วันพุธที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2557
กาษายะของพุทธศาสนามหายาน
พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ ๕
ครั้งทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๖
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13527
กาษายะของพุทธศาสนามหายาน
กาษายะในจีน
พุทธจักรในจีน เรียกจีวร หรือผ้ากาษายะว่า "เจียซา" (袈裟) ในสำเนียงมาตรฐานปัจจุบัน แต่ในสำเนียงจีนโบราณออกเสียงว่า "เกียซา" หรือ "กาซา" ในช่วงแรกที่พุทธศาสนาเผยแผ่เข้าสู่แผ่นดินจีนนั้น พระภิกษุครองจีวรสีแดงเป็นหลัก แต่ต่อมาคณะนิกายมีความแตกต่างหลากหมายมากขึ้นสีสันจึงมีความแตกต่างมากขึ้นดังเช่นคณะนิกายในอินเดีย อย่างไรก็ตาม ในกรณีของจีนนั้น สีของกาษายะมักแตกต่างกันโดยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ต่างๆ เป็นสำคัญ มากกว่าที่จะใช้แยกแยะความแตกต่างระหว่างคณะนิกาย โดยในแถบเจียงหนาน ทางภาคใต้ มักครองสีดำเข้ม ขณะที่แถบไคเฟิง ทางภาคกลางมักครองสีกรัก เป็นต้น
ในเวลาต่อมาสายการอุปสมบทในจีนเหลือเพียงสายที่อิงกับพระวินัยของนิกายธรรมคุปตกะเท่านั้น ดังนั้นความแตกต่างระหว่างสีกาษายะกับคณะนิกายจึงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป โดยเหตุนี้ในสมัยราชวงศ์ถังเป็นต้นมา พระภิกษุในจีนมักครองกาษายะสีเทาเหลือบดำ ผู้คนจึงเรียกพระภิกษุว่า "จืออี" (緇衣) หรือผู้ห่มผ้าดำ ซึ่งเป็นสีกาษายะของนิกายธรรมคุปตกะนั่นเอง
นอกจากสีดำแล้ว ในสมัยราชวงศ์ถังยังมีธรรมเนียมการถวายจีวรสีม่วงให้กับพระภิกษุสงฆ์ผู้ประกอบด้วยคุณงามความดีอันยอดยิ่ง โดยธรรมเนียมนี้มีที่มาจากตำนานเล่าขานเกี่ยวกับพระศาณะวาสิน ศิษย์ของพระอานนท์ ที่ถือกำเนิดมาพร้อมกับจีวร ต่อมาในแผ่นดินจีนมีเรื่องราวคล้ายคลึงกัน โดยพระภิกษุรุปหนึ่ง นามว่า ฮุ่ยเหลิง (慧稜) ถือกำเนิดมาพร้อมกับจีวรเช่นกัน แต่เป็นจีวรสีม่วง ประจวบเหมาะกับสีม่วงเป็นสีเครื่องแบบของขุนนางชั้นสูง ด้วยเหตุนี้ ตามธรรมเนียมจีนกาษายะม่วงจึงไม่เพียงแต่เป็นสัญลักษณ์ของการเกิดมาเพื่อดดำรงสมณะเพศแต่กำเนิดเท่านั้น ยังหมายถึงสมณะผู้มีคุณงามความดีความอันโดดเด่นด้วย ซึ่งการถวายจีวรสีม่วงแก่พระเถระ เกิดขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยของพระนางเจ้าอู๋เจ๋อเทียน หรือพระนางบูเช็กเทียน ในสมัยราชวงศ์ถัง
อย่างไรก็ตาม พระภิกษุที่เคร่งครัดในสมัยราชวงศ์ถังไม่ยินดีนักกับการครองกาษายะม่วง อันเป็นสัญลักษณ์ที่ยังข้องอยู่กับทางโลก กระนั้นก็ตาม เมื่อถึงสมัยราชวงศ์ซ่ง ทางการขาดแคลนรายได้อย่างหนัก ถึงกับประกาศขายกาษายะสีม่วง (หรือนัยหนึ่งคือสมณะศักดิ์) แก่พระภิกษุ หรือผู้ที่ปรารถนาจะซื้อแล้วถวายแก่พระภิกษุ ตราบนั้นเป็นต้นมา กาษายะสีม่วงจึงกลายเป็นสัญญลักษณ์ของความเสื่อมโทรมของพุทธจักร
กาษายะในเกาหลี
พุทธจักรในเกาหลีเรียกจีวรว่า กาซา หรือ คาซา (อักษรฮันจา 袈裟 อักษรฮันกึล 가사) นับตั้งแต่พุทธศาสนาเผยแพร่เข้าสู่คาบสมุทรเกาหลี การครองจีวรส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากจีน ซึ่งแตกต่างไปตามนานานิกาย อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ราชวงศ์โชซอน ( ค.ศ. ๑๓๙๒ - ๑๙๑๐) เป็นต้นมา ภิกษุส่วนใหญ่ครองกาษายะสีเทาครองสังฆาติสีแดง ต่อมาหลังการปฏิรูปพุทธศาสนาครั้งใหญ่ระหว่างปี ค.ศ ๑๙๔๗- ๑๙๖๒ พุทธจักรในเกาหลีแยกเป็น ๒ นิกาย คือนิกายแทโก (อักษรฮันจา 太古宗 อักษรฮันกึล 태고종) ซึ่งครองอุตราสงค์สีเทา หรือสีน้ำเงิน สังฆาฏิสีแดง ขณะที่นิกายโชเก (อักษรฮันจา 曹溪宗 อักษรฮันกึล 조계종) ครองอุตราสงค์สีเทา หรือสีน้ำเงิน สังฆาฏิสีกรัก
กาษายะในญี่ปุ่น
พุทธจักรในญี่ปุ่นเรียกกาษายะว่า เกสะ (袈裟) นับแต่พุทธศาสนาเผยแพร่เข้าสู่ดินแดนนี้ ลักษณะการครองและสีสันของผ้าแตกต่างกันไปตามนิกายที่มีอยู่หลากหลาย อีกทั้งยังมีการจำแนกแยกย่อยกาษายะตามคุณลักษณะการใช้งาน เช่นการครองผ้าตามวัตรปฏิบัติในชีวิตประจำวัน และการครองผ้าสำหรับงานพิธีกรรม อย่างน้อยมีการแบ่งกาษายะตามลักษณะต่างๆ ดังที่ว่านี้ ด้วยชื่อเรียกถึง ๒๐ ชื่อ
นอกจากนี้ ยังมี "วะเกสะ" หรือกาษายะครึ่งแบบ และ "ฮังเกสะ" หรือกาษายะเล็ก สำหรับอุบาสกผู้รับศีล
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่แล้วมักครองผ้าสีดำหรือสีเทาในยามปกติ นอกจากนี้ ยังรับธรรมเนียมการถวายกาษายะสีม่วงจากสมัยราชวงศ์ถังมาด้วย แต่ธรรมเนียมนี้ถูกยกเลิกไปในศตวรรษที่ ๑๗
ในรัชสมัยโชกุนตระกูลโทะกุงะวะ การประกาศยกเลิกธรรมเนียมยังผลให้พระจักพรรดิทรงขัดเคืองพระทัยอย่างหนัก ถึงกับทรงสละราชสมบัติ เมื่อพระราชาคณะชั้นสูงประท้วงคำสั่งและไม่กระทำการตามประกาศ ภายหลังเหตุการณ์ที่เป็นข้อขัดแย้งสิ้นสุด พระภิกษุส่วนหนึ่งได้ถูกทางการเนรเทศ
กาษายะในเวียดนาม
พุทธจักรในเวียดนามครองกาษายะ หรือ กาสะ (cà-sa) ใกล้เคียงกับในจีน มีสีเหลือง สีส้ม สีกรัก สีแดง
กาษายะในทิเบต
พุทธจักรในทิเบตถือตามพระวินัยของนิกายมูลสรวาสติวาท กาษายะส่วนใหญ่ของคณะนิกายต่างๆ ในทิเบตจึงมีสีแดงตามนิกายมูลสรวาสติวาท แต่ส่วนประกอบอื่นๆ มีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไปตามแต่ละนิกาย
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจากhttp://th.wikipedia.org/wiki/ไตรจีวร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น