้านป้าเชื่อม เพราะบ่อยครั้งป้าเชื่อมจะไปหักอ้อยขาไก่มาให้พวกเรากินส่วนใหญ่เป็นขากลับบ้านตอนเย็น เดินไปกัดอ้อยเคี้ยวไปคายชานอ้อยทิ้งเรี่ยราดตามทางเดินนั่นเอง
แต่บรรดาพี่สาวญาติ ๆ เขาไม่มาผจญภัยเสี่ยงกับการตกน้ำตอนข้ามคลองกับพี่ชายและพลอยโพยม แต่เขาจะเดินต่อไปยังบ้านลุงช้อยกัน
ลุงช้อยลูกชายป้าเชื่อมทำนาอีกแปลงของยายขาเนื้อที่มากกว่าน้านุ้ยที่นาอยู่ต่อจากที่นาที่น้านุ้ยทำอยู่ ลุงช้อยคนนี้ในสมัยเป็นทหารเกณฑ์ เคยเป็นทหารรับใช้บ้านจอมพลถนอม กิตติขจร (ยศในขณะนั้นระดับนายร้อย)มาก่อนเสียด้วย ลุงช้อยเล่าว่าเจ้านายและคุณนายของท่านใจดีมาก พวกเราเคยยุลุงช้อยกลับไปหาเจ้านายแต่ลุงช้อยพอใจกับชีวิตชาวนาที่อุ่นหนาฝาคั่งด้วยลูกชายหญิง ลุงช้อยมีภรรยาชื่อป้าอู๊ด มีลูกชายหญิงรุ่นโตกว่าพลอยโพยมหลายคน เป็นเด็กรุนหลังพลอยโพยมแค่ 2 คน ลุงช้อยจึงมีควายได้หลายตัวเพราะมีคนช่วยเลี้ยงควายได้ ช่วยไถนา คราดนาได้ รวมแล้วมีควายสี่ตัว จำได้ว่าตัวหนึ่งชื่อเผือก ทั้งที่สีลำตัวของควายชื่อเผือกออกจะดำปี๋ โรงควายของลุงช้อยจึงกว้างขวางใหญ่โตกว่าโรงควายบ้านน้านุ้ยและต้องมีกองฟางเก็บฟางแห้งไว้เลี้ยงควายมากกว่ากองฟางบ้านน้านุ้ย
ทั้งน้านุ้ยและลุงช้อยจะแบ่งพื้นที่ในโรงควายเป็นยุ้งเล็ก ๆ เก็บข้าวเปลือกทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียวไว้ให้พอกินระหว่างปีก่อนการทำนารอบใหม่ซึ่งทำนาเพียงปีละครั้ง และสำหรับเป็นพันธุ์สำหรับหน้าทำนาฤดูกาลใหม่ด้วย
ลุงช้อยจะผูกควายไว้บริเวณหน้าบ้านซึ่งหันหน้าและอยู่ชิดติดคลองศาลเจ้า ลุงช้อยเองก็ปลูกมะพร้าว ต้นกล้วย อ้อย ผักสวนครัว และต้องมีบ่อน้ำเก็บกักน้ำไว้ใช้หน้าแล้งซึ่งนอกจากน้ำในลำคลองจะน้อยแล้วยังเป็นน้ำกร่อยอีกด้วย นอกจากนี้ ทั้งสองบ้านก็จะเลี้ยงทั้งเป็ดและไก่ด้วย
พลอยโพยมไม่ค่อยชอบเส้นทางที่จะเดินไปขึ้นถนนเท่าไรนัก เพราะจะต้องเดินผ่านควายรวมหกตัว ขี้ควายก็กระจัดกระจายเรี่ยราดบนพื้นทางเดินนั่นเอง รวมถึงขี้เป็ดและขี้ไก่ ลุงช้อยเลือกทำเลปลูกบ้านได้ดีมาก เพราะหน้าบ้านรับลมเย็นสบายดีมาก บางทีตอนขากลับถ้าเลือกเส้นทางนี้เราก็เถลไถลแวะเหนื่อยกันพักใหญ่ คลองศาลเจ้าลึกเข้ามาถึงบริเวณนี้คลองจะเล็กลงมากไม่กว้างเหมือนปากคลอง และจะกว้างเลยมาถึงบ้านพี่ทัย (ในอดีตยุคคุณก๋งบรรพบุรุษรุ่นสาม หรือรุ่นที่สี่ บ้านนี้มีเรือสำเภาเข่้ามาส่งสินค้าได้)
เยื้องบ้านลุงช้อยไปยังคนละฝั่งคลอง มีบ้าน ลุงโหม่ง ทิดมี ป้าเลียบ ซึ่งมีบ้่านปลูกอยู่ในที่ดินของบ้านพี่ทัย และเป็นผู้คนที่พี่ทัยเรียกไปรับจ้างทำงานต่าง ๆ กล่าวง่าย ๆ ก็ คือเป็นกลุ่มลูกน้องพี่ทัยนั่นเอง
เขียนเส้นทางเดินมาสองวันแล้วยังไปไม่ถึงโรงเรียนเลย โดยเฉพาะเส้นถนน ยังไปไม่ถึงครึ่งทางเลย แต่เนื้อหายาวไปเสียแล้ว ก็ขอหยุดพักเหนื่อยที่บ้านลุงช้อย ขอนั่งรับลมที่พัดเฉื่อยฉิวน่าล้มตัวลงนอน อย่างเคยก่อน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น