วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2557
สู่แดนพระพุทธองค์ เพื่อ นมัสการพุทธสังเวชนียสถาน ๑๖ อำลาแคว้นมคธ ๓
อำลาแคว้นมคธ ๓
บริเวณเบณจคีรีนคร เคยรุ่งเรืองตามที่พระพุทธโฆษาจารย์กล่าวไว้ ว่า มีประตูใหญ่ล้อมถึง ๒๓ ประตู มีประตูเล็ก ๆ อีก ๖๔ ประตู เรียงรายอยู่ตามกำแพงเมือง มีวังอันเป็นที่ประทับของพระราชา ราขินี ราชโอรส พระธิดา และข้าราชบริพารอันสง่างามประดับด้วยแก้วมณีจากต่างนคร บัดนี้เหลิอเพียงซากปรักหักพังที่ห้อมล้อมไว้ด้วยเบญจคีรีเท่านั้น
ณ บริเวณส่วนหนึ่งของเขตพระราชฐาน ที่อชาตศัตรูกุมารกำหนดไว้เป็นที่กักบริเวณพระเจ้าพิมพิสารพระราชบิดา หรือเรียกว่าเรือนคุมขังพระเจ้าพิมพิสาร ก็คือคุก นั่นเอง ปัจจุบันทางการของรัฐพิหาร ได้ปักเขตบอกว่า เป็น Phimbisar Jail มีการก่อห้อนหินขึ้นประมาณ ๑ เมตร กว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๐ เมตร โดยมีป่าละเมาะล้อมไว้ ตรงกลางมีห้องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ หากยืนที่ซากกำแพงหินเรียงซ้อนหนาประมาณ ๖ ฟุต จะมองเห็นยอดเขาคิชฌกูฎได้ชัดเจน ที่แห่งนี้อธิบายกันว่าครั้งก่อนเคยเป็นที่คุมขังพระเจ้าพิมพิสารแห่งแคว้นมคธโดยอชาตศัตรูพระราชโอรสทำปิตุฆาต ด้วยการกักบริเวณให้อดอาหารและขังเดี่ยว พระเจ้าพิมพิสารทรงพึ่งพุทธานุภาพยืนทอดพระเนตรชายจีวรของพระบรมศาสดาซึ่งประทับอยู่ที่มูลคันกุฎี ยอดเขาคิชฌกูฎ จนสิ้นพระชนม์ในคุกนั้น เพียงพระชนมายุ ๕๒ พรรษา ก่อนพระพุทธองค์ปรินิพพาน ๗ ปี เท่านั้น
(ขณะเมื่อพระนางโกศลเทวี พระมเหสีของพระเจ้าพิมพิสาร ทรงพระครรภ์และแพ้ท้อง อยากเสวยโลหิตที่เข่าเบื้องขวาของพระเจ้าพิมพิสาร โหราจารย์ทำนายว่า กุมารที่เกิดมาจะทำปิตุฆาต พระมเหสีตกพระทัยพยายามทำลายชีวิตพระกุมารในพระครรภ์ แต่พระเจ้าพิมพิสารไม่ยอม พยายามป้องกัน และได้สเดาะเคราะห์ ด้วยการสร้างวัด มัททกุจิมฤคทายวัน ( Maddakuci ) ถวายพระองค์
มัททกุจิมฤคทายวัน ( Maddakuci ) แปลว่าถูหรือนวด บางครั้งมีต่อท้ายว่า มัททกุจิมฤคทายวัน ในพระบาลีกล่าวว่าตั้งอยู่เชิงเขาคิชฌกูฏ พอเดินทางจะขึ้นเขาคิชฌกูฏ ข้ามสะพานเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง จะเห็นป้ายบอกว่่าที่นี่เคยมีสถูปเล็ก ๆ แห่งหนึ่งที่สร้างไว้เป็นเครื่องหมายว่า สถานที่นี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของฝูงกวาง และสัตว์ป่าเหมือนอย่างมฤคทายวัน ที่สงวนไว้มิให้ใครมาทำอันตรายต่อสัตว์ในบริเวณนี้
เมื่อพระเจ้าอาชาตศัตรูสำนึกในความผิดที่ปลงพระชมม์พระราชบิดา มีรับสั่งให้หมอชีวกโกมารภัจจ์พาไปเผ้าพระพุทธองค์ซึ่งประทับอยู่ที่ชีวกัมพวัน ทูลถามถึงสามัญญผลที่พึงได้รับในปัจจุบัน พระพุทธองค์ทรงแสดงสามัญญผลสูตร ว่าด้วยผลของความเป็นสมณะ คือประโยชน์จากการกำรงเพศเป็นบรรพชิต ตรัสอานิสงส์ของการออกบวช ทรงชี้แจงให้เห็นว่าชีวิตของฆราวาสคับแคบ สมณเพศเป็นทางปลอดโปร่งในการประพฤตพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ อันเป็นสามัญญผลเห็นได้ในปัจจุบัน
พระเจ้าอาชาตศัตรูทรงเลื่อมใสขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ทรงเป็นพุทมามกะ เป็นกำลังอุปถัมป์บำรุงพระศาสนาสืบมา พระบรมศาสดาตรัสกับเหล่าภิกษุหลังจากพระเจ้าอาชาตศัตรูเสด็จกลับไปแล้วว่า
"หากท้าวเธอมิได้กระทำปิตุฆาตเมื่อสดับธรรมที่เราแสดงในวันนี้ อย่างน้อยจะได้บรรลุโสกาปัตติผล แต่เพราะคบมิตรชั่ว เธอจักต้องไปบังเกิดในโลหกุมภีนรกอีกเป็นเวลานาน จากนั้นจึงจะสำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า พระนามว่า ชีวิตวิเสสะ "
พระเจ้าปเสนธิโกศลทรงพิโรธ ที่พระเจ้าอาชาตศัตรูปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารพระราชบิดา จึงยกกำลังมายึดหมู่บ้านที่พระมหาโกศล (พระราชบิดา ) ประทานแก่ พระนางโกศลเทวี (พระขนิษฐา) เป็นของขวัญวันอภิเษกสมรสกับพระเจ้าพิมพิสาร โดยเหตุว่า กระทำปิตุฆาต ไม่มีสิทธิปกครองหมู่บ้านที่เคยเป็นอาณาเขตของแคว้นโกศล
พระเจ้าอาชาตศัตรูยกกำลังออกไปต่อสู้ ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะหลายครั้ง จนพระเจ้าอาชาตศัตรูถูกพระเจ้าปเสนธิโกศลจับได้สั่งให้สละราชสมบัติ แต่ต่่อมาทรงเปลี่ยนพระทัยปล่อยให้เป็นอิสระด้วยเห็นว่าเป็นพระราชนัดดา พร้อมยกพระธิดาชื่อวชิราให้อภิเษกสมรสกับพระเจ้าอาชาตศัตรู
ต่อมาขณะพระพุทธองค์ทรงประทับอยู่ที่นิคม เมทฬุปะ แคว้นสักกะของศากยราช พระเจ้าปเสนธิโกศลเสด็จไปถวายบังคมพระบรมศาสดา ก่อนเสด็จเข้าคันธกุฎี ทรงมอบเครื่องราชกกุธภัณฑ์ให้ฑีฆการยนะ อำมาตย์เป็นผู้เก็บรักษา เพราะเห็นว่าไม่เป็นการบังควรที่จะเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาด้วยพระยศ ดำริเข้าเฝ้าแต่ลำพัง
ฑีฆการยนะ แค้นใจและอาฆาตที่พระเจ้าปเสนธิโกศลสั่งประหารชีวิตพันธุละเสนาบดีผู้เป็นลุงพร้อมบุตรชาย ๓๒ คน เพราะหลงเชื่อคำยุยงจากอำมาตย์อื่น เนื่องมาจากการตัดสินความของพันธุละ ฑีฆการยนะ ผู้เป็นหลานได้เป็นอำมาตย์แทนลุง เนื่องจากพระเจ้าปเสนธิโกศลยังไม่ประทานอภัยโทษให้พันธุละทั้งที่สิ้นชีวิตไปแล้ว ฑีฆการยนะ จึงคิดแก้แค้น
ฑีฆการยนะนำเครื่องราขกกุกภัณฑ์อันเป็นสัญญลักษณ์กษัตริย์ไปถวาย วิฑูฑภะ พระราชโอรสพระเจ้าปเสนธิโกศลกับพระนางวาสภขัตติยา แต่งตั้งวิฑูฑภะ เป็นพระราชา เหลือเพียงม้าและนางทาสีไว้ให้พระเจ้าปเสนธิโกศล
เมื่อพระเจ้าปเสนธิโกศลเสด็จออกจากที่เข้าเฝ้า ทราบความจากนางทาสี จึงเสด็จไปกรุงราชคฤห์เพื่อขอกำลังจากพระเจ้าอาชาตศัตรู เมื่อเสด็จไปถึงเป็นเวลาที่ประตูพระนครปิดแล้ว จึงเสด็จไปบรรทมอยู่ในศาลาแห่งหนึ่ง เนื่องจากทรงพระชรามากแล้ว ประกอบกับทรงเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง พระเจ้าปเสนธิโกศลสวรรคตในศาลาที่พักในคืนนั้นเองเพราะต้องประทับค้างแรมอยู่ข้างนอกที่มีอากาศหนาว และมีพระชนม์มากถึง 80 พรรษา เมื่อถึงเวลาเช้าพระเจ้าอชาตศัตรูซึ่งพึ่งทราบข่าวจึงอัญเชิญพระศพไปถวายพระเพลิง
พระเจ้าวิฑูฑภะ เมื่อเจริญวัยได้รับตำแหน่งเสนาบดี ขณะ ๑๖ ชันษา พระกุมารเสด็จไปเยี่ยมศากยะตระกูล มหาดเล็กที่ตามเสด็จได้ยินนางทาสีคนหนึ่งกล่าวว่า นี่เป็นอาสนะที่บุตรของนางทาสีวาสนชัตติยานั่ง แล้วเอาน้ำเจือน้ำนมล้างอาสนะนั้น มหาดเล็กกราบทูลความให้ทราบ วิฑูฑภะ อาฆาตว่า หากได้ครองราชสมบัติ จะทำลายล้างเหล่าศากยะทั้งหลาย
เมื่อได้เสวยราชสมบัติจึงยกกองทัพมาหมายจะทำลายล้างเหล่าศากยะให้หมดแม้แต่ทารกซึ่งดื่มน้ำนม ยกเว้นแต่พระมหานามะผู้เป็นพระเจ้าตาเท่านั้น
พระพุทธองค์เสโ่จไปห้ามทัพหลายครั้งหลายหน ในที่สุดทรงเห็นว่าเป็นกรรมที่เคยกระทำกันมา จึงไม่ืทรงห้ามอีก ทั้งสองฝ่ายสู้รบกันผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก โลหิตเหล่าศากยะไหลประดุจสายน้ำ
ขณะเสด็จกลับกรุงสาวีตถี ถึงแม่น้ำอจิรวดีในเวลากลางคืน พระเจ้าวิฑูฑภะรับสั่งให้ตั้งค่ายพัก พวกทหารที่มีกรรมหนักล้มตัวลงนอนบนหาดทราย ที่มีกรรมเบาขึ้นไปนอนในที่สูง
คืนนั้นฝนตกหนัก น้ำหลากมามากมายหนีไม่ทัน ทำให้พระเจ้าวิฑูฑภะ ซึ่งบรรทมอยู่ที่หาดทรายริมน้ำ สิ้นพระชนม์พร้อมด้วยบริวาร ถูกน้ำท่วมไหลสู่มหาสมุทร เป็นเหยื่อของปลาและเต่าในท้องน้ำนั่นเอง
พระเจ้าอชาตศัตรูราชกุมาร
ส่วนพระเจ้าอาชาตศัตรู ทรงปกครองการเมืองโดยตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมและราชสังควัตถุ ทำให้ประชาราษฎร์อยู่อย่างเป็นสุข และยังมีแสนยานุภาพเป็นที่เกรงขามของแคว้นอื่น แต่ก็ไม่สามารถอุปสมบท หรือบรรลุธรรมขั้นสูง เพราะการกระทำหนักคือปิตุฆาต พระองค์ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยดีโดยตลอด
แม้พระเจ้าอชาตศัตรูจะทำนุบำรุงพระพระพุทธศาสนามากมายเพียงใดก็ไม่อาจลบล้างบาปกรรมจากการปิตุฆาตได้ ในที่สุดพระองค์จึงถูกพระเจ้าอุทัยภัทร ผู้เป็นพระราชโอรสของพระองค์ลอบปลงพระชนม์และยึดราชสมบัติไป
ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาได้บอกกล่าวไว้ว่า เมื่อพระองค์สวรรคต กุศลที่พระองค์ได้มาจากการเป็นศาสนูปถัมภ์ในการปฐมสังคายนาบวกกับทำนุบำรุงพระพระพุทธศาสนาได้นำมาหักล้างบาปแห่งอนัตริยกรรมที่ทำไว้จึงทำให้พระองค์ไม่ไปบังเกิดในมหานรกอเวจี แต่ไปบังเกิดในนรกที่ชื่อว่า โลหกุมภีนรก เสวยทุกขเวทนาเป็นเวลา 60,000 ปีนรก เมื่อชดใช้กรรมนหมดแล้ว พระองค์ก็ไปบังเกิดเป็นพระปักเจกพระพุทธเจ้าอีกองค์ มีนามว่า ชีวิตวิเสส ในอนาคตเช่นเดียวกับพระเทวทัต
สถูปพระเจ้าอชาตศัตรู เมืองราชคฤห์
หลังจากพระเจ้าอชาตศัตรูสิ้นพระชนม์ พระเจ้าอุทัยภัทรปกครองได้ไม่นานก็ถูกพระราชโอรสทำการลอบปลงพระชนม์และชิงราชสมบัติ หลังจากนั้นพระราชโอรสก็ถูกพระราชโอรสลอบปลงพระชนม์อีกจนรุ่นแล้วรุ่นเล่าจนชาวเมืองต่างก็ไม่พอใจเพราะเห็นว่าราชวงศ์หารยังกะได้กลายเป็นราชวงศ์แห่งปิตุฆาตไปแล้ว เป็นเสนียด ไม่สมควรแก่การปกครอง อำมาตย์สุสุนาค ก็เห็นด้วยจึงทำการก่อรัฐประหารล้มล้างราชวงศ์หารยังกะและก่อตั้งราชวงศ์ใหม่ในที่สุด
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุททฺโธ)
ภาพเก่าเล่าเรื่องพระพุทธองค์ โดยพระมหาสุวิทย์ ธัมมสิริ (นาลาด)
วิกิพีเดีย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น