วันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2560

งาน CU Band ฉลอง ๑๐๐ ปีจุฬาฯ เฉลิมพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัวสองพระองค์


งาน CU Band ฉลอง 100 ปี จุฬาฯ เฉลิมพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัวสองพระองค์
เมื่อวันที่ ๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๐
ณ. โรงแรมมณเฑียร ริเวอร์ไซต์ พระราม ๓






เหตุที่ได้ จัดงาน ในวันนี้
กอปรด้วยสี่ ประการ ขอขานไข
หนึ่งเป็นเพราะ เลขมงคล นั้นดลใจ
คือเลขเก้า ชาวไทย ให้ศรัทธา






วันที่เก้า เดือนเก้า เป็นเป้าหมาย
เพื่อเชื่อมสาย สัมพันธ์แน่น ดุจแผ่นผา
สองโอกาส ครบรอบ ร้อยปีจุฬาฯ
พระเมตตา สองล้นเกล้า เราเทิดทูน






องค์สมเด็จ พระปิยะ มหาราช
ปวงข้าบาท น้อมดวงใจ แด่ไอศูรย์
สัญญามั่น หมั่นทำดี ที่เพิ่มพูน
เพื่อแทนคุณ สถานศึกษา สง่าพระนาม






สามใกล้วัน ถวายพระเพลิง พระบรมศพ
ถวายความเคารพ จากบัญชี รุ่นสามสิบสาม
พวกเราพร้อม น้อมรวมใจ ในทุกยาม
พร้อมติดตาม เป็นข้าบาท ทุกชาติไป






สี่รู้จัก คนดนตรี ซียูแบนดฺ์
จึงมีแผน ชวนเพื่อนยา อย่าไปไหน
มาฟังเพลง พระราชนิพนธ์ ล้นเกล้าไทย
เพลงจุฬาฯ ฝากไว้ ให้ยลยิน

เน้นรำลึก ถึงพระองค์ สองกษัตริย์
พระปิยะ พระภัทร ศาสตร์และศิลป์
พระคุณล้น แผ่นฟ้า ท่วมแผ่นดิน
ชั่วชีวิน ติดตรึงอยู่ มิรู้ลืม......


ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.tip.grad.chula.ac.th/wp_cutip/?p=949

นี่คือบทกวีของ เพื่อนชาวบัญชีรุ่น ๓๓ ของเรานี่เอง ที่บอกเล่าถึงที่มาของงาน CU Band ในวันนี้ ทำให้นึกถึงพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ศาลฎีกาภาษาไทยในต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ท่านเป็นชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา และมีความจงรักภักดีในพระมหากษัตริย์เป็นอย่างมากควรเป็นตัวอย่างแก่คนรุ่นหลัง และเราชาวบัญชี รุ่น ๓๓ ก็จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ดังบทกวีข้างต้น


ซึ่งก่อนการตัดสินใจไปร่วมงานครั้งนี้ ของพลอยโพยม ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรรณพร วีรวัฒน์ อาจารย์เกษียณจากสถาบันภาษาและอดีตนายกสโมสรอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรืออาจารย์เป้า  บอกว่า งานนี้รุ่นเรายกวง CU Band มาตั้งวงที่โรงแรมที่จัดงาน นอกจากชมคอนเสิร์ตแล้ว งานนี้ก็เพื่อฉลองวาระโอกาสที่จุฬา ฯ ครบร้อยปีและเทิดพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัวสองพระองค์ คณะกรรมการจัดงานจึงขอเชิญ เพื่อน ๆ ไปฟังเพลง และสนุกร่วมกันพร้อมอาหารกลางวัน


บรรยากาศหน้าห้องจัดงาน



ภาพบรรยากาศของงาน บางส่วน ภายในห้องเจ้าพระยา ชั้น ๓





เมื่อได้เวลาตามโปรแกรมของงานและชาวบัญชีจุฬา รุ่นที่ ๓๓  ได้ทักทายกันพอหอมปากหอมคอ ซึ่งคราวนี้ผู้จัดงานให้เวลาในส่วนนี้ค่อนข้างน้อย เพราะในปี ๒๕๖๐  ชาวบัญชีจุฬา รุ่นที่ ๓๓ ได้มีกิจกรรมร่่วมกันเท่าทีทราบ คือ

๑.การไปร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศล ให้เพื่อนๆ ร่วมรุ่นที่เสียฃีวิตไปแล้ว ที่โรงพยาบาลสงฆ์  ทราบว่าปีนี้ เพื่อนๆ ไปร่วมงานกันมากรวมทั้งเพื่อน ๆ ที่ไม่ได้ไปร่วมทำบุญ แต่ฝากเงินมาร่วมทำบุญ เหลือเงินเมื่อหักค่าใช้จ่าย(ในการทำบุญ) แล้ว แสนบาทเศษ และได้จัดสรรเงินนี้เพื่อการกุศล แบ่งเป็นห้าองค์กร และมีตัวแทนนำไปดำเนินการ

๒. งานสังสรรค์บัญชีรุ่นที่ ๓๓ ซึ่งก็จัด ณ สถานที่เดียวกับวันนี้  มีการจัดงานอย่างต่อเนื่องมาหลายปีในปี ๒๕๖๐ ก็ได้มีการจัดงานไปแล้ว

๓.การเป็นเจ้าภาพพระพิธีกรรมสวดพระอภิธรรมพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

พอน้องๆ CU Band ขึ้นดนตรี เพลง มหาจุฬากรณ์ ทุกคนก็ยืนตรงร่วมร้องกันทุกคน





พิธีกร ก็เริ่มงาน มี โดยเชิญรุ่นพี่รุ่นที่ ๓๓  กล่าวเปิดงาน






มีการกล่าวเปิดงานด้วยบทกวีดังกล่าวข้างต้น บอกวัตถุประสงค์ของการจัดงานในวันนี้และเชิญชวนผู้มาร่วมงานสนุกสนานกันให้เต็มที่กับวงดนตรี CU Band





หลังการกล่าวเปิดงานแล้วน้องพิธีกรก็เสริมว่า วันนี้พวกรุ่นน้องได้มามองเห็นภาพอนาคตของพวกเขาในวันหน้าแล้วว่าจะมีภาพเช่นไร (ทำเอาพวกพี่ๆ ไม่ค่อยกล้าเต็มที่กับความสนุกสนานสำราญใจ คือต้องกั๊กไว้บ้างเล็กน้อยเพราะฃักเกิดอาการเขินอาย น้องๆ ที่ห่างรุ่นกันแค่สี่สิบกว่าปีนัั่นเอง) น้องบอกว่าขอให้พี่ ๆ สนุกกันให้เต็มที่ อยากทำอะไรก็ทำได้เลยยกเว้นห้ามแย่งไมค์นะครับ



แล้วก็มีเสียงห้าวใหญ่ทรงพลังดังขึ้นว่า Ba Ka
แล้วผู้อยู่ในห้องทุกคนก็ประสานเสียง
Bow Bow
Cheerka Chow Chow
Ba Bow Cheer Chow
Who are we?
Chulalongkorn
Can you see?…..LA



แน่นอน นี่คือเพลง Boom Cheer จุฬาฯ ที่เคยเร้าใจพวกเรามาเนิ่นนานถึง ๔๕ ปีแล้ว พอ LEADER ขึ้นต้นเสียง เลือดในตัวพวกเราทุกคนก็ร้อนฉ่าด้วยบรรยากาศเก่า ๆ ทันที ทุก ๆ เพลงเชียร์และเพลงมหาวิทยาลัยทุกเพลงซึมซับในจิตวิญญาณของพวกเรามาเนิ่นนานไม่ขึ้นกับกาลเวลา เพราะอยู่ในใจพวกเราอมตะนิรันดร์กาลนั่นเอง



หลังจากนั้น น้อง ๆ วง CU Band ก็เริ่มต้น ร้องเพลงบรรเลงดนตรีแสนเสนาะไพราะโสตให้พวกเราดื่มด่ำรำลึกเรื่องราวครั้งยังเป็นนิสิต   นึกถึงบรรยากาศวันรับน้องใหม่ ครั้งเราเป็นรุ่นน้อง การขึ้นแสตนเชียร์ การร้องเพลงเชียร์ต่าง ๆ    และพวกเรายังมีโอกาสรับเสด็จวันทรงดนตรีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และร่วมในหอประชุมขณะทรงดนตรี  และการเลื่อนระดับเป็นรุ่นพี่  จนเป็นซีเนียร์ จวบจนวันรับพระราชทานปริญญาบัตร










เท่าที่จำได้ว่ามีเพลงดังรายชื่อข้างล่าง ที่น้อง CU Band ร้องมอบให้รุ่นพี่ ๓๓ และ ๓๕ คือ
เกียรติภูมิจุฬาฯ
ขวัญใจจุฬาฯ
จามจุรีประดับใจ
จามจุรีศรีจุฬาฯ
ดาวจุฬาฯ
ลาแล้วจามจุรี
อุทยานจามจุรี








และโดยเฉพาะ C.U.POLKA

Come – on and play the C.U.POLKA Come – on and do our “boom boom bam” ! Come – on and play the C.U.POLKA And you will pass the re -exam ! Come – on and play the C.U.POLKA Let’s go – a – boom – boom night and day ! Don’t ever stop to boom – boom – bam And you will pass the re – examLet’s go our C.U. way : “Boom – ba – la -ka Bow -bow – bow Chik – a – la – ka Chow – chow – chow Boom -a – lak – a – bow Chik – a – lak – a – chow Who are we ? Chulalongkorn ! Can’t you see ? Rah !” Come – on and play the C.U.POLKA And you will know that life is gay Come – on and play the C.U.Polka Throw all those gloomylooks away ! Come – on and play the C.U.Polka Forget those lectures and be gay Don’t ever stop to boom – boom – bam And you will pass the re – exam Let’s go our C.U. way : “Boom….. ………….Rah….! When C.U. boys say “Boom – ba – la – ka !” They mean to say “Dear,I love you !” When C.U.girls say “Chick – a – la – ka ! ‘ They mean to say ” I love you too !” So let us sing this C.U..POLKA Let’s fall in love on C.U.DAY ! Don’t ever stop to boom – boom – bam And you will pass the re – exam Let’s go our C.U.way!




เพลงนี้ก็มีการเต้นดวลกันโดยยืนละฝั่งระหว่างรุ่นพี่ฟากหนึ่งรุ่นน้องฟากหนึ่ง ดวลกันจนพรมปูพื้นแทบลุกเป็นไฟปานฉะนั้นทีเดียว และรุ่นพี่ก็แอบหอบแฮกไม่ให้รุ่นน้องรู้




ซึ่งนอกจากเพลงของเราชาวจุฬาฯแล้ว นักร้องก็นำเพลงไพเราะมากมายมาขับกล่อมแกล้มอาหารเลิศรสและหรูด้วยเมนูเด็ดมากมาย




และมีเพลงหกสิบยังแจ๋วหยอดเป็นยาหอมแจกพี่ ๆ ให้กระชุ่มกระชวยในหัวใจ
น้อง ๆ ย้ำว่า พี่รุ่น ๓๓ หกสิบยังแจ๋วจริง ๆ มีส่วนร่วมกับนักร้องนักดนตรีมาก ขนาดไปงานของอายุจริงสามสิบกว่า ๆ หรือ วัยอื่น ๆ ส่วนใหญ่จะเงียบเหงาไม่ครึกครื้นแบบนี้  คนร้องก็ร้องไป คนเล่นดนตรีก็เล่นไป คนฟังก็ ฟังไป กินไป คุยไป ไม่เหมือนรุ่นนี้เลยมีส่วนร่วมกับวงและนักร้องตลอด พวกเขาสนุกกันมาก






แต่งานเลี้ยงก็ย่อมต้องเลิกรา CU Band มีคิวต้องไปแสดงต่อที่อื่นอีก พูดกันว่าคิวการแสดงต่อแถวกันยาวเป็นหางว่าวแบบว่าวจุฬา








รุ่นพี่ โดยตัวแทนรุ่นพี่่ ๓๓ คนหนึ่งมอบช่อดอกไม้ อีกคนเป็นตัวแทนรุ่นพี่ที่มางานในวันนี้มอบน้ำใจไมตรีอันอบอุ่นให้แด่น้อง ๆ โดยร่วมกันบรรจุความรักความชื่นชมน้องๆ ไว้ในซองสีขาว ปิดผนึกด้วยสายสัมพันธ์ชาวสีชมพู  อีกทั้งมีตัวแทนรุ่นพี่รุ่นที่ ๓๕ มอบช่อดอกไม้อีกช่อหนึ่งด้วย

















ชาวสถิติ ๕



หกสิบยังแจ๋วทั้งสวยและหล่อจริงๆ

แล้วเวทีก็ต้องปิดม่านและอำลาจากกันด้วยการถ่ายภาพร่วมกันหน้าเวที

พลอยโพยมขอเป็นตัวแทนเพื่อน ๆ ที่ไปร่วมมีความสุขในวันนี้ ขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านที่ทำให้เกิดงานวันนี้ขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้อง ๆ วง CU Band ทั้งนักร้อง นักดนตรี หัวหน้าวง ผู้อยู่เบื้องหลังของวง ที่หยิบยื่นความสุขสนุกสนานให้พวกเรา ขอให้ทุกท่านจงเจริญ คิดเงินให้ได้เงิน คิดทองให้ได้ทอง สุขภาพแข็ง ไร้ทุกข์ ไร้โศก ไร้โรค ไร้ภัย ตลอดไป
สำหรับภาพที่พลอยโพยมนำมาประกอบมีหลายภาพที่ไม่ชัด (เพราะด้อยฝีมือ) และอาจมีไม่ครบทุกมุม ก็ต้องขออภัยเพื่อน ๆ ส่วนภาพที่คมชัดนั้นเพราะอาศัยภาพจากห้องไลน์นั่นเอง

วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2559

ต้นบุนนาค

ต้นบุนนาค



ต้นบุนนาค” หรือ “ต้นนาค” มีชื่อพื้นเมืองที่เรียกกันต่างไปในแต่ละท้องถิ่นของไทย คือ นาคบุตร, ปะนาคอ, สารภีดอย, ก๊าก่อ, ก้ำก่อ เป็นต้น

ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mesua ferrea Linn.
วงศ์ Guttiferae



เป็นไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ สูงประมาณ 15-25 เมตร ลำต้นเปลาตรง เปลือกเรียบสีน้ำตาลปนเทา เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ


ใบเป็นใบเดี่ยว รูปหอกหรือรูปขอบขนาน ออกตรงข้ามกัน ปลายใบแหลม โคนใบมน เนื้อใบเหนียวและค่อนข้างแข็งเป็นมัน


ใบอ่อนของบุนนาค

ยามเมื่อผลิใบอ่อนจะเป็นสีชมพูสดใสสวยงาม เมื่อใบแก่จะมีสีเขียวเข้ม

ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกเป็นกลุ่มตามซอกใบ ดอกใหญ่สีขาว มี ๔ กลีบกลีบดอกหนา มีกลิ่นหอมมาก กลางดอกมีเกสร ตัวผู้สีเหลืองสดจำนวนมาก ส่วนเกสรตัวเมียจะมีสีขาว

ช่วงเวลาออกดอกราวเดือนมีนาคม-กรกฎาคม ส่วนผลเป็นรูปไข่ ปลายผลแหลม เปลือกหนาแข็ง ภายในมีเมล็ด สีดำแข็ง ราว ๑ - ๔  เมล็ด





นอกจากจะมีกลิ่นหอมมากแล้ว บุนนาคยังมีสรรพคุณ ด้านพืชสมุนไพรมากมาย กล่าวคือ
ใบใช้แก้เสมหะและพอกสมานแผลสด,
ดอกใช้ปรุงเป็นยาบำรุงโลหิต บำรุงธาตุ บำรุงหัวใจ แก้อาการร้อนอ่อนเพลีย ขับเสมหะ ขับลม แก้กระหายน้ำ ระงับกลิ่นตัว,
ผลมีฤทธิ์ช่วยขับเหงื่อ และฝาดสมาน,
เมล็ดแก้โรคปวดตามข้อ รักษาโรคผิวหนัง,
รากใช้เป็นยาขับลมในลำไส้



สำหรับประโยชน์ด้านอื่นๆ ก็มีมากเช่นเดียวกันคือ
ลำต้นใช้ทำไม้หมอนรางรถไฟ งานก่อสร้าง ต่อเรือ และเครื่องเรือนต่างๆ
เปลือกลำต้นบดเป็นผงใช้แต่งกลิ่นธูปหอม
น้ำที่กลั่นได้จากดอกใช้แต่งกลิ่นสบู่
และน้ำมันจากเมล็ดใช้จุดตะเกียง และทำเครื่องสำอาง



ในพระไตรปิฎก ฉบับธรรมทาน หัวข้อ ‘ปุนนาคปุปผิยเถราปทาน’ ได้กล่าวถึง ผลแห่งการถวาย ‘ดอกบุนนาค’ บูชาของพระปุนนาคปุปผิยเถระ ไว้ว่า

“เราเป็นพรานเข้าไป (หยั่งลง) ยังป่าใหญ่ เราได้พบต้นบุนนาคมีดอกบาน จึงระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ได้เลือกเก็บดอกบุนนาคนั้น เอาแต่ที่มีกลิ่นหอมสวยงาม แล้วก่อสถูปบนเนินทรายบูชาแด่พระพุทธเจ้าในกัลปที่   ๙๒  แต่กัลปนี้ เราได้บูชาพระพุทธเจ้าด้วยดอกไม้ใด ด้วยการบูชานั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา ในกัลปที่   ๙๑ แต่กัลปนี้ ได้มีพระเจ้าจักรพรรดิพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า ตโมนุทะ ทรงสมบูรณ์ด้วยแก้ว   ๗ ประการ มีพลมาก คุณวิเศษเหล่านี้ คือปฏิสัมภิทา ๔วิโมกข์  ๘  และอภิญญา  ๖ เราทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้”



และในหัวข้อ ‘คิริปุนนาคิยเถราปทาน’ ได้กล่าวถึง ผลแห่งการถวาย ‘ดอกบุนนาค’ บูชาของพระคิริปุนนาคิยเถระ ไว้ว่า

“ครั้งนั้น พระสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโสภิตะ ประทับอยู่ที่ภูเขาจิตตกูฏ เราได้ถือเอาดอกบุนนาคเข้ามาบูชาพระสยัมภูในกัลปที่ 94 แต่กัลปนี้เราได้บูชาพระสัมพุทธเจ้า ด้วยการบูชานั้นเราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้”



การเป็นมงคล คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นบุนนาคไว้ประจำบ้านจะทำให้เป็นผู้มีความประเสริฐและมีบุญ เพราะบุนนาคคือผู้มีบุญผู้ประเสริฐ และยังเชื่ออีกว่ายังสามารถป้องกันภัยอันตรายจากภายนอกได้อีกด้วย เพราะใบของบุนนาคสามารถรักษาพิษสัตว์ต่างๆ ได้ เช่น พิษงู 
นอกจากนี้แล้ว นาคยังหมายถึงพญานาค ซึ่งเป็นพญาสัตว์ชนิดหนึ่งในสมัยพุทธกาล ที่มีแสนยานุภาพในอันที่จะปกป้องและคุ้มครองพิษภัยได้

ปัจจุบัน บุนนาคเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดพิจิตร





ต้นบุนนาคที่เป็นต้นไม้ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มีหลายพระองค์ดังนี้
๖.พระสุมังคลพุทธเจ้า (ผู้เป็นบุรุษประเสริฐ) ต้นนาค หมายถึง ต้นบุนนาค
๗.พระสุมนพุทธเจ้า (ผู้เป็นวีรบุรุษมีพระหฤทัยงาม) ต้นนาค หมายถึง ต้นบุนนาค
๘.พระเรวตพุทธเจ้า (ผู้เพิ่มพูนความยินดี) ต้นนาค หมายถึง ต้นบุนนาค
๙..พระโสภิตพุทธเจ้า (ผู้สมบูรณ์ด้วยพระคุณ) ต้นนาค หมายถึง ต้นบุนนาค

ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.baanmaha.com
https://groups.google.com/forum/#!topic/morkeaw/fQtTINTgwhk
ขอขอบคุณข้อมูลจากhttp://www.watkaokrailas.com