วันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
นครกุสินารา ๓๕ พระมหากัสสปเถระ ๓
ประวัติพระกัสสปเถระ ๓
ปิปผลิ อุปสมบทด้วยวิธีโอวาท ๓ ข้อ
ปิปผลิ เดินทางไปตามลำดับ ได้พบพระผู้มีพระภาคเสด็จประทับที่ภายใต้ร่มไทร ระหว่างกรุงราชคฤห์กับนาลันทา เห็นพุทธจริยาน่าเลื่อมใสแปลกกว่านักบวชอื่น ๆ ที่ตนเคยพบมา ปลงใจเชื่อว่าต้องเป็นพระอรหันต์แน่นอน จึงน้อมกายกราบถวายบังคมแทบพระบาท กราบทูลขออุปสมบทในพระพุทธศาสนา
พระพุทธองค์ ประทานการอุปสมบทด้วยวิธีให้รับโอวาท ๓ ข้อ เรียกว่า
“โอวาทปฏิคคหณูปสัมปทา” โอวาท ๓ ข้อนั้นคือ
๑) กัสสปะ เธอพึงศึกษาว่า เราจักตั้งความละอายและความเกรงใจไว้ในภิกษุทั้งที่เป็นพระเถระผู้เฒ่า ผู้มีพรรษาปานกลาง และทั้งผู้บวชใหม่
๒) กัสสปะ เธอพึงศึกษาว่า เราจักฟังธรรม บทใดบทหนึ่งอันประกอบด้วยกุศลด้วยความตั้งใจฟังโดยเคารพ และพิจารณาจดจำเนื้อความธรรมบทนั้น
๓) กัสสปะ เธอพึงศึกษาว่า เราจะไม่ละสติไปในกาย คือ พิจารณากายเป็นอารมณ์โดยสม่ำเสมอ
ได้รับยกย่องในทางผู้ทรงธุดงค์
เมื่อท่านอุปสมบทแล้วทำความเพียรไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล หลังจากอุปสมบทได้ ๘ วัน พุทธบริษัททั้งหลายรู้จักท่านในนาม “พระมหากัสสะ” ท่านได้ช่วยรับภารธุระอบรมสั่งสอนพระภิกษุและพุทธบริษัทอื่น ๆ จนมีภิกษุเป็นบริวารจำนวนมาก ท่านมีปกติสมาทานธุดงค์ ๓ ประการ อย่างเคร่งครัด คือ
๑) ถือการนุ่งห่มบังสุกุลเป็นวัตร
๒) ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
๓) ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร
เพราะการปฏิบัติในธุดงค์คุณทั้ง ๓ ประการนี้อย่างเคร่งครัด พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง ผู้ทรงธุดงค์นอกจากนี้
พระบรมศาสดายังทรงยกย่องท่านในทางอื่น ๆ อีกหลายประการ กล่าวคือ
ครั้งหนึ่ง ท่านติดตามพระพุทธองค์ไปประทับที่ภายใต้ร่มไม้ต้นหนึ่งท่านได้พับผ้าสังฆาฏิของท่านเป็น ๔ ชั้นแล้วปูถวายให้พระพุทธองค์ประทับนั่งพระพุทธองค์ตรัสว่า
“กัสสปะ ผ้าสังฆาฏิของเธอนุ่มดี”
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์ทรงใช้สอยเถิด พระเจ้าข้า”
“กัสสปะ แล้วเธอจะใช้อะไรทำสังฆาฏิเล่า ?”
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เมื่อข้าพระองค์ได้รับจากพระองค์ ก็จะใช้เป็นสังฆาฏิ พระเจ้าข้า”
ครั้นแล้ว พระบรมศาสดาได้ประทานผ้าสังฆาฏิของพระองค์ ซึ่งเก่าคร่ำคร่าให้แก่ท่านแล้วทรงยกย่องท่านอีก ๔ ประการคือ
๑) กัสสปะ มีธรรมเป็นเครื่องอยู่เสมอด้วยตถาคต เป็นผู้มักน้อยสันโดษภิกษุทั้งหลายควรถือเป็นแบบอย่าง
๒) กัสสปะ เมื่อเธอเข้าไปใกล้ตระกูลแล้ว ชักกายและใจออกห่างประพฤติตนเป็นคนใหม่ ไม่คุ้นเคย ไม่คะนองกาย วาจา และใจ ในสกุลเป็นนิตย์ จิตไม่ข้องอยู่ในสกุลนั้น ตั้งจิตเป็นกลางว่า “ผู้ใคร่ลาภจงได้ลาภ ผู้ใคร่บุญจงได้บุญ ตนได้ลาภแล้วมีจิตเป็นฉันใด ผู้อื่นก็มีใจเป็นฉันนั้น”
๓) กัสสปะ มิจิตประกอบด้วยเมตตา กรุณา แสดงธรรมแก่ผู้อื่น
๔) ทรงแลกเปลี่ยนผ้าสังฆาฏิกับท่านไปใช้สอย ทรงสอนภิกษุให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ โดยยกพระมหากัสสปะขึ้นเป็นตัวอย่าง
ขอขอบคุณข้อมูลจากhttp://www.84000.org/one/1/18.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น