วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554

[บทความ] บทกล่อมเด็ก...พระคุณแม่...



บทกล่อมเด็ก...พระคุณแม่... หนังสือวรรณกรรมเรื่องแม่ มีอีก 5 เรื่องคือ - เรื่องความรักของพระนางนาฎบุญเหลือ แต่บางครั้งก็เรียกพระนางบุญเหลือ ในลิลิตพระลอ เขียนโดยพระวรเวทย์พิสิฐ
- เรื่องนิทราชาคริต กล่าวถึงความรักของแม่ที่มีต่ออาบูหะซ้น เขียนโดยหลวงบุณยมานพพาณิชย์
- เรื่องความรักของแม่วันทองกับลูกพลายงาม เขียนโดยนายเจือ สตะเวทิน
- และลูกในเปลของหลวงสารานุประพันธ์
ซึ่งขอข้ามมาในเรื่องสุดท้าย 'เรื่องลูกในเปล' พันเอกหลวงสารานุประพันธ์ กรรมการสำนักวัฒนธรรมทางวรรณกรรมสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ท่านเล่าว่า

"การกล่อมลูกถือเป็นประเพณีเก่าแก่ที่สุดของโลกประเภทหนึ่ง มีมาแต่ครั้งโบราณจนถึงกาลปัจจุบัน มีในทุกชาติทุกภาษาแตกต่างกันไปตามบทร้อง การกล่อมลูกของไทยมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี และถือเป็นวรรณคดีสมัยที่ยังไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร" การกล่อมลูกของไทยมี 2 แบบ คือ การเห่กล่อม และการขับกล่อม

การเห่กล่อม... มักใช้บทเห่กล่อมเป็นบทร้อยกรองลำนำยานี ๑๑ ทำนองกล่อมไปในทางสรพัญญะ (แบบการสวดสดุดีพระพุทธคุณ "องค์ใดพระสัมพุทธ") มิฉะนั้นก็ดำเนินเพลงทำนอง เต่าเห่ เห่เรือ ฯลฯ ซึ่งใช้ในขัตติยราชประเพณี กล่อมพระราชโอรส พระราชธิดา ของพระมหากษัตรย์แต่โบราณสมัยสืบมา เข่น

"เห่เอยเห่กล่อม พระทูลกระหม่อมจะบรรทม
ข้าบาทขอบังคม ขับประสมดนตรี
ฟีงเสนาะเพราะสำเนียง ประสานเสียงดีดสี
ขับไม้มโหรี รายรอบพระกรงทอง ฯ" เป็นต้น

ซึ่งสุนทรภู่ท่านได้ประพันธ์บทเห่กล่อมไว้ 4 เรื่อง - บทเห่กล่อมเรื่องพระอภัยมณี มี 8 ช่วง
- บทเห่กล่อมเรื่องนางกากี
- บทเห่กล่อมเรื่องโคบุตร
- บทเห่กล่อมเรื่องขับระบำ

กล่าวกันว่าแต่งถวายเพื่อขับกล่อมหม่อมเจ้าในพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ กับพระเจ้าลูกยาเธอในสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อสุนทรภู่ถึงแก่กรรมได้ใช้กล่อมบรรทมพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

บทเห่กล่อมพระบรรทม... เป็นฃื่อทำนองของเพลงไทยเดิม ด้วย ในกลุ่มของเพลงเห่ ซึ่งมีทั้งทำนองเห่ ทำนองเห่เรือ ทำนองเห่เชิดฉิ่ง ทำนองเห่กล่อมช้าง ทำนองเห่กล่อมพระบรรทม

นอกจากนี้ยังมี เพลงเขมรกล่อมพระบรรทม เพลงขอมกล่อมลูก เพลงเขมรกล่อมลูก

การขับกล่อม โดยมากใช้บทร้อยกรองหลายแบบ กาพย์ยานี 11 กลอนเปล่า หรือร่ายยาว มีคำสัมผัสไพเราะรื่นหู แต่ทำนองใช้แบบง่าย ๆตามชาวบ้านราษฎรทั่วไป ซึ่งแพร่หลายกว่าการ เห่กล่อมมาก ใจความบทขับกล่อมส่วนมากเป็นการแสดงความรักความเอ็นดู ความผูกพันของแม่ที่มีต่อลูกอันเป็นธรรมชาติเบื้องสูง หรือเป็นนิยายสั้นๆ นิทานโบราณ นำมาร้อยกรองให้ไพเราะเพราะพริ้งและรื่นหู
การขับกล่อมกอร์ปไปด้วยเสียงอันเยือกเย็น ทอดเสียง ลากเสียงเปล่า ยาวไปจนพอประสานสมาธิของทารกให้แน่วแน่ในการเข้าภวังค์ และแล้วก็หลับ

พ่อแม่มีความรักลูกถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูลูกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ คลอดจากครรภ์ออกมาโตขนาดลงเปล ขับกล่อมได้ ซึ่งลูกทุกคนไม่ใคร่ซาบซึ้งเต็มที่นักเพราะยังเด็กจำความไม่ได้ เราจะรู้สึกคุณของพ่อแม่ในเรื่องขับกล่อม ไกวเปล ก็ยามมีลูกของตนเอง จึงจะหวนรำลึกไปถึงครั้งเรายังเด็ก ๆ กัน บทขับกล่อมในประเทศไทย มีไม่น้อยกว่า พันบท ตัวอย่างบทกล่อมแบบสั้นๆ

บทที่ 1.โอ้ละเห่เอย เจ้าเนื้ออุ่น เนื้อเจ้าละมุนเหมือนสำลี แม่มิให้ใครต้องกลัวเจ้าจะหมองศรี ทองดีนะแม่คนเดียวเอย
บทที่ 2.เจ้าสายสุดสวาท ใจแม่จะขาดอยู่รอน ๆ ใจแม่จะขาดเด็ด เสียวันละเจ็ดแปดท่อน กล่อมให้เจ้านอน อุแม่นา
บทที่3. เดือนเอ๋ยเดือนหงาย ดาวกระจายทรงกลด อุ้มเจ้าขึ้นใส่รถ ว่าจะไปชมเดือน พิศแลดูดาว ดาวก็ไม่สุกเหมือน พิศแลดูเดือน เหมือนนวลอุแม่นา
อ่านแล้วคิดถึงคุณพ่อตัวเอง นักกล่อมเด็กตัวยง ท่านจะนิยมร้องบทยาวๆ และนิยมร้องเล่าเป็นเรื่องราว เช่นแม่กาและลูกกาเหว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทที่ขึ้นต้นว่า..มาข้าจะกล่าว...ถึงเรื่องราว...... เนื่อเรื่องก็จะสนุกสนานชวนติดตามฟังฟังไปฟังมาผสมกับการไกวเปล เด็ก ๆ ก็นอนหลับปุ๋ย..ในสมุดจดของคุณพ่อมีบทกล่อม เรื่องดอกมะลิ บทหนึ่งมีความว่า




"...ดอกเอย ดอกมะลิ
ไร้ตำหนิขาวสะอาดชวนมาดหมาย
บริสุทธิ์ผุดผ่องละอองกาย
จวบกระจายกลิ่นโรยรารักษานวล

ระรวยรินกลิ่นออมอบหอมหวาน
ตลอดกาลนานทนสุคนธ์หวน
แต่แรกแย้มกลิ่นตระหลบอยู่อบอวล
มิผันผวนสุคนธ์รื่นทุกคืนวัน

สรรพคุณเลิศค่าดอกมะลิ
เมื่อแรกผลิสลับร้อยมาลัยขวัญ
ลอยอบน้ำปรุงบุหงานสารพัน
เหี่ยวแห้งแล้วยังสรรค์สร้างความดี

เป็นกระสายแทรกยารักษาไข้
ดับร้อนในชื่นวิญญาพาสุขี
จึงขอยกขึ้นขั้นชั้นมาลี
เครื่องหมายที่แทนแม่เราเฝ้าบูชา..."


และในวาระโอกาสวันแม่แห่งชาติ ขอนำบทกล่อม พระคุณแม่ มาประกาศพระคุณของแม่ทุกท่านบนโลกนี้ ท่านที่ยังมีคุณพ่อ คุณแม่เป็นพระในบ้านอยู่ในขณะนี้ ท่านโชคดีมากยังมีเวลาตอบแทนพระคุณท่านในขณะท่านยังมีชีวิตอยู่ อย่าปล่อยเวลาให้ล่วงเลยลับหายไปเสีย







"...พระคุณแม่เริ้มแต่ปฏิสนธ์
แม่ก็ทนอุ้มท้องเหมือนครองไข้
จะลุกนั่งไม่ถนัดอึดอัดใน
จนลูกได้ย่างเข้าเก้าเดือนปลาย

แม่เจ็บปวดรวดร้าวถึงคราวคลอด
เจ็บตลอดกายาน่าใจหาย
ต้องล้มหมอนนอนซมระบบมกาย
เสี่ยงความตายแต่ละครั้งหลั่งเลือดนอง

ครั้นลูกคลอดรอดมาเป็นทารก
แม่กอดกกกล่อมไกวมิให้หมอง
ป้อนข้าวน้ำนมสรรพประคับประคอง
ริ้นยุงป้องปัดให้ไม่ไต่ตอม

ลูกเจ็บป่วยช่วยรักษาป้อนยาหยูก
ความรักลูกยิ่งชีวิตคิดถนอม
อดหลับนอนค่อนรุ่งพรุ่งก็ยอม
เพราะแม่พร้อมใจพลีชีวิตตน

ยามประจำทำการงานบ้านช่อง
เสียงลูกร้องละงานการสับสน
มาสรวมกอดพลอดปลอบชอบกมล
แม่ไม่บ่นลำบากยากรำคาญ

สอนลูกน้อยค่อยนั่งยืนตั้งไข่
สอนลูกให้สำเหนียกร้องเรีนกขาน
เสียงพ่อจ๊ะแม่จ๋าพาชื่นบาน
ลูกคืบคลานเดินวิ่งยิ่งยินดี

ค่อยอบรมบ่มนิสัยในวัยย่อม
ให้เพียบพร้อมเพื่อความงามศักดิ์ศรี
ลูกดึงดื้อถือทิษฐิมิเข้าที
ถึงเฆี่ยนตีแม่ก็ยังหลั่งน้ำตา

เพราะรักลูกผูกจิตคิดสงสาร
ตลอดกาลมุ่งมาดปรารถนา
ให้รู้คิดผิดชอบใช้ปัญญา
มิใช่ว่าเฆี่ยนตีมีใจชัง

ครั้นลูกเติบโตพอมีหอห้อง
ไม่บกพร่องพอที่จะมีหวัง
การครองรักจักอยู่คู่จีรัง
เป็นฝาฝั่งแม่ไม่ห้ามตามธรรมเนียม

ลูกได้ดีแม่นี้พลอยมีสุข
ไม่ต้องทุกข์ถึงเวลามาเยือนเยี่ยม
ลูกยากเข็ญเห็นใจใครจักเทียม
แม่พลอยเกรียมกรอบเข็ญเป็นทุกข์ตาม

ลูกของตัวชั่วช้าสารพัด
สังคมตัดขาดสะบั้นพากันหยาม
แม่ก็รู้อยู่ว่าลูกแสนเลวทราม
แต่ด้วยความรักอาลัยตัดไม่ลง

พระคุณแม่ยิ่งแท้แล้วแม่จ๋า
แผ่นดินฟ้ามหาสมุทรสุดแลหลง
ทั้งขุนเขาลำเนาพฤกษ์ห้วยลึกดง
คุณแม่คงยอดเยี่ยมไม่เทียมทัน

แม่จ๋าแม่แม้ว่าชาติหน้าใหม่
มีจริงได้โดยแท้ไม่แปรผัน
ขอตั้งจิตอธิษฐานทุกวารวัน
เกิดจากครรภ์ของแม่แท้คนเดิม

ประจวบกาลงานสำคัญวันของแม่
ได้เผยแพร่เกียรติคุณหนุนส่งเสริม
ลูก ลูก พร้อมน้อมเกล้าเข้าจุลเจิม
ร่วมเฉลิมฉลองขวัญวันแม่เอย..."


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น