วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
เรื่องของพระเจ้าอโศกมหาราช ๒
พระราชาอโศกรับสั่งให้อำมาตย์ไปนิมนต์สามเณรเข้ามาในพระราชนิเวศน์เพื่อถวายบิณฑบาต ทรงน้อมถวายอาหารทุกชนิดที่ีเตรียมไว้สำหรับพระองค์
สามเณรรับอาหารบิณฑบาตแต่พอยังอัตภาพให้เป็นไป ในที่สุดภัตกิจ
พระราชาตรัสถามว่า
พ่อเณรรู้พระโอวาท ที่พระศาสดาทรงประทานแก่พวกพ่อเณรบ้างไหม
สามเณรตอบว่า มหาบพิตร อาตมภาพย่อมรู้โดยเอกเทศ (บางส่วน) เท่านั้น
พระราชารับสั่งว่า พ่อเณร ขอจงแสดงโอวาทในส่วนที่พ่อเณรรู้นั้น แก่โยมบ้าง
นิโครธสามเณรได้แสดง อัปปมาทวรรค ในขุททนิกาย ธรรมบท ถวายพระราชา ว่า
ความไม่ประมาท เป็นทางไม่ตาย
ความประมาท เป็นทางแห่งความตาย
พระราชาทรงพอพระทัย เกิดความเลื่อมใสอย่างยิ่งในสามเณร สามเณรอนุโมทนาแล้ว
พระราชารับสั่งว่า
พ่อเณร โยมจะถวายธุวภัต (ภัตที่ถวายเป็นประจำ) แก่พ่อเณร
สามเณร ถวายพระพรว่า อาตมภาพจักถวายภัตเหล่านั้นแก่ภิกษุสงฆ์
พระราชาตรัสถามว่า พ่อเณร ผู้ที่ชื่อภิกษุสงฆ์ ได้แก่บุคคลเช่นไร
สามเณรทูลตอบว่า มหาบพิตร บรรพชาและอุปสมบทของอาตมภาพอาศัยหมู่ภิกษุใด หมู่ภิกษุนั้น ชื่อว่าภิกษุสงฆ์
พระราชาจึงปวารณาถวายนิตยภัตแก่ภิกษุสงฆ์ในพระราขนิเวศน์ รับสั่งให้เลิกบริจาคภัตแก่เหล่านักบวชนอกศาสนาทั้งสิ้น
สามเณรยังพระราชาพร้อมทั้งบริษัทให้รับ ไตรสรณคมม์ และเบญจศีล ดำรงมั่นอยู่ในพระพุทธศาสนา
ขอขอบคุณข้อมูลจากพระพุทธกิจ ๔๕ พรรษา สุรีย์ มีผลกิจ-วิเชียร มีผลกิจ
วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
เรื่องของพระเจ้าอโศกมหาราช ๑
กาลล่วงผ่านไปจนถึงสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช ในคัมภีร์มหาวงศ์กล่าวไว้ว่า
พระเจ้าอโศก มีพระอนุชาร่วมพระมารดา (พระนางธรรมา) นามว่า ติสสะ เมื่อเจิญวัยพระราชบิดา พระเจ้าพินทุสาร ทรงแต่งตั้งให้เป็นอุปราชครองแคว้นอวันตี มีกรุงอุชเชนีเป็นเมืองหลวง หลังจากพระราชบิดาสวรรคต จึงเสด็จกลับมายังปาฏาลีบุตร ดำรงตำแหน่งพระราชา ทรงรับสังให้สำเร็จโทษพระอนุชาต่างมารดาทั้งปวง ยกเว้นติสสกุมารซึ่งเป็๋นพระอนุชาร่วมพระมารดาแต่ผูเดียว
เมื่อพระเจ้าอโศกขึ้นครองราชย์ ๔ ปี จึงกระทำการราชาภิเษก ทรงตั้งติสสกุมารในตำแหน่งอุปราช ระยะแรกที่ขึ้นครองราชย์ พระเจ้าอโศกทรงบริจาคทานแก่เหล่าพราหมณ์ และปริพาชกตามที่พระราชบิดาเคยกระทำมา
วันหนึ่งพระราชาประทับยืนอยู่ที่สีหบัญชร ทอดพระเนตรเห็นนักบวชเหล่านั้นบริโภคอาหารด้วยมารยาทไม่เรียบร้อย ไม่มีความสำรวมอินทรีย์ จึงรับสั่งให้เชิญนักบวชเหล่านั้นเข้ามาในพระราชนิเวศน์ พระราชาทอดพระเนตรเห็นกิริยาที่นั่งนั้นแล้ว ทรงทราบได้ว่านักบวชเหล่านั้นไม่ทีธรรมะเป็นสาระใด ๆ เลย พระราชาจึงถวายของที่ควรแก่การบริโภคแก่นักบวชเหล่านั้นแล้วส่งกลับไป
เวลาล่วงไป วันหนึ่ง ขณะประทับอยู่บนปราสาท พระราชาทอดพระเนตรเห็นสามเณรรูปหนึ่ง มีกิริยามารยาทเรียบร้อย มีอินทรีย์สงบ สมบูรณ์ด้วยอิริยาบท กำลังเดินผ่านไปทางลานหลวง ทรงพอพระทัย ดำริว่าสามเณรน้อยนี้ น่าจักมีโลกุตตรธรรมแน่นอน ทรงบังเกิดความเลื่อมใสและความรักในสามเณร สมจริงดังคำพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
ความรักย่อมเกิดเพราะเหตุ ๒ ประการคือ
เพราะการอยู่ร่วมกันในภพก่อน ๑
เพราะการเกื้อกูลกันในปัจจุบัน ๑
สามเณรรูปนั้นคือ นิโครธสามเณร โอรสของสุมนราชกุมาร ราชบุตรองค์โตของพระเจ้าพินทุสารกับพระันางสุมนา ที่พระเจ้าอโศกสั่งประหารก่อนขึ้นครองราชย์ พระมหาวรุณเถระให้บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ ๗ ขวบล ซึ่งได้สำเร็จอรหัตตผลในขณะที่กำลังปลงผม
ขอขอบคุณข้อมูลจากพระพุทธกิจ ๔๕ พรรษา สุรีย์ มีผลกิจ-วิเชียร มีผลกิจ
วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
พระมหากัสสปเถระนิพพาน
พระมหากัสสปะนิพพาน
เมื่อสำเร็จการปฐมสังคายนาแล้ว พระมหากัสสปเถระก็พักอยู่ในเวฬุวนาราม ปฏิบัติธรรมอยู่มิได้ประมาท ให้โอวาทสั่งสอนภิกษุทั้งหลาย ซึ่งเป็นศิษยานุศิษย์
อยู่มาวันหนึ่ง พระมหากัสสปเถระเข้าฌานสมาบัติ จึงพิจารณาอายุสังขารของท่านเห็นว่าแก่ชรา มีอายุได้ ๑๒๐ ปีแล้ว เล็งแลดูไปก็เห็นว่าอายุของท่านสิ้นแล้ว พรุ่งนี้ท่านจะนิพพาน และจะนิพพานในระหว่างภูเขากุกกุฏสัมปาตบรรพตใกล้เมืองราชคฤห์
ครั้นรุ่งเช้าพระมหาเถระจึงให้ประชุมสงฆ์ แล้วสั่งสอนว่า อย่าประมาท อุตส่าห์พยายามอย่าให้ขาดเวลา จงปฎิบัติตามคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา ตัวท่านนั้นสิ้นอายุแล้ว จะนิพพาน ณ เพลาเย็นวันนี้แล้ว
บรรดาพระภิกษุที่เป็นปุถุชน ได้ฟังก็พากันเศร้าโศกร้องไห้ บรรดาพระขีณาสพทั้งหลายครั้นแจ้งเหตุ ต่างก็ปลงสังเวชว่า เกิดมาเป็นสัตว์สังขารแล้ว มีแต่จะสูญสิ้นไปเป็นที่สุด เกิดแล้วดับไป ถ้าแม้นระงับสังขารลงเสียได้ แล้วนั่นแหละจึงจะเป็นสุข
ฝ่ายพระมหาเถระเห็นดังนั้น จึงได้ประโลมปลอบว่า อันเกิดมาเป็นสังขารแล้วไม่เที่ยงแท้ ย่อมปรวนแปรไปมา พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ได้ตรัสในอดีต อนาคต และปัจจุบันนั้น ย่อมเทศนาไว้ทุก ๆ พระองค์ว่า เกิดมาเป็นสัตว์เป็นสังขารแล้ว ไม่แคล้วอนิจจังเลย เมื่อเห็นชัดฉะนี้แล้ว พึงเร่งกระทำเพียรพยายาม ยกตนให้พ้นอนิจจังให้จงได้ อันพระยามัจจุราชนี้ไซร้ ยากที่บุคคลจะข้ามพ้น เว้นไว้แต่พระอริยบุคคลที่ท่านสำเร็จพระนิพพาน อนึ่ง เล่าพระภิกษุทั้งหลาย จะใคร่เห็นเราในขณะเมื่อเข้าสู่นิพพาน จงไปประชุมอยู่แทบเชิงเขากุกกุฎปาตบรรพตนั้นเถิด
พระมหาเถระบอกเล่าพระสงฆ์ฉะนี้แล้ว เพลานั้นเล่าก็ควรจะบิณฑบาต ท่านจึงออกจากเวฬุวนาราม เพื่อไปบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ เมื่อบิณฑบาตเสร็จแล้ว กลับมาสู่ที่กระทำภัตตกิจ
เมื่อกระทำภัตตกิจเสร็จแล้วจึงดำริว่า พระเจ้าอชาตศัตรูมีอุปการะแก่ท่านเป็นอันมาก มีศรัทธาบริจาคจตุปัจจัยถวายพระสงฆ์มิได้ขาด เคารพนบนอบในพระรัตนตรัย ช่วยท่านในการปฐมสังคายนา จำท่านจะไปบอกเล่า ให้พระเจ้าอชาตศัตรูรู้ก่อนจึงจะสมควร คิดแล้วท่านจึงเข้าไปในเมืองราชคฤห์
เมื่อเวลาเที่ยงนั้นพระเจ้าอชาตศัตรูบรรทมอยู่ ท่านจึงได้แจ้งแก่บรรดาอำมาตย์ทั้งหลายว่า ท่านประสงค์จะมาลาพระเจ้าอชาตศัตรู เพื่อเข้าสู่พระนิพพานในเวลาเย็นวันนี้
จากนั้นท่านก็กลับสู่เวฬุวนาราม วัตรปฎิบัติสิ่งใดที่ควรจะกระทำ ท่านก็ทำเสร็จทุกประการ แล้วจึงจากเวฬุวันพร้อมพระสงฆ์เป็นอันมาก เดินทางไปยังกุกกุฏบรรพต ไปถึงเมื่อเวลาเย็น แล้วท่านก็แสดงปาฎิหาริย์ต่าง ๆ พลางเทศนาโปรดมหาชนทั้งปวง ให้ลุล่วงเข้าสู่อริยภูมิเป็นอันมาก
จากนั้นท่านได้อำลาพระสงฆ์ทั้งหลายว่า ให้อุตสาห์เจริญสมณธรรม อย่าประมาทในคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา เราจะลาท่านทั้งหลายเข้าสู่พระนิพพานแล้ว จากนั้นท่านจึงเข้าไปสู่ระหว่างภูเขาทั้งสามลูก คิดอยู่ในใจว่าท่านจะนิพพานในปีนี้ แล้วพระมหาเถระจึงขึ้นสู่ที่ไสยาสน์ นั่งพับพะแนงเชิง เข้าสู่ผลสมาบัติ
เมื่อออกจากผลสมาบัติแล้ว จึงตั้งอธิฐานไว้ว่า ถ้าแหละท่านดับสูญสิ้นอายุสังขาร เข้าสูนิพพานแล้วเมื่อใด ภูเขาทั้งสามลูกนี้จงมาประชุมกันเป็นลูกเดียว ให้ปรากฏเป็นห้องหับอยู่ภายในภูผา อุปมาดังห้องที่ไสยาสน์
เมื่อพระเจ้าอชชาตศัตรูมาทรงกระทำสักการะ ก็ขอให้ภูเขาทั้ง ๓ ลูกนี้เปิดออก เพื่อให้พระเจ้าอชาตศัตรูได้ทอดพระเนตร จากนั้นขอจงกลับปิดดังเดิม
พระมหาเถระได้ตั้งอธิฐานอีกว่า ตั้งแต่บัดนี้ไป มนุษย์ทั้งหลายอายุจะน้อยถอยลงทุกที ตราบเท่าถึง ๑๐ ปี อายุขัย กาลครั้งนั้นจะเกิดการฆ่าฟันกันตาย เกิดมิคสัญญี มนุษย์ทั้งหลายเห็นกันสำคัญว่าเป็นเนื้อ ต่างเข้าไล่ฆ่าฟันกันตายจนสิ้นสุด ยังเหลืออยู่แต่มนุษย์ ที่หนีไปหลบซ่อนอยู่ผู้เดียว จึงอยู่ได้ ครั้งต่อมาบรรดาผู้ที่หลบซ่อนนั้น ออกมาพบกันบังเกิดเมตตาต่อกัน ประพฤติแต่สุจริตธรรม เมื่อสืบเชื้อสายกันต่อมา ก็มีอายุเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ จนถึงอสงไขยเป็นที่สุด คนทั้งหลายก็ประมาทมิได้ประพฤติธรรม อายุก็ลดน้อยถอยลงจนเหลือ ๘ หมื่นปี
ในกาลครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่าพระเมตไตรย พระองค์จะเสด็จมา ณ ที่นี้ แล้วตรัสบอกแก่พระสงฆ์ว่า ท่านผู้นี้เป็นสาวกผู้ใหญ่ในศาสนาพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า มีนามปรากฏว่า อริยกัสสปเถระ ถือธุดงค์ได้สิ้นทั้ง ๑๓ ประการ ตราบเท่าสิ้นชีวิตของท่านคือ ถือบังสุกุลิกธุดงค์ เตจีวริกธุดงค์ บิณฑบาติกาธุดงค์ สัปปทานจาริกธุดงค์ เอกาสนิกธุดงค์ ปัตตบินฑิกธุดงค์ ขลุปัจฉาภัตติกธุดงค์ อารัญญิกธุดงค์ รุกขมลิกธุดงค์ อัพโภกาสิกธุดงค์ โสสานิกธุดงค์ ยถาลันตติกธุดงค์ เนสัชชิกธุดงค์ ตั้งแต่วันอุปสมบทมา ตราบเท่าถึงวันเข้าพระนิพพาน
พระศรีอริยเมตไตร ซึ่งพระองค์จะพาหมู่ภิกษุสงฆ์มายังภูเขากุกกุฏสัมปาตบรรพตแล้ว ยกสรีระของพระเถระวางบนพระหัตถ์ขวาชูขึ้นประกาศสรรเสริญคุณของพระเถระแล้ว เตโชธาตุก็จะเกิดขึ้นเผาสรีระของท่านบนฝ่าพระหัตถ์ของพระศรีอริยเมตไตรพุทธเจ้านั้น จากนั้นเพลิงก็จักบันดาลลุกโพลงขึ้นเอง เผาผลาญสรีระให้สูญสิ้นไป
เมื่อพระมหากัสสปเถระอธิฐานแล้ว จึงเอนองค์ลงเหนือแท่นที่ไสยาสน์โดยบุรพเบื้องทักขิณา ลำดับหัตถบาทเป็นระเบียบ หันพระเศียรสู่อุดรทิศา ก็ดับเบญจขันธ์ เข้าสู่นิพพาน สูญสิ้นทั้งวิบากขันธ์และกรรมมัชรูปไม่เหลือ มิได้สืบต่อรูปกายให้ปรากฏในภพหน้า ก็ปรากฏชื่อว่า อนุปาทิเสสปรินิพพาน
พระเจ้าอชาตศัตรู เมื่อทราบข่าวพระมหากัสสปเถระนิพพานก็เศร้าโศกเสียพระทัยยิ่งนัก และได้เดินทางไปเคารพศพพระมหาเถระ
ทรงให้จัดการสมโภชพระมหาเถระ ๗ วัน เมื่อครบกำหนดแล้วจึงได้เสด็จกลับคืนสู่พระนคร พระเจ้าอชาตศัตรูรักษาศีลบำเพ็ญทานเป็นเนืองนิจ ด้วยพระทัยคิดถึงคำสอนแห่งพระมหาเถระผู้เป็นอุปัชฌาย์
สรีระพระมหากัสสปเถระนั้น ทุกวันนี้ก็ยังปรากฏเป็นปรกติมิได้เปื่อยเน่า เครื่องสักการบูชาก็ยังตั้งอยู่เป็นปรกติ มิได้ดับสูญไป
พระมหากัสสปเถระไม่ได้มีความคิดที่จะไปรบกวนให้พระศรีอริยเมตไตร ซึ่งเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์สุดท้ายของภัทรกัปนี้ เสด็จมาสลายร่างของท่านแต่อย่างใด แต่ที่ท่านต้องอธิษฐานจิตเช่นนั้น ก็เป็นเพราะท่านได้เห็นถึงบุพกรรมในอดีตที่ตัวท่านและพระศรีอริยเมตไตร ได้เคยกระทำกรรมร่วมกันมา กล่าวคือ ในสมัยที่ตัวท่านเกิดเป็นช้างมงคลพระที่นั่ง ส่วนพระศรีอริยเมตไตร เกิดเป็นนายหัตถาจารย์ ดังนั้น เมื่อเรื่องราวทั้งหมดยังตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม แม้แต่ผู้ที่เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือ พระศรีอริยเมตไตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่สามารถที่จะพ้นจากวิบากกรรมในอดีตที่แต่ละพระองค์ทรงเคยกระทำผิดพลาดเอาไว้ได้
ชขอขอบคุณภาพจาก
http://www.dmc.tv/pages/latest_update/20110105-พระมหากัสสปะตรวจดูอายุสังขาร_LEFT.html
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.dharma-gateway.com/monk/great_monk/pra-mahakassapa-06.htm
วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
การเก็บพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์ ๒
ดอกบุนนาค
พระราชาอชาตศัตรู ทรงเปลื้องเครื่องประดับทั้งหมดบูชา ทรงเปิดประตูทองแดงแล้วเสด็จออกมา ทรง
คล้องตราพระราชลัญจกร ( เครื่องหมายของพระมหากษัตริย์ ) ไว้ที่ประตู ทรงวางแท่งแก้วมณีแท่งใหญ่ไว้ที่ตรงนั้น แล้วโปรดให้จารึกอักษรว่า
ในอนาคตกาลครั้งแผ่นดินพระเจ้าอโศกมหาราชเสด็จมา ณ ที่นี้ จงถือเอาแท่งแก้วมณีนี้ ทำลายดวงตรา แล้วเปิดประตูเข้าไปกระทำสักการะพระบรมสารีริกธาตุทั้งหลายเถิด
ท้าวสักกะเทวราช เรียกวิสสุกรรมเทพบุตรมาสั่งว่า
พ่อเอย พระเจ้าอชาตศัตรูทรงเก็บพระบรมธาตุแล้ว เธอจงตั้งกองรักษาการณ์ไว้ที่นั้น
ดอกบุนนาค
วิสสุกรรมเทพบุตรประกอบรูปหุ่นยนต์มีโครงร่างร้าย ถือพระขรรค์สีแก้วผลึก รักษาบริเวณห้องพระบรมสารีริกธาตุนั้น หุ่นยนต์นั้นเคลื่อนตัวได้รวดเร็วเสมือนลม
วิสสุกรรมเทพบุตรประกอบหุ่นยนต์แล้ว ติดสลักบังคับไว้อันเดียวเท่านั้น เอาศิลาล้อมไว้โดยรอบ เสมือนเรือนสร้างด้วยอิฐ ข้างบนปิดด้วยศิลาแผ่นเดียว กลบดินเกลี่ยพื้นให้เรียบแล้วประดิษฐานสถูปหินไว้บนที่นั้น
เมื่อการเก็บพระบรมสารริกธาตุเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระมหากัสสปเถระ ดำรงอยู่จนตลอดอายุก็นิพพานไป พระราชาอชาตศัตรูเสด็จสวรรคตแล้ว ไปบังเกิดในโลหกุมภีนรก พวกมนุษย์แม้เหล่านั้นต่างก็ทำกาละตามกันไป
ขอขอบคุณข้อมูลจากพระพุทธกิจ ๔๕ พรรษา สุรีย์ มีผลกิจ-วิเชียร มีผลกิจ
วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
การเก็บพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์ ๑.
เจดีย์แก้วผลึกเป็นเจดีย์องค์นอกสุด บนเจดีย์แก้วผลึกนั้น โปรดให้สร้างเรือนทำด้วยรัตนะล้วน บนเรือนรัตนะนั้น
ให้สร้างเรือนทำด้วยทองคำไว้ บนเรือนทองคำนั้น ให้สร้างเรือนทำด้วยเงินไว้ บนเรือนเงินนั้นให้สร้างทำด้วยทองแดงไว้ บนเรือนทองแดงนั้น ให้โรยเมล็ดทรายทำด้วยรัตนะทั้งหมด เกลี่ยดอกไม้น้ำ ดอกไม้บกไว้ ๑๐๐๐ ดอก
โปรดให้สร้างชาดก ๕๕๐ ชาดก
สร้างพระอสีติมหาเถระ
พระเจ้าสุทโธทนมหาราช
พระนางมหามายาเทวี
สหชาติทั้ง ๗
ทั้งหมดดังกล่าวมานี้ ล้วนทำด้วยทองคำทั้งสิ้น แล้วโปรดให้ตั้งหม้อน้ำเต็ม ที่ทำด้วยทองและเงินอย่างละ ๕๐๐ หม้อ ให้ยกธงทอง ๕๐๐ ธง ให้ทำประทีปทอง ๕๐๐ ดวง ประทีบเงิน ๕๐๐ ดวง ทรงใส่ไส้ผ้าเปลือกไม้ไว้ในประทีปเหล่านั้น บรรจุด้วยน้ำมันหอม
ครั้งนั้น พระมหากัสสปเถระ อธิษฐานว่า ขอดอกไม้อย่าเหี่ยว กลิ่นหอมอย่าหาย ประทีบอย่าหมดเชื้อ
แล้วให้จารึกอักษรไว้บนแผ่นทองว่า
ในอนาคตกาล ครั้งพระกุมารพระนามว่าอโศก จักเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระธรรมราชา ท้าวเธอจักทรงกระทำพระบรมสารีริกธาตุเหล่านี้ให้แพร่หลายไป ดังนี้
ขอขอบคุณข้อมูลจากพระพุทธกิจ ๔๕ พรรษา สุรีย์ มีผลกิจ-วิเชียร มีผลกิจ
วันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
การรวบรวมพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์
หลังจากการสังคายนาครั้งแรกเสร็จสิ้นแล้ว ในกาลต่อมาพระกัสสปเถระพิจารณาเห็นอันตราย ที่อาจเกิดขึ้นแก่พระบรมสารีริกธาตุ ในอนาคต จึงไปเฝ้าพระเจ้าอชาตศัตรูทูลว่า
มหาบพิตร พระองค์ควรเก็บพระบรมสารริกธาตุ มารวมไว้ที่กรุงราชคฤห์
พระเจ้าอชาตศัตรูตรัสว่า
ดีละ กิจในการเก็บพระบรมสารริกธาตุนั้นเป็นกิจของโยม แต่ว่าโยมจะนำพระบรมธาตุเหล่านั้นมาได้อย่างไร
พระมหากัสสปะทูลว่า
การจะไปนำพระบรมธาตุนั้นเป็นภาระของพวกอาตมภาพเอง
พระเถระได้ไปอัญเชิญพระบรมธาตุจากราชตระกูลทั้ ๗ นั้น มาประดิษฐานรวมไว้ ณ ที่แห่งหนึ่งทางทิศอาคเนย์ แห่งกรุงราชคฤห์
ส่วนพระบรมธาตุในรามคาม เหล่านาคเก็บรักษาไว้ ด้วยพระเถระเห็นว่า ต่อไปในอนาคต พญานาคจะเชิญพระบรมธาตุเหล่านี้ ไปประดิษฐานไว้ในพระมหาเจดีย์ ในมหาวิหารลังกาทวีป
พระราชามีรีับสั่งให้ขุดที่นั้นลึก ๘๐ ศอก คุ้ยดินออกจากที่นั้น ให้ก่ออิฐแทน โปรดให้ปูเครื่องลาดโลหะไว้ภายใต้ สร้งพระสถูปไว้อย่างละ ๘ ครั้งนั้น พระราชาบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระผู้มีพระภาคเจ้า ไว้ในผอบจันทน์เหลือง ทรงใส่ผอบจันทน์เหลืองนั้น ลงในผอบจันทน์เหลืองอีกใบหนึ่ง ทรงรวมผอบจันทน์เหลือง ๘ ใบไว้ในใบเดียวกัน
ด้วยวิธีการนั้น ทรงบรรจุไว้ในสถูปจันทน์แดง สถูปงา สถูปรัตนะ สถูปทองคำ สถูปเงิน สถูปมณีี สถูปทับทิม สถูปแก้วลาย และสถูปแก้วผลึก อย่างละ ๘ โดยแนวเดียวัน
ขอขอบคุณข้อมูลจากพระพุทธกิจ ๔๕ พรรษา สุรีย์ มีผลกิจ-วิเชียร มีผลกิจ
วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
เรื่องพระอานนท์ร่วมการทำสังคายนาครั้งแรก
หลังจากพระพุทธองค์เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์เพื่อโปรดพระพุทธบิดา ขณะเสด็จกลับกรุงราชคฤห๋แวะประทับที่อนุปิยอัมพวัน
เจ้าชายอานนท์พระราชโอรสพระเจ้าสุกโกทนะ กับพระนางกีสาโคตมี ซึ่งตามลำดับศายวงศ์ เจ้าชายอานนท์เป็นพระอนุชาของสมเด็จพระบรมศาสดาและเป็นสหชาติของเจ้าชายสิทธัตถะราชกุมาร
เจ้าชายอานนท์พร้อมด้วยพระราชวงศ์ ๕ พระองค์และอุบาลีผู้เป็นภูษามาลา ทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระผู้มีพรพภาคเจ้าทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา
พระอานนท์ได้ฟังธรรมกถาของท่านปุณณมันตานีบุตร ผู้เป็นหลานของพระอัญญาโกณทัญญะ พระอานนท์ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล
ในพรรษาที่ ๒๐ พระพุทธองค์ทรงตั้งพระอานนท์ให้เป็นพุทธอุปัฏฐากประจำ ท่านเป็นผู้เอาใจใส่ในการอุปัฏฐาก มีความจงรักภักดีในพระบรมศาสดา แม้ชีวิตก็สละเพื่อพระพุทธองค์ได้ เป็นผู้มีความทรงจำธรรมอันน่าอัศจรรย์ เป็นผู้รักษาคลังพระธรรมของพระศาสดา ทั้งที่ยังเป็นพระเสขะอยู่ (ผู้ยังต้องศึกษาอยู่ )
เมื่อเหล่าภิกษุสงฆ์ขอให้พระมหากัสสปเถระเลือกพระอานนท์เป็นภิกษุสงฆ์องค์ที่ ๕๐๐ ในการทำสังคายนานั้น
พระมหากัสสปเถระเลือกให้พระอานนท์เป็นผู้วิสัชชนาพระธรรม ในส่วนของพระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก
ครั้งนั้นเมื่อก่อนวันทำสังคายนา พระอานนท์คิดว่า พรุ่งนี้จะทำสังคายนาพระธรรมวินัย เรายังเป็นเสขบุคคลอยู่ การไปประชุมร่วมกับพระเถระผู้เป็นอเสขะ เป็นสิ่งไม่สมควรเลย บังเกิดความอุตสาหะเจริญกายคตาสติ พากเพียรเป็นอันมากตลอดราตรีนั้น จงกรมอยู่จนล่วงมัชฌิมยาม ดำริว่าเราอาจจะทำความเพียรมากเกินไป จึงลงจากที่จงกรมในเวลาใกล้รุ่ง เข้าไปสู่วิหารด้วยประสงค์จะพักผ่อน ขณะที่กำลังเอนกายลง ศรีษะยังไม่ทันถึงหมอน เท้าทั้งสองเพียงพ้นจากพื้น ในระหว่างนั้นจิตก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย บรรลุอรหัตตผลพร้อมด้วยอภิญญา ๖ และปฏิสัมภิทา ๔ ในคืนก่อนวันประชุมสังคายนานั้นเอง ความเป็นพระอรหันต์ของพระอานนท์ เว้นจากอิริยาบททั้ง ๔
ครั้นถึงเวลากระทำสังคายนา ภิกษุพร้อมเพรียงแล้ว พระอานนท์คิดว่า บัดนี้เป็นเวลาอันสมควรที่จะเข้าสู่ที่ประชุม เพื่อจะแสดงอานุภาพ ท่านพระอานนท์ผุดขึ้นจากพื้นดิน แสดงตนบนอาสนะในขณะนั้น (บางตำรากล่าวว่า ท่านเหาะไปทางอากาศแล้วนั่งเหนืออาสนะของท่าน)
พระมหากัสสปเถระเห็นอาการพระอานนท์ดังนั้น ทราบว่าพระอานนท์ได้บรรลุพระอรหัตแล้ว มีความรู้สึกว่า
หากพระศาสดายังดำรงพระชนม์อยู่ พระพุทธองค์ก็จะพึงประทานสาธุการแก่พระอานนท์ในวันนี้แน่แท้ บัดนี้เราจะให้สาธุการ ซึ่งพระศาสดาควรประทานแก่พระอานนท์
ดังนี้แล้ว พระมหากัสสปเถระได้ให้สาธุการ ๓ ครั้ง
ขอขอบคุณข้อมูลจากพระพุทธกิจ ๔๕ พรรษา สุรีย์ มีผลกิจ-วิเชียร มีผลกิจ
วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
การทำสังคายนาพระธรรมวินัย
ที่กรุงราชคฤห์ในสมัยนั้น
มีวัดใหญ่ ๑๘ วัดล้อมรอบ ในเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพาน ภิกษุต่างถือบาตรจีวรของตน ๆ แล้วทิ้งเสนาสนะพากันไปเฝ้าพระพุทธองค์ เมื่อเสร็จกิจแล้ว พระเถระคิดว่า พวกเราต้องทำการปฏิสังขรณ์สิ่งที่ชำรุดทรุดโทรม ตลอดเดือนต้นของพรรษา เพื่อบูชาคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า และเพื่อเปลื้องคำติเตียนของพวกเดียรถีย์ที่จะตำหนิว่า สาวกของพระโคดมบำรุงวัดวาอาราม เมื่อพระศาสดายังมีพระชนม์อยู่เท่านั้น เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว ก็พากันทอดทิ้งเสีย
พระเจ้าอชาตศัตรูทรงทราบ ได้พระราชทานช่างที่ทำงานฝีมือมาช่วย ได้จัดการปฏิสังขรณ์มหาวิหารใหญ่ทั้งหมด ตลอดเดือนต้นฤดูฝน
เสร็จแล้วพระเถระทูลพระราชาว่า งานปฏิสังขรณ์วัดเสร็จแล้ว บัดนี้อาตมภาพทั้งหลาย จะกระทำการสังคายนาพระธรรมวินัย
พระเจ้าอชาตศัตรูมีดำรัสว่า ดีแล้ว เจ้าข้า พระคุณเจ้าทั้งหลาย การฝ่ายอาณาจักรขอเป็นหน้าที่ของโยม ส่วนการฝ่ายศาสนจักร ขอให้เป็นหน้าที่ของพระคุณเจ้าทัั้งหลาย
พระเจ้าอชาตศัตรูรับสั่งให้สร้างธรรมสภา สำหรับการสังคายนาที่ใกล้ปากถ้ำ สัตบรรณ ข้างภูเขาเวภาระ ตามที่พระเถระประสงค์
การทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรกนี้ กระทำหลังพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน แล้ว ๔ เดือน
หมายเหตุ มีเอกสารหลายแหล่งระบุว่าการทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรกนี้ กระทำหลังพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน แล้ว ๓ เดือน
พลอยโพยมก็ขออ้างตามข้อมูลที่นำมาจากเอกสารทีใช้อ้างอิงระบุไว้ตามนั้น
ขอขอบคุณข้อมูลจากพระพุทธกิจ ๔๕ พรรษา สุรีย์ มีผลกิจ-วิเชียร มีผลกิจ
วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
หลังพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน
พระอานนท์ ถือบาตรและจีวรของพระพุทธองค์ เสมืิอนเมื่อครั้งยังไม่ปรินิพพานเดินทางกลับไปกรุงสาวัตถี พร้อมด้วยภิกษุสงฆ๋ ๕๐๐ รูป ในระหว่างทางมีภิกษุผู้เป็นบริวารมากขึ้นจนประมาณมิได้ มีเสียงร่ำไห้กันอึงมีตลอดทาง
เมื่อถึงกรุงสาวัตถี ชาวกรุงสาวัตถีต่างพากันถือดอกไม้ของหอมไปต้อนรับ ร้องไห้รำพันว่า
"ข้าแต่พระอานนท๋ผู้เจริญ เมื่อก่อนท่านมากับพระผู้มีพระภาคเจ้า บัดนี้ท่านทิ้งพระผู้มีพระภาคเจ้าไว้เสียที่ไหน"
มีการเศร้าโศกรำพันอย่างมากเหมือนในวันที่เสด็จปรินิพพาน ฉะนั้น
ในอรรถกถา พรหมชาลสูตร กล่าวว่า
ท่านพระอานนท์สั่งสอนมหาชน ให้เข้าใจด้วยธรรมีกถาประกอบด้วยความไม่เที่ยงเป็นต้น
แล้วเข้าสู่พระเชตวันวิหาร ไหว้พระคันธกุฎีที่พระพุทธองค์ประทับ เปิดประตูนำเตียงตั่งออกปัดกวาด ทิ้งขยะดอกไม้แห้ง ท่านได้กระทำทุกอย่างอันเป็นวัตรที่ต้องปฏิบัติ เหมือนในเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้ายังดำรงพระชนม์อยู่ ทำหน้าที่ไปพลางรำพันไปพลางว่า
เวลานี้เวลาสรงน้ำของพระองค์ เวลานี้เป็นเวลาแสดงธรรม เป็นเวลาสำเร็จสีหไสยา เป็นเวลาสรงพระพักตร์ เป็นต้น
ทั้งนี้เพราะท่านยังเป็นเสชบุคคล พระอานนท์เป็นผู้มีความรักตั้งมั่นในพระศาสดา เป็นผู้มีความผูกพันที่เคยอุปการะกันและกันมาหลายแสนชาติ
เทวดาองค์หนค่งซึ่งสถิตอยู่ ณ ป่าใหญ่ ใกล้กรุงสาวัตถีเห็นดังนั้น จึงมากล่าวเตือนพระอานนท์ว่า
"ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ หากท่านยังแต่มุ่งปลอบใจผู้อื่น และยังแสดงความอาลัยในพระตถาคตอยู่เช่นนี้ ท่านจะหาทางบำเพ็ญสมณธรรม เพื่อความหลุดพ้นได้อย่างไร"
พระอานนท์ได้ฟังคำเตือนของเทวดา จึงพยายามระงับความเศร้าโศกลง และขอร้องให้เหล่าภิกษุสงฆ์ ช่วยกันปฏิสังขรณ์สิ่งที่ชำรุดทรุดโทรมในพระเชตวันจนแล้วเสร็จ
ครั้นใกล้วันเข้าพรรษา พระอานนท์และพระเถระผู้ใหญ่ก็อำลาภิกษุสงฆ์ ออกเดินทางไปกรุงราชคฤห์ เพื่อเตรียมการสังตายนาพระธรรมวินัย
ขอขอบคุณข้อมูลจากพระพุทธกิจ ๔๕ พรรษา สุรีย์ มีผลกิจ-วิเชียร มีผลกิจ
วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
นครกุสินารา ๓๘ พระมหากัสสปเถระ ๖
พระเจ้าอชาตศัตรู ได้อัญ้ชิญพระบรมสารีริกธาตุจากกรุงกุสินารา กลับมายังกรุงราชคฤห์ ด้วยการบูชาอันยิ่งใหญ่ เช่นเดียวกับเหล่าเจ้ามัลลกษัตริย์ ทำการบูชาระหว่างมกุฏพันธเจดีย์และสัณฐาคาร ตรัสให้เหล่าข้าราชบริพารล้อมรางทองคำที่บรรจุพระบรมธาตุด้วยกรงอันแข็งแรง ในระหว่าทางพบเห็นดอกไม้มีสีดั่งทองคำในที่ใดก็ให้เก็บดอกไม้เหล่านั้นบูชา
ในวันที่ ๓ พระบรมธาตุมาถึงพระนครราชคฤห์ มีมหาชนชุมนุมรอรับกันมากมายตลอดทาง ทรงรับสั่งให้สร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แล้วทรงจัดงานมหกรรม แม้กษัตริย์เหล่าอื่น ก็อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปยังเมืองของตน ๆ สร้างพระสถูปไว้บูชา แล้วจัดงานมหกรรมเช่นกัน
อนึ่งเมื่อปลายพุทธกาลนั้น นิครนถนาฏบุตร ศาสดาของศาสนาเชนได้ละสีงขาร สาวกของท่านมืได้รวบรวมคำสอนไว้ และไม่ได้ตกลงกันชัดเจน เมื่อไม่มีศาสดาสาวกผู้เป็นศิษย์ก็แตกแยก ทะเลาะ วิวาทกันว่าศาสดาของตนสอนว่าอย่างไร
สำหรับพุทธศาสนาได้มีการปรารภการทำสังคายนา ณ กรุงกุสินารานี้
โดยพระมหากัสสปเถระได้กล่าวชวนภิกษุสงฆ์ในท่ามกลางที่ประชุม ณ สัณฐาคาร ให้พร้อมใจกันกระทำสังคายนา โดยกล่าวว่า
"ดูก่อน อาวุโส เราทั้งหลาย ควรจะทำสังคายนาพระธรรมวินัย เพราะว่าในกาลเบื้องหน้า อธรรมจักรุ่งเรือง ธรรมจักถูกขัดขวาง อวินัยจักรุ่งเรือง วินัยจักถูกขัดขวาง ในกาลภายหน้าพวกอธรรมวาทีจักมีกำลัง พวกธรรมวาทีจักอ่อนกำลัง พวกอวินัยวาทีจักมีกำลัง พวกวินัยวาทีจักอ่อนกำลัง"
ที่ประชุมสงฆ์เห็นชอบกับความดำริของพระมหากัสสปเถระ กล่าวว่า
ถ้าเช่นนั้น พระเถระโปรดคัดเลือกภิกษุทั้งหลายเถิด
พระมหากัสสปเถระคัดเลือกพระอรหันต์ ผู้ทรงไว้ซึ่งพระไตรปิฎก บรรลุปฏิสัมภิทา แตกฉานในไตรวิชา เป็นต้น จำนวน ๔๙๙ รูป
ภิกษุทั้งหลายกล่าวกับพระมหาเถระต่อไปว่า
" ขอท่านจงเลือกพระอานนท์ เข้าร่วมการสังคายนาด้วยเถิด แม้ท่านจะเป็นเพียงเสขบุคคล แต่ก็ไม่ลุแก่อำนาจฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติภยาคติ ทั้งยังเป็นผู้มีความทรงจำพระธรรมและพระวินัยเป็นเลิศ อันจักเป็นประโยชน์ต่อการสังคายนา"
พระมหากัสสปะจึงเลือกพระอานนท์ไว้อีกองค์หนึ่ง ตามประสงค์ของภิกษุทั้งหลาย
สงฆ์นั้นพร้อมใจกัน เลือกกรุงราชคฤห์ เป็นสถานที่ทำสังคายนา
จากนั้นพระมหากัสสปเถระกล่าวแก่ภิกษุสงฆ์ว่า ภายใน ๕๐ วันนี้ ผู้ใดมีกิจที่กังวลใดๆ ขอให้ทุกท่านกระทำกิจที่ควรทำนั้นให้เสร็จสิ้น
กล่าวดังนี้แล้ว พระมหากัสสปเถระ และพระอนุรุทธเถระ ก็พาเหล่าสงฆ์บริวารกลับไปกรุงราชคฤห์ แม้พระเถระผู้ใหญ่องค์อื่น ต่างก็พาบริวารกลับไปสู่ที่พำนักของตน ๆ
ในเถรคาถาเล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ หน้า ๑๗๙ กล่าวว่า หลังจากทำสังคายนาครั้งแรกแล้ว พระอนุรุทธเถระกลับไปจำพรรษาสุดท้าย ณ เวฬุคาม แคว้นวัชชี ซึ่งเป็นที่จำพรรษาสุดท้ายของพระบรมศาสดาเช่นเดียวกัน แล้วนิพพานภายใต้พุ่มไผ่ ณ เวฬุคาม ด้วยอนุปาทิเลสนิพพาน
ส่วนพระปุณณเถระ มีภิกษุเป็นบริวาร ๗๐๐ รูป ยังพำนักอยู่ที่กุสินารา ด้วยประสงค์จะปลอบโยนมหาชน ที่พากันมาสักการบูชา ยังสถานที่ปรินิพพานของพระบรมศาสดา
ขอขอบคุณข้อมูลจากสู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ)
พระพุทธกิจ ๔๕ พรรษา สุรีย์ มีผลกิจ-วิเชียร มีผลกิจ
วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
นครกุสินารา ๓๗ พระมหากัสสปะเถระ ๕
พระมหากัสสปะเถระ เป็นประธานปฐมสังคายนา
ด้วยความที่ท่านเป็นผู้ยินดีในการอยู่ป่า มักน้อย สันโดษ ประวัติของท่านจึงไม่ค่อยโดดเด่นเป็นที่รู้จักกันมากนัก จวบจนสมัยที่พระบรมศาสดาปรินิพพานได้ ๗ วัน
ขณะที่ท่านกำลังเดินทางพร้อมด้วยภิกษุบริวารของท่านเพื่อไปเข้าเฝ้าประบรมศาสดา ได้ทราบข่าวจากอาชีวกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้ว ภิกษุผู้เป็นอริยบุคคลได้ปลงสังเวชส่วนภิกษุผู้เป็นปุถุชนก็เศร้าโศกร่ำไรรำพันว่า ดวงตาของโลกอันตรธานไปแล้ว
แต่มีภิกษุวัยชรานามว่า สุภัททะ พูดห้ามปรามภิกษุเหล่านั้นมิให้ร้องไห้โดยกล่าว่า
"อย่าเลย พวกเราอย่าเศร้าโศก อย่าร่ำไร เราพ้นดีแล้ว ด้วยว่ามหาสมณะคอยห้าม คอยบอกสิ่งนี้ควรแก่เธอ สิ่งนี้ไม่ควรแก่เธอ บัดนี้พวกเราจะทำสิ่งใดก็ทำได้ตามใจทั้งสิ้น "
พระมหากัสสปเถระ ได้ฟังคำของพระสุภัททะแล้วเกิดความสังเวชสลดใจว่า
“พระพุทธองค์ปรินิพพานได้เพียง ๗ วัน ยังมีผู้กล่าวจ้วงจาบล่วงเกินพระธรรมวินัยถึงเพียงนี้ ต่อไปภายหน้าก็คงจะหาผู้เคารพในพระธรรมวินัยได้ยากยิ่ง”
พระมหากัสสปเถระวางแผนในใจว่า จะชักชวนพระเถระผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นพระอรหันต์ทั้งหลายที่มีอยู่ในสมัยนั้น ล้วนทันได้เห็นพระพุทธองค์ ได้ฟังคำสอนของพระองค์มาโดยตลอด ทั้งรู้และได้อยู่ในหมู่สาวกที่คอยสนทนาตรวจสอบกันเองอยู่เสมอว่า อะไรเป็นคำสอนของพระพุทธองค์ จะชวนให้มาประชุมกัน ช่วยกันแสดง ถ่ายทอด รวบรวม ประมวล คำสั่งสอนของพระพุทธองค์ แล้วตกลงวางมติไว้ คือว่าจะทำการสังคายนา
ด้วยคำพูดของพระสุภัททะเพียงเท่านี้ หลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว ท่านได้ชักชวนพระเถระผู้เป็นพระอรหันต์ ประชุมกันทำปฐมสังคายนารวบรวมพระธรรมวินัยตั้งไว้เป็นหมวดหมู่ เป็นตัวแทนองค์พระบรมศาสดาปกครองหมู่สงฆ์ต่อไป
สาระสำคัญของปฐมสังคายนา
๑) พระมหากัสสปะเถระ เป็นประธาน มีหน้าที่ซักถามเกี่ยวกับพระธรรมวินัย
๒) พระอุบาลี เป็นผู้ชี้แจงเกี่ยวกับขอบัญญัติพระวินัย
๓) พระอานนท์ เป็นผู้ชี้แจงเกี่ยวกับพระสูตร และพระอภิธรรม
๔) กระทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา แห่งภูเขาเวภารบรรพต กรุงราชคฤห์
๕) พระเจ้าอชาตศัตรู เป็นองค์ศาสนูปถัมภ์
๖) กระทำอยู่ ๗ เดือน จึงสำเร็จ
ขอขอบคุณข้อมูลจากhttp://www.84000.org/one/1/18.html
สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ)
วันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
นครกุสินารา ๓๖ พระมหากัสสปเถระ ๔
พระเถระขับไล่นางเทพธิดา
ครั้งหนึ่งพระเถระพักอยู่ที่ถ้ำปิปผลิ เข้าฌานสมาบัติอยู่ ๗ วัน ออกจากฌานแล้วเข้าไปบิณฑบาต ในบ้านหญิงสาวคนหนึ่งเห็นพระเถระแล้วเกิดศรัทธาเลื่อมใส ได้นำข้าวตอกใส่บาตรพระเถระแล้วตั้งความปรารถนา ขอเข้าถึงส่วนแห่งธรรมที่พระเถระบรรลุแล้ว พระเถระกล่าวอนุโมทนาแก่เธอแล้วกลับยังที่พัก
ฝ่ายนางกุลธิดานั้นมีจิตเอิบอิ่มด้วยทานที่ตนถวาย ขณะเดินกลับบ้านถูกงูพิษกัดตาย และได้ไปเกิดเป็นเทพธิดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นามว่า “ลาชา” (ลาชา = ข้าวตอก) มีวิมานทองประดับด้วยขันทองห้อยอยู่รอบ ๆ วิมาน ในขันนั้นเต็มด้วยข้าวตอกทองเช่นกัน
นางมองดูสมบัติทิพย์ที่ตนได้แล้วก็ทราบว่าได้มาเพราะถวายข้าวตอกแก่พระมหากัสสปะ ซึ่งเป็นบุญเพียงเล็กน้อย
นางต้องการที่จะเพิ่มผลบุญให้มากยิ่งขึ้น จึงลงจากเทวพิภพเข้าไปปัดกวาดเสนาสนะและบริเวณที่พักของพระเถระ จัดตั้งน้ำใช้น้ำฉันเสร็จแล้วกลับยังวิมานของตน
พระเถระคิดว่ากิจเหล่านี้คงจะมีพระภิกษุหรือสามเณรมาทำให้
ในวันที่สองที่สาม นางเทพธิดามาทำเหมือนเดิม แม้พระเถระก็คิดเช่นเดิม แต่พระเถระได้ยินเสียงไม้กวาดและเห็นแสงสว่างจากช่องกลอนประตูจึงถามว่า “นั่นใคร ?”
“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันเป็นเทพธิดาชื่อลาชา เป็นอุปัฏฐายิกาของท่าน”
พระเถระคิดว่า หญิงผู้เป็นอุปัฏฐากของเราชื่ออย่างนี้ไม่มี จึงเปิดประตูเห็นนางเทพธิดากำลังปัดกวาดอยู่ จึงสอบถามทราบความโดยตลอดตั้งแต่ต้นแล้ว จึงกล่าวห้ามว่า
“กิจที่เธอทำแล้วก็ถือว่าแล้วกันไป ต่อแต่นี้เธอจงอย่างมาทำอีก เพราะในอนาคต จะมีพระธรรมกถึกยกเอาเหตุนี้เป็นตัวอย่างอ้างแก่พุทธบริษัททั้งหลาย ว่า “พระมหากัสสปะมีนางเทพธิดามาปฏิบัติใช้สอย ดังนั้น เธอจงกลับไปเถิด”
นางเทพธิด้านอ้อนวอนช้ำแล้วช้ำเล่าว่าขอพระคุณเจ้าอย่างทำให้ดิฉันประสบหายนะเลยขอให้ดิฉันได้ครองสมบัติทิพย์นี้ตลอดกาลนานเถิด
พระเถระเห็นว่านางเทพธิดาดื้อดึงไม่ยอมฟังคำ จึงโบกมือพร้อมกล่าวขับไล่นางออกไป
นางลาชาเทพธิดาไม่สามารถดำรงอยู่ได้ จงเหาะขึ้นไปบนอากาศยืนประนมมือร้องไห้เสียดายที่ไม่มีโอกาสทำทิพยสมบัติของตนให้ถาวรได้
ขอขอบคุณข้อมูลจากhttp://www.84000.org/one/1/18.html
วันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
นครกุสินารา ๓๕ พระมหากัสสปเถระ ๓
ประวัติพระกัสสปเถระ ๓
ปิปผลิ อุปสมบทด้วยวิธีโอวาท ๓ ข้อ
ปิปผลิ เดินทางไปตามลำดับ ได้พบพระผู้มีพระภาคเสด็จประทับที่ภายใต้ร่มไทร ระหว่างกรุงราชคฤห์กับนาลันทา เห็นพุทธจริยาน่าเลื่อมใสแปลกกว่านักบวชอื่น ๆ ที่ตนเคยพบมา ปลงใจเชื่อว่าต้องเป็นพระอรหันต์แน่นอน จึงน้อมกายกราบถวายบังคมแทบพระบาท กราบทูลขออุปสมบทในพระพุทธศาสนา
พระพุทธองค์ ประทานการอุปสมบทด้วยวิธีให้รับโอวาท ๓ ข้อ เรียกว่า
“โอวาทปฏิคคหณูปสัมปทา” โอวาท ๓ ข้อนั้นคือ
๑) กัสสปะ เธอพึงศึกษาว่า เราจักตั้งความละอายและความเกรงใจไว้ในภิกษุทั้งที่เป็นพระเถระผู้เฒ่า ผู้มีพรรษาปานกลาง และทั้งผู้บวชใหม่
๒) กัสสปะ เธอพึงศึกษาว่า เราจักฟังธรรม บทใดบทหนึ่งอันประกอบด้วยกุศลด้วยความตั้งใจฟังโดยเคารพ และพิจารณาจดจำเนื้อความธรรมบทนั้น
๓) กัสสปะ เธอพึงศึกษาว่า เราจะไม่ละสติไปในกาย คือ พิจารณากายเป็นอารมณ์โดยสม่ำเสมอ
ได้รับยกย่องในทางผู้ทรงธุดงค์
เมื่อท่านอุปสมบทแล้วทำความเพียรไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล หลังจากอุปสมบทได้ ๘ วัน พุทธบริษัททั้งหลายรู้จักท่านในนาม “พระมหากัสสะ” ท่านได้ช่วยรับภารธุระอบรมสั่งสอนพระภิกษุและพุทธบริษัทอื่น ๆ จนมีภิกษุเป็นบริวารจำนวนมาก ท่านมีปกติสมาทานธุดงค์ ๓ ประการ อย่างเคร่งครัด คือ
๑) ถือการนุ่งห่มบังสุกุลเป็นวัตร
๒) ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
๓) ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร
เพราะการปฏิบัติในธุดงค์คุณทั้ง ๓ ประการนี้อย่างเคร่งครัด พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง ผู้ทรงธุดงค์นอกจากนี้
พระบรมศาสดายังทรงยกย่องท่านในทางอื่น ๆ อีกหลายประการ กล่าวคือ
ครั้งหนึ่ง ท่านติดตามพระพุทธองค์ไปประทับที่ภายใต้ร่มไม้ต้นหนึ่งท่านได้พับผ้าสังฆาฏิของท่านเป็น ๔ ชั้นแล้วปูถวายให้พระพุทธองค์ประทับนั่งพระพุทธองค์ตรัสว่า
“กัสสปะ ผ้าสังฆาฏิของเธอนุ่มดี”
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์ทรงใช้สอยเถิด พระเจ้าข้า”
“กัสสปะ แล้วเธอจะใช้อะไรทำสังฆาฏิเล่า ?”
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เมื่อข้าพระองค์ได้รับจากพระองค์ ก็จะใช้เป็นสังฆาฏิ พระเจ้าข้า”
ครั้นแล้ว พระบรมศาสดาได้ประทานผ้าสังฆาฏิของพระองค์ ซึ่งเก่าคร่ำคร่าให้แก่ท่านแล้วทรงยกย่องท่านอีก ๔ ประการคือ
๑) กัสสปะ มีธรรมเป็นเครื่องอยู่เสมอด้วยตถาคต เป็นผู้มักน้อยสันโดษภิกษุทั้งหลายควรถือเป็นแบบอย่าง
๒) กัสสปะ เมื่อเธอเข้าไปใกล้ตระกูลแล้ว ชักกายและใจออกห่างประพฤติตนเป็นคนใหม่ ไม่คุ้นเคย ไม่คะนองกาย วาจา และใจ ในสกุลเป็นนิตย์ จิตไม่ข้องอยู่ในสกุลนั้น ตั้งจิตเป็นกลางว่า “ผู้ใคร่ลาภจงได้ลาภ ผู้ใคร่บุญจงได้บุญ ตนได้ลาภแล้วมีจิตเป็นฉันใด ผู้อื่นก็มีใจเป็นฉันนั้น”
๓) กัสสปะ มิจิตประกอบด้วยเมตตา กรุณา แสดงธรรมแก่ผู้อื่น
๔) ทรงแลกเปลี่ยนผ้าสังฆาฏิกับท่านไปใช้สอย ทรงสอนภิกษุให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ โดยยกพระมหากัสสปะขึ้นเป็นตัวอย่าง
ขอขอบคุณข้อมูลจากhttp://www.84000.org/one/1/18.html
วันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
นครกุสินารา ๓๔ พระมหากัสสปเถระ ๒
ประวัติของพระมหากัสสปเถระ
สภาพชีวิตการครองคู่
ภายหลังจากแต่งงานกันแล้ว การครองคู่ของคนทั้งสองนั้นไม่เหมือนสามีภรรยาคู่อื่น ๆ เพราะสักแต่ว่าอยู่ร่วมห้องกันเท่านั้น ต่างก็ไม่มีจิตคิดจะร่วมสังวาสกัน แม้เวลาจะขึ้นเตียงนอนก็ขึ้นกันคนละข้าง มีแจกันดอกไม้ตั้งอยู่ตรงกลางเตียง ตลอดระยะเวลาที่ทั้งสองอยู่ร่วมกันนั้น มิได้สัมผัสถูกต้องกันเลยจึงไม่มีบุตรหรือธิดาสืบสกุล
เมื่อบิดามารดาถึงแก่กรรมแล้ว ทรัพย์สมบัติและหน้าที่การงานทุกอย่างจึงเป็นภาระของสองสามีภรรยา และเนื่องจากตระกูลทั้งสองเป็นตระกูลมหาเศรษฐีมีทรัพย์มาก เมื่อรวมสองตระกูลเข้าเป็นตระกูลเดียวกันแล้วทรัพย์สมบัติก็ยิ่งมากมายมหาศาล มีสัตว์เลี้ยงและคนงานจำนวนมาก สองสามีภรรยาต้องบริหารสั่งการทุกอย่าง
จนกระทั่งวันหนึ่ง ในขณะที่ปิปผลิกำลังตรวจดูทาสและกรรมกรทำงานอยู่ในไร่นา ได้เห็นนกกาจิกกินสัตว์น้อยมีไส้เดือนเป็นต้น ก็รู้สึกสงสารและสลดใจที่สัตว์เหล่านั้นต้องตายเพราะตนเป็นเหตุ
นางภัททกาปิลานี ก็ให้คนนำเมล็ดถั่วงาออกมาตากที่ลานหน้าบ้าน เห็นหมู่นกกามาจิกกินตัวหนอนและแมลงต่าง ๆ ก็เกิดความสงสารและสลดใจเช่นกัน
เมื่อสองสามีภรรยามีโอกาส อยู่กันตามลำพังได้สนทนาถึงเรื่องความในใจของกันและกันแล้ว จากนั้นทั้งสองก็มีความคิดตรงกันว่า
“ผู้อยู่ครองเรือน แม้จะไม่ได้ลงมือทำการงานเอง แต่ก็ต้องคอยรับบาปที่ทาสและกรรมกรทำให้”
จึงเกิดความเบื่อหน่ายเพศฆราวาสพร้อมใจกันสละทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้ญาติและบริวาร
ส่วนทั้งสองสามีภรรยาพากันออกบวช จัดหาผ้ากาสาวพัสตร์และบริขารพากันปลงผม แล้วครองผ้ากาสาวพัสตร์ อธิฐานเพศบรรพชิตบวชอุทิศต่อพระอรหันต์ในโลกแล้วเดินร่วมทางกันไป พอถึงทางสองแพร่งจึงแยกทางกัน
ปิปผลิไปทางขวา ส่วนนางภัททกาปิลานี ไปทางซ้าย
นางเดินทางไปพบสำนักปริพาชกแล้วได้เข้าไปขอบวชในสำนักนั้น เนื่องด้วยขณะนั้น พระผู้มีพระภาคยังมิได้ทรงอนุญาตให้สตรีบวชในพระพุทธศาสนา ต่อเมื่อพระนางปชาบดีโคตรมีได้บวชแล้ว นางจึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระเถระ ศึกษาพระกรรมฐาน บำเพ็ญวิปัสสนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล
ขอขอบคุณข้อมูลจากhttp://www.84000.org/one/1/18.html
วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
นครกุสินารา ๓๓ พระมหากัสสปเถระ ๑
พระมหากัสสปเถระ
เอตทัคคะในทางผู้ทรงธุดงค์
พระมหากัสสปะถระ เป็นมหาสาวกองค์ที่ ๓ ของพระสมณโคดมพุทธเจ้า มีอายูยืนมาถึงหลังพุทธปรินิพพานแล้ว ในขณะที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนมายุอยู่ ท่านไม่ค่อยมีบทบาทมากนักเพราะท่านยึดอยุ่ในธุดงควัตร จึงพำนักอยู่แต่ในป่าเป็นประจำ หลังจากพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว ท่านเป็นกำลังสำคัญในการทำปฐมสังคายนา สืบทอดพระธรรมวินัยท่านหนึ่งในพระศาสนา
ประวัติของท่านมีดังนี้
พระมหากัสสปะ เป็นบุตรของกปิลพราหมณ์ ตระกูลกัสสปะในบ้านมหาติฏฐะ แคว้นมคธ ชื่อเดิมของท่านคือ “ปิปผลิ” แต่คนทั่วไปมักเรียกท่านตามวงศ์ตระกูลว่า “กัสสปะ” เมื่อท่านอายุได้ ๒๐ ปี ได้ทำการอาวาหมงคลกับนางภัททกาปิลานี ซึ่งเป็นสาวงามวัย ๑๖ ปี ธิดาของพราหมณ์ตระกูลโกลิยะ ณ เมืองสาคลนคร แคว้นมคธ
ปิปผลิมาณพถูกแปลงสาร
เมื่อปิปผลิมาณพ อายุได้ ๒๐ ปี บิดามารดาได้ปรึกษากันว่าจะหาภรรยาให้แก่บุตรชาย จึงได้มอบเงินและทองให้แก่พราหมณ์ ๘ คน เพื่อสืบแสวงหาสาวงานที่มีฐานะเสมอกัน พราหมณ์เหล่านั้นเที่ยวสืบแสวงหาไปตามเมืองต่าง ๆ มาจนถึงสาคลนคร ได้พบธิดาของโกลิยพราหมณ์นามว่า “ภัททกาปิลานี” วัย ๑๖ ปี เป็นที่ถูกอกถูกใจยิ่ง จึงสู่ขอกับบิดามารดาของนาง ตกลงแล้วได้มอบสิ่งของเงินและทองหมั้น กำหนดวันอาวาหมงคลแล้วกลับไปแจ้งข่าวสารแก่กปิลพราหมณ์
ปิปผลิมาณพ ได้ทราบข่าวสารนั้นแล้วรู้สึกไม่สบายใจ เพราะตนไม่มีความปรารถนาจะแต่งงาน จึงหลบเข้าไปในห้อง เขียนจดหมายบรรยายความประสงค์ของตนให้นางทราบว่า
“ตนไม่ปรารถนาจะแต่งงาน ขอให้นางจงแต่งงานกับชายที่มีชาติตระกูลเสมอกัน และอยู่ครอง ชีวิตคู่ด้วยความสุขสำราญเถิด ส่วนข้าพเจ้าจะออกบวช”
เมื่อเขียนเสร็จแล้ว ก็มอบให้คนใช้ สนิทนำไปส่งให้แก่นางภัททกาปิลานี
แม้นางภัททกาปิลานีก็มีใจตรงกัน และได้เขียนจดหมายซึ่งมีใจความเหมือนกัน มอบให้คนรับใช้นำไปส่งให้แก่ปิปผลิมาณพ บังเอิญคนถือจดหมายทั้งสองฝ่ายมาพบกันระหว่างทาง ทักทายปราศรัยถามไถ่กิจธุระของกันและกันแล้วนำจดหมายทั้งสองฉบับออกอ่าน ทราบความโดยตลอดแล้วฉีกทำลายทิ้งแล้วเขียนจดหมายขึ้นมาใหม่ บรรยายความรักแก่กันและกันแล้วนำไปส่ง ให้แก่เจ้านายของตน การอาวาหมงคลระหว่างคนทั้งสองจึงเกิดขึ้น
ขอขอบคุณข้อมูลจากhttp://www.84000.org/one/1/18.html
ขอขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ"พระพุทธกิจ ๔๕ พรรษา" เรียบเรียงโดย คุณสุรีย์ และเรือโท วิเชียร มีผลกิจ
วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
นครกุสินารา ๓๒ พระจุนทเถระ
พระจุนทเถระ
พระจุนทเถระเป็นบุตรของพราหมณ์วังคันตะ แลนางสารี ถือกำเนิดที่บ้านนาลกะเป็นน้องชายพระสารีบุตร
ออกบรรพชาเป็นสามเณรตามพี่ชายตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ โดยมีพระอานนท์เป็นอุปัชฌาย์
บรรพชาได้ไม่นานก็สำเร็จอรหัตตผล พร้อมด้วยอภิญญา ๖ ในขณะที่ยังเป็นสามเณร
ภิกษุทั้งหลายนิยมเรียกว่า มหาจุนทะ หรือ จุนทสมณุทเทส (เข้าใจว่าเรียกกันติดปากมาแต่ครั้งยังเป็นสามเณร)
อุปนิสัยของพระจุนทะชอบอยู่ในสถานที่สงบสงัด อันเป็นสัปปายะควรแก่การบำเพ็ญสมณธรรม
พระมหาจุนทเถระนอกจากเป็นพระธรรมถึกแล้ว ยังมีความสามารถด้านอิทธิฤทธิ์ ดังในขุททกนิกาย ธรรมบท กล่าวไว้ในคราวที่พระบรมศาสดาแสดงยมกปาฏิหารย์ว่า พระจุนทะ (ขณะยังเป็นสามเณร) ได้กราบทูลพระบรมศาสดา ขอแสดงปาฏิหารย์แทน เมื่อพระบรมศาสดาถามว่าเธอจะแสดงอะไร
จุนทสามเณร กราบทูลว่า จะไปเขย่าต้นหว้าใหญ่ในชมพูทวีปนำผลหว้ามาให้มหาชนที่ชุมนุมอยู่นี้บริโภค และจะนำดอกปาริฉัตรจากเทวโลกมาถวายพระบรมศาสดา แต่พระพุทธองค์ทรงห้ามไว้
พระมหาจุนทะ เคยทำหน้าที่อุปัฏฐากพระบรมศาสดา มาก่อนที่จะทรงแต่งตั้งพระอานนท์ แต่ยังช่วยพระอานนท์อยู่ตลอดมา เว้นแต่เวลาที่ท่านต้องไปบำรุงพระสารีบุตรเถระเท่านั้น
ในกาลใกล้จะปรินิพพาน พระบรมศาสดาตรัสเรียกให้พระมหาจุนทะปูผ้าสังฆาฏิเพื่อนอนพักที่ฝั่งแม่น้ำกกุธา ก่อนที่พระบรมศาสดาจะเสด็จถึงสาลวันกรุงกุสินารา อันเป็นสถานที่เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน
หลังจากพระบรมศาสดาปรินิพพานแล้ว ในกาลต่อมาพระมหาจุนทเถระก็นิพพาน แต่มิได้มีรายละเอียดกล่าวไว้ว่า ท่านนิพพานเมื่อใด และอัฐิธาจุของท่ายบรรจุอยู่ ณ ที่ใด
ขอขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ"พระพุทธกิจ ๔๕ พรรษา" เรียบเรียงโดย คุณสุรีย์ และเรือโท วิเชียร มีผลกิจ
วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
นครกุสินารา ๓๑
กกุธานที...สายน้ำที่ทรงสรงครั้งสุดท้าย ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.oknation.net/blog/mylifeandwork/2009/09/01/entry-3
เมื่อเสด็จไปถึง กกุธานที ทรงสรง ทรงดื่มแล้ว เสด็จไปยังอัมพวัน ตรัสกับ พระจุนทกะว่า
"ดูก่อนจุนทกะ ท่านช่วยปูผ้าสังฆาฏิพับเป็น ๔ ชั้นให้เรา เราเหนื่อยนัก จักนอน "
แล้วทรง มนสิการ อุฎฐานสัญญามนสิการ (นอนพักชั่วครู่แล้วจะเสด็จเดินทางต่อ) โดยมีพระจุนทกะนั่งเฝ้าอยู่เบื้องพระพักตร
ขอขอบคุณภาพจาก http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=39377
ครั้งนั้นรับสั่งกับพระอานนท์ว่า
"บางทีจะมีผู้ทำความเดือดร้อนใจให้เกิดแก่นายจุนทกัมมารบุตรในภายหลังได้ว่า ตถาคตบริโภคบิณฑบาตของเธอ แล้วปรินิพพาน อานนท์เธอจงช่วยบันเทาความร้อนใจของจุนทกัมมารบุตร ด้วยคำตรัสของเราว่า
ตถาคตบริโภคบิณฑบาตใดแล้ว ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ๑
ตถาคตบริโภคบิณฑบาตใดแล้ว ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเลสนิพพาน ๑
บิณฑบาตสองคราวนี้มีผลเสมอกัน มีอานิสงส์เสมอกัน มีผลใหญ่กว่า มีอานิสงส์ใหญ่กว่าบิณฑบาตอื่น ๆ กรรมที่นายจุนทกัมมารบุตรสั่งสมแล้ว เป็นไปเพื่อ อายุ วรรณะ สุขะ ยศสวรรคฺ และเป็นไปเพื่อความใหญ่ยิ่ง"
ในกาลต่อมา นางสุขาดา และนายจุนทะ ได้สดับว่าพระบรมศาสดตรัสเช่นนั้น หวนระลึกถึงผลแห่งการถวายทานของตนว่า เป็นลาภของเราหนอจึงเกิดปิติโสมนัสเป็นที่ยิ่ง
จากนั้นตรัสกับพระอานนท์ว่า เราจักข้ามไปยังฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำ หิรัญวดี
เมื่อถึงสาลวันอันเป็นที่แวะพักแห่งพวกมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา มีรับสั่งให้พระอานนท์จัดที่ประทับระหว่างไม้สาละคู่ หันศรีษะไปทางทิศอุดร ตรัสว่าเราเหนื่อยแล้ว จักนอน แล้วทรงบรรทม อนุฏฐานไสยา (นอนแล้วไม่ลุกขึ้นอีก)
ขอขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ"พระพุทธกิจ ๔๕ พรรษา" เรียบเรียงโดย คุณสุรีย์ และเรือโท วิเชียร มีผลกิจ
หมายเหตุ
อนุปาทิเสสนิพพาน คือการดับกิเลสโดยไม่มีเบญจขันธ์นั้นหลงเหลืออยู่
http://www.oknation.net/blog/mylifeandwork/2009/09/01/entry-3
วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
นครกุสินารา ๓๐ ปุกกุสมัลลบุตร
ขอย้อนหลังก่อนการเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานของพระพุทธองค์
ปุกกุสมัลลบุตร
ปุกกุสมัลลบุตร เป็นสาวกของอาฬารดาบสกาลามโคตร เดินทางจ่กกุสินาราจะไปเมืองปาวา เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งที่โคนไม้ จึงเข้าไปถวายบังคม แล้วกราบทูลว่า
" น่าอัศจรรย์ครั้งหนึ่ง อาฬารดาบสนั่งอยู่ที่โคนไม้เหมือนพระองค์นี้ ขณะนั้นกองเกวียนมากมายผ่านไป เมื่อขบวนเกวียนผ่านไปแล้ว บุรุษผู้หนึ่งถามว่า ท่านเห็นขบวนเกวียนผ่านไปหรือไม่ อาฬารดาบสตอบว่าไม่เห็น และไม่ได้ยินเสียง บุรุษนั้นถามว่า ท่านหลับหรือ อาฬารดาบสตอบว่า เราไม่ได้หลับ บุรุษนั้นแปลกใจว่า ในเมื่อยังตื่นอยู่ เหตุใดจึงไม่เห็นและไม่ได้ยินเสียง "
พระพุทธองค์ตรัสว่า
"เธอจงเปรียบเทียบกับเรื่องที่เราจะเล่าให้ฟัง"
"ในกาลครั้งหนึ่งเราพำนักอยู่ที่โรงกระเดื่องในเมืองอาตุมา (บางตำรากล่าวว่าโรงทอผ้า) ขณะนั้นฝนตกหนัก ฟ้าผ่าลงมาถูกชาวนาสองพี่น้องถึงแก่ชีวิต พร้อมทั้งโคอีก ๔ ตัว เมื่อฝนหายแล้ว ฝูงชนพสกันมายังที่เกิดเหตุ เราออกไปถามเขาว่า พวกเธอมาดูอะไร พวกนั้นย้อนถามเราว่า ท่านอยู่ที่ไหนจึงไม่ทราบเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อครู่นี้ เราตอบว่า เราอยู่ตรงนี้แหละ
ชนเหล่านั้นถามว่า พระองค์ได้เห็นอะไรหรือ
เราตอบว่า เราไม่ได้เห็น
พระองค์ได้ยินอะไรหรือ
เราตอบว่า เราไม่ได้ยิน
พระองค์หลับหรือ
เราตอบว่า มิได้หลับ
ชนเหล่านั้นถามต่อไปว่า ถ้าเช่นนั้นเมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าแลบอยู่ ฟ้าผ่าอยู่ เหตุ"ฉนจึงไม่เห็น จึงไม่ได้ยิน ทั้งที่ยังตื่นอยู่ ชนเหล่านั้นคิดว่าน่าอัศจรรย์ บรรพชิตย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมอันสงบเช่นนี้เอง "
พระศาสดา ตรัสถามปุกกุสะว่า
"ระหว่างเรื่องของอาจารย์ เธอกับเรื่องของเรา อย่างไหนทำได้ยากกว่ากัน"
ปุกกุสะทูลตอบว่า
"กรณีของพระองค์ทำได้ยากกว่า พระเจ้าข้า ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก บรรพชิตย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมอันสงบเช่นนี้เอง"
ปุกกุสกุลบุตร บังเกิดความเลื่อมใสในพระศาสดา ขอแสดงตนเป็นอุบาสกผู้ถึงรัตนตรัยชั่วชีวิต แล้วน้อมถวายคู่ผ้าทรงเนื้อเกลี้ยง มีสีดังทองสิงคีแด่พระศาสดา
พระพุทธองค์รับสั่งว่า
เธอให้เราครองผืนหนึ่ง ให้อานนท์ครองผืนหนึ่ง แล้วยังปุกกุสมัลลบุตรให้เห็นแจ้งในสมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถา ปุกกุสะถวายบังคมแล้วออกเดินทางต่อไป
เมื่อปุกกุสมัลลบุตรหลีกไปแล้วไม่นาน พระอานนท์ได้น้อมผ้านั้นเข้าไปทาบพระวรกายของพระพุทธองค์ กราบทูลว่า
"น่าอัศจรรย์พระฉวีวรรณของพระตถาคตบริสุทธิ์ผุดผ่องยิ่งนัก ผ้านี้เมื่อทาบพระวรกายแล้ว ย่อมปรากฎดังถ่านไฟที่ปราศจากเปลว ฉะนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
"อานนท์ ในกาลทั้งสอง กายของตถาคตย่อมบริสุทธิ์ ฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งคือ
ราตรีที่ตถาคต ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ๑
ราตรีที่ตถาคต ปรินิพพานด้วย อนุปาทิเลสนิพพาน ๑
อานนท์ ในปัจฉิมยามแห่งราตรีนี้ ตถาคตจักปรินิพพาน ระหว่าไม้สาละทั้งคู่ในสาลวันแห่งมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา มาเถิดอานนท์ เราจักไปยัง กกุธานที
ขอขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ"พระพุทธกิจ ๔๕ พรรษา" เรียบเรียงโดย คุณสุรีย์ และเรือโท วิเชียร มีผลกิจ
สิงคี (มค. สิงฺคีสก. ศฤงฺคี) น. สัตว์มีเขา, วัว, ควาย
ชื่อปลาชนิดหนึ่ง
ทองคำ
ชื่อผักชนิดหนึ่ง.
ขอขอบคุณคำแปลสิงคีจาก(http://dictionary.sanook.com/search/สิงคี
ปุกกุสมัลลบุตร
ปุกกุสมัลลบุตร เป็นสาวกของอาฬารดาบสกาลามโคตร เดินทางจ่กกุสินาราจะไปเมืองปาวา เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งที่โคนไม้ จึงเข้าไปถวายบังคม แล้วกราบทูลว่า
" น่าอัศจรรย์ครั้งหนึ่ง อาฬารดาบสนั่งอยู่ที่โคนไม้เหมือนพระองค์นี้ ขณะนั้นกองเกวียนมากมายผ่านไป เมื่อขบวนเกวียนผ่านไปแล้ว บุรุษผู้หนึ่งถามว่า ท่านเห็นขบวนเกวียนผ่านไปหรือไม่ อาฬารดาบสตอบว่าไม่เห็น และไม่ได้ยินเสียง บุรุษนั้นถามว่า ท่านหลับหรือ อาฬารดาบสตอบว่า เราไม่ได้หลับ บุรุษนั้นแปลกใจว่า ในเมื่อยังตื่นอยู่ เหตุใดจึงไม่เห็นและไม่ได้ยินเสียง "
พระพุทธองค์ตรัสว่า
"เธอจงเปรียบเทียบกับเรื่องที่เราจะเล่าให้ฟัง"
"ในกาลครั้งหนึ่งเราพำนักอยู่ที่โรงกระเดื่องในเมืองอาตุมา (บางตำรากล่าวว่าโรงทอผ้า) ขณะนั้นฝนตกหนัก ฟ้าผ่าลงมาถูกชาวนาสองพี่น้องถึงแก่ชีวิต พร้อมทั้งโคอีก ๔ ตัว เมื่อฝนหายแล้ว ฝูงชนพสกันมายังที่เกิดเหตุ เราออกไปถามเขาว่า พวกเธอมาดูอะไร พวกนั้นย้อนถามเราว่า ท่านอยู่ที่ไหนจึงไม่ทราบเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อครู่นี้ เราตอบว่า เราอยู่ตรงนี้แหละ
ชนเหล่านั้นถามว่า พระองค์ได้เห็นอะไรหรือ
เราตอบว่า เราไม่ได้เห็น
พระองค์ได้ยินอะไรหรือ
เราตอบว่า เราไม่ได้ยิน
พระองค์หลับหรือ
เราตอบว่า มิได้หลับ
ชนเหล่านั้นถามต่อไปว่า ถ้าเช่นนั้นเมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าแลบอยู่ ฟ้าผ่าอยู่ เหตุ"ฉนจึงไม่เห็น จึงไม่ได้ยิน ทั้งที่ยังตื่นอยู่ ชนเหล่านั้นคิดว่าน่าอัศจรรย์ บรรพชิตย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมอันสงบเช่นนี้เอง "
พระศาสดา ตรัสถามปุกกุสะว่า
"ระหว่างเรื่องของอาจารย์ เธอกับเรื่องของเรา อย่างไหนทำได้ยากกว่ากัน"
ปุกกุสะทูลตอบว่า
"กรณีของพระองค์ทำได้ยากกว่า พระเจ้าข้า ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก บรรพชิตย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมอันสงบเช่นนี้เอง"
ปุกกุสกุลบุตร บังเกิดความเลื่อมใสในพระศาสดา ขอแสดงตนเป็นอุบาสกผู้ถึงรัตนตรัยชั่วชีวิต แล้วน้อมถวายคู่ผ้าทรงเนื้อเกลี้ยง มีสีดังทองสิงคีแด่พระศาสดา
พระพุทธองค์รับสั่งว่า
เธอให้เราครองผืนหนึ่ง ให้อานนท์ครองผืนหนึ่ง แล้วยังปุกกุสมัลลบุตรให้เห็นแจ้งในสมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถา ปุกกุสะถวายบังคมแล้วออกเดินทางต่อไป
เมื่อปุกกุสมัลลบุตรหลีกไปแล้วไม่นาน พระอานนท์ได้น้อมผ้านั้นเข้าไปทาบพระวรกายของพระพุทธองค์ กราบทูลว่า
"น่าอัศจรรย์พระฉวีวรรณของพระตถาคตบริสุทธิ์ผุดผ่องยิ่งนัก ผ้านี้เมื่อทาบพระวรกายแล้ว ย่อมปรากฎดังถ่านไฟที่ปราศจากเปลว ฉะนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
"อานนท์ ในกาลทั้งสอง กายของตถาคตย่อมบริสุทธิ์ ฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งคือ
ราตรีที่ตถาคต ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ๑
ราตรีที่ตถาคต ปรินิพพานด้วย อนุปาทิเลสนิพพาน ๑
อานนท์ ในปัจฉิมยามแห่งราตรีนี้ ตถาคตจักปรินิพพาน ระหว่าไม้สาละทั้งคู่ในสาลวันแห่งมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา มาเถิดอานนท์ เราจักไปยัง กกุธานที
ขอขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ"พระพุทธกิจ ๔๕ พรรษา" เรียบเรียงโดย คุณสุรีย์ และเรือโท วิเชียร มีผลกิจ
สิงคี (มค. สิงฺคีสก. ศฤงฺคี) น. สัตว์มีเขา, วัว, ควาย
ชื่อปลาชนิดหนึ่ง
ทองคำ
ชื่อผักชนิดหนึ่ง.
ขอขอบคุณคำแปลสิงคีจาก(http://dictionary.sanook.com/search/สิงคี
วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
นครกุสินารา ๒๙ พุทธวิหารปรินิพพาน
บรรดามัลละกษัตริย์แห่งนครกุสินารา ผู้ให้ความคุ้มครองพระบรมสารีริกธาตุด้วยความเคารพยกย่องอย่างยิ่งนั้น แม้จะถูกคุกคามด้วยศาตราวุธมีหอกและธนูของกองทัพต่าง ๆ ที่ยกทัพมาประชิดนครกุสินารา ก็ไม่ปรารถนาที่จะแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้้แก่กองทัพเหล่านั้น
มีภาพหินแกะสลักภาพหนึ่งที่เมืองสาญจีได้แสดงถึงการล้อมนครกุสินาราไว้ แต่ในที่สุดก็ไม่ได้เกิดสงครามแต่อย่างใด
พุทธวิหารปรินิพพาน
บริเวณภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ปางปรินิพพาน มีขนาดความยาว ๒๓ ฟุต ๙ นิ้ว กว้าง ๕ ฟุต ๖ นิ้ว องค์พระยาว ๑๐ ฟุต สูง ๒ ฟุต ๑ นิ้ว
มีผู้ศรัทธานำจีวรสีทองเหลืองอร่ามมาถวายมิได้ขาด ในคราวทีสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา ฯ เสด็จมานมัสการสังเวชนียสถานในประเทศอินเดีย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ ทรงห่มฟ้าห่มน้อมคลุมถวายเป็นพุทธบูชาด้วย
ประทับนั่งทอดพระเนตรพระพุทธสรีระบรรทมเหนือพระแท่น ผ้าคลุมยาวลงแค่พระบาท ส่วนพระพักตรก็ปิดแค่พระศอ กำหนดพุทธานุสติ เห็นภาพพระบรมพระศพสมมตินี้แล้ว ทำให้คิดเสียดายว่า พระพุทธองค์น่าจะประทับอยู่นาน ๆ
ขอขอบคุณภาพจากtaraarryatravel.com
พุทธปฏิมากรรมแกะสลักจากหินจุณศิลาก้อนเดียว จากเมืองจูนาร์ (Chunar) ใกล้กับเมืองพาราณสี ที่ฐานเป็นรูปปั้นของปัจฉิมสาวก พระอรหันต์องค์สุดท้ายที่ทันเห็นพระพุทธองค์ ถัดไปเป็นพระอนุรุทธะผู้เข้าสมาบัติ ตามดูพระพุทธองค์จนเข้าสู่ปรินิพพาน ถัดไปเป็นรูปพระอานนท์กำลังโศกเศร้า
ขอขอบคุณภาพจาก สารานุกรม วิกิพีเดีย
ขอขอบคุณภาพจากwww.dhammajak.net
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ)
พระสถูปสาญจี หรือ มหาสถูปสาญจี เมืองโภปาล รัฐมัธยมประเทศ ประเทศอินเดีย
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=39377