วันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2553
เบญจขันธ์ หรือ ขันธ์ห้า
เป็นภาพที่มีผู้ส่งมาให้ ขออภัยที่ไม่ทราบที่มา และขออนุญาตใช้ภาพนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เธอจงมองดูโลกนี้โดยความเป็นของว่างเปล่า
.......มีสติอยู่ทุกเมื่อ……..
ถอนอัตตานุทิฏฐิ คือ ความยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวตนเสีย
ด้วยประการฉะนี้
เธอจะเบาสบาย คลายทุกข์ คลายกังวล
ไม่มีความสุขใดยิ่งไปกว่าการปล่อยวาง
......และการสำรวมตนอยู่ในธรรม....
เบญจขันธ์ หรือขันธ์ห้า
ที่เป็นหัวใจใน อนัตตลักขณสูตร ที่ทำให้พระโสดาบัน ปัญจวัคคีย์ ได้ บรรลุ อรหัตผล คืออะไร
ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ มี ห้าขันธ์ เท่ากัน ไม่ว่าหญิงหรือชาย ไทยหรือเทศ
ขันธ์ห้านี้ได้แก่
๑. รูปขันธ์ กองรูป คือ กายทั้งหมด ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า
๒. เวทนาขันธ์ ความรู้สึกหรือเสวยอารมณ์
มีสุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา
มีเวทนา ๕ คือ สุขกาย สุขใจ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ อุเบกขาเวทนา สุขอิงอามิส ไม่อิงอามิส ทุกข์อิงอามิส หรือไม่อิงอามิส
เวทนา จึงเรียกว่าความรู้สึก
๓. สัญญาขันธ์ คือความจำได้ หมายรู้
สัญญาจำได้ จำสี จำเสียง จำกลิ่น จำรส จำสัมผัส จำอารมณ์ สัญญาความจำที่เรียนหนังสือมาจนจบ นั่นคือรู้จำอย่างสัญญา
๔. สังขารขันธ์ รู้คิดปรุงแต่ง คิดดี คิดไม่ดี คิดไปหาบุญ คิดไปทางบาป
สังขารนี้ปรุงให้ไปทำดี เรียกว่าปุญญาภิสังขาร
ปรุงแต่งให้ไปทำบาปเรียก อปุญญาภิสังขาร
ปรุงแต่งคิดไป ฌาน เรียกว่า อเนญชาภิสังขาร
เจตสิกมี ๕๒ ตัว เป็นเวทนาเจตสิก ๑ สัญญาเจตสิก ๑
ฉะนั้นในสังขารจึงมีเจตสิกอยู่ ๕๐ ตัว ทำให้ปรุงแต่งไปต่างๆนานา
เวทนา สัญญา สังขาร จึงเรียกว่า เจตสิกขันธ์ ๓
๕ .วิญญาณขันธ์ จิตนั้นโดยสภาวะต้องอาศัย เจตสิก เข้าไปปรุงแต่งให้แปรไปเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง
ที่เรียกว่าวิญญาณขันธ์ หมายถึงจิตที่ทำหน้าที่รับรู้ในทวารทั้ง หก มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ทั้ง ๕ ขันธ์ นี้ ย่อลงมาได้สอง คือ รูป กับนาม คือ
รูปขันธ์ ๑
ส่วนนาม คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ๔ ขันธ์
ในนาม ขันธ์ ๔ นี้ เป็น เจตสิกขันธ์ ๓ เป็น จิต ๑ รวมเป็น ๔ ขันธ์
คำนาม หรือจิต เป็นสภาพที่รู้อารมณ์ จำอารมณ์ คิดอารมณ์ เก็บอารมณ์ จิตทำหน้าที่หลายอย่าง จึงมีชื่อแทนคำว่า จิต เข่น
ธรรมชาติใดย่อมคิด ธรรมชาตินั้น เรียกว่า จิต
ธรรมชาติใดที่น้อมไปหาอารมณ์ ธรรมชาตินั้น เรียกว่า มโน
ธรรมชาติใดที่มีฉันทะในใจ ธรรมชาตินั้น เรียกว่า มนัส
ธรรมชาติใดที่รู้แจ้งในอารมณ์ ๖ ธรรมชาตินั้น เรียกว่า วิญญาณ
จิตเป็นธรรมชาติที่ผ่องใส เรียกว่า ปัณฑระ
มนะนั่นเองเป็นอายตนะ เรียกว่า มนายตนะ
มนะนั่นเองเป็นอินทรีย์ เรียกว่า มินินทรีย์
มนะนั่นเองเป็นธาตุ เรียกว่า วิญญาณธาตุ
วิญญาณนั่นเองเป็นขันธ์ เรียกว่า วิญญาณขันธ์
จิต นั่นแหละ เป็นที่รวมของอารมณ์ เรียกว่า หทัย
ฉะนั้น จิต จึงต้องเรียกเปลี่ยนไปตามหน้าที่ เมื่อทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ทางทวารทั้ง หก คือ
ทางตา เรียกว่า จักขุวิญญาณเกิด
ไปรับรู้ทางหู เรียกว่า โสตวิญญาณเกิด
ไปรับรู้ทางจมูก เรียกว่า ฆานะวิญญาณเกิด
ไปรับรู้อารมรณ์ทางลิ้น เรียกว่า ชิวหาวิญญาณเกิด
ไปทำหน้าที่รับรู้ทางกาย ก็เรียกว่า กายวิญญาณเกิด
ไปรับรู้ทางใจ ก็เรียกว่า มโนวิญญาณเกิด
วิญญาณ จะใช้เรียกขณะจิตไปเกิดใหม่ เรียกว่า ปฏิสนธิวิญญาณ
จิต นี้จะมีลักษณะ
๑. อสรีรัง ไม่มีรูปร่าง ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี แต่มีพลังงานสูง
๒. เอกจรัง เกิดดับทีละดวง จิตจึงรับรู้ทีละหนึ่ง
๓. ทูรังคมัง ท่องเที่ยวไปดวงเดียว
๔. คูหาสยัง อาศัยอยู่ในกายคือถ้ำ มีหทัยวัตถุหมายถึงรูปหัวใจ
ธรรมชาติของจิตเป็นสิ่งที่
พันธนัง ดิ้นรนแส่ไปหากามคุณอารมณ์ คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส
จปรัง กวัดแกว่งไม่คงที่
ทุรักขัง รักษายาก ที่จะให้อยู่กับความดี
ทุนนิวารยัง ห้ามยาก ห้ามจิตจากความคิดชั่ว คิดผิด ที่เป็นบาปกุศล
และ จิต นี้
พุททสัง เห็นได้ยาก
สุนัปปนัง ละเอียดอ่อนยิ่งนัก
ลหุโน เป็นธรรมชาติที่เบา
เพราะเหตุนี้จึงจำเป็นต้อง พัฒนาจิต ฝึกจิต อบรมจิต
จิตตํ ทนฺติ สุขาวหํ , จิตที่ฝึกดีแล้วจะนำสุขมาให้
จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว
การเจริญสติปัฏฐานสี่ เป็นการนำเอารูปนาม ขันธ์ห้า นี้มาเป็นอารมณ์ เป็นฐานที่ตั้งสติกำหนด
คือ
ฐานกาย เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ฐานเวทนา เรียกว่า เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ฐานจิต เรียกว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
และธรรม เป็นฐาน เรียกว่า ธรรมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการกำหนดรู้อาการของ รูป นาม เป็นเหตุ เป็นผล ให้เกิด วิปัสสนาญาณ ในทุกขณะที่กำหนดได้ ขันธ์ห้า เกิดแล้ว ก็ดับ
สรุปขันธ์ห้า ง่ายๆ คือ
๑. รูปขันธ์ คือร่างกาย
๒. เวทนาขันธ์ รู้สึกเสวยอารมณ์
๓. สัญญาขันธ์ รู้จำ จำอารมณ์
๔. สังขารขันธ์ รู้คิด
๕. วิญญาณขันธ์ รู้จัก
ดังนั้น ทุกคน จึงมีขันธ์ห้า เท่ากัน ทุกคน ใช่ไหมคะ
อนัตตลักขณสูตร
เอ วันเม สุตัง, ข้าพเจ้า (คือพระอานนท์เถระ) ได้สดับมาแล้วอย่างนี้ว่า,
เอกัง สะมะยัง ภะคะวา, สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า,
พาราณะสิยัง วิหะระติ อิสิปะตะเน มิคะทาเย, ประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ,
ใกล้นครพาราณสี,
ตัต์ระ โข ภะคะวา ปัญจวัคคิเย ภิกขู อามันเตสิ,
ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า , ตรัสเรียกภิกษุปัญจวัคคีย์มาแล้ว ตรัสว่า,
รูปัง ภิกขะเว อะนัตตา, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปมิใช่ตัวตน,
รูปัญจะ หิทัง ภิกขะเว อัตตา อะภะวิสสะ,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าหากว่ารูปนี้จักเป็นตัวตนแล้วไซร้,
นะ ยิทัง รูปัง อาพาธายะ สังวัตเตยยะ,
รูปนี้จะไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ,
สัพเภถะ จะ รูเป เอวัง เม รูปัง โหตุ เอวัง เม รูปัง มา อะโหสีติ,
ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนาในรูปว่า, ขอรูปของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด, อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย,
ยัส์มา จะ โข ภิกขะเว รูปัง อะนัตตา, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะเหตุที่รูปมิใช่ตัวตน,
ตัส์มา รูปัง อาพาธายะ สังวัตตะติ, ฉะนั้นรูปจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ,
นะจะ สัพภะติ รูเป เอวัง เม รูปัง โหตุ, เอวัง เม รูปัง มา อะโหสีติ,
และไม่ได้ตามปรารถนาในรูปว่า ขอรูปของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด, อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย,
เวทะนา อะนัตตา เวทนามิใช่ตัวตน,
เวทะนา จะ หิทัง ภิกขะเว อัตตา อะภะวิสสะ, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าหากว่าเวทนานี้ จักเป็นตัวตนแล้วไซร้,
................
................
(ในพระสูตรนี้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสถาม พระปัญจวัคคีย์ ว่า
ภิกษุ ทั้งหลาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง
พระปัญจวัคคีย์ทูลตอบว่า ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า
พระพุทธองค์ ทรงรับสั่งต่อไปว่า ก็สิ่งใดที่มีความไม่เที่ยง มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา เป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า
พระปัญจวัคคีย์ ทูลตอบว่า เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า
พระพุทธองค์ทรงรับสั่งต่อไปอีกว่า ก็สิ่งใดมีความไม่เที่ยง ต้องแปรปรวนไปเป็นธรรมดา เป็น ทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้ ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า, นั่นของเรา , นั่นเป็นเรา นั่นตัวตนของเรา
พระปัญจวัคคีย์ ทูลตอบว่า ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า
พระพุทธองค์ ทรงสรุปว่า ด้วยเหตุนั้น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เป็น อดีต ปัจจุบัน อนาคต, ภายใน ภายนอก, หยาบ ละเอียด ,เลว ประณีต ,ใกล้หรือไกล ก็สักแต่ว่าเป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เท่านั้น นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เป็นเรา นั่นมิใช่ตัวตนของเรา)
................
................
เอวัง ปัสสัง ภิกขะเว สุต์วา อะริยะสาวะโก,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วเห็นอยู่อย่างนี้,
รูปัส์มิงปิ นิพพินทะติ, ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป,
เวทะนายะปิ นิพพินทะติ, ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา,
สัญญายะปิ นิพพินทะติ , ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา,
สังขาเรสุปิ นิพพินทะติ, ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสังขาร,
วิญญาณัส์มิงปิ นิพพินทะติ, ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ,
นิพพินทัง วิรัชชะติ, เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด,
วิราคา วิมุจจะติ , เพราะคลายกำหนัด จิตจึงหลุดพ้น,
วิมุตตัส์มิง วิมุตตะมีติ ญาณัง โหติ,
เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว, ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว,
ขีณา ชาติ วุสิตัง พ์รห์มะจะริยัง,
ย่อมรู้ขัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว,
กะตัง กะระณียัง นาปะรัง อิตถัตตายาติ ปะชานาตีติ,
กิจที่ควรทำ ได้ทำสำเร็จแล้ว,กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี,
อิทะมะโวจะ ภะคะวา,
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระสูตรนี้จบลงแล้ว,
อัตตะมะนา ปัญจะวัคคิยา ภิกขุ ภะคะวะโต ภาสิตัง อะภินันทุง,
ภิกษุปัญจวัคคีย์ มีใจยินดี,ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า,
อิมัส์มิญจะ ปะนะ เวยยากะระณัส์มิง ภัญญะมาเน,
ก็แล เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสภาษิตนี้อยู่
ปัญจะวัคคิยานัง ภิกขูนัง อะนุปาทายะ อาสะเวหิ, จิตตานิ วิมุจจิงสูติ,
จิตของภิกษุปัญจวัคคีย์, ก็หลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย,เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน ดังนี้แล
เพราะปัญจวัคคีย์ เคยเจริญสมถภาวนามาก่อน เมื่อ ยกจิตขึ้นสู่ วิปัสสนา กำหนดรู้ใน ขันธ์ห้า รูป-นาม จนเห็นพระไตรลักษณ์อย่างชัดเจน เกิด วิปัสสนาญาณ จึงสามารถทำลายกิเลศ ตัณหา อุปาทาน ให้หมดสิ้นไป
พระสูตร หรือพระธรรมเทศนา ที่ขึ้นต้นว่า เอ วันเม สุตัง คือธรรมที่พระพุทธเจ้าได้เล่าประทานให้พระอานนท์ฟัง ตามที่พระอานนท์ได้ทูลขอพรไว้ ๘ ข้อ และนี่เป็นข้อที่ ๘ ในการรับหน้าที่ พุทธอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้า
(พรข้อที่๘ คือ ถ้าพระองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาอันใดในที่ลับหลังข้าพระองค์จักเสด็จมาตรัสบอกพระธรรมเทศนานั้นแก่ข้าพระองค์อีก
เมื่อข้าพระองค์ได้รับพร ๘ ประการนี้ แหละจึงจักเป็นพุทธุปัฏฐากของพระองค์)
พระอานนท์ เป็นสหชาติและพุทธอุปัฏฐากของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะผู้เลิศกว่าพระสาวกอื่นถึง ๕ ประการ
๑. มีสติ รอบคอบ
๒. มีคติ คือความทรงจำแม่นยำ
๓. มีความเพียรดี
๔. เป็นพหูสูต
๕. เป็นยอดของภิกษุผู้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า
และที่เป็นพหูสูต เนื่องจากเป็นผู้ทรงจำพระสูตรที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ และเป็นผู้ที่สาธยายพระสูตร จนทำให้ปฐมสังคายนาสำเร็จเรียบร้อย
ปัจฉิมพุทโธวาทปาฐะ
หันทะทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิ โว,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้, เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า,
วะยะธัมมา สังขารา,
สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา,
อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ,
ท่านทั้งหลาย จงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด,
อะยัง ตะถาคะตัสสะ ปัจฉิมา วาจา,
นี้เป็นพระวาจามีในครั้งสุดท้ายของพระตถาคตเจ้า
ที่มา ขันธ์ห้า จาก ธรรมบรรยายของท่านอาจารย์เรณู ทัศณรงค์
หมายเหตุ (เพิ่มเติม)
พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
อนิจจัง คือ ความไม่เที่ยง
ทุกขัง คือ สภาพที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้
อนัตตา คือ ความไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่สิ่งของ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น