วันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2557
สู่แดนพระพุทธองค์ ๗๒ เรื่องราวคราวครั้งพุทธกาล ๓ พระมหากัจจายนเถระ และ พระโสไรยะ
ชอขอบคุณภาพจากnitipatth.blogspot.com
พระมหากัจจายนเถระ
เอตทัคคะในทางผู้อธิบายความย่อให้พิสดาร
ท่านบุตรของติปิติวัจฉพราหมณ์ ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ในพระนครอุชเชนี แคว้นอวันตีส่วนผู้เป็นมารดาชื่อจันทนปทุมา ในวันขนานนามท่าน มารดาบิดาปรึกษากันว่าบุตรของตนนั้นมีสรีระมีผิวดั่งทอง จึงขนานนามท่านว่า กาญจนมาณพ ดังนี้
ครั้นเจริญขึ้นแล้วท่านก็ได้ศึกษาไตรเทพจนจบสิ้น ต่อมาเมื่อบิดาท่านวายชนม์แล้ว-ท่านก็ได้รับตำแหน่งปุโรหิตสืบแทนท่านบิดา โดยนามโคตรว่ากัจจายนะ
ครั้งหนึ่งพระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงประชุมเหล่าอำมาตย์แล้วมีพระราชดำรัสถามว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงบังเกิดขึ้นในโลกแล้ว จะมีผู้ใดสามารถทูลอาราธนาพระพุทธองค์มาได้ อำมาตย์ทูลว่า อาจารย์กาญจนพราหมณ์เท่านั้นที่จะเป็นผู้สามารถทูลอาราธนาพระพุทธองค์มาได้
พระเจ้าจัณฑปัชโชติจึงให้ตรัสเรียกกัจจายนะอำมาตย์มาเข้าเฝ้าและตรัสสั่งให้ท่านกัจจายนะอำมาตย์ไปยังสำนักของพระพุทธองค์และทูลอาราธนามายังกรุงอุชเชนี กัจจายนะอำมาตย์ทูลขอพรว่า ถ้าอนุญาตให้ท่านได้บวชท่านก็จะไป พระเจ้าจัณฑปัชโชติทรงให้พรตามที่กัจจายนะอำมาตย์ทูลขอ
กัจจายนอำมาตย์ จึงคัดเลือกผู้ที่จะไปทูลอาราธนาพระพุทธองค์พร้อมกับตนเพียง ๘ คน และออกเดินทาง
ครั้นเมื่อไปถึง และได้ฟังพระบรมศาสดาทรงแสดงธรรม เมื่อจบเทศนาหมู่อำมาตย์นั้นก็ได้บรรลุพระอรหันต์พร้อมทั้งปฏิสัมภิทา ทั้ง ๘ ท่าน พระบรมศาสดาทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยการเหยียดพระหัตถ์และทรงตรัสว่า เธอ จงมาเป็นภิกษุเถิด, จงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด ในทันใดนั้น ผมและหนวดของพระอรหันต์ทั้ง ๘ องค์ก็หายไป บาตร และจีวรก็บังเกิดขึ้นด้วยฤทธิ์ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอิริยาบถเหมือนพระเถระตั้งร้อยพรรษาฉะนั้น
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.dhammatalks.net/Articles/Life_of_the_Buddha_in_Pictures.htm
พระอรหันต์เถระเหล่านั้นเมื่อกิจของตนถึงที่สุดแล้วก็ไม่นั่งนิ่งอยู่เฉย กล่าวอาราธนาพระพุทธองค์เพื่อเสด็จไปกรุงอุชเชนีเหมือนที่พระกาฬุทายีเถระเคยกระทำ
พระบรมศาสดาสดับคำอาราธนาของท่านแล้วทรงพระวินิจฉัยว่า พระกัจจายนะย่อมหวังการไปของเราในชาติภูมิของตน
แต่บรรดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงอาศัยเหตุอันหนึ่ง จึงไม่เสด็จไปสู่ที่ที่ไม่สมควรเสด็จ เพราะฉะนั้นจึงตรัสแก่พระมหากัจจายนเถระว่า
"ภิกษุ ท่านนั้นแหละจงไป เมื่อท่านไปแล้ว พระราชาจักทรงเลื่อมใส"
พระมหากัจจายนเถระจึงถวายบังคมพระบรมศาสดาแล้วกลับไปกรุงอุชเชนีพร้อมกับภิกษุทั้ง ๗ รูปที่มาพร้อมกับท่านนั้น ในระหว่างทางกลับกรุงอุชเชนี ภิกษุเหล่านั้นได้เที่ยวบิณฑบาตในนิคมชื่อว่า นาลินิคม
ในนิคมนั้น มีธิดาเศรษฐี ๒ คน คนหนึ่งเกิดในตระกูลเก่าแก่เข็ญใจ เมื่อมารดาบิดาสิ้นชีพไปแล้ว ก็อาศัยเป็นนางนมเลี้ยงชีพ แต่รูปร่างของเธอนั้นบึกบึน ผมยาวเกินคนอื่น ๆ ในนิคมนั้น
และยังมีธิดาของตระกูลอิศรเศรษฐีอีกคนหนึ่ง เป็นคนไม่มีผม เมื่อก่อนนั้นมาแม้นางธิดาผู้นี้จะขอซื้อผมจากนางผมดกในราคา ๑๐๐ กหาปณะ หรือ ๑,๐๐๐ กหาปณะแก่เธอ ก็ไม่สำเร็จ
ในวันนั้น ธิดาเศรษฐีผู้มีผมดกนั้นเห็นพระมหากัจจายนเถระมีภิกษุ ๗ รูปเป็นบริวาร เดินมามีบาตรเปล่า คิดว่าภิกษุผู้เป็นเผ่าพันธุ์พราหมณ์รูปหนึ่ง มีผิวดังทองรูปนี้เดินไปบาตรเปล่า
ทรัพย์อย่างอื่นของเราก็ไม่มี แต่ว่าธิดาเศรษฐีผู้ไม่มีผมบ้านโน้นเคยส่งคนมาเพื่อต้องการซื้อผมจากเรา ตอนนี้เราอาจถวายไทยธรรมแก่พระเถระได้ด้วยทรัพย์ที่เกิดจากที่ได้ค่าผมนี้
เมื่อคิดดังนั้นแล้วจึงส่งสาวใช้ ไปนิมนต์พระเถระทั้งหลายให้นั่งภายในเรือนของตน
พอพระเถระนั่งแล้ว นางก็เข้าห้องตัดผมของตน แล้วกล่าวแก่สาวใช้ว่า เจ้าจงเอาผมเหล่านี้ให้แก่ธิดาเศรษฐีบ้านโน้น แล้วเอาของที่นางให้มา เราจะถวายบิณฑบาตแก่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย สาวใช้ ถือผมนั้นไปบ้านของธิดาเศรษฐีผู้มีผมดก
ขอขอบคุณภาพจาก http://board.palungjit.org
ธรรมดาขึ้นชื่อว่าของที่จะขายนั้น จะมีราคาก็ต่อเมื่อผู้ซื้อต้องการขอซื้อ ธิดาเศรษฐีผู้ไม่มีผมคิดว่า เมื่อก่อนเราขอซื้อด้วยทรัพย์เป็นอันมาก แต่นางก็ไม่ยอมขาย แต่บัดนี้ เมื่อนางมาเสนอขายเอง ก็ไม่ได้ตามราคาเดิม จึงให้ไป ๘ กหาปณะเท่านั้น สาวใช้นำกหาปณะไปมอบให้แก่ธิดาเศรษฐีผู้มีผมมาก
ธิดาเศรษฐีผู้มีผมดกก็จัดบิณฑบาต ๘ ที่ ให้มีค่าที่ละหนึ่งกหาปณะ ถวายแด่พระเถระทั้งหลาย
พระเถระเล็งดูด้วยฌานแล้ว เห็นอุปนิสัยของธิดาเศรษฐี จึงถามว่าธิดาเศรษฐีไปไหน
สาวใช้ตอบว่า อยู่ในห้องเจ้าค่ะ
พระเถระว่า จงไปเรียกนางมาซิ
ธิดาเศรษฐีก็มาด้วยความเคารพในพระเถระ ไหว้พระเถระแล้วเกิดศรัทธาอย่างแรง อันว่าทานอันบริสุทธิ์นั้นย่อมให้ผลในปัจจุบันชาติทีเดียว เพราะฉะนั้น พร้อมกับการไหว้พระเถระ ผมของนางจึงเกิดขึ้นดังเดิม
ฝ่ายพระเถระทั้งหลายจึงถือเอาบิณฑบาตนั้นเหาะขึ้นไปต่อหน้าธิดาเศรษฐี และเหาะลงยังพระราชอุทยานของพระเจ้าจันฑปัชโชต ชื่ออุทธยานกัญจนะ
คนเฝ้าพระราชอุทยานเห็นพระเถระนั้น จึงไปเข้าเฝ้าพระราชา กราบทูลว่า
ข้าแต่สมมติเทพ พระคุณเจ้ากัจจายะปุโรหิตของเราบวชแล้ว และกลับมายังอุทยานแล้วพระเจ้าข้า
พระเจ้าจันฑปัชโชตจึงเสด็จไปยังอุทยาน ไหว้พระเถระผู้กระทำภัตกิจแล้วด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง ตรัสถามว่า
ท่านเจ้าข้าพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหนล่ะ
พระเถระทูลว่า พระองค์มิได้เสด็จมาเอง ทรงส่งอาตมะมา มหาบพิตร
พระราชาตรัสถามว่าท่านผู้เจริญ วันนี้พระคุณเจ้าได้ภิกษา ณ ที่ไหน
พระเถระทูลบอกเรื่องที่ธิดาเศรษฐีกระทำทุกอย่างให้พระราชาทรงทราบ ตามถ้อยคำควรแก่ที่ตรัสถาม พระราชาตรัสสั่งให้จัดแจงที่อยู่แก่พระเถระ แล้วนิมนต์พระเถระไปยังนิเวศน์
แล้วรับสั่งให้ไปนำธิดาเศรษฐีมาตั้งไว้ในตำแหน่งอัครมเหสีแล้ว
พระราชาทรงกระทำสักการะใหญ่แต่พระมหากัจจายนเถระ มหาชนเลื่อมใสในธรรมกถาของพระเถระ บวชในสำนักของพระเถระ ตั้งแต่นั้นทั่วพระนครก็รุ่งเรืองด้วยผ้ากาสาวพัตรเป็นอันเดียวกัน คลาคล่ำ ไปด้วยหมู่ภิกษุ
ฝ่ายพระเทวีนั้นทรงเลื่อมใสในพระมหากัจจายนเถระอย่างยิ่ง ขอพระราชานุญาตสร้างวิหารถวายพระเถระในกัญจนราชอุทยาน
พระเถระยังชาวอุชเชนีให้เลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนาแล้ว จึงกลับไปเฝ้าพระศาสดาอีกครั้งหนึ่ง
ท่านเป็นผู้ฉลาดในการอธิบายความแห่งคำย่อให้พิสดาร
เช่นในครั้งหนึ่ง สมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงภัทเทกรัตตสูตร (ที่ได้ชื่อเช่นนี้ เพราะกล่าวถึงบุคคลผู้มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน อยู่ด้วยความไม่ประมาทว่า ผู้มีราตรีเดียวเจริญ) โดยย่อแล้ว เสด็จลุกเข้าไปสู่วิหารที่ประทับ
ภิกษุทั้งหลาย ไม่ได้โอกาสที่จะทูลถามเนื้อความ ที่พระองค์ตรัสโดยย่อ ให้เข้าใจกว้างขวาง เห็นความสามารถของท่านพระมหากัจจายนะ จึงได้อาราธนาขอให้ท่านอธิบายให้ฟัง ท่านก็อธิบายให้ฟังโดยพิสดาร แล้วจึงกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุ เราเข้าใจเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงแสดงแล้วโดยย่อ ตามความพิสดารอย่างนี้ ถ้าท่านทั้งหลายประสงค์ ก็จงเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดากราบทูลถามเนื้อความนั้นเถิด พระองค์ทรงแก้อย่างไร ก็จงจำไว้อย่างนั้น
ภิกษุเหล่านั้น ลาท่านพระมหากัจจายนะกลับมา แล้วเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา กราบทูลเนื้อความนั้นให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสสรรเสริญ พระมหากัจจายนะว่า ภิกษุทั้งหลาย กัจจายนะเป็นคนมีปัญญา ถ้าพวกเธอถามเนื้อความนั้นกะเรา แม้เราก็คงแก้ เหมือนอย่างที่กัจจายนะแก้แล้วอย่างนั้น เนื้อความแห่งธรรม ที่เราแสดงแล้วโดยย่อนั้น เป็นอย่างนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงจำไว้เถิด ด้วยเหตุนี้
ต่อมาภายหลังพระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร ทรงกระทำพระสูตร ๓ สูตร เหล่านี้คือ มธุบิณฑิกสูตร, กัจจายนเปยยาลสูตร, ปรายนสูตร ให้เป็นอรรถุปบัติเหตุ แล้วทรงยกย่องพระเถระไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้จำแนกอรรถแห่งพระดำรัสที่ทรงตรัสโดยย่อให้พิสดารแล้ว
พระมหากัจจายนเถระ เป็นหนึ่งในพระมหาเถระลำดับแรก ๆ ของพระพุทธิงค์ ซึ่งได้รับการบรรพชาโดยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา และพระพุทธองค์ทรงยกย่องให้เป็นเอตทัคคะ ทางด้านการเทศนาขยายความแห่งธรรมที่พระพุทธองค์แสดงไว้โดยย่อ ให้พิสดาร โดยพระอรรถกถาจารย์ได้พรรณาไว้ว่า ท่านสามารถทำพระดำรัสโดยย่อของพระพุทธองค์ให้บริบูรณ์ ทั้งโดยอรรถทั้งโดยพยัญชนะได้ ชื่อของท่านในพระไตรปิฎกบางแห่งพิมพ์เป็น พระมหากัจจานเถระ
พระมหากัจจายนะ นอกจากจะเกิดเรื่องของโสเรยยะแล้ว
ยังมีเรื่องพระภิกษุเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เห็นพระเถระเดินมาแต่ไกลแล้วก็พากันกล่าวว่า
“พระบรมศาสดาของพวกเราเสด็จมาแล้ว”
แล้วพากันทำความเคารพกราบไหว้ ทั้งนี้ก็เพราะท่านมีรูปลักษณ์ละม้ายกับพระผู้มีพระภาคนั้นเอง
พระเถระพิจารณาเห็นโทษเช่นนี้แล้ว จึงอธิษฐานจิตเนรมิตรร่างกายของท่านให้เปลี่ยนแปลงผิดแปลกไปจากเดิม ร่างกายที่เคยสง่างามก็ย่นย่อ ต่ำเตี้ย ท้องป่อง หมดความสวยงามดังที่พุทธศาสนิกชนนิยมสร้างรูปท่านไว้เป็นที่สักการบูชาในทุกวันนี้
ขอขอบคุณภาพจากwww.ongtep.com
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.dharma-gateway.com/monk/great_monk/pra-mahakajayana.htm
http://www.thammapedia.com/sankha/maha_kaccayana.php
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.dhammatalks.net/Articles/Life_of_the_Buddha_in_Pictures.htm
พระโสไรยะ
ครั้งเมื่อพระสัมมาสัมพุทะเจ้าประทับในกรุงสาวัตถี บุตรชายของโสไรยะ ในกรุงโสไรยนคร ได้ออกมาอาบน้ำกับเพื่อนคนหนึ่ง ในขณะเดินทางได้เห็นพระมหากัจจายนเถระ ผู้มีผิวพรรณดุจทองคำ กำลังเดินบิณฑบาตอยู่ จึงเกิดความคืดว่า
"โอหนอพระเถระรูปนี้น่าจะเป็นภรรยาของเรา หรือสีผิวของภรรยาเราน่าจะเหมือนสีผิวของพระเถระ "
ความคิดเพียงเท่านี้ปรากฏว่าเพศชายของบุตรเศรษฐีโสไรยะ นั้นได้อันตรทานหายไป เพศหญิงได้ปรากฎขึ้นแทน
เขาเกิดความละอายใจ จึงหนีไปยังเมืองตักกสิลา เมื่อนาง (บุตรชายชองเศรษฐีโสไรยะ) ไปถึงเมืองตักกสิลา บุตรชายของเศรษฐีในเมืองนั้นได้พบนางเข้า ( บุตรชายเศรษฐีโสไรยะ) ก็เกิดความสิเนหา จึงแต่งตั้งนางเป็นภรรยาของตน
หลังจากแต่งงานแล้วนางมีบุตร ๒ คน
และในครั้งที่ยังเป็นชายในโสไรยนคร (บุตรเศรษฐีโสไรยะ) มีบุตร อยู่แล้ว ๒ คน
สรุปว่า บุตรเศรษฐีโสไรยะผู้นี้ มี บุตร รวม ๔ คน ๒ คนเป็นบุตรที่อยู่ในท้อง ขณะเป็นหญิง และบุตรอีก ๒ คน เดิมเป็นบุตรที่เกิดเพราะอาศัยนาง (ขณะครั้งเป็นชาย)
ในเวลาต่อมา นางได้พบเพื่อนเก่าที่เข้ามาค้าขายที่เมืองตักกสิลา นางจำได้จึงเข้าไปถามสารทุกข์สุกดิบ
เพื่อนของนางรู้สึกงง งง อยู่ว่า นางรู้จักเขาได้อย่างไร จึงได้ไต่ถามว่านางเป็นใคร รู้จักเขาได้อย่างไร นางจึงได้เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้เพื่อนฟัง ถึงสาเหตุที่เพศกลับจากชายเป็นหญิง เพราะวันที่เราไปอาบน้ำกันในครั้งนั้น ได้พบเห็นพระมหากัจจายนะเถระ แล้วเกิดความรักอยากได้มาเป็นภรรยาของตน เพศชายของตนจึงกลายเป็นเพศหญิงอย่างที่เห็น
และนางได้ถามเพื่อนว่า ท่านพอจะมีทางแก้ไขไหม
เพื่อนเก่าของนางจึงได้บอกว่า กรรมนี้เป็นกรรมหนักในพระเถระ จะต้องขอขมาเพื่อให้พระเถระท่านยกโทษให้
ในวันนต่อมานางจึงได้ขอขมาต่อพระเถระ เพื่อให้ท่านยกโทษให้ พอพระเถระกล่าวคำว่ายกโทษให้ เพศหญิงของนางก็ได้หายไป เพศชายปรากฏขึ้นแทน
บุตรของโสไรยะเศรษฐี เกิดความสลดใจ จึงขอบวชในสำนักของพระมหากัจจายนะเถระ ในนาม "พระโสไรย"
เมื่อพระโสไรยบวชแล้ว ชาวเมืองที่ได้ยินเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับท่าน ก็พากันมาไต่ถามว่า เรื่องที่เกิดขึ้นกับท่านเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ที่ว่า ท่านมีบุตร ๒ คนที่อาศัยท่านเกิด บุตร ๒ คนเกิดในท้องของท่าน
ชาวเมืองสาวัตถีพากันมาถามท่านซ้ำ ๆ อยู่ เช่นนี้ ท่านเกิดความรำคาญใจ จึงได้เหลีกเร้นไปอยู่คนเดียว
ท่านได้ประพฤติปฏิบัติสมณธรรมจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่สุด
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺฺโธ)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น