วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2557
สู่แดนพระพุทธองค์ ๖๗ สังกัสสนคร
ซาก “เทโวโรหนสถูป” เมืองสังกัสสะ
ขอขอบคุณภาพจากwww.dhammajak.net
สังกัสสนคร เป็นที่ที่พระพุทธองค์เสด็จลงมาจากดาวดึงส์สวรรค์ หลังจากเสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาด้วยพระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์เป็นเวลา ๓ เดือน ต่อเมื่อวันมหาปวารณาจึงเสด็จสู่มนุสสโลกในที่ใกล้กับประตูเมืองสังกัสสะท่ามกลาง เทพพรหมแวดล้อมเป็นบริวาร และได้ตรัสเทศนาในปโรสหัสสชาดกอีกด้วย
สังกัสสะเคยเป็นเมืองใหญ่เป็นฐานแห่งหนึ่งของพระพุทธศาสนาในอินเดียเมื่อถึงคราวเสื่อมสูญเมืองจึงกลายเป็นป่าไปในที่สุดเช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ นคร ยิ่งเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๗๒๖ (ค.ศ. ๑๑๙๓) พวกพราหมณ์พากันยุยงราชาไชยจันทร์ แห่งเมือง กาเนาซ์ ว่าพระพุทธศาสนาเป็นภัยต่อฮินดูขืนปล่อยไว้บ้านเมืองจะต้องวิบัติ ราชาไชยจันทร์จึงกรีฑาทัพมาทำลายล้างเสียราบเรียบ สังกัสสะจึงกลายเป็นทุ่งโล่ง
หลวงจีนถ้งซำจั๋งเดินทางมาที่นี่ ได้พบเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช สูงประมาณ ๗๐ ฟุต อยู่ข้างพระวิหาร มีกำแพงยาว ๕๐ ฟุต เป็นที่พระบรมศาสดาเสด็จเดินจงกรมมีรูปเครื่องหมายดอกบัวอยู่บนกำแพงอย่างเดียวกับที่เมืองพุทธคยา
เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม ให้ศึกษาจากบันทึกของหลวงจีนทั้งสองท่านที่เดินทางมาสืบพระศาสนาในอินเดีย จึงได้สำรวจโบราณสถานสังกัสสะ เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๓๘๕ (ค.ศ.๑๘๔๒) ได้พบซากวิหาร กำแพง พระพุทธปฏิมากร และเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งส่วนบนเป็นรูปช้างได้ถูกทำลายลงเหลือแค่คอเท่านั้น
ปัจจุบันสังกัสสนครยังเหลือเป็นโบราณสถานที่รัฐบาลดูแลรักษาอยู่ในเขตปกครองของอำเภอฟาร์รุกขบาด รัฐอุตตรประเทศ อยู่ระหว่างเมืองลักเนาว์กับเมืองอัคระห่างจากเมืองกานปุร์ไป ๙๗ ไมล์ มีเนินดินเหมือนสถูปเก่ากับเสาศิลาจารึกของจักรพรรดิอโศกอยู่ที่นั้น
ซาก “เทโวโรหนสถูป” เมืองสังกัสสะ ขอขอบคุณภาพจาก www.dhammajak.net
พระบรมศาสดาทรงแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา ๗ คัมภีร์ โดยการทรงเนรมิตพุทธนิรมิต แสดงธรรมในดาวดึงส์ภิภพ ในช่วงที่เสด็จป่าหิมพานต์ บิณฑบาต กระทำภัตกิจ และโปรดให้พระสารีบุตรซึ่งเป็นผู้กระทำวัตรปฏิบัติพระพุทธองค์แสดงพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์แก่ภิกษุนิสิต ๕๐๐ ส่วนพระพุทธองค์เมื่อเสด็จกลับไปสู่เทวโลก ทรงแสดงธรรมต่อจากพระพุทธนิรมิตแสดง ตลอดทั้งไตรมาส
ในกาลจบเทศนา การตรัสรู้ธรรมได้มีแก่เทวดามากมาย พระพุทธมารดาได้ตั้งอยู่แล้วในโสดาปัตติผล
ครั้นใกล้เวลาออกพรรษา บริษัททั้งหลายที่คอยเฝ้ารับเสด็จอยู่ตลอดเป็นเวลา ๓ เดือน ได้ขอให้พระโมคคัลลานะขึ้นไปกราบทูลถามวันเสด็จกลับลงมา กล่าวว่าพวกข้าพเจ้าทั้งหลายไม่เห็นพระบรมศาสดาแล้วจักไม่ไปจากที่นี้ พระโมคคัลลานะขึ้นไปกราบทูลถามพระพุทธองค์ว่า
"พระพุทธองค์จักเสด็จลงมาเมื่อใด พระเจ้าข้า "
พระพุทธองค์รับสั่งถามถึงพระสารีบุตร ทรงทราบว่าอยู่ที่สังกัสสนคร จึงตรัสกับพระโมคคัลลานะว่า
"ในวันที่ ๗ จากนี้ เราจักลงไปที่ประตูเมืองสังกัสสะในวันมหาปวารณา ผู้ใดใคร่จะพบเราก็จงไป ณ ที่นั้นเถิด"
ขอขอบคุณภาพจาก www.watnakkharin.com
พระพุทธองค์เสด็จลงจากดาวดึงส์ ณ ประตูเมืองสังกัสสะ ซึ่งอยุ่ห่างจากกรุงสาวัตถี ๓๐ โยชน์ ในวันมหาปวารณา ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ อันเป็นพุทธกิจที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ไม่ทรงละ สถานที่เหยียบพระบาท ณ ประตูเมืองสังกัสสะ ชื่อว่า "อจลเจติยสถาน"
วันที่พระพุทธองค์เสด็จลงจากเทวโลก ท้าวสักกะเทวราชรับสั่งให้วิสสุกรรมเทพบุตร เนรมิตบันไดแก้วมณีตรงกลาง สำหรับพระบรมศาสดา บันไดทองอยู่ด้านขวาสำหรับเหล่าเทวดา และบันไดเงินอยู่ด้านซ้ายสำหรับเหล่ามหาพรหม เมื่อพระพุทธองค์เสด็จลง ท้าวมหาพรหมกั้นฉัตร ท้าวสักกเทวราชทรงรับบาตร ท้าวสุยามเทวราชพัดด้วยวาลวิชนีอันเป็นทิพย์ ปัญจสิขเทพบุตรบรรเลงพิณ มาตลีเทพบุตรถือของหอมและดอกไม้ทิพย์นมัสการอยู่ ห้อมล้อมด้วยหมู่เทวดาและพรหม เสด็จลงที่เมืองสังกัสสะ
ขอขอบคุณภาพจากthanon-itsaraphap.blogspot.com
พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร เป็นผู้ถวายบังคมรับเสด็จก่อนผู้ใด พระอุบลวรรณาเถรี เข้ามาถวายบังคมต่อจากพระสารีบุตร จากนั้นบรรดามหาชนที่ตามมาคอยเฝ้ารับเสด็จ ณ ที่นั้น พระพุทธองค์ทรงดำริว่าชนเหล่านี้รู้กิติศัพท์ของพระโมคคัลลานะในฐานะผู้เป็นเลิศทางฤทธิ์ รู้ว่าพระอนุรุทธะเป็นเลิศทางทิพจักขุ รู้ว่าพระปุณณะเป็นผู้เลิศทางธรรมถึก แต่บริษัทนี้มิได้รู้จักพระสารีบุตรว่าเลิศด้วยคุณอะไร จึงตรัสถามปัญหากับพระเถระ พระสารีบุตรแก้ปัญหาได้ทั้งหมด ทั้งปัญหาของปุถุชน พระเสชะ และพระอเสขะ
ในครั้งนั้นมหาชนจึงได้รู้จักพระสารีบุตรว่า เป็นผู้เลิศทางปัญญา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
" สารีบุตรมิได้เป็นผู้มีปัญญาแต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในอดีตก็เป็นผู้เลิศด้วยปัญญา "
แล้วตรัส ปโรสหัสสชาดก แก่มหาชน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺฺโธ)
พระเสขะ (ผู้ยังต้องศึกษา ยังไม่ใช่อริยบุคคลชั้นอรหันต์)
พระอเสขะ (ผู้ไม่ต้องศึกษาได้บรรลุมรรคผลแล้ว)
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.84000.org/true/139.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น