วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

[บทความ] ปลาซิวเยือน ...เกลื่อนธารา

ปลาซิวเยือน ...เกลื่อนธารา


ปลาซิวข้างขวาน

ปลาซิว เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae)
อันดับปลากินพืช มีหลายสกุลเช่น
สกุล Rasbora ที่มีลำตัวยาว ตัวใส
สกุล Danio, สกุล Esomus ที่มีหนวดยาวเห็นชัดเจน,
สกุล Chela ที่มีรูปร่างอ้วนป้อม โดยมากแล้วเป็นปลาที่อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงขนาดใหญ่ ขนาดลำตัวไม่เกิน 5 เซนติเมตร หากินบริเวณผิวน้ำ
แต่ก็ยังมีหลายสกุล หลายชนิดที่กินเนื้อหรือกินลูกปลาเล็กเป็นอาหาร และมีขนาดลำตัวใหญ่กว่านั้น เช่น ซิวอ้าว (Luciosoma bleekeri) หรือ สะนาก (Raiamas guttatus) เป็นต้น


ปลาซิวข้างขวานเล็ก

ปลาซิว เป็นชื่อสามัญในภาษาไทยที่เรียกปลาน้ำจืดขนาดเล็กหลายชนิด ในหลายสกุล

โดยปลาจำพวกปลาซิวที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือ ปลาบ้า (Leptobarbus hoevenii) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดได้ถึง 80 เซนติเมตร
นอกจากนี้แล้ว ปลาซิว ยังอาจจะเรียกรวมถึงปลาในวงศ์อื่นหรืออันดับอื่นได้อีกด้วยที่มีรูปร่าง ลักษณะคล้ายเคียงกัน เช่น ซิวแก้ว (Clupeichthys aesarnensis) ในวงศ์ปลาหลังเขียว (Clupeidae) อันดับปลาหลังเขียว หรือ ปลานีออน (Paracheirodon innesi) ในวงศ์ปลาคาราซิน (Characidae) อันดับปลาคาราซิน เป็นต้น

อนึ่ง คำว่า ปลาซิวในนัยทางภาษาไทยใช้เปรียบเทียบกับคนขี้ขลาดหรือใจไม่สู้ ว่า ใจปลาซิว
อาจเป็นเพราะเป็นปลาขนาดเล็กตายง่าย ไม่สามารถทนอยู่ในสภาวะที่ขาดน้ำได้เป็นเวลานาน หรือไม่สามารถทนอยู่ได้ในสภาวะที่น้ำขาดออกซิเจนหรือในน้ำที่มีปริมาณของออกซิเจนน้อย


ปลาซิวหางแดง

ปลาซิวส่วนใหญ่เป็นปลาที่มีขนาดเล็ก มีลำตัวเพรียวยาว แบนข้างเล็กน้อยถึงแบนข้างมาก สันท้องกลม ส่วนหัวใหญ่ปลายแหลม จะงอยปากค่อนข้างแหลม ปากกว้างมุมปากเฉียง ตาอยู่ทางด้านข้างของส่วนหัวไม่สามารถมองเห็นจากทางด้านล่าง ปากมีขนาดเล็ก เฉียง ขากรรไกรล่างจะยื่นออกมาเล็กน้อย บางครั้งริมฝีปากบนยื่นออกมาเล็กน้อย มีปมที่ปลายสุดของขากรรไกรล่างที่เรียกว่า symphyseal knob ไม่มีหนวด บางชนิดอาจมีหนวดขนาดเล็กบริเวณจะงอยปาก

พบได้ทั่วไปที่พบได้ทุกภาคของประเทศไทย จัดเป็นปลาในกลุ่ม Cyprinid ปลาในสกุลนี้จะมีรูปร่างลักษณะสีสันแถบสีที่คล้ายคลึงกันจึงยากที่จะแยกชนิดออกจากกันได้ชัดเจน อาจพบได้หลายสกุลในประเทศไทย

ถิ่นที่อยู่อาศัย ปลาซิวในสกุล Rasbora จะพบได้ในแหล่งน้ำจืดต่างๆ ได้แก่ พื้นที่ลุ่มขนาดเล็ก ลำธาร แม่น้ำ อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบขนาดเล็กและใหญ่ บ่อหนอง คลองบึง เป็นต้น ซึ่งจะพบได้ทั้งในแหล่งน้ำนิ่งและแหล่งน้ำไหล


ปลาซิวหางแดง

เป็นปลาที่มีความสำคัญในห่วงโซ่อาหารในแหล่งน้ำ โดยจะเป็นอาหารของสิ่งที่มีชีวิตที่มีขนาดใหญ่กว่า และยังเป็นปลาที่กินแมลงน้ำเป็นอาหาร นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงเป็นปลาสวยงามเพราะมีแถบสีที่มีลักษณะสีสันสวยงามโดยเฉพาะเมื่ออยู่รวมกันเป็นฝูง

ในปัจจุบันมีการรวบรวมพันธุ์ปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อจำหน่ายเป็นปลาสวยงามทั้งในและต่างประเทศ ส่วนการเพาะเลี้ยงนั้นยังมีอยู่น้อย จึงนับว่าเป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและมีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์ของแหล่งน้ำอีกกลุ่มหนึ่ง


ปลาซิวเจ้าฟ้า

การแพร่กระจาย พบว่ามีการแพร่กระจายของ Rasbora บริเวณอินเดียตะวันตก พม่า ไทย มาเลเซีย กัมพูชา ลาว เวียดนาม เกาะสุมาตรา บาหลี ชวา ลอมบอร์ก ซุมบาวา ฟิลิปปินส์ตอนใต้และบอร์เนียว (ทรงพรรณ และคณะ, 2529)


ปลาซิวเจ้าฟ้า

ปลาซิวสกุล Rasbora ในประเทศไทยพบไม่น้อยกว่า 30 ชนิด
ซึ่งจากการรายงานของ Britten (1954) ที่พบในประเทศไทยทั้งหมดมี 12 ชนิด และจากการศึกษาของทรงพรรณ และคณะ (2529) พบว่ามีในประเทศไทยทั้งหมด 16 ชนิด หลายชนิดที่ถูกพบเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดย Kottelat (1984) พบ Rasbora hobelmani เป็นครั้งแรกบริเวณต้นน้ำของแม่น้ำปิง และบางชนิดที่พบแต่ไม่เคยมีรายงานว่าพบในประเทศไทย ได้แก่ Rasbora agilis พบที่คลองโต๊ะแดง อ. สุไหงโกลก จ.นราธิวาส ส่วน Rasbora daniconius labiosa พบที่ลุ่มน้ำตาปี จ. สุราษฎร์ธานี สำหรับปลาซิวในสกุล Rasbora ในประเทศไทยนั้นยังมีอีกหลายชนิดที่ไม่สามารถแยกชนิดได้ชัดเจน ซึ่งยังมีความสับสนอยู่มาก


ปลาซิวเจ้าฟ้ารัฐฉาน

อนึ่ง คำว่า ปลาซิวในนัยทางภาษาไทยใช้เปรียบเทียบกับคนขี้ขลาดหรือใจไม่สู้ ว่า ใจปลาซิว นอกจากนี้แล้วยังมักถูกหยิบยกมาเปรียบเทียบคู่กับปลาสร้อยว่า ปลาซิว ปลาสร้อย หมายถึง สิ่งที่เล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่มีความสำคัญนัก เพราะปลาทั้งสองจำพวกนี้เป็นปลาขนาดเล็ก พบได้ทั่วไป



ปลาซิวสอบวาเจ้าฟ้ารัฐฉาน

สอบวา (sawbwa = สอ - บวา) เป็นภาษาพม่า แปลว่า เจ้าฟ้า (saopha) ปลาที่ได้ชื่อว่าเจ้าฟ้ามักต้องเป็นปลาที่สวย เช่น ปลาซิวเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ (Amblypharyngodon chulabhornae) หรือปลาหมอแซงแซว (Neolamprologus brichardi) แห่งทะเลสาบทังกันยิกา ที่ได้รับสมญาว่า "เจ้าหญิงแห่งบูรุนดี"

แม้ว่าวงการปลาสวยงามทั่วไปจะเพิ่งรู้จักปลาซิวสอบวา ทว่าที่จริงมันถูกค้นพบนานเกือบร้อยปีแล้ว แหล่งอาศัยของปลาซิวชนิดนี้อยู่ในทะเลสาบอินเล ทางตอนล่างของรัฐฉาน ประเทศพม่า ทะเลสาบอินเลตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขาหินปูน สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 900 เมตร อากาศหนาวเย็น ภูมิประเทศยังบริสุทธิ์ด้วยธรรมชาติของป่าดง พืชพรรณแน่นขนัด สัตว์น้ำหลากหลายสายพันธุ์ ถูกรบกวนจากมนุษย์น้อยมาก เนื่องจากเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
โดย พิชิต ไทยยืนวงษ์

ภาพข้างต้นจากอินเทอร์เนท
ที่มาของข้อมูล กรมประมง,วิกิพีเดีย ,เจ้าน้อยฟิชชิ่ง
อภินันท์ สุวรรณรักษ์ ภาควิชาเทคโนโลยีการประมง คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้

ภาพปลาซิวดังกล่าวข้างบนนี้เป็นปลาซิวที่พลอยโพยมไม่เคยรู้จัก ได้พบบทความและภาพสวยงามมากจนเกินห้ามใจจึงนำมาเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตชาวบางกรูดเลย

ปลาซิวที่มาเยือน...เกลื่อนธารา ที่บางกรูด คือ ปลาซิวควาย




ปลาซิวควาย

ชื่อสามัญ ซิวควาย
ชื่อสามัญ ซิวควายข้างเงิน
ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ SILVER RASBORA
ชื่อวิทยาศาสตร์ Rasbora argyrotaenia
(กรมประมง )




ปลาซิวควาย (อังกฤษ: Silver rasbora, Yellowtail rasbora)
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rasbora tornieri
อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae)
ชื่อพ้องRasbora argyrotaenia
(วิกิพีเดีย )



ลักษณะทั่วไป

มีรูปร่างยาวทางกระบอก แบนข้างเล็กน้อย ปากเล็กไม่มีหนวด ตาโต ครีบเล็ก ครีบหางเว้าลึก มีเกล็ดใหญ่ ตัวมีสีเหลืองอ่อนอมทอง มีแถบสีเงินพาดตามความยาวกลางลำตัวจนถึงโคนหาง ครีบสีเหลืองอ่อนมีขอบสีคล้ำ
ขนาดความยาวประมาณ 5-17 ซ.ม.




เป็นปลาผิวน้ำ ชอบรวมกลุ่มอยู่กันเป็นฝูง ลำตัวยาวเรียว ว่ายน้ำได้ปราดเปรียวว่องไว ด้านข้างของลำตัวจะมีแถบสีเงิน และมีสีเหลืองสดอมส้มพาดคู่ขนานไปกับแถบสีเงินตามความยาวลำตัว แถบสีเงินของปลาซิวชนิดนี้จะส่งประกายสดใส เมื่อถูกแสงไฟหรือแสงแดด เนื่องจากมีขนาดใหญ่กว่าปลาซิวชนิดอื่น จึงเรียกชื่อสั้น ๆ ว่า "ปลาซิวควาย"



อาศัยอยู่เป็นฝูงใหญ่ในแม่น้ำและแหล่งน้ำนิ่ง และน้ำไหล แพร่กระจายทั่วอยู่ทุกภาคของประเทศไทย พบเห็นได้ทั่วไป
รวมถึงลำธารในที่สูงบางแห่ง พบในภาคใต้ ภาคกลาง ถึงแม่น้ำโขง มีพฤติกรรมชอบตอมตะไคร่หรือสาหร่ายบริเวณใต้แพหรือท่าน้ำ อาหารได้แก่ พืชน้ำ ลูกน้ำ ตัวอ่อนของแมลง และแมลงน้ำ รวมทั้งแมลงที่บินอยู่ตามผิวน้ำขนาดเล็ก


ปลาซิวควาย
ภาพจากกรมประมง

โดยที่ ดร.ฮิวจ์ แมคคอร์มิค สมิธ ได้รายงานว่า เป็นปลาทีมีขนาดใหญ่ที่สุดในจำพวกปลาซิวที่พบได้ในประเทศไทย พบชุกชุมในแม่น้ำสายใหญ่ ๆ ถูกจับได้คราวละมาก ๆ ชาวชนบทนิยมใช้เป็นอาหารรับประทานกัน

เป็นปลาเศรษฐกิจ นิยมบริโภคโดยปรุงสด ทำปลาร้าหรือปลาแห้ง และนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย


ภาพนี้เป็นภาพปลาซิว สามตัว ยังมีชีวิตอยู่ ที่พลอยโพยมได้มาจากเรือ เท้าวเป๊ะ หรือ เรือสำเป๊ะ หรือเรือเช้าเป๊ะ คือเรือผีหลอกในเช้าวันหนึ่ง พร้อมปลาอื่น ๆ อีกหลายชนิด เช่น ปลาตะเพียนขาว ปลากระแห ปลากะพง ปลาหางกิ่ว ปลาแปบ ปลากระทุงเหว ฯ ชนิดละไม่มากตัว




เมื่อมาถึงบ้าน ก็เตรียมการและถ่ายภาพปลาที่ซื้อมาและตายไปแล้วตอนที่ซื้อมา คิดว่าปลาที่อยู่ในน้ำคงยังไม่เป็นไร พอถึงคราวจะถ่ายภาพปลาซิว พบว่าปลาซิวเป็น ๆ สามตัวนั้นเหลือที่ยังมีชีวิต แค่ตัวเดียว ก็จับมาเรียงกับตัวที่ตายแล้ว



ไม่นานนัก ปลาซิวตัวที่ยังหายใจผะแผ่ว ๆ ก็ตายไปเป็นตัวสุดท้าย ด้วยระยะเวลาที่ไม่กี่นาทีทั้ง ๆ ที่มีน้ำแฉะ ๆ รองให้ที่ใบตอง แต่ปลาซิวอาจตกใจที่ถูกมือคนมาถูกตัวและจับวางบนใบตอง มีเสียงกล้อง ดัง หลาย ๆ ครั้ง ปลาซิวตัวสุดท้ายก็เลยตายตามเพื่อนฝูงปลาซิวไปด้วยกัน


ปลาซิว หมดลมหายใจทอดกายบนใบตอง
ยังพอมองเห็นปลาซิวสองตัวข้างบนมีดวงตาที่สดใสแวววาวอยู่ เพราะเพิ่งตายใหม่ ๆ ผิดกับสามตัวล่างที่ดวงตาขุ่นมัวไม่มีแววเสียแล้ว ชั่วเวลาไม่นานปลาซิวเป็น ๆ สามตัวก็ตายหมดเลยไม่เหลือ



ปลาซิวเป็นที่นิยมนำมาเลี้ยงใส่ตู้ปลา กลายเป็นปลาสวยงามประดับตู้ปลา ภาพปลาซิวนี้พลอยโพยมยังใช้กล้องไม่รู้จักเมนูของกล้องที่เลือกถ่ายภาพของสัตว์น้ำได้ และสถานที่ตั้งตู้ปลาก็เป็นลักษณะที่จะมีเงาอื่นสะท้อน เมื่อรู้จักการใช้กล้องดีขึ้นก็ไม่มีปลาซิวให้ถ่ายภาพได้ใหม่ในภาพชุดที่สอง ส่วนปลาซิวชุดที่หนึ่งนั้นในขณะถ่ายภาพอยู่ ปลาซิวในตู้ปลาพากันแตกตื่นแหวกว่ายด้วยลักษณะตระหนกตกใจอกสั่นขวัญหาย พลอยโพยมก็เกรงว่าถ้ามีปลาซิวเป็นโรคหัวใจอยู่รวมในตู้ปลา เกิดหัวใจปลาซิววายไป ปลาซิวตัวอื่น ๆ จะ พลอยตายไปด้วยไหม ก็เกรงใจเจ้าของปลาไม่กล้าไปถ่ายภาพซ้ำอีก



ในสมัยเด็ก ๆ ปลาซิวนี้จะพลอยติดมาใน สวิง แห อวน ทุกครั้งที่เราออกไปหาจับกุ้ง จับปลา ด้วยวิธีที่หลากหลายดังได้กล่าวมาแล้วของวิถีชาวน้ำปกติธรรมดา แต่จะถูกคัดออกทิ้งลงน้ำไปหมดที่ยังเป็นปลาซิว เป็น ๆ แต่บางครั้งจำนวนปลาซิวหลงพลอยฟ้าพลอยฝนติดมากับสัตว์น้ำอื่น ๆ ทั้งตัวใหญ่ ตัวเล็กตัวน้อย ค่อนข้างมาก เราก็จะเอาไปต้มให้น้องหมาชื่อ "ดอกรัก" และ น้องหมาชื่ออื่น ๆ ในรุ่นถัดมากินกับน้ำข้าว ( สมัยนั้นน้องหมาได้กินน้ำข้าวข้น ๆ เพราะการหุงข้าวแบบเช็ดน้ำ ไม่มีไฟฟ้าใช้ และที่บ้านไม่ใช้วิธีการนึ่งข้าวกินกันในบ้าน)

แต่ในบางครั้ง ลูกปลาซิวตัวเล็ก ๆ นี้ หลงติดอยู่กับกุ้งเค็ม ( ที่ออกรสหวานเค็ม ไม่ใช่รสเค็มอย่างเดียว) พลอยโพยมรู้สึกว่าปลาซิวตัวน้อยนี้อร่อย เพราะเนื้อปลาซิวจะถูกอาบอิ่มไปด้วยน้ำตาลผสมเกลือตอนต้มกุ้งเค็ม ซึ่งน้ำที่ต้มนี้ยังซึมเข้าไปในเนื้อกุ้งต้มได้ไม่อาบอิ่มเท่า

เมื่อสองสามปีมานี้ กุ้งหอย ปูปลา เติบโตไม่ทันกับประชากรมนุษย์ที่มากขึ้น สัตว์น้ำทุกชนิดมีน้อยลง ตัวเล็กลงเพราะถูกจับมาก่อนถึงวัยอันควร ลูกกุ้งลูกปลา ปลาเล็ก ปลาน้อย ลูกปลาเล็ก ลูกปลาน้อย ลูกกุ้ง หอยชนิดต่าง ๆ ปูชนิดต่าง ๆ ถูกจับมาหมด
ปลาซิวกลายเป็นปลาที่นำมาขายได้และมีผู้คนนิยมซื้อ เพราะกินได้ทั้งตัวเป็นการเสริมแร่ธาตุแคลเซี่ยม บางคนก็เอาปลาซิวมาทอดขายเป็นปลาซิวแก้ว (เรียกชื่อให้ไพเราะเชิญชวนคนซื้อให้ตัดสินใจซื้อมากิน)




ปลาซิวแก้วทอดก็กรอบอร่อยดีเพราะมีการชุบแป้งช่วยเล็กน้อย แต่ราคาขายฟังแล้วตกใจกับราคาว่าปลาที่เราเคยทิ้งขว้างหรือเอามาต้มให้น้องหมากินราคาแพงขนาดนั้น ก็ลองซื้อมาชิมดูเพราะอายคนขายว่าไม่กล้าซื้อมากิน เนื่องจากพลอยโพยมยังทำงานอยู่ในขณะนั้น และแม่ค้ารู้จักกันดี (พอวันนี้พลอยโพยมไม่มีหัวโขนสวม เวลาถามราคาสินค้าหลาย ๆ อย่าง ถ้ารู้สึกว่าราคาแพงเกินไป พลอยโพยมก็ไม่ซื้อสบายใจดี )

แล้วก็มีแม่ค้าเอาปลาซิวตัดหัวออกคัดตัวโตหน่อยมาใส่ถาดขายเคียงข้าง กุ้งและปลาอื่น ๆ ราคากิโลกรัมละ 120 บาท (ทั้งที่ปลาไม่สด แช่น้ำแข็ง) มีอยู่คราวหนึ่งได้ปลาที่ค่อนข้างสดไม่แช่น้ำแข็ง พลอยโพยมซื้อมาแต่ไม่ได้เอามาทอด กลับเอามาทำปลาซิวต้มเค็ม

ผลที่ได้คือเททิ้งให้น้องหมายุคใหม่ที่ต้องกินข้าวหุงหม้อไฟฟ้าแบบของคน โดยแยกหม้อหุงข้าวกันคนละหม้อ หม้อน้องหมา และหม้อคน น้องหมาหลาย ๆ ตัว ได้ส่วนแบ่งปลาซิวต้มเค็มกินกันถ้วนหน้า เพราะปลาซิวคาวแรงมาก หลับหูหลับตาอย่างไรก็กินไม่ได้ อาจเป็นเพราะปลาซิวตัวโตกว่าสมัยที่มีหลง ๆ ติดอยู่ในกุ้งเค็ม ตอนเราเด็ก ๆ และมี แค่ ไม่กี่ตัว หรือรู้สึกคาวเพราะไม่คุ้นลิ้น กับชีวิตที่ห่างกันเกือบห้าสิบปี และวัยที่สูงขึ้นทำให้รับรู้สัมผัสต่าง ๆ ทางลิ้นผิดไปจากเดิมตอนเป็นเด็ก ๆ

ถ้าจะว่าไม่มีฝีมือทำก็ยากที่พลอยโพยมจะยอมรับ เพราะเราก็กินกุ้งกินปลามาตลอด การต้มอาหารด้วยการใช้เนื้อสัตว์ ต้องใส่ในหม้อหรือกระทะขณะที่น้ำเดือดจัด เมื่อใส่เนื้อสัตว์ลงในน้ำเดือดจัดนั้นแล้วห้ามใช้ทัพพีหรือช้อนคนในหม้อจนกว่าเนื้อนั้นจะสุก จึงจะคนได้ในการปรุงรสชาติ ขนาดปลาตะเพียนต้มเค็มตัวใหญ่ ๆ ยังคาวน้อยกว่า น้องปลาซิวต้มเค็มในครั้งนั้น หรือเป็นเพราะปลาซิวเหล่านั้นเป็นปลาซิวในบ่อเลี้ยงปลาของเกษตรเลี้ยงปลา ไม่ใช่ปลาซิวหากินในแหล่งน้ำธรรมชาติ จึงมีกลิ่นคาวแรงจัดกว่าที่ควรเป็น

ส่งผลให้พลอยกินปลาซิวทอดกรอบ ไม่ได้ไปด้วยในขณะนี้



ปลาซิวชอบอยู่กันเป็นฝูง ๆ ในสมัยเด็กหากเอาหม้อชามรามไห ไปล้างที่หัวสะพานท่าน้ำตอนน้ำขึ้น ฝูงปลาซิว ปลาแขยง จะว่ายรี่เข้ามากินเศษอาหาร ฮุบกันสนุกสนาน ถ้าเป็นปลาซิว การฮุบกินเศษอาหารเสียงจะดังน้อยกว่าปลาแขยง หากเอาหม้อช้อนตักลงไปในฝูงปลาเหล่านี้ ก็จะได้ปลาติดมากับหม้อคราวละหลาย ๆ ตัว ก็สนุกดีไปอีกแบบ แต่ก็เพิ่มภาระว่าต้องล้างหม้อให้สะอาดจากเศษอาหารแล้ว ต้องล้างความคาวของปลาเหล่านี้ออกไปด้วย ในความรู้สึกปลาเหล่านี้น่าจะมีจ่าฝูงนำทาง จะว่ายไปทางโน้นทางนี้โดยมีผู้นำฝูง แต่ตัวหัวหน้าที่นำก็แยกไม่ออกว่าเป็นตัวไหน เพราะไม่มีสัญลักษณ์อะไรบอก เช่น ตัวใหญ่กว่าปลาตัวอื่น ๆ ก็ไม่ใช่ จะว่าว่ายนำมาโดดเด่นตัวเดียวข้างหน้าก็ไม่ใช่อีกเช่นกัน หรือว่าปลาพวกนี้มี เซนส์พิเศษอะไรในบางอย่างการอยู่รวมกันเป็นฝูง เคลื่อนที่ไปเป็นฝูง ๆ ยิ่งการว่ายน้ำแบบตีโค้งเข้ามายังที่หมายพลอยโพยมก็เคยพบเห็นมาแล้ว เอแล้วจะไปหาคำตอบจากใครดีกันละนี่ สื่อภาษาถามปลาก็ไม่ได้


ที่มาของข้อมูล
กรมประมง,วิกิพีเดีย ,เจ้าน้อยฟิชชิ่ง
อภินันท์ สุวรรณรักษ์,ภาควิชาเทคโนโลยีการประมง คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น