วันศุกร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2557

นครกุสินารา ๔ พระเจ้าจักรพรรดิมหาสุทัสสนะ ๑



ขอขอบคุณภาพจากhttp://board.palungjit.org/f13/พระนางสามาวดี-เอตทัคคะผู้ถูกไฟคลอกก่อนไปสรวงสวรรณค์-317950.html

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า
ดูกร อานนท์ กุสินารานคร มีนามเดิมว่า กุสาวดี มีพระเจ้าจักรพรรดิทรงพระนามว่า มหาสุทัสสนะ เป็นกษัติฃริย์ผู้ได้มุรธาภิเษกในแผ่นดิน มีมหาสมุทรทั้ง ๔ ทิศเป็นขอบเขต โดยด้านยาว ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกวัดได้ ๑๒ โยชน์ ทิศเหนือและทิศใต้ วัดได้ ๘ โยชน์


พระเจ้ามหาสุทัสสนะ จักพรรดิผู้เป็นอิสราธิบดีในปฐพีมงคล ทรงชำนะปัจเจกมิตรโดยธรรม ไม่ต้องใช้ทัณฑ์และสาตราวุธ ชนบทชายแดนสงบราบคาบ ปราศจากโจรผู้ร้าย ประตูบ้านปราศจากลิ่มสลัก เป็นนครที่รื่นรมย์ ร่มเย็นสมเป็นราชธานีแห่งพระเจ้าจักรพรรดิราชอย่างแท้จริง ถึงกระนั้นก็ตาม เมืองกุสาวดียังได้แวดล้อมด้วยกำแพงสูง ๗ ชั้น แต่ละกำแพงทำด้วยวัตถุแตกต่างกันไป คือ ทอง เงิน แก้วไพฑูรย์ และแก้วผลึก ตามลำดับ



พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงมีแก้ว ๗ ประการดังนี้



๑. จักรแก้ว (จกฺกรตน) อันเป็นทิพย์ปรากฏขึ้นแก่ท้าวเธอ เมื่อท้าวเธอสรงสนานพระเศียรในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ อันเป็นวันอุโบสถ พระองค์ทรงถือศีล รักษาอุโบสถ (คือ ๘) จากนั้นจึงชูจักรแก้วขึ้นด้วยพระหัตถ์ขวา แล้วกล่าวว่า

"จักรแก้วอันเจริญ จงหมุนไป จงนำชัยชนะกลับมาพลัน จักรแก้วน้้นก้หมุนไป เมื่อจักรแก้วนั้นหมุนไปหยุดอยู่ ณ ประเทศใด ๆ ท้าวเธอพร้อมด้วยจาตุรงคสันนิบาต จะเสด็จเข้าไปพักแรมในประเทศนั้น ๆ พระราชาผู้เป็นปฏิปักษ์ย่อมนอบน้อมต่อท้าวเธอ "

๒.ช้างแก้ว (หตฺถิรตน) เป็นช้างเผือกล้วน เป็นที่พึ่งของเหล่าสัตว์ มีฤิทธิ์ไปในอากาศชื่อว่า อุโบสถ ท้าวเธอจะเสด็จขึ้นทรงแล้วเสด็จเลียบไปตลอดปฐพี อันมีสมุทรเป็นขอบเขต แล้วจึงเสด็จกลับกรุงกุสาวดีเพื่อเสวยพระกระยาหารเช้า เป็นเช่นนี้ทุกวัน

๓.ม้าแก้ว (อสฺสรตน) เป็นม้าสีขาวปลอดแต่ศรีษะดำ มีฤิทธิ์เหาะได้เหมือนกับช้างแก้วมีชื่อว่า "วลาหกกอัศวราช"


ขอขอบคุณภาพจากhttp://0.static-atcloud.com/files/entries/5/51567/images/1_original.jpg

๔. แก้วมณี ( มณิรตน) เป็นแก้วไพฑูรย์อันเกิดเองอย่างบริสุทธิ์ สุกใส แวววาวสมส่วนทุกอย่าง แสงสว่างของแก้วมณีแผ่ไปโดยรอบ ประมาณ ๑ โยชน์ แม้ในยามราตรีแสงแห่งแก้วมณี ก็สาดส่องสว่างไสวราวกับว่าเป็นกลางวัน

๕. นางแก้ว (อิตฺถีรตน) เป็นสตรีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ผิวพรรณผุดผ่อง มีกลื่นจันทน์หอมฟุ้งออกจากร่างกาย กลิ่นอุบลหอมฟุ้งออกจากปาก ตื่นก่อนนอนทีหลัง ประพฤติต้องพระทัย

๖.คหบดีแก้ว (คหปติรตน) หรือเรียกว่าขุนคลังแก้ว เป็นคนช่วยจัดการทรัพย์สินอย่างดีเลิศ เป็นคนตาทิพย์ เพราะเกิดจากผลแห่งกรรม สามารถมองขุมทรัพย์ที่มีเจ้าของและไม่มีเจ้าของ


๗ ปรินายกแก้ว (ปริณายกรตน) หรือเรียกว่า ขุนพลแก้ว เป็นบัณฑิตเฉียบแหลม มีปัญญาสามารถจัดการเรื่องที่ควรเสด็จ หรือไม่ควรเสด็จถวายแด้ท้าวเธอ


ขอขอบคุณภาพจากblog.lenyajewelry.co.th

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ)

วันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2557

นครกุสินารา ๓




ขอขอบคุณภาพจากwww.dmc.tv

ในสมัยแห่งกาลเสด็จปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ สาลวัน ใกล้กรุงกุสินารา
พระอานนท์กราบทูลขอร้องว่า

ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า อย่าเสด็จปรินิพพานในเมืองเล็ก เมืองดอน กิ่งเมือง เช่นนี้เลย เมืองใหญ่เช่น ราชคฤห์ สาวัตถึ โกสัมพี พาราณสี    เหล่ากษัตริย์ พราหมณ์มหาศาล คฤหบดีมหาศาล ที่เลื่อมใสในพระตถาคตมีอยู่มาก ท่านเหล่านั้นจักกระทำสักการะบูชา สรีระของพระตถาคตเจ้า "

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

"อานนท์ กุสินารานี้แต่ปางก่อนเป็นราชธานีมีนามว่า กุสาวดี พระเจ้ามหาสุทัสสนะเป็นกษัตริย์ ได้รับมธุราภิเษกทรงเป็นพระราชาโดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดิน เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ กุสาวดีเป็นเมืองที่มั่งคั่ง รุ่งเรือง มีชนมาก มีภักษาหาได้ง่าย กุสาวดีราชธานี ไม่เคยเงียบจากเสียงช้าง เสียงม้า เสียงรถ เสียงกลอง เสียงตะโพน เสียงพิณ เสียงขับร้อง เสียงกังสดาล เสียงประโคม และเสียงชนทั้งหลายว่า ท่านจงมาดื่ม จงมาบริโภคเถิด ทั้งกลางวันและกลางคืน "

พระพุทธองค์ตรัสเล่าถึงอานิสงส์แห่งทาน ที่พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงได้รับในครั้งนั้นว่า

พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงถวายทานในสมณะทั้งหลายด้วยสมณบริขาร อุปถัมภ์พราหมณ์ ทั้งหลายด้วยพราหมณบริขาร ทรงดำริจัดหาความสุขแก่ชาวนครของพระองค์ โดยให้ทานแก่มหาชนทั้งหลาย ด้วยเครื่องอุปโภค บริโภค และวัตถุที่ต้องการทั้งปวงของชนเหล่านั้น ผู้ใดปรารถนาสิ่งใดก็รับเอาไป การงานอย่างอื่นของชาวนครทั้งหลายไม่มี ชาวชมพูทวีปบริโภคทานของพระราชาเท่านั้น

พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ทรงประพฤติพรมจรรย์ ทรงเจริญพรหมวิหารธรรม ๔  หลังจากสวรรคตได้เสด็จเข้าถึงพรหมโลกแล้ว



ขอขอบคุณภาพจาก http://www.naryak.com/forum/บึงบอระเพ็ด-f1-t83.html


พระพุทธองค์ตรัสสอนพระอานนท์ว่า

"อานนท์เธอจงดูเถิด สังขารเหล่านั้นล่วงไป ดับไป แปรไปหมดแล้ว อานนท์ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงอย่างนี้ ไม่ยั่งยืนอย่างนี้ ไม่น่ายินดีเหล่านี้ อานนท์ เพราะเหตุนี้ควรจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง เพราะเมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้วย่อมมีญาณรูเว่า ชาติสิ้นแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว"

เมื่อได้พรรณนาความรุ่งเรืองแห่งกรุงกุสาวดีให้พระอานนท์ฟัง


ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.oknation.net/blog/suthichai/page18

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า

"อานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะในสมัยนั้นคือเราตถาตคในปัจจุบัน เราย่อมรู้ที่ทอดทิ้งร่างกาย อานนท์ เราไม่เห็นสถานที่ใดในโลก ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ทั้งหลายทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ ที่ตภาคต จะทอดทิ้งร่างกายเป็นครั้งสุดท้าย นอกจากสถานที่นี้ "

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ)

วันพุธที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2557

นครกุสินารา ๒




ขอขอบคุณภาพจากbuddhaforyou.wordpress.com

การปรับไหมผู้ไม่รับเสด็จพระพุทธองค์

พระบรมศาสดาได้เสด็จจาริกมายังนครกุสินารา โรชะมัลลกษัตริย์ถวายการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติยิ่ง เนื่องจากพระอานนท์และโรชะมัลลกษัตริย์เป็นสหายกันมาก่อน พระอานนท์ได้กล่าวชมการต้อนรับครั้งนี้
โรชะมัลลกษัตริย์ตรัสว่า
"ที่ข้าพเจ้ากระทำการต้อนรับอย่างมโหฬารเช่นนี้ เนื่องด้วยพวกญาติตั้งกติกาไว้ว่า ผู้ใดไม่ต้อนรับเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า จะต้องถูกปรับสินไหม ๕๐๐ กหาปณะ ข้าพเจ้ามิได้ทำด้วยความศรัทธาของตน "
พระอานนท์ไม่คาดว่าจะได้รับคำตอบเช่นนั้น จึงเข้าไปกราบทูลพระบรมศาสดา เพื่อจะหาทางทำใฟ้โรชะมัลลกษัตริย์เกิดความเลื่อมใสในพระตถาคตและพระธรรมวินัย
พระพุทธองค์ตรัสว่า
"อานนท์ การที่จะให้โรชะมัลลกษัตริย์เลื่อมใสนั้น ตถาคตทำได้ไม่ยากเลย "
ลำดับนั้น พระองค์ทรงแผ่เมตตาจิตไปยังโรชะมัลลกษัตรย์ แล้วเสด็จเข้าไปในวิหาร
โรชะมัลลกษัตริย์อันพระเมตตาจิตของพระพุทธองค์สัมผัสแล้ว ได้เที่ยวตามหาพระพุทธองค์ไปทั่วบริเวณ ดุจโคแม่ลูกอ่อนตามหาลูกของตน




ขอขอบคุณภาพจากsites.google.com

พวกภิกษุทั้งหลายถวายพระพรว่า พระพุทธองค์ประทับอยู่ในวิหาร พระทวารนั้นปิดเสียแล้ว แต่แนะนำให้เคาะพระทวาร
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเปิดทวารรับ ได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถา แล้วทรงประกาศอริยสัจ ๔
โรชะมัลลกษัตริย์ได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว กราบทูลขอประทานวโรกาส ให้พระภิกษุสงฆ์รับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัย เภสัชบริขาร ของพระองค์แต่ผู้เดียว โดยไม่รับของผู้อื่น
พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ ตรัสว่า
"ภิกษุในธรรมวินัยนี้ จักรับปัจจัยของท่านด้วย ของผู้อื่นด้วย เพื่อความอนุเคราะห์แก่ชนทั้งทั้งหลายโดยถ้วนหน้ากัน"
ขณะที่โรชะมัลลกษัตริย์รอลำดับเพื่อจะถวายภัตตาหาร ได้เสด็จเข้าไปสำรวจโรงครัว ได้เห็นสิ่งที่ยังขาดอยู่ ๒ อย่างคือ
ผักสด ๑ ของขบฉันที่ทำด้วยแป้ง ๑ จึงเข้าไปหารือพระอานนท์ว่า สองอย่างนี้เป็นสิ่งสมควรหรือไม่ที่จะถวายแก่สงฆ์
พระอานนท์กราบทูลเรื่องนี้แก่พระศาสดา พระองค์จึงทรงอนุญาต ผักสดทุกชนิด และของขบฉันที่ทำด้วยแป้ง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ)

วันอังคารที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2557

นครกุสินารา ๑.





กุสินารา (ฮินดี: कुशीनगर, อูรดู: کُشی نگر, อังกฤษ: Kusinaga, Kushinagar)

นครกุสินารราปัจจุบันได้แก่ตำบลกาเซีย (Kasia) ในเขตการปกครองของจังหวัดกุศินาคาร์ (Kushinagar )รัฐอุตตรประเทศ มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น กุสาวดี กุสินคร กุสิคราม กุสินคร หลวงจีนถังซำจั๋งเรียกว่า เกา สิน นครโร ปัจจุบันเรียกตามภาษาสันสกฤตว่า กุศินาคาร์ (Kushinagar ) ตามภาษาบาลีว่า กุสินารา (Kusinara )

นครกุสินาราเป็นสังเวชนียสถานแห่งหนึ่ง ที่พระพุทธองค์โปรดเลือกเป็นที่ปรินิพพานด้วยพระองค์เอง ทั้งที่พระอานนท์กราบทูลให้ทรงเลือกเมืองใหญ่เพื่อเป็นที่ปรินิพพาน เช่น เมืองจัมปา เมืองราชคฤห์ เมืองสาวัตถี เมืองสาเกต เมืองโกสัมพี และเมืองพาราณสี เมืองใดเมืองหนี่ง พระพุทธองค์ทรงยืนยันกับพระอานนท์ว่า

กุสินาราในอดีตชื่อว่ากุสาวดี มีพระจักรพรรดิราชาสุทัสสนะ เป็นผู้ครองนคร เป็นศูนย์กลางของเมืองใหญ๋ถึง ๘๔,๐๐๐ เมือง มั่งคั้งอุดมสมบูรณ์มาก มีประชากรหนาแน่น สมบูรณ์ด้วยสิ่งของต่าง ๆ นานาชนิด กึกก้องไปด้วยศัพท์สำเนียง ทั้งกลางวันและกลางคืน ๑๐ ชนิด มีอาณาเขตยาวถึง ๑๒ โยชน์ กว้าง ๗ โยชน์ แต่ตามที่หลวงจีนถังซำจั๋งไปพบบอกว่า มีอาณาบริเวณ ๑๐ ลี้โดยรอบ



ขอขอบคุณภาพจากwww.watkoh.com

กุสินาราในอดีตเป็นเมืองการค้าที่สำคัญ ตั้งอยู่ระหว่างเมืองสาวัตถี กับเมืองราชคฤห์ และเมืองพาราณสี ตัวเมืองตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำหิรัญวดี
ประวัติศาสตร์เก่าได้บอกระยะทางระหว่างเมืองกุสินารากับเมืองอื่นไว้ คือ
กุสินาราอยู่ห่างจากเมืองปาวาท ๓ คาวุต
ห่างจากเมืองราชคฤห์ ๒๕ โยชน์
ห่างจากเมืองสาคละ ๑๐๐ โยชน์
ห่างจากเมืองสาวัตถึ ๗๐๐ หรือ ๕๐๐ ลี้


ขอขอบคุณภาพจากwww.panoramio.com

พระพุทธองค์เสด็จมาเมืองกุสินาราหลายครั้ง ชาวเมืองกุสินารามีความจงรักภักดีในพระพุทธองค์เป็นอย่างยิ่ง ถึงกับตั้งกฎเกณฑ์ปรับไหมราษฎรผู้ไม่รับเสด็จ และไม่อาราธนาเข้าสู่เมือง ข้อความนี้ปรากฎในพระวินัย
ครั้งหนึ่งเมื่อพระพุทธองค์ประทับที่พลิหลณวัน ป่าใกล้เมืองกุสินารา ทรงแสดง กุสินาราสูตร กินติสูตร มหาสุทัสสนสูตร และมหาสุทัสสนชาดก

เพราะเหตุใดพระพุทธองค์จึงทรงมีพระประสงค์ที่จะเสด็จมาปรินิพพานยังเมืองกุสินารา ทั้งที่จะต้องเดินทางจากที่ ที่พระองค์ประสูติ ตรัสรู้ และแสดงปฐมเทศนา มาเป็นระยะทางแสนไกล

ในอรรถกถาสุมังคลวิลาสินี แสดงเหตุผลที่ทรงพิจารณาในการเลือกเมืองปรินิพพานไว้หลายประการคือ

๑.เป็นการเหมาะสมที่จะแสดงมหาสุทัสสนสูตร ชนเป็นอันมากเมื่อฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์แล้ว จักสำคัญกุศลว่าควรกระทำ
๒. เพื่อโปรดปัจฉิมสาวก คือสุภัททปริพาชก ให้บรรลุมรรคผลนิพพาน ขณะนั้นพระสุภัททปัจฉิมสาวก กำลังอยู่ที่เมืองกุสินารา
๓.โทณพราหมณ์เป็นผู้แก้ปัญหาแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ระงับการวิวาท

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ)
สารานุกรมวิกิพีเดีย

วันจันทร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แคว้นมัลละ ๒





การขุดค้นสำรวจ ได้พบพระพุทธรูปหินใหญ่ปางเสด็จ บรรทมปรินิพพานยาว ๒๐ ฟุต สร้างประดิษฐานไว้ ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๕ (พ.ศ. ๙๐๐ เศษ) กับซากสถูปเก่าแก่แผ่นจารึกภายใน บอกว่าเป็น ปรินิพพานสถูป อันเป็นเครื่องบ่งชัดว่าสร้างหมายจุดที่เสด็จปรินิพพาน รวมทั้งซากสถูปเจดีย์ใหญ่น้อย และซากกุฏิวิหารโดยรอบอีกด้วย

ที่ตั้งของตัวเมืองกุสินารา ยังไม่ได้ทำการขุดค้นให้เป็นที่ยืนยันแน่นอน แต่นักโบราณคดีรวมทั้งชาวพุทธอินเดียทั่วไป ลงความเห็นว่า ได้แก่หมู่บ้านซึ่งมีชื่อในปัจจุบันว่า อนรุธวา หรือ อนิรุธวา ซึ่งอยู่ห่างจากที่เสด็จปรินิพพาน ที่ค้นพบแล้วนี้ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ไม่ไกลกันนักสถานที่ซึ่งได้ค้นพบและลงความเห็นแน่นอนแล้ว



อีกแห่งหนึ่งที่กุสินารานี้คือ มกุฏพันธนเจดีย์ที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ซึ่งมีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่ารามภาร์-กา-ฏีลา อยู่ห่างจากที่ เสด็จปรินิพพานประมาณกิโลเมตรเศษ มีซากสถูปใหญ่เก่าแก่เป็นที่หมายเช่นเดียวกับกุสินารา ที่ตั้งของเมืองปาวา ก็ยังคงไม่มีหลักฐานให้ยืนยันได้อย่างแน่ชัด บางท่านให้ความเห็นว่า ได้แก่ ตำบลปทเรานะ ซึ่งอยู่ห่างจากกุสินาราไปทางเหนือ ๑๘ กิโลเมตร หรือ ๑๒ ไมล์ ในเขตจังหวัดเทวริยา

แต่ส่วนมากรวมทั้งชาวพุทธ อินเดียเห็นว่า ได้แก่ หมู่บ้านที่มีชื่อในปัจจุบันว่า ฟะซิลนคร หรือเจติยันวา (หมู่บ้านเจดีย์) ซึ่งอยู่ห่างจากที่เสด็จปรินิพพานไปทาง ตะวันออกเฉียงใต้ ระยะทาง ๑๖ กิโลเมตร หรือ ๑๐ ไมล์ หมู่บ้าน นี้อยู่ในเขตเทวริยาเช่นกัน และมีซากโบราณสถานอยู่มากนอกจากกุสินาราและปาวาแล้ว สถานที่ในเขตแคว้นมัลละ ซึ่งควรได้รับการกล่าวถึงโดยเฉพาะอีกทางหนึ่งก็คือ อนุปิยอัมพวัน หรือ อนุปิยนิคม ซึ่งคัมภีร์กล่าวว่าอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ อโนมา และ อยู่ห่างจากกรุงกบิลพัสดุ์กับราชคฤห์ ๓๐ โยชน์เท่ากัน



พระพุทธองค์เมื่อเสด็จออกบรรพชา เสด็จถึงแม่น้ำอโนมา ทรงข้ามแม่น้ำ ทรงปลงพระเกศา ครองผ้ากาสาวะอธิษฐานเพศบรรพชา แล้วเสด็จอยู่ ณ อนุปิยอัมพวันเป็นเวลา ๗ วัน ก่อนที่จะได้เสด็จสู่ราชคฤห์

ครั้งพระองค์เสด็จเยี่ยมกบิลพัสดุ์หลังตรัสรู้แล้ว เมื่อเสด็จ กลับก็ได้เสด็จประทับ ณ อนุปิยอัมพวันนี้อีก

และ ณ ที่นี้ ในโอกาสนั้นพระญาติ ๖ องค์คือ อนุรุทธะภัททิยะ อานันทะ ภคุ กิมพิละ และ เทวทัต รวมเป็น ๗ กับนายอุบาลีภูษามาลา ได้มาเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อทูลขอบวชในพระพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาต และได้ทรงประทานอุปสมบทให้ดั่งประสงค์ความสำคัญอีกประการหนึ่งของอนุปิยนิคม ก็ในฐานะที่ เป็นบ้านเกิดของ พระทัพพมัลลบุตร พระสาวกผู้มีประวัติชีวิตพิเศษ และเป็นพระสาวกผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง



ขอขอบคุณภาพจาก ภาพเก่าเล่าเรื่องพระพุทธองค์

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.vichadham.com/buddha/city16.html
http://www.phutthathum.com/พระพุทธเจ้า/ปรินิพพาน/สังเวชนียสถาน-๔

วันอาทิตย์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แคว้นมัลละ ๑


ขอขอบคุณภาพจากwww.indiaindream.com

แคว้นมัลละ
ตั้งอยู่ทางตะวันตกของแคว้นวัชชี
ทางเหนือหรือตะวันออกเฉียงเหนือของแคว้นกาสี
และทางตะวันออกเฉียงใต้ของแคว้นโกศล
เทียบกับปัจจุบันแคว้นมัลละได้แก่พื้นที่ส่วนตะวันออกของรัฐอุตตรประเทศ คือ บริเวณจังหวัดโครักขปูร์ เดวเรีย หรือเทวริยา กับบางส่วนของจังหวัด อซัมคาร์ห

แคว้นมัลละมีการปกครองแบบคณราชย์ หรือสามัคคีธรรม ทำนองเดียวกันกับแคว้นวัชชี คณะเจ้าผู้ครองแคว้นคือเจ้าวงศ์มัลละ

อาณาเขตของแคว้นมัลละ ไม่มีบอกไว้ชัดแจ้ง แต่เมื่อประมวลหลักฐานจากที่ต่าง ๆ เข้าด้วยกันแล้ว นักโบราณคดีให้ความเห็นว่า
ทิศตะวันออก จดแคว้นวัชชีโดยมีแม่น้ำซึ่งเรียกในปัจจุบันว่า คัณฑัก หรือคัณฑกีใหญ่และลงความเห็นกันว่าได้แก่ แม่น้ำ สทานีราหรือแม่น้ำมหีในสมัยก่อน เป็นแดนแบ่งเขตแคว้น ทั้งสองเขต

ทางทิศใต้ จดแคว้นกาสี
ทิศตะวันตกจดแคว้นโกศล
ทิศเหนือยื่นไปจนจดภูเขาหิมาลัย







สาลวโนยาน เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ-สถานที่ปรินิพพาน

ปัจจุบันนี้เรียก เมืองกาเซีย จังหวัด กุสินาคาร์ ประเทศอินเดีย

แคว้นมัลละมีนครหลวงชื่อกุสาวดี แต่ภายหลังแยกเป็นนครกุสินาราและนครปาวา

นครกุสินารา ตั้งอยู่ในจุดบรรจบของแม่น้ำรับดิและคันธกะส่วนนครปาวาอยู่ระหว่างนครกุสินารากับนครเวลสาลีเมืองหลวงของแคว้นวัชชี (ปัจจุบันเมืองกุสินาราอยู่ในเขตประเทศอินเดียเหนือประเทศเนปาล เมืองกุสินาราบัดนี้เรียกว่าเมืองกาเซีย ส่วนนครปาวา บัดนี้เรียกว่าเมืองปัทระโอนะ)

กล่าวว่าเมืองทั้ง สองนี้อยู่ห่างกัน ๓ คาวุต (ประมาณ ๑๒ กิโลเมตร) เทียบกับเมืองหลวง และเมืองสำคัญบางเมืองของแคว้นอื่น ๆ ในสมัยนั้นแล้ว ทั้งกุสินาราและปาวา อยู่ในฐานะเป็นเมืองเล็ก

แคว้นมัลละ เป็นแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งของพุทธศาสนิก ในฐานะเป็นที่เสด็จปรินิพพานของพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ เสด็จดับขันธปรินิพพานที่แคว้นนี้ที่สาลวัน ป่าไม้รัง อันเป็นพระราชอุทยานที่เสด็จประพาสของเหล่ากษัตริย์มัลละซึ่งตั้งอยู่ บนฝั่งแม่น้ำหิรัญวดี เขตเมืองกุสินารา ห่างจากตัวเมืองไปทางตะวันตกเฉียงเหนือไม่ไกลนัก




ขอขอบคุณภาพจากmongkolvitttata10.blogspot.com

ในช่วงเวลา ๔๕ พรรษาของการบำเพ็ญพุทธกิจ

พระพุทธองค์เคยได้เสด็จมายังกุสินาราและปาวารวมหลายครั้งด้วยกัน
ในวันเสด็จปรินิพพานพระพุทธองค์ทรงรับภัตตาหาร อันเป็นปัจฉิมบิณฑบาต หรือภัตตาหารมื้อสุดท้ายสำหรับพระองค์ ที่บ้านของนายจุนทะกัมมารบุตร ณ เมืองปาวา
จากนั้นจึงได้เสด็จต่อมายังกุสินารา อันเป็นปรินิพพานสถานปัจจุบัน

กุสินารา ได้แก่หมู่บ้าน หรือตำบลซึ่งเรียกชื่อว่า กุสินคร หรือกาเซียหรือกาสยา ในเขตจังหวัดเดวเรีย หรือเทวริยา แห่งรัฐอุตตรประเทศ อยู่ทางเหนือของเทวริยา และทางตะวันออกของตัวจังหวัดโครักขปูร์ ระยะทาง ๓๔ กิโลเมตรหรือ ๒๑ ไมล์ และ ๔๕ กิโลเมตร หรือ ๓๔ ไมล์ โดยลำดับ เมื่อก่อนหมู่บ้านหรือตำบลนี้ขึ้นกับจังหวัดโครักขปูร์ แต่ปัจจุบันขึ้นกับจังหวัดเทวริยาซากของกุสินารา ซึ่งโผล่ขึ้นมาให้เห็นจากผลแห่งการขุดค้นของนักสำรวจ

และได้หลักฐานยืนยันแน่นอนแล้วขณะนี้ก็คือ สาลวโนทยานสถานที่เสด็จปรินิพพานของพระพุทธองค์ ซึ่งมีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า ซึ่งมีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า มาถา กุนวะระ กา โกฏ แปลว่าตำบลเจ้าชายสิ้นชีพ


 ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.vichadham.com/buddha/city16.html
 http://www.phutthathum.com/พระพุทธเจ้า/ปรินิพพาน/สังเวชนียสถาน-๔

วันเสาร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2557

อดีตชาติพระอานนท์ ๔ ในมหานารทกัสสปชาดก ๑๔

อดีตชาติพระอานนท์





ท้าวยมทัตติ ท้าวอุสสินนระ ท้าวสีวิราชและพระราชาพระองค์อื่น ๆได้ทรงบำรุงสมณพราหมณ์ทั้งหลายแล้วเสด็จไปยังสวรรค์ ฉันใด

ดูกรมหาบพิตรผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน แม้มหาบพิตรก็ฉันนั้น จงทรงเว้นอธรรม
แล้วทรงประพฤติธรรม ราชบุรุษทั้งหลายจงถืออาหารไปประกาศภายในพระราชนิเวศน์ และภายในพระนครว่า

ใครหิว ใครกระหาย ใครปรารถนามาลา ใครปรารถนาเครื่องลูบไล้
ใครไม่มีผ้านุ่งห่ม จักนุ่งห่มผ้าสีต่างๆ ตามปรารถนา ใครต้องการร่ม ใครต้องการรองเท้า อย่างเนื้ออ่อนอย่างดี

ราชบุรุษทั้งหลายจงประกาศดังนี้ในพระนครของพระองค์
ทั้งเวลาเย็นและเวลาเช้า มหาบพิตรอย่าได้ใช้คนแก่เฒ่า และโคม้าอันแก่ชราเหมือนดังก่อน
และจงทรงพระราชทานเครื่องบริหาร แก่บุคคล ที่เป็นกำลังเคย กระทำความดีไว้เท่าเดิมเถิด ฯ





มหาบพิตรจงทรงสำคัญพระวรกายของพระองค์ว่าเป็นดังรถ
อันมีใจเป็นนายสารถี กระปรี้กระเปร่า (เพราะปราศจากถีนมิทธะ)
อันมีอวิหิงสาเป็นเพลาที่เรียบร้อยดี
มีการบริจาคเป็นหลังคา
มีการสำรวมเท้าเป็นกง
มีการสำรวมมือเป็นกระพอง
มีการสำรวมท้องเป็นน้ำมันหยอด
มีการสำรวมวาจาเป็นความเงียบสนิท
มีการกล่าวคำสัตย์เป็นองค์รถอันบริบูรณ์
มีการไม่กล่าวคำส่อเสียดเป็นการเข้าหน้าไม้สนิท
มีการกล่าวคำอ่อนหวานเป็นเครื่องรถอันเกลี้ยงเกลา



มีการกล่าวพอประมาณเป็นเครื่องผูกรัด มีศรัทธาและอโลภะเป็นเครื่องประดับ
มีการถ่อมตนและกราบไหว้เป็นกูบ
มีความไม่กระด้างเป็นงอนรถ
มีการสำรวมศีลเป็นเชือกขันชะเนาะ มีความไม่โกรธเป็นอาการไม่กระเทือน
มีกุศลธรรมเป็นเศวตรฉัตร
มีพาหุสัจจะเป็นสายทาบ
มีการตั้งจิตมั่นเป็นที่มั่น
มีความคิดเครื่องรู้จักกาลเป็นไม้แก่น
มีความแกล้วกล้าเป็นไม้ค้ำ



มีความประพฤติถ่อมตนเป็นเชือกขันแอก
มีความไม่เย่อหยิ่งเป็นแอกเบา
มีจิตไม่หดหู่เป็นเครื่องลาด
มีการเสพบุคคลผู้เจริญเป็นเครื่องกำจัดธุลี
มีสติของนักปราชญ์เป็นปฏัก
มีความเพียรเป็นสายบังเหียน

มีใจที่ฝึกฝนดีแล้วเช่นดังม้าที่หัดไว้เรียบเป็นเครื่องนำทาง ความปรารถนาและความโลภเป็นทางคด
ส่วนความสำรวมเป็นทางตรง ขอถวายพระพร

ปัญญาเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนม้า ในรถคือพระวรกายของมหาบพิตรที่กำลังแล่นไปในรูป เสียง กลิ่น รส พระองค์นั้นแลเป็นสารถี

ถ้าความประพฤติชอบและความเพียรมั่นมีอยู่ด้วยยานนี้ รถนั้นจะให้สิ่งที่น่าใคร่ทุกอย่าง จะไม่นำไปบังเกิดในนรก ฯ



อลาตเสนาบดีเป็นพระเทวทัตต์
สุนามอำมาตย์เป็นพระภัททชิ
วิชยอำมาตย์เป็นพระสารีบุตร
วีชกบุรุษเป็นพระโมคคัลลานะ
สุนักขัตตะเป็นลิจฉวีบุตร
คุณาชีวกเป็นอเจลก
พระนางรุจาราชธิดาผู้ทรงยังพระราชาให้เลื่อมใส เป็นพระอา นนท์
พระเจ้าอังคติราชผู้มีทิฐิชั่วในกาลนั้นเป็นพระอุรุเวลกัสสปะ
มหาพรหมโพธิสัตว์เป็นเราตถาคต ท่านทั้งหลายจงทรงชาดกไว้ ด้วยประการฉะนี้แล ฯ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://84000.org/tipitaka/atita/s.php?B=28&A=5180&Z=5625#863

วันศุกร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2557

อดีตชาติพระอานนท์ ๔ ในมหานารทกัสสปชาดก ๑๓

อดีตชาติพระอานนท์



ต้นงิ้วสูงเทียมเมฆ เต็มไปด้วยหนามเหล็กคมกริบ กระหายเลือดคน
หญิงผู้ประพฤติล่วงสามี และชายผู้หากระทำชู้ภรรยาผู้อื่น
ถูกนายนิรยบาลผู้ทำตามสั่งของพระยายม ถือหอกไล่ทิ่มแทงให้ขึ้นต้นงิ้วนั้น

ใครเล่าจะไปทวงทรัพย์จำนวนนั้น กะมหาบพิตร ซึ่งต้องขึ้นต้นงิ้วในนรกเลือดไหลเปรอะเปื้อน มีกายเหี้ยมเกรียมหนังปอกเปิก กระสับกระส่าย เสวยเวทนาอย่างหนัก

ใครเล่าจะไปขอทรัพย์จำนวนเท่านั้น กะพระองค์ผู้หอบแล้วหอบอีก อันเป็นโทษของบุรพกรรม หนังปอกเปิก เดินทางผิดได้


ต้นงิ้วสูงเทียมเมฆ เต็มไปด้วยใบเหล็กคมกริบดังดาบ กระหายเลือดคน

ใครเล่าจะไปทวงทรัพย์พันหนึ่งในปรโลก กะมหาบพิตรซึ่งขึ้นอยู่บนต้นงิ้วนั้น ก้าวไปเหยียบใบเหล็กอันคมดังดาบ ก็ถูกใบงิ้วอันคมนั้นบาด มีตัวขาดกระจัดกระจายเลือดไหลโทรมได้

ใครเล่าจะไปทวงทรัพย์จำนวนนั้น กะมหาบพิตรซึ่งเดินหนีออกจากขุมนรกไม้งิ้ว มีใบเป็นดาบ ไปพลัดตกลงในแม่น้ำเวตรณีได้


แม่น้ำเวตรณี น้ำเป็นกรด เผ็ดร้อน ยากที่จะข้ามได้ ดาดาษไปด้วยบัวเหล็ก มีใบคมกริบไหลอยู่

ใครเล่าจะไปทวงทรัพย์นั้นกะมหาบพิตรซึ่งมีตัวขาดกระจัดกระจาย เปรอะเปื้อนไปด้วยโลหิต ลอยอยู่ในเวตรณีนทีนั้น หาที่เกาะมิได้



พระราชาตรัสฟังแล้วตรัสว่า

ข้าพเจ้าแทบจะล้มเหมือนต้นไม้ที่ถูกตัด ข้าพเจ้าหลงสำคัญผิดจึงไม่รู้จักทิศ
ท่านฤาษี ข้าพเจ้าได้ฟังคาถาภาษิตของท่านแล้วย่อมร้อนใจ เพราะกลัวมหาภัย
ท่านฤาษี ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า ดังหนึ่งน้ำสำหรับแก้กระหายในเวลาร้อน เกาะเป็นที่อาศัยในห้วงมหาสมุทร และประทีปสำหรับส่องสว่างในที่มืดฉะนั้นเถิด

ท่านฤาษี ขอท่านจงสอนอรรถและธรรมแก่ข้าพเจ้า
ในกาลก่อนข้าพเจ้าได้กระทำความผิดไว้ส่วนเดียว
ข้าแต่ท่านนารทะ ขอท่านจงบอกทางบริสุทธิ์แก่ข้าพเจ้า โดยที่ข้าพเจ้าจะไม่พึงตกไปในนรกด้วยเถิด


พระราชา ๖ พระองค์นี้ คือ ท้าวธตรฐ ท้าวเวสสามิตระ ท้าวอัฏฐกะ ท้าวยมทัตติ ท้าวอุสสินนระ ท้าวสีวิราชและพระราชาพระองค์อื่น ๆ ได้ทรงบำรุงสมณพราหมณ์ทั้งหลายแล้วเสด็จไปยังสวรรค์ ฉันใด

ดูกรมหาบพิตรผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน แม้มหาบพิตรก็ฉันนั้น
จงทรงเว้นอธรรม แล้วทรงประพฤติธรรม

ราชบุรุษทั้งหลายจงถืออาหารไปประกาศ ภายในพระราชนิเวศน์ และภายในพระนครว่า

ใครหิว ใครกระหาย ใครปรารถนามาลา ใครปรารถนาเครื่องลูบไล้
ใครไม่มีผ้านุ่งห่ม จักนุ่งห่มผ้าสีต่างๆ ตามปรารถนา
ใครต้องการร่ม ใครต้องการรองเท้า อย่างเนื้ออ่อนอย่างดี

ราชบุรุษทั้งหลายจงประกาศ ดังนี้ในพระนครของพระองค์ทั้งเวลาเย็นและเวลาเช้า

มหาบพิตรอย่าได้ใช้คนแก่เฒ่า และโคม้าอันแก่ชราเหมือนดังก่อน

และจงทรงพระราชทานเครื่องบริหาร แก่บุคคล ที่เป็นกำลังเคยกระทำความดีไว้เท่าเดิมเถิด ฯ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://84000.org/tipitaka/atita/s.php?B=28&A=5180&Z=5625#863

วันพฤหัสบดีที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2557

อดีตชาติพระอานนท์ ๔ ในมหานารทกัสสปชาดก ๑๒

อดีตชาติพระอานนท์



ในโลกันตนรกนั้นมืดที่สุด ไม่มีพระจันทร์และพระอาทิตย์
โลกันตนรกมืดตื้ออยู่ทุกเมื่อ น่ากลัว กลางคืนกลางวันไม่ปรากฏ ผู้ต้องการทรัพย์คนไรเล่า จะพึงเที่ยวไปในสถานที่เช่นนั้นได้ ฯ


ในโลกันตนรกนั้นมีสุนัข ๒ เหล่า คือ ด่างเหล่า ๑ ดำเหล่า ๑ ล้วนมีร่างกายกำยำล่ำสันแข็งแรง
ย่อมพากันมากัดกินผู้ที่จุติจากมนุษยโลกนี้ ไปตกอยู่ในโลกันตนรก ด้วยเขี้ยวเหล็ก

ใครเล่าจะไปทวงทรัพย์พันหนึ่งในปรโลก กะมหาบพิตรผู้ตกอยู่ในนรก ถูกสุนัขอันทารุณร้ายกาจ นำทุกข์มาให้ รุมกัดกินตัวขาดกระจัดกระจายเลือดไหลโทรมได้




และในนรกอันร้ายกาจ พวกนายนิรยบาลชื่อกาลูปกาละ ผู้เป็นข้าศึกพากันเอาดาบและหอกอันคมกริบมาทิ่มแทงนรชนผู้กระทำกรรมชั่วไว้ในภพก่อน

ใครเล่าจะไปทวงทรัพย์พันหนึ่งในปรโลก กะมหาบพิตรผู้ถูกทิ่มแทงที่ท้อง ที่สีข้าง พระอุทรพรุนวิ่งวุ่นอยู่ในนรก ตัวขาดกระจัดกระจายเลือดไหลโทรมได้


ในโลกันตนรกนั้น มีห่าฝนต่างๆ ชนิด คือ หอก ดาบ แหลม หลาวมีประกายวาวดังถ่านเพลิง ตกลงบนศีรษะ
สายอัสนีศิลาอันแดงโชนตกต้องสัตว์นรกผู้มีกรรมหยาบช้า และในนรกนั้นมีลมร้อนยากที่จะทนได้
สัตว์ในนรกนั้น ย่อมไม่ได้รับความสุขแม้แต่น้อย

ใครเล่าจะพึงไปทวงทรัพย์พันหนึ่งในปรโลก กะมหาบพิตรซึ่งทรงกระสับกระส่ายวิ่งไปมาหาที่ซ่อนเร้นมิได้




ใครเล่า จะไปทวงทรัพย์พันหนึ่งในปรโลก กะมหาบพิตรผู้ถูกเทียมในรถวิ่งไปวิ่งมา ต้องเหยียบแผ่นดินอันลุกโพลง ถูกแทงด้วยประตักอยู่ได้

ใครเล่า จะไปทวงทรัพย์พันหนึ่งในปรโลก กะมหาบพิตรซึ่งทนไม่ได้ วิ่งไปขึ้นภูเขาอันดาดไปด้วยขวากกรด ลุกโชนน่าสยดสยองอย่างยิ่ง ตัวขาดกระจัดกระจายเลือดไหลโทรมได้

ใครเล่า จะไปทวงทรัพย์พันหนึ่งในปรโลก กะมหาบพิตรซึ่งต้องวิ่งขึ้นเหยียบถ่านเพลิงกองเท่าภูเขา ลุกโพลงน่ากลัว มีตัวถูกไฟไหม้ทนไม่ไหว ร้องครวญครางอยู่ได้


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://84000.org/tipitaka/atita/s.php?B=28&A=5180&Z=5625#863

วันพุธที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2557

อดีตชาติพระอานนท์ ๔ ในมหานารทกัสสปชาดก ๑๑





คุณธรรม ๔ ประการนี้ คือ สัจจะ ๑ ธรรม ๑ ทมะ ๑ จาคะ ๑ อาตมภาพได้ทำไว้แล้วในภพก่อน
เพราะคุณธรรมที่อาตมภาพเสพมาดีแล้วนั้นแล อาตมภาพจึงไปไหนๆ ได้ตามความปรารถนา เร็วทันใจ ฯ

เมื่อท่านบอกความสำเร็จแห่งบุญ ชื่อว่าท่านบอกความอัศจรรย์ ถ้าแลเป็นจริงอย่างท่านกล่าว
ดูกรท่านนารทะข้าพเจ้าขอถามเนื้อความนี้กะท่าน ข้าพเจ้าถามแล้ว ขอท่านจงพยากรณ์ให้ดี ฯ


ขอถวายพระพร ข้อใดพระองค์ทรงสงสัย เชิญมหาบพิตร ตรัสถามข้อนั้นกะอาตมภาพเถิด อาตมภาพจะถวายวิสัชนา ให้มหาบพิตรทรงสิ้นสงสัย ด้วยนัย ด้วยญายธรรม และด้วยเหตุทั้งหลาย ฯ


ดูกรท่านนารทะ ข้าพเจ้าขอถามเนื้อความนี้กะท่าน ท่านถูกถามแล้ว อย่าได้กล่าวมุสาแก่ข้าพเจ้า ที่คนเขาพูดกันว่า เทวดามี มารดาบิดามี ปรโลกมีนั้น เป็นจริงหรือ ฯ

ที่คนเขาพูดกันว่าเทวดามี มารดาบิดามี และปรโลกมีนั้น เป็นจริงทั้งนั้น แต่นรชนผู้หลงงมงายใคร่ในกามทั้งหลา จึงไม่รู้ปรโลก ฯ




ดูกรท่านนารทะ ถ้าท่านเชื่อว่าปรโลกมีจริง สถานที่อยู่ ในปรโลกของเหล่าสัตว์ผู้ตายไปแล้วก็ต้องมี ขอท่านจงให้ทรัพย์ ๕๐๐ กหาปณะแก่ข้าพเจ้าในโลกนี้ ข้าพเจ้าจะใช้ให้ท่านพันหนึ่งในปรโลก ฯ

ถ้าอาตมภาพรู้ว่ามหาบพิตรทรงมีศีล ทรงรู้ความประสงค์ของสมณพราหมณ์
อาตมภาพก็จะให้มหาบพิตรทรงยืมสักห้าร้อย
แต่มหาบพิตรหยาบช้า ทรงจุติจากโลกนี้แล้ว จะต้องไปอยู่ในนรก ใครจะไปทวงทรัพย์พันหนึ่งในปรโลกเล่า
ผู้ใดในโลกนี้เป็นผู้ไม่มีศีลธรรม ประพฤติชั่ว เกียจคร้าน มีกรรมอันหยาบช้า
บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่ให้หนี้ในผู้นั้นเพราะจะไม่ได้ทรัพย์คืนจากคนเช่นนั้น
ส่วนบุคคลผู้ขยันหมั่นเพียร มีศีล รู้ความประสงค์ คนทั้งหลายรู้แล้ว ย่อมเอาโภคทรัพย์มาเชื้อเชิญเอง ด้วยคิดว่า ผู้นี้ทำการงานเสร็จแล้ว พึงนำมาใช้ให้ ฯ





ขอถวายพระพร มหาบพิตรเสด็จไปจากที่นี่แล้ว จักทอดพระเนตรเห็นพระองค์เองอยู่ในนรกนั้น ซึ่งถูกฝูงการุมยื้อแย่งฉุดคร่าอยู่
ใครเล่าจะไปทวงทรัพย์พันหนึ่งในปรโลกกะมหาบพิตรผู้ตกอยู่ในนรก ถูกฝูงกา ฝูงแร้ง ฝูงสุนัข รุมกัดกิน ตัวขาดกระจัดกระจาย เลือดไหลโทรม ฯ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://84000.org/tipitaka/atita/s.php?B=28&A=5180&Z=5625#863

วันอังคารที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2557

อดีตชาติพระอานนท์ ๔ ในมหานารทกัสสปชาดก ๑๐





ชายใดปรารถนาเป็นบุรุษทุกๆ ชาติไป ก็พึงเว้นภรรยาผู้อื่นเสีย เหมือนบุคคลล้างเท้าสะอาดแล้วเว้นเปือกตม
ฉะนั้น หญิงใดปรารถนาเป็นบุรุษ ทุก ๆ ชาติไป ก็พึงยำเกรงสามี เหมือนนางเทพอัปสรผู้เป็นบาทบริจาริกา ยำเกรงพระอินทร์ ฉะนั้น

ผู้ใดปรารถนาโภคทรัพย์ อายุยศและสุขอัน เป็นทิพย์ ก็พึงเว้นบาปทั้งหลายประพฤติแต่สุจริตธรรม ๓ อย่าง
สตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ควรเป็นผู้ไม่ประมาทด้วยกาย วาจา ใจ มีปัญญา
เครื่องพิจารณาเพื่อประโยชน์ของตน นรชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกนี้ ที่เป็นคนมียศ มีโภคทรัพย์บริบูรณ์ทุกอย่าง
นรชนเหล่านั้นได้สั่งสม กรรมดีไว้ในปางก่อนแล้วโดยไม่ต้องสงสัย
สัตว์ทั้งปวงล้วนมีกรรมเป็น ของตัว

ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์ทรงพระราชดำริด้วย พระองค์เถิด
ข้าแต่พระจอมชน พระสนม (ผู้ทรงโฉมงดงาม) ปานดังนางเทพอัปสรผู้ประดับประดาคลุมกายด้วยร่างแหทองเหล่านี้ พระองค์ทรงได้มาเพราะผลแห่งกรรมอะไร

พระนางรุจาราชกัญญา ทรงยัง พระเจ้าอังคติราชพระชนกนาถให้ทรงยินดี

พระราชกุมารีผู้มีวัตรอันดีงาม ทรงกราบทูลทางสุคติแก่พระชนกนาถ ดังหนึ่งบอกทางให้แก่คนหลงทาง และได้ทรงกราบทูลข้อธรรมถวายโดยนัยต่างๆ ดังนี้แล ฯ




ในกาลนั้น นารทมหาพรหมตรวจดูชมพูทวีป ได้เห็นพระเจ้าอังคติราชผู้ทรงมีความเห็นผิด
จึงมาจากพรหมโลกถึงถิ่นมนุษย์
ลำดับนั้น
นารทมหาพรหมได้ยืนอยู่ที่ปราสาทเบื้องพระพักตร์แห่งพระเจ้าวิเทหราช
พระนางรุจาราชธิดาเห็นนารทฤาษีนั้นมาถึง จึงนมัสการ ฯ


ครั้งนั้น พระราชาทรงหวาดพระทัย เสด็จลงจากราชอาสน์ เมื่อจะตรัสถามนารทฤาษี
ได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า
ท่านมีผิวพรรณงามดังเทวดา ส่องรัศมีสว่างจ้าไปทั่วทิศดังพระจันทร์ ท่านมาจากไหนหนอ
ข้าพเจ้าถามแล้ว ขอท่านจงบอกนามและโคตรแก่ข้าพเจ้า คนในมนุษยโลกย่อมรู้จักท่านอย่างไรหนอ ฯ



นารทฤาษีตอบว่า
อาตมภาพมาจากเทวโลกเดี๋ยวนี้เอง ส่องรัศมีสว่างจ้าไปทั่วทิศดังพระจันทร์
มหาบพิตรตรัสถามแล้ว อาตมภาพขอถวายพระพรนามและโคตรให้ทรงทราบ
คนทั้งหลายเขารู้จักอาตมภาพโดยนามว่านารทะ และโดยโคตรว่ากัสสปะ ฯ

พระเจ้าอังคติราชตรัสถามว่า
สัณฐาณของท่านและการที่ท่านเหาะไปและยืนอยู่บนอากาศได้น่าอัศจรรย์
ดูกรท่านนารทะ ข้าพเจ้าขอถามเนื้อความนี้กะท่าน เออเพราะเหตุอะไรท่านจึงมีฤทธิ์เช่นนี้ ฯ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://84000.org/tipitaka/atita/s.php?B=28&A=5180&Z=5625#863

วันจันทร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2557

อดีตชาติพระอานนท์ ๔ ในมหานารทกัสสปชาดก ๙

อดีตชาติพระอานนท์



กระหม่อมฉัน (เมื่อเกิดเป็นลา) ต้องพาลูกผู้ดีทั้งหลายไปด้วยหลังบ้าง ด้วยรถบ้าง
นั่นเป็นผลแห่งกรรม คือ การที่กระหม่อมฉันคบชู้ภรรยาของผู้อื่น

ข้าแต่พระองค์ผู้ครองวิเทหรัฐ กระหม่อมฉันจุติจากชาติเป็นลานั้นแล้ว
ไปบังเกิดเป็นลิงในป่าใหญ่ ถูกนายฝูงผู้คะนองขบกัดลูกอัณฑะ นั่นเป็นผลแห่งกรรม คือ การที่กระหม่อมฉันคบชู้ภรรยาของผู้อื่น

ข้าแต่พระองค์ผู้ครองวิเทหรัฐ กระหม่อมฉันจุติจากชาติเป็นลิงนั้นแล้ว
ได้เกิดเป็นโคในทสันนรัฐ ถูกเขาตอน มีกำลังแข็งแรงกระหม่อมฉันต้องเทียมยานอยู่สิ้นกาลนาน นั่นเป็นผลของกรรม คือการที่กระหม่อมฉันคบชู้ภรรยาของผู้อื่น

ข้าแต่พระองค์ผู้ครองวิเทหรัฐ กระหม่อมฉันจุติจากชาติเป็นโคนั้นแล้ว
มาบังเกิดเป็นกะเทยในตระกูลที่มีโภคสมบัติมากในแคว้นวัชชี จะได้เกิดเป็นมนุษย์ยากจริงๆ นั่นเป็นผลแห่งกรรม คือ การที่กระหม่อมฉันคบชู้ภรรยาผู้อื่น




ข้าแต่พระองค์ผู้ครองวิเทหรัฐ กระหม่อมฉันจุติจากชาติเป็นกะเทยนั้นแล้ว ได้ไปบังเกิดเป็นนางอัปสรในนันทวัน ณ ดาวดึงส์พิภพ
มีวรรณน่าใคร่ มีผ้าและอาภรณ์อันวิจิตร สวมกุณฑลแก้วมณี เป็นผู้ฉลาดในการฟ้อนรำขับร้อง เป็นบาทบริจาริกาของท้าวสักกะ

ข้าแต่พระองค์ผู้ครองวิเทหรัฐ เมื่อกระหม่อมฉันอยู่ในดาวดึงส์พิภพนั้น
ระลึกชาติแม้ในอนาคตได้อีก ๗ ชาติ ที่กระหม่อมฉันจุติจากดาวดึงส์พิภพนั้นแล้ว จักไปเกิดต่อไป

กุศลที่กระหม่อมฉันกระทำไว้ในเมืองโกสัมพีตามมาให้ผล

กระหม่อมฉันจุติจากดาวดึงส์พิภพนั้นแล้ว ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์
ข้าแต่พระมหาราชา กระหม่อมฉันเป็นผู้อันชนทั้งหลายสักการบูชาแล้วเป็นนิตย์ตลอด ๗ ชาติ
กระหม่อมฉันไม่พ้นจากความเป็นหญิงตลอด ๖ ชาติ



ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ชาติที่ ๗
กระหม่อมฉันจักได้เกิดเป็นเทวดาผู้ชาย เป็นเทพบุตรผู้มีฤทธิ์มาก เป็นผู้สูงสุดในหมู่เทวดา

แม้วันนี้นางอัปสรทั้งหลายก็ยังร้อยดอกไม้เป็นพวงมาลัยอยู่ในนันทวัน
เทพบุตรพระนามว่าชวะสามีของกระหม่อมฉัน ยังรับพวงมาลัยอยู่ ๑๖ ปี ในมนุษย์นี้ราวครู่หนึ่งของเทวดา ๑๐๐ ปีในมนุษย์เป็นคืนหนึ่งวันหนึ่งของเทวดา

ดังที่ได้กราบทูลให้ทรงทราบมานี้ กรรมทั้งหลายย่อมติดตามไปทุกๆ ชาติ แม้ตั้งอสงไขย ด้วยว่ากรรมจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม (ยังไม่ให้ผลแล้ว) ย่อมไม่พินาศไป


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://84000.org/tipitaka/atita/s.php?B=28&A=5180&Z=5625#863

วันอาทิตย์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2557

อดีตชาติพระอานนท์ ๔ ในมหานารทกัสสปชาดก ๘

อดีตชาติพระอานนท์




ข้าแต่พระราชบิดา บุคคลคบคนเช่นใดๆ เป็นบุรุษผู้มีศีลหรืออสัตบุรุษ ผู้ไม่มีศีล เขาย่อมตกอยู่ในอำนาจของผู้นั้น
บุคคลกระทำคนเช่นใดให้เป็นมิตร และเข้าไปคบหาคนเช่นใด
แม้เขาก็ย่อมเป็นเช่นคนนั้น เพราะการอยู่ร่วมกันย่อมเป็นเช่นนั้นได้
ผู้เสพย่อมติดนิสัยผู้ที่ตนเสพ ผู้ติดต่อย่อมติดนิสัยผู้ที่ตนติดต่อ
เหมือนลูกศรอาบยาพิษย่อมเปื้อนแล่ง ฉะนั้น
นักปราชญ์ไม่ควรเป็นผู้มีคนลามกเป็นสหาย เพราะกลัวจะแปดเปื้อน
การเสพคนพาล ย่อมเป็นเหมือนบุคคลเอาใบไม้ห่อปลาเน่า
แม้ใบไม้ก็มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป ฉะนั้น
ส่วนการคบหาสมาคมกับนักปราชญ์ย่อมเป็นเหมือนบุคคลเอาใบไม้ห่อของหอม
แม้ใบไม้ก็มีกลิ่นหอมฟุ้งไป ฉะนั้น
เพราะฉะนั้น บัณฑิตรู้ความเป็นบัณฑิตของตนดังใบไม้สำหรับห่อ
จึงไม่คบหาสมาคมอสัตบุรุษ
คบหาสมาคมสัตบุรุษ
อสัตบุรุษย่อมนำไปสู่นรก
สัตบุรุษย่อมให้ถึงสุคติ




แม้กระหม่อมฉันก็ระลึกชาติที่ตนได้ท่องเที่ยวมาแล้วได้ ๗ ชาติ
และระลึกชาติที่ตนจุติจากชาตินี้แล้วจักไปเกิดในอนาคตอีก ๗ ชาติ
ข้าแต่พระจอมประชาชน ชาติที่ ๗ ของกระหม่อมฉันในอดีต
กระหม่อมฉัน เกิดเป็นบุตรนายช่างทองในแคว้นมคธราชคฤห์มหานคร
กระหม่อมฉัน ได้คบหาสหายผู้ลามก ทำบาปกรรมไว้มาก เที่ยวคบชู้ภรรยาของชายอื่น
เหมือนจะไม่ตาย กรรมนั้นยังไม่ให้ผล เหมือนไฟอันเถ้าปกปิดไว้
ในกาลต่อมาด้วยกรรมอื่น ๆ




กระหม่อมฉันนั้น ได้เกิดในวังสรัฐเมืองโกสัมพี เป็นบุตรเดียวในสกุลเศรษฐีผู้สมบูรณ์ มั่งคั่ง มีทรัพย์มากมาย
คนทั้งหลายสักการะบูชาอยู่เป็นนิตย์
ในชาตินั้น กระหม่อมฉันได้คบหาสมาคมมิตรสหายผู้ยินดีในกรรมอันงาม ผู้เป็นบัณฑิต เป็นพหูสูต
เขาได้แนะนำให้กระหม่อมฉันรักษาอุโบสถศีลในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ตลอดราตรีเป็นอันมาก
กรรมนั้นยังไม่ให้ผล ดังขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ใต้น้ำ
ครั้นภายหลังบรรดาบาปกรรมทั้งหลาย ปรทารกกรรมอันใดที่กระหม่อมฉันได้กระทำไว้ในมคธรัฐ
ผลแห่งกรรมนั้นมาถึงกระหม่อมฉันแล้ว
เหมือนดื่มยาพิษอันร้ายแรง ฉะนั้น




ข้าแต่พระองค์ผู้ครองวิเทหรัฐ กระหม่อมฉันจุติจากตระกูลเศรษฐีนั้นแล้ว
ต้องหมกไหม้อยู่ในโรรุวนรกสิ้นกาลนาน
เพราะกรรมของตน กระหม่อมฉันระลึกถึงทุกข์ที่ได้เสวยในนรกนั้น ไม่ได้ความสุขเลย
กระหม่อมฉันยังทุกข์เป็นอันมากให้สิ้นไปในนรกนั้นนานปี
แล้วเกิดเป็นลาถูกเขาตอนอยู่ในภินนาคตมหานคร

ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://84000.org/tipitaka/atita/s.php?B=28&A=5180&Z=5625#863

วันเสาร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2557

อดีตชาติพระอานนท์ ๔ ในมหานารทกัสสปชาดก ๗

อดีตชาติพระอานนท์



พระนางรุจาราชธิดาผู้มีพระฉวีวรรณงดงาม ทรงทราบกฎธรรมดาในอดีต ๗ ชาติ ในอนาคต ๗ ชาติ
ได้สดับพระดำรัสของพระเจ้าวิเทหราชแล้วกราบทูลพระชนกนาถว่า
แต่ก่อนกระหม่อมฉันได้ฟังมาเท่านั้น กระหม่อมฉันเห็นประจักษ์เองข้อนี้ว่า
ผู้ใดเข้าไปเสพคนพาล ผู้นั้นก็เป็นพาลไปด้วย
ผู้หลงอาศัยคนหลง ย่อมถึงความหลงยิ่งขึ้น
อลาตเสนาบดี และนายวีชกะสมควรจะหลง


ขอเดชะ ส่วนพระองค์มีพระปรีชา ทรงเป็นนักปราชญ์ ทรงฉลาดรู้ซึ่งอรรถ จะทรงเป็นเช่นกับพวกคนพาล เข้าถึงซึ่งทิฏฐิอันเลวได้อย่างไร
ก็ถ้าสัตว์จะบริสุทธิ์ได้ด้วยการท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ การบวชของคุณาชีวกก็ไม่มีประโยชน์
คุณาชีวกเป็นคนหลงงมงาย ย่อมถึงความเป็นคนเปลือย
เหมือนตั๊กแตนหลงบินเข้ากองไฟ ฉะนั้น
คนเป็นอันมากผู้ไม่รู้อะไร ได้ฟังคำของกัสสปคุณาชีวก ว่า
ความหมดจดย่อมไม่มี ได้ด้วยสังสารวัฏ ก็เชื่อมั่นเสียก่อนทีเดียว จึงพากันปฏิเสธกรรมและผลของกรรม
โทษคือความฉิบหายที่ยึดไว้ผิดในเบื้องต้น ก็อยากที่จะเปลื้องได้เหมือนปลาติดเบ็ด ยากที่จะเปลื้องตนออกจากเบ็ดได้ ฉะนั้น




ข้าแต่พระราชา กระหม่อมฉันจักยกตัวอย่างมาเปรียบถวายเพื่อประโยชน์แก่ทูลกระหม่อม
บัณฑิตทั้งหลายในโลกนี้ บางพวกย่อมรู้เนื้อความได้
ด้วยอุปมา เปรียบเหมือนเรือของพ่อค้า บรรทุกสินค้าหนักเกินประมาณ ย่อมนำสินค้าอันหนักยิ่งจมลงในมหาสมุทร ฉันใด
นรชนสั่งสมบาปกรรมทีละน้อยๆ ก็ย่อมพาเอาบาปอันหนักยิ่งไปจมลงในนรก ฉันนั้น

ทูลกระหม่อมเพคะ อกุศลอันหนักของอลาตเสนาบดียังไม่บริบูรณ์ก่อน
อลาตเสนาบดียังสั่งสมบาปอันเป็นเหตุให้ไปสู่ทุคติอยู่ ขอเดชะ

การที่อลาตเสนาบดีได้รับความสุขอยู่ในบัดนี้ เป็นผลบุญที่ตนได้ทำไว้แล้วในปางก่อนนั่นเอง
บุญของอลาตเสนาบดีนั้นจะหมดสิ้น อลาตเสนาบดีจึงมายินดีในอกุศลกรรมอันไม่ใช่คุณ หลีกละทางตรงเดินไปตามทางอ้อม
นรชนสั่งสมบุญไว้แม้ทีละน้อยๆ ย่อมไปสู่เทวโลก เหมือนวีชกบุรุษผู้เป็นทาสยินดีในกรรมอันงาม ย่อมมุ่งไปสู่สวรรค์ได้

เปรียบเหมือนตาชั่งที่กำลังชั่งของ ย่อมต่ำลงข้างหนึ่ง เมื่อเอาของหนักออกเสีย ข้างที่ต่ำก็จะสูงขึ้น
ฉะนั้น นายวีชกะผู้เป็นทาส เห็นทุกข์ในตนวันนี้ เพราะได้เสพบาปกรรมที่ตนกระทำไว้ในปางก่อน บาปของเขาจะหมดสิ่น เขาจึงมายินดีในวินัยอย่างนั้น
ทูลกระหม่อมอย่าคบหากัสสปคุณาชีวก ทรงดำเนินทางผิดเลย เพคะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://84000.org/tipitaka/atita/s.php?B=28&A=5180&Z=5625#863

วันศุกร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2557

อดีตชาติพระอานนท์ ๔ ในมหานารทกัสสปชาดก ๖

อดีตชาติพระอานนท์



ก็พระนางรุจาราชธิดานั้น ประดับด้วยเครื่องสรรพาภรณ์ เสด็จไป ณ ท่ามกลางหญิงสหาย
เพียงดังสายฟ้าแลบออกจากเมฆ เสด็จเข้าสู่จันทกปราสาท

พระราชธิดาเสด็จเข้าไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหราช ถวายบังคมพระชนกนาถ ผู้ทรงยินดีในวินัย
แล้วประทับอยู่ ณ ตั่งอันวิจิตรด้วยทองคำส่วนหนึ่ง

พระเจ้าวิเทหราช ทอดพระเนตรเห็นพระนางรุจาราชธิดาผู้ประทับอยู่ท่ามกลางหญิงสหาย ซึ่งเป็นดังสมาคมแห่งนางเทพอัปสร จึงตรัสถามว่า

ลูกหญิงยังรื่นรมย์อยู่ในปราสาทและยังประพาสอยู่ในอุทยาน เล่นน้ำในสระโบกขรณีเพลิดเพลินอยู่หรือ
เขายังนำของเสวยมากอย่างมาให้ลูกหญิงเสมอหรือ

ลูกหญิงและเพื่อนหญิงของลูก ยังเก็บดอกไม้ต่าง ๆ ชนิดมาร้อยพวงมาลัย และยังช่วยกันทำเรือนหลังเล็กๆ เล่นเพลิดเพลินอยู่หรือ

ลูกหญิงขาดแคลนอะไรบ้าง เขารีบนำสิ่งของมาให้ทันใจลูกอยู่หรือ

ลูกรักผู้มีพักตร์อันผ่องใส จงบอกความชอบใจแก่พ่อเถิดแม้สิ่งนั้นจะเสมอดวงจันทร์ พ่อก็จักให้เกิดแก่ลูกจนได้




พระนางรุจาราชธิดา ได้สดับพระดำรัสของพระเจ้าวิเทหราชแล้วกราบทูลว่า

ข้าแต่พระมหาราชา กระหม่อมฉันย่อมได้สิ่งของทุก ๆ อย่าง
ในสำนักของทูลกระหม่อม พรุ่งนี้ ๑๕ ค่ำ เป็นวันทิพย์
ขอราชบุรุษทั้งหลายจงนำพระราชทรัพย์พันหนึ่งมาให้ กระหม่อมฉันจักให้ทานแก่วณิพกทั้งปวงตามที่ให้มาแล้ว


พระเจ้าอังคติราชได้สดับพระดำรัสของพระนางรุจาราชธิดา แล้วตรัสว่า
ลูกหญิงทำทรัพย์ให้พินาศเสียเป็นอันมาก หาผลประโยชน์มิได้
ลูกหญิงยังรักษาอุโบสถศีล
ไม่บริโภคข้าวน้ำเป็นนิตย์อยู่
ลูกหญิงไม่บริโภคข้าวน้ำเป็นนิตย์ บุญไม่มี
แม้วีชกบุรุษได้ฟังคำของคุณาชีวกกัสสปโคตรในกาลนั้น แล้วถอนหายใจฮึดฮัก ร้องไห้น้ำตาไหล
ลูกหญิงรุจาเอ๋ยตราบเท่าที่ลูกยังมีชีวิตอยู่ อย่าอดอาหารเลย ปรโลกไม่มี
ลูกหญิงจะลำบากไปทำไม ไร้ประโยชน์

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://84000.org/tipitaka/atita/s.php?B=28&A=5180&Z=5625#863