วันเสาร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2557
สู่แดนพระพุทธองค์ ๖๐ เชตวันมหาวิหาร
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.dhammatalks.net/Articles/Life_of_the_Buddha_in_Pictures.htm
หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในวันเพ็ญ เดือน ๖ ในขณะมีพระชนมพรรษา ๓๕ พรรษา ได้เสด็จสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันโปรด ปัญจวัคีย์ พระยศ และสหาย
และทรงประทับจำพรรษาแรก ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
เมื่อออกพรรษา ทรงแสดงธรรม โปรดภัททวัคคีย์ ๓๐ รูป โปรดชฎิล ๓ พี่น้อง พร้อมด้วยบริวาร๑,๐๐๐ รูป ด้วยการแสดงอาทิตตปริยายสูตร
แล้วจึงเสด็จสู่นครราชคฤห์ โปรดชาวเมืองราชคฤห์และพระเจ้าพิมพิสาร จนพระเจ้าพิมพิสารสำเร็จพระโสดาบัน
พระเจ้าพิมพิสาร ขอขอบคุณภาพจาก www.oknation.net
-พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้สงฆ์สาวกรับวัดที่มีผู้สร้างถวายได้ซึ่ง พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นผู้บวชท่านปุณณมันตานีบุตร (ลูกน้องสาว) และได้บรรลุพระอรหันต์
-พระพุทธองค์ ทรงรับ ๒ อัครสาวก คือ พระสารีบุตร และ พระโมคคัลลานะ บวช และทรงประกาศตั้งไว้ในตำแหน่งอัครสาวก
-ทรงให้พระมหากัสสปะบวชด้วยวิธีให้รับโอวาท ๓ ข้อ
พระเจ้าพิมพิสารสร้างถวายวัดเวฬุวัน นับว่าเป็นปฐมสังฆารามแห่งพระพุทธศาสนา
ขอขอบคุณภาพจาก jedeethai.blogspot.com
- ในพรรษาที่สอง สาม และสี่ ประทับจำพรรษาที่วัดเวฬุวัน
ในพรรษาที่ ๒ นี้พระพุทธองค์ ได้เสด็จกลับไปโปรดพระพุทธบิดา และพระญาติวงศ์ศากยะ ณ นครกบิลพัศดุ์ ในครั้งนั้นบรรดาศากยราชได้ทรงเลื่อมใสศรัทธา ต่างได้ถวายพระโอรสของตนให้ออกบวชตามเสด็จ ยังเหลือแต่ศากยกุมารเหล่านี้คือ เจ้าชายมหานามะ เจ้าชายอนุรุทธะ เจ้าชายภัททิยะ เจ้าชายภัคคุ เจ้าชายกิมพิละ เจ้าชายอานนท์ และเจ้าชายเทวทัตต์ ครั้นพระพุทธองค์ประทับอยู่กรุงกบิลพัศดุ์พอสมควรแก่กาลแล้วก็เสด็จจาริกต่อไปยังที่อื่น
(แต่ในบางข้อมูลระบุว่าทรงเสด็จไปกรุงกบิลพัศดุ์ ในพรรษาที่สาม )
ขอขอบคุณภาพจากwww.chiangmailocator.com
ในพรรษาที่สองนี้เป็นการเกิดจาตุรงคสันนิบาต ในวันเพ็ญเดือนสาม (วันมาฆะบูชา) พระสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
เมื่ออกพรรษาแล้วได้เสด็จเมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ทรงสอนพระอานนท์ให้ สาธยายรัตนสูตร ทำน้ำพระพุทธมนต์บรรเทาภัยของชาวเมือง
และ พระอานนท์ฟังกถาวัตถุ ๑๐ ประการ ของพระปุณณมันตานีบุตร ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน
ในพรรษาที่สาม ยังคงประทับจำพรรษาที่วัดเวฬุวัน
และในพรรษาที่สามนี้เองที่ อนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้สร้างเชตวันมหาวิหาร
ขอขอบคุณภาพจากวิกิพีเดีย
แต่พระพุทธองค์ได้ประทับจำพรรษาที่เชตวันมหาวิหาร ครั้งแรกในพรรษา ๑๔
ในพรรษาที่ ๒๑- ๔๔ รวมระยะเวลาการจำพรรษาที่เชตวันมหาวิหาร ๑๘ พรรษา วัดบุพพาราม ๖ พรรษา รวมเวลาที่ทรงจำพรรษา ณ นครสาวัตถี ๒๕ พรรษา
(ทั้งนี้นับตั้งแต่พรรษา ที่ ๒๑ ประทับจำพรรษาสลับ ไปมาระหว่างวัด พระเชตวัน กับ วัดบุพพาราม กรุงสาวัตถี แคว้นโกศล )
ในครั้งพุทธกาล
บริเวณของเชตวันวันมหาวิหาร นั้นเดิมเป็นพระราชอุทยานสำหรับเสด็จประพาสของเจ้าเชต เจ้าชายในราชวงศ์โกศลแห่งเมืองสาวัตถี เป็นพระราชอุทยานร่มรื่นนอกตัวเมืองหลวง มีเนื้อที่ ๘๐ ไร่ (๓๒ เอเคอร์)
ขอขอบคุณภาพจากeduscapes.com
การสร้างวัดทำบุญใหม่ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ลือลั่นสนั่นทั่วกรุงสาวัตถี เพราะยังไม่เคยมีเศรษฐ๊คนใดกระทำมาก่อนเลย ทำให้พวกพราหมร์ และเจ้าลัทธิต่าง ๆ ในเมืองสาวัตถีพากันริษยาและต่อต้านการกระทำของอนาถบิณฑิกเศรษฐี จนพระบรมศาสดาให้พระอัครสาวกสารีบุตรมาช่วยในการก่อสร้างพระเชตวันมหาวิหาร และเป็นการให้กำลังใจแก่อนาถบิณฑิกเศรษฐ๊
เมื่อพระสารีบุตรมาถึงเมืองสาวัตถีก็เผชิญหน้ากับเจ้าลัทธิต่าง ๆ เหล่านั้น ได้ประฝีปากกันอย่างหนัก ซึ่งพระอัครสาวก สารีบุตรก็เอาชนะเจ้าลัทธิต่าง ๆ ได้ทั้งหมด จนกระทั่ง พระเชตวันวิหารก็ก่อสร้างแล้วเสร็จ เป็นตึกสูง ๗ ชั้น พรั่งพร้อมด้วยอาคารต่างและสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ดังกล่าวมาแล้ว และมีฉลองนานถึง ๙ เดือน
การเสด็จมาของพระพุทธองค์ ได้ถูกต่อต้านอย่างหนักยิ่งขึ้นกว่าเดิมจากเจ้าลัทธิต่าง ๆ นอกจากเจ้าลัทธิโบราณแล้ว นครสาวัตถียังมีศาสนาเชนตัั้งมั่นเป็นปึกแผ่นก่อนพระพุทธศาสนา ศานาอาชีวกก็มีศุนย์กล่างอยู่ที่กรุงสาวัตถี กับยังมีปริพาชก อีกมาก ที่มาใส่ร้ายให้ประชาชนชาวเมืองสาวัตถีเกลียดชังพระบรมศาสดา
มีครั้งหนึ่งที่ปริพาชกจ้างนางสุนทริกาให้เที่ยวโฆษณาว่าได้เสียกับพระบรมศาสดา พอตกเย็นนางสุนทริกาจะแต่งกายแช่มช้อยทัดดอกไม้งดงามเดินกรีดกรายเข้าไปพระเชตวันมหาวิหาร พบชาวบ้านคนใด นางก็จะบอกว่า เธอจะไปปรนนิบัติพระบรมศาสดา ต่อมาปริพาชกก็ฆ่านางสุนทริกาเสียแล้วเอาศะไปหมกไว้ที่ใต้คันธกุฎีของพระพุทธองค์ พอศพเน่าคนได้กลิ่นก็พากันมาดู คนที่มาดูต่างเข้าใจว่า พระบรมศาสดาฆ่านางสุนทริกาด้วยเรื่องชู้สาว ข่าวระบือไปทั่วกรุงสาวัตถีอย่างรวดเร็ว พระพุทธองค์ต้อง งดเสด็จออกบิณฑบาตเวลาเช้า พระเจ้าปเสนทิโกศลต้องการรู้ความจริง โปรดให้นักสืบออกมาสืบเรื่องราว ภายใน ๗ วัน ก็จับคนร้ายที่ฆ่านางสุนทริกาได้หมด
พระบรมศาสดาได้ทรงเปลี่ยนใจบุคคลสำคัญและเจ้าลัทธิใหญ่ในนครสาวัตถีเป็นอันมาก เช่น พราหมณ์อัคคิกะภารัทวาชะ ที่ตะโกนด่าพระพุทธองค์ พราหมณ์ชานุโสณิ พราหมณ์ธนัญชานิ ล้วนเป็นศัตรูกับพระบรมศาสดา ล้วนกลับใจกลายเป็นอุปัฏฐากที่ยิ่งใหญ่ในพระพุทธศาสนา เจ้าลัทธิใหญ่ ๆ ที่กลับใจมานับถือศาสนาพุทธตลอดชีวิต เช่น โบกขรสาติแห่งอุกกัฏฐา โลหิจจะแห่งสาลวัตติกา จังกี่แห่งโอปสาทะ และที่เป็นข่าวเอิกเริกของนครสาวัตถีคือสานุศิษย์ของพาวรี ๑๖ คน เดินทางมาจากฝั่งแม่น้ำโคธาวรี มาขออุปสมบทที่พระเชตวันมหาวิหาร
ในอดีตบริเวณนี้เป็นที่ร่มรื่น หนาแน่นด้วยพันธุ์ไม้ เมื่อสร้างเป็นวัดแล้ว ก็พร้อมด้วยกุฎีอาศรมสงบ พระพุทธองค์เสด็จพระราชดำเนินประทับรอยพระบาทไว้มากมายทั่วอาณาบริเวณ หมู่ชนจากจตุรทิศถือดอกไม้ ของหอม เครื่องใช้อันควรแก่สมณะ และฟังธรรมเทศนา ณ ธรรมศาลาในพระเชตวัน แม้แต่เทวดาก็เพียรพยายามเข้ามาฟังกระแสธรรมจากพระพุทธองค์
นางจิญมาณวิกา
ขอขอบคุณภาพจากwww.npzmoon.com
เชตวันมหาวิหารแห่งนี้เป็นสถานที่เกิดเรื่องราวและพระสูตรสำคัญ ๆ ในพระพุทธศาสนามากมายเช่น เรื่องของพระองคุลิมาล, นางปฏาจาราเถรี, พระนางกิสาโคตมีเถรี, การถวายอสทิสทาน, เรื่องพระพุทธองค์ทรงดูแลภิกษุไข้, พราหมณ์จูเฬกสาฏก, ทรงพยากรณ์สุบินนิมิต ๑๖ ประการ, นางกาลียักษิณี, นางจิญมาณวิกา ถูกแผ่นดินสูบ, พระเทวทัตถูกแผ่นดินสูบ เป็นต้น ในส่วนพระสูตรนั้นมีจำนวนมาก ที่สำคัญ ๆ เช่น มหามงคลสูตร, ธชัคคสูตร, ทสธัมมสูตร, สาราณียธรรมสูตร, อหิราชสูตร, เมตตานสังสสูตร, คิริมานนทสูตร, ธัมมนิยามสูตร, อปัณณกสูตร, อนุตตริยสูตร, พลสูตร, มัคควิภังคสูตร, โลกธัมมสูตร, ทสนารถกรณธัมมสูตร, อัคคัปปทานสูตร, ปธานสูตร, อินทริยสูตร, อนริยสูตร และสัปปุริสธัมมสูตร โดยทั้งหมดทรงแสดง ณ วัดเชตวันแห่งนี้
หลังพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพาน วัดเชตวันได้รับการดูแลมาตลอด โดยเฉพาะมูลคันธกุฎีที่มีพระสงฆ์เฝ้าดูแลทำการปัดกวาดเช็ดถูปูลาดอาสนะและปฏิบัติต่อสถานที่ ๆ พระพุทธเจ้าเคยประทับอยู่ทุก ๆ แห่ง เหมือนสมัยที่พระพุทธองค์ทรงพระชนม์ชีพอยู่มิได้ขาด โดยมีการปฏิบัติเช่นนี้ติดต่อกันจวบจนเมืองสาวัตถีตกไปอยู่ในอำนาจของแคว้นมคธและเสื่อมความสำคัญลงจนถูกเมืองสาวัตถีและวัดแห่งนี้ได้ถูกทิ้งร้างไปหลังยุคกุษาณะในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ จากเมืองหลวงแห่งแคว้นเป็นชนบทเล็ก ๆ ที่ห่างไกล และสิ่งก่อสร้างถูกทิ้งกลายสภาพเป็นเนินดิน และชื่อของสาวัตถีได้ถูกลืมไปจากอินเดีย (กลายเป็นเพียงสาเหต-มาเหต โดยสาเหตเป็นที่ตั้งของซากวัดเชตวัน และมาเหตเป็นที่ตั้งของเมืองสาวัตถี)
จนมีการขุดค้นพบพุทธสถานและซากเมืองในช่วงหลัง ทำให้ปัจจุบันซากวัดแห่งนี้ได้รับการขุดค้นปรับแต่งเป็นอย่างดี ซึ่งต่างจากตัวเมืองสาวัตถีที่ไม่มีการบูรณะขุดค้นเท่าใดนัก จึงทำให้ปัจจุบันมีผู้มาจาริกแสวงบุญ ณ วัดเชตวันเป็นประจำ ปัจจุบันชาวบ้านแถบนี้เริ่มหันหลับมาเรียกตำบลแห่งนี้ว่าศราวัสตี (ภาษาสันสกฤต) เหมือนในสมัยก่อนบ้างแล้ว
ปัจจุบันวัดเชตวันมหาวิหารเหลือเพียงซากโบราณสถาน ได้รับการบูรณะจากทางราชการอินเดียเป็นอย่างดี ตั้งอยู่ทางใต้ของแม่น้ำราปติ (Rapti) หรือแม่น้ำอจิรวดีในสมัยพุทธกาล นอกกำแพงเมืองสาวัตถีไปทางทิศใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร ที่ ตำบลสะเหต (Saheth) รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย
จุดแสวงบุญและสภาพของวัดเชตวันในปัจจุบัน
สถานที่สำคัญ ๆ ที่พุทธศาสนิกชนในปัจจุบันนิยมไปนมัสการคือ พระมูลคันธกุฎี ที่ได้ทำการขุดค้นปรับแต่งเป็นอย่างดี, อานันทโพธิ์ ต้นโพธิ์ที่ปลูกโดยพระอานนท์ในสมัยพุทธกาล ต้นโพธิ์ต้นนี้ปรากฏหลักฐานในคัมภีร์และยังคงเป็นยืนต้นมาจนปัจจุบัน, หมู่กุฏิพระมหาเถระ, บ่อน้ำสรงสนานของพระพุทธองค์ เป็นต้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
วิกิพีเดีย
http://www.watsraket.com
http://www.watsraket.com/21-05-2012/520-23-05-2012
สู่แดนพระพุทธองค์อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี ( ว.ป. วีรยุทฺโธ)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น