วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2556
โรงเรียนประชาบาลวัดผาณิตาราม (โรงเรียนกล่องไม้ขีด ...)
เห็นภาพโรงเรียนประชาบาลวัดผาณิตารามแล้ว พลอยโพยมเองก็ยังแปลกใจว่าเหตุใดโรงเรียนที่เราเคยเรียนจึงมีรูปทรงไม่เหมือนโรงเรียนอื่น ๆ แม้แต่เรือนไม้ชายแม่น้ำ แต่ก็พอเข้าใจว่าเรือนไม้ขายแม่น้ำใช้เรือนเก่าที่มีมาดัดแปลงเป็นห้องเรียนหนังสือและพลอยโพยมก็เรียนได้ไม่ทันจบชั้นเรียนก็ย้ายขึ้นไปเรียนที่ศาลาการเปรียญแทน
ต่อมาภายหลังจึงทราบว่าเรือนไม้สองชั้นรูปทรงกล่องไม้ขีดมีที่มาที่ไปของตัวเอง
ที่เรียกว่ารูปทรงกล่องไม้ขีด เพราะมองดูแล้วเหมือนกับกล่องไม้ขีดไฟนำมาวางให้ด้านสูงตั้งขึ้นข้างบน คนรุ่น เก่าๆ จึงขนานนามว่าโรงเรียนกล่องไม้ขีด
จุดประสงค์เดิมของผู้สร้างเพื่อสร้างเป็นโรงเรียนสำหรับสอนพระธรรม และตั้งชื่อว่า"โรงเรียนพระปริยัติธรรม" โดย นางแห้ง บูรณะสิน ยกที่ดินตรงนั้นให้ว้ดเพื่อสร้างโรงเรียนสอนพระธรรม นายยง วัฒนสินธุ์ เป็นหัวหน้าหาเงินจากญาติพี่น้องและทายกทายิกาช่วยกันบริจาคได้เงิน สี่พันห้าร้อยบาท จึงออกแรงช่วยกันก่อสร้างเป็นสองชั้นยาว ๗ วา ๓ ศอก กว้าง ๓ วา สูง ๑๑ ศอก เสาชั้นล่างเป็นเสาหล่อปูน เสาชั้นบนเป็นเสาไม้ ด้านหน้ามีมุขตรงกลาง มุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์หางปลาตะเพียน ฝาไม้สัก พื้นไม้ตะแบก เครื่องบนไม้เต็งรัง สร้างเมื่อ ปี พศ ๒๔๗๖
อาคารนี้ใช้สอนธรรมได้ไม่กี่ปีก็ยกให้เป็นโรงเรียนประชาบาลวัดผาณิตาราม เนื่องจากเดิมโรงเรียนประชาบาลไม่มีอาคารเรียนต้องอาศัยศาลาการเปรียญหลังแรกเรียน เด็กนักเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี ศาลาก็ไม่พอต้องอาศัยโรงครัวเก่าของวัดเรียนก็ยังไม่เพียงพออีก ประกอบกับทางวัดต้องการรื้อศาลาการเปรียญหลังเก่าเพราะทรุดโทรมมาก วัดจึงยกโรงเรียนพระปริยัติธรรมหลังดังกล่าวให้เป็นสมบัติของโรงเรียนประชาบาลวัดผาณิตาราม นับว่าโรงเรียนประชาบาลวัดผาณิตารามมีอาคารเรียนเป็นของโรงเรียนเองเป็นครั้งแรกนับแต่นั้นมา (
ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือ ๑๐๐ ปี วัดผาณิตาราม)
เรือนไม้ชายน้ำที่พลอยโพยมเคยเรียนตอนเข้าโรงเรียนใหม่ ๆ ก็น่าจะเป็นโรงครัวของวัด
ต่อมาคณะกรรมการวัดผาณิตาราม ได้รื้ออาคารหลังนี้ และนำวัสดุที่ยังใช้ได้ ไปสร้างเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตำบลบางกรูด และคงรักษารูปหลังคาแบบเดิมไว้
ซึ่งในขณะเดียวกันที่วัดบางกรูด ก็มีการสร้างโรงเรียนนักธรรม ขนาดยาว ๖ วา กว้าง ๓ วา เป็นอาคารสองชั้น ฝาไม้สัก หลังคามุงกระเบื้องซีเมนต์ พืิ้นไม้ตะแบก เสาคอนกรีต สร้างสำเร็จเมื่อ ปี พ.ศ ๒๔๗๖ สร้างด้วยเงิน ๙๕๘บาท ๓๒ สตางค์ โดยพระใบฎีกาซุ่นฮวด (ภายหลังเป็นพระครูโสภณญาณวิจิตร) เจ้าอาวาสในขณะนั้น ควบคุมดูแลและลงมือก่อสร้างเอง ท่านมีความรู้ความสามารถ ในการช่าง หลังจากลาสิกขาบทแล้วท่านไปรับใช้ในเรื่องการก่อสร้าง ต่าง ๆ ในวัดอรุณ ฯ สมัยที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ นามเดิม วน นามฉายา ฐิติญาโณ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม รูปที่ ๑๑ ซึ่งท่านเคยมาดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลปราจีนบุรีเมื่อ ปี พศ. ๒๔๗๘ ถึง พ.ศ .๒๔๘๓ (ท่านเคยปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ในปี ๒๕๐๘ )
โครงสร้างของตัวอาคารและรูปทรงของโรงเรียนนักธรรม สองวัดนี้มีส่วนละม้ายคล้ายกันมาก เสียดายที่ไม่มีภาพของโรงเรียนนักธรรมวัดบางกรูด
โรงเรียนนักธรรมของวัดผาณิตารามต่อมาเป็นอาคารเรียนโรงเรียนประชาบาล
ส่วนโรงเรียนนักธรรมของวัดบางกรูดต่อมาภายหลังเป็นกุฎิของรองเจ้าอาวาสวัดบางกรูด และถูกรื้อรวมกับกุฎิไม้อีกหลายหลัง เพื่อให้ กุฎิพระสงฆ์ของวัด ไม่แบ่งแยกเป็นคณะบน คณะล่าง โดยมีการสร้างกุฎิเป็นการก่ออิญถือปูนใหม่ รวมเป็นกุฎิหมู่เดียวกัน
ช่างน่าเสียดายที่วัดบางกรูดไม่มีการอนุรักษ์กุฎิเรือนไม้ที่สำคัญ ๆ สองหลัง คือกุฎิของอดีตเจ้าอาวาสวัด เรือนไม้หลังใหญ่สองชั้น และ กูฎิรองเจ้าอาวาสที่เปลี่ยนมาจากโรงเรียนนักธรรม
ท่าน้ำวัดผาณิตาราม
อาคารเรียนชั้นประถมศึกษา เดิมสร้างไว้เพียงในภาพ
อาคารเรียนชั้นมัธยมศึกษา
ปัจจุบันอาคารเรียนชั้นมัธยมศึกษาหลังนี้ไม่ใช้เป็นอาคารเรียนแล้ว
อาคารเรียนชั้นประถมศึกษาในปัจจุบัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น