วันเสาร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2557
สู่แดนพระพุทธองค์ ๓๗ มนต์หัสดีกัณฑ์
พระเจ้าอุเทน
ขอขอบคุณภาพจากwww.weloveshopping.com
พระนางวาสุลทัตตา พระราชธิดาของพระเจ้าจัณฑปัชโชต แห่งกรุงอุชเชนี
วันหนึ่งพระเจ้าจัณฑปัชโชต ทรงเห็นว่าสมบัติของพระเจ้าอุเทนแห่งกรุงโกสัมพีนั้นมีมากมาย จึงคิดจะจับพระเจ้าอุเทน อำมาตย์ได้กราบทูลว่า หากจะจับท้าวเธอให้ได้ ก็ต้องใช่เล่ห์กลเข้าช่วย เพราะท้าวเธอหลงใหลในเรื่องช้าง ทรงร่ายมนต์แล้วดีดพิณหัสดีกัณฑ์อยู่ จะให้ช้างหนีไปก็ได้ จะจับเอาก็ได้ พระองค์โปรดใช้ช่างสร้างช้างยนต์เป็นช้างเผือก แล้วให้คนซ่อนอยู่ภายในท้องช้างนั้นเพื่อบังคับช้างยนต์ จากนั้นก็นำกำลังซุ่มอยู่ข้างทาง เมื่อพระเจ้าอุเทนหลงเข้ามา ก็จะจับตัวได้เป็นแน่แท้
พระเจ้าจัณฑปัชโชต กระทำตามความคิดของเหล่าอำมาตย์ จึงจับพระเจ้าอุเทนได้
พระเจ้าจัณฑปัชโชต รับสั่งให้นำพระเจ้าอุเทนมาควบคุมไว้ในพระราชวังด้วยประสงค์จะเรียนมนต์ ตรัสถามพระเจ้าอุเทนว่า "ทราบว่าท่านมีมนต์ชื่อหัสดีกัณฑ์ สำหรับเรียกช้างท่านจักสอนมนต์บทนั้นให้แก่เราหรือไม่ "
พระเจ้าอุเทนตอบว่า "ได้หากพระองค์จะไหว้ข้าพเจ้าก่อน "
พระเจ้าจัณฑปัชโชตตอบว่า "เราไม่สามารถกระทำได้ "
พระเจ้าอุเทนจึงกล่าวว่า "ถ้าเป็นเช่นนั้นข้าพเจ้าก็มิอาจสอนมนต์นี้แก่ท่านได้"
พระเจ้าจัณฑปัชโชตดำริว่า เราอยากได้มนต์บทนี้แต่ก็มิอาจให้ผู้อื่นรู้มนต์บทนี้ได้ เราจักให้ธิดาของเราเรียนจากพระเจ้าอุเทน แล้วเราจึงจักรับมนต์บทนี้จากธิดาเรา
พระเจ้าจัณฑปัชโชตจึงตรัสกับพระเจ้าอุเทนว่า "ในพระราชวังมีหญิงค่อมคนหนึ่งซึ่งอยากเรียนมนต์บทนี้ แต่มิอาจให้ผู้อื่นเห็นร่างกายของนางได้ ท่านจงยืนอยู่ภายนอกม่านแล้วบอกมนต์แก่หญิงผู้นั่งอยู่หลังม่านนั้น"
พระเจ้าอุเทนตรัสตอบว่า "แม้นางจะเป็นคนพิการก็ตามหากนางไหว้ข้าพเจ้าได้ก็จะให้มนต์นี้ "
พระเจ้าจัณฑปัชโชตจึงเสด็จไปหาพระราชธิดา
ตรัสบอกพระราชธิดาว่า "บัดนี้มีชายโรคเรื้อนผู้หนึ่งรู้มนต์หัสดีกัณฑ์อันหาค่ามิได้ แต่พ่อมิอาจให้ผู้อื่นรู้มนต์นั้น เจ้าจงไปนั่งหลังม่านไหว้แสดงความเคารพชายนั้นแล้วขอเรียนมนต์ชายนั้นจักบอกมนต์แก่เจ้า"
พระราชธิดาทรงรับเป็นผู้ไปเรียนมนต์บทนี้ให้กับพระบิดา
เนื่องจากพระเจ้าจัณฑปัชโชตเกรงคนทั้งสองจักทำสันถวะกันและกัน จึงบอกแก่พระเจ้าอุเทนว่าให้สอนมนต์นี้แก่หญิงต่อมซึ่งอยู่หลังม่าน และตรัสกับพระราชธิดาว่าให้เรียนมนต์จากชายผู้เป็นโรคเรื้อน
แต่วันแล้ววันเล่าพระราชธิดาก็มิอาจจำมนต์หัสดีกัณฑ์นั้นได้
จนในวันหนึ่งพระเจ้าอุเทนกริ้วจัด ตรัสว่า “อีหญิงค่อมจงว่าไปอย่างนี้ “
พระราชธิดาได้ยินก็กริ้วตรัสตอบไปว่า “อ้ายขี้เรื้อน” แล้วทรงยกมุมผ้าม่านที่กั้นบังไว้ขึ้นทันที
พระเจ้าอุเทนจึงได้ทอดพระเนตรเห็นหญิงงามแทนที่จะเป็นหญิงค่อมทรงถามว่า "นางเป็นใคร"
พระราชธิดาก็ทอดพระเนตรเห็หนุ่มรูปงามแทนชายโรคเรื้อนและตรัสตอบว่า
" เราชื่อว่าวาสุลทัตตา เป็นธิดาของพระเจ้าแผ่นดินนี้"
ต่อแต่นั้นมาก็มิได้มีการเรียนมนต์หัสดีกัณฑ์นี้อีก
กาลต่อมาพระเจ้าอุเทนได้พานางวาสุลทัตตาหนีไปจากพระนครอุชเชนี กลับมายังกรุงโกสัมพีและอภิเษกแต่งตั้งให้เป็นพระมเหสีแห่งกรุงโกสัมพีอีกองค์หนึ่ง
ขอขอบคุณข้อทูลจากสู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย - เนปาล
โดย พระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ)
แคว้นอวันตี เป็นแคว้นใหญ่ตั้งอยู่ตอนใต้สุดของมัชฌิมชนบท มีกรุงอุชเชนีเป็นเมืองหลวง พระเจ้าจัณฑปัชโชติเป็นผู้ครองนคร ความสำคัญในสมัยพุทธกาล พระเจ้าจัณฑปัชโชติ ได้ทูลเชิญพระพุทธเจ้าเสด็จมายังกรุงอุชเชนี แต่พระพุทธเจ้าได้ส่งพระกัจจายนะมาประกาศศาสนาแทน
พระเจ้าจันฑปัชโชต (Candapajjota) พระเจ้าจันฑปัชโชต หรือ ปรัทโยตะ (Pradyota) ในภาษาสันสกฤตเป็นพระมหากษัตริย์ราชวงศ์อวันตี (Avaanti Dynasty) โดยมีเมืองหลวงชื่อเมืองอุชเชนี (Ujjeni) หรืออุชชายินี (Ujjayini) ในภาษาสันสกฤต เมืองนี้อยู่ทางตอนกลางของประเทศอินเดีย พระองค์มีนิสัยดุร้ายจนมีคำว่า จัณฑะ (ดุร้าย) นำหน้าทรงเอาแต่ใจตัวเอง มีทรัพย์สมบัติที่มั่นคั่งเมืองหนึ่ง ในสมัยนั้นเป็นมิตรสหายของพระเจ้าปรันตปะแห่งเมืองโกสัมพี ครั้งหนึ่งพระองค์ประชวรอย่างหนัก หมอทั่วราชอาณาจักรเข้ารักษาก็ไม่มีมครรักษาสำเร็จ จนได้หมอชีวกโกมารภัจจ์จากรุงคฤห์มาช่วยรักษาอาการจึงหายเป็นปกติ พระองค์มีพระธิดาที่เลอโฉมนาว่าวาสุลทัตตา หรือ วาสวทัตตา (Vasavadatta)
พระเจ้าอุเทน (Udena or Udayan) พระเจ้าอุเทน(Udena) ในปกรณ์ฝ่ายสันสกฤตเรียกว่า พระเจ้าอุทยัน (Udayan) เป็นพระมหากษัตริย์ราชวงศ์วัตสะ (Vatsa Dunasty) ทรงปกครอง แคว้นวังสะ โดยมีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองโกสัมพี (Kosambi) หรือเกศัมพี (Kaushambi) ในภาษาสันสกฤต เมืองนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา ใกล้เมืองอัลลาหบาดหรือประยาคในปัจจุบัน พระบิดานามว่าปรันตปะ
การที่พระเจ้าอุเทนแห่งกรุงโกสัพพี เรียนรู้มนต์หัสดีกัณฑ์นั้น สืบเนื่องมาจาก
พระเจ้าอุเทนทรงช้างเลียบนครโกสัมพี
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.indiaindream.com
พระเจ้าอุเทนประสูติในป่าเพราะพระมรดาถูกนกหัสดีลิงค์โฉบไปสู่ป่า แต่ได้รับการช่วยเหลือจากดาบสอัลลกัปปะ พระนางประสูติพระโอรสตอนใกล้รุ่ง จึงตั้งนามว่า อุเทน โดยได้รับการดูแลจากดาบสผู้เป็นพระบิดาเลี้ยง และพระมารดา เจ้าชายอุเทนได้ศึกษามนต์ฝึกช้างจนช่ำชอง และสามารถควบคุมช้างเป็นจำนวนมากได้ด้วยมนต์ที่ศึกษามาและยึดราชบัลลังก์นคร โกสัมพีจนสำเร็จ ด้วยการยกทัพช้างล้อมพระนคร
พระเจ้าอุเทนมีพระมเหสี ๓ พระองค์ คือ ๑.พระนางสามาวดี ๒.พระนางวาสุลทัตตา ๓. พระนางมาคันทิยา ต่อมาพระมเหสีทั้งสอง คือพระนางสามาวดีก็สิ้นพระชนม์จากการลอบวางเพลิงของพระนางมาคันทิยา ส่วนพระนางมาคันทิยาผู้อิจฉาก็ถูกราชอาญา เพราะทำผิดร้ายแรงด้วยการถูกเผาทั้งเป็นเช่นกัน
ในตำนานฝ่ายเชนกล่าวว่าพระองค์มีพระโอรสพระองค์เดียวจากพระนางวาสวทัตตา คือเจ้าชายโพธิ (Prince Bodhi) ซึ่งต่อมาได้ปกครองราชบัลลังก์โกสัมพีแทนพระบิดา พระเจ้าอุเทนได้หันมานับถือพุทธศาสนาเพราะพระนางสามาวดีพุทธสาวิกาที่มั่นคงพระองค์มีความสนิทสนมกับพระปิณโฑลภารทวาชะมาก จนต่อมาโกสัมพีก็กลายเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนา ครั้งสมัยพุทธกาลเป็นต้นมา พระอารามใหญ่ ๆ ในเมืองนี้คือ ๑. โฆสิตาราม สร้างโดยโฆสิตเศรษฐี ๒. กุกกุฏาราม สร้างโดย กุกกุฏเศรษฐี และ ๓. ปาวาริการามโดยเศรษฐีปาวริกะ
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก http://www.indiaindream.com/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น