วันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2553
ธรรมของพระพุทธเจ้า
เป็นภาพที่มีผู้ส่งต่อมาให้ ขออภัยที่ไม่ทราบว่าเป็นภาพจากท่านใดขออนุญาตใช้ภาพนี้
พลอยโพยมไปปฏิบัติธรรมที่ยุวพุทธิกสมาคม ฯ วิปัสสนากรรมฐาน กับพระวิปัสสนาจารย์พม่าหลักสูตรของพระเชมเย สยาดอ อัคคมหากัมมัฎฐานาจริยะ อาชิน ชนกาภิวงศ์ แต่พระอาจารย์ติดภารกิจ รับทอดผ่าป่าจัดที่สำนักต่างประเทศหลายแห่ง เลยมีตัวแทน คือ พระวิปัสสนาจารย์ อู โสภิตะ (พม่า ) พระวิปัสสนาจารย์ อู ปัญญานันทะ (พม่า) พระวิปัสสนาจารย์ อู ญาณรังสี (มาเลเซีย )มาแทน
ฟังภาษาพม่าและอังกฤษ มา สิบสองวัน แต่มีล่ามแปลไทยค่ะ ( แถมยอดเยี่ยมล่าม ล่ามนั้นใครๆก็แปลได้ แต่ล่ามแปลธรรมมะหาได้ยาก คนแปลต้องรู้ลึกในธรรมมะด้วย มิหนำซ้ำรู้ลึกมากจริงๆ) ที่จริงพระวิปัสสนาจารย์พม่าท่านพูดอังกฤษได้ ท่านใช้พูดในเวลาสอบอารมณ์ ตั้งคำถาม ตอบคำถาม แต่การแสดงธรรมท่านใช้ภาษาพม่า เวลาใช้คำบาลีก็จะเพี้ยนสำเนียงไทยบ้าง แต่ วิปัสสนาจารย์ฝรั่งการออกเสียงบาลี ชัดแบบภาษาไทยเรามากๆเลย
ภาษาพม่าก็ไพเราะดี รัวเร็ว มีทอดเสียงสูงท้ายประโยค น่าฟังทีเดียว
แต่เวลาสวดมนต์โดยเฉพาะให้ศีลให้พร ในวันสุดท้าย ทำนองสวดต่างจากไทยเราแถมฟังไม่ชัด กว่าจะจับเสียงได้ว่านี่ท่านกำลังให้พร ก็สวดเลยมาถึง อายุวรรโณสุขังพลัง โน่นน่ะค่ะ
ก็ขอให้ท่านน้อมรับกุศลที่พลอยโพยมไปปฏิบัติมาในคราวนี้อีกครั้งนะคะ ขอให้ท่าน อนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ รับกุศลจากพลอยโพยม กันนะคะ
การฟังธรรม พระวิปัสสนาจารย์ทั้งสามองค์ ใช้การเทศน์ที่หยิบยกมาจากพระสูตรต่างๆ เช่นเทศน์เรื่องทุกข์ เรื่องเกิด เรื่องกรรม ฯลฯ ไม่เน้นวิธีปฏิบัติเลย เป็นเรื่องธรรมล้วนๆ เลยนึกได้ว่ามีหนังสือคำแปลไทย ในบทสวดพระสูตรต่างๆ มาจากวัดนาหลวง อุดรธานี ที่ ตัวเองไปร่วมสวดมาเมื่อวันอาสาฬหบูชา ขณะที่ร่วมสวดอยู่นั้นรู้สึกว่า หากการสวดมนต์แบบรู้คำแปลไทย ให้ความรู้สึกดื่มด่ำในพระธรรมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทสวด ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร จึงขอนำมาปันสู่ เพื่อนๆ ค่ะ
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน อยู่ ทางเหนือของเมืองพาราณสี เป็นเมืองศูนย์กลางทางศาสนาของศาสนาพราหมณ์ ในสมัยพุทธกาลอยู่ใน แคว้นมคธ ชมพูทวีป (ในปัจจุบันอยู่ใน รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย)
ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แปลว่า เขตป่าอภัยทานแก่สัตว์ เป็นที่บำเพ็ญตบะของฤษี เป็นสถานที่สงบและเป็นที่ชุมนุมของเหล่าฤษีและนักพรตต่าง ๆ ที่มาบำเพ็ญตบะและโยคะเพื่อเข้าถึงพรหมมันตามความเชื่อในคัมภีร์อุปนิษัทของพราหมณ์ ทำให้เหล่าปัญจวัคคีย์ที่ปลีกตัวมาจากเจ้าชายสิทธัตถะ ภายหลังจากที่พระองค์ทรงเลิกบำเพ็ญทุกขกริยา ได้มาบำเพ็ญตบะที่นี่แทน
ในวันเพ็ญเดือนหก หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้พระอนุตระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ทรงดำริพิจารณาหาบุคคลผู้สมควรจะรับฟังพระปฐมเทศนา ในชั้นแรก พระองค์ทรงระลึกถึงอาจารย์ทั้งสองที่พระองค์เคยเข้าไปศึกษา คือ อาฬารดาบสกาลามโคตร แต่ได้ทราบว่าท่านได้ถึงแก่กรรมไปได้ ๗ วัน แล้วและอีกท่านหนึ่ง คือ อุทกดาบสรามบุตร แต่ก็ได้ทราบด้วยพระญาณ ว่าท่านเพิ่งจะสิ้นชีพไปเมื่อวันวานนี้เองต่อจากนั้น พระพุทธองค์ทรงระลึกถึง ปัญจวัคคีย์ ผู้ซึ่งเคยมีอุปการคุณแก่พระองค์เมื่อสมัยทำทุกรกิริยา และทรงทราบว่าขณะนี้ท่านทั้ง ห้า พักอาศัย อยู่ที่ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ทรงดำริดังนี้แล้ว จึงได้เสด็จพุทธดำเนินไปสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
หลังจากทรงสามารถทำให้ปัญจวัคคีย์เชื่อว่าพระองค์ได้ตรัสรู้แน่แล้วและยินยอมฟังธรรม
ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ คือวันอาสาฬหปุรณมีดิถี หรือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะอันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรกเป็นปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
(ขอใช้คำภาษาไทยแทนคำบาลี และเล่าไม่จบบทค่ะเพราะยาวมาก)
เอ วันเม สุตัง, ข้าพเจ้า (คือพระอานนท์เถระ) ได้สดับมาแล้วอย่างนี้ว่า
เอกัง สะมะยัง ภะคะวา, สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า
พาราณะสิยัง วิหะระติ อิสิปะตะเน มิคะทาเย, ประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ,
ใกล้นครพาราณสี,
ตัต์ระ โข ภะคะวา ปัญจวัคคิเย ภิกขู อามันเตสิ,
ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า , ตรัสเรียกภิกษุปัญจวัคคีย์มาแล้ว ตรัสว่า
เทว์เม ภิกขะเว อันตา,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, ที่สุดแห่งการกระทำ ๒ อย่างเหล่านี้มีอยู่ ,
ปัพพะชิเตนะ นะ เสวิตัพพา, เป็นสิ่งที่บรรพชิตไม่ควรข้องแวะเลย
โย จากัง กาเมสุ กามะสุขัลลิกานุโยโค,
นี้คือการประกอบตนพัวพันอยู่, ด้วยความใคร่ในกามทั้งหลาย,
หิโน , เป็นของต่ำทราม
คัมโน, เป็นของชาวบ้าน
โปถุชขะนิโก, เป็นของคนชั้นปุถุชน
อะนะริโย , ไม่ใช่ข้อปฏิบัติของพระอริยเจ้า ,
อะนัตถะสัญหิโต, ไม่ประกอบด้วยประโยชน์เลย , นี้อย่างหนึ่ง
โย จายัง อัตตะกิละมะถานุโยโค,
อีกอย่างหนึ่งคือ การประกอบการทรมานตนให้ลำบาก,
ทุกโข, เป็นเหตุนำมาซึ่งทุกข์,
อะนะริโย, ไม่ใช่ข้อปฏิบัติของพระอริยเจ้า,
อะนัตถะสัญหิโต, ไม่ประกอบด้วยประโยชน์เลย,
เอเต เต ภิกขเว อุโภ อันเต อะนุปะคัมมะ มัชฌิมา ปะฏิปะทา,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ,ข้อปฏิบัติเป็นทางสายกลาง ไม่เข้าไปหาที่สุดแห่งการกระทำ ๒ อย่างนั้น มีอยู่,
ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา,
เป็นข้อปฏิบัติที่ตถาคตได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว,
จักขุกะระณี, เป็นเครื่องกระทำให้เกิดจักษุ,
ญาณะกะระณี, เป็นเครื่องกระทำให้เกิดญาณ,
อุปะสะมายะ, เป็นไปเพื่อความสงบ,
อะภิญญาญะ, เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง
สัมโพธายะ, เป็นไปเพื่อความรู้พร้อม
นิพพานายะ สังวัตตะติ, เป็นไปเพื่อนิพพาน,
กะตะมา จะสา ภิกขะเว มัชฌิมา ปะฎิปะทา,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, ข้อปฏิบัติเป็นทางสายกลางนั้น, เป็นอย่างไรเล่า?
อะยะเมวะ อะริโย อัฎฐังคิโก มัคโค,
คือข้อปฏิบัติเป็นหนทางอันประเสริฐ, ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้เอง,
เสยยะถีทัง, ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ
(๑ )สัมมาทิฎฐิ, ความเห็นชอบ ( ๒ ) สัมมาสังกับโป , ความดำริชอบ (๓ )สัมมาวาจา,การพูดจาชอบ( ๔ ) สัมมากัมมันโต,การทำการงานชอบ ( ๕ ) สัมมาอาซีโว, การเลี้ยงชีวิตชอบ (๖)สัมมาวายาโม, ความพากเพียรชอบ (๗ ) สัมมาสะติ, ความระลึกชอบ (๘) สัมมาสะมาธิ,ความตั้งใจมั่นชอบ
อะยัง โข สา ภิกขะเว มัชณิมา ปะฏิปะทา,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย , นี้แล คือข้อปฏิบัติเป็นทางสายกลาง
ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา, เป็นข้อปฏิบัติที่ตถาคตได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว,
จักขุกะระณี, เป็นเครื่องกระทำให้เกิดจักษุ,
ญาณะกะระณี, เป็นเครื่องกระทำให้เกิดญาณ,
อุปะสะมายะ, เป็นไปเพื่อความสงบ,
อะภิญญาญะ, เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง,
สัมโพธายะ, เป็นไปเพื่อความรู้พร้อม,
นิพพานายะ สังวัตตะติ, เป็นไปเพื่อนิพพาน,
อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขัง อะริยะสัจจัง,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, ก็อริยสัจคือทุกข์นี้ มีอยู่คือ,
ชาติปิ ทุกขา, แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์,
ชะราปิ ทุกขา, แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์,
มะระณัมปิ ทุกขัง, แม้ความตายก็เป็นทุกข์,
โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสาปิ ทุกขา,
แม้ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจก็เป็นทุกข์,
อัปปิเยหิ สัมปะโยโค ทุกโข, ความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์,
ปิเยหิ วิปปะโยโค ทุกโข , ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์,
ยัมปิจฉัง นะ ละภะติ ตัมปิ ทุกขัง, มีความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นนั่นก็เป็นทุกข์,
สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา, ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้งห้าเป็นตัวทุกข์,
อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจัง,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย , ก็อริยสัจคือเหตุให้เกิดทุกข์นี้ มีอยู่,
ยายัง ตัณหา , นี้คือตัณหา,
โปโนพภะวิกา, อันเป็นเครื่องทำให้มีการเกิดอีก,
นันทิราคะ สะหะคะตา, อันประกอบอยู่ด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน,
ตัต์ระ ตัต์ราภินันทินี, อันเป็นเครื่องทำให้เพลินอย่างยิ่งในอารมณ์นั้นๆ,
เสยยะถีทัง, ได้แก่ ตัณหาเหล่านี้คือ,
กามะตัณหา, ตัณหาในกาม,
ภะวะตัณหา, ตัณหาในความมี ความเป็น,
วิภะวะตัณหา, ตัณหาในความไม่มี ไม่เป็น,
อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจัง,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, ก็อริยสัจ คือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นี่, มีอยู่
โย ตัสสาเยวะ ตัณหายะ อะเสสะวิราคะนิโรโธ,
นี้คือความดับสนิทเพราะจางไปแห่งตัณหา,โดยไม่มีเหลือนั้นนั่นเอง,
จาโค, เป็นความสละทิ้ง
ปะฏินิสสัคโค, เป็นความสลัดคืน,
มุตติ, เป็นความปล่อย,
อะนาละโย, เป็นความไม่มีอาลัยในตัณหานั้น,
อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจัง,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, ก็อริยสัจคือข้อปฏิบัติที่ทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นี้ มีอยู่ ,
อะยะเมวะ อะริโย อัฏฐังคิโก มัคโค,
คือข้อปฏิบัติเป็นหนทางอันประเสริฐ ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้เอง,
เสยยะถีทัง, ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ,
(๑) สัมมาทิฎฐิ,ความเห็นชอบ (๒).......(๓)...........(๘)สัมมาสะมาธิ , ความตั้งใจมั่นชอบ
อิทัง ทุกขัง อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว, ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ,
จักขุง อุทะปาาทิ, ญาณัง, อุทะปาทิ , ปัญญา อุทะปาทิ, วิชชา อุทะปาทิ , อาโลโก อุทะปาทิ,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, จักขุเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ญาณเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ปัญญาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ,วิชชาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ,แสงสว่าง เกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ในธรรมที่เราไม่เคยฟังมาแต่ก่อนว่า,
อริยสัจคือเหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างนี้ ดังนี้,
ตังโข ปะนิทัง ทุกขัง อะริยะสัจจัง ปะริญเญยยันติ
ก็อริยสัจคือทุกข์ นั้นแล เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ ดังนี้
ตัง โข ปะนิทัง ทุกขัง อริยะสัจจัง ปะริญญาตันติ
ก็อริยสัจคือทุกข์นั้นแล เรากำหนดรู้ได้แล้ว ดังนี้
อิทัง ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ,
จักขุง อุทะปาทิ, ญาณัง อุทะปาทิ, ปัญญา อุทะปาทิ, วิชชา อุทะปาทิ, อาโลโก อุทะปาทิ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, จักขุเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ญาณขึ้นแล้วแก่เรา , ปัญญาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา,วิชชาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ในธรรมที่เราไม่เคยฟังมาแต่ก่อนว่า, อริยสัจคือเหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างนี้ดังนี้,
ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจัง ปะหาตัพพันติ
ก็อริยสัจคือเหตุให้เกิดทุกข์นั้นแล เป็นสิ่งที่ควรละเสีย ดังนี้,
....…………………..
…………………….
ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนานั้น โกณฑัญญะ ได้ "ธรรมจักษุ" (ดวงตาเห็นธรรม) คือเข้าใจแจ่มแจ้ง และบรรลุเป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบัน
พระพุทธองค์ได้ทรงเปล่งอุทานว่า "อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ" แปลว่า " โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ" ด้วยพระอุทานว่า "อญฺญาสิ" ที่แปลว่า ได้รู้แล้วนั้น คำว่า "อญฺญา" จึงได้กลายมาเป็นคำนำหน้าชื่อท่านว่า "อัญญาโกณฑัญญะ" แต่บัดนั้นมา
ครั้นท่านโกณฑัญญะได้ธรรมจักษุแล้ว ก็ได้ทูลขออุปสมบท พระพุทธเจ้าก็ทรงประทานอนุญาตให้อุปสมบทด้วยวิธี "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" พระอัญญาโกณฑัญญะได้เป็นพระสงฆ์รูปแรกและเป็นปฐมสาวก
จึงทำให้ในวันนั้นมีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วันนี้ถูกเรียกว่า "วันพระธรรม" หรือ วันพระธรรมจักร อันได้แก่วันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรก และ "วันพระสงฆ์" คือวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก อีกด้วย
ในวันต่อมา
เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประทานโอวาทสั่งสอนด้วยธรรมีกถา
ในวันแรม ๑ ค่ำ พระภัททิยเถระอยู่ในโสดาปัตติผล.และประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นเอหิภิกษุรูปที่ ๒
ในวันแรม ๒ ค่ำ ทรงให้พระวัปปเถระอยู่ในโสดาปัตติผล.และประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นเอหิภิกษุรูปที่ ๓
ในวันแรม ๓ ค่ำ ทรงให้พระมหานามเถระอยู่ในโสดาปัตติผล.และประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นเอหิภิกษุรูปที่ ๔
ในวันแรม ๔ ค่ำ ทรงให้พระอัสสชิเถระอยู่ในโสดาปัตติผล.และประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นเอหิภิกษุรูปที่ ๕
อนึ่งในวันแรม ๕ ค่ำ ทรงเทศนาอนัตตลักขณสูตรคือสูตรที่แสดงลักษณะแห่งเบญจขันธ์ว่าเป็นอนัตตาความไม่มีตัวตน
เมื่อจบพระธรรมเทศนา พระภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล ด้วยกันทั้งหมด ในคราวเดียวกันซึ่ง
ปัญจะวัคคิยานัง ภิกขูนัง อะนุปาทายะ อาสะเวหิ จิตตานิ วิมุจจิงสูติ,
จิตของภิกษุปัญจวัคคีย์, ก็หลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย,เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน ดังนี้แล.. ( อนัตตลักขณสูตร)
ต่อมา เมื่อพระบรมศาสดาทรงส่งพระสาวกออกประกาศพระศาสนา พระปัญจวัคคีย์ก็ได้จาริกไปบำเพ็ญศาสนกิจในถิ่นต่างๆ เป็นกำลังสำคัญของพระพุทธศาสนา เฉพาะพระอัญญาโกณฑัญญะนั้น เป็นพระอสีติมหาสาวก ได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่าเป็นเอตทัคคะในบรรดาภิกษุผู้รัตตัญญูคือ "ผู้รู้ราตรีนาน เป็นผู้รู้ธรรมก่อนใครในพระพุทธศานาและได้บวชก่อนผู้อื่น
เมื่อพระอัญญาโกณฑัญญะเข้าสู่วัยชรามากแล้ว ท่านได้ทูลลาพระบรมศาสดาไปจำพรรษาอยู่ ณ สระฉัททันต์ ในป่าหิมพานต์ อยู่ที่นั่นได้ ๑๒ ปี จึงปรินิพพานก่อนพุทธปรินิพพาน
(พระอัญญาโกณฑัญญะได้เคยตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ
ว่าขอให้ได้บวชในศาสนาของพระพุทธเจ้าในอนาคตแล้วได้รู้แจ้งธรรมก่อนใครหมด
พระพุทธเจ้า ปทุมุตตระ ทรงตรวจดูความเป็นไปในอนาคตของท่านด้วยพระญาณแล้ว ทรงเห็นว่าความปรารถนาของท่านสำเร็จได้แน่จึงทรงพยากรณ์ว่า
ในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า พระพุทธเจ้าโคดมจักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เธอจักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระองค์ จักได้รู้แจ้งธรรมก่อนใคร และจักได้รับตำแหน่งเอตทัคคะด้านรัตตัญญู
รวมทั้งพระปัญจวัคคีย์อีกสี่ท่านนี้มีอดีตชาติร่วมกับพระอัญญาโกณฑัญญะ ตรงที่ตั้งจิตปรารถนาให้ได้ฟังพระพุทธเจ้าแสดงธรรมก่อนใคร และปรารถนาจะบรรลุอรหัตผลพร้อมกัน)
ธรรมบรรยาย โดย พระมหาทองมั่น สุทธจิตโต
พระพุทธองค์ทรงตรัสอุปมาชีวิตมนุษย์ ทุกคนที่เกิดมาไว้ เจ็ด ประการ ดังนี้
๑.ชีวิตคนเรานั้น เหมือนกับหยาดน้ำค้าง เพราะว่าหยาดน้ำค้างที่ตกลงมาในตอนกลางคืนนั้นพอรุ่งเช้า ก็จะคงอยู่ได้ไม่นาน พอตะวันขึ้น แสงแดดส่องต้องหยาดน้ำค้าง หยาดน้ำค้างก็สลายหายไป ฉันใดชีวิตของคนเรานั้นก็เหมือนกัน เกิดมาแล้วมีชีวิตที่ไม่ยั่งยืน บางคนยังไม่ทันคลอดจากท้องแม่ ก็ตายก่อนในครรภ์มารดา บางคนคลอดแล้วได้ไม่นานก็ตาย แม้จะได้เติบโตขึ้นแต่ชีวิตของเรานี้ช่างสั้นนัก
๒.ชีวิตของคนเรานั้นเหมือนตอมน้ำ
ในเวลาที่ฝนตกลงมานั้น เม็ดฝนที่ตกลงมาถูกพื้นนั้นจะมีน้ำกระเด็นขึ้นมา จะมี ฟองน้ำ ตอมน้ำเกิดขึ้น ตอมน้ำนี้ตั้งอยู่อยู่ได้ไม่นานย่อมจางหายแตกสลายไป เช่นกันกับชีวิตของคนเราที่ จะดับสูญสิ้นสุดลงได้ทุกขณะอย่างไม่ทันได้ตั้งตัวเตรียมใจ เราจึงควรต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
๓.ชีวิตคนเรานั้นเหมือนรอยไม้ขีดลงในน้ำ
เมื่อใช้ไม้ขีดลงในน้ำ มีร่องรอยของไม้ที่ขีดลงเป็นช่องว่างได้ครู่เดียวเพียงชั่วพริบตา ร่องรอยนั้นก็เลือนหายไป ผืนน้ำกลับมาสนิทติดกันเหมือนดังเดิมไม่หลงเหลือร่องรอยขีดนั้นให้เห็นอีกต่อไป
๔.ชีวิตคนเรานั้นเหมือนลำธารอันไหลมาจากภูเขา
โดยเหตุผลว่า ลำธารหรือสายน้ำที่ไหลมาจากภูเขานั้นมีแต่จะไหลงลงเพียงอย่างเดียว ไม่มีการไหลคืนกลับ ชีวิตของคนเราก็เหมือนกัน เมื่อได้เกิดขึ้นมาแล้ว ก็มีแต่จะต้องแก่ เจ็บและตาย จากไปเพียงอย่างเดียว ที่จะได้คืนกลับมาเป็นหนุ่มเป็นสาว เหมือนดังเดิมได้ไม่มี เหมือนกับสายน้ำที่ไหลงลงมาจากภูเขาที่ไหลงลงได้อย่างเดียวไม่อาจไหลย้อนกลับได้ ฉันนั้นนั่นเอง
๕. ชีวิตคนเรานั้น เหมือนกับก้อนเขฬะในปากบุรุษ
มนุษย์สามารถที่จะถ่มก้อนเขฬะ หรือน้ำลายโดยง่ายฉันใด ชีวิตของคนเราก็ดับสูญ ไปได้ง่ายดายเช่นเดียวกันกับน้ำลาย
๖.ชีวิตคนเรานั้น เหมือนชิ้นเนื้อนาบไฟ
ชิ้นเนื้อด้านที่ปิ้งนาบไฟอยู่ ก็จะถูกนาบไฟอยู่เช่นนั้น หากไม่มีคนพลิกชิ้นเนื้อด้านนั้นกลับด้าน
เนื้อด้านนาบไฟก็มีแต่จะไหม้ไป ๆ จนกระทั่งถูกเผาไหม้หมด เหลือแต่ไม้เหล็กที่ใช้เสียบชิ้นเนื้อเพียงอย่างเดียว ชีวิตคนเราก็เหมือนกัน เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องดับสูญ ต้องแก่ ต้องเจ็บและต้องตาย เป็นของธรรมดา มีแต่จะสิ้นไปหมดไปเหมือนชิ้นเนื้อนาบไฟที่ถูกไฟเผาย่างเป็นประจำ
๗.ชีวิตคนเรานั้นเหมือนโคที่เขาจะฆ่าและนำไปสู่ที่ฆ่า
โคเมื่อถูกชี้ระบุตัวแล้วว่าเป็นโคตัวที่จะต้องเอาไปฆ่า ก็มีแต่ทางไปเพียงอย่างเดียวสู่ที่ตาย การที่จะมีโอกาส ถูกผู้คนมาขอไถ่ชีวิตรอดมานั้นเป็นของเป็นไปโดยยาก มีบ้างเหมือนกันแต่เกิดได้น้อยมาก ฉะนั้นเมื่อเขาจะเอาไปฆ่าแล้ว ก็ไม่มีการได้หันกลับมีแต่เดินหน้าไปสู่สถานที่ตายเพียงอย่างเดียว
ทรงตรัสอุปมาไว้เพื่อให้เราไม่ประมาทกับชีวิต ชีวิตนี้เป็นของน้อย ไม่ใช่ของมาก
โอกาสจะสร้างคุณงามความดีก็มีน้อย ก็ขอให้เพื่อนๆ อย่าผลัดวันประกันพรุ่ง ว่าไว้โอกาสหน้าเถิด ขอให้เร่งสร้างแต่ในปัจจุบันวันนี้กันนะคะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น