วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

[บทความ] ปลาสวาย...คล้ายสังกะวาด

ปลาสวาย...คล้ายสังกะวาด

ปลาสวายเผือก

ปลาสวาย....คล้ายสังกะวาด

ที่กล่าวว่า ..ละม้ายคล้ายคลึงกัน....คือในช่วงที่ยังเป็นลูกปลานั่นเอง





ปลาสวายเผือก

นอกจากลูกของปลาสวายจะคล้ายกับลูกปลาปลาสังกะวาดแล้ว ยังคล้ายคลึงกับลูกปลาเทโพอีกด้วยคล้ายกันมากจนจำแนกได้ยากมาก



บางคนเรียกปลาที่ผิดแผกจากธรรมชาติไปเช่นสีว่า ปลาพิการ แต่กลายเป็นของแปลกที่นักเลี้ยงปลาในตู้ปลาชื่นชอบแสวงหามาเลี้ยงกัน


สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำจืดของกรมประมงจัดตู้ปลาขนาดใหญ่ ในตู้ปลามี ปลาสวายเผือก ปลาสวาย ปลาเทพา ปลาเทโพ ไว้ด้านหน้าสุดของชั้นล่างไว้ต้อนรับผู้มาเยี่ยมเยือน
แต่แสงไฟ ตู้กระจก อุปกรณ์ในตู้ และขนาดปลาตัวที่ใหญ่ ความปราดเปรียว ว่องไว เวลากลับตัวของบรรดา ปลา ๆ ทั้งหลายทำให้ถ่ายภาพได้ยากมาก
แม้ว่าปลาตัวใหญ่จะค่อย ๆ เคลื่อนตัว ตั้งกล้องไว้รอพอได้จังหวะดี ๆ ปลาก็พลิกตัวพลิ้วผ่านกล้องไปหน้าตาเฉย ไม่ได้เห็นอกเห็นใจคนถ่ายภาพเลย รู้ว่ามีคนสนใจก็ยิ่งเล่นตัวมากขึ้นจริง ๆ


ปลาสวายเผือกมาอยู่รวมกับปลาเทพา ปลาเทโพ ในตู้เลี้ยงปลาเดียวกันเลยดูเป็นปลาขนาดเล็ก


ชื่อสามัญ : Siriped Catfish
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pangasianodon hypophthalmus เอกสารบางที่ใช้ชื่อว่าPangasius hypophthalmus
อยู่ในวงศ์ปลาสวาย (Pangasiidae)

ปลาสวายเป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งที่ไม่มีเกล็ด ชอบอยู่รวมฝูง อยู่ในสกุลเดียวกับปลาเทโพ มีรูปร่างลักษณะและขนาดตลอดจนความเป็นอยู่คล้ายปลาเทโพ



แสงไฟสะท้อนกับกระจกและวัตถุในตู้ปลาทำให้ปลายสวายเผือกสีขาวกลายเป็นปลาสีชมพู

ปลาสวายมีแหล่งกำเนิดในประเทศอินเดียและพม่า ต่อมาได้เข้าไปในประเทศอินโดนิเซีย และไทย ( Smit 1945)
ปัจจุบันพบได้ในลาว กัมพูชา เวียตนาม
ในปี พ.ศ. 2513 ได้มีการนำเข้าประเทศไต้หวันจากประเทศไทย


ปลาสวายเผือก

ลักษณะทั่วไป

มีส่วนหัวค่อนข้างเล็กกว้างแต่ไม่แบนนัก แนวบริเวณหัวถึงครีบหลังลาดตรง ตาอยู่เสมอหรือสูงกว่ามุมปาก ปากแคบกว่าปลาบึก (Pangasianodon gigas) รูปร่างเรียวลำตัวยาว ด้านข้างมีสัณฐานอวบกลม ป้อมสั้นในปลาขนาดใหญ่ ก้านครีบท้องมี 8 - 9 เส้น ครีบก้นยาว มีสันหลังค่อนข้างตรง ส่วนหน้าจะลาดไปถึงบริเวณปาก หน้าทู่ปากกว้างมีหนวด 2 คู่ ลำตัวมีสีนวลขาว บริเวณหลังมีสีหม่นเข้ม บริเวณครีบจะมีสีเหลืองอ่อน แต่ปลายหางครีบหลังและครีบอกจะมีสีค่อนข้างหม่น

ปลาสวายขนาดใหญ่มีสีเทาหรือคล้ำอมน้ำตาล ด้านข้างลำตัวสีจาง มีขนาดประมาณ 50 เซนติเมตร ใหญ่สุด 1.5 เมตร

ปลาสวายขนาดเล็กมีสีคล้ำเหลือบเงิน ด้านข้างลำตัวสีจางและมีแถบสีคล้ำตามยาวคาดลำตัว ครีบสีจาง ครีบหางมีแถบสีคล้ำตามแนวยาวทั้งตอนบนและล่าง ขนาดความยาวประมาณ 10 - 20 เซนติเมตร



ลูกปลาสวายมีลักษณะต่าง ๆ คล้ายลูกปลาเทโพ และลูกปลาสังกะวาด ซึ่งความคล้ายกันมากนี้ ยากในการจำแนก ต้องพิจารณาความแตกต่างของลูกปลา หลาย ๆ ส่วนประกอบ (9 องค์ประกอบ) เช่น เทียบแนวส่วนหลัง สีของครีบหลังและครีบอก สีของครีบหาง การผุดขึ้นผิวน้ำ การรวมฝูง เป็นต้น

สีของครีบหาง
ลูกปลาสวาย สีดำจาง ๆ ลูกปลาเทโพ สีดำเข้ม ลูกปลาสังกะวาด ไม่มีสี

การผุดขึ้นผิวน้ำ ลูกปลาสวาย ผุดขึ้นเร็วและสะบัดหางจนน้ำกระจาย ลูกปลาเทโพ ผุดขึ้นเร็ว สะบัดหางเร็วกว่าลูกปลาสวาย ลูกปลาสังกะวาด ผุดขึ้นช้า ๆ และไม่สะบัดหาง

การรวมฝูง
ลูกปลาสวาย ไปเป็นฝูงเดียว หรือร่วมกับปลาเทโพ
ลูกปลาเทโพ ไปเป็นฝูงหรือร่วมกับลูกปลาสวาย
ส่วนลูกปลาสังกะวาด ไปฝูงเดียวไม่ร่วมกับปลาชนิดอื่น

(ดูยุ่งยากพึลึกกึกกือในการแยกลูกปลา สวาย เทโพและสังกะวาด ต้องเปรียบเทียบดูหลายองค์ประกอบ นอกจากข้อมูลข้างต้นซึ่งดูได้ง่ายกว่าการพิจารณา ก้านอ่อนของครีบใต้ท้อง รอยผ่าของปาก ดูซี่เหงือก ว่ามีกี่ซี่ สีของครีบหลังและครีบอก อ่านแล้วงงว่า ถ้าไม่เจอพร้อม ๆ กัน สามพันธุ์นี้ เราจะแยกออกไหมนี่)



ปลาสวายมีนิสัยรักสงบ ตื่นตกใจง่าย ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงในที่ร่มใกล้พันธุ์ไม้น้ำ เลี้ยงง่าย โตเร็ว .

ถิ่นอาศัย
พบในแม่น้ำและลำคลองสายใหญ่ ทั่วประเทศไทย ในที่ร่มใกล้พืชพันธุ์ไม้น้ำ หรือบริเวณใต้แพ กร่ำ หรือใต้กอผักตบชวา นับแต่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาไปถึงจังหวัดนครสวรรค์และในลำน้ำโขง
มักพบชุกชุมตามอุทยานปลาหรือหน้าวัดต่าง ๆ ที่ติดริมน้ำ
โดยในบางพื้นที่อาจมีปลาเทโพ (P. larnaudi) เข้ามาร่วมฝูงด้วย และนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับปลาที่สีกลายเป็นสีเผือก



เป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง ที่ซึ่งมีการเพาะเลี้ยงกันมานานกว่า 50 ปี แล้ว โดยเพาะขยายพันธุ์ได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2509 เติบโตได้ดีทั้งในบ่อเลี้ยงและกระชังที่ลอยน้ำ เลี้ยงง่าย เติบโตเร็ว ไม่มีโรค


มีฤดูวางไข่ในเดือนกรกฎาคม นิยมบริโภคโดยปรุงสดและรมควัน

และจากการศึกษาล่าสุดพบว่า ในเนื้อปลาสวายนั้นมีโอเมกา 3 คิดเป็นปริมาณแล้วสูงกว่าในปลาทะเลเสียอีก โดยมีถึง 2,570 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนัก 100 กรัม

อาหารของปลาสวาย กินอาหารได้ทุกชนิด กินซากสัตว์และซากพืชที่เน่าเปื่อยรวมทั้งวัชพืช ลูกหอย หนอน ไส้เดือน เศษอาหารจากร้านค้า มูลสัตว์เช่น มูลไก่ มูลสุกร

นิยมบริโภคกันมานับแต่ครั้งโบราณกาล โดยทั่วไปนำมาต้มยำ แกงคั่ว หรือฉู่ฉี่



ปลาสวาย

ปลาสวายมีกลิ่นสาบโดยเฉพาะปลาเลี้ยง มีกลิ่นสาบโคลนค่อนข้างแรง และเพราะเป็นปลาตัวใหญ่ก็ยิ่งมีกลิ่นสาบแรง

ซึ่งโดยปกติสัตว์น้ำที่เลี้ยงในบ่อดิน ในกระชัง จะมีความแตกต่างของเนื้อปลาจากปลาในธรรมชาติ เพราะความหลากหลายของอาหารที่ใช้เลี้ยงน้อยกว่าที่บรรดาสัตว์น้ำจะหากินได้เองในธรรมชาติ เนื้อจะไม่แน่นเหมือนสัตว์น้ำธรรมชาติ
ส่วนใหญ่กุ้ง ปลาที่เลี้ยงในบ่อดิน จะมีกลิ่นสาบโคลนแทบทั้งนั้นถ้าสังเกตดี ๆ โดยเฉพาะคนที่นิยมกินปลาทะเลก็จะบอกว่าปลาน้ำจืดเหม็นคาว ( ปลาธรรมชาติ ) ปลาน้ำจืดเหม็นโคลน ( ในปลาที่เลี้ยงบ่อดิน)

ส่วนคนที่ชินกับปลาน้ำจืดก็จะบอกว่าปลาทะเลเหม็นคาวกว่า แบบนี้ก็หาข้อสรุปไม่ได้เหมือนกับคนที่ชอบโค๊กก็จะบอกว่าเป็บซี่หวานและซ่าน้อยกว่าโค๊ก ส่วนคนที่ชอบเป๊บซี่ก็แย้งว่าโค๊กต่างหากที่หวานและซ่าน้อยว่าเป๊บซี
ก็ถือเสียว่า นานาจิตตัง สุดแต่ใจปรารถนาที่จะชอบหรือไม่ชอบต่างกันของแต่ละบุคคล

ที่บ้านพลอยโพยมไม่กินปลาหลายชนิดรวมทั้งปลาสวายและปลาสังกะวาดข้างล่างนี้ด้วยอีก 2 ชนิด


(สองปีผ่านไป พลอยโพยมมาถ่ายภาพที่กรมประมงใหม่ พบว่าไม่มีปลาสวายเผือกว่ายวนเวียนไปกับปลาเทโพและปลาเทพาในตู้เลี้ยงปลาใหญ่ตู้เดิม ทั้งที่เมื่อก่อนมีปลาสวายเผือกหลายตัว
นี่คือสัจธรรมของสัตว์โลกจริง ๆ อนิจจัง สังขารไม่เที่ยง จริง ๆ )


ปลาสังกะวาดในกาพย์เห่เรือเรียกว่าปลาชะวาด

(เพิ่มเติม )
ปลาชะวาด หรือปลาสังกะวาด เป็นคำที่เรียกกันในภาคกลาง ปลา ยอนหรือปลา ยอนเขียว ปลา ยอนหลังเขียวเป็นคำเรียกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เป็นปลาไม่มีเกล็ด มีหลายชนิดคือ
ปลาสังกะวาดขาว
ปลาสังกะวาดเหลือง
ปลาสังกะวาดท้องคม
ปลาสังกะวาดท้องโต

ปลาสังกะวาด เป็นปลาไม่มีเกล็ด พบได้ตามแม่นำสายต่าง ๆ หนองบึง
ปลาสังกะวาดที่พบชุกชุมในแม่น้ำเจ้าพระยาคือปลาสังกะวาดเหลือง



ปลาสังกะวาดเหลือง


ชื่อสามัญ สังกะวาดเหลือง
ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ SIAMENSIS PANGASIU
ชื่อวิทยาศาสตร์ Pangasius macronema


ปลาสังกะวาด
(เพิ่มเติม )
ลักษณะทั่วไป

เป็นปลาที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มประมาณกลุ่มละสิบตัว รูปร่างคล้ายปลาสวาย แต่มีขนาดเล็กกว่า ลำตัวยาวเรียวและมีหนวดยาว โดยเฉพาะหนวดคู่ที่มุมปากปลายหนวดยาวเลยฐานครีบท้อง ซี่กรองเหงือกเรียวยาว มีฟันอยู่บนขากรรไกรบนและเพดานปาก ลำตัวมีสีขาว ด้านหลังสีเทาคล้ำ ครีบหางมีแถบดำ

ชอบหากินอยู่ตามผิวน้ำ ว่ายน้ำได้รวดเร็วและปราดเปรียว ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะภายนอกเหมือนกัน



ปลาสังกะวาด
(เพิ่มเติม)

นิสัย-ปลาสังกะวาดชอบอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มปะปนกันกับปลาอื่น ๆ เช่นปลาแปบ ขณะว่ายน้ำอยู่มักชูหนวดไปด้านหน้า ว่ายน้ำได้ปราดเปรียวว่องไว หากินบริเวณผิวน้ำเฉพาะเวลากลางคืน ส่วนเวลากลางวันจะหากินที่ระดับน้ำลึกกว่า 3 เมตร
ยกเว้นฤดูผสมพันธุ์วางไข่ จะพบว่ายขึ้นมาบริเวณผิวน้ำตอนกลางวันด้วย

ถิ่นอาศัย
อยู่ในแหล่งน้ำไหลเป็นส่วนใหญ่จะพบเห็นได้บ้างตามหนองและบึง แต่มีจำนวนไม่มากนัก มีชุกชุมในภาคกลาง บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

อาหาร กินซากของพืชและสัตว์ที่เน่าเปื่อย รวมทั้งผลไม้สุกงอมที่เน่าเปื่อย หอยฝาเดียว และแมลงน้ำ

ขนาดความยาวที่พบใหญ่สุดประมาณ 30 ซ.ม.
ประโยชน์ ปลาสังกะวาดเป็นปลาเศรษฐกิจ นิยมบริโภค ปรุงเป็นอาหารได้หลายชนิด ทั้งสดและแปรรูป เนื้อปลาแน่น ไม่คาว มีรสชาติดี

ปัจจุบันกรมประมง สามารถเพาะพันธุ์ปลาสังกะวาดได้ด้วยวิธีการฉ๊ดฮอร์โมนผสมเทียม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545


ปลาสังกะวาด จากเรือผีหลอก
เพราะนิสัยของปลาสังกะวาดชอบว่ายน้ำที่ผิวน้ำในเวลากลางคืน จึงตกเป็นเหยื่อของเรือผีหลอกพร้อม ๆ กับปลาอีกหลายชนิดที่ชอบแหวกว่ายอยู่ตามผิวน้ำ โดยเฉพาะเวลากลางคืน

ปลาสังกะวาดเป็นปลาที่พบเห็นได้ทั่วไป ไม่ว่าจะ ยกยอ รออวน เรือผีหลอก ส่วนใหญ่จะถูกคัดทิ้งเพราะเป็นปลาตัวเล็ก



ในสมัยเด็กพลอยโพยมไม่ค่อยมีความทรงจำเรื่องปลาสังกะวาด อาจจะปะปนมากับปลาแขยงและพลอยโพยมไม่ได้สนใจ เพราะจ้องรอคอยแต่ปลาตัวใหญ่ ๆ ที่ตัวเองชอบ



ปลาเล็กปลาน้อยในการจับซั้งแต่ละครั้ง ก็จะไม่เก็บให้น้านุ้ยที่มาช่วยจับซั้งเช่นกัน จะคัดทิ้งหมดถ้ายังเป็น ๆ อยู่ ก็แค่ โยน หรือเหวี่ยงหรือหย่อนหรือปล่อยไปในแม่น้ำ (ตามลักษณะอาการของคนที่รับปลาจากสวิง มาเทลงในภาชนะใส่ในเรือว่า ใช้วิธีใด) เพราะเรือที่มารับกุ้งปลาจากการจับซั้ง ก็ลอยเท้งเต้งอยู่ในแม่น้ำอยู่แล้ว ส่วนที่ตายแล้วก็เอาไปฝากน้องหมาน่ารักของบ้าน

แม้แต่คนพายเรือผีหลอกเองก็ปล่อยไปหรือโยนทิ้งเช่นกัน

แต่ในระยะ 4-5 ปี มานี้ พลอยโพยมพบว่าที่ตลาดริมน้ำวัดโสธร มีการเอาสารพัดปลาเล็กปลาน้อย มาแช่น้ำปลาตากแดดเดียวแล้วทอดขาย แต่ ไปที่ตลาดนี้กี่ครั้ง ๆ ก็ไม่เห็นมีคนซื้อในช่วงที่พลอยโพยมไปเดินเลย ขายเป็นกอง ๆ กองละ 20 บาท มีหลายพรรณปลาเล็ก พรรณปลาน้อย
คนซื้อน่าจะเป็นคนที่มาอาศัยอยู่ใหม่ เช่นย้ายมาทำงานตามโรงงาน


ที่มาของข้อมูล
กรมประมง วิกิพีเดีย
รายงาน ชีวประวัติของปลาสวาย เอกสารวิชาการกรมประมง 3/2523 ของสมปอง หิรัญวัฒน์ พ.ศ.2523

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น