วันอังคารที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2557
สู่แดนพระพุทธองค์ ๖๓ วิสาขามหาอุบาสิกา
ขอขอบคุณภาพจาก www.kunkroo.com
หากนึกถึงนครสาวัตถี นอกจากจะรำลึกถึง ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี แล้วไม่รำลึกถึงนางวิสาขามหาอุบาสิกา ก็คงเป็นไปไม่ได้
วิสาขาเป็นชื่อของมหาอุบาสิกาคนสำคัญในครั้งพุทธกาล
นางวิสาขา เกิดในตระกูลเศรษฐี ในเมืองภัททิยะ แคว้นอังคะะ เป็นบุตรของ ธนญชัยเศรษฐี มารดาชื่อว่าสุมนาเทวี มีปู่ชื่อเมณฑกเศรษฐี
เมืองหลวงของแคว้นอังคะชื่อจัมปา ภัททิยะเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งของแคว้นอังคะ
เมื่อนางวิสาขา มีอายุได้ ๗ ขวบ ท่านเมณฑกเศรษฐี (ปู่) ได้ทราบข่าวว่า พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวนมาก กำลังเสด็จมาสู่เมืองภัททิยะ ท่านเมณฑกเศรษฐี จึงได้มอบหมายให้เด็กหญิงวิสาขาพร้อมด้วยบริวาร ออกไปทำการรับเสด็จที่นอกเมือง เด็กหญิงวิสาขาพร้อมด้วยบริวาร ก็เข้าไปเฝ้ากราบถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่อันสมควรแก่ตน พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาให้พวกเธอฟัง เมื่อจบลงก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันด้วยกันทั้งหมด
ส่วนเมณฑกเศรษฐี เมื่อพุทธองค์เสด็จมาถึงแล้วจึงรีบเข้าไปเฝ้าได้ฟังพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันเช่นกัน และยังกราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ที่ติดตามเสด็จทั้งหมดเข้าไปรับอาหารบิณฑบาต ณ ที่บ้านของตนเป็นระยะเวลา ๑๕ วัน
สมัยนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล แห่งเมืองสาวัตถี และพระเจ้าพิมพิสาร แห่งเมืองราชคฤห์ ซึ่งต่างฝ่ายต่างอภิเษกสมรสน้องสาวของแต่ละฝ่ายนั้น เนื่องจากในเมืองสาวัตถีของพระเจ้าปเสนทิโกศลนั้น ไม่มีเศรษฐีตระกูลใหญ่ ๆ ผู้มีทรัพย์สมบัติมากเลย ได้ทราบว่าในเมืองราชคฤห์ของพระเจ้าพิมพิสารนั้น มีเศรษฐีผู้มีทรัพย์สมบัติขนาดนับไม่ถ้วนอยู่ถึง ๕ คน คือโชติยเศรษฐี ชฎิลเศรษฐี ปุณณกเศรษฐี กากวัลลิยเศรษฐี และเมณฑกเศรษฐี (เศรษฐีผู้มีอยู่แคว้นอังคะซึ่งขณะนั้นแคว้นอังคะเป็นเมืองขึ้นของแคว้นมคธ)
ขอขอบคุณภาพจากwww.dhammajak.net
ดังนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล จึงเสด็จมายังเมืองราชคฤห์ เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารแล้วแจ้งความประสงค์ที่มาในครั้งนี้ ก็เพื่อขอพระราชทานตระกูลเศรษฐีในเมืองราชคฤห์นี้ไปอยู่ในเมืองสาวัตถีหนึ่งตระกูล เพื่อไปตั้งถิ่นฐานประกอบธุรกิจอยู่ประจำแคว้นของพระองค์
พระเจ้าพิมพิสารทรงตัดสินพระทัยลำบากมาก เพราะถ้าทรงตัดสินพระทัยให้ตระกูลเศรษฐีผู้ใดไป ก็จะได้รับความกระทบกระเทือนทั่วแคว้นมคธ ในที่สุดตัดสินพระทัย ยกตระกูลธนัญชัยเศรษฐี บุตรชายของเมณฑกเศรษฐี ให้เดินทางไปตั้งถิ่นฐานประกอบธุรกิจอยู่ที่แคว้นโกศล
พระเจ้าปเสนทิโกศล นำธนัญชัยเศรษฐี พร้อมด้วยภรรยา ธิดา ตลอดจนบริวารและทรัพย์สินเงินทองออกเดินทางสู่แคว้นโกศล ขณะเดินทางถึงเขตแดนต่อกันระหว่างแคว้นมคธและแคว้นโกศลนั้น
ธนัญชัยเศรษฐีทูลถามพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า ระยะทางจากนี้ถึงนครสาวัตถีไกลเพียงไร พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสตอบว่า ๗ โยชน์ (๑๑๒ กิโลเมตร) ธนัญชัยเศรษฐีจึงทูลขอพระบรมราชานุญาตสร้างบ้านเรือนเป็นที่อยู่อาศัยตรงเขตแดนต่อกันระหว่างแคว้นโกศลและแคว้นมคธ เพราะเกรงว่าการพาครอบครัวและบริวารเข้าไปอยู่เมืองสาวัตถีจะทำให้เมืองคับแคบไป
พระเจ้าปเสนทิโกศลโปรดให้สร้างเมืองณ ชายแดนติดต่อกันระหว่างสองแคว้น และพระราชทานนามมืองใหม่นี้ว่า “สาเกต” ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองสาวัตถี ๗ โยชน์
ในขณะเจริญวัย ๑๕-๑๖ ปี วิสาขาเป็นหญิงที่งามพร้อมด้วยความงาม ด้วยลักษณะเบญจกัลยาณี ๕ คือ
ผมงาม หมายถึง ผมซึ่งยาวสลวยลงมาแล้วมีปลายช้อนขึ้นเองโดยธรรมชาติ
ฟันงาม หมายถึง ฟันขาวสะอาดเป็นระเบียบเรียงรายประดุจไข่มุกที่นายช่างจัดเข้าระเบียบแล้ว
ผิวงามลักษณะนี้มี ๒ อย่าง คือ ถ้าผิวขาวก็ขาวละเอียดอ่อนเหมือนสีดอกกรรณิการ์ ถ้าผิวดำก็ดำอย่างดอกอุบลเขียว อมเลือดอมฝาด เปล่งปลั่งคล้ายสำน้ำผึ้งซึ่งนำมาจากรังผึ้งใหม่ ๆ
ริมฝีปากงาม หมายถึง ริมฝีปากบางโค้งเป็นรูปกระจับสีชมพูเรื่อคล้ายผลตำลึงสุก เป็นเองโดยธรรมชาติ มิใช่เพราะตกแต่งแต้มทา
วัยงามหมายถึง เป็นคนงามตามวัย งามทุกวัย เมื่ออยู่ในวัยเด็กก็งามอย่างเด็ก เมื่ออยู่ในวัยสาวก็งามอย่างหญิงสาว เมื่ออยู่ในวัยชราก็งามอย่างคนชรา
ขอขอบคุณภาพจากwww.dhammajak.net
วันหนึ่ง นางวิสาขา พร้อมทั้งหญิงบริวารออกมาเที่ยวเล่นน้ำกันที่ท่าน้ำ และขณะนั้นเองฝนตกลงมาอย่างหนัก หญิงบริวารทั้งหลายพากันวิ่งหลบหนีฝนเข้าไปในศาลา แต่นางวิสาขายังคงเดินด้วยอาการปกติ ทำให้พราหมณ์กลุ่มหนึ่งของเมืองสาวัตถีที่ผ่านมาพบรู้สึกแปลกใจประกอบกับต้องการจะเห็นลักษณะฟันของนางด้วยจึงถามนางว่า “ทำไม เธอจึงไม่วิ่งหลบหนีฝนเหมือนกับหญิงอื่น ๆ”
นางวิสาขาตอบว่า ชน ๔ พวกเมื่อวิ่งจะดูไม่งาม ได้แก่
๑. พระราชา ผู้ทรงประดับด้วยเครื่องอาภรณ์พร้อมสรรพ
๒.บรรพชิต ผู้ครองผ้ากาสาวพัสตร์
๓. สตรี ผู้ชื่อว่าเป็นหญิงทั้งหลาย
๔. ช้างมงคล ตัวประดับด้วยเครื่องอาภรณ์สำหรับช้าง
(มิคารเศรษฐีเป็นผู้ส่งพราหมณ์กลุ่มหนึ่งไปแสวงหาหญิงเบญจกัลยาณีมาเป็นคู่ครองของปุณณวัตนกุมารเพราะปุณณวัฒนกุมารซึ่งถูกบิดามารดารบเร้าให้แต่งงานได้แจ้งความประสงค์ว่าจะยอมแต่งงานกับหญิงเบญจกัลยาณีเท่านั้น)
ต่อมา มิคารเศรษฐี บิดาแห่งปุณณวัฒนกุมารในกรุงสาวัตถี ส่งทูตไปขอนางเพื่อบุตรของตน
การแต่งงานของนางวิสาขาเป็นเรื่องมโหฬารยิ่ง ธนัญชัยเศรษฐีให้นายช่างทำเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ เครื่องประดับนี้เป็นชุดยาวติดต่อตั้งแต่ศรีษะจรดปลายเท้า แพรวพราวไปด้วยเพชรนิลจินดามากหลาย ไม่มีผ้าด้าย ผ้าไหม หรือผ้าใด ๆ เจือปนเลย ที่ ๆ ควรจะใช้ผ้า เขาก็ใช้แผ่นเงินแทน ในเครื่องประดับนี้ต้องใช้เพชร ๔ ทะนาน แก้วมุกดา ๑๑ ทะนาน แก้วประพาฬ ๒๐ ทะนาน แก้วมณี ๓๓ ทะนาน.
ลูกดุมทำด้วยทอง ห่วงทำด้วยเงิน เครื่องประดับนี้คลุมตั้งแต่ศีรษะจรดหลังเท้า บนศีรษะทำเป็นรูปนกยูงรำแพน ขนปีกทั้งสองข้างทำด้วยทองข้างละ ๕๐๐ ขน จะงอยปากทำด้วยแก้วประพาฬ นัยน์ตาทำด้วยแก้วมณี ก้านขนและขาทำด้วยเงิน นกยูงประดิษฐ์อยู่เหนือเศียร เครื่องประดับนี้มีราคา ๙ โกฏิกหาปณะ ค่าจ้างทำหนึ่งแสนกหาปณะและทำอยู่ถึง ๔ เดือน โดยนายช่างจำนวนร้อย จึงสำเร็จลง
เป็นเครื่องประดับที่หญิงอื่น ๆ ไม่สามารถจะประดับได้เพราะมีน้ำหนักมาก
นอกจากนี้ ธนัญชัยเศรษฐี ยังได้มอบทรัพย์สินเงินทองของใช้ต่าง ๆ รวมทั้งข้าทาสบริวารและฝูงโคอีกจำนวนมากมายมหาศาล อีกทั้งส่งกุฏุมพีผู้มีความชำนาญพิเศษด้านต่าง ๆ ไปเป็นที่ปรึกษาดูแลประจำตัวอีก ๘ นายด้วย
ขอขอบคุณภาพจากtrang82.wordpress.com
คืนสุดท้ายที่นางวิสาขาจะจากไปสู่ตระกูลสามีนั่นเอง ธนัญชัยเศรษฐีผู้บิดาได้ให้โอวาท ๑๐ ข้อดังนี้
๑. ไฟในอย่านำออก
๒. ไฟนอกอย่านำเข้ามา
๓. พึงให้ทานแก่บุคคล ที่ให้
๔. ไม่พึงให้แก่บุคคลที่ไม่ให้
๕. พึงให้ทานแก่บุคคลที่ทั้งให้และไม่ให้
๖. พึงนั่งให้เป็นสุข
๗. พึงนอนให้เป็นสุข
๘ พึงบริโภคให้เป็นสุข
๙. พึงบำเรอไฟ
๑๐. พึงนอบน้อมเทวดา
นางวิสาขาเข้าสู่พิธีอาวาหมงคลด้วยเกียรติอันยิ่งใหญ่ การต้อนรับทางกรุงสาวัตถีนั้นมโหฬารเหลือคณนา แต่บังเอิญตระกูลของปุณณวัฒนกุมารนั้นมิได้นับถือพระพุทธศาสนาแต่นับถือศาสนาของนิครนถ์นาฎบุตรหรือศาสนาเชน
ต่อมานางวิสาขาสามารถทำให้มิคารเศรษฐีบิดาแห่งสามีเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอีกทั้ง รักและนับถือนางวิสาขาในสองฐานะ คือฐานะสะใภ้และฐานะ ”แม่” จึงเรียกนางวิสาขาว่า “แม่ "ทุกคำไป เพราะถือว่านางวิสาขาเป็นผู้จูงให้ท่านเดินเข้าทางถูก จูงออกจากทางรก เมื่อคนทั้งหลายพูดถึงนางวิสาขาก็มักจะเติมสร้อยคำตามมาข้างหลังว่า ”มิคารมารดา”
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.dhammatalks.net/Articles/Life_of_the_Buddha_in_Pictures.htm
โดยปกตินางวิสาขาจะไปวัดวันละ ๒ ครั้ง คือ เช้า-เย็น และมีของไปถวายเสมอ ถ้าไปเวลาเช้าก็จะมีของเคี้ยวของฉันเป็นอาหารไปถวายพระ ถ้าไปเวลาเย็นก็จะถือน้ำปานะไปถวาย เพราะนางมีปกติทำอย่างนี้เป็นประจำ จนเป็นที่ทราบกันดีทั้งพระภิกษุสามเณร และอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย และก่อนที่นางจะออกจากวัดกลับบ้าน นางจะเดินเยี่ยมเยือนถามไถ่ความสุข ความทุกข์ และความประสงค์ของพระภิกษุสามเณร และเยี่ยมภิกษุไข้จนทั่วถึงทุก ๆ องค์ก่อนแล้วจึงกลับบ้าน
วันหนึ่งเมื่อนางมาถึงวัด นางได้ถอดเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ มอบให้หญิงสาวผู้ติดตามถือไว้ เมื่อเสร็จกิจการฟังธรรมและเยี่ยมเยือนพระภิกษุสามเณรแล้ว ขณะเดินกลับบ้านนางได้บอกให้หญิงรับใช้ส่งเครื่องประดับให้ แต่หญิงรับใช้ลืมไว้ที่ศาลาฟังธรรม นางจึงให้กลับไปนำมา แต่สั่งว่าถ้าพระอานนท์เก็บรักษาไว้ก็ไม่ต้องเอาคืนมาให้มอบถวายท่านไปเลย เพราะนางคิดว่าจะไม่ประดับเครื่องประดับที่พระคุณเจ้าถูกต้องสัมผัสแล้ว ซึ่งพระอานนท์ท่านก็มักจะเก็บรักษาของที่อุบาสกอุบาสิกาลืมไว้เสมอ และก็เป็นไปตามที่นางคิดไว้จริง ๆ แต่นางก็กลับคิดได้อีกว่า “เครื่องประดับนี้มีประโยชน์แก่พระเถระ” ดังนั้นนางจึงขอรับคืนมาแล้วนำออกขายในราคา ๙ โกฏิกหาปณะ กับ ๑ แสนกหาปณะ ตามราคาทุนที่ทำไว้ แต่ก็ไม่มีผู้ใดมีทรัพย์พอที่จะซื้อไว้ได้ นางจึงซื้อเอาไว้เอง ด้วยการนำทรัพย์เท่าจำนวนนั้นมาซื้อที่ดินและวัสดุก่อสร้างดำเนินการสร้างวัดถวายเป็นพระอารามประทับของพระบรมศาสดา และเป็นที่อยู่อาศัยจำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์สามเณร พระบรมศาสดารับสั่งให้พระโมคคัลลานะ เป็นผู้อำนวยการดูแลการก่อสร้าง ซึ่งมีลักษณะเป็นปราสาท ๒ ชั้น มีห้องสำหรับพระภิกษุพักอาศัยชั้นละ ๕๐๐ ห้อง โดยใช้เวลาในการก่อสร้างถึง ๙ เดือน และเมื่อสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ได้นามว่า วัดบุพพาราม
ขอขอบคุณภาพจากttp://www.dhammatalks.net/Articles/Life_of_the_Buddha_in_Pictures.htm
ปกตินางวิสาขาจะให้สาวใช้ไปกราบทูลอาราธนาพระพระพุทธองค์และภิกษุสงฆ์ให้เสด็จไปยังบ้านของนาง เพื่อรับภัตตาหารอยู่เสมอ
วันหนึ่ง สาวใช้ได้ไปที่วัดตามปกติเหมือนทุกวัน แต่วันนั้นมีฝนตกลงมาพระสงฆ์ทั้งหลาย จึงพากันเปลือยกายอาบน้ำฝน เมื่อสาวใช้มาเห็นเข้าก็ตกใจเพราะความที่ตนมีปัญญาน้อยคิดว่าเป็นนักบวชชีเปลือย จึงรีบกลับไปแจ้งแก่นางวิสาขาว่า
“ข้าแต่แม่เจ้า วันนี้ที่วัดไม่มีพระอยู่เลย เห็นมีแต่ชีเปลือยแก้ผ้าอาบน้ำ กันอยู่”
นางวิสาขาได้ฟังคำบอกเล่าของสาวใช้แล้ว ด้วยความที่นางเป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบัน เป็นมหาอุบาสิกา เป็นผู้มีปัญญาศรัทธาเลื่อมใส มีความใกล้ชิดกับพระภิกษุสงฆ์ จึงทราบ เหตุการณ์โดยตลอดว่า พระบรมศาสดาทรงอนุญาตให้พระภิกษุมีผ้าสำหรับใช้สอยเพียง ๓ ผืน คือ ผ้าจีวรสำหรับห่ม ผ้าสังฆาฎิสำหรับห่มซ้อน และผ้าสบงสำหรับนุ่ง ดังนั้นเมื่อเวลาพระภิกษุจะอาบน้ำจึงไม่มีผ้าสำหรับผลัดอาบน้ำ ก็จำเป็นต้องเปลือยกายอาบน้ำอาศัยเหตุนี้ เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมาประทับที่บ้านและเสร็จภัตกิจแล้ว นางวิสาขา จึงได้เข้าไปกราบทูลขอพร เพื่อถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระภิกษุสงฆ์ พระพุทธองค์ประทานอนุญาตตามที่ขอนั้น และนางวิสาขาก็เป็นบุคคลแรกที่ได้ถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระภิกษุสงฆ์
ขอขอบคุณภาพจากboard.postjung.com
ลักษณะของผู้มีวัยงามเช่นนางวิสาขา คือ แม้ว่านางจะมีอายุมาก มีลูกชาย-หญิง ถึง ๒๐ คน ลูกเหล่านั้นแต่งงานมีลูกอีกคนละ ๒๐ คน นางก็มีหลานนับได้ ๔๐๐ คน หลานเหล่านั้นแต่งงานมีลูกอีกคนละ ๒๐ คน นางวิสาขามีเหลนนับได้ ๘๐๐๐ คน ดังนั้น คนจำนวน ๘๔๒๐ คน มีต้นกำเนิดมาจากนางวิสาขา นางมีอายุยืนได้เห็นหลานได้เห็นเหลนทุกคน แม้นางมีอายุถึง ๑๒๐ ปี แต่ขณะเมื่อนางนั่งอยู่ในกลุ่มของลูก หลาน เหลน นางจะมีลักษณะวัยใกล้เคียงกับคนเหล่านั้น คนพวกอื่นจะไม่สามารถทราบได้ว่านางวิสาขาคือคนไหน แต่จะสังเกตได้เมื่อเวลาจะลุกขึ้นยืน ธรรมดาคนหนุ่มสาวจะลุกได้ทันที แต่สำหรับคนแก่จะต้องใช้มือยันพื้นช่วยพยุงกาย และจะยกก้นขึ้นก่อน นั่นแหละจึงจะทราบว่านางวิสาขาคือคนไหน
ในบรรดาอุบาสิกาทั้งหลาย นางวิสาขานับว่าเป็นผู้มีบุญสั่งสมมาตั้งแต่อดีตชาติมากเป็นพิเศษกว่าอุบาสิกาคนอื่น ๆ หลายประการ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://goldfish.wimutti.net/leelakum/wisa.html
สู่แดนพระพุทธองค์อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี ( ว.ป. วีรยุทฺโธ)
วิกิพีเดีย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น