วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
สู่แดนพระพุทธองค์ ๔๑ สังฆเภท ในกรุงโกสัมพี
สังฆเภท ในกรุงโกสัมพี
เหตุเกิดในขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปประทับ ณ โฆสิตาราม นครโกสัมพี ในพรรษาที่ ๙
การเกิดสังฆเภทครั้งนี้มาจากพระสงฆ์วัดโฆสิตาราม นครโกสัมพี โดยภิกษุทั้งสองฝ่ายคือ พระวินัยธร (ผู้ชำนาญวินัย) กับ พระธรรมธร หรือเรียกว่าพระธรรมกถึก ((ผู้แสดงธรรม) ภิกษุนั้นมีบริวารรูปละ ๕๐๐ สาเหตุเกิดจากน้ำชำระในเว็จกุฏี หรือน้ำใช้ในกุฏีของพระธรรมกถึก พระธรรมกถึกนำน้ำไปชำระแล้วเหลือทิ้งไว้ซึ่งมีบัญญัติให้ใช้น้ำและไม่ให้เหลือน้ำทิ้งไว้ในภาชนะ ฝ่ายพระวินัยธรเข้าไปทีหลัง ไปพบน้ำที่เหลือนั้น จึงพูดว่าท่านเหลือน้ำทิ้งไว้ในภาชนะการทำอย่างนั้นต้องอาบัติทุกกฏ พระธรรมกถึกก็ตอบว่าท่านไม่รู้ว่าการทำอย่างนั้นเป็นอาบัติเพราะเหตุที่กระทำนั้น แต่ว่าเมื่อเป็นอาบัติท่านก็จะแสดงอาบัติคืน พระวินัยธรก็บอกว่าเมื่อไม่จงใจก็ไม่เป็นไร แล้วก็แยกจากกัน
ฝ่ายพระวินัยธรเมื่อกลับมาแล้วก็มาแจ้งแก่บรรดาลูกศิษย์ของตนว่า พระธรรมกถึกต้องอาบัติแล้วไม่รู้ว่าเป็นอาบัติ และฝายลูกศิษย์ก็นำความนั้นไปบอกแก่ลูกศิษย์ของฝ่ายพระธรรมกถึกว่า อุปัชฌาย์ของพวกท่านต้องอาบัติแล้วไม่รู้ว่าเป็นอาบัติ เมื่อลูกศิษย์พระธรรมกถึกได้ฟังดังนั้นก็นำเหตุนั้นกลับไปเล่าให้พระธรรมกถึกฟัง พระธรรมกถึกก็บอกว่า พระวินัยธรบอกแก่ตนแล้วว่าไม่เป็นอาบัติเพราะไม่ได้จงใจ แต่เหตุไรพระวินัยธรจึงกลับมาพูดว่าตนเองเป็นอาบัติ เท่ากับพระวินัยธรพูดมุสาวาท พวกลูกศิษย์พระวินัยธรได้ฟังดังนั้นก็นำเหตุนั้นไปเล่าสู่พระวินัยธรฟัง ทั้งสองฝ่ายก็เกิดการทุ่มเถียงกันจนแตกกันเป็นสองฝ่าย
ฝ่ายพระวินัยธรได้โอกาสจึงลง อุกเขปนียกรรม ลงโทษแก่พระธรรมกถึกในเหตุเพราะไม่เห็นเป็นอาบัติ เพื่อจะเอาชนะพระธรรมกถึก แต่ก็ทำไม่สำเร็จตามความมุ่งหมาย ฝ่ายพวกลูกศิษย์ของพระธรรมกถึกกลับเห็นว่าอาจารย์ของตนถูกลงอุกเขปนียกรรมโดยไม่ได้รับความเป็นธรรม ส่วนฝ่ายพระวินัยธรก็ยืนยันว่าพวกตนได้ทำกรรมนั้นไปโดยความชอบธรรม จึงเกิดการทะเลาะทุ่มเถียงกันวิวาทาธิกรณ์ซ้อนขึ้นมาอีกด้วยข้อที่ว่า "นี้เป็นวินัย นี้ไม่ใช่วินัย"
พระพุทธองค์ เสด็จไปยังสำนักของพระวินัยธร ทรงชี้โทษของการทำ อุกเขปนียกรรมง่าย ๆ แก่ภิกษุเหล่านั้นและตรัสแนะให้พิจารณาดูก่อนว่า ภิกษุที่ถูกลงอุกเขปนียกรรมนั้นเป็นเช่นไร ถ้าเห็นว่า ท่านเป็นพหูสูต มีคนเคารพมาก นับถือมาก มีบริวารมาก ถูกลงอุกเขปนียกรรมแล้ว สงฆ์จักแตกแยกกันหรือร้าวรานกัน ในกรณ๊เช่นนี้ไม่ควรลงอุกเขปนียกรรมแก่ภิกษุนั้น โดยมุ่งเอาความสามัคคีแห่งสงฆ์เป็นที่ตั้ง
จากนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้เสด็จไปยังสำนักของพระธรรมกถึกและภิกษุผู้เป็นลูกศิษย์ ซึ่งถูกพระวินัยธรลงอุกเขปนียกรรม ทรงชี้โทษของความเป็นคนดื้อ ไม่ยอมรับผิด พร้อมกับตรัสแนะว่า พระวินัยธรนั้นเป็นผู้เช่นไร ถ้าเห็นว่าเป็นพหูสูต ทรงธรรม ทรงวินัย ก็คงไม่มีอคติต่อพวกท่านเป็นแน่
แม้ว่าพระองค์จะทรงไกล่เกลี่ยอย่างนั้นแล้ว ก็ไม่อาจทำให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจปรองดองกันได้
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสห้ามว่า
"ภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าการแตกร้าว การทะเลาะ การแก่งแย่งและวิวาทกัน ย่อมทำความเสียหาย เหมือนนางนกลฎิกิกา อาศัยการทะเลาะกัน ยังสามารถทำพญาช้างให้ถึงแก่สิ้นชีวิตได้ " แล้วตรัสวิฎฎชาดก ทรงยกเรื่องนกกระจาบทั้งหลายวิวาทกันจนถึงแก่ชิวิต
(กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีฝูงนกกระจาบหลายพันตัวอาศัยอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง มีนายพรานคนหนึ่ง มีอาชีพจับนกกระจาบขายอยู่เป็นประจำ วันหนึ่ง นกกระจาบจ่าฝูงได้แนะนำนกกระจาบทุกตัวว่า
" ท่านทั้งหลาย เมื่อถูกตาข่ายนายพรานครอบแล้ว ให้ท่านทุกตัวสอดหัวเข้าในตาข่ายตาหนึ่งๆ แล้วพากันบินไปที่ต้นไม้มีหนาม ทิ้งตาข่ายไว้แล้วบินหนีไปนะ " หมู่นกกระจาบพากันรับคำ ต่อมาอีกสองวัน ฝูงนกกระจาบถูกตาข่ายนายพรานเข้าก็พากันทำเช่นนั้น นกทุกตัวสามารถหนีรอดไปได้ กว่านายพรานจะปลดตาข่ายออกจากหนามก็ค่ำมืดพอดี
อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่หากินอาหาร มีนกกระจาบตัวหนึ่ง บินลงพื้นที่หากินเหยียบถูก หัวนกกระจาบอีกตัวหนึ่งเข้า ตัวถูกเหยียบหัวโกรธจึงเป็นเหตุให้ทะเลาะกันลามไปทั้งฝูงว่า
" เห็นจะมีแต่ท่านเท่านั้นกระมัง ที่ยกตาข่ายขึ้นได้ ตัวอื่นไม่มีกำลังหรอกนะ "
ฝ่ายนกกระจาบจ่าฝูง เห็นพวกนกมัวแต่ทะเลาะกัน ก็คิดว่า
" ขึ้นชื่อว่า การทะเลาะกัน ย่อมไม่มีความปลอดภัย ความพินาศจะเกิดขึ้น " จึงได้พาบริวารส่วนหนึ่งบินหนีไปอยู่ที่อื่น
ฝ่ายนายพราน พอผ่านไปสองสามวัน ก็มาดักตาข่ายอีก พอฝูงนกกระจาบติดตาข่ายนายพรานในครั้งนี้อีก ต่างทะเลาะกันเกี่ยงกันบินขึ้น จึงถูกนายพรานรวบไปเป็นอาหารและขายทั้งหมด นายพรานจึงกล่าวเป็นคาถาว่า
( " นกกระจาบทั้งหลาย ร่าเริง บันเทิงใจ พาเอาข่ายไปได้
เมื่อใดพวกมันทะเลาะกัน เมื่อนั้น พวกมันจักตกอยู่ในเงื้อมมือของเรา " )
ขอขอบคุณภาำจาก http://www.dhammathai.org/chadoknt/chadoknt112.php
พระพุทธองค์แม้ทรงพยายามให้สงฆ์ปรองดองกันโดยตรัสสาราณียกรรม ๖ ประการ ธรรมอีนเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน คือทำความรักกัน ๑ ทำความเคารพกัน ๑ เป็นไปเพื่อความ สงเคราะห์กัน ๑ เพื่อความไม่วิวาทกัน ๑ เพื่อความพร้อมเพรียงกัน๑ เพื่อความเป็นพวกเดียวกัน ๑
นอกจากนั้นยังตรัสโทษแห่งการแตกความสามัคคีและอานิสงส์แห่งความสามัคคี พร้อมกับชี้แจงแสดงเหตุผลนานัปการ รวมทั้งนำชาดกต่าง ๆ มาเล่าเป็นคติเตือนใจ แต่ไม่สำเร็จ
ภิกษุชาวโกสัมพียังดื้อรั้นไม่ยอมฟังเหตุผล แม้จะทรงโอวาทอย่างไร ก็ยังไม่สามารถประสานภิกษุเหล่านั้นได้
จำเดิมแต่กาลนั้น แม้พวกอุปัฏฐากผู้ถวายปัจจัยของภิกษุ ๒ รูปนั้น ก็แบ่งเป็น ๒ ฝ่าย พวกภิกษุผู้รับโอวาทก็ดี พวกอารักขเทวดาที่คุ้มครองก็ดี ก็แตกเป็น ๒ ฝ่าย เมื่อตรัสสอนเท่าไรก็ไม่ฟัง พระพุทธองค์จึงทรงดำริที่จะหลีกออกจากหมู่ ประทับอยู่แต่ลำพัง รุ่งขึ้นพระองค์ได้เสด็จไปบิณฑบาตในกรุงโกสัมพีเพียงพระองค์เดียว กลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัตกิจ ทรงเก็บเสนาสนะ ก่อนเสด็จออกจากกรุงโกสัมพี ได้ตรัสคาถา ตอนหนึ่งมีความว่า
"เมื่อสงฆ์แตกแยกกัน ต่างมิได้สำคัญว่าตนผิด ปรารถนาที่จะแสดงฝีปากพูดไปตามอารมณ์ ย่อมไม่รู้้สึกว่าพวกเราจะย่อยยับในที่นี้ ฉะนั้น การเที่ยวไปคนเดียวจะประเสริฐกว่า เพราะความเป็นสหายกันในคนพาลไม่มี พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไป และไม่พึงทำบาป เหมือนช้างมาตังคะที่ประสงค์จะท่องเที่ยวไปในป่าแต่เพียงลำพัง ฉะนั้น"
พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปยัง รักขิตไพรสณฑ์อันเป็นที่อยู่ของช้าง ชื่อ ปาริเลยยกะ ประทับอยู่ ณ โคนไม้สาละใหญ่ต้นหนึ่ง ชื่อ ภัททสาละ ในรักขิตไพรสณฑ์นั้น
ทรงประทับอยู่สำราญพระอิริยาบถในพรรษาที่ ๑๐ แล้วก็เสด็จออกจากที่นั้น ไปประทับ ณ กรุงสาวัตถึ
เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จไปจากเมืองโกสัมพีแล้ว
เหล่าอุบาสกอุบาสิกาชาวกรุงโกสัมพี ไปยังวิหารเพื่อจะฟังธรรมเทศนา ครั้นไม่เห็นพระบรมศาสดา จึงถามภิกษุทั้งหลายว่า " บัดนี้พระบรมศาสดา ประทับอยู่ ณ ที่ใด "
ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า "พระบรมศาสดาเสด็จไปจากพวกเราแล้ว"
อุบาสกอุบาสิกาเหล่านั้นถามว่า " ท่านเสด็จไปด้วยเหตุใด"
เหล่าภิกษุตอบว่า " ด้วยเหตุที่พระองค์ทรงพยายามจะทำให้พวกเราสามัคคีกัน แต่พวกเราไม่เชื่อฟังโอวาทของพระองค์ "
ชนเหล่านั้นเมื่อทราบความต่างคิดกันว่า ภิกษุนี้บวชในสำนักของพระบรมศาสดา แม้กระนั้นก็ยังไม่ยอมฟังโอวาทของพระองค์ เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าเสด็จจากไป ทำให้เสื่อมจากประโยชน์ของพวกตน พวกเราไม่ได้เห็นพระบรมศาสดาก็เพราะภิกษุเหล่านี้ พวกเราจักไม่กราบไหว้ ไม่ทำการอุปถัมภ์บำรุงด้วยข้าวปลาอาหาถวายภัตตาหาร
ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีถูกลงโทษจากชาวเมืองโกสัมพี จนซูบผอมลงเพราะขาดอาหาร กลับได้สติขึ้นมา รู้สึกตัวว่าผิด จึงยอมสามัคคีกัน แม้กระนั้นอุบาสกอุบาสิกายังไม่ยอมที่จะปฏิบัติบำรุง จนกว่าภิกษุเหล่านั้นจะได้กราบขอขมาลาโทษต่อพระพุทธองค์ก่อน
พอออกพรรษาก็พากันไปสู่กรุงสาวัตถีอ้อนวอนพระอานนท์ให้พาไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยคณะพระภิกษุได้มากราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคให้เสด็จกลับพระเชตวันมหาวิหารและทูลขอขมาพระผู้มีพระภาคเจ้าและระงับอธิกรณ์นั้น พระธรรมกถึกและพระวินัยธร พร้อมด้วยเหล่าศิษย์ก็ยินยอมขอขมาต่อกันไม่มีความเห็นแตกแยกกันเพราะได้รับโทษของความแตกแยกกันเป็นบทเรียนแล้วนั่นเอง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.dhammathai.org/chadoknt/chadoknt112.php
http://www.phuttha.com
สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย -เนปาล โดยพระราชรัตนรังศี (ว.ป. วีรยุทฺโธ)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น