วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554

[บทความ]...วรรณกรรมเรื่องแม่ "วันทองกับพลายงาม"...


[บทความ]...วรรณกรรมเรื่องแม่ "วันทองกับพลายงาม"...
ความรักของแม่จากพระมารดาที่เป็นนางกษัตริย์ที่วาดไว้ในบทประพันธ์ อ่านแล้วก็รู้สึกดื่มด่ำอย่างหาที่เปรียบมิได้ ซึ่งในความเป็นจริงความรักจากแม่ทุกคนที่มีให้ลูก ไม่ว่าชนชั้นไหน ก็มิอาจวัดค่าได้ทั้งสิ้น แม้จะเปรียบว่า แม่คนไหน รักลูกมากกว่ากัน ก็คงวัดมิได้อีก เพราะแต่ละความรักของแม่ สุดแสนยิ่งใหญ่ กว้างใหญ่ ลึกล้ำสุกจะคณนา เหมือนกันนั่นเอง มีอีกความรักหนึ่งซึ่งเป็นบุคคลชนชั้นธรรมดา แถมยังเป็นหญิงที่ทำให้คำพูดที่ว่า เกิดเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบาก เด่นชัดมาก คือนางพิมพิลาไลย หรือนางวันทอง

"นางวันทอง" จากวรรณคดีเรื่อง "ขุนช้างขุนแผน" ที่ถูกตราชื่อว่า วันทองสองใจ เพราะมีสองชาย แต่วันทองยังมีอีกความรักหนึ่งซึ่งบริสุทธิ์ใสสะอาด ซึ่ง "นายเจือ สตะเวทิน" กล่าวว่า "วันทองเป็นแม่ที่ดีที่สุดคนหนึ่งในวรรณคดีไทย วันทองทำหน้าที่ของแม่สมบูรณ์ที่สุดคนหนึ่ง ไม่แพ้แม่คนอื่นๆ รักลูก ปรารถนาดีต่อลูก ทะนุถนอมลูก มีจิตใจผูกพันอยู่กับลูกตลอดชีวิต แม้วันทองตายไปแล้ววิญญาณก็ยังผูกพันอยู่กับลูกมิวาย เป็นความรักนิรันดรของแม่ที่มีอยู่ทั้งโลกนี้และโลกหน้า"
วันทองเมื่อจะคลอดบุตรของขุนแผน นั้นเป็นขณะที่มาอยู่กับขุนช้างสามีใหม่ ชีวิตของวันทองกับลูกอาภัพมาแต่ต้น เริ่มตั้งแต่คลอด แม่ทุกคนต้องประสบความยากลำบากในขณะคลอดลูก เป็นภาวะที่แม่ทุกคนต้องผจญกับความเจ็บปวดรวดร้าวอย่างเหลือเข็ญ หากเคราะห์ร้ายอาจถึงแก่การเสียชีวิต หญิงผู้เป็นแม่ยามคลอดลูกก็เหมือนการออกศึก เป็นศึกที่แม่ต้องผจญคนเดียว ต้องผจญความเจ็บปวดรวดร้าวที่ไม่มีใครช่วยแบ่งปันได้ ท่านสุนทรภู่ได้บรรยายตอนนี้ไว้ว่า


ครานั้นวันทองผ่องโสภา
อยู่เคหากับขุนช้างให้หมางหมอง
ไม่มีสุขทุกเวลาน้ำตานอง
ด้วยว่าท้องสิบเดือนไม่เคลื่อนคลา

จะคลอดบุตรสุดปวดให้รวดร้าว
ตึงหัวเหน่าเหน็ดเหนื่อยเมื่อยต้นขา
แสงหิ่งห้อยพรอยพรายพร่างสายตา
จะเรียกหาขุนช้างให้หมางใจ

แต่นวดนวดปวดมวนให้ป่วนปั่น
สุดจะกลั้นกรอกหน้าน้ำตาไหล
พยุงท้องร้องเรียกพวกข้าไท
จะขาดใจแล้วช่วยด้วยแม่คุณ

ไม่มีใครช่วยนางวันทองให้หายเจ็บปวดได้ จนนกระทั่ง
นางวันทองร้องไห้ใจจะขาด
พอกรรมวาตวาตะประทะถอน
อรุณฤกษ์เบิกสุรินทร์ทินกร
อุทรคลอนเคลื่อนคลอดไม่วอดวาย



วันทองทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงบุตรชายที่หน้าตาละม้ายคล้ายขุนแผน วันทองจึงตั้งชื่อว่า พลายงาม เมื่อขุนช้างแน่ใจว่าบุตรที่คลอดมาเป็นบุตรขุนแผน จึงลวงพลายงามไปฆ่า ขณะทำทารุณพลายงามที่กลางป่า พรายของขุนแผนมาช่วยไว้ วันทองผู้เป็นแม่ก็เกิดนิมิตผิดปกติเป็นลางว่าพลายงามจะมีภัย นางพรึงพรั่นประหวั่นจิต รีบรุดออกตามหาลูกน้อย


นางแคลงผัวกลัวจะนำไปฆ่าเสีย
น้ำตาเรี่ยเรี่ยตกซกซกไหล
ออกนอกรั้วตัวคนเดียวเที่ยวเดินไป
โอ้อาลัยเหลียวแลชะแง้เงย

เห็นคุ่มคุ่มพุ่มไม้ใจจะขาด
พ่อพลายงามทรามสวาทของแม่เอ๋ย
เจ้าไปไหนไม่มาหาแม่เลย
ที่โคกเคยวิ่งเล่นไม่เห็นตัว

หรือล้มตายควายขวิดงูพิษขบ
ไฉนศพสาบสูญพ่อทูนหัว
ยิ่งเย็นย่ำคล้ำคลุ้มชอุ่มมัว
ยิ่งเริ่มรัวเรียกร่ำระกำใจ
วันทองบนบานศาลกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ วันทองสะอื้นอาลัย

เห็นฝูงนกกกบุตรยิ่งสุดเศร้า
โอ้ลูกเราไม่รู้ว่าอยู่ไหน
ชะนีโหวยโหยหวนรัญจวนใจ
ยิ่งอาลัยแลหาน้ำตานอง
วันทองดุ่มเดินหาจนได้พบพลายงาม
ความดีใจไปกอดเอาลูกแก้ว
แม่มาแล้วอย่ากลัวทูลหัวแม่
เป็นไรไม่ไปเรือนเที่ยวเชือนแช
แม่ตามแต่ตะวันบ่ายเห็นหายไป
เมื่อพลายงามเล่าเรื่องให้วันทองฟังที่ขุนช้างคิดฆ่าตนเอง


นางวันทองร้องไห้ใจจะขาด
โอ้ชาตินี้มีกรรมจะทำไฉน
แล้วเล่าความตามจริงทุกสิ่งไป
เจ้ามิใช่ลูกเต้าเขาจึงชัง



แม่ลูกพร่ำร่ำไห้กันอยู่จนพลบค่ำ วันทองพาพลายงามไปฝากที่วัดเขาก่อนและบอกให้พลายงามไปหาย่าทองประศรี คืนนั้นวันทองกลับมาบ้าน เกรงพลายงามจะไปอดอยากระหว่างทาง จึงเตรียมข้าวของให้พลายงาม


จึงเย็บไถ้ใส่ขนมกับส้มลิ้ม
ทั้งแช่อิ่มจันอับลูกพลับหวาน
แหวนราคาห้าชั่งทองบางสะพาน
ล้วนต้องการเก็บใส่ในไถ้น้อย

( วันนี้ที่ประเทศไทย ทองคำราคาบาทละ สองหมื่นห้าพันบาท)


รุ่งเช้าวันทองไปรับลูกที่วัดเขา บรรจงเกล้าจุกให้ลูกด้วยความอาลัย น้ำตาไหลอยู่นองหน้า เพราะมีสามีวันทองจึงมิอาจไปกับพลายงามได้ หัวใจวันทองแทบจะแตกแหลกสลาย นางฟูมฟายไหว้พระขอพร บนบานศาลกล่าวต่อปู่เจ้าเขาเขินให้พลายงามปลอดภัยไร้ทุกข์ วันทองห่วงใยอนาคตของลูก


นางกอดจูบลูบหลังแล้วสั่งสอน
อำนวยพรพลายน้อยละห้อยไห้
พ่อไปดีศรีสวัสดิ์กำจัดภัย
จนเติบใหญ่ยิ่งยวดได้บวชเรียน

" ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ
เจ้าจงอตส่าห์ทำสม่ำเสมียน "
แล้วพาลูกออกมาข้างท่าเกวียน
จะจากเจียนใจจะขาดอนาถใจ

ลูกก็แลดูแม่แม่ดูลูก
ต่างพันผูกเพียงว่าเลือดตาไหล
สะอื้นร่ำอำลาด้วยอาลัย
แล้วแข็งใจจากนางตามทางมา

เหลียวหลังยังเห็นแม่แลเขม้น
แม่ก็เห็นลูกน้อยละห้อยหา
แต่เหลียวเหลียวเลี้ยวลับวับวิญญา
โอ้เปล่าตาต่างสะอื้นยืนตะลึง






พลายงามและศรีมาลา


พลายงาม...ไปอยู่กับย่าทองประศรีที่กาญจนบุรี มีความสามารถปราชญ์เปรื่อง เจริญเติบโต จนได้เป็นจหมื่นไวยวรนาถ รำพึงถึงพ่อแม่ ด้วยความปรารถนาที่อยากให้พ่อแม่ได้อยู่ด้วยกันจึงไปพรากนางวันทองมาจากขุนช้าง ขุนช้างทูลฟ้องสมเด็จพระพันวษา สมเด็จพระพันวษาให้ถามนางวันทองว่าจะอยู่กับผู้ใด หรือจะอยู่กับพระไวยผู้เป็นลูก วันทองตอบเป็นกลางๆ ไม่บ่งชัดว่าเป็นผู้ใด ทรงพิโรธ และประณามว่า วันทองสองใจ ให้เอาไปประหารชีวิต


ก่อนตายวันทองได้รำพันถึงความรักที่มีต่อลูกอย่างจับใจดังนี้


ครานั้นจึงโฉมเจ้าวันทอง
เศร้าหมองสะอึกสะอื้นไห้
สวมกอดลูกยาด้วยอาลัย
น้ำตาหลั่งไหลอยู่รินริน

วันนี้แม่จะลาพ่อพลายแล้ว
จะจำจากลูกแก้วไปสูญสิ้น
พอบ่ายก็จะตายลงถมดิน
ผินหน้ามาแม่จะขอชม

เกิดมาไม่เหมือนกับเขาอื่น
มิได้ชื่นเชยชิดสนิทสนม
แต่น้อยน้อยลอยลิ่วไปตามลม
ต้องตรอมตรมพรากแม่ไปเจ็ดปี

ให้แต่เฝ้าทุกข์ถึงคะนึงหา
นึกว่าแม่จะได้ไม่เห็นผี
เจ้าก็ไม่สูญหายวายชีวี
กลับมาได้เผาผีของมารดา

มิเสียแรงฟักฟูมอุ้มท้อง
ข้ามหนองแนวเขาลำเนาป่า
อยู่ในท้องก็เหมือนเพื่อนมารดา
ทนทุกข็เวทนาในป่าชัฎ

ฝ่าแดดแผดฝนทนลำบาก
ปลิงทากร่านริ้นมันกินกัด
หนามไหน่ไขว่เกี่ยวเที่ยวเลี้ยวลัด
แม่คอยปัดระวังให้แต่ในครรภ์

พ่อพาขี่ม้าไล่ขับควบ
ขยับยวบกลัวเจ้าจะหวาดหวั่น
พอแดดเผาเข้าร่มพนมวัน
เห็นจะอ่อนผ่อนผันลงกินน้ำ

ค่อยกลืนแต่พอชื่นไม่กลืนหนัก
กลัวลูกจะสำลักทุกเช้าค่ำ
เมื่อเขาส่งลงมาต้องจองจำ
แสนระกำก็ระวังจะนั่งนอน

ด้วยเป็นห่วงบ่วงใยในลูกรัก
จะเดินหนักเกรงท้องขยักขย่อน
จะนั่งนักเจ้าจักอนาทร
ครั้นนอนนักกลัวเจ้าจะเหนื่อยอนาถตัว

เจ้าคลอดรอดแล้วจึงคลาไคล
เฝ้าถนอมกล่อมไกวพ่อทูลหัว
เจ็ดปีแม่ประคองไม่หมองมัว
ขุนช้างชั่วลักลูกไปลับตา

เขาตีต่อยปล่อยหลงในดงชัฏ
กุศลซัดให้เจ้าคืนมาเห็นหน้า
พอเห็นแล้วก็ต้องพรากจากมารดา
แต่นั้นมาช้านานจึงพานพบ

กุศลหนหลังยังค้ำจุน
ให้ลูกแก้วมีบุญประจวบจบ
เที่ยวตามหาแม่พ่อพอพร้อมพบ
กลับต้องมาทำศพของมารดา

เหมือนอุตส่าห์ดั้นด้นพ้นป่าชัฎ
พอเห็นแสงจันทร์จำรัสพระเวหา
สำคัญคิดว่าจะสุขทุกเวลา
พอสายฟ้าฟาดล้มจมดินดาล

พ่อจะเห็นมารดาสักครี่งวัน
พ้นนั้นจะสูญเปล่าเป็นเถ้าถ่าน
จะได้แต่คิดถึงคะนึงนาน
กลับไปบ้านเถิดลูกอย่ารอเย็น

เมื่อเวลาเขาฆ่าแม่คอขาด
จะอนาถไม่น่าจะแลเห็น
เจ้าดูหน้าเสียแต่เมื่อยังเป็น
นึกถึงจะได้เห็นหน้ามารดา

ร่ำพลางนางกอดพระหมื่นไวย
น้ำตาไหลซบเซาไม่เงยหน้า
ง่วงหรุบฟุบลงกับพสุธา
กอดลูกยาแน่นิ่งไม่ติงกาย

แม้พระไวยใช้ความพยายามสนองคุณแม่อย่างสุดสติปัญญา ได้ขอร้องเพ็ชฆาตอย่าเพิ่งลงดาบประหารแม่ แล้วรีบไปทูลขออภัยโทษให้แม่ได้ แต่วันทองชะตาขาด ถูกประหารเพราะเพ็ชฆาตเข้าใจผิด ชิงลงดาบเสียก่อน วิญญาณของวันทอง ยังรักลูกพันผูกกับลูกคอยอภิบาลรักษาพระไวยตลอดเวลา เมื่อพระไวย จะต้องไปรบกับขุนแผนและพลายชุมพลในตอนหลัง วันทองจึงเป็นเปรตมาห้ามทัพไว้


วันทองรักลูกในภพนี้และภพหน้า เป็นแบบอย่างของแม่ไทยที่ดีที่สุดคนหนึ่ง

หญิงคนแรกล้นพระคุณคือคุณแม่
รักลูกแท้ไม่มีวันหันหน้าหนี
เป็นบ่อบุญบ่อเมตตาบ่อปรานี
ให้ลูกนี้ตักตวงไม่หวงเลย

อะไรแม่ให้ใจเหมือนพระ
เสียสละทุกสิ่งไม่นิ่งเฉย
หวังให้ลูกสุขรื่นก็ชื่นเชย
แม่ไม่เคยคลายรักสักวี่วัน

เมื่อลูกเศร้าแม่ก็เศร้าเฝ้าเปลื้องทุกข์
เมื่อลูกสุขแม่ก็สุขทุกข์ผายผัน
รักของแผ่ผกปกชีวัน
ใจแม่พันผูกอยู่มิรู้วาย

ลูกอยู่ไหนใจแม่แผ่ไปถึง
รักซาบซึ้งสุจริตคิดไม่หาย
ยอมระกำลำบากกรากกรำกราย
รักใครคลายรักของแม่แท้ยิ่งนัก


วรรณกรรมเรื่องแม่ทุกเรื่อง... ทั้งสามบทความดังกล่าว ล้วนประพันธ์และนิพนธ์ โดยบุรุษ แต่ความงดงามของเนื้อหา ใจความที่ถ่ายทอดออกมาเป็นบทกวี คือร่าย โคลง และกลอน ช่างวิจิตรบรรจงลึกล้ำด้วยความรักของแม่ คงเป็นเพราะความรักของพ่อเองก็ยิ่งใหญ่ไม่ด้อยกว่าความรักของแม่ ท่านจึงสามารถถ่ายทอดความรักที่มีต่อลูก ได้ดั่งที่ท่านได้รจนากันไว้ดังนี้นั่นเอง แม้แต่วันทองที่โลกตราหน้าในด้านความรักฉันท์หญิงชาย แต่ในด้านของความเป็นแม่ แม่ที่เป็นปุถุชนคนธรรมดา วันทองไม่รองแม่คนใดในโลกา พลอยโพยมคิดว่า บรรดาแม่ที่มีอยู่ในโลกนี้ ท่านมีสวรรค์ชั้นพิเศษที่แม่ทุกท่านมามาร่วมอยู่ชั้นเดียวกัน นั่นคือ ชั้นมารดา
จะสูงศักดิ์ ยากดีมีจนทุกคนนั้น แม่ทุกท่านเท่าเทียมทันกันในความรักที่มีต่อลูก...


5 ความคิดเห็น: