วันอาทิตย์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2568

วัดแสนภูดาษ จังหวัดฉะเชิงเทรา ๔





พระพุทธรูปหินทราย สมัยอยุธยา ปางสมาธิ ๑ องค์ พระนามว่าหลวงพ่อโต หน้าตักกว้าง ๑๒๗ เซนติเมตร สูง ๑๔๖ เซนติเมตร พระรัศมี ๒๕ เซนติเมตร ครองจีวรห่มเฉียง เปิดพระอังสาขวาปิดพระอังสาซ้าย สังฆาฏิยาวเสมอพระนาภี ด้านหน้าพับตัดตรง ชายสังฆาฏิหลังพับแบบสามเหลี่ยม พระพุทธรูปองค์นี้มีพุทธลักษณะพิเศษคือพระหัตถ์ขวามี ๖ นิ้ว ประดิษฐานในวิหาร (อุโบสถหลังเก่า) (ภาพที่ ๕)



ภาคผนวก
หลักฐานจากเอกสาร
ชื่อคำว่า แสนภูดาษ (ในปัจจุบัน) ที่สื่อความถึงสถานที่มีหลักฐานปรากฏ ดังนี้
โคลงนิราศฉะเชิงเทรา พ.ศ. ๒๓๖๙ พระนิพนธ์ ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ปรากฏคำว่าสามภูดาษ ในโคลงบทที่ ๗๙ ดังนี้
เรือดลสามภูดาษด้าว แดนคาม
แสดงโศกภูดาษสาม สดับถ้อย
จดระบบระบิลความ ทุกข์เทวษ เรียมรา
วานช่วยสื่อสารสร้อย โศกน้องนางฟัง ฯ


นิราศปราจีนบุรี (สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นราว พ.ศ. ๒๓๗๒) ปรากฏชื่อ บ้านไส้ภูดาษ ต่อมาเพี้ยนเป็น สำภูดาษ ดังบทกลอนที่ว่า
ถึงหย่อมย่านบ้านไส้ภูดาษแดง
กระจ่างแจ้งในนิทานบุราณไข
เขาแทงออภูดาษให้ขาดใจ
แล้วสาวไส้พันเข้าให้เล่าลือ
ใครถามไถ่บอกว่าไส้ออภูดาษ
อาเชื้อชาตินามเช่นมาเป็นชื่อ
คนที่ไม่แจ้งเรื่องก็เลื่องลือ
กลับเรียกชื่อสำภูดาษด้วยหลายเดา”
คำว่า ภูดาษ ที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวง และพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
ภูดาษ - ภูดาษแต่ซ้ายขวา (กฎหมาย,หน้า ๘๘)
ผู้ดาษ - สุภากระลาการจ่าผู้ดาษเสมียร (กฎหมาย,หน้า ๑๙๘)
ภูดาษ,ผู้ดาษ พจนานุกรมสะกดว่า ภูดาด (โบ) น. เสมียน. (ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๓๙, หน้า๖๒๒) ในที่นี้คือเสมียนศาล

พ.ศ. ๒๔๔๑ (ร.ศ. ๑๑๗) บัญชีวัดและสงฆ์ สามเณร เมืองฉะเชิงเทรา และเมืองขึ้น จำนวน ปรากฏชื่อ บ้านแสนปูดาด ภาพประกอบที่ ๑๔ ในแผนที่ มท ๓๖ จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ (ไม่ระบุวัน ปรากฏชื่อ) บ. สำภูดาด




บัญชีวัดและสงฆ์ สามเณร เมืองฉะเชิงเทราและเมืองขึ้น จำนวน ร.ศ. ๑๑๗ (พ.ศ. ๒๔๔๑)


บาญชีวัดและพระสงฆ์สามเณร อำเภอเมือง,ฉะเชิงเทราจำนวนศก ๑๑๗ (พ.ศ. ๒๔๔๑) ลำดับที่ ๓ นามวัดแสนปูดาด ตำบลบ้านแสนปูดาด


แผนที่ ปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ปรากฏชื่อ วัดแสนภูดาษและบ้านแสนภูดาษ
ที่มา แผนที่ฉะเชิงเทรา พุทธศักราช ๒๔๖๔ ต้นฉบับจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณหนุ่มรัตนะ (สวพล สุวนิช)


แผนที่แสดงตำแหน่งของพื้นที่และที่ดินที่ถูกระบุว่า เคยเป็นที่ตั้งวัดแสนภูดาษเดิม
ภาพจาก SmartLands Application ของกรมที่ดิน
นมัสการขอบพระคุณ พระครูสุตธรรมาภรณ์ (ผศ.,ดร.) รองเจ้าอาวาสวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ รองเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา




วันเสาร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2568

วัดแสนภูดาษ จังหวัดฉะเชิงเทรา ๓





ประวัติศาสตร์บอกเล่าที่เกี่ยวข้องกับวัดแสนภูดาษ

วัดแสนภูดาษ เป็นวัดในตำบลแสนภูดาษ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำบางปะกง ตำบลแสนภูดาษ ปัจจุบัน มี ๓ หมู่บ้าน คือ บ้านด่านเก่า บ้านนอก และบ้านหมู่ใหญ่ จากข้อมูลของเทศบาลตำบลแสนภูดาษซึ่งได้เรียบเรียงความเป็นมาของชุมชน โดยนางประไพ พันธนะวรพิน อาจารย์โรงเรียนวัดแสนภูดาษได้เรียบเรียงความเป็นมาของชุมชนจากการสัมภาษณ์นายถนอม หร่ายเจริญ ผู้อาวุโสในชุมชนแสนภูดาษและศึกษาข้อมูลจากวัดและโรงเรียนพอจะสรุปได้ว่า

ประชากรตำบลแสนภูดาษเป็นคนพื้นที่เดิมและพวกที่อพยพมาจากถิ่นอื่นบ้าง ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งด่านเก็บภาษีเรือสินค้าที่ขึ้นล่องตามแม่น้ำบางปะกงระหว่างเมืองชลบุรีกับเมืองฉะเชิงเทรา เสมียนผู้ทำหน้าที่จัดเก็บภาษีจะถูกส่งมาจากคลองด่านและเมืองสมุทรปราการ อยู่ไปนาน ๆ ก็มีญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง อพยพมาอยู่เป็นจำนวนมาก ต่อมาได้ยกเลิกด่านจัดเก็บภาษี ผู้คนเหล่านี้มิได้อพยพกลับคงตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เดิม บริเวณแห่งนี้จึงได้ชื่อวา“ด่านเก่า”เพราะเป็นสถานที่ตั้งด่านเก่าเก็บภาษีทางเรือ

ประวัติการสร้างวัดแสนภูดาษ เนื่องจากไม่มีเอกสารเป็นหลักฐานปีที่มีการสร้างวัด จึงได้ศึกษาค้นคว้าประวัติจากเอกสารที่เกี่ยวข้องและคำบอกเล่าจากคนในชุมชน ได้ข้อมูลดังนี้

จากคำกล่าวที่ว่า วัดแสนภูดาษเคยตั้งอยู่ริมคลองแสนภูดาษห่างจากปากคลองที่บรรจบกับแม่น้ำบางปะกง ประมาณ ๑ กิโลเมตรมาก่อน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ ช่วงเวลาใกล้เคียงกับการเกิดความไม่สงบเรื่องจีนตั้วเหี่ย ได้มีการย้ายวัดออกมาอยู่ที่ปากคลองแสนภูดาษ ข้อมูลดังกล่าวมีความสอดคล้องกับคำบอกเล่าของบุคคลที่ได้ไปสัมภาษณ์ดังนี้

๑. เมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้สัมภาษณ์ พลตรี สนิท หร่ายเจริญ อายุ ๙๒ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๕๗ หมู่ ๒ ตำบลแสนภูดาษ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ข้อมูลมาว่า บรรพบุรุษของท่านเดินทางมาพร้อมกับพวกมาตั้งด่านเก็บภาษี แล้วเลยตั้งหลักฐานอยู่ที่แสนภูดาษสืบเนื่องต่อมา ถือได้ว่าเป็นคนเก่าแก่ของตำบลท่านเล่าให้ฟังว่า แต่เดิมวัดแสนภูดาษตั้งอยู่ริมคลองแสนภูดาษ บริเวณใกล้เคียงวัดเป็นบ้านของเครือญาติตระกูล กุลละวณิชย์ ต่อมาได้มีการย้ายวัดแสนภูดาษมาอยู่ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง



๒. วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๔ ได้สัมภาษณ์ พลเอก จรัล กุลละวณิชย์ อายุ ๘๖ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๓๑/๕ ซอยเจริญพร ๒ ถนนประดิพัทธ์ แขวง/เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ในวาระที่ท่านเป็นประธานการทำบุญครบรอบ ๑๐๐ ปี การพระราชทานนามสกุล กุลละวณิชย์ ที่วัดพิพิธประสาทสุนทร (วัดลาดขวาง) ตำบลลาดขวาง อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับคำบอกเล่าว่า ต้นตระกูลเดิมอยู่ที่ตลาดพลู ริมคลองบางกอกน้อย ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เกิดอหิวาตกโรคระบาดรุนแรงราว พ.ศ. ๒๓๖๓ จึงได้อพยพโยกย้ายหนีภัยมาอยู่ที่บ้านริมคลองบ้านจากขาด ตำบลแสนภูดาษ (ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านในตำบลลาดขวาง) อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่ซึ่งจะประสบปัญหาน้ำท่วมขังในฤดูน้ำหลาก ปัจจุบันไม่มีบุคคลในตระกูลสายตรงของท่านเองอยู่ในบริเวณบ้านจากขาดแล้ว



๓. วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๕ ได้โทรศัพท์สัมภาษณ์ นายฐิระวัตร กุลละวณิชย์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา อดีตอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง อายุ ๗๕ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๔๓๑/๑ ซอยลาดพร้าว ๙๖ ถนนลาดพร้าว แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร ท่านเล่าว่าต้นตระกูลได้ย้ายมาจากกรุงเทพมหานครคราวเกิดโรคระบาดในกรุงเทพฯ มาตั้งถิ่นฐานที่ ตำบลแสนภูดาษ ราวปี พ.ศ. ๒๓๖๓ บรรพบุรุษรุ่นต่อมา คือหลวงลุงเจียม (พระพรหมคุณาภรณ์ (จิรปุญโญ) ด. เจียม กุลละวณิชย์ ได้เล่าถึงสภาพพื้นที่ว่า มีวัดแสนภูดาษตั้งอยู่ที่ปากคลองแสนภูดาษแล้ว และมีวัดนี้แล้ว



๔. วันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๕ ได้สัมภาษณ์ นางวารุณี พงษ์พิพักษ์ (อินทุลักษณ์) อายุ ๘๑ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๑ หมู่ ๓ ตำบลแสนภูดาษ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งบ้านอยู่ริมคลองแสนภูดาษ ห่างจากปากคลองแสนภูดาษที่ไหลสู่แม่น้ำบางปะกง ประมาณ ๑ กิโลเมตร และมีการสร้างทดกั้นน้ำระหว่างคลองและแม่น้ำ โดยมีนางมณี กุลละวณิชย์ ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นดั้งเดิมของตำบลแสนภูดาษเป็นผู้พาไปพบ ได้ข้อมูลว่า คุณแม่ทองอยู่ อินทุลักษณ์ เล่าให้นางวารุณีฟังตามคำบอกเล่าของคนเก่าแก่เล่าสู่คนในครอบครัวสืบทอดกันมาว่า ที่ดินฝั่งคลองตรงข้ามกับบริเวณหน้าบ้านของตนมีพื้นที่ ๙ ไร่เศษ เคยเป็นวัดมาก่อน ต่อมาได้มีการย้ายวัดออกไปอยู่ริมแม่น้ำบางปะกง บริเวณปากคลองแสนภูดาษ ส่วนบ้านจากขาดนั้นอยู่เลยเข้าไปในคลองแสนภูดาษห่างไกลจากบริเวณบ้านอินทุลักษณ์ และคนในตระกูลอินทุลักษณ์นี้ได้สมรสกับบรรพบุรุษตระกูลกุลละวณิชย์ซึ่งอพยพมาจากกรุงเทพมหานคร อนึ่ง ที่ดิน ๙ ไร่เศษของวัดแสนภูดาษเดิม ปัจจุบันเป็นที่ธรณีสงฆ์และได้เปลี่ยนแปลงเป็นที่ดินอยู่ในเขตตำบลลาดขวาง มีผู้เช่าทำนา ต่อมาปรับเปลี่ยนเป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา



๕ วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๕ ได้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์นายโสภณ พันธนะวรพิน อดีตนายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลแสนภูดาษ อายุ ๕๓ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๒๗ หมู่ ๒ ตำบลแสนภูดาษ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ยืนยันว่า ที่ดินประมาณ ๙ ไร่เศษซึ่งอยู่ฝั่งคลองตรงข้ามบ้านของนางวารุณี พงษ์พิทักษ์ (อินทุลักษณ์) คนเก่าแก่ของครอบครัวเล่าสืบต่อกันมาว่า เคยเป็นวัดเก่าดั้งเดิมของวัดแสน- ภูดาษในปัจจุบัน และมีผู้เช่าทำนา ทำบ่อดินเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลาอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้คุณแม่ประไพ พันธนะวรพิน ได้เล่าเพิ่มเติมอีกว่า แต่เดิมนั้นบริเวณนี้เป็นพื้นที่ส่วนบนของป่าชายเลนมีปูมากมาย ทั้ง ปูทะเลและปูประจำถิ่นป่าชายเลนทั่วไป ชาวบ้านจึงเรียกถิ่นฐานนี้ว่า บ้านแสนปูดาด และเรียกวัดว่า วัดแสนปูดาด





๖. วันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๖๕ ได้ตรวจสอบที่ดินธรณีสงฆ์ของวัดแสนภูดาษแปลงดังกล่าวพบว่า ปัจจุบันเป็นที่ดินซึ่งเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๒๓๓๓ ระวาง ๕๒๓๖ เลขที่ดิน ๔๔๕ ตำบลลาดขวาง อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา มีเนื้อที ๙ ไร่ ๑ งาน ๕๓ ตารางวา และเมื่อไปตรวจสอบที่สำนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา สาขาบางปะกง พบว่า ใน พ.ศ. ๒๔๙๘ กรมที่ดินมีแบบแจ้งการครอบครองที่ดินว่า เป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดแสนภูดาษ มีการครอบครองที่ดินแปลงนี้มาแล้วประมาณ ๖๖ ปี (พ.ศ. ๒๔๓๒) และที่ดินแปลงนี้ได้นำทำการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ระบุว่าสภาพที่ดินเป็นนาฟาง ทิศข้างเคียงที่สำคัญคือ ที่ดินทิศใต้และทิศตะวันตก จดคลองแสนภูดาษ เนื้อที่ดิน ๑๐ ไร่ ๑ งาน ๔๘ ตารางวา



๗. ได้ข้อมูลเกี่ยวกับวัดแสนภูดาษจากหนังสือ The Journey Life of Mg Sanit Raicharoen ซึ่งเป็นบันทึกของพลตรี สนิท หร่ายเจริญ พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรี สนิท หร่ายเจริญ เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ ในบทที่ ๑ ปฐมวัย หน้าที่ ๔๑ - ๔๒ มีความตอนหนึ่งว่า
“ชื่อตลาดแสนภูดาษนั้นเป็นเรื่องแปลกแต่จริง คือตัวตลาดตั้งอยู่ปากคลองแสนภูดาษ คนละฝั่งกับวัด แต่ไปปลูกอยู่ในตำบลลาดขวาง ชาวบ้านเลยเรียกตลาดลาดขวาง ตลาดแสนภูดาษนับเป็นตลาดใหญ่ตลาดหนึ่งในสมัยนั้น ใหญ่กว่าตลาดท่าสะอ้านที่เป็นที่ตั้งอำเภอบางปะกง ใหญ่กว่าตลาดสนามจันทร์ที่เป็นที่ตั้งอำเภอบ้านโพธิ์จะเล็กกว่าตลาดคลองสวนและตลาดบางวัว นอกจากที่พวกเราจะไปซื้อเครื่อง อุปโภคบริโภคตามความจำเป็นแล้วยังเป็นสถานที่ที่พวกเราไปรับประทานอาหาร และหนุ่มสาวใช้เป็นที่ดูตัวและพบปะสังสรรค์ด้วย
วัดแสนภูดาษนับว่าเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง สร้างมาแต่สมัยใดไม่มีใครทราบ ทราบแต่ว่าเดิมมิได้ตั้งอยู่ ณ ที่ปัจจุบัน แต่ตั้งอยู่คนละฝั่งคลองกับบ้านเกิดของข้าพเจ้า เพิ่งจะย้ายไปตั้ง ณ ที่ตั้งปัจจุบันสมัยรัชกาลที่ ๓ ฟังผู้ใหญ่เล่าดูเหมือนจะย้ายไปในระยะเวลาใกล้เคียงกับที่พวกจีนอั้งยี่เข้ายึดเมืองฉะเชิงเทรา ที่รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาที่ขณะนั้นกำลังปราบปรามขบถอยู่ในกัมพูชายกกำลังมาปราบจีนอั้งยี่ เจ้าคุณบดินทร์ฯ ได้ สั่งการให้ พระยาอินทราษาเจ้าเมืองพนัสนิคมยกกำลังล่วงหน้ามาก่อน ท่านยกกำลังกองทัพจากเขมรตามมา ได้ทำการปราบจีนอั้งยี่ที่กำแหงถึงฆ่าเจ้าเมืองและยึดเมืองไว้จนราบคาบ คุณพ่อเคยเล่าว่าหลังจากปราบจีนอั้งยี่เสร็จใหม่ ๆ ชาวบ้านไม่กล้าใช้น้ำในแม่น้ำไปหลายวันเพราะมีศพอั้งยี่ลอยอยู่เกลื่อน สำหรับหลักฐานของวัดเก่าที่ข้าพเจ้าเคยเห็นตอนเด็ก ๆ ก็คือกระดูกและหม้อใส่กระดูกที่ยังเหลืออยู่ที่ป่าช้าเก่าด้านตะวันออกของบ้านพี่อ๊อย”
หมายเหตุ พี่อ๊อย คือนางอ๊อย ศรีวัฒนะ (หร่ายเจริญ) พี่สาวคนโตในจำนวนพี่น้อง ๖ คน โดย พลตรี สนิท หร่ายเจริญ เป็นบุตรคนที่ ๖ ของครอบครัว



๘. วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๕ พระครูพิพิธพิพัฒนพิธาน (บุญลือ จั่นนิล) เจ้าอาวาสวัดแสนภูดาษ พระครูสุตธรรมาภรณ์ (ผศ.,ดร.) รองเจ้าอาวาสวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ รองเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา นายอัฐพงษ์ บุญสร้าง นางอมร ตันสุตะพานิช ได้เดินทางไปสำรวจที่ดินแปลงตามโฉนด เลขที่ ๒๒๓๓๓ ตำบลลาดขวาง อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ธรณีสงฆ์ของวัดแสนภูดาษ เนื้อที่ดิน ๙ ไร่ ๑ งาน ๙๓ ตารางวา ได้พบนายอำนาจ โรจิน เป็นผู้เช่าพื้นที่ที่ดินแปลงดังกล่าวสืบทอดมาหลายชั่วคนโดยเริ่มต้นจากการทำนา แต่เมื่อการทำเกษตรกรรมเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นที่นิยมในจังหวัดฉะเชิงเทรา จึงได้เปลี่ยนการทำนาเป็นการเลี้ยงสัตว์น้ำมีการปรับปรุงพื้นที่นาทำบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ จากการสำรวจพบก้อนดินเผาคล้ายเศษอิฐสมัยโบราณ
การไปสำรวจพบว่าพื้นที่เกือบทั้งหมดเป็นบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ มีเพียงส่วนหนึ่งของบริเวณด้านทิศตะวันออกจากบ้าน นางอ๊อย ศรีวัฒนะ (หร่ายเจริญ) เป็นพื้นที่ปลูกต้นไม้มีต้นกล้วยและมันสำปะหลังเป็นส่วนใหญ่



๙. วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ได้ไปสัมภาษณ์นายประสิทธิ์ สุขสะอาด ไวยาวัจกรของวัดแสนภูดาษ อายุ ๙๒ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๑๘/๑ หมู่ที่ ๓ บ้านใน ตำบลแสนภูดาษ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ซี่งนางเพลิน อยู่ในศีล ได้ให้ข้อมูลว่า มีบรรพบุรุษอยู่ร่วมในเหตุการณ์ซ่อมแซมอุโบสถหลังเดิม (วิหารในปัจจุบัน) ได้ข้อมูลดังนี้
นายประสิทธิ์ สุขสะอาด ได้รับฟังคำบอกเล่าจากคุณยาย คือ นางสา นากสุข เล่าให้ฟังว่า เดิมอุโบสถของวัดแสนภูดาษเป็นอุโบสถหลังคามุงด้วยจาก ต่อมาวัดได้มีการมีการสร้างอุโบสถหลังที่ ๒ โดยสร้างคร่อมทับอุโบสถหลังเดิม ซึ่งมีหลังคามุงด้วยจากและมีเครื่องบนเป็นไม้สัก โดยไม่มีการขุดลูกนิมิตออกมาประกอบพิธีปิดทองฝังลูกนิมิตใหม่ ไม่มีคำบอกเล่าว่าผนังของอุโบสถหลังคามุงด้วยจากนั้นเป็นผนังไม้หรือก่ออิฐถือปูน นายประสิทธิ์ให้ความเห็นว่าน่าจะเป็นผนังไม้ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๖๒ วัดได้มีการช่อมแซมอุโบสถ โดยมีนายช่างใหญ่ คือนายเปลี่ยน สามีนางอ้น (ไม่มีบุตรธิดา) และมีคุณตาของนายประสิทธิ์ ชื่อนายด้วง นากสุข เป็นนายช่างรองได้ร่วมกันบูรณะอุโบสถ ซึ่งปัจจุบันคือวิหาร มีการสร้างซุ้มประตูทางเข้าอุโบสถและจารึกปี พ.ศ. ๒๔๖๒ ไว้บนซุ้มประตูดังกล่าว


ต่อมา พ.ศ. ๒๕๒๕ หลวงพ่อบุญลือเจ้าอาวาสวัดแสนภูดาษได้ดำเนินการสร้างอุโบสถหลังใหม่ เพื่อการฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ โดยคงอุโบสถหลังเดิมไว้ แต่ได้ขุดลูกนิมิตขึ้นมาทำพิธีปิดทองและฝังลูกนิมิตใหม่ในการสร้างอุโบสถหลังที่ ๓ ได้ย้ายใบเสมาหินไปยังอุโบสถหลังใหม่ และรื้อซุ้มประตูอุโบสถหลังที่ ๒ ออก ส่วนอุโบสถ พระประธาน พระพุทธรูปอื่น ๆ บนแท่นชุกชีและพระพุทธบาทจำลอง คงไว้เช่นเดิม และเรียกอุโบสถเดิมเป็นวิหาร



ส่วนศาลาการเปรียญมีการรื้อศาลาการเปรียญหลังเก่าแล้วนำวัสดุที่ยังใช้งานได้ใช้รวมกับวัสดุใหม่ ในการสร้างศาลาการเปรียญใหม่ ณ สถานที่เดิมใน พ.ศ. ๒๕๐๕




ในส่วนของที่ดินแปลงที่พลตรี สนิท หร่ายเจริญ นางวารุณี พงษ์พิทักษ์ (อินทุลักษณ์) และนางประไพ พันธนะวรพิน ระบุตรงกันว่าเคยเป็นสถานที่ตั้งของวัดแสนภูดาษเดิมซึ่งอยู่ในคลองแสนภูดาษ ก่อนมีการย้ายวัดไปอยู่ริมแม่น้ำบางปะกงบริเวณปากคลองแสนภูดาษ ซึ่งมีระยะทางห่่างกันประมาณ ๑ กิโลเมตร นายประสิทธิ์ทราบแต่เพียงว่าเป็นที่ดินของวัด (ทราบโดย สำนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา สาขาบางปะกง มีหนังสือแจ้งให้ทางวัดแสนภูดาษไปดำเนินการออกเอกสารการครอบครองสิทธิ์ที่ดิน (โฉนด) ซึ่งที่ดินนี้ชาวบ้านเช่ามาหลายชั่วคน และชำระค่าเช่าต่อสำนักงานพระพุทธศาสนา จังหวัดฉะเชิงเทรา ปีละ ๘๐๐ บาท จนเมื่อประมาณ ๒ ปี ที่ผ่านมา (ปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๖๖) เจ้าอาวาสวัดแสนภู-ดาษได้ไปแจ้งความจำนงขอให้วัดแสนภูดาษเป็นผู้รับรายได้จากผู้เช่าที่ดินแปลงนี้ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์น้ำ และนายประสิทธิ์ สุขสะอาด ยืนยันว่าที่ดินแปลงนี้อยู่ตรงข้ามคนละฝั่งคลองของบ้านนางวารุณี (พงษ์พิทักษ์) และบ้านบิดามารดาของพลตรี สนิท หร่ายเจริญ ที่ดินแปลงนี้นั้นที่ตนเคยเห็นมา เดิมมีการทำนา ต่อมาได้ขุดพื้นที่ทำบ่อ เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา




หมายเหตุ
๑. การออกโฉนดที่ดิน
การออกโฉนดที่ดินเริ่มทดลองทำครั้งแรกที่เมืองกรุงเก่าเมื่อเดือนพฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๐ มีการตั้งหอทะเบียนและนายทะเบียนจัดเก็บเอกสาร เมื่อได้ผลแล้วจึงขยายไปยังกรุงเทพฯ และมณฑลอื่นฯ ตามลำดับ (พ.ศ. ๒๔๔๔) มีการออกพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน ร.ศ. ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๑) ซึ่งได้รวบรวมการดำเนินการเรื่องที่ดินแต่ดั้งเดิมหลายฉบับไว้เป็นฉบับเดียว และถือเป็นมูลฐานของกฎหมายเกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดินต่อมา และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเป็นพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดินอีกหลายฉบับ ฉบับสุดท้ายคือพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๔๗๙ ซึ่งได้วิวัฒนาการเป็นประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ใช้บังคับเกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดินและหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินต่าง ๆ สืบมาจนถึงปัจจุบัน



๒. จีนอั้งยี่
จีนอั้งยี่ คือกลุ่มชาวจีนที่ก่อความไม่สงบในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนต้องตรา พ.ร.บ.อั้งยี่ ในปี พ.ศ. ๒๔๒๕ ซึ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เคยมีกลุ่มชาวจีนก่อความไม่สงบขึ้นในหลายจังหวัดถึงขั้นต้องปราบปราม เรียกคนจีนกลุ่มนี้ว่า จีนตั้วเหี่ย



ข้อสันนิษฐานเรื่องการย้ายวัดแสนภูดาษ (โดยนางอมร ตันสุตะพานิช ผู้รวบรวมและเรียบเรียงข้อมูล)
๑. จากคำบอกเล่าของ พลเอก จรัล กุลละวณิชย์ ว่า ได้มีบรรพบุรุษที่โยกย้ายมาจากตลาดพลู ริมคลองบางกอกน้อยที่มาอาศัยที่บ้านจากขาด แล้วต่อมาย้ายออกมาอยู่ที่บ้านหมู่ใหญ่ แต่เนื่องจากตระกูลกุลละวณิชย์ ได้มีการขยายวงศ์ตระกูลเพิ่มขึ้นหลายสาย นางมณี กุลละวณิชย์ ภรรยากำนันปรีชา กุลละวณิชย์ ได้ให้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๖ ว่า ยังมีเชื้อสายของกุลละวณิชย์สายอื่นอาศัยอยู่ที่บ้านจากขาด และเคยได้ยินคำบอกเล่าว่า นานมาแล้วบริเวณบ้านจาก-ขาดมีน้ำท่วมขังจริง ปัจจุบันบ้านจากขาดเป็นเขตตำบลลาดขวางและอยู่ลึกจากปากคลองแสนภูดาษมาก จึงสันนิษฐานว่าบริเวณที่น้ำท่วมขังคือบริเวณฝั่งซ้ายของคลองแสนภูดาษเมื่อหันหน้าสู่ปากคลองตลอดแนวคลอง



๒. จากการเปิดประเทศสยามให้คนจีนอพยพเข้ามาในสมัยกรุงธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีพระราโชบายผลิตน้ำตาลทรายจากอ้อยส่งเป็นสินค้าออกของสยามประเทศ โรงหีบอ้อยและการทำไร่อ้อยล้วนอาศัยชาวจีนอพยพเข้ามาที่เมืองฉะเชิงเทรา ชาวจีนเหล่านี้ทำงานเป็นลูกจ้างและตั้งหลักแหล่งโดยการแต่งงานกับคนพื้นถิ่น และชอบการอาศัยตามริมชายฝั่งแม่น้ำบางปะกง พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกงจึงกลายเป็นชุมชนหนาแน่นเกิดความเจริญขึ้นมีการสร้างบ้านเรือน ศาลเจ้า ตลาดค้าขาย วัดแสนภูดาษเองก็คงทั้งหนีภาวะน้ำท่วมและเพื่อออกมาตั้งอยู่ในย่านชุมชนที่มีความเจริญ สอดคล้องกับประวัติศาสตร์บอกเล่าและลักษณะเดิมของวิหาร (อุโบสถหลังเก่า) ใบเสมาหิน ซึ่งมีรูปแบบทางศิลปกรรมเปรียบเทียบได้กับหลักฐานพบในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยเช่นกัน



ความเป็นมาเรื่องสวนอ้อยและโรงหีบอ้อยโบราณของจังหวัดฉะเชิงเทราโดยสังเขป

ข้อมูลจากวิทยานิพนธ์ของ อังคณา แสงสว่าง เรื่องบทบาททางเศรษฐกิจของชาวจีนในจังหวัดฉะเชิงเทรา ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๙๘ - ๒๔๗๕ ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ พ.ศ. ๒๕๕๐ กล่าวถึงในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสนับสนุนให้ชาวจีนแต้จิ๋วอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งในประเทศไทยรวมทั้งจังหวัดฉะเชิงเทราด้วย และจากการวิจัยของ สกินเนอร์ จี วิลเลี่ยม กล่าวถึงชาวจีนที่อพยพเข้ามาอยู่ในสยามในช่วงต้นศตวรรษที่ ๑๙ มักอยู่เขตชายฝั่งทะเลบริเวณที่ลุ่มแถบแม่น้ำใหญ่ ๆ มีการตั้งหลักแหล่งชาวจีนในทุก ๆ เมืองรวมทั้งเมืองฉะเชิงเทรา หลักแหล่งของชาวจีนตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำบางปะกงเรื่อยมาถึงปราจีนบุรี.. แสดงว่าชาวจีนเข้ามาอยู่ในฉะเชิงเทราบริเวณบางปะกง บ้านโพธ์ บางพระ.. ในสมัยปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากความไม่สงบทางภาคใต้ของประเทศจีน ชาวจีนจำนวนมากจึงอพยพหนีภัยไปอยู่ดินแดนอื่น ๆ โดยเฉพาะประเทศไทย และในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีนโยบายส่งเสริมให้ชาวจีนอพยพมาโดย ไม่จำกัดจำนวน รวมทั้งจังหวัดฉะเชิงเทราด้วย



พระสังฆราชปาลเลกัวร์ พระสหายในล้นเกล้ารัชกาลที่ ๔ ได้กล่าวถึงคนจีนในฉะเชิงเทราว่า “ทั้งจังหวัดเป็นที่ราบลุ่มอุดมด้วยนาข้าว สวนผลไม้ และไร่อ้อย มีโรงหีบอ้อยไม่ต่ำกว่า ๒๐ โรง ซึ่งเจ้าของเป็นคนจีน” พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งโรงงานทำน้ำตาลทรายเป็นโรงหีบอ้อยหลวงที่ นครไขยศรี ๒ โรง ฉะเชิงเทรา ๑ โรง พนัสนิคม ๑ โรง โดยเฉพาะที่ฉะเชิงเทราเป็นโรงหีบอ้อยหลวงขนาดใหญ่ พระยาวิเศษฤาไชยเจ้าเมืองฉะเชิงเทราเป็นผู้ดูแลการใช้จ่ายเงิน จากข้อมูลดังกล่าวชาวจีนจำนวนมากเข้ามาตั้งหลักแหล่งเพื่อทำไร่อ้อยและตั้งโรงหีบอ้อยในอำเภอบ้านโพธิ์ บริเวณดินแดนตำบลสนาม-จันทร์ซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับตำบลแสนภูดาษ ปรากฏมีชุมชนสวนอ้อย ชุมชนห้วยโรงหีบอ้อย (ปัจจุบันเรียกเพียงโรงหีบ)



วัดแสนภูดาษ จังหวัดฉะเชิงเทรา ๒



ประวัติวัดแสนภูดาษ

วัดแสนภูดาษปัจจุบันตั้งอยู่เลขที่ ๓๖ บ้านนอก หมู่ที่ ๒ ตำบลแสนภูดาษ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา พิกัด : ๑๓.๕๘๑๑๕๙๙๙๑๗๖๔๙๒๒ . ๑๐๑.๐๒๙๖๖๔๑๐๕๓๒๒๒๗

วันเดือนปี ที่สำรวจ : ธันวาคม ๒๕๖๔

ผู้สำรวจ : นายอัฐพงษ์ บุญสร้าง

สภาพทั่วไป
บริเวณวัดตั้งอยู่บนฝั่งขวาริมฝั่งแม่น้ำบางปะกงติดกับคลองแสนภูดาษ พื้นที่ตัววัดอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๒ เมตร มีพันธุ์พืชประเภทพืชป่าชายเลน ขึ้นอยู่ริมฝั่งน้ำ มีบ้านเรือนราษฎรที่เป็นพุทธศาสนิกชนอยู่ใกล้เคียง เดิมประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำสวนยกร่องและทำนา ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นอาชีพประมงเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นส่วนใหญ่ เป็นวัดในสังกัดมหานิกาย ปัจจุบันมีพระสงฆ์จำพรรษาจำนวน ๗ รูป (ณ วันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๖) ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๔ สำหรับสร้างอุโบสถหลังใหม่ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร

การเดินทางสู่วัด
ทางบก
ออกเดินทางจากศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา ใช้เส้นทาง ๓๑๔ ถนนสิริโสธร (ฉะเชิงเทรา–บางปะกง) หลักกิโลเมตรที่ ๙ ถึง ๑๐ เลี้ยวซ้ายเข้าสามแยกแสนภูดาษ ถนนเทศบาล (วัดแสนภูดาษ) ระยะทางประมาณ ๑ กิโลเมตรเศษ ถึงวัดแสนภูดาษ

ทางน้ำ
ออกเดินทางจากศาลากลางจังหวัดใกล้สะพานฉะเชิงเทรา ข้ามแม่น้ำบางปะกง ล่องเรือไปยังปากแม่น้ำผ่านวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ (วัดเมือง) กม.ที่ ๐.๑๕ วัดโสธรวรารามวรวิหาร กม.ที่ ๓.๓ วัดไชยภูมิ-ธาราม (วัดท่าอิฐ) กม.ที่ ๕.๘ วัดผาณิตาราม กม.ที่ ๑๔.๕ วัดเกาะชัน กม.ที่ ๑๖.๔ วัดสนามจันทร์ กม.ที่ ๒๐.๙ คิดเป็นระยะทางรวมจากต้นทางถึงวัด เป็นระยะทางประมาณ ๓๐ กิโลเมตร

ศาสนสถาน
สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินบริเวณที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ ๑๐ ไร่ ๒ งาน ๘๖ ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ ๔๖๓๙ ตำบลแสนภูดาษ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา

อาณาเขต
ทิศเหนือ จด ลำประโดง
ทิศใต้ จด ที่ดินเอกชน
ทิศตะวันออก จด แม่น้ำบางปะกง
ทิศตะวันตก จด ที่ดินเอกชน

ที่ธรณีสงฆ์ จำนวน ๓ แปลง คือ โฉนดที่ดินเลขที่ ๑๑๙๐, ๒๓๓๔๑ และ ๒๒๓๓๓ เนื้อที่รวม ๓๖ ไร่ ๒ งาน ๕๓ ตารางวา

อาคารเสนาสนะประกอบด้วย
๑. อุโบสถ กว้าง ๘ เมตร ยาว ๒๔ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕

๒. วิหาร (โบสถ์หลังเก่า) กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๒๕ เมตร ปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ อาคารหลังนี้สันนิษฐานว่าสร้างมาแล้วอย่างน้อยในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ภาพที่ ๒)

๓. พระปรางค์ประธาน ๑ องค์ พระเจดีย์เก่าเหลืออยู่ ๔ องค์

๔. ศาลาการเปรียญ กว้าง ๑๔ เมตร ยาว ๓๐ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓

๕. หอสวดมนต์ กว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๖ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖

๖. กุฏิสงฆ์ จำนวน ๗ หลัง เป็นอาคารไม้ ๑ หลัง ครึ่งตึกครึ่งไม้ ๔ หลัง และตึก ๒ หลัง

๗. ศาลาบำเพ็ญกุศล จำนวน ๒ หลัง

โบราณวัตถุที่สำคัญ



๑. พระพุทธรูปหินทราย สมัยอยุธยา ปางสมาธิ ๑ องค์ พระนามว่าหลวงพ่อโต หน้าตักกว้าง ๑๒๗ เซนติเมตร สูง ๑๔๖ เซนติเมตร พระรัศมี ๒๕ เซนติเมตร ครองจีวรห่มเฉียง เปิดพระอังสาขวาปิดพระอังสาซ้าย สังฆาฏิยาวเสมอพระนาภี ด้านหน้าพับตัดตรง ชายสังฆาฏิหลังพับแบบสามเหลี่ยม พระพุทธรูปองค์นี้มีพุทธลักษณะพิเศษคือพระหัตถ์ขวามี ๖ นิ้ว ประดิษฐานในวิหาร (อุโบสถหลังเก่า) (ภาพที่ ๕)

๒. พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ สมัยอยุธยา ปางมารวิชัย ๑ องค์ หน้าตักกว้าง ๗๕ เซนติเมตร สูง ๘๖ เซนติเมตร พระรัศมี ๑๔ เซนติเมตร ครองจีวรห่มเฉียงเปิดพระอังสาซ้ายปิดพระอังสาขวา สังฆาฏิยาวเสมอพระนาภี ด้านหน้าพับตัดตรง ด้านหลังม้วนแบบเขี้ยวตะขาบ ประดิษฐานในวิหาร (อุโบสถหลังเก่า) (ภาพที่ ๖)

๓. พระศรีอริยเมตไตร (เขียนตามจารึกเดิมที่ฐานพระพุทธรูป) ครองจีวรลายดอกพิกุล อายุสมัยประมาณรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ภาพที่ ๗) พร้อมจารึกนามผู้บริจาคสร้าง ประดิษฐานในวิหาร (อุโบสถหลังเก่า) (ภาพที่ ๘)



๔. ใบเสมาหินแกรนิต อายุสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน ๘ ใบ ขนาด สูง ๖๑.๕ เซนติเมตร ฐานกว้าง ๓๕ เซนติเมตร หนา ๙.๕ เซนติเมตร สภาพสมบูรณ์ (ภาพที่ ๙)

๕. พระพุทธบาทสัมฤทธิ์มงคล ๑๐๘ ประการ ๑ องค์ ยาว ๑๔๖ เซนติเมตร กว้าง ๕๘.๕ เซนติเมตร ประดิษฐานในวิหาร (อุโบสถหลังเก่า) (ภาพที่ ๑๐)

การบริหารการปกครอง

รายชื่อเจ้าอาวาส ( เท่าที่ทราบนาม )

๑. พระแหยม ๒. พระกอย
๓. พระพินิจ วิรุฬหภโร (พ.ศ. ๒๔๗๓ - พ.ศ. ๒๔๘๖)
๔. พระครูฉันทโสภณ (พ.ศ. ๒๔๘๖ - พ.ศ. ๒๕๒๒)
๕. พระครูพิพิธพิพัฒนพิธาน (บุญลือ จั่นนิล พ.ศ. ๒๕๒๒ - ปัจจุบัน)

การศึกษา
มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ (ปัจจุบันใช้เป็นหอสวดมนต์)

ข้อมูลเอกสารบัญชีวัดและคณะสงฆ์

สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.ศ. ๑๑๗ (พ.ศ. ๒๔๔๑) ระบุว่า วัดแสนปูดาด บ้านแสนปูดาด อธิการเชื้อชาติไทย พระเชื้อชาติไทย ๑๖ รูป สวดมนต์ได้ ๑๖ รูป มากกว่า ร.ศ. ๑๑๖ จำนวน ๔ องค์ (รูป) (ภาพที่ ๑๔)

การวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น


จากหลักฐานที่พบสามารถสันนิษฐานได้ว่า วัดแสนภูดาษมีมาแล้วอย่างน้อยในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์และอาจเก่าไปถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา (ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑)

สมัยอยุธยา เนื่องจากสมัยนี้เป็นช่วงเวลาที่นิยมการสร้างพระพุทธรูปหินทราย ที่วัดแสนภูดาษมีการสำรวจพบพระพุทธรูปหินทรายภายในวัด ซึ่งนำไปสู่การเทียบเคียงอายุของวัดได้จากกลุ่มวัดที่อยู่ลุ่มน้ำเดียวกัน ซึ่งมีการสำรวจพบพระพุทธรูปหินทรายเช่นเดียวกัน ได้แก่ วัดท่าลาดเหนือ วัดท่าลาดใต้ วัดแจ้งบางคล้า วัดสัมปทวน และวัดโสธร เป็นต้น นอกจากนี้คำว่าภูดาษยังอาจจะเชื่อมโยงไปถึงการสันนิษฐานจากบริบทที่ว่า พื้นที่แสนภูดาษนี้เคยเป็นด่านเก่าที่คอยตรวจตราเรือเข้าออกของเมืองฉะเชิงเทรา โดยสังเกตจากชื่อ สำภูดาษ หรือ สามภูดาษ อันเป็นชื่อเดิมก่อนที่จะเรียกว่า แสนภูดาษ ในสมัยปัจจุบัน โดยที่คำว่า ภูดาษ นั้นแปลว่า เสมียน ซึ่งอาจหมายถึงเสมียนด่านก็เป็นได้ แต่อย่างไรก็ดีคำนี้เป็นคำโบราณที่ใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏถ้อยคำสำนวนในกฎหมายตราสามดวงที่แต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น (สมัยรัตนโกสินทร์ไม่นิยมใช้คำนี้)

ต่อมาสมัยรัตนโกสินทร์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังคงปรากฏชื่อแสนภูดาษ (สำภูดาษ) ในโคลงนิราศฉะเชิงเทรา พระนิพนธ์ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ (พระองค์เจ้าชายทินกร) คราวยกทัพไปปราบเจ้าอนุวงศ์ที่เวียงจันทน์ (พ.ศ. ๒๓๖๙) และนิราศปราจีนบุรีซึ่งไม่ปรากฏนามผู้แต่ง กำหนดอายุได้ราว พ.ศ. ๒๓๗๒ (ประพันธ์หลังศึกเจ้าอนุวงศ์ แต่แต่งก่อนการขุดคลองแสนแสบและการย้ายเมืองฉะเชิงเทรา) นิราศเรื่องนี้ได้กล่าวถึงเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาว่า มีการแทงออภูดาษตายแล้วเอาไส้มาแขวนไว้ และสมัยต่อมาเรียกว่า สำภูดาษ เรื่องราวที่ปรากฏในโคลงนิราศปราจีนบุรีนี้จะจริงหรือไม่นั้นไม่สามารถทราบได้ แต่อย่างน้อยก็สะท้อนได้ว่าชุมชนแห่งนี้น่าจะมีมาก่อนสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นไปได้ว่ามีอายุเก่าถึงสมัยอยุธยา โดยอาศัยข้อมูลจากผลการวิเคราะห์พระพุทธรูป ใบเสมาหินแกรนิต และวิหาร (อุโบสถหลังเก่า)





รวมทั้งการสัมภาษณ์ประวัติศาสตร์บอกเล่าที่มีหลักฐานแวดล้อมอย่างชัดเจนจากผู้เกี่ยวข้องหลายท่าน สามารถสันนิษฐานได้ว่าที่ตั้งวัดในปัจจุบันแต่เดิมเป็นด่านเก่าเก็บภาษีทางเรือที่ขึ้น ล่องตามแม่น้ำบางปะกง ส่วนวัดแสนภูดาษสร้างขึ้นเมื่อใดนั้นยังไม่สามารถระบุอายุได้อย่างชัดเจน เดิมตั้งอยู่ริมคลองแสนภูดาษ ห่างจากปากคลองเข้าไปประมาณ ๑ กิโลเมตร ต่อมามีหลักฐานจากประวัติศาสตร์บอกเล่าว่าได้ย้ายออกมาตั้งอยู่บริเวณปากคลองแสนภูดาษเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นการย้ายที่ตั้งเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม สิ่งเหล่านี้เป็นข้อมูลแสดงให้เห็นว่าวัดแสนภูดาษได้สถาปนาขึ้น มีการปรับเปลี่ยนย้ายสถานที่ตั้ง และมีการพัฒนาพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ผู้ค้นคว้าศึกษาประวัติศาสตร์วัดแสนภูดาษ
นายอัฐพงษ์ บุญสร้าง
ผู้ทรงคุณวุฒิด้านประวัติศาสตร์/โบราณคดี หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา นักประวัติศาสตร์และนักอนุรักษ์เข็มพระราชทาน นักอนุรักษ์ดีเด่น ปี พ.ศ. ๒๕๕๙

นายอาณัติ บำรุงวงศ์
ข้าราชการบำนาญ อดีตผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี และสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช

นายบัณฑิต ลิ่วชัยชาญ
ผู้อำนวยการกลุ่มประวัติศาสตร์ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม





วัดแสนภูดาษ จังหวัดฉะเชิงเทรา ๑





วัดแสนภูดาษ เป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่ง ตั้งอยู่บนฝั่งขวาริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง หมู่ ๒ ตำบลแสนภูดาษ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา

พระครูพิพิธพิพัฒนพิธาน (บุญลือ จั่นนิล) เป็นเจ้าอาวาสวัดแสนภูดาษ (พ.ศ. ๒๕๒๒ - ปัจจุบัน) ได้รับหนังสือจากกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ให้วัดไทยทั่วประเทศแจ้งปี พ.ศ. ที่มีการสร้างวัด แต่เนื่องจากไม่มีเอกสารหลักฐานใดที่จะใช้ประกอบข้อมูลยืนยัน ปีพ.ศ. การสร้างวัดได้ ทราบแต่เพียงว่าซุ้มประตูอุโบสถหลังเก่า (วิหารในปัจจุบัน) ที่รื้อออกไปก่อนสร้างอุโบสถหลังใหม่ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ปรากฏ ปี พ.ศ. ๒๔๖๒ อยู่บนซุ้มประตู จึงแจ้งไปว่า พ.ศ. ๒๔๖๒ เป็นปีที่สร้างวัด แม้จะทราบจากคนเก่าแก่ในชุมชนว่า วัดแสนภูดาษมีมาก่อนหน้านี้นานแล้ว

จวบจนใน พ.ศ. ๒๕๖๐ - พ.ศ. ๒๕๖๖ ได้มีผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านมีจิตอาสามาช่วยสืบค้นข้อมูลเพื่อให้ได้ประวัติวัดแสนภูดาษที่ชัดเจนขึ้น ได้แก่
พระครูสุตธรรมาภรณ์ (ผศ.,ดร.) รองเจ้าอาวาสวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ รองเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา

อาจารย์อัฐพงษ์ บุญสร้าง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านประวัติศาสตร์/โบราณคดี หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา และนักประวัติศาสตร์,นักอนุรักษ์รางวัลเข็มพระราชทานอนุรักษ์ดีเด่น พ.ศ. ๒๕๕๙

คุณอาณัติ บำรุงวงศ์ ข้าราชการบำนาญ อดีตผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี และสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช

คุณสุภาพร บำรุงวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี่ราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตวังไกลกังวล

คุณอมร ตันสุตะพานิช วุฒิอาสาธนาคารสมองจังหวัดฉะเชิงเทรา

คณะผู้ทรงคุณวุฒิได้ดำเนินการศึกษาค้นคว้าประวัติวัดแสนภูดาษอย่างต่อเนื่องด้วยการสำรวจศาสนสถาน อาคารเสนาสนะ โบราณวัตถุ เอกสารและการสัมภาษณ์บุคคลในชุมชนที่เกี่ยวข้อง แล้วนำข้อมูลที่ได้สรุป จำแนกเนื้อหาได้เป็น ๒ ส่วนคือ

ส่วนที่ ๑ ประวัติวัดแสนภูดาษจากหลักฐานด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี
ส่วนที่ ๒ ประวัติศาสตร์บอกเล่าที่เกี่ยวข้องกับวัดแสนภูดาษ

“ประวัติวัดแสนภูดาษ” เล่มนี้สำเร็จลุล่วงได้ด้วยความอนุเคราะห์จากบุคคลหลายฝ่าย โดยเฉพาะผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่าน ทั้งผู้ให้สัมภาษณ์ที่ช่วยทำให้ข้อมูลประวัติวัดแสนภูดาษชัดเจนยิ่งขึ้น ได้แก่
พลตรี สนิท หร่ายเจริญ
พลเอก จรัล กุลละวณิชย์
คุณฐิระวัตร กุลละวณิชย์
คุณโสภณ พันธนะวรพิน อดีตนายกเทศบาลตำบลแสนภูดาษ
คุณมณี กุลละวณิชย์
คุณวารุณี พงษ์พิทักษ์ (อินทุลักษณ์)
คุณอำนาจ โรจิน
คุณเพลิน อยู่ในศีล
คุณประสิทธิ์ สุขสะอาด
ผู้ที่ช่วยตรวจสอบข้อมูลเรื่องโฉนดที่ดิน ได้แก่
คุณดิรักฤทธิ์ ช่วยวงศ์ญาติ และคุณวิไลรัตน์ ยิ้มแฉ่ง
พิสูจน์อักษรโดย คุณสิรี กิจวิวัฒนกุล
คุณสมใจ วารี-รัตน์
คุณบัณฑิต ลิ่วชัยชาญ

ขออนุโมทนาในบุญกุศลที่ท่านได้บำเพ็ญ เป็นปัจจัยอำนวยจตุรพิธพรชัย คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ ธรรมสารสมบัติ มีดวงจิตเบิกบานแจ่มใสตลอดชั่วกาลนานเทอญ

พระครูพิพิธพิพัฒนพิธาน (บุญลือ จั่นนิล)
รองเจ้าคณะอำเภอบ้านโพธิ์ เจ้าอาวาสวัดแสนภูดาษ
วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๗