วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

[บทความ] มัจฉา...เริงร่าธาร (ปลากราย ปลาสลาด)

มัจฉา...เริงร่าธาร ...เมื่อวานวัน

(แก้ไขใหม่) 29 มีนาคม 2555

ปลากราย

กาพย์ยานี ๑๑

ปลากรายว่ายเคียงคู่
เคล้ากันอยู่ดูงามดี

แต่นางห่างเหินพี่
เห็นปลาเคล้าเศร้าใจจร

กาพย์เห่เรือ ตอนเห่ชมปลา พระนิพนธ์ในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐสุริยวงศ์

ปลากราย เคยเริงร่าในลำน้ำมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา จวบมาจนเพลานี้ก็ยังพอที่จะกล่าวว่า ...ยังมีอยู่ทั่วแคว้นแดนไทย..


ปลากราย

ปลากราย
ชื่อสามัญ กราย ตองกราย หางแพน

ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ Knife Fish , Spotted Knife Fish , Featherback
ชื่อวิทยาศาสตร์ Chitala ornata
อยู่ในวงศ์ปลากราย Notopteridae

ลักษณะทั่วไป เป็นปลาน้ำจืดที่มีรูปร่างแปลกกว่าปลาอื่น คือ ลำตัวด้านข้างแบนมากและยาว ยาวเรียวไปทางส่วนหางคล้ายมีด หัวเล็กเว้าตรงต้นคอ (ในตัวเต็มวัยส่วนหน้าผากจะหักโค้ง ส่วนหลังจึงโก่งสูง) ส่วนหลังโค้ง ปากค่อนข้างกว้าง มุมปากอยู่เลยขอบหลังลูกตา จะงอยปากสั้นทู่ นัยน์ตาเล็ก ท้องแบนเป็นสันมีหนามแหลมแข็งฝังอยู่เป็นคู่ ๆ จำนวนหลายคู่ มีฟันเล็กและแหลมอยู่บนขากรรไกรทั้งสองข้าง

ลำตัวมีสีเงินหรือสีเงินปนเทา ลำตัวด้านหลังมีสีคล้ำ ส่วนด้านหน้าท้องสีจาง บริเวณลำตัวถึงหางมีจุดสีดำขอบสีขาวเรียงรายกันประมาณ 5-10 จุด ซึ่งมีจำนวนและขนาดแตกต่างกันออกไปในแต่ละตัว ปลากรายขนาดเล็กคล้ายปลาสลาด สีเป็นลายเสือแต่จะเปลี่ยนเป็นสีเทาเงิน ยังไม่มีจุดดำปรากฏแต่มีลายสีดำพาดขวางลำตัวแทน
ครีบก้นกับครีบหางเชื่อมติดต่อถึง กล้ามเนื้อบริเวณเหนือครีบก้นเรียกว่า" เชิงปลากราย " ครีบหลังมีขนาดเล็กอยู่ตรงกลางลำตัว ครีบอก 2 ข้างขนาดไม่ใหญ่นัก ครีบท้องเล็กมาก มีอวัยวะพิเศษช่วยหายใจจึงสามารถทนในน้ำที่มีออกซิเจนต่ำได้






นิสัยของปลากราย ชอบอยู่รวมเป็นฝูงเล็ก ๆ และหลบพักตามบริเวณกิ่งไม้ใต้น้ำหรือบริเวณที่มีพืชน้ำขึ้นหนาแน่น ตอไม้ หรือซอกหิน ไม่ชอบแสงสว่างมากจึงมักออกหากินในเวลากลางคืน ชอบผุดขึ้นมาทำเสียงที่ผิวน้ำแล้วม้วนตัวกลับให้เห็นข้างสีเงินขาว

ในฤดูวางไข่ประมาณเดือนมีนาคม-ตุลาคม แม่ปลาจะวางไข่ติดกับเสาหลักตอไม้ หรือก้อนหินในน้ำ จากนั้นทั้งพ่อและแม่ปลา จะช่วยกันดูแลไข่ โดยการโบกแพนหางเฝ้าไข่ไม่ยอมให้ศัตรูเข้ามาใกล้ ปลากรายระยะนี้จึงค่อนข้างดุร้าย



ถิ่นอาศัย พบทั่วไปในแหล่งน้ำทั้งแหล่งน้ำนิ่งตามหนองบึงขนาดใหญ่ และแม่น้ำ ลำคลอง ตั้งแต่แม่น้ำแม่กลองจนถึงแม่น้ำโขง โดยอาศัยในบริเวณที่มีกิ่งไม้ใต้น้ำหรือพรรณพืชน้ำค่อนข้างหนาแน่น อยู่เป็นฝูงเล็ก แต่ปัจจุบันพบน้อยลงมาก



ปลากราย

อาหาร ของปลากรายคือ ตัวอ่อนแมลงน้ำ ลูกกุ้ง ปลาผิวน้ำตัวเล็ก ๆ เช่น ปลากระทุงเหว ปลาเสือ ปลาซิว และปลาสร้อย สัตว์น้ำอื่น ๆ

มีขนาดโดยเฉลี่ย 60 ซ.ม. ใหญ่สุดที่พบคือ 1 เมตร หนักถึง 15 ก.ก

ปลากรายนับเป็นปลาน้ำจืดอีกชนิดหนึ่งที่คนไทยนิยมบริโภค เนื้อปลามีรสอร่อยโดยเฉพาะใช้เป็นวัตถุดิบผลิตทอดมันหรือลูกชิ้น ราคาขายในตลาดจึงสูง ส่วนบริเวณเชิงครีบก้น เรียกว่าเชิงปลากราย ก็เป็นส่วนที่นิยมรับประทานโดยนำมาทอด แม้ว่าเนื้อจะมีก้างมาก แต่ก็เป็นที่นิยมเพราะมีรสชาติอร่อยกว่าเนื้อปลาส่วนอื่น ๆ

ในภาคกลางเรียก ปลากราย ปลาหางแพน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียก ปลาตอง ปลาตองกราย ส่วนภาคเหนือเรียกว่าปลาตองดาว

กรมประมงเพาะพันธุ์ปลากรายได้สำเร็จโดยการฉีดฮอร์โมน ในปี พ.ศ. 2538


ปลากราย
ภาพจากอินเทอร์เนท

นอกจากใช้เป็นอาหารแล้ว ยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาเศรษฐกิจ เช่น เลี้ยงในท้องร่องสวน และนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย ที่เลี้ยง ง่าย อดทน และจะมีราคาแพงยิ่งขึ้นในตัวที่จุดมาก หรือตัวที่สีกลายเป็นสีเผือก หรือสีทอง ขาว หรือในตัวที่เป็นปลาพิการ ลำตัวสั้นกว่าปกติ



ปลากราย
ภาพจากอินเทอร์เนท

ปลากรายในสมัยเด็กเป็นปลาที่จับได้ทุกครั้งที่จับซั้งเพียงแต่จะได้น้อยหรือได้มากเท่านั้นเอง หากจับได้มากพอ แม่ละม่อมก็จะแล่กลางตัวปลาควักตับไตไส้พุง ตัดครีบออก แล้วใช้ช้อน (สมัยนั้นเป็นช้อนสังกะสี และจะเรียกกันว่าช้อนหอย) ขูดเอาเนื้อปลาล้วน ๆ ออกมากองไว้ การขูดเนื้อนี้ก็จะขูดเอาเนื้อ ออกมาทุกซอกทุกมุมของตัวปลากรายเลยทีเดียวต้องทั้งซอกซอน ชอนไช ทำนองนั้น
แล้วน้ำเนื้อปลากรายมาใส่ในครกหิน(ที่ใช้ทำครัว) ตำเนื้อปลาให้ละเอียดเข้ากัน


ปลากรายอินเดีย
ภาพจากอินเทอร์เนท

จุดมุ่งหมายคือตำเพื่อให้เนื้อปลาเหนียวหนับ เคล็ดลับ ตำนาน ๆ และนาน ๆ โดยเหยาะน้ำ( น้ำฝนที่ใช้ดื่มกิน) ลงไปเล็กน้อยในขณะตำและเนื้อปลาเริ่มเหนียว เหยาะเกลือป่น เล็กน้อยไม่มากถึงขั้นออกรสเค็ม คือแค่เค็มปะแหล้ม ๆ เท่านั้น (ซึ่งในสมัยนั้นไม่มีเกลือป่นขาย จึงต้องเอาเกลือเม็ดใหญ่ ๆ มาตำและขยี้ ๆ ให้ป่นละเอียดเอง) พริกไทยป่น ( ก็ต้องป่นพริกไทยเม็ดเองอีก ) ตำไปตำมาเมื่อเนื้อปลาชักเหนียวชักจะยกสากหินขึ้นยาก ก็เหยาะน้ำลงไปเล็กน้อย แล้วตำต่อไปอีก จนแม่ละม่อมพออกพอใจว่าเหนียวได้ที่ งานตำเนื้อปลากรายนี้ เด็ก ๆ ตำได้เฉพาะตอนเนื้อปลากรายยังไม่เหนียวมากนัก เพราะเด็ก ๆ จะยกสากหินที่มีเนื้อปลาเหนียว ๆ มาก ๆ ไม่ขึ้น หรือขึ้นได้ลำบากยากเย็น แม่ละม่อมใช้เวลาตำเนื้อปลากรายนี้นานมาก เหนียวสมใจแล้ว แม่ละม่อมติดไฟตั้งหม้อแกงต้มน้ำให้เดือด แล้วปั้นเนื้อปลากรายเป็นลูก ๆ รูปทรงตามจังหวะที่หย่อนเนื้อปลาลงไป คนมาช่วยจะคลึงจะเคล้าให้ กลมหรือรีก็ตามใจ แต่เราจะไม่ทำลูกชิ้นลูกใหญ่มาก กะว่าขนาด พอดี ๆ หย่อนในน้ำเดือด พอสุกก็ได้เป็นลูกชิ้นปลากราย หากทำแกงจืดลูกชิ้นปลากรายก็ทำสำเร็จปรุงรสใส่เครื่องเคราครบในหม้อนี้เลย ถ้ามีเยอะก็แบ่งเป็นลูกชิ้นเฉย ๆ และแล้วแต่ว่าจะเอาลูกชิ้นปลากรายนี้ไปทำอาหารอะไรอีก


ปลากราย
ภาพจากอินเทอร์เนท เป็นปลากรายที่มีลายจุดไม่เหมือนปลากรายที่พลอยโพยมเคยพบ

คำว่าเครื่องเคราของแม่ละม่อม มีเพียงผักชีฝรั่งหั่นซอย และตังไฉ่เท่านั้น แล้วปรุงรส ด้วยน้ำปลาอย่างเดียว เรียกว่ากินลูกชิ้นเพียว ๆ กับน้ำแกงจืด ชูรสแค่น้ำปลาและตังไฉ่ รสหวานได้จากเนื้อปลาที่สด มีกลิ่นหอมพริกไทยป่นในเนื้อลูกชิ้นปลากรายหอมฟุ้งในตัว

หากได้ไม่มาก แม่ละม่อมก็จะเอาเนื้อและก้าง(ที่ไม่ใช่ก้างใหญ่ ) ปลากรายและปลาสลาด สับละเอียด (ขูดเอาแค่เนื้อและก้างย่อยเท่านั้น) แล้วเอาไปผัดขิงแทน

คำว่ามากน้อย คือเทียบปริมาณพอกับทุกคนในบ้าน กินแบบสบาย ๆ มื้อเย็นต่อมื้อเช้า อย่างนี้เรียกว่าทำพอกินในบ้าน

ปัจจุบันที่เรากินลูกชิ้นปลากราย ไม่น่าจะเป็นเนื้อปลากรายล้วน เพราะเนื้อปลากรายที่เมืองแปดริ้วนั่งขูดเนื้อขายกันสด ๆ ในช่วงเช้า แต่ละวัน ได้ไม่มากนัก และราคาแพงมาก เอาไปแกงเขียวหวาน ขายตามร้านข้าวแกงถึงจะขายถุงละ 50 บาท ยังไม่น่าจะขายได้

ส่วนที่ขายสำเร็จรูปเป็นลูกชื้นปลากราย ก็ไม่ได้เห็นว่าเนื้อปลากรายล้วนแน่นอนหรือไม่ แต่อย่างน้อยถึงไม่ตำให้เนื้อลูกชิ้นเหนียวขนาดของแม่ละม่อม เนื้อลูกชื้นปลากรายก็ต้องเหนียวกว่าปลาอื่น ๆ อยู่ดี แม้แต่ปลาสลาดที่เป็นปลาตระกูลวงศ์เดียวกัน ก็ทำลูกชิ้นได้อร่อยไม่เท่าเนื้อปลากราย



ปลาสลาด

ชื่อไทย สลาด ฉลาด ตอง ตองนา หางแพน วาง
ชื่อสามัญ GREY FEATHER BACK
ชื่อวิทยาศาสตร์ Notopterus notopterus

ลักษณะทั่วไป เป็นปลาน้ำจืดซึ่งมีรูปร่างเหมือนปลากราย แต่มีขนาดเล็กกว่า มีปากกว้างไม่เกินลูกตาเหมือนปลาในวงศ์นี้ชนิดอื่น ๆ พื้นลำตัวมีสีเรียบ ยกเว้นปลาวัยอ่อนจะมีลายบั้งเหมือนปลากราย (Chitala ornata) วัยอ่อน จมูกมีสองคู่ คู่หน้ายื่นออกมาคล้ายหลอดหรือหนวด มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 20-30 เซนติเมตร จัดเป็นปลาที่เล็กที่สุดชนิดหนึ่งของวงศ์นี้ และเป็นเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในสกุล Notopterus

ลักษณะแตกต่างที่เด่นชัดคือ ปลาสลาดไม่มีจุดสีดำเหนือครีบก้นเหมือนอย่างปลากราย ปลาสลาดมีลำตัวเป็นสีขาวเงินปนเทาครีบหลังและครีบอกมีขนาดใกล้เคียงกัน ครีบท้องมีขนาดเล็กมากครีบก้นและครีบหางเชื่อมติดกันเป็นแผ่นเดียวกัน



ปลาสลาด
ภาพจากอินเทอร์เนท

นิสัยของปลาสลาดเป็นปลาขี้อาย ตื่นตกใจง่าย ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ และหลบพักตามตอไม้หรือซอกหิน ไม่ชอบแสงสว่างมาก ออกหากินในเวลากลางคืน โดยชอบผุดขึ้นมาฮุบอากาศทำเสียงที่ผิวน้ำและม้วนตัวกลับให้เห็นข้างขาวคล้ายสีเงิน

ถิ่นอาศัย พบตามแม่น้ำ ลำคลอง หนองบึงและอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศที่เป็นแหล่งน้ำนิ่งและสะอาด ทั่วประเทศไทยเป็นปลาที่หาง่าย มักอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ๆ มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นที่พบ เช่น ภาคเหนือเรียก “หางแพน” แต่ชาวแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ปลาวาง” ภาคอีสานมีชื่อว่า “ปลาตอง”

ในต่างประเทศพบได้ที่ภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ไปจนถึงเกาะสุมาตราและชวาหรือบอร์เนียว

อาหารได้แก่ ลูกกุ้ง ลูกปลา แมลงน้ำ สัตว์น้ำขนาดเล็ก

เป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง และนิยมนำเนื้อไปทำทอดมันแทนเนื้อปลากรายซึ่งมีราคาแพงกว่าได้ นอกจากนี้ยังแปรรูปเป็นอาหารอื่น ๆ ได้อีก เช่น ลูกชิ้นสับนก หรือรมควัน เป็นต้น และยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอีก โดยเฉพาะปลาที่กลายสีเป็นสีเผือก
ขนาดความยาวประมาณ 15-20 ซ.ม. ขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่พบมีความยาวถึง 30 ซ.ม.



ปลาสลาด
ภาพจากอินเทอร์เนท

ปลาสลาดเป็นปลาที่พบเห็นได้ง่าย ตามตลาดสดทั่วไปทุกจังหวัด โดยเฉพาะที่เมืองฉะเชิงเทรา จะมีแม่ค้าที่ขูดเนื้อปลาสลาดขายทุกวัน นาน ๆ ครั้ง จึงจะได้พบเห็นขูดเนื้อปลากราย ราคาของปลาสลาดถูกกว่าปลากรายมาก พลอยโพยมเองหากไม่เห็นตัวปลาก่อนแล่และขูดเนื้อปลา ก็แยกไม่ออกว่าเนื้อปลาต่างกันอย่างไรเพราะไม่เคยคลุกคลีกับการขูดเนื้อปลาแบบนี้ ในสมัยเด็กแม่ละม่อมเป็นคนจัดการเมื่อได้ปลามา แต่ แม่ละม่อมไม่นำปลาสลาดมาขูดเป็นลูกชิ้น แต่จะใข้การสับเนื้อปลาสลาดโดยสับก้างปลาปนไปด้วย คือเพียงแต่เอาหัวปลา หางปลา ครีบปลา ก้างแข็ง ๆ แกนกลางตัวปลา หนังปลา ตับไตไส้พุงของปลาออก สับให้ละเอียดและคลุกเคล้ากันได้ดีในระหว่างการสับปลาแล้ว นำไปผัดกับขิงซอย รสชาติหวาน ๆ เค็ม ๆ บางครั้งก็ผัดกระเพราเพิ่มรสเผ็ด

ที่มาของข้อมูล : กรมประมง และวิกิพีเดีย
ขอแก้ไขแยกปลาตองลายออกจากบทความนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น