วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556
สู่แดนพระพุทธองค์ เพื่อ นมัสการพุทธสังเวชนียสถาน ๓
พุทธคยา ๓
๒. พระพุทธเมตตา...
พระพุทธรูปปางมารวิชีย (ภูมิผัสสะ) อายุกว่า ๑,๔๐๐ ปี
ภายในวิหารพระเจดีย์ มีพระพุทธฎิมากรที่สร้างด้วยหินแกรนิตสีดำในสมัยปาละ ปางมารวิชัย มีอายุกว่า ๑,๔๐๐ ปี ทั้งลักษณะและขนาด พอ ๆ กัยกับพระพุทธรูปปางภูมิผัสสะที่มหากัวร์วิหาร นครกุสินารา
องค์พระพุทธรูปปิดทองเหลืองอร่าม มีเครื่องตั้งบูชาตรงหน้า่เป็นพระพุทธรูปที่ชาวไทยเรียกกันว่าพระพุทธเมตตา มีหินทรงกลมที่มองเห็นเฉพาะฐาน เจ้าหน้าที่ทำไม้เป็นสี่เหลี่ยมมาครอบไว้
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.alittlebuddha.com
พระพุทธเมตตา ประดิษฐานภายในวิหารพระเจดีย์พุทธคยา ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๑๔๗ เซนติเมตร สูง ๑๖๕ เซ็นติเมตร ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก เป็นพระพุทธปฏิมาอันงดงาม
เหตุที่เรียกว่า “พระพุทธเมตตา”ด้วยเพราะพระพักตร์เปี่ยมไปด้วยความอ่อนโยน เมตตากรุณา ประดิษฐาน ณ ห้องบูชาชั้นล่างสุดของพระมหาเจดีย์พุทธคยา
ขอขอบคุณภาพจาก
http://www.alittlebuddha.com
มีการเล่าประวัติพระพุทธรูปนี้ไว้ในบันทึกของหลวงจีนถังซำจั๋งว่า
ในปี พ.ศ. ๑๑๐๐ (ค.ศ ๖๐๐ ) มีกษัตริย์ฮินดูนามว่าพระเจ้าศศางกา แห่งแคว้นเบงกอล พระองค์อิจฉาพระพุทธศาสนาที่มีความรุ่งเรืองมาก ทรงไม่พอพระทัยที่เห็นพุทธศาสนามาตั้งแข่งกับฮินดูที่พุทธคยาจึงนำกองทัพยกมาที่พุทธคยา ทรงสั่งให้ทหารทำลายวัดวาอารามและต้นโพธิ์ตรัสรู้ (ต้นที่สอง ) เสีย
แล้วพระองค์ได้เสด็จเข้ามาในวิหารมหาโพธิ์นี้ ได้พบพระปฎิมากรตั้งไว้บูชาองค์หนึ่ง ขณะแรกคิดจะทำลายด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง แต่เมื่อเห็นพระพักตร์ของพระพุทธปฎิมากรอันเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา ศศางกาก็มิอาจทำลายลงเองได้ จึงเสด็จกลับพระนคร
ขอขอบคุณภาพจาก
http://www.dhammajak.net
ขอขอบคุณภาพจาก
http://www.dhammajak.net
ในระหว่างทางทรงฉุกคิดขึ้นว่าว่า ถ้ายังให้พระพุทธรูปตั้งอยู่ในวิหารต่อไป พุทธศาสนิกก็คงจะฟื้นฟูสถานที่นี้ขึ้นมาอีก จึงมีพระบัญชาให้นายทหารผู้หนึ่งไปทำลายพระพุทธรูปนั่นเสีย และให้ประดิษฐานรูปพระมเหศวรขึ้นแทนที่
นายหหารผู้นั้นเมื่อมาถึงเฉพาะหน้าพระพักตร์ของพระพุทธรูปก็มิอาจหาญที่จะทำลายได้เช่นกัน
นายทหารก็ได้แต่รำพึงว่า ถ้่าหากตนทำลายพระพุทธรูปนี้คงจะต้องตกนรกหมกไหม้ไปหลายกัปป์เป็นแน่ ซ้ำยังหมดโอกาสเกิดทันสมัยพระศรีอริยเมตไตรอีกด้วย แต่ถ้าไม่ทำลายพระราชาก็คงค้องทำลายชีวิตเราและครอบครัวทั้งหมดแน่
นายทหารคิดกลับไปกลับมาหลายตลบว่าจะปฏิบัติอย่้างไรดี จะปฎิบัติตามพระบัญชาดีหรือจะขัดพระบัญชาดี
ในที่สุดก็ตัดสินใจไม่ทำลายพระพุทธรูป แต่จะต้องซ่อนเสียให้พ้นจากสายตาประชาชน จึงไปตามชาวพุทธผู้มีศรัทธามาปรึกษาหารือตกลงกันแล้วลงมือสร้างกำแพงขึ้นหน้าพระพุทธรูป กั้นไว้มิให้คนภายนอกรู้ว่าข้างในนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป
เมื่อสร้างกำแพงเสร็จแล้วจึงเอารูปพระมเหศวรตั้งไว้หน้ากำแพง และกลับไปกราบทูลพระเจ้าศศางกาว่าทำลายพระพุทธรูปแล้ว
แทนที่พระเจ้าศศางกาจะดีพระทัยกลับทรงหวาดกลัวเกรงว่าจะเกิดเหตุร้ายแก่พระองค์ นับแต่นั้นเลยประชวรมีอาการเจ็บปวดทั่วสรรพางค์กาย ในไม่ช้าก็มีอาการเนื้อหลุดออกมาเป็นชิ้น ๆ และสิ้นพระชนม์ด้วยความทรมาน
เมื่อพระเจ้าศศางกาสิ้นพระชนม์แล้ว นายทหารผู้รับพระบัญชาให้ไปทำลายพระพุทธรูปได้กลับมาที่พุทธคยาและทำลายกำแพงที่กั้นอยู่หน้าพระพุทธรูปออก
ปรากฎว่าตะเกียงน้ำมันที่นายทหารผู้นั้นจุดบูชาพระพุทธรูปไว้ยังลุกโพลงอยู่เหมือนเดิม
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนที่หลวงจีนถังซำจั๋งได้ไปที่พุทธคยาเพียง ๓๐ ปีเศษเท่านั้น
ขอขอบคุณข้อมูล จาก
สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดย พระราชรัตนรังษี (ว.ป. วีรยุทฺโธ)
ปัจจุบันพระพุทธเมตตา ซึ่งเป็นพระประธานในพระเจดีย์พุทธคยาที่อยู่คู่กันกับต้นพระศรีมหาโพธิ์ มีพระพักตร์ที่เปี่ยมด้วยความเมตตาเสมือนหนึ่งเป็นตัวเเทนแห่งการระลึกถึงพระเมตตาคุณของพระพุทธองค์ ที่เมื่อทรงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ได้ทรงพระเมตตาโปรดสั่งสอนเวไนยสัตว์ อันเปรียบเสมือนดอกบัวสี่เหล่า ให้ได้มีโอกาาสฟังคำสั่งสอนของพระองค์
หมายเหตุ
พระพุทธรูปปางมารวิชัยหรือชนะมารของคนไทยนั้น คนอินเดียเรียกกันว่าปางภูมิผัสสะ นายช่างนิยมสร้างสร้างพระหัตถ์ให้ยาวเลยเข่า (พระเพลา) ลงมาจรดถึงพื้น
มีความหมายว่า
ทรงชี้ให้แผ่นดินเป็นพยานแห่งการทำความดีในอดีตของพระองค์ เพราะตอนที่พระยามารพร้อมเสนามารมาผจญ ไล่พระพุทธองค์ให้ลุกหนีไปเสียจากบัลลังก์ที่ประทับ ทรงชี้ให้พระแม่ธรณีมาเป็นพยานในการทำความดีในอดีตของพระองค์
โดยแม่นางธรณีได้บีบน้ำในมวยผมที่พระพุทธองค์ได้ทรงฝากไว้ตอนตรวจน้ำทำบุญทุกครั้ง จนทำพระยามารได้พ่ายแพ้ต่อพระพุทธบารมี
ผ่านกาลเวลาที่ยาวนาน พุทธศาสนิกชนนิยมไปกราบมนัสการพระพุทธเมตตา และนิยมนำผ้าจีวรไปถวายและเปลี่ยนจีวรให้พระพุทธรูปองค์นี้ เพียงในวันเดียวก็มีการเปลี่ยนผ้าจีวรห่มองค์พระพุทธรูปกันวันละหลายครั้ง รวมถึงเครื่องตั้งบูชาต่าง ๆ ที่ตั้งใจน้อมนำมาตั้งถวาย
มีการทำกระจกเหมือนเป็นตู้กระจกครอบองค์พระพุทธรูปไว้ มีการปิดเปิดเข้าไปได้ เปิดดวงไฟฟ้าไว้ตลอดทำให้ภาพถ่ายบางภาพมีแสงของดวงไฟฟ้า หากไปกราบนมัสการช่วงที่มีผู้คนเดินทางมากันมาก ๆ ก็ยากที่จะถ่ายภาพได้เพราะคลื่นมหาชนเบียดเสียดกันมาก ในระยะหลังการนำกล้องหรือโทรศัพท์มือถือที่ถ่ายภาพได้เข้าไปต้องซื้อตั๋วไว้แสดงให้เจ้าหน้าที่ยินยอมให้นำเข้าไปในเขตบริเวณชั้นในของมหาวิหารได้ ในราคา ๑๐๐ รูปี
ขอขอบคุณภาพจาก http://www.dhammajak.net
หมายเหตุ
พระมเหศวรหมายถึง ผู้เป็นใหญ่, เทพเจ้าผู้ใหญ่ มักหมายถึง พระอิศวร, พระเจ้าแผ่นดิน, อาจจะใช้กับพระวิษณุหรือพระพรหมก็ได้ แต่ต้องใส่คำวิษณุและพรหมเป็น วิษณุมเหศวร หรือ พรหมมเหศวร ในที่นี้น่าจะเป็นพระอิศวร เพราะมีที่วางศิวลึงค์บริเวณหน้าแท่นที่ประดิษฐานพระพุทธเมตตา (ห่างพอสมควร) แต่ปัจจุบันคงเหลือแต่แท่นวางไม่มีศิวลึงค์แล้ว
ขอขอบคุณภาพจาก
http://www.alittlebuddha.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น