วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2557
สู่แดนพระพุทธองค์ ๘๖ เจ้าชายนันทะแห่งศากยราช
ประติมากรรมศิลปะคันธาระตอนพระพุทธเจ้าโปรดนันทกุมาร
(ปัจจุบันประติมากรรมชิ้นนี้เก็บรักษาที่ พิพิธภัณฑ์บริติช)
ขอขอบคุณภาพจากวิกิพีเดีย
วันที่สี่ที่เสด็จนิวัติกรุงกบิลพัสดุ์
พระญาติทั้งหลายได้กระทำมงคล ๓ ประการคือ
อาภรณมงคล อภิเษกมงคล อาวาหมงคล ให้แก้เจ้าชายนันทะ (พระอนุชาต่างพระมารดาของพระพุทธองค์)
เจ้าชายนันทะ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ กับพระนางมหาปชาบดีโคตมี เมื่ออยู่ในครรภ์พระมารดา ทำให้บรรดาประยูรญาติมีความยินดีร่าเริงใจใคร่จะเห็น ด้วยเหตุนั้น เมื่อพระราชกุมารประสูติแล้ว บรรดาประยูรญาติ จึงได้ถือเอานิมิต นั้นไปถวายพระนามว่า นันทกุมาร
ในวันนั้นป็นวันที่เจ้าชายนันทะจะทรงเข้าอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงชนบทกัลยาณี โดยพระประยูรญาติได้นิมนต์พระพุทธองค์และพระสงฆ์ไปรับภัตตาหารภายในพระราชนิเวศน์
พระบรมศาสดารับนิมนต์เสด็จไปในงานมงคลนั้น พร้อมภิกษุ ๕๐๐ รูป เสวยภัตตาหาร เมื่อพระพุทธองค์เสวยภัตตาหารเสร็จได้ทรงอนุโมทนาและเสด็จกลับ ได้ประทานบาตรในพระหัตถ์แก่เจ้าชายนันทะให้ถือบาตร พระพุทธองค์ทรงทราบว่าเจ้าชายนันทะมีบารมีควรแก่อริยผล จึงทรงใช้อุบายไม่รับบาตรคืนจากเจ้าชายนันทะ เจ้าชายนันทะจึงจำต้องถือบาตรตามเสด็จกลับ
ขอขอบคุณภาพจาก www.84000.org
เจ้าหญิงชนบทกัลยาณี ทอดพระเนตรเห็นเจ้าชายนันทะเสด็จตามพระพุทธองค์ไปเช่นนั้น จึงตรัสว่า
"ขอพระลูกเจ้าจงด่วนเสด็จกลับมา" เพื่อทำพิธีอภิเษก
ทำให้เจ้าชายนันทะถือบาตรตามเสด็จด้วยความกระวนกระวายใจ ไม่อาจกราบทูลให้พระพุทธองค์รับบาตรคืน ด้วยความเคารพได้เสด็จดำเนินตามไปสู่วิหาร
เมื่อทั้งสองพระองค์เสด็จมาถึงพระคันธกุฎี ภายในนิโครธาราม
พระพุทธองค์ ตรัสถามเจ้าชายนันทะว่า "นันทะ เธอจะบวชได้หรือไม่"
เจ้าชายนันทะแม้ไม่เต็มใจที่จะผนวชแต่ด้วยความเกรงพระทัยและมีความเคารพในพระพุทธองค์มาก นันทกุมารจึงกราบทูลว่า "บวชได้พระพุทธเจ้าข้า"
พระพุทธองค์ทรงให้เจ้าชายนันทะผนวชด้วย เอหิภิกขุอุปสัมปทา
เมื่อพระพุทธองค์เสด็จกลับจากกรุงกบิลพัสดุ์ พร้อมพระภิกษุทั้งปวงรวมถึงพระภิกษุุในสกุลศายราชหลายรูป สามเณรราหุล กลับสู่กรุงสาวัตถี
แต่ตลอดเวลานับตั้งแต่บวชแล้วเป็นต้นมา พระนันทะไม่เป็นอันปฏิบัติกิจของสมณะ ใจให้รุ่มร้อนคิดจะลาสึกอยู่ท่าเดียว เพราะความคิดถึงเจ้าหญิงชนบทกัลยาณี ผู้กำลังจะเป็นเทวีแห่งนันทกุมาร พระนันทะจึงไม่มีความตั้งใจอันใดในการปฏิบัติธรรม
ความเรื่องนี้ทราบถึงพระพุทธองค์
พระบรมศาสดามีพระประสงค์จะขจัดความไม่ยินดีในการผนวชของพระนันทะ จึงพาไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ด้วยอานุภาพของพระองค์ ท้าวสักกะทราบการเสด็จจึงมาเฝ้าพร้อมหมู่นางอัปสรแวดล้อม ๕๐๐
ขอขอบคุณภาพจากwww.youtube.com
พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระนันทะว่า
ดูกรนันทะ เธอเห็นนางอัปสร ๕๐๐ เหล่านี้ผู้มีเท้าดุจนกพิราบหรือไม่
ท่านพระนันทะทูลรับว่า
เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พระพุทธอค์ ตรัสถามอีกว่า
ดูกรนันทะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน นางสากิยานีผู้ชนบทกัลยานี หรือนางอัปสร ประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้ ซึ่งมีเท้าดุจนกพิราบ ไหนหนอแลมีรูปงามกว่า น่าดูกว่า หรือน่าเลื่อมใสกว่า ฯ
พระนันทะทูลตอบว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นางลิงผู้มีอวัยวะใหญ่น้อยถูกไฟไหม้ หูและจมูกขาด ฉันใด นางสากิยานีผู้ชนบทกัลยานี ก็ฉันนั้นแล เมื่อเทียบกับนางอัปสรประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้ ย่อมไม่เข้าถึงเพียงหนึ่งเสี้ยว ไม่เข้าถึงเพียงส่วนหนึ่งของเสี้ยว ไม่เข้าถึงเพียงการเอาเข้าไปเปรียบว่าหญิงนี้เป็นเช่นนั้น ที่แท้นางอัปสรประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้มีรูปงามกว่า น่าดูกว่า และน่าเลื่อมใสกว่า พระเจ้าข้า ฯ
พระพุทธองค์ตรัสว่า
ยินดีเถิดนันทะ อภิรมย์เถิดนันทะ เราเป็นผู้รับรองเธอเพื่อให้ได้ นางอัปสรประมาณ ๕๐๐ ซึ่งมีเท้าดุจนกพิราบ ฯ
พระนันทะทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงรับรองข้าพระองค์เพื่อให้ได้นางอัปสรประ มาณ ๕๐๐ ซึ่งมีเท้าดุจนกพิราบไซร้ ข้าพระองค์จักยินดี ประพฤติพรหมจรรย์ พระเจ้าข้า ฯ
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงจับท่านพระนันทะที่แขน แล้วทรงหายจากเทวดาชั้นดาวดึงส์ไปปรากฏที่พระวิหารเชตวัน
ภิกษุทั้งหลายได้สดับข่าวว่า ท่านพระนันทะพระภาดาของพระผู้มีพระภาค โอรสของพระมาตุจฉา ประพฤติพรหมจรรย์เพราะเหตุแห่งนางอัปสร
ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเป็นผู้รับรองท่าน เพื่อให้ได้นางอัปสรประมาณ ๕๐๐ ซึ่งมีเท้าดุจนกพิราบ ฯ
ครั้งนั้นแล ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสหายของท่านพระนันทะ ร้องเรียกท่านพระนันทะด้วยวาทะว่า
เป็นลูกจ้าง
และด้วยวาทะว่าผู้อันพระผู้มีพระภาคทรงไถ่มาว่า ได้ยินว่า ท่านพระนันทะเป็นลูกจ้าง
ได้ยินว่า ท่านพระนันทะเป็นผู้ที่พระผู้มีพระภาคทรงไถ่มา ท่านประพฤติพรหมจรรย์เพราะเหตุนางอัปสร
ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้รับรองท่าน เพื่อให้ได้นางอัปสร ๕๐๐ ซึ่งมีเท้าดุจนกพิราบ ฯ
พระนันทะอึดอัดระอาจึงหลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว
จนในที่สุดท่านได้สติว่า
"ความรักไม่มีที่สิ้นสุด... ความรักทำให้เกิดความทุกข์ และความเศร้าโศกเสียใจไม่มีที่สิ้นสุด"
ท่านจึงเกิดความสลดใจและละวางความรักลงได้ ในไม่ช้าท่านก็บำเพ็ญเพียรต่อจนได้บรรลุพระอรหันต์
ขอขอบคุณภาพจาก http://www.84000.org/tipitaka/picture/f54.html
ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดาตนหนึ่งมีวรรณะงามยิ่งนัก ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระนันทะพระภาดาของพระผู้มีพระภาค โอรสของพระมาตุจฉาทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ แม้ญาณก็ได้เกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคว่า พระนันทะทำให้ แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ฯ
ครั้นพอล่วงราตรีนั้นไป ท่านพระนันทะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม แล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงรับรองข้าพระองค์เพื่อให้ได้นางอัปสร ๕๐๐ ผู้มีเท้าดุจนกพิราบ ข้าพระองค์ขอปลดเปลื้องพระผู้มีพระภาคจากการรับรองนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรนันทะ แม้เราก็กำหนดรู้ใจของเธอด้วยใจของเราว่า นันทะทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วย ปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่
แม้เทวดาก็ได้บอกเนื้อความนี้แก่เราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระนันทะพระภาดาของพระผู้มีพระภาคโอรสของพระมาตุจฉา ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่
ดูกรนันทะ เมื่อใดแล จิตของเธอหลุดพ้นแล้ว จากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น เมื่อนั้นเราพ้นแล้วจากการรับรองนี้ ฯ
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
ภิกษุใดข้ามเปือกตมคือกามได้แล้ว ย่ำยีหนามคือกามได้แล้ว ภิกษุนั้นบรรลุถึงความสิ้นโมหะย่อมไม่หวั่นไหวในเพราะสุขและทุกข์ ฯ
เมื่อท่านบรรลุธรรมแล้ว ท่านกลับกลายเป็นผู้มีความสำรวมระวังอินทรีย์สังวรเป็นอย่างมาก พระพุทธเจ้าจึงยกย่องท่านว่าเป็น ผู้เลิศในทางอินทรีย์สังวร
ขอขอบคุณข้อมูลจาก สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ)
http://www.84000.org/tipitaka/picture/f54.html
วิกิพีเดีย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น