วันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

[บทความ] ฝูงมัจฉา... ปลาแขยง

ฝูงมัจฉา... ปลาแขยง
ในบทเห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้งทรงเรียกปลาแขยงว่า ปลาชะแวง


ปลาแขยงหิน

แขยงหิน (ชื่อสามัญ)
กดหิน (ชื่อสามัญ)
SIAMESE ROCK CATFISH (ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ)
Leiocassis siamensis (ชื่อวิทยาศาสตร์)


ปลาแขยงหิน

ลักษณะทั่วไป

ลำตัวค่อนข้างยาว ไม่มีเกล็ด หัวแบนราบลงเล็กน้อย ตามีผิวหนังใสปิดคลุม มีฟันซี่แหลมเล็ก ๆ อยู่บนขากรรไกร และเพดานปาก มีหนวด 4 คู่ มีรูจมูกข้างละหนึ่งคู่ แต่ละคู่อยู่ห่างจากกัน ครีบหลังและครีบหูมีหนามแหลม ลำตัวมีพื้นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน มีแถบดำหรือน้ำตาลเข้มพาดขวางลำตัว แถบที่ว่านี้จะมีขนาดโตกว่าช่วงสีพื้นของลำตัว ขนาดและที่ตั้งของแถบเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงไปตามขนาดและอายุของปลา

ถิ่นอาศัยอยู่ตามลำธาร เช่น บริเวณปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ แม่น้ำวัง จังหวัดลำปาง แม่น้ำแม่กลอง จังหวัดราชบุรี ฯลฯ
อาหารกินลูกปลา ลูกกุ้ง และสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็ก
ขนาดความยาวประมาณ 17 ซ.ม.
ประโยชน์นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม เนื้อใช้ปรุงอาหารได้

เป็นปลาแขยงที่พลอยโพยมไม่เคยเห็นในสมัยเด็ก ๆ


ปลาแขยง
( เพิ่มเติม )

กาพย์ยานี ๑๑

ชะแวงแฝงฝั่งแนบ
ชะวาดแอบแปลบปนปลอม

เหมือนพี่แนบแอบถนอม
จอมสวาทนาฎบังอร

กาพย์เห่เรือ เห่ชมปลา พระนิพนธ์ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ไชยเชษฐ์สุริยวงศ์


ปลาแขยง เป็นปลาที่อยู่รวมตัวกันเป็นฝูง แหวกว่ายไปที่ใดก็ไปเป็นฝูงเหมือนปลาซิว
ในสมัยเด็กปลาแขยงเป็นปลาที่พลอยโพยมใกล้ชิดมากที่สุด ไม่ว่าจะทำอะไรในแม่น้ำเช่น ล้อมซั้ง ยกยอ รออวน ใช้เบ็ดตกปลา เอาสวิงช้อนหากุ้งหาปลาในแม่น้ำ หรือยามที่ลงว่ายน้ำ เล่นน้ำในแม่น้ำ ล้างถ้วย ชาม หม้อไหหรือภาชนะอะไรก็แล้วแต่ที่หัวสะพานท่าน้ำที่บ้าน จะต้องพบเจอปลาแขยงและพบเป็นฝูง ๆ บางครั้งเอากระแป๋งตักน้ำในแม่น้ำก็พบปลาแขยง ลำบากลำบนต้องเอาปลาแขยงออกจากกระแป๋งอีก คือเทน้ำทิ้งทั้งกระแป๋ง ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีเอาก้นประแป๋งส่ายไปมา หลาย ๆ ที เพื่อไล่ปลาแขยงออกไปจากบริเวณที่จะจ้วงตักน้ำเสียก่อน

หากจะนับว่าปลาแขยงเป็นปลาที่ก่อความเดือดร้อนรำคาญใจในวัยเด็กก็ว่าได้ ไม่ว่าจะอยู่ในกระบวนการหากุ้งหาปลาโดยวิธีใดก็แล้วแต่ เนื่องจากเป็นของไม่ต้องใจ ไม่ต้องประสงค์จำนงหาแต่ได้มาทุกครา
เนื่องจากในสมัยนั้นกุ้งหอยปูปลาในแม่น้ำลำคลองหนองบึง มีมากมายอุดมสมบูรณ์ ปลาซิว ปลาสร้อย ปลาแปบ ปลาหางไก่ ปลาแขยง และปลาตัวเล็กตัวน้อยอื่น ๆ แม้แต่ปลากระดี่ เป็นปลาที่คนรุ่นพลอยโพยมไม่บริโภคกัน เพราะตัวเล็กเกินไป ปลาตัวใหญ่มีออกมากมาย ปลาเล็กปลาน้อยพวกนี้หากพบเจอเป็น ๆ เราก็ปล่อยคืนแหล่งน้ำไป แค่ปลาตัวใหญ่ เราก็กินไม่ทันเนื่องจากไม่มีไฟฟ้า ไม่มีตู้เย็น การแปรรูปปลา ก็มีเพียงใส่เกลือตากแดดเป็นปลาเค็ม ( ปลาช่อน) ทำลูกชิ้น ( ปลากราย) ซึ่งทำแล้ว แค่วันสองวันก็กินหมดเพราะค้างหลายวันก็ไม่อร่อยแล้ว ปลาเล็กปลาน้อยเหล่านี้เป็นส่วนเกินต้องการ

การที่ปล่อยคืนในแหล่งน้ำและเป็นปลาที่ไม่บริโภค ยิ่งทำให้จำนวนปลาพวกนี้มากขึ้น และค่อนข้างดื้อดึง เช่นตั้งใจตกปลาโดยใช้เบ็ด ปลาแขยงก็ชอบเสนอตัวเสนอหน้ามาให้ก่อนปลาอื่น ๆ คนตกปลาได้มาต้องเกิดอาการหัวเสีย ร้องว้า.... เวลายกเบ็ดขึ้นมา เสียเวลาปลดเบ็ดอีก และปลาแขยงเป็นปลาที่มีเงี่ยง เวลาจับตัวปลาต้องระมัดวะวังจะถูกปลายักเงี่ยงใส่ให้เจ็บมือต้องร้องโอดโอยกัน

เวลาล้างถ้วยชามหม้อ ปลาแขยงและปลาซิวก็มาก่อกวน ดิ้นรนขวนขวาย ว่ายเข้าอยู่ในหม้อ ในอวย ต้องสาดน้ำไล่ฝูงปลาออกไปห่างๆ
และเวลาลงเล่นน้ำในช่วงที่มีฝูงปลาแขยงเยอะ ๆ เราก็จะถูกปลาแขยงตอดก้นกันเป็นประจำ
การยกยอ พอเราปล่อยไปรู้สึกเหมือนเขาวนกลับมาเข้ายออีกซ้ำ ๆ จนต้องเหวี่ยงไปไกล ๆ ยอ

จนบัดนี้พลอยโพยมไม่รู้ว่ารสชาติปลาแขยงเป็นอย่างไร หลายสิบปีต่อมารู้สึกแปลกใจที่เห็นมีปลาแขยงขาย ต่อมาก็ประหลาดใจที่ปลาแขยงถูกนำมานำปรุงเป็นอาหารหลายอย่าง พอ ๆ กับแปลกใจที่เห็นปลาซิวสดราคา กิโลกรัมละ 120 บาท
ท่านผู้อ่านที่บริโภคปลาแขยง ปลาซิว ปลาตัวเล็กตัวน้อย(ปลาน้ำจืด) เหล่านี้ได้ คงไม่ตำหนิพลอยโพยมในเรื่องนี้ เหตุผลที่ไม่เคยกินนั้นเนื่องจากสมัยก่อน กุ้งหอยปูปลา อุดมสมบูรณ์มากมาย และพลอยโพยมมีบ้านอยู่ริมแม่น้ำ มีผู้ชำนาญการล้อมซั้งถึงสี่ซั้ง ล้วงปูทะเลเก่ง งมกุ้งก้ามกรามเก่ง
การตกปลา ถือเป็นการละเล่นของเด็ก
การยกยอหวังผลคือกุ้งไม่ได้หวังปลาเล็กปลาน้อยริมฝั่ง
การรออวนเพราะต้องการกุ้งเคย
หรือการหากุ้งปลาด้วยวิธีอื่น เราก็มีจุดมุ่งหมายและต้องการเพียงตรงตามวัตถุประสงค์เท่านั้น


(แก้ไข)
ปลาแขยง ปลาน้ำจืดที่ไม่มีเกล็ด จัดอยู่ในวงศ์ปลากด เป็นปลาขนาดเล็ก มีหนวดยาว มีครีบหลังอันแหลมคม ครีบหูทั้งสองมีเงี่ยงแหลม พบตามแหล่งน้ำไหล แม่น้ำ ลำคลอง ห้วย หนอง คลอง บึงทั่วไปทุกภาค ปลาแขยง มีหลาย ชนิด คือ ปลาแขยงหิน  ปลาแขยงธง ปลาแขยงหมู ปลาแขยงนวล ปลายแขยงใบข้าว ปลาแขยงข้างลาย ซึ่งในปัจจุบันจะไม่ค่อยได้พบเห็นปลาแขยงธงกันแล้ว


ปลาแขยง

ปลาแขยงเป็นปลาที่เคลื่อนที่แหวกว่ายไปเป็นฝูงตามนิสัยปกติ สำหรับปลาแขยงฝูงนี้ เป็นปลาที่เลี้ยงไว้ในตู้ปลา จะมีปลาแขยงหลาย ๆ ตัว ลงเกาะบนพื้นตู้เป็นระยะ ๆ



อ๊ะ อ๊ะ กำลังเพลิน ๆ มีกุ้งก้ามกรามตัวหนึ่งเคลื่อนตัวมาทางมุมพักผ่อนของกลุ่มปลาแขยง
ปลาแขยงตัวที่ใกล้กุ้งก้ามกรามที่สุดเริ่มขยับครีบเตรียมแหวกว่ายย้ายที่หนีกุ้งก้ามกรามที่ส่งก้ามคู่หน้ามารบกวนอารมณ์สุนทรี ฉันไปแหวกว่ายกับเพื่อน ๆ และหมู่ญาติดีกว่า



กุ้งก้ามกรามคืบคลานเข้ามาใกล้ โดยมีสองก้ามยื่นนำทางเคลียพื้นที่ของตนเอง
อันที่จริงตอนถ่ายภาพต้องการภาพปลาตะเพียนทองที่ว่ายอยู่เหนือกลุ่มปลาแขยง ซึ่งในตู้ปลานี้มีทั้ง ปลาตะเพียนทอง ปลาแขยงและกุ้งก้ามกรามอยู่ร่วมกัน

ทุกชีวิตเคลื่อนไหวร่วมกันโดยมีกลุ่มปลาตะเพียนทองแหวกว่ายอยู่บนสุดไม่ลงพื้นตู้ปลาเลย ว่ายไปว่ายมาทั้งกลุ่มปลาตะเพียนทอง
ถัดลงมาเป็นกลุ่มปลาแขยงที่มีหลาย ๆ ตัว ลงนอนพื้นบ่อย ๆ ครั้งละ หลาย ๆ ตัว แต่ไม่นานก็กลับไปแหวกว่ายรวมกลุ่มปลาแขยง

กุ้งก้ามกรามซึ่งอันที่จริงก็ว่ายน้ำได้แต่นาน ๆ ครั้งจึงจะว่ายน้ำ ส่วนใหญ่ลงเกาะพื้นคืบคลานเพ่นพ่านไปทั่วพื้นตู้สุดแต่ใจอยากจะไปมุมไหน
กุ้งก้ามกรามทำท่าจะข้ามโขดหินที่อีกด้านยังมีปลาแขยงนอนเกาะกับพื้นอยู่
พอเข้าไปใกล้ปลาแขยงที่ลงเกาะพื้นอยู่ ดูท่าทางว่าปลาแขยงจะไม่สบอารมณ์กับเจ้าตัวยุ่งกุ้งก้ามกรามแบบเบื่อเหลือระอาเต็มทน คงจะรำคาญก้ามยาวของกุ้งก้ามกรามก็เลยหนีไปดีกว่า


ปลาแขยง

ปลาแขยงตัวนี้ ยังอยู่ห่างจากกุ้งก้ามกรามที่รุกล้ำเข้ามาในฝูงจึงไม่สนใจ สงบเงียบอยู่ในมุมเดิมที่ยึดได้พื้นที่ เพื่อนปลาแขยงว่ายไปมุมอื่นกันแล้วแต่ฉันจะอยู่ตรงนี้แหละ และกุ้งก้ามกรามก็เปลี่ยนทิศทางไปทางอื่นแล้วไม่มากวนใจให้หงุดหงิด เฮ้อ...เบื่อเจ้ากุ้งแสนยุ่งตัวนี้จริง ๆ


ปลาแขยงใบข้าว

แขยงใบข้าว (ชื่อสามัญ)
Mystus singaringan (ชื่อวิทยาศาสตร์)
LONG-FATTY FINNED MYSTUS (ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ)
ลักษณะทั่วไป

เป็นปลาน้ำจืดที่ไม่มีเกล็ดขนาดเล็ก เป็นปลาแขยงที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ลำตัวค่อนข้างกลมและยาว หัวค่อนข้างเล็ก ปากทู่มีหนวด 4 คู่ ครีบหลังปลายยาวเป็นกระโดงสูง ครีบหูมีก้านเดี่ยวแข็งและแหลมคมข้างละอัน ครีบไขมันใหญ่และยาว แพนครีบหางอันบนมีปลายยาวเรียวเป็นรยางค์ ลำตัวส่วนบนมีสีเทาอมฟ้า ด้านหลังเข้มและสีจะค่อนจางลงถึงบริเวณท้องจะเปลี่ยนเป็นสีครีมหรือสีขาว

ถิ่นอาศัยมีอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ส่วนมากอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำไหล เช่น แม่น้ำ ลำคลองและลำธาร
อาหารกินปลา ลูกกุ้ง แมลงน้ำ ซากสัตว์และพืชที่เน่าเปื่อย
ขนาดความยาวประมาณ 8-25 ซ.ม.
ประโยชน์เนื้อปลาใช้ปรุงเป็นอาหาร


ปลาแขยงใบช้าว


ปลาแขยงข้างลาย
(เพิ่มเติม)

ปลาแขยงข้างลาย (ชื่อสามัญ)
Mystus multiradiatus (ชื่อวิทยาศาสตร์)
IRIDESCENT MYSTUS (ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ)
อยู่ในวงศ์ปลากด
ลักษณะทั่วไป

เป็นปลาน้ำจืดไม่มีเกล็ด มีขนาดค่อนข้างเล็ก ลำตัวป้อมสั้น ด้านข้างแบน หัวแหลม ปากเล็ก มีหนวด 4 คู่ ครีบหลังมีก้านเดี่ยวแข็งและแหลมคมหนึ่งอัน ครีบหูมีเงี่ยงแหลมคมข้างละอัน มีแถบสีขาวเงิน 2 แถบ พาดไปตามความยาวลำตัว ด้านหลังมีสีน้ำตาลปนดำเข้ม


ถิ่นอาศัยพบทั่วไปตามแม่น้ำลำคลอง และหนองบึง
ปลาแขยงที่ยังพบมากในแม่น้ำเจ้าพระยา คือปลาแขยงข้างลาย

นิสัย ปลาแขยงชอบอพยพไปที่น้ำท่วม ในช่วงฤดูน้ำหลาก
อาหารกินลูกกุ้ง ลูกปลา ตัวอ่อนแมลงน้ำ ซากพืชและสัตว์ที่เน่าเปื่อย
ขนาดความยาวประมาณ 10-18 ซ.ม.
ประโยชน์นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม เนื้อใช้ปรุงอาหารได้


ปลาแขยงข้างลาย



ปลาแขยงข้างลาย



ปลาแขยงธง

แขยงธง (ชื่อสามัญ)
Heterobagrus bocourti (ชื่อวิทยาศาสตร์)
BOCOURT'S RIVER CATFISH (ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ)

ลักษณะทั่วไป

เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็ก มีรูปร่างยาวเรียว ลำตัวด้านข้างแบน หัวเล็ก ตาค่อนข้างโต ปากค่อนข้างเล็ก มีหนวด 4 คู่ ครีบหลังมีขนาดใหญ่และยาวสูงเด่นคล้ายชายธง ครีบหูมีเงี่ยงแหลมคมข้างละอัน ครีบไขมันมีขนาดใหญ่และยาว ครีบหางเว้าลึก แพนหางส่วนบนมีปลายยาวเป็นเส้นรยางค์

ถิ่นอาศัยโดยปกติอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำไหล ตามแม่น้ำและลำคลอง อาจเข้าไปหากินในแหล่งน้ำนิ่งเป็นครั้งคราว
อาหารกินลูกปลา ลูกกุ้ง ซากสัตว์และพืชที่เน่าเปื่อย
ขนาดความยาวประมาณ 10-24 ซ.ม.
ประโยชน์เนื้อปลาใช้ปรุงเป็นอาหาร


ปลาแขยงกง อีกง มังกง

ปลามังกง หรือ ปลาอีกง (อังกฤษ: Long-whiskered catfish)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Mystus gulio
อยู่ในวงศ์ปลากด (Bagaridae)

เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง เป็นปลาหนัง มีลักษณะลำตัวค่อนข้างกลมหนา ปกติมีสีเทาอมทอง หรือเทาอมม่วง ท้องมีสีขาว กินกุ้ง ตัวอ่อนของแมลง แพลงก์ตอนพืชและสัตว์เป็นอาหารเมื่อโตเต็มวัยจะมีขนาดประมาณ 12-15 เซนติเมตร พบใหญ่สุดถึง 46 เซนติเมตร มักอาศัยอยู่เป็นฝูงใหญ่บริเวณน้ำกร่อย หรือปากแม่น้ำ

ปลามังกง หรือ ปลาอีกง มีชื่อเรียกหลากหลายมาก เช่น ปลากดหมู, ปลากด หรือ ปลาแขยงกง พบชุกชุมที่อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งคำว่า "บางปะกง" นั้นก็เรียกเพี้ยนมาจากคำว่า "บางมังกง" อีกทีหนึ่ง
ปัจจุบัน มีการเพาะเลี้ยงเป็นปลาเศรษฐกิจ และนิยมรวบรวมลูกปลาวัยอ่อนขายเป็นปลาสวยงามด้วย มีฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงฤดูฝน โดยจะว่ายไปวางไข่ในบริเวณน้ำจืด


ปลาอีกง

ปลามังกง หรือ ปลาอีกง มีชื่อเรียกหลากหลายมาก เช่น ปลากดหมู, ปลากด หรือ ปลาแขยงกง พบชุกชุมที่อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งคำว่า "บางปะกง" นั้นก็เรียกเพี้ยนมาจากคำว่า "บางมังกง" อีกทีหนึ่ง
ปัจจุบัน มีการเพาะเลี้ยงเป็นปลาเศรษฐกิจ และนิยมรวบรวมลูกปลาวัยอ่อนขายเป็นปลาสวยงามด้วย มีฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงฤดูฝน โดยจะว่ายไปวางไข่ในบริเวณน้ำจืด


ที่มาของข้อมูล กรมประมง ,วิกิพีเดีย และ
http://thailist.blogspot.com/2009/08/3-2.html
ที่มาของภาพ อินเทอร์เนท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น