วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
นครกุสินารา ๓๗ พระมหากัสสปะเถระ ๕
พระมหากัสสปะเถระ เป็นประธานปฐมสังคายนา
ด้วยความที่ท่านเป็นผู้ยินดีในการอยู่ป่า มักน้อย สันโดษ ประวัติของท่านจึงไม่ค่อยโดดเด่นเป็นที่รู้จักกันมากนัก จวบจนสมัยที่พระบรมศาสดาปรินิพพานได้ ๗ วัน
ขณะที่ท่านกำลังเดินทางพร้อมด้วยภิกษุบริวารของท่านเพื่อไปเข้าเฝ้าประบรมศาสดา ได้ทราบข่าวจากอาชีวกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้ว ภิกษุผู้เป็นอริยบุคคลได้ปลงสังเวชส่วนภิกษุผู้เป็นปุถุชนก็เศร้าโศกร่ำไรรำพันว่า ดวงตาของโลกอันตรธานไปแล้ว
แต่มีภิกษุวัยชรานามว่า สุภัททะ พูดห้ามปรามภิกษุเหล่านั้นมิให้ร้องไห้โดยกล่าว่า
"อย่าเลย พวกเราอย่าเศร้าโศก อย่าร่ำไร เราพ้นดีแล้ว ด้วยว่ามหาสมณะคอยห้าม คอยบอกสิ่งนี้ควรแก่เธอ สิ่งนี้ไม่ควรแก่เธอ บัดนี้พวกเราจะทำสิ่งใดก็ทำได้ตามใจทั้งสิ้น "
พระมหากัสสปเถระ ได้ฟังคำของพระสุภัททะแล้วเกิดความสังเวชสลดใจว่า
“พระพุทธองค์ปรินิพพานได้เพียง ๗ วัน ยังมีผู้กล่าวจ้วงจาบล่วงเกินพระธรรมวินัยถึงเพียงนี้ ต่อไปภายหน้าก็คงจะหาผู้เคารพในพระธรรมวินัยได้ยากยิ่ง”
พระมหากัสสปเถระวางแผนในใจว่า จะชักชวนพระเถระผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นพระอรหันต์ทั้งหลายที่มีอยู่ในสมัยนั้น ล้วนทันได้เห็นพระพุทธองค์ ได้ฟังคำสอนของพระองค์มาโดยตลอด ทั้งรู้และได้อยู่ในหมู่สาวกที่คอยสนทนาตรวจสอบกันเองอยู่เสมอว่า อะไรเป็นคำสอนของพระพุทธองค์ จะชวนให้มาประชุมกัน ช่วยกันแสดง ถ่ายทอด รวบรวม ประมวล คำสั่งสอนของพระพุทธองค์ แล้วตกลงวางมติไว้ คือว่าจะทำการสังคายนา
ด้วยคำพูดของพระสุภัททะเพียงเท่านี้ หลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว ท่านได้ชักชวนพระเถระผู้เป็นพระอรหันต์ ประชุมกันทำปฐมสังคายนารวบรวมพระธรรมวินัยตั้งไว้เป็นหมวดหมู่ เป็นตัวแทนองค์พระบรมศาสดาปกครองหมู่สงฆ์ต่อไป
สาระสำคัญของปฐมสังคายนา
๑) พระมหากัสสปะเถระ เป็นประธาน มีหน้าที่ซักถามเกี่ยวกับพระธรรมวินัย
๒) พระอุบาลี เป็นผู้ชี้แจงเกี่ยวกับขอบัญญัติพระวินัย
๓) พระอานนท์ เป็นผู้ชี้แจงเกี่ยวกับพระสูตร และพระอภิธรรม
๔) กระทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา แห่งภูเขาเวภารบรรพต กรุงราชคฤห์
๕) พระเจ้าอชาตศัตรู เป็นองค์ศาสนูปถัมภ์
๖) กระทำอยู่ ๗ เดือน จึงสำเร็จ
ขอขอบคุณข้อมูลจากhttp://www.84000.org/one/1/18.html
สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น