วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557
สู่แดนพระพุทธองค์ ๒๒ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ขอขอบคุณภาพจาก xn--72c8ae4acia4czfxe.com
ดาวดึงส์ (บาลี: ตาวติ˚ส โลก) หรือ ตรัยตรึงศ์, ไตรตรึงษ์(สันสกฤต: त्रायस्त्रिंश लोक ตฺรายสฺตฺริ˚ศ โลก) เป็นชื่อของสวรรค์ (ภูมิของเทวดาทั้งหลาย) อันสำคัญยิ่งในจักรวาลวิทยาของศาสนาพุทธ คำว่า ตฺรายสฺตฺริ˚ศ เป็นรูปคำคุณศัพท์ของคำว่า ตฺรายสฺตฺริ˚ศตฺ (จำนวน ๓๓ ) อาจแปลความหมายได้ว่า "ที่อยู่ของเทพ ๓๓ องค์"
สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นสวรรค์ชั้นที่ ๒ จากสวรรค์ฉกามาพจรทั้ง ๖ ชั้น(จัดอยู่ในกามภูมิ) โดยอยู่สูงขึ้นไปถัดจากสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาขึ้นไป ๓๓๖,๐๐๐ วา ตั้งอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุอันสูง ๘๐,๐๐๐ โยชน์ ซึ่งเป็นจุดสูงที่สุดที่ยังเชื่อมอยู่กัยมนุสสภูมิหรือโลกมนุษย์ (อาจเทียบได้กับยอดเขาโอลิมปัสในตำนานเทพปกรณัมกรีก) อาณาบริเวณโดยรอบ ๘๐,๐๐๐ ตารางโยชน์ มีท้าวสักกะหรือพระอินทร์เป็นผู้ปกครอง
เมืองบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นเมืองใหญ่ที่สร้างอย่างงดงามด้วยทองและแก้ว ๗ ประการ มีเสียงดนตรีบรรเลงอยู่อย่างไพเราะ กลางเมืองดาวดึงส์มีปราสาทใหญ่ที่งดงามเป็นที่ประดับของพระอินทร์
บนสวรรค์ชั้นนี้มีอุทยานที่งดงามมากอยู่ ๔ แห่ง คือ
๑. นันทวนุทยาน หรือ สวนนันทวัน (สวนที่รื่นรมย์) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในสวนด้านที่ใกล้กับตัวเมืองมีสระใหญ่ ๒ สระ สระหนึ่งมีชื่อว่า สระนันทาโบกขรณี อีกสระหนึ่งมีชื่อว่า จุลนันทาโบกขรณี มีแผ่นศิลา ๒ แผ่น แผ่นหนึ่งมีชื่อว่า นันทาปริถิปาสาณ อีกแผ่นหนึ่งมีชื่อว่า จุลนันทาปริถิปาสาณ เป็นศิลาที่มีรัศมีเรืองรอง เมื่อจับดูจะรู้สึกว่านิ่มเหมือนขนสัตว์
๒ ผรุสกวัน หรือ ปารุสกวัน (ป่าลิ้นจี่) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันใต้ของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในอุทยานนี้ด้านใกล้ตัวเมือง มีสระใหญ่ ๒ สระ สระหนึ่งมีชื่อว่า ภัทราโบกขรณี อีกสระหนึ่งมีชื่อว่า สุภัทราโบกขรณี มีก้อนแก้วใส ๒ ก้อน ก้อนหนึ่งมีชื่อว่า ภัทราปริถิปาสาณ อีกก้อนหนึ่งมีชื่อว่า สุภัทราปริถิปาสาณ เป็นแก้วเกลี้ยงและอ่อนนุ่ม
๓ จิตรลดาวัน (ป่ามีเถาวัลย์หลากสีสวยงาม) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกกของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ สระในอุทยานนี้มีชื่อว่า จิตรโบกขรณี และจุลจิตรโบกขรณี ส่วนแผ่นศิลาแก้วในอุทยานนี้แผ่นหนึ่งมีชื่อว่า จิตรปาสาณ อีกแผ่นหนึ่งมีชื่อว่า จุลจิตรปาสาณ
๔. สักกวัน หรือ มิสกวัน (ป่าไม้ระคน) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันเหนือของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ สระใหญ่ในอุทยานนี้มีชื่อว่า ธรรมาโบกขรณี และสุธรรมาโบกขรณี ส่วนแผ่นศิลาแก้วมีชื่อว่า ธรรมาปริถิปาสาณ และสุธรรมาปิริถิปาสาณ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย
รายละเอียดอื่น ๆ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มีเป็นสังเขปดังนี้
ขอขอบคุณภาพจากwatnakkharin.com
ดาวดึงส์ภูมิ เป็นสวรรค์ชั้นที่สอง อยู่เหนือจาตุมหาราชิกาขึ้นไป ๔๖,๐๐๐ โยชน์
ดาวดึงส์ หรือ ดาวดึงสา คือ ภูมิอันเป็นที่เกิดของบุคคล ๓๓ คน ที่ได้สร้างกุศลไว้ในอดีต มีมาฆมานพ เป็นหัวหน้า เมื่อตายแล้วก็ได้ไปเกิดเป็นพระอินทร์ พร้อมบริวารอีก ๓๒ รวมเป็น ๓๓ เป็นเทวดาชั้นผู้ใหญ่ในชั้นดาวดึงส์
ดาวดึงสานี้ เป็นผืนแผ่นดินผืนแรก ที่เกิดขึ้นในโลกหลังจากโลกนี้ถูกทำลายด้วยน้ำ เมื่อน้ำงวดลง แผ่นดินผืนแรกที่โผล่ขึ้นก่อนแผ่นดินอื่น ๆ ก็คือ ยอดเขาสิเนรุ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นี้เอง
ลักษณะของดาวดึงส์ภูมิ เป็นมหานครใหญ่ อาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล เหนือเขาสิเนรุราชบรรพต ปรางค์ ปราสาท ล้วนแล้วไปด้วยแก้วอันเป็นทิพย์ แวดล้อมรอบเทวนครด้วยปราการกำแพงแก้วทิพย์ อีกเช่นกัน มีประตูกำแพงแก้วถึง ๑,๐๐๐ ประตู เมื่อประตูเหล่านั้นเปิดออกแต่ละครั้ง ปรากฏเสียงดังไพเราะยิ่งนัก
ในท่ามกลางพระนครนั้น มีปราสาทพิมานอันมีชื่อเสียงปรากฏเลื่องลืออยู่วิมานหนึ่ง คือ ไพชยนตปราสาทพิมาน มีรูปทรงสูง ประดับไปด้วยแก้ว ๗ ประการ งามสุดจะพรรณนา เป็นที่ประทับแห่งสมเด็จพระอมรินทราธิราช
เมื่อเทียบเวลาระหว่างมนุษย์ กับ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้ว ๑๐๐ ปีในมนุษย์ เท่ากับ ๑ วันในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ขอขอบคุณภาพจากwww.dhammada.net
เทวดาที่อยู่ชั้นดาวดึงส์ มีอยู่ ๒จำพวก
๑. ภุมมัฏฐเทวดา
เทวดา ที่อยู่บนพื้นดิน ได้แก่ พระอินทร์ และ เทวดาผู้ใหญ่ ๓๒ องค์ พร้อมทั้งบริวาร และเทวอสุรา ๕ จำพวก ที่อยู่ใต้เขาสิเนรุ
๒. อากาสัฏฐเทวดา
เทวดา ที่อยู่ในอากาศ ได้แก่ เทวดาที่มีวิมานลอยไปในกลางอากาศ ตั้งแต่เหนือพื้นดินยอดเขาสิเนรุ ไปจดขอบจักรวาล บางวิมานก็มีเทวดาอยู่ บางวิมานก็ไม่มีเทวดาอยู่
ความเป็นอยู่ของเทวดาในชั้นดาวดึงส์
ล้วนแต่เป็นผู้เสวยทิพยสมบัติจากผลบุญที่ได้กระทำไว้ อารมณ์ที่ได้รับในชั้นดาวดึงส์ จึงล้วนแต่เป็นอารมณ์ที่ดีเลย เทพบุตรจะมีวัย ๒๐ปี ส่วนเทพธิดามีวัย ๑๖ ปี เหมือนกันทุก ๆ องค์ไม่มีการแก่ เจ็บ ตาย ให้เห็น มีแต่ความสวยงาม เป็นหนุ่มเป็นสาวตลอดไป
เทพบุตรองค์หนึ่ง อาจจะมีนางฟ้าเป็นบาทบริจาริกา(ภรรยา) ๕๐๐ -๑,๐๐๐ หรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับบุญบารมีที่ได้ทำไว้
เทวดาในโลกนี้ มีการไปมาหาสู่ เบียดเบียนกันเช่นเดียวกับมนุษยโลก มีนักดนตรี นักร้อง เทพบุตร เทพธิดา มีความรักใคร่ปรารถนาเป็นคู่ครองกัน หากขาดคู่ครอง ก็ย่อมจะเกิดความเบื่อหน่ายในความเป็นอยู่ของตนไม่เบิกบานรื่นเริงเหมือนเทวดาที่มีคู่ครอง
เทวดาในชั้นดาวดึงส์ทั้งหลาย ต่างก็ไปหาความสุขสำราญในสวนทั้ง ๔ แห่งพร้อมด้วยบริวารของตนอย่างสำเริงสำราญ
คุณธรรม ๗ ประการ ที่ทำให้เป็นพระอินทร์
ผู้ที่ปรารถนาจะเกิดเป็นพระอินทร์ จะต้องหมั่นสร้างบุญกุศลโดยสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องมีคุณธรรม ๗.ประการ
๑ . เลี้ยงดูบิดา มารดา
๒. เคารพผู้ใหญ่ในตระกูล
๓ . กล่าววาจาอ่อนหวาน
๔. ไม่กล่าวคำส่อเสียด
๕. ไม่มีความตระหนี่
๖. ความซื่อสัตย์
๗. ระงับความโกรธได้
ปัจจุบันพระอินทร์ หรือ ท้าวสักกะเทวราช องค์นี้ ได้สำเร็จโสดาบันแล้ว ด้วยการฟังพระธรรมเทศนาจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในสักกปัณหสูตร นับเป็นพระอริยบุคคลขั้นแรกในพระพุทธศาสนา และอยู่ในดาวดึงส์ภิภพนี้ต่อไปจนสิ้นอายุขัย
เมื่อจุติจากชั้นดาวดึงส์แล้ว จะมาบังเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในมนุษยโลก และสำเร็จเป็นพระสกทาคามีบุคคล
เมื่อสิ้นชีพแล้วก็ไปกลับไปเกิดในชั้นดาวดึงส์อีก และได้สำเร็จเป็นพระอนาคามี เมื่อสิ้นอายุแล้ว จะไปบังเกิดเป็นพรหมโลก ในชั้นสุทธาวาสภูมิขั้นต้น คือ อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี และ อกนิฏฐาภูมิ ตามลำดับ และเข้านิพพาน ในชั้นสุดท้าย
สถานที่สำคัญในดาวดึงส์ภูมิ
สวรรค์ชั้นที่ ๒ มีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนามากมาย ทำให้เกิดเป็นพุทธศาสนสถาน ที่สำคัญของเทวโลกหลายแห่ง ดังนี้
ขอขอบคุณภาพจาก www.dhammajak.net
ศาลาสุธรรมาเทวสภา
สถานที่ฟังธรรมในเทวโลก บรรดาเทวดาทั้งหลายจะมาประชุมกันเพื่อฟังธรรม โดยมีท้าวสักกะเทวราช องค์อมรินทร์เป็นประธาน ศาลาแห่งนี้ ประกอบด้วยรัตนะ ๗ ประการ สูง ๕๐๐ โยชน์ วัดโดยรอบได้ ๑,๒๐๐ โยชน์ พื้นที่ประกอบด้วยแก้วผลึก เสาเป็นทอง เครื่องบน คือ ขื่อ คาน ระแนง ทำด้วยรัตนะทั้ง ๗ หลังคามุงด้วยอินทนิล เพดาน เสา ประกอบด้วยแก้วประพาฬ ลวดลายต่าง ๆ ช่อฟ้า ใบระกา ทำด้วยเงิน ตรงกลางศาลา เป็นที่ตั้งธรรมาสน์ สูง ๑ โยชน์ ทำด้วยรัตนะทั้ง ๗ ปกกั้นด้วยเศวตฉัตรสูง ๓ โยชน์ ข้างธรรมาสน์ เป็นที่ประทับของท้าวโกสีย์เทวราช ถัดไปเป็นที่ประทับของเทวดาผู้ใหญ่ ๓๒ องค์ และ เทวดาอื่น ๆ ต้นปาริชาต (กัลปพฤกษ์)
อยู่ในอุทยานทิพย์ปุณฑริกวัน มีบริเวณกว้างขวาง มีกำแพงล้อมรอบ ๔ ด้าน กลางสวนนั้นมีต้นไม้ทองหลางใหญ่แผ่สาขาอยู่ต้นหนึ่ง ซึ่งชื่อว่า ต้นปาริชาต หรือ กัลปพฤกษ์ ซึ่งเป็นต้นไม้ทิพย์
ต้นกัลปพฤกษ์ นี้ ๑๐๐ ปี ถึงจะออกดอกครั้งหนึ่ง เมื่อถึงคราวนั้น ดอกไม้ในสวรรค์นี้ก็จะบานสะพรั่ง เหล่าเทพบุตร เทพธิดา ก็จะพากันมารื่นเริง ผลัดเปลี่ยนเวียนกันมาเฝ้าจนกว่าดอกไม้จะบาน
เมื่อดอกไม้สวรรค์บานแล้ว จะปรากฏแสงรุ่งเรืองงดงามยิ่งนัก รัศมีดอกปาริชาติจะส่องรัศมีรุ่งเรืองไปไกลหลายหมื่นวา เมื่อลมรำเพยพัดพาไปในทิศใด ย่อมส่งกลิ่นหอมไปในทิศนั้น เป็นระยะไกลแสนไกล
ดอกไม้นี้จะบานสะพรั่งไปทุกกิ่งก้านทั่วทั้งต้น ถ้าเทพบุตรเทพธิดาองค์ใด ปรารถนาจะได้ดอกปาริชาตก็จะตกลงมาในมือดั่งรู้ใจ ถ้ายังไม่ได้รับในมือ ดอกก็ยังไม่ทันตกลงดิน โดยมีลมชนิดหนึ่ง จะพัดชูดอกไว้ในอากาศ จนกว่าเทพยดาผู้ใดประสงค์ก็จะมารับเอาไป
บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์
แท่นศิลาแก้ว สีแดงดังดอกชบา อ่อนนุ่มดังฟูกเมื่อพระอินทราธิราชประทับพักผ่อนอิริยาบถอยู่เหนือแท่นศิลาอาสน์แล้ว แท่นทิพย์นี้ก็จะอ่อนยุบลงไปและเมื่อพระองค์ทรงลุกขึ้น แท่นศิลาก็จะฟูขึ้นเต็มตามเดิม เป็นแท่นศิลาที่ประหลาดมหัศจรรย์ยุบและฟูเองโดยธรรมชาติ
สวนสวรรค์
อุทยานทิพย์ที่มีความรื่นรมย์ สนุกสนาน หาที่เปรียบไม่ได้ในมนุษยโลก เต็มไปด้วยบุปผาชาตินานาพรรณ มีสระโบกขรณีอันทิพย์ มีน้ำใสดั่งแก้ว มีก้อนศิลาที่เป็นทิพย์ รัศมีรุ่งเรือง มีแท่นที่นั่งอันอ่อนนุ่ม สีใสสะอาด เหล่าเทพบุตรเทพธิดา ก็จะมาในสวนสำราญเหล่านี้อย่างไม่ขาดสาย อุทยานทิพย์ มีชื่อเสียง ๔ อุทยาน ได้แก่
นันทวันอุทยาน
จิตรลดาวันอุทยานทิพย์
มิสกวันอุทยานทิพย์
ปารุสกวันอุทยานทิพย์
ขอขอบคุณภาพจากhttp://thaprajan.blogspot.com/2011/09/blog-post.html
พระเกศจุฬามณีเจดีย์
สร้างด้วยแก้วอินทนิลอันเป็นทิพย์ มีความสวยงามรุ่งเรืองยิ่งนัก ยอดพระเจดีย์เป็นทองคำบริสุทธิ์ประดับด้วยรัตนะ ๗ ประการ สูง ๘๐,๐๐๐ วา มีกำแพงทองคำล้อมรอบทั้ง ๔ ทิศ มีความยาว ๑๖๐,๐๐๐ วา ประดับด้วยธงนานาชนิด พระเจดีย์นี้เป็นที่บรรจุสิ่งที่มีค่ายิ่ง ๒ อย่างคือ
ขอขอบคุณภาพจากmahatep.myreadyweb.com
๑. พระเกศโมลี ขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ มวยผมที่ตัดออก ขณะที่เสด็จออกบรรพชา และได้อธิษฐานว่า"ถ้าจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ขอให้มวยพระเกศโมลีจงลอยขึ้นไปบนนภากาศเถิดอย่าได้ตกลงสู้พื้นปฐพีเลย" ครานั้นสมเด็จพระมหาอมรินทราธิราช ผู้เป็นใหญ่ในชั้นดาวดึงส์นี้จึงนำเอาพระผอบทองมารองรับพระเกศโมลีไว้ แล้วนำขึ้นไปบนดาวดึงส์สวรรค์สร้างเจดีย์สำหรับบรรจุพระโมลีโดยเฉพาะ
๒. พระบรมธาตุเขี้ยวแก้วเบื้องขวา ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในสมัยที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โทณพราหมณ์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุได้นำเอาพระเขี้ยวแก้วซ่อนไว้ที่ผ้าโพกศีรษะ แล้วจึงได้จัดพระบรมสารีริกธาตุที่เหลือออกเป็น ๘ ส่วนเพื่อถวายแก่กษัตริย์ต่างๆ ในครั้งนั้นท้าวสักกะเทวราชจึงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุเขี้ยวแก้วจากผ้าโพกศีรษะของโทณพราหมณ์นั้นลงสู่ผอบทองคำทิพย์อีกทอดหนึ่งด้วยกิริยาอันเลื่อมใส แล้วรีบเสด็จมาประดิษฐานบรรจุไว้ในพระเกศจุฬามณีเจดีย์นี้
โทณพราหมณ์แบ่งพระบรมสารีริกธาตุแก่พราหมณ์และกษัตริย์ ๗ พระนครแล้วแอบหยิบเอาพระเขี้ยวแก้วใส่มวยผมพระอินทร์จึงอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วไปประดิษฐานในพระเจดีย์จุฬามณี ในดาวดึงส์เทวโลก
ขอขอบคุณภาพจากhttp://thaprajan.blogspot.com/2011/09/blog-post.html
ทางไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ผู้ประสงค์จะไปอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ให้เพียรสร้างเสบียงไว้นำทางคือ บุญกุศล พยายามทำตนให้เป็นคนดีมีศีลธรรมห้ามตนไม่ให้ทำกรรมอันหยาบช้าลามกอย่าให้บังเกิดความสกปรกแห่งกาย วาจา ใจ
ขอขอบคุณภาพจากboard.palungjit.org
ในทานสูตรกล่าวไว้ว่า...
"ถ้าผู้ใดทำทานโดยไม่หวังผลบุญของการทำทาน แต่ทำทานโดยคิดว่า การทำทานนั้นเป็นสิ่งที่ดีงาม เมื่อตายลงย่อไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์"
"ดูกร สารีบุตร ในการให้ทานนั้น บุคคลไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลแห่งทาน แล้วให้ทานไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า ตายไปแล้ว เราจักได้เสวยผลทานนี้แต่ให้ทานด้วยความคิดว่า การให้ทาน เป็นการกระทำที่ดี เขาผู้นั้น ให้ทานด้วยอาการอย่างนี้แล้ว เมื่อทำการกิริยาตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาทั้งหลายในชั้นดาวดึงส์สวรรค์"
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.watthummuangna.com/home/community/index.php?topic=2417.0
สาธุ
ตอบลบขอบคุณความรู้ดีๆเช่นนี้ครับ
ตอบลบ