วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556
เดินเท้าเปล่าเข้าโรงเรียน 4
ถนนนี้ยกสูงขึ้นจากผืนนามาก สองข้างทางเป็นป่าสะแกและพันธุ์ไม้อื่น ๆ เช่น ต้นหว้า ต้นชำมะเลียง มะกล่ำ และอื่น ๆ บางแห่งก็เป็นแอ่งน้ำ ถ้าเป็นแอ่งใหญ่ลักษณะหนองน้ำก็มีบัวสายสีแดงชูก้านอวดโฉมไฉไล (หากเป็นเส้นทางเดินสวน ก็มีบัวสายตามท้องร่องสวนบางร่องสวนเหมือนกัน ) ตามหนองน้ำเล็ก ๆ ก็มีทั้งบัวผัน บัวเผื่อน เป็นเพื่อนการเดินทางเป็นระยะๆ หากอยากได้ก็ต้องไต่ถนนลงไปเก็บ ดอกบัวพื้นเมืองนี้ดอกเล็ก ๆ น่ารักมาก ส่วนต้นโสนก็จะพบตามริมคูน้ำของท้องนาดอกห้อยเหลืองอร่ามงามตา ช่อดอกแกว่งไกวไหวตามลมที่พัดโชยมาแรง ๆ
ดอกบัวเผื่อน
ดอกโสน
แนวสะแกข้างทาง (ข้างถนนในปัจจุบัน)
ดอกสะแก
เส้นถนนนี้พอจะมีชำมะเลียงและลูกหว้า ล่อตา ล่อใจ อยู่บ้าง แต่การไต่ลงจากพื้นถนนมุดเข้าไปในดงสะแกก็เป็นของยากอยู่ไม่น้อย แต่ชำมะเลียงยังเป็นพรรณไม้ต้นไม่ใหญ่ลักษณะกึ่งอิงอาศัยไม้ใหญ่ จึงไม่เกินความพยายามของผู้ที่ตั้งใจจะเก็บพวงชำมะเลียง
ชำมะเลียง
ลูกหว้า
หากแต่ต้นหว้าเป็นพันธุ์ไม้สูงใหญ่ เกิดเองตามธรรมชาติจากการที่นกกาเป็นผู้ช่วยแพร่พันธุ์ ผลของหว้าที่ติดอยู่กับต้นก็เกินความสามารถที่พลอยโพยมจะถ่ายภาพมาได้ แต่ก็อยากสื่อภาพลูกหว้าให้เด็ก ๆ ในเมืองได้รู้จัก ลักษณะของลูกหว้าและผลชำมะเลียง หากไม่เห็นติดกับต้น เห็นผลที่เก็บมาแล้วไม่เห็นพร้อมกัน เด็กๆ ในเมืองก็คงแยกไม่ออก
ด้านซ้ายคือชำมะเลียง ด้านขวาคือลูกหว้า
ต้นหว้า เป็นไม้มีขนาดต้นสูง 10- 35 เมตร
ถนนคันดินเส้นนี้ ตัดตรงเข้าสู่ด้านหลังของอาคารตึกของโรงเรียนไม่ต้องผ่านวัด
ถึงโรงเรียนเสียที เป็นด้านหลังของโรงเรียน
ด้านหน้าของโรงเรียนในปัจจุบัน ยังคงใช้เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา
ส่วนโรงเรียนมัธยม แยกไปสร้างใหม่ ในบริเวณทุ่งนาหลังคันถนนดิน
ปัจจุบันถนนเส้นที่พลอยโพยมเคยเดิน และทุ่งนาที่เคยเดินลัดตัดนามาจากบ้านลุงช้อย กลายเป็นถนนลาดยางไปหมดแล้ว พลอยโพยมทั้งหลับตา ลืมตามองถนนคันดินเดิม นึกแล้วก็สงสัยว่าใช่เส้นถนนที่เราเคยเดินหรือไม่ คิดไปคิดมาขับรถไปสำรวจสร้างจินตภาพขึ้นมา สรุปว่าไม่น่าใข่ ก็จอดรถลงไปสำรวจว่า ลักษณะถนนอย่างนี้เวลาที่พลอยโพยมอยากลงไปเก็บดอกบัวเผื่อนไม่เห็นต้องใช้การป่ายปีนเลยสักหน่่อย
แล้วพลอยโพยมก็ได้คำตอบว่า พลอยโพยมเก่งจริง ๆ ที่จำถนนในอดีตได้ว่ามันยกคันถนนสูงมากกว่าในปัจจุบัน ถนนในขณะนี้นั้นทำขึ้นใหม่เลียบแนวคันถนนดินคันเดิม เมื่อไปถามพี่สุกัลยา นาคะพงศ์ รุ่นพี่และเป็นบุตรสาวอดีตกำนันตำบลบางกรูด พี่สุกัลยาตอบว่าถูกต้องแล้วคร๊าบ คนละเส้นกันคร๊าบ ก็คุ้มค่าที่พลอยโพยมลงทุนมุดป่าสะแกเข้าไปสำรวจมา ซึ่งต้องปีนขึ้นปีนลงอย่างสมัยเด็ก ๆ เลยทีเดียว เหงื่อชุ่มโชกเปียกโซกกลับมาขึ้นรถเชียวนะนี้
แต่คันถนนดินนี้เหลือร่องรอยเพียงบางส่วนเท่านั้น บางส่วนกลายเป็นบ้านคน บางส่วนเป็นโรงเรียนมัธยมผาณิตวิทยาไปเสียแล้ว
ปัญหาว่าการที่นักเรียนเดินตีนเปล่าไปโรงเรียนเวลาขึ้นอาคารเรียนทำอย่างไร
โรงเรียนเคยมีบ่อน้ำกว้างหน้าอาคารเรียน สำหรับหน้าฝนเราต้องหาที่สะบัดดินให้หลุดจากเท้าให้เหลือน้อยที่สุด ไปที่บ่อน้ำปีนลงไปแกว่ง ๆ เท้าในน้ำให้ดินหลุดออกไป แล้วกลับมาที่อาคารเรียน อาคารเรียนจะมีที่ล้างเท้าให้เหมือนตามวัดในสมัยโบราณ ลักษณะก่อปูนเป็นแอ่งสี่เหลี่ยม ภารโรงต้องเตรียมน้ำใส่ไว้ นักเรียนก็ลงไปล้างเท้าในแอ่งนี้
แต่ส่วนมาก แอ่งล้างเท้านี้ จะมีแท่นวางเท้าตรงกลางแอ่ง สำหรับวางเท้าที่ล้างเศษดินออกหมดแล้ว ปัจจุบันแอ่งล้างเท้าแบบนี้ถูกทุบทิ้งหมดแล้ว ภาพที่เห็นเป็นแอ่งล้างเท้าบ้านคุณปู่ของใบเตยและใบไผ่ที่หลงเหลืออยู่หากพลอยโพยมหาภาพที่มีแท่นวางเท้าได้จะนำมาสื่อเพิ่มเติมให้
หากสงสัยว่าแอ่งนี้จะทำให้เท้า หรือตีน ของคนล้างสะอาดไหม คำตอบคือ ไม่ถึงคำว่าสะอาด เพราะคนร้อยแปดพันเก้าเอาเท้าลงไปล้างในแอ่งเดียวกัน ต้องมีคนขยันเปลี่ยนน้ำให้ด้วยการเติมน้ำใหม่ลงไปมาก ๆ บ่อย ๆ และต้องมีผ้าขี้ริ้วให้เช็ดเท้า ไม่อย่างนั้น พื้นที่เดินก็จะเป็นรอยเท้า หรือรอยตีน คนเดิน แต่ถ้ามีผ้าให้เช็ดจะแห้งหรือหมาด ๆ ก็จะไม่มีรอยตีนคนเดินบนพื้น
คำว่าร้อยแปดพันเก้าของพลอยโพยม หมายถึง นักเรียนทุกคนทั้งอาคาร คุณครู ภารโรง ผู้ปกครอง ( ที่มาส่งเด็กเข้าโรงเรียนใหม่) และอื่น ๆ ที่ใช้คำว่าร้อยแปดพันเก้าเพื่อให้สัมผัสกับคำว่า เอาเท้า นั่นเอง
หมายเหตุ
ร้อยแปดพันเก้า” ที่คำโบราณท่านหมายความว่า “จำนวนมากมาย-หลายอย่าง-และต่างชนิดตั้งร้อยแปดหรือพันเก้าอย่าง” แม้บางทีอาจจะพูดสั้นแค่ “ร้อยแปด” ก็มี ก็ได้ความหมายเหมือนกัน
ในพจนานุกรมมีสำนวนที่ขึ้นต้นด้วย “ร้อย” ที่หมายความว่ามาก เช่น
“ร้อยทั้งร้อย” หมายถึงเป็นเช่นนั้นทั้งหมดทั้งสิ้น
“ร้อยลิ้นกะลาวน” หมายถึงคนที่ชอบพูดกลับกลอกตลบตะแลงจนตามไม่ทัน
“ร้อยสีร้อยอย่าง” หรือ “ร้อยสีพันอย่าง” หมายถึงต่างๆนานา
“ร้อยเอ็ดเจ็ดหัวเมือง” หรือ “ร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ” หรือ “ร้อยเอ็ดเจ็ดพระนคร” หมายความว่าทุกหนทุกแห่ง (ดังในนิทานเรื่องสังข์ทองที่ว่า ท้าวสามลให้เสนาอำมาตย์ไปประกาศให้ชายหนุ่มทั้งร้อยเอ็ดเจ็ดหัวเมืองมาให้พระธิดาทั้งเจ็ดเลือกเป็นคู่ครอง แสดงว่าให้มาทั่วทุกแห่งหน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://guru.google.co.th/guru/thread?tid=472cc2ae8b9d0950&pli=1
วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2556
เดินเท้าเปล่าเข้าโรงเรียน 3
ต้นแสมใหญ่ริมคลองบ้านพี่ทัยเคยเป็นพิ้นที่่สวนริมคลองที่พลอยโพยมเคยเดินดมชมดอกนมแมว
ฝั่งตรงข้ามตามแนวหลังต้นจาก เคยเป็นลานนวดข้าวของน้านุ้ยมีกองฟางใกล้ ๆ กับที่ผูกเจ้าเล็กและเจ้าหมอกที่โคนต้นไทร
คลองศาลเจ้าหน้าบ้านพี่ทัย ในปัจจุบันทั้งแคบและตื้น
บริเวณก่อนถึงสะพานข้ามคลอง นึกภาพแทบไม่ออกว่่าในอดีตก่อนพลอยโพยมเกิด มีเรือสำเภาเข้ามาถึงหน้าบ้านพี่ทัยได้
เราต้องเดินเลียบคลองศาลเจ้าไปจนสุดเขตที่นาที่ลุงช้อยทำอยู่ จากตรงนี้จะต้องเดินลัดตัดท้องนา เพื่อไปขึ้นถนนดินหากชาวนาปล่อยน้ำและเกี่ยวข้าวเสร็จเรียบร้อยและพื้นนาแห้งพอเดินได้แล้ว ส่วนใหญ่เป็นก่อนปิดเทอมใหญ่ และช่วงเปิดเรียนใหม่ ๆ ก่อนฤดูฝนและชาวนาเริ่มไถ คราด นา
ท้องทุ่งนาของคุณตาบุญกลายเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งกุลาร้าง
ตั้งแต่ออกจากหลังสวนของยายขาแล้วมองไปรอบด้านก็จะพบแต่ท้องนารอบทิศทาง ยกเว้นด้านแนวคลองศาลเจ้าด้านบ้านพี่ทัย และบ้านคนอื่น ๆ ดังที่กล่าวมา หากแต่หลังบ้านของคนเหล่านั้นอีกฟากฝั่งคลอง ก็ล้วนเป็นที่นา ส่วนสวนนั้นจะอยู่ตามแนวริมแม่น้ำหรือติดคลองต่าง ๆ โดยทั่วไป แต่ตามแนวคลองศาลเจ้านี้พื้นที่ที่ติดคลองนั้นฝั่งหนึ่งเป็นของก๋งโต ( ตระกูลพี่ทัย ) ที่ดินอีกแนวฝั่งเป็นของก๋งพุก (น้องชายก๋งโต) ซึ่งเป็นพ่อของคุณตาบุญของพลอยโพยม ที่ดินของคุณตาบุญมีแปดสิบกว่าไร่ไม่รวมที่สวน ส่วนที่ดินของก๋งโตนั้นมีอาณาเขตมากกว่าที่ดินของคุณตาบุญ เพราะคุณตาบุญเป็นลูกคนสุดท้องมีพี่ ๆ น้อง ๆ คนอื่น ที่ได้รับส่วนแบ่งจากก๋งพุกเช่นกัน ที่สวนและที่นาญาติ ๆ ก็อยูถัดกับที่คุณตาบุญ ซึ่งล้วนอยู่คนละฝั่งคลองกับบ้านพี่ทัย
ถนนที่ต้องเลี้ยวขวานี้ เคยเป็นเส้นทางที่พลอยโพยมใช้เดินลัดตัดท้องนามาขึ้นถนนคันดิน
สุดแนวนาที่ลุงช้อยทำอยู่พลอยโพยมก็ไม่รู้ว่าเป็นที่นาของใครกัน หากเป็นฤดูกาลทำนาเราต้องเดินบนคันนาเท่านั้น ซึ่งต้องเป็นการเดินอ้อมตามแนวคันนาที่มีอยู่ ไม่สามาารถเดินลัดตัดตรงตามใจเราได้ ในท้องนาสมัยก่อนเดินไม่ง่ายนัก เพราะซังข้าวค่อนข้างยาว เนื่องจากพันธุ์ข้าวในสมัยก่อนเป็นพันธุ์ข้าวที่มีลำต้นสูง เพื่อให้ชูยอดพ้นน้ำได้ในหน้าน้ำมาก ๆ และเพราะเป็นนาดำต้นข้าวจึงขึ้นเป็นกอ ๆ เวลาเกี่ยวข้าวแล้วผืนนาจึงมีซังข้าวล้มทอดตัวในผืนนา มีทั้งโคนกอข้าว และลำต้นที่ทอดกายก่ายเกยกันในผืนนา ผืนนาบางแห่งก็แห้งน้ำดี บางแห่งก็ยังเปียก ๆ แฉะ ๆ บางแห่งก็เป็นดินพุ ๆ มีน้ำเจิ่งนอง
นึกมาถึงตรงนี้ก็แสนสงสารชีวิตวัยเด็ก ๆ ที่ไม่มีรองเท้าสวมใส่ เดินตีนเปล่ากันจริง ๆ แต่ก็เป็นผลดีเพราะในสมัยนั้นแม้แต่ถนนก็ยังเป็นถนนดินหากต้องสวมรองเท้าไปโรงเรียนก็คงต้องเอารองเท้าผูกเชือกแขวนคอเดินเวลาเจอที่แฉะๆ และช่วงฝนตก ที่ต้องเอาเชือกผูกรองเท้าแขวนคอเพราะไม่มีมือจะถือรองเท้า ในเมื่อมือหนึ่งหิ้วกระเป๋าอีกมือหิ้วปื่่นโตข้าวเสียแล้ว แต่เราก็ได้สวมรองเท้าดินเวลาหน้าฝน เพราะดินจะติดเท้าเป็นแผ่นใหญ่ตามรูปร่างของเท้าเด็กแต่ละคนแทน
แล้วหน้าฝนพลอยโพยมไปโรงเรียนหรือกลับบ้านอย่างไร
เนื่องจากเด็กในบ้านประมาณห้าคน ไปเรียนที่โรงเรียนวัดผา ฯ เดียวกัน เรามีผ้าพลาสติกเนื้อหนาผืนใหญ่ มีพี่ ๆ เป็นคนรับผิดชอบถือไปโรงเรียนทุกวัน เวลาฝนตกเด็ก ๆ ก็ช่วยกางผ้าพลาสติกผืนใหญ้นี้บังฝนช่วยกันจับตามมุมผ้า คนตัวเล็กอย่างพลอยโพยมก็เดินวงในช่วยพี่ ๆ ถือของเพราะพี่ ๆ ต้องเอามือจับผืนผ้าไว้ ค่อย ๆ เดินช้า ๆ ไปด้วยกันพอถึงคันนาก็เดินเรียงหนึ่ง เวลาฟ้าร้องคำรามก็ใจหวิวหวั่น หากมีฟ้าผ่าเปรี้ยงลงมาตรงไหนก็แล้วแต่ พวกเราก็ฟุบตัวลงนั่งยอง ๆ กับพื้นดิน อกสั่นขวัญหายไม้แพ้เห็นควายวิ่งไล่กัน
จนเมื่อพี่ ๆ ย้ายไปเรียนหนังสือที่ตัวเมือง พลอยโพยมก็กลายเป็นพี่ มีน้องชายร่วมเดินทาง 1 คน ลูกสาวป้าละออคนเล็กสุด 1 คน เราก็เลิกกางผ้าพลาสติก เปลี่ยนเป็นกางร่มกระดาษสีแดงแทน
ร่มกระดาษที่ใกล้เคียงกับร่มสมัยเด็ก ๆ แต่ฝีมือหยาบกว่าและกระดาษไม่ทำลวดลายสวยงามอย่างในภาพ
เพิ่มคำอธิบายภาพ |
ขอขอบคุณภาพจาก
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=fromsandtoheaven&month=15-08-2008&group=2&gblog=37
ท้องนาด้านนี้มีผืนนากว้างมาก หลายเจ้าของหลายกระทงนา บรรดากาสรถูกปล่อยให้เล็มหญ้าในนาแถบบริเวณที่ใกล้ ๆ บ้านชาวนา เมื่อหญ้าหมดก็ต้องเขยิบพื้นที่ห่างออกมาเรื่อย ๆ แต่หากมีควายทะเลาะกันการวิ่งไล่ก็น่ากลัวกว่าเพราะพื้นที่ที่กว้างกว่าท้องนาด้านที่เดินสวนมาก บ่อยครั้งที่เห็นควายวิ่งไล่กันเป็นระยะทางยาว ๆ วิ่งอย่างชนิดที่เรียกได้ว่าห้อตะบึงเลยทีเดียว แต่เราจะอยู่ในระยะไกลจากควายเหล่านั้น ปัญหาที่สำคัญคือ เวลาฝนตกแล้วเราเดินอยู่ในนา พวกเราจะเป็นจุดเด่นกลางผืนนาหรือบนคันนา หากฝนตั้งเค้าให้รู้ตัว พวกเราก็จะไม่เดินเส้นทางนี้ เพราะถนนดินเส้นนี้เป็นเส้นทางจากวัดผา ฯ ปลายถนนอีกด้านไปหมูบ้านอื่น มิใช่มาหมู่บ้านอู่ตะเภา เราเดินลัดนาก็เพื่อมุ่งสู่เส้นถนนเท่านั้น
หากเดินตามแนวสวนเราจะเดินฝ่าสายฝนได้สบายใจกว่า เพราะแนวต้นไม้สูงกว่าพวกเรา เราไม่เป็นจุดเด่นแบบกลางท้องนา
ในช่วงที่เดินบนถนนเราก็จะพบเพื่อนฝูง รุ่นพี่ รุ่นน้อง คุณครูบางท่าน เดินมาเป็นกลุ่ม ๆ แล้วแต่บ้านไหนมีเด็กนักเรียนกี่คน หรืออยู่ใกล้กับบ้านใครก็จะออกเดินมาโรงเรียนด้วยกัน เด็ก ๆ แต่ละคนก็ล้วนแต่ก้มหน้าก้มตาเดินให้ถึงจุดหมายปลายทางเร็ว ๆ ไม่มีการชักช้าเสียเวลายกเว้นขากลับบ้าน ใครเห็นของต้องใจของตนข้างทางก็หยุดแวะไปเก็บมา
วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2556
เดินเท้าเปล่าเข้าโรงเรียน 2
บ้านนาจำลอง
หากเราไม่ไปด้านสวนจะไปด้านถนนดินยกสูง ก็คือไม่ข้ามสะพานหน้าบ้านพี่ทัย แต่เดินเลียบคลองศาลเจ้า จะผ่านหน้าบ้านน้านุ้ย ผ่านอย่างชนิดเดินใต้ชายคาบ้านน้านุ้ยเลยทีเดียว
น้านุ้ยเคยเป็นเด็กอยู่กับคณะละครงิ้วมาก่อนและคุณตาบุญของพลอยโพยมไถ่ตัวเอามาเลี้ยง ต่อมาก็ชอบพอกับน้าผาดสาวในบ้านพี่ทัย น้านุ้ยกับน้าผาดก็เลยเป็นลูกนาทำนาแปลงหนึ่งประมาณ 40 กว่าไร่ ของยายขาปลูกบ้านอยู่ท้ายสวน อยู่เยื้องหน้าบ้านพี่ทัยคนละฝั่งคลอง มีควายสองตัว ชื่อเจ้าเล็กและเจ้าหมอก เวลากลางวันน้านุ้ยก็เอาเจ้าสองตัวออกจากโรงควาย ไปผูกกับโคนต้นไทรใหญ่ริมคลอง ต้นไทรต้นนี้มีรากห้อยย้อยระย้ายาวมากสามารถโหนแกว่งตัวเป็นทาร์ซานได้สบาย ๆ ถ้ามีแรงส่งดี ๆ ก็ข้ามคลองศาลเจ้าได้เลยทีเดียว เจ้าเล็กและเจ้าหมอกผูกอยู่ ไม่ไกลกับกองฟางสองกอง สุดเขตน้่านุ้ยจะมีเส้นทางเล็กเลียบคลองต่อไปอีก หลังบ้านน้านุ้ยมีบ่อน้ำ ปลูกกล้วยอ้อยและมะพร้าวที่ริมบ่อ น้านุ้ยมีลูกชายหญิงกับน้าผาดหลายคนล้วนแต่เป็นรุ่นเด็กกว่าพลอยโพยมทั้งสิ้น
ถัดจากบ้านน้านุ้ย ก็มีบ้านป้าเชื่อมแม่ลุงช้อยอยู่คนละฝั่งคลองกับน้านุ้ยและลุงช้อยด้วยคืออยู่ฝั่งคลองซีกด้านพี่ทัย บางครั้งพี่ชายก็อยากเดินไปโรงเรียนกับเพื่อนที่เป็นหลานป้าเชื่อมชื่อพี่สนิทก็จะมาข้ามคลองที่หน้าบ้านป้าเชื่อม ซึ่งสะพานข้ามคลองเป็นเพียงต้นหมากทอดข้าม ที่กลางคลองมีไม้ไผ่ยาวปักไว้ช่วยพยุงตัว เราจะต้องทรงตัวเลี้ยงตัวเดินไปถึงกลางคลองให้ได้แล้วคว้าลำไม้ไผ่ไว้โน้มลำไม้ไผ่พยุงตัวเดินข้ามต่อบนลำต้นหมากอีกครึ่งคลองถึงฝั่งคลองด้านโน้นก็ปล่อยลำไม้ไผ่ให้คนที่จะเดินถัดไปได้ใช้ยืดเป็นหลัก และที่หน้าบ้านป้าเขื่อมนี้เองที่บางครั้งพลอยโพยมตกน้ำกลางคลอง หัวหูหน้าตาเนื้อตัวเสื้อผ้าเปียกปอน แต่กระเป๋านักเรียนไม่เปียกเพราะพี่ชายเป็นคนถือให้ในช่วงเวลาข้ามคลองหน้าบ้านป้าเชื่อม แต่พลอยโพยมก็ไม่เคยเกโรงเรียนเลยสักครั้งเดียวพอไปถึงโรงเรียนเสื้อผ้าก็เกือบแห้งแล้ว
เหตุจูงใจอีกอย่างที่พี่ชายพาพลอยโพยมมาข้ามคลองที่บ้านป้าเชื่อม เพราะบ่อยครั้งป้าเชื่อมจะไปหักอ้อยขาไก่มาให้พวกเรากินส่วนใหญ่เป็นขากลับบ้านตอนเย็น เดินไปกัดอ้อยเคี้ยวไปคายชานอ้อยทิ้งเรี่ยราดตามทางเดินนั่นเอง
แต่บรรดาพี่สาวญาติ ๆ เขาไม่มาผจญภัยเสี่ยงกับการตกน้ำตอนข้ามคลองกับพี่ชายและพลอยโพยม แต่เขาจะเดินต่อไปยังบ้านลุงช้อยกัน
ลุงช้อยลูกชายป้าเชื่อมทำนาอีกแปลงของยายขาเนื้อที่มากกว่าน้านุ้ยที่นาอยู่ต่อจากที่นาที่น้านุ้ยทำอยู่ ลุงช้อยคนนี้ในสมัยเป็นทหารเกณฑ์ เคยเป็นทหารรับใช้บ้านจอมพลถนอม กิตติขจร (ยศในขณะนั้นระดับนายร้อย)มาก่อนเสียด้วย ลุงช้อยเล่าว่าเจ้านายและคุณนายของท่านใจดีมาก พวกเราเคยยุลุงช้อยกลับไปหาเจ้านายแต่ลุงช้อยพอใจกับชีวิตชาวนาที่อุ่นหนาฝาคั่งด้วยลูกชายหญิง ลุงช้อยมีภรรยาชื่อป้าอู๊ด มีลูกชายหญิงรุ่นโตกว่าพลอยโพยมหลายคน เป็นเด็กรุนหลังพลอยโพยมแค่ 2 คน ลุงช้อยจึงมีควายได้หลายตัวเพราะมีคนช่วยเลี้ยงควายได้ ช่วยไถนา คราดนาได้ รวมแล้วมีควายสี่ตัว จำได้ว่าตัวหนึ่งชื่อเผือก ทั้งที่สีลำตัวของควายชื่อเผือกออกจะดำปี๋ โรงควายของลุงช้อยจึงกว้างขวางใหญ่โตกว่าโรงควายบ้านน้านุ้ยและต้องมีกองฟางเก็บฟางแห้งไว้เลี้ยงควายมากกว่ากองฟางบ้านน้านุ้ย
ทั้งน้านุ้ยและลุงช้อยจะแบ่งพื้นที่ในโรงควายเป็นยุ้งเล็ก ๆ เก็บข้าวเปลือกทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียวไว้ให้พอกินระหว่างปีก่อนการทำนารอบใหม่ซึ่งทำนาเพียงปีละครั้ง และสำหรับเป็นพันธุ์สำหรับหน้าทำนาฤดูกาลใหม่ด้วย
ลุงช้อยจะผูกควายไว้บริเวณหน้าบ้านซึ่งหันหน้าและอยู่ชิดติดคลองศาลเจ้า ลุงช้อยเองก็ปลูกมะพร้าว ต้นกล้วย อ้อย ผักสวนครัว และต้องมีบ่อน้ำเก็บกักน้ำไว้ใช้หน้าแล้งซึ่งนอกจากน้ำในลำคลองจะน้อยแล้วยังเป็นน้ำกร่อยอีกด้วย นอกจากนี้ ทั้งสองบ้านก็จะเลี้ยงทั้งเป็ดและไก่ด้วย
พลอยโพยมไม่ค่อยชอบเส้นทางที่จะเดินไปขึ้นถนนเท่าไรนัก เพราะจะต้องเดินผ่านควายรวมหกตัว ขี้ควายก็กระจัดกระจายเรี่ยราดบนพื้นทางเดินนั่นเอง รวมถึงขี้เป็ดและขี้ไก่ ลุงช้อยเลือกทำเลปลูกบ้านได้ดีมาก เพราะหน้าบ้านรับลมเย็นสบายดีมาก บางทีตอนขากลับถ้าเลือกเส้นทางนี้เราก็เถลไถลแวะเหนื่อยกันพักใหญ่ คลองศาลเจ้าลึกเข้ามาถึงบริเวณนี้คลองจะเล็กลงมากไม่กว้างเหมือนปากคลอง และจะกว้างเลยมาถึงบ้านพี่ทัย (ในอดีตยุคคุณก๋งบรรพบุรุษรุ่นสาม หรือรุ่นที่สี่ บ้านนี้มีเรือสำเภาเข่้ามาส่งสินค้าได้)
เยื้องบ้านลุงช้อยไปยังคนละฝั่งคลอง มีบ้าน ลุงโหม่ง ทิดมี ป้าเลียบ ซึ่งมีบ้่านปลูกอยู่ในที่ดินของบ้านพี่ทัย และเป็นผู้คนที่พี่ทัยเรียกไปรับจ้างทำงานต่าง ๆ กล่าวง่าย ๆ ก็ คือเป็นกลุ่มลูกน้องพี่ทัยนั่นเอง
เขียนเส้นทางเดินมาสองวันแล้วยังไปไม่ถึงโรงเรียนเลย โดยเฉพาะเส้นถนน ยังไปไม่ถึงครึ่งทางเลย แต่เนื้อหายาวไปเสียแล้ว ก็ขอหยุดพักเหนื่อยที่บ้านลุงช้อย ขอนั่งรับลมที่พัดเฉื่อยฉิวน่าล้มตัวลงนอน อย่างเคยก่อน
วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2556
เดินเท้าเปล่าเข้าโรงเรียน 1
เยอบีร่าพันธุ์ใหม่ในสมัยปัจจุบัน
การเดินทางไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดผาณิตาราม พวกเราเดินด้วยเท้าเปล่า ทั้งคุณครูและนักเรียนอื่น ๆ ก็เช่นกัน เราเดินลงจากบ้านทางบันไดด้านหลังเรือนครัวซึ่งแยกคนละหลังกับตัวบ้าน(สามหลัง) (ต่อมายายขาปลูกครัวใหม่ยกพื้นให้สูงขึ้นมีต้นยี่โถสีชมพูอยู่เชิงบันได) ผ่านโรงฟืนสองสามโรงและแปลงค้างใบพลู มีกอมะลิซ้อนกอใหญ่แน่นทึบยาวประมาณสองเมตร (ตั้งแต่จำความได้พลอยโพยมก็เห็นต้นมะลิซ้อนกอนี้แล้ว) เดินไปสู่ท้ายสวนของตัวเอง สุดเขตสวนมีต้นตาลสองต้นและมีลำรางทางน้ำขุดคั่นระหว่างที่สวนและที่นาริมลำรางเป็นแนวต้นสะแก เปิดช่องทางโล่งเดินชิดด้านริมคลองศาลเจ้าออกไปสู่ท้องนา ที่หน้าบ้านพี่อุทัยวรรณเป็นทางสองแพร่งให้เลือก หากข้ามสะพานข้ามคลองไปฝั่งบ้านพี่ทัย ก็จะมีดอกไม้ทั้งสวยและหอมให้ดอมดมและชมเพลิน ๆ มีแปลงเยอบีร่าหลากสีที่หน้าบ้าน
มีกอเข็มสีชมพูกอใหญ่ ตัดเป็นพุ่ม 2 กอ ออกดอกสดสวยทั้งปี คู่กับสายหยุดสองต้นส่งกลิ่นหอมรวยรินอยู่ที่บันไดขึ้นบ้าน โดยมีเข็มสีชมพูปลูกซ้ายขวาตีนบันได และ มีต้นสายหยุดปลูกซ้ายขวาชิดบันไดขั้นบนสุดส่งกลิ่นระรวยรื่นหอมชื่นหทัยในรอบเช้า
กอต้นเข็มชมพูที่บ้านพี่ทัย ทั้งสูงและใหญ่ประมาณ สองเท่าของภาพตัวอย่างข้างบนนี้รวมทั้งดอกที่ออกสะพรั่งสีชมพูอะร้าอร่ามงามตาทั้งปี
เราต้องเลี้ยวขวาข้างถังน้ำปูนกลมสูงใหญ่ใช้เก็บน้ำฝนก่อนถึงบันไดบ้าน เดินข้ามคลองเล็กอีกครั้ง คลองนี้ขุดต่อมาจากคลองใหญ่(คลองศาลเจ้า) อ้อมมาเป็นที่เก็บเรือนั่นเอง มีไม้แผ่นกระดานทอดข้ามระหว่างสองฝั่งและไปสู่สวน มีต้นนมแมวปลูกอิงโคนต้นไม้ใหญ่ที่จำไม่ได้ว่าเป็นต้นอะไรอยู่อีกฝั่ง กลิ่นดอกนมแมวหอมเย็นเย้ายวนให้ต้องหยุดหาดอกที่ส่งกลิ่นโชยชื่นใจ เส้นทางนี้เป็นการเดินที่ที่ชิดตัวบ้านพี่ทัยมาก ๆ ก่อนออกสู่สวน สุดสวนเป็นบ่อเลี้ยงปลาดุก มีลุงจ้อยเป็นผู้ดูแลมีเรือนพักใกล้บ่อเลี้ยงปลา เดินพ้นเขตก็จะเจอบ้านเจ้ลุ้ย ทิดสม อยู่ไม่ไกลกับสวนกำนันสนั่น กัญจนา (ปัจจุบันทายาทของกำนันสนั่นทำโฮมเสตต์ ชื่อ เรือนลำพูรีสอร์ท อยู่ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง) อยู่ด้านซ้ายมือ บ้านกำนันสนั่นปลูกมันแกวด้วย ซึ่งสวนอื่นๆ รวมทั้งที่บ้านพลอยโพยมก็ไม่มีปลูก ( จึงเป็นที่หมายปองของเด็ก ๆ อีกเช่นกัน) มีท้องนาคั่นด้านขวามือ วกกลับมาทางคลองศาลเจ้ามีแปลงอ้อยขาไก่ของป้าเชื่อม (แม่ลุงช้อยลูกนาอีกคนของยายขา) ป้าเชื่อมเช่าที่ทำสวนเล็ก ๆ จากบ้านพี่ทัยมีบ้านอยู่ริมคลองศาลเจ้า
ปกติดอกนมแมวจะคว่ำดอกลงไม่หงายดอกขึ้นอย่างในภาพ
เส้นทางนี้มีทุ่งนาขวางอยู่ซอยเป็นแปลงไม่ใหญ่นักสองสามแปลง จะมีควายหลายตัวปล่อยไว้ให้หาหญ้ากินในท้องนาในช่วงที่ไม่มีต้นข้าว เมื่อเดินข้ามไปอีกด้านของท้องนาโดยเดินตามคันนาจะมีคันนาค่อนข้างกว้าง (ซึ่งบอกลักษณะว่าเป็นคันแบ่งเขตที่นา) เป็นทางไปสู่หมู่เรือกสวนอีกหลายขนัดที่สำคัญคันนาด้านนี้จะเป็นบริเวณที่ควายบางตัวตีแปลงสบาย ๆ ในปลักควาย ดังนั้นในบางครั้งที่มีลมพายุมาแรงจัดจนเด็ก ๆ อย่างพลอยโพยมเซถลาเสียหลักจากคันนาลงไปในริม ๆขอบของปลักควายก็มีบ่อย ๆ โชคดีที่เจ้าของพื้นที่ลุกกลับเข้าที่อยู่ถาวรไปก่อนหน้าแล้ว
และยังมีบ่อยครั้งควายก็ทะเลาะกันส่งเสียงคำราม มอ มอ เสีบงดังและหนักแน่นอย่างไม่สบอารมณ์ ควายก่อนแล้วจึงหันหน้าเข้าหากันต่างตัวต่างก้มหัวลงเอาเขาขวิดกัน ตัวที่สู้ไม่ได้ก็วิ่งหนี ตัวชนะก็วิ่งไล่ตามเมื่อไล่ไปทันกันก็หันหน้าเอาเขาขวิดกันอีกรอบ เด็ก ๆ ก็พากันขวัญกระเจิง อกใจไหวหวั่นสั่นระรัวกับการวิ่งไล่ของเจ้ากาสร หรือบางทีกระบือบางตัวก็ส่งสายตามองเบิ่งมาที่เด็ก ๆ
เป็นที่บอกกล่าวเล่ากันว่า กาสร ไม่ชอบสีแดงเอามาก ๆ หากใช้คำว่าเกลียดมากก็คงได้ หากมีสีแดง ๆ ให้เห็น กาสรจะแสดงอาการฮึดฮัดขัดใจ จ้องเบิ่งมองมาสายตาเขม็ง ดังนั้นดอกไม้สีแดงเจิดจ้าอย่างดอกเข็มเศรษฐี และชบาสีแดงข้างล่างนี้ห้ามถือเดินไปใกล้รัศมีสายตากาสรเป็นอันขาด ไม่อย่างนั้นจะต้องทิ้งดอกไม้แล้ววิงหนีเอาตัวรอดให้ปลอดภัย
ภาพนี้มีกาสรนอนตีแปลงสบายอารมณ์สมใจควายอยู่ในแอ่งโคลน หนึ่งตัว
ตีแปลงหมายถึง ทำดินโคคนให้เป็นแอ่งสำหรับนอนเกลือกสำหรับควายหรือหมู
ส่วนปลักหมายถึงแอ่งที่เป็นโคลนเลนเช่นปลักควาย
กาสร และกระบือก็ คือควายนั่นเอง
ขอขอบคุณภาพจาก http://webboard.serithai.net/topic/109
การเดินออกจากสวนเจ้ลุยตัดตรงข้ามท้องนา (เดินบนคันนา) สุดผืนนาเลี้ยวขวา เดินสุดคันนานี้จะเป็นหัวโค้งเริ่มต้นขนัดสวนโดยเลี้ยวซ้ายพบสวนบ้านลุงปั่นเป็นบ้านสวนขนัดแรก อยู๋ตรงข้ามกับสวนตาจิต จากนั้นก็จะผ่านสวนอีกหลายขนัด มากมายด้วยผลไม้ต้นไม้ในแต่ละสวนเช่น ถัดสวนลุงปั่นเป็นสวนยายเฮียง สวนป้านอม สวนยายเส่งจนถึงสวนคุณครูบุญยง หิ้งทอง (สอนโรงเรียนวัดผาฯ) ซึ่งสามีเป็นคุณครูโรงเรียนวัดบางกรูดชื่อคุณครูเริ่ม(สุทัศน์ หิ้งมอง)ต้องข้ามคลองอีกครั้ง ขวามือเป็นสวนหมอหลี่ ซ้ายมือคือสวนบ้านกำนั้นเตี้ย สวนยายหวัง สวนคุณครูภา สวนจ่าเลิศ สวนน้าสุวรรณ สวนคุณครูรัตนศรี สวนลุงกี่ สวนหมอสม ข้ามคลองเล็กอีกคลอง เป็นแนวป่าสะแกบริเวณของวัด ถัดป่าสะแกเป็นแนวเจดีย์ที่สร้างบรรจุอัฐิบรรพบุรุษ ถัดจากแนวเจดีย์ คือพระอุโบสถของวัด
ก่อนถึงบริเวณโรงเรียน ทุกบ้านทุกสวนจะมีน้องหมากันบ้านละหลาย ๆ ตัว ถ้าเราไม่เดินไปใกล้ตัวบ้าน น้องหมาทั้งหลายก็ไม่สนใจพวกเราเลย ส่วนใหญ่พวกเราจะเดินบริเวณที่เป็นปลายสวนของแต่ละส่วนนั่นเอง เส้นทางเดินด้านนี้จะไปทะลุแนวป่าสะแก ก่่อนเข้าสู่บริเวณพระอุโบสถของวัด
ในสมัยนั้นตามบ้านเรือนไม่มีการเทลูกรังหรือหืนคลุกอย่างในภาพ ทั่วทุกพื้นที่มีแต่ดินและโคลนเท่านั้น
การเดินไปโรงเรียนแต่ละเส้นทางเราก็จะพบทั้งเด็กนักเรียนอื่น ๆ และคุณครูที่ใช้การเดินเท้าไปโรงเรียนเหมือนพวกเรา และจะเป็นเพื่อนร่วมเดินทางคนละชุดกันกับการเดินทางเส้นทางถนนคันดินยกสูงของอีกเส้นทางหนึ่ง
วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2556
หลงทิวทุ่งตระการ 7
ลมหนาวโบก โบยมา เพลานี้
ดวงจิตมี หมายมาด คาดมุ่งมั่น
สะพายย่าม ผ้าเย็บ เก็บทุกวัน
พวกเรานั้น ขันแข็ง ด้วยแรงกาย
เดินเท้าเปล่า เข้านา หาข้าวตก
เตรียมมีดพก พบรวง หลงร่วงหลาย
สิ้นกังวล คนซื้อ คือคุณยาย
เช้าจนสาย ชายตา หาสิ่งปอง
เจอะหลุมโจน จับปลา ในนาข้าว
อยู่แถบราว ร่วมภูมิ ลุ่มน้ำหนอง
ขุดเป็นหลุม ลึกใกล้ ใส่เลนนอง
ละเลงรอง รอบหลุม ซุ่มดักปลา
นิสัยปลา พาไถ ไถลเถือก
ปลาแถกเหงือก เกลือกตัว กลั้วเลนหรา
หนองน้ำไป ไถระ ปะหลุมทา
เลนเรียบพา ปลาหลง ลงหลุมมี
ปลาหมอแถกเหงือก
หลุมโจนจึง พึงกล่าว ชาวนาสร้าง
ไม่แตกต่าง ตั้งใจ ใช้เรือผี
เพื่อหลอกปลา หาค้น วนวิธี
ปลาต้องพลี ผลพวง คนลวงเอา
ปลาช่อน