วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553

มัจฉา....เยือนวารี...วันนี้ที่ลุ่มน้ำบางปะกง


ในน้ำมีปลา ในนามีข้าวของ ฉะเชิงเทรา
สำหรับข้าวคงใช้ข้อมูลของเรือกระแชง บอกกล่าวเล่าความได้พอสังเขปแล้ว ก็ขอเล่าในส่วนของ ในน้ำมีปลา...

ในปี พ.ศ.2526
มีเอกสารวิชาการของสถาบันประมงน้ำจืดแห่งชาติ เรื่องสภาวะประมง ชนิด และการแพร่กระจายของสัตว์น้ำในแม่น้ำบางปะกง ของสันทนา ดวงสวัสดิ์ เป็นเอกสารที่เจาะรายละเอียดตามอำเภอต่างๆด้วย พบว่ามีสัตว์น้ำที่พบในแม่น้ำบางปะกง 106 ชนิด ทั้งสัตว์น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม จากอำเภอเมืองฉะเชิงเทราถึงจังหวัดปราจีนบุรีและนครนายก พบปลาน้ำจืดเป็นส่วนมาก และบริเวณอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ลงมาอำเภอบ้านโพธิ์ และอำเภอบางปะกง พบสัตว์น้ำกร่อยและน้ำเค็มอยู่มากในช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงมิถุนายนเท่านั้น
กุ้งก้ามกรามพบทุกจุดที่สำรวจ
พบเครื่องมือประมงที่ใช้กัน 20 ชนิด ที่นิยมทำเป็นอาชีพอย่างจริงจังได้แก่เครื่องมือ โพงพาง เฝือกรัง และสวิงรอกุ้งรอเคย
( การทำโพงพาง ยกเว้นเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม จะไม่ทำการประมง)
หมายแหตุ
โพงพางก็คือ เครื่องมือจับสัตว์น้ำ เป็นถุงตาข่ายรูปยาวรี ใช้ผูกกับเสาใหญ่ 2 ต้น ที่ปักขวางลำน้ำ บางแห่งก็มีไม้ช่วยค้ำยัน2 อันต่อ1 เสาเพื่อกันหงายบางที่ก็ไม่มีไม้ค้ำยัน ผู้ที่ทำโพงพางเป็นอาชีพส่วนใหญ่เป็นชาวจีนที่อยู่ริมน้ำ ที่ได้ยื่นขออนุญาตจากทางราชการไว้ เจ้าของโพงพางต้องเสียค่าน้ำให้ราชการ ต่อมามีนโยบายให้ยกเลิกการทำโพงพาง เจ้าของโพงพางเดิมหากเสียชีวิต ทายาทจะไม่ได้รับอนุญาตให้สืบต่อกิจการ ให้ทำได้แค่ชั่วชีวิตของผู้ยื่นขอไว้ครั้งแรกเท่านั้น ดังนั้นปัจจุบันจึงแทบไม่มีการทำโพงพางกันแล้ว บางโพงพางทิ้งร้างเพราะทายาทแยกย้ายไปอยู่ที่อื่น โดยไม่ทำการรื้อถอนหลักไม้ปักโพงพางออกไปก็มี

อีก25 ปี ต่อมา ในปี พ.ศ.2551

มีการวิจัยของสำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดถึงความหลากชนิดของพรรณปลาในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกงและลุ่มน้ำปราจีนบุรี ของ อภิชาติ เติมวิชชากรและ อภิรดี หันพงศ์กิตติกูล
(ผู้สนใจรายละเอียดไปตามหางานวิจัยนี้ได้ที่อาคารปรีดากรรณสูต กรมประมง บางเขน )
พบชนิดปลาในลุ่มน้ำบางปะกง 146 ชนิด และลุ่มน้ำปราจีนบุรี 135 ชนิด เป็นปลาน้ำจืด 135 ชนิด และปลาน้ำกร่อย 38 ชนิด โดยพบปลาในวงศ์ปลาตะเพียน ปลาสร้อย และปลาซิว มีความหลากชนิดมากที่สุด 47 ชนิด ชนิดพันธุ์ปลาที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์จำนวน 8 ชนิด ได้แก่ ปลาหางไก่ ปลาก้างพระร่วง ปลาหนวดพราหมณ์หนวด 14 เส้น ปลาดุกด้าน ปลาดุกอุย ปลาบู่สมิธ ปลาค้อเกาะช้าง และปลากะทิ


ส่วนกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เคยมีโครงการติดตามและประเมินผลการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศของลุ่มน้ำบางปะกง นิเวศชายฝั่งทะเล
(บริเวณอำเภอบางปะกง) พบว่า
1.พรรณไม้ชายเลน มีจำนวนชนิดลดลง บางชนิดพบได้เพียงประปรายเท่านั้น และความสามารถ
ในการสืบพันธุ์ลดลงจากในอดีต 2-3 เท่า
2. จำนวนชนิดของปลาพบเพียง 170 ชนิด จากจำนวนชนิดปลาที่เคยรายงานทั้งหมด 281 ชนิด
โดยเป็นปลาที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ 2 ชนิด คือ ปลาตองลาย วงศ์Notopteridae และปลาตะโกกหน้าสั้น วงศ์ Cyprinidae

และอีก 5 ชนิดมีแนวโน้มสูญพันธุ์ ได้แก่ ปลาหางไก่ ปลาแมวหูดำ วงศ์Engraulidae ปลากะทิงไฟวงศ์ Mastacembembelidae ปลากดหัวลิง วงศ์ Ariidae และปลาดุกด้าน วงศ์ Clariidae

ในขณะที่มีปลาหลายชนิดมีจำนวนลดน้อยลงมากเมื่อเทียบกับปริมาณและการกระจายในเขตน้ำกร่อยในประเทศไทย เช่นปลาจิ้มฟันจระเข้ วงศ์ Syngnathidae ปลาตะโกก ปลาสร้อยนกเขาหน้าหมอง ปลาร่องไม้ตับ ปลาแมว ปลาแมวหนวดยาว ปลากดหัวลิง (Ketengus typus) และกลุ่มปลาปักเป้าเขียว และรวมทั้งปลาโลมาพบว่ามีความชุกชุมลดลง และพบห่างไกลจากปากแม่น้ำบางปะกงมากขึ้น
ในรายงานมีอ้างอิงข้อมูลกรมประมง ปี พ.ศ. 2550 จึงน่าเป็นโครงการในปี พ.ศ.2551



บางกรูดถือเป็นดินแดน สองน้ำ คือน้ำจืดและน้ำกร่อย ในอดีตน้ำจะกร่อยเพียงสี 4 เดือน น้ำจืด8 เดือน และน้ำกร่อยนี้จะขึ้นไปไม่ถึงปราจีนบุรี แต่ในปัจจุบันเมื่อหมดฤดูฝนประมาณต้นเดือน พ.ย.ของทุกปี น้ำทะเลจะหนุนน้ำจืดดันขึ้นไปจนถึง จ.ปราจีนบุรี เมื่อถึงฤดูฝนประมาณเดือน พ.ค. น้ำจืดจะดันน้ำเค็มถอยลงมาจนถึงปากแม่น้ำที่ อ.บางปะกง ในเดือน ก.ค. ก่อนจะถูกน้ำเค็มหนุนกลับขึ้นไปอีกครั้งเมื่อถึงหน้าแล้ง เท่ากับว่าในสถานการณ์ปกติที่ฝนตกตามฤดูกาล แม่น้ำบางปะกงในหลายพื้นที่ จะเป็นน้ำจืดได้เพียง 4 เดือน (ก.ค.- ต.ค.) เท่านั้น
ในด้านของสัตว์น้ำทำให้ มีพันธุ์สัตว์น้ำทะเลหลงเข้ามาในลำน้ำบางปะกงมากขึ้น หลายชนิดได้ปรากฏในลำน้ำที่ปราจีนบุรี
ดังนั้นที่บางกรูดก็มีพันธุ์ปลามากกว่าเดิม อีกทั้งกรมประมงเองก็ส่งเสริมปล่อยพันธุ์กุ้งพันธุ์ปลาลงในแม่น้ำทุกปี แต่กระนั้นความอุดมสมบูรณ์ในลำน้ำก็ยังน้อยกว่าเมื่อ ห้าสิบกว่าปีที่แล้ว แม้จะมีพันธุ์สัตว์น้ำมากประเภทขึ้นและบางชนิดก็คาดว่าสูญพันธุ์ ไปแล้วคือปลาหวีเกศ ซึ่งเคยเป็นชนิดพันธุ์ประจำถิ่นของพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง (หมายถึงฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ) บางชนิดก็ใกล้สูญพันธุ์ จากรายงานข้างต้น รวมทั้งมีปลานำเข้าเริ่มเข้าไปอยู่ในบางแหล่งน้ำคือปลายี่สกเทศและปลานิล เนื่องจาก เป็นปลาที่นิยมใช้เป็นปลาปล่อยเพื่อเพิ่มผลผลิตในแหล่งน้ำ

(ปัจจุบันมีการสร้างเขื่อนทดน้ำ ตั้งอยู่บริเวณบ้านไผ่เสวก ตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง ฉะเชิงเทรา เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำบางปะกง เป็นเขื่อนป้องกันน้ำเค็ม ใช้อุปโภคบริโภค และจัดสรรน้ำเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก)

ข้างต้นเป็นข้อมูลด้านวิชาการที่ เมื่อได้อ่านมาแล้ว ก็ อยาก..ปันสู่ผู้อ่านในเรื่องของเหตุการณ์ภาพรวมของ มัจฉา .... วันนี้ ..... ที่แม่น้ำบางปะกง

แล้ววันวานของบางกรูดเป็นอย่างไร…
ก็เป็นวิถีชาวบ้าน ชาวบ้าน.....ริมวารี...คลุกคลีกับ กุ้ง หอย ปู ปลา ที่ธรรมชาติจัดสรรไว้ให้

วันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553

บางปะกง…นามนี้ได้แต่ใดมา....




ถึงหย่อมย่านบ้านบางมังกงนั้น
ดูเรียงรันเรือนเรียบชลาสินธุ์
แต่ล้วนบ้านตากปลาริมวาริน
เหม็นแต่กลิ่นคาวอบตลบไป
เห็นศาลเจ้าเหล่าเจ๊กอยู่เซ็งแซ่
ปูนทะก๋งองค์แก่ข้างเพสไสย
เกเลเอ๋ยเคยข้ามคงคาลัย
ช่วยคุ้มภัยปากอ่าวเถิดเจ้านาย

จากนิราศเมืองแกลงของสุนทรภู่

อาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เคยอธิบายในหนังสือชีวิตและงานของสุนทรภู่ โดยสันนิษฐานว่าบ้านบางมังกง อาจหมายความถึงบ้านที่มีปลามังกง ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง คำว่าบางปะกงอาจเรียกย่อมาจากบางปลามังกง เป็นบางปะกง ก็เป็นได้ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วปลาที่มีอยู่ชุกชุมในแม่น้ำนี้คือปลาอีกงซึ่งเป็นปลาแขยงสายพันธุ์หนึ่งนั่นเอง ปลาอีกงจะออกหากินเป็นฝูงใหญ่ตามชายฝั่งเป็นปลาที่รักษาความสะอาดให้แก่แหล่งน้ำได้ดีมาก

หรือว่า.....บางปะกงอาจมาจากคำจีน ว่า มัง-ก๋า-กง
เล่ากันว่า ในอดีตที่อำเภอบางปะกง พลบค่ำมียุงชุกชุมมาก ถึงขนาดต้องกินข้าวกันในมุ้ง เคยมีเรือสำเภาจีนมาจอดทอดสมอถูกยุงรุมตอมกัดได้พูดเป็นภาษาจีนว่า มัง-ก๋า-กง ชาวบ้านได้ยินก็ขบขัน ต่อมาเวลาที่ยุงมากๆ ชาวบ้านก็จะพูดคำว่า มัง-ก๋า-กง และยุงเพิ่งลดปริมาณลงเมื่อไม่นานมานี่เอง
( ทุ่งโลมาที่ปากแม่น้ำบางปะกง เอกสารเผยแพร่สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ฉบับที่ ๒๙ พ.ศ. 2550)

ปลาแขยงเป็นปลาที่กินทุกอย่างที่ขวางหน้าหากสามารถกินได้

เรื่องที่อำเภอบางปะกงมียุงชุกชุมมากนี้ ยังเป็นตำนานที่มาของตำบลท่าสะอ้านของอำเภอบางปะกงด้วยกล่าวคือ การเดินทางในสมัยก่อนที่อำเภอบางปะกงยังไม่มีการสร้างถนน ต้องใช้การลัดเลาะมาทางป่าจากและป่าแสม ทางส่วนใหญ่พุเป็นโคลนมียุงชุกชุมมาก กว่าจะมาถึงบริเวณท่าข้ามแม่น้ำตรงที่ตั้งตำบลท่าสะอ้านในปัจจุบัน ผู้เดินทางมาถึงกับสะอื้นเพราะความยากลำบากในการเดินทาง จึงพากันเรียกท่าข้ามนี้ว่า “ท่าสะอื้น” ต่อมาคงเห็นว่าคำว่า “สะอื้น” เป็นคำไม่ไพเราะจึงเรียกเพี้ยนไปเป็น “ท่าสะอ้าน” ต่อมามีชุมชนหนาแน่นขึ้นทางการจึงได้ตั้งเป็นตำบลเรียกว่าตำบลท่าสะอ้าน

ปลาอีกง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mystus gulio

เป็นปลาน้ำจืดที่พบบริเวณแม่น้ำสายใหญ่ๆ ที่ติดต่อกับทะเล โดยเฉพาะบริเวณน้ำกร่อย สามารถอาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำกร่อย เนื่องจากมีความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงความเค็มของน้ำระหว่าง 0-30 ส่วนในพันส่วน ชอบว่ายน้ำรวมกันเป็นฝูง แพร่กระจายทั่วไปในอินเดีย พม่า ศรีลังกา คาบสมุทรมาเลย์ สุมาตรา บอร์เนียว และไทย
ปลาอีกงมีชื่อท้องถิ่นหลายชื่อ ได้แก่ ปลามังกง ปลาแขยงกง ปลากด ปลาแขยงหมู

ลำน้ำบางปะกงเป็นแม่น้ำสายสำคัญของภาคตะวันออกที่มีต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาในผืนป่าดงพญาเย็นไหลสู่ลำห้วยลำธารสายเล็กสายน้อยหลายสายแล้วไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำจนในที่สุดมารวมเป็นแม่น้ำสายใหญ่ไปสิ้นสุดออกสู่ปากอ่าวไทยที่อำเภอบางปะกงทำให้เรียกแม่น้ำทั้งสายว่าแม่น้ำบางปะกงตามความนิยมการเรียกชื่อแม่น้ำด้วยชื่อสถานที่สุดท้ายของลำน้ำนั้นๆ ระบบนิเวศของน้ำจึงเรียกตามธรรมชาติจริงที่เกิด คือ แหล่งน้ำจืด แหล่งน้ำเค็ม พื้นที่สองน้ำ ดินแดนสามน้ำ ซึ่งน้ำก็มีธรรมชาติของตัวเองที่จะส่งผลเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของสัตว์น้ำและผู้คนริมฝั่งน้ำ และยังมีเรื่องของความเชื่อถือตามธรรมเนียมไทย ธรรมเนียมจีนที่เกี่ยวพันจนแยกไม่ออกกับวิถีไทยเสมอๆ





ปรากฏการธรรมชาติของน้ำ

น้ำขึ้น- น้ำลง เป็นไปตามแรงดึงดูดระหว่างโลกกับดวงจันทร์ ขึ้น-ลง วันละ ๒ ครั้ง ครั้งละ ๖ ชั่วโมงโดยเฉลี่ย

น้ำเกิด หรือ ชอบน้ำ หรือ น้ำใหญ่ ปรากฏการณ์ที่น้ำเริ่มสูง หรือไหลแรงมีปริมาณมากกว่าปกติ เกิดขึ้นประมาณ ๑๒ ค่ำ มากที่สุดถึง ๑๕ ค่ำ จนถึง ๑ ค่ำ

น้ำตาย หรือ น้ำทาม หรือน้ำเท้อ หมายถึงน้ำที่ไหลไม่ค่อยแรง ทรงตัว น้ำขึ้นลงค่อนข้างน้อยและช้า หรือไหลอ่อนลง มักจะได้เคยจำนวนมาก มักจะเริ่มตั้งแต่ ๗ ค่ำ จนถึง ๑๑ ค่ำ น้ำไหลลง จะจับเคยได้มากในช่วงนี้

น้ำเช้า หมายถึงน้ำที่ไหลขึ้น ตั้งแต่ ตี ๑๒ ขึ้นมาจนเช้า น้ำเกิดเต็มฝั่งจนอยู่ตัวในตอนเช้า จากนั้นน้ำก็ลงไปเรื่อยๆ พอลงถึงจุดต่ำสุด ก็เริ่มขึ้น และขึ้นเต็มที่ตอน ๖ โมงเย็น

น้ำเย็น คือปรากฏการณ์ที่น้ำเต็มฝั่งตอนเย็น

น้ำขอด คือช่วงเวลาที่น้ำที่แห้งลงสุดๆ ประมาณช่วง ๑-๓ ค่ำ น้ำจะแห้งขอดมาก

น้ำสอด เป็นปรากฏการณ์ในช่วงรอยต่อ ฤดูฝนกับหนาว ที่น้ำจืดและน้ำเค็มกำลังเปลี่ยนพื้นที่ เกิดขึ้นราวเดือนตุลาคม ถึงเดือน พฤศจิกายน น้ำเค็มที่มีความเข้มข้นและหนักกว่าจะไหลแทรกในระดับล่างของแม่น้ำ น้ำจืดเบากว่าและไหลลอยอยู่ข้างบน สมัยก่อนช่วงน้ำสอดเช้าจะได้กุ้งเคยมาก ช่วงน้ำสอดจะมีเศษขี้ผงที่แขวนปนมากับน้ำจืดตอนบนจำนวนมาก ขี้ผงหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ขี้กะปิ เหล่านี้จะไปอุดตามตาอวน ชาวประมงจะลดปัญหาโดยการรีบชักอวนขึ้นให้ทัน

น้ำสองกระดอง เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นราวเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ ที่กลางวัน น้ำจะมีน้อย กลางคืนมีน้ำขึ้นมา วันละเพียงครั้งเดียว เกิดขึ้นเป็นระยะสั้นๆ เพียง ๒-๓ วัน จากนั้นก็จะเปลี่ยนเป็นการขึ้น-ลง วันละ ๒ ครั้งตามปกติ

ดินแดนสามน้ำ
บริเวณบางปะกงเป็นเขต สามน้ำ คือ จืด กร่อยเค็ม ช่วงฤดูฝน น้ำจืดจากต้นน้ำจะไหลผลักดันน้ำทะเลออกสู่อ่าวไทย พอถึงฤดูแล้ง น้ำทะเลจะหนุนเข้ามามาก ทำให้บริเวณปากแม่น้ำเค็ม ลึกเข้าไปหน่อย น้ำจะกร่อย สาเหตุนี้เองทำให้บางปะกง มีความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร เป็นแหล่งที่รวมของสัตว์น้ำนานาชนิด มาชุมนุมกันอย่างมากมาย
(ที่มา : ทุ่งโลมาที่ปากแม่น้ำบางปะกง เอกสารเผยแพร่สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ฉบับที่ ๒๙)

เรื่องของน้ำจืด น้ำเค็มนี้ ยังมีตำบลในอำเภอบางปะกงชื่อตำบลสองคลอง เป็นตำบลที่มีคลอง 2 สาย สายหนึ่งเป็นคลองน้ำเค็ม ซึ่งมีพื้นที่ติดกับทะเลด้านอ่าวไทย อีกสายหนึ่งเป็นคลองน้ำจืด แต่น้ำไม่จืดตลอดปี หลังจากราชการได้สร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) ผ่านกั้นน้ำเค็ม ทำให้คลองน้ำจืดมีน้ำจืดตลอดปี ต.สองคลอง จึงถูกแบ่งพื้นที่ซึ่งมีสภาพแตกต่างกันจนสังเกตได้เป็น 2 ส่วน คือ คลองน้ำจืด และ คลองน้ำเค็ม


จากประสบการณ์ชาวน้ำของตนเองพบว่า

ในฤดูร้อน เป็นฤดูที่น้ำจะขึ้นไม่เต็มที่ ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน
ในฤดูฝน จะมีน้ำใหญ่ น้ำเกิด ในช่วงกลางคืนและช่วงกลางวันน้ำลงแห้งฝั่ง
ในฤดูหนาว จะมีน้ำใหญ่ น้ำเกิดในช่วงกลางวัน ส่วนกลางคืน น้ำจะแห้งฝั่ง

จากเนื้อเพลงที่เราได้ยินกัน คือ เดือนสิบเอ็ดน้ำนอง เดือนสิบสอง น้ำทรง และ วันเพ็ญเดือนสิบสองน้ำนองเต็มตลิ่ง นั้น หมายถึงช่วงเวลากลางวัน พอกลางคืนในวันลอยกระทง น้ำไม่เคยเต็มตลิ่งเลย กลับเป็นเวลาที่ น้ำก็รี่ไหลลง ไหลลง ยิ่งดึกก็ยิ่งน้ำแห้งฝั่งลงทุกขณะ

ผู้เขียนไม่เคยสังเกต ปรากฏการการบางอย่างของน้ำ เพิ่งมาพบเห็นในช่วงที่ไปรอคอยถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้นที่ริมแม่น้ำ


วันหนึ่งเมื่อไปถึงชายฝั่งพบว่าเป็นช่วงน้ำไหลลงมองเห็นกอผักตบชวาไหลลอยลงไปทางขวามือของตนเอง ดวงตะวันก็ยังไม่อรุโณทัยสักที เฝ้ามองท้องฟ้าอยู่นานก็เบื่อเลยก้มมองสายน้ำที่เบื้องหน้าและเลยฝั่งไปไม่ไกลนัก มองเห็นผักตบชวาที่ริมฝั่งลอยไปช้าๆผ่านหน้าไปหลายกอไปทางขวามือเป็นปกติของน้ำไหลลง แต่ที่ห่างฝั่งออกไปกระแสน้ำจะแรงกว่า ผักตบชวาจะลอยลิ่วเร็วกว่าริมฝั่ง จู่ๆก็มีกอผักตบชวากอหนึ่งไหลลอยผ่าน เลยหน้าไปแล้วจู่ๆ ก็หยุดลอยแล้วกลายเป็นว่ากอผักตบชวาค่อยๆหมุนตัวเองวนกลับ แล้วเปลี่ยนทิศทางหมุนกลับลอยย้อนไปทางด้านซ้ายมือ กำลังงงว่าโดนผีพรายในน้ำเล่นกลให้ดูหรือไร

แต่แล้วก็ได้แจ้งใจ เมื่อมีกอผักตบชวาที่ลอยห่างฝั่ง อีก 2 กอ ลอยไหลผ่านหน้าไปทางซ้ายมืออีก สังเกตกระแสน้ำที่ห่างฝั่งก็พบว่า กระแสน้ำไหลขึ้นไปทางซ้ายมือ ถึงเข้าใจว่า กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางไหลขึ้นแล้ว ทั้ง ๆ ที่ชายฝั่งยังไหลลงอยู่เลย แล้วในที่สุดกระแสน้ำที่ไหลขึ้นมาแรงกว่า ก็ผลักดันกระแสน้ำที่ไหลลงริมฝั่งที่อ่อนแรงลงแล้วกลับไหลขึ้น ลองหลับตานึกภาพกระแสน้ำไหลขึ้นปะทะกับกระแสน้ำไหลลง หากตัวเราเป็นปลาอยู่ตรงนั้นจะเกิดอะไรขึ้นกันหนอ

ต้องขอบคุณพระอาทิตย์ที่วันนั้นตื่นสายเลยทำให้ได้มีเวลามองกระแสน้ำเห็นความเปลี่ยนแปลงกับสายตาตัวเอง และรู้สึกดีใจที่ตนเองมีเวลามากพอ ไม่ต้องเร่งรีบปฎิบัติภารกิจแข่งกับเวลาจึงมีเวลาที่จะพิจารณาความเป็นไปของธรรมชาติที่ไม่เคยใส่ใจมองมาก่อน คงคล้ายๆปรากฏการน้ำสอดข้างบน


ส่วนดวงอาทิตย์ก็ค่อยๆเลื่อนที่ของการโผล่ขึ้นที่ขอบฟ้าวันละนิดๆ เช่นกันหากเรายืนมองประจำที่ในจุดเดิมทุกๆวัน




ยังมีความเชื่อตามธรรมเนียมจีนที่เกี่ยวพันกับแม่น้ำบางปะกงดังนี้

สายน้ำแห่งมังกร ของ เมืองแปดริ้ว
ได้อ่านพบความเชื่อของชาวจีนที่เปรียบเทียบแม่น้ำบางปะกงเป็นสายน้ำแห่งมังกรตัวเล็ก เลยขอคัดย่อมาดังนี้

สายน้ำแห่งมังกร ของ เมืองแปดริ้ว เป็นชื่อเรียกขานตามการสันนิษฐานที่เกิดขึ้น เนื่องด้วยหลายๆ เหตุผล ประการหนึ่งคือด้วยลักษณะทางกายภาพของสายน้ำบางปะกงที่มีความคดโค้งไปมาดุจดั่ง พญามังกร พาดผ่านเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งพืชพันธุ์ ธัญญาหาร ทรัพย์ในดิน สินในน้ำ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานที่ดินให้สร้างวัดจีนแห่งหนึ่งขึ้นบริเวณเยาวราช คือ วัดเล่งเน่ยยี่ หรือ วัดมังกรกมลาวาส ในปัจจุบัน

ตามหลักฮวงจุ้ยของคณาจารย์จีนวังส์สมาธิวัตร (สกเห็ง) ผู้มีชื่อเสียงในสมัยนั้นโดยถือว่าวัดเล่งเน่ยยี่เปรียบเป็น ตำแหน่งหัวมังกร และกำหนด ตำแหน่งท้องมังกร ไว้ที่ วัดเล่งฮกยี่ จังหวัดฉะเชิงเทรา (พ.ศ. 2450 พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาส แล้วได้พระราชทานนามว่า “วัดจีนประชาสโมสร” ) สำหรับ ตำแหน่งหางมังกร อยู่ที่ วัดเล่งฮัวยี่ หรือ วัดมังกรบุปผาราม จังหวัดจันทบุรี

ตำแหน่งต่างๆ ที่พระอาจารย์สกเห็งได้วางไว้นั้น เป็นตำแหน่งของความอุดมสมบูรณ์ทั้ง ทรัพย์สิน เงินทอง การค้าขาย และความสมบูรณ์ของธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในบริเวณนั้นอย่างมีความสุข

ตำแหน่งท้องมังกรนี้ได้ผสมผสานความเชื่อ ตำนาน เรื่องเล่า และประวัติศาสตร์ของสถานที่สำคัญต่างๆ ที่ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำบางปะกง ทำให้เกิดการเรียกขานแม่น้ำบางปะกงว่า

สายน้ำแห่งมังกร โดยมี มังกรตัวเล็ก พาดอยู่ตามลำน้ำบางปะกง

ตำแหน่งหัวมังกร อยู่บริเวณ วัดโสธรวรารามวรวิหาร ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของ หลวงพ่อพุทธโสธร อันศักดิ์สิทธิ์ ที่เคารพ นับถือของชาวไทย ทั่วประเทศ

ตำแหน่งท้องมังกร อยู่ตำแหน่งเดิมที่ วัดเล่งฮกยี่ (วัดจีนประชาสโมสร) ซึ่งภายในวัดนั้นมีสิ่งน่าสนใจมากมาย ประกอบด้วย องค์พระประธาน และ 18 อรหันต์ ที่เป็นประติมากรรมโบราณ ทำจากกระดาษ อายุกว่า 100 ปี (ลักษณะเปเปอร์ - มาเช่) ภูมิปัญญาชาวจีนจากเมืองเซี่ยงไฮ้ เทพเจ้าไฉ้เซ่งเอี้ย (เทพเจ้าแห่งโชคลาภ) , ระฆังศักดิ์สิทธิ์ใบใหญ่ หนึ่งในสามใบในโลก และ พระสำเร็จ ร่างสังขารเจ้าอาวาสที่มรณภาพแล้วไม่เน่าเปื่อย

ตำแหน่งหางมังกร คือตำแหน่งที่พระเจ้าตากสินได้เดินทัพผ่านสู่เมืองจันทบุรี เพื่อระดมไพร่พลในการกู้กรุงศรีอยุธยา และเมื่อเดินทัพถึงบริเวณปากน้ำโจ้โล้ จึงได้เจอทัพพม่าซุ่มโจมตี และสู้รบกันจนได้รับชัยชนะ จึงได้สั่งให้สร้างพระเจดีย์ขึ้นบริเวณแห่งนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ และพักทัพ ณ บริเวณวัดโพธิ์ บางคล้า (สถานที่ชมค้างคาวแม่ไก่)

บริเวณนี้เคยเป็นสถานที่ประกอบ “พระราชพิธีตักน้ำศักดิ์สิทธิ์” เพื่อนำน้ำไปใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งแม่น้ำบางปะกงเป็นหนึ่งใน “เบญจสุทธิคงคา” (คือแม่น้ำสายสำคัญ 5 สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำราชบุรี แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำบางปะกง
ที่มา http://www.bpkcruise.com

หมายเหตุ บริเวณการตักน้ำในแม่น้ำบางปะกง มีหลานสถานที่ตามกาลเวลา

วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เรือล่อง......ท่องวารี.... 4



เรือที่ไม่ได้เกี่ยวพันกับการใช้เรือในชีวิตประจำวันของผู้คนบางกรูด แต่กลับพบเห็นบ่อยและถือว่ามีความสำคัญกับลำน้ำ มีอีกหลายประเภท เช่น เรือพ่วง
เรือพ่วง นับว่ามีความสำคัญกับแม่น้ำทุกสายสายไม่เฉพาะที่บางปะกง

เรือพ่วง
ลักษณะเป็นเรือบรรทุกสินค้าหลายๆลำผูกโยงกันเป็นพวง แล้วมีเรือยนต์หรือเรือกลไฟลากจูง เรียกกันว่าเรือโยง
ขบวนเรือพ่วง มักจะพ่วงเรือประเภทเดียวกันเพราะการใช้เรือบรรทุกสินค้าแต่ละประเภทก็เหมาะสมกับสินค้าแต่ละประเภท เช่น เรือกระแชง เรือ เอี้ยมจุ๊น เรือแจวใหญ่

เรือกระแชง

เป็นเรือต่อทำจากไม้สัก ท้องเรือโค้งกลมมีลักษณะคล้ายแตงโมผ่าครึ่ง มีทวนหัวและทวนท้ายแบนเรียบ กงเรือเป็นไม้โค้งตามท้องเรือและวางเรียงกันถี่มาก ข้างเรือเป็นแผ่นไม้หนายึดเหนี่ยวด้วยลูกประสัก (สลัก) ที่ทำจากไม้แสมเหลากลม ด้านนอก โตกว่าด้านใน ส่วนปลายลูกประสักด้านในผ่ากราดด้วยลิ่มกันลื่นออก บนดาดฟ้าทำประทุนครอบเรือ (หลังคา) และมีฝาไม้ปิดด้านหน้าและด้านหลัง
กระแชง เป็นการเรียกเรือต่อ ที่ทำหลังคาด้วยกระแชง คลุมตลอดลำ กระแชงคือ เครื่องบังแดดบังฝนทำจาก ใบเตย ใบจาก มาเย็บเป็นแผงสมัยก่อนทำจากใบไผ่ เบากว่าที่ทำจากใบจากและกันความร้อนได้ดี กระแซงแบบนี้ คนจีนมักจะทำขาย ต่อมาราคาแพง คนจึงหันมาใช้สังกะสี แทน ทำให้กระแซงใบไผ่หายไป

เรือกระแชง ที่พบเห็นส่วนมากจะเป็นเรือบรรทุกสินค้า หากเปรียบเทียบเรือที่สัญจรไปมาในลำน้ำในอดีตเทียบกับถนนหนทางในปัจจุบัน เรือกระแชง ก็เปรียบเสมือนรถพ่วง 18 ล้อที่เป็นเจ้าอิทธิพลของท้องถนน ไม่มีใช้ตามบ้านบุคคลทั่วๆไป นอกจากกลุ่มที่ทำธุรกิจขนส่ง คำที่ว่ารถพ่วง 18 ล้อ เป็นเจ้าถนนเหมือนเป็นเจ้าพ่อท้องถนนคือเห็นที่ไหนเมื่อไร รถอื่นๆต้องหลบทางให้เพราะความยาวใหญ่ของตัวรถอีกทั้งส่วนใหญ่รถจะวิ่งเร็วเพราะคนขับมักถือว่าตัวเองมีฝีมือแน่กว่าใคร และฉันใหญ่นะจ๊ะ ขนาดสิบล้อยังต้องถอยฉากให้เลย ยิ่งรถพ่วงคันไหนวิ่งส่ายไปมา ยิ่งน่าหวาดหวั่น เกรงว่าข้อต่อพ่วงจะหลุดออกจากกัน เคยได้ยินคณะตลกถามปัญหากันว่า บนท้องถนนนี้ใครเป็นเจ้าของรถที่มีมากที่สุด คำตอบคือคนชื่อพ่วง ก็รถพ่วงน่ะต้องมีคำว่าพ่วงประกาศชื่อรถทุกคันนั่นเอง

เรือกระแชงก็เช่นกัน เป็นเจ้าอิทธิพลของลำน้ำ ไม่เป็นพาหนะตามบ้านเรือนทั่วไป หากเป็นบุคคลธรรมดา ที่จะใช้เรือกระแชง ก็คือ ยึดเรือกระแชงต่างบ้านเรือน ล่องลอยยังชีพไปด้วยชีวิตส่วนใหญ่อยู่กับลำน้ำ ส่วนมากเป็นพ่อค้า แม่ค้า ล่องเรือขายสินค้าต่างๆ ร้านค้าริมน้ำก็รอเรือสินค้าเจ้าประจำนำสินค้ามาส่ง โดยมากเป็นสินค้าอุปโภค ปีหนึ่งก็มาไม่กี่ครั้ง สินค้าบางอย่างก็มาขายปีละครั้งเดียว เช่น ตุ่มน้ำ โอ่งน้ำ ของใช้ที่ทำจากดินเผา เช่น อ่าง หวด ไห หม้อดิน ครก และอื่นๆ มีเจ้าเดียวในลำน้ำแถบนี้ เป็นลุงป้าชาวมอญ มีกำหนดแน่นอนว่าจะมาเยือนบางกรูดในช่วงเดือนสิบเอ็ด เดือนสิบสอง ร้านค้าก็ต้องขึ้นสินค้า(หมายถึงเอาสินค้าจากเรือขึ้นฝั่ง)ให้พอ กว่าจะมาใหม่ก็ปีหน้า ลุงกับป้าชาวมอญแจวท้ายเรือและหัวเรือเรี่ยวแรงแข็งขัน มาจากปทุมธานี ลัดเลาะตามลำน้ำลำคลองและออกสู่แม่น้ำ เมื่อมาถึงบางกรูด ส่วนใหญ่ มักเป็นเวลาบ่ายเกือบเย็น ลุงกับป้าเจ้าของเรือ จะมาทิ้งสมอจอดเรือนอนค้างที่แนวต้นแสมหน้าบ้าน ก่อนจะข้ามเอาสินค้าไปส่งที่ตลาดวัดบางกรูดในวันรุ่งขึ้น (ต่อมาภายหลังก็ใช้เครื่องยนต์ติดท้ายเรือ)

เรือกระแชงมักใช้ในการบรรทุกสินค้า เนื่องจากแปดริ้วเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำเมืองหนึ่งในอดีต สามารถใช้คำว่าในน้ำมีปลาในนามีข้าวได้อย่างเต็มภาคภูมิ โดยเฉพาะเป็นอู่ข้าว ประกอบกับในสมัยรัชกาลที่ห้าทรงโปรดฯให้ขุดคลองเชื่อมเมืองต่างๆมากมาย ในเส้นทางที่เชื่อมกับฉะเชิงเทราก็มีหลายคลอง ชื่อคลองส่วนใหญ่ตั้งตามชื่อของขุนนางผู้ควบคุมการขุดคลองเช่นคลองประเวศน์บุรีรมย์( ชาวบ้านเรียกคลองท่าถั่ว) คลองอุดมชลจร (สมัยก่อนชื่อคลองเดโช ซึ่งพระยาสีหราชเดโช (โต บุนนาค) ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตขุด ) หรือ คลองพระยาสมุทร เป็นต้น อีกทั้งยังมีโรงสีกลไฟ หรือโรงสีไฟเครื่องจักรไอน้ำ ที่ ตำบลท่าพลับ-บางกรูดขนาดใหญ่ถึง สามโรง ติดริมน้ำ ในราวปีพ.ศ.2420 คือ โรงสีบน โรงสีกลาง และโรงสีล่าง (โรงสีพระยาสมุทร)

บรรดาคลองที่ใช้สัญจรไปมาระหว่างกันจึงเป็นเส้นทางลำเลียงข้าวเปลือกมาสู่ลำน้ำบางปะกงด้วย ฉะเชิงเทรานอกจากอยู่ใกล้กรุงเทพแล้วยังสามารถออกทะเลปากอ่าวไทยได้ที่อำเภอบางปะกง ซึ่งในอดีตสามารถส่งข้าวสารออกไปสิงค์โปร์ ฮ่องกงโดยไม่ผ่านเข้ากรุงเทพ ฯได้อีกด้วย จึงไม่แปลกที่จะมีเรือโยงจูงพ่วงเรือกระแชงบรรทุกข้าวเปลือกขบวนละหลายๆลำ กันเป็นประจำ บางวันก็มีหลายขบวน ความใหญ่ของเรือกระแชงแต่ละลำ และความยาวของจำนวนเรือที่โยงพ่วงกันมา จึงทำให้ดูเป็นเจ้าลำน้ำกว่ารถพ่วงสิบแปดล้อบนท้องถนนเสียอีก เรือที่สัญจรในลำน้ำทุกประเภท ต้องหลบให้ชลยาตราของเรือกระแชงเช่นกัน ในสมัยที่โรงสีกลางและโรงสีล่างยังดำเนินการอยู่ บริเวณท่าน้ำหน้าโรงสีจะมีเรือกระแชงผูกโยงกันเป็นสิบๆลำ ยื่นออกจากฝั่งมากลางแม่น้ำรอการขนถ่ายข้าวเปลือก ในอดีตเรือกระแชงจึงมีการสัญจรคึกคักที่บริเวณ บางกรูด ท่าพลับ

ในการแห่หลวงพ่อโสธรทางน้ำ อันถือเป็นงานประจำปีของจังหวัดที่มียืนยาวมาร้อยกว่าปีแล้ว จะนิมนต์หลวงพ่อองค์จำลองลงเรือกระแชงลำใหญ่ มีเรือจูงและริ้วขบวนเรือล่องในแม่น้ำบางปะกงไปจอดตามท่าต่างๆให้ประชาชน ได้กราบไหว้นมัสการ

เมื่อมีการตัดถนนหนทาง การขนส่งทางน้ำก็ค่อยๆหมดไป เจ้าแห่งลำน้ำ เรือกระแชง ก็ลับหายไปกับกาลเวลา แม้แต่เรือแห่หลวงพ่อก็เปลี่ยนเป็นเรือเหล็ก เรือกระแชงขนสินค้าซึ่งมิใช่เรือใช้งานพื้นบ้าน ก็ไม่หวนล่องไปมาให้เห็นอีก เจ้าของเรือสินค้าอุปโภคต่างๆ ก็ร่วงโรยลาลับโลกไป บุตรหลานไม่สืบต่ออาชีพนี้คือค้าขายทางน้ำ เรือกระแชงเลยเหลือแค่ชื่อให้เด็กรุ่นหลังได้รู้จัก คนที่อยากมีเรือกระแชงขึ้นมาต้องไปตามหาซื้อที่จังหวัดอื่น เช่นที่จังหวัดอยุธยา มีญาติไปซื้อมา ลำหนึ่งมีความจุข้าวเปลือก 1.4 ตัน ราคา 2 แสน บาท (เมื่อ5-6 ปีที่แล้ว) ลำที่เล็กลงมาก็ราคา 7 หมื่นบาท บางคนก็เอามาดัดแปลงสร้างบ้านอยู่บนเรือ เทคานวางเรือตีพื้นบ้านเสมอปากเรือ ท้องเรือก็เป็นห้องเก็บของ เหมือนเป็นห้องใต้ดินไป บางที่ก็เอามาดัดแปลงเป็นร้านอาหาร

หมายเหตุ... คนสมัยก่อน ไม่เรียกหน่วยตวงข้าวเปลือกข้าวสารเป็นกิโลกรัม เป็น ตัน จะเรียกเป็นถัง เป็นเกวียน ข้าวเปลือก 100 ถัง เป็น 1 เกวียน ถ้าเทียบอัตราส่วน ข้าวเปลือก 1 ถัง ประมาณ เป็นน้ำหนักข้าวเปลือก 10 กิโลกรัม ข้าวเปลือก 1 เกวียน ก็ประมาณ 1 พันกิโลกรัมคือ เท่ากับ 1 ตัน แต่ถ้าสีข้าวเปลือกเป็นข้าวสารแล้ว ข้าวสาร 1 ถัง ประมาณน้ำหนัก 15 กิโลกรัม ถ้าอยากรู้เป็นข้าวสาร 1 ตัน ก็ทดสอบใช้ บัญญัติไตรยางศ์ สมัยเด็กๆ คำนวณกันเองนะคะ ข้าวเปลือก 1 ถัง ไปสีเป็นข้าวสาร ก็จะไม่ได้ข้าวสาร 1 ถังกลับมา เพราะกลายเป็นเปลือกข้าว และปลายข้าว ชาวบ้านที่เอาข้าวเปลือกไปสีที่โรงสีข้าว (ขนาดเล็กๆที่รับสีข้าวให้ชาวบ้านเป็นรายย่อยด้วย )ไม่ต้องเสียเงินค่าสีข้าว เพราะโรงสีจะได้ เปลือกข้าว ที่เรียกกันว่าแกลบ ได้ปลายข้าว รวมทั้ง รำข้าว ไว้นั่นเอง ต่อมาโรงสีบางแห่งให้บริการเอาเรือติดเครื่องยนต์มารับข้าวเปลือกไปสี แล้วเอามาส่งคืนเป็นข้าวสารตามบ้านริมน้ำด้วย แกลบนี้โรงสีไฟ จะใช้เป็นเชื้อเพลิงสีข้าว แกลบเมื่อเผาไฟก็จะได้ขี้เถ้า สีดำๆ ที่เรานิยมเอามาเพาะชำต้นไม้


ยังมีเรือพ่วงขนาดเล็กลงมา บางทีก็พ่วงเรือแจวขนาดใหญ่ 5-6 ลำ บรรทุกข้าวเปลือกอีกเช่นกัน พ่วงไปส่งข้าวในระยะทางสั้นๆ จำนวนเรือในขบวนไม่มาก

บางครั้งเรือพ่วง ก็พ่วงเรือเอี้ยมจุ๊นบ้าง ที่พบเห็นนั้นเป็นการบรรทุกเกลือ ซึ่งไม่พบบ่อยนัก ขบวนเรือพ่วงเอี้ยมจุ๊น 1 ขบวน ก็บรรทุกปริมาณเกลือที่น่าตกใจ ว่า เอาไปทำอะไรกันมากมายขนาดนั้น ( ที่ใช้บริโภคบ้างคงเป็นส่วนน้อย หรือว่า......เอาไปส่งชายแดนกัมพูชา ที่โรงเกลือจังหวัดสระแก้ว เพื่อนำไปขาย ให้กับชาวกัมพูชานำไปใช้ทำปลาเค็ม ก็ไม่ทราบ เคยไปซื้อของหลายครั้งที่ตลาดโรงเกลือนี้แต่ไม่เคยเห็นเกลือหรือโรง เก็บเกลือ(โกดัง) หลงเลย เคยถามถึงเกลือและโรงเกลือกับผู้คนที่นั่น บรรดาพ่อค้าแม่ค้าพูดภาษาไทยไม่ค่อยชัดพาสั่นหน้า เคยอ่านพบว่าบริเวณโกดังเก็บเกลือเปลี่ยนเป็นตลาดโรงเกลือ เมื่อปี พ.ศ . 2534 บรรดาพ่อค้าแม่ค้าคงเป็นคนรุ่นใหม่จึงไม่ได้ข้อมูลมาเล่าสู่)

เรือเอี้ยมจุ๊น

เป็นเรือขนาดใหญ่ นิยมต่อด้วยไม้เคี่ยม ท้องเรือเรียวแหลมเล็กน้อย หัวและท้ายเรือจะเป็นทวนไม้ตั้งขึ้นแข็งๆ เรียกว่าทวนตั้ง ไม่อ่อนโค้ง เหมือนทวนเรือกระแซง ระดับเรือจากหัวถึงท้าย เกือบจะอยู่ในระดับเดียวกัน หางเสือเป็นประเภทที่ใช้คล้องติดกับหลักท้ายเรือ ไม่เหมือนหางเสือเรือกระแซง ที่เกี่ยวติดกับท้ายเรือ ท้ายเรือมีขยาบเป็นหลังคา สำหรับเป็นที่พักและนั่งถือหางเสือ
เรือเอี้ยมจุ๊น ในภาษาแต้จิ๋ว แปลว่าเรือเกลือ เข้าใจว่าจะเคยบรรทุกเกลือมาก่อน อีกทั้งเจ้าของเรือ ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน นิยมใช้บรรทุกสินค้าขนาดหนักอย่างกว้างขวาง บริเวณปากน้ำเจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง และบางปะกง เคลื่อนที่โดยการลากจูงด้วยเรือยนต์

(เกลือมีความสำคัญไม่แต่ในประเทศจีนจนใช้เรียกเป็นชื่อเรือที่บรรทุก สำหรับแฟนละครประวัติศาสตร์เกาหลีโบราณคงจำได้ว่า เกลือเป็นสิ่งสำคัญของชาวพูยอ และโคคุเรียว ที่ละครเอามาสื่อในเรื่องจูมงมหาบุรุษกู้บัลลังก์ ปฐมกษัตริย์ โคคุเรียว และ ตำนานจอมกษัตริย์เทพสวรรค์ กษัตริย์กวางแกโตมหาราชองค์ที่ 19 แห่งโคคุเรียว ว่าสำคัญในระดับพระราชาใช้เป็นเรื่องต่อรองได้ผล)

เรือพ่วงบรรทุกขี้เป็ด

ฉะเชิงเทราเคยเป็นแหล่งเลี้ยงไข่เป็ดแหล่งใหญ่ที่อำเภอบางปะกง เลยตำบลท่าสะอ้านไปทางตำบลสองคลอง ถ้านั่งรถเข้าชลบุรี หรือเข้ากรุงเทพ ถึงหมู่บ้านท่าไข่ เป็นต้องปิดจมูกเพราะทนเหม็นกลิ่นขี้เป็ดไม่ไหว ถ้าเป็นเส้นทางสายเก่าผ่าน สมุทรปราการ ถนนสายนี้จะเลียบตามลำคลอง ข้ามฝั่งคลองอีกด้านล้วนเป็นบ้านเรือนที่มีอาชีพเลี้ยงเป็ดไข่ และจะมีเรือมารับซื้อขี้เป็ดแล้วบรรทุกขี้เป็ดนี้ ออกมาที่แม่น้ำขนส่งเอาไปขายที่อื่นๆ ขบวนเรือบรรทุกขี้เป็ดล่องผ่านลำน้ำเป็นเรือพ่วงหลายลำเช่นกัน แม้ไม่บ่อยนัก แต่ก็เป็นขบวนเรือที่ชาวบ้านริมน้ำ เข็ดขยาดไม่อยากให้ผ่านมาเท่าไรนัก
ฉะเชิงเทรา มีชื่อท่าไข่ 2 อำเภอคือที่อำเภอเมืองเป็นตำบลท่าไข่เคยเป็นท่าขึ้นไข่ไก่และไข่เป็ด และที่อำเภอบางปะกงเป็นหมู่บ้านท่าไข่ ส่วนใหญ่เป็นไข่เป็ด ท่าไข่ทั้งสองแห่งล้วนอยู่ติดลำคลองเพื่อการขนส่งไข่ไก่ ไข่เป็ดที่ตำบลท่าไข่ และไข่เป็ดที่หมู่บ้านท่าไข่ ต่อมาอาชีพเลี้ยงเป็ดก็สูญหายไปจากอำเภอบางปะกงในราวประมาณปี 2522 เป็นต้นมา บรรดาเล้าเป็ดย่านอำเภอบางปะกงเปลี่ยนเป็นบ่อปูนเพาะเลี้ยงพันธุ์กุ้งก้ามกราม กุ้งกุลาดำ มาจนปี 2553 นี้ อาชีพเพาะเลี้ยงพันธุ์กุ้ง จาก กุ้งก้ามกราม มาเป็นกุ้งกุลาดำ และกุ้งขาววานาไม เองนั้น ก็เหลือบ้านที่เพาะพันธุ์กุ้ง ไม่กี่บ้าน อีกเหมือนกัน

นอกจากนี้นานๆครั้งก็จะมีเรือฉลอมผ่านมาบ้าง

เรือฉลอม

เรือต่อชนิดท้องกลมเล็กกว่าเอี้ยมจุ๊นมีกระดูกงูและกง พื้นหัวและส่วนท้ายสูงเกือบเสมอปากเรือพื้นกลางลดระดับเป็นระวางบรรทุกสินค้าปกติใช้เรือใบมีเสากระโดงเรือประจำเรือ หางเสือแบบเดียวกับเรือเอี้ยมจุ๊น นิยมใช้ตามหัวเมืองแถวปากน้ำติดกับทะเลและลึกเข้ามาก็มี มีทั้งใช้จับปลาและใช้บรรทุกสินค้าประเภทเครื่องบริโภค เช่นน้ำปลา ปลาเค็ม อาหารทะเลอื่นๆ ทั้งสดและแห้ง
สมัยโบราณเวลาเกิดศึกสงครามก็จะถูกเกณฑ์ไปใช้ในราชการทัพด้วย และนับเป็นเรือชนิดแรกของไทยที่สามารถกางใบแล้ววิ่งทวนลม (วิ่งก้าว) ได้ เรือฉลอม เป็นเรือขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ถ้าเป็นขนาดกลางใช้ใบเดียว ถ้าเป็นขนาดใหญ่ใช้ ๒ ใบ เสากระโดงเรือใหญ่เอนไปข้างท้ายเรือเล็กน้อย มีหางเสือ ๒ อัน ห้อยลงสองข้างท้ายเรือ เวลามีคลื่นลมแรงจะใช้หางเสือทั้งสองอัน ถ้าคลื่นลมสงบ ใช้หางเสือเดียว เพราะสามารถหย่อนลงไปได้ลึกและยังถ่วงมิให้เรือโคลงไปตามลม ใบหางเสือเรืออีกอันที่เหลืออาจถอดตั้งไว้ท้ายเรือ โดยเอาใบหางเสือขึ้นทำเป็นใบเรือได้อีกด้วย เพื่อให้หัวเรือหันสู้ลม เรือจะได้ไม่ส่ายไปมา

วิ่งก้าว ( เป็นภูมิปัญญาของชาวเรือที่เรียนรู้เกี่ยวกับการแล่นเรือ)
เป็นการแล่นเรือเมื่อทิศทางลมไม่เป็นใจ ปกติเรือที่ใช้ใบต้องวิ่งตามลม เมื่อถึงคราวที่ต้องวิ่งสวนทางลมไปอีกทิศหนึ่ง การแล่นเรือใช้วิธีชักใบเรือให้กินลมแบบเฉียงๆ กินลมไม่เต็มที่แต่สามารถพาเรือไปในทิศทางที่ต้องการได้โดยการพลิกใบแล่นไปทางขวาทีทางซ้ายที เรียกว่าวิ่งก้าว ต้องวิ่งสลับวิ่งตรงๆไม่ได้ต้องแล่นเฉียงๆในช่วงนั้นเรือจะถูกลมพัดจนเรือเอียง
(จาก ทุ่งโลมาที่ปากน้ำบางปะกงของสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง)

เรือฉลอมที่เด็กๆบางกรูดจะนึกถึงมากที่สุด คือเรือฉลอมขายหอยแมลงภู่ ที่ล่องขึ้นมาขายจากอำเภอบางปะกง ลำไม่ใหญ่นัก ในครั้งนั้นจะขายเป็นถังๆ โดยใช้ถังตวงข้าวเปลือก ตวงขาย ราคา ถังละ 1 บาท ( ขณะนั้นยังใช้สตางค์แดงเจาะรู มีเหรียญ ห้าสตางค์ สิบสตางค์ ยี่สิบสตางค์ กันอยู่ ) ในเวลานั้นข้าวเปลือก รวมทั้งทองรูปพรรณ ขายในราคาเดียวกัน คือข้าวเปลือกเกวียนละ 400 บาท ทองคำบาทละ 400 บาท)
เมื่อมีเรือฉลอมขายหอยมา ก็แปลว่า เด็กๆจะได้กินหอยทอด แถมด้วยหอยนึ่งสดๆ บางทีถ้ามีหอยตัวค่อนข้างเล็กหน่อย คุณยายก็จะทำหอยดอง เป็นหอยดองที่ดองด้วยน้ำปลาต้มผสมน้ำตาลปี๊บ เค็มๆหวานๆ ดองทั้งเปลือก ไม่ใช่การดองรสเปรี้ยว
ผู้เขียนโตไม่ทันรู้จักเรือแจวขายหอยของนายโห นายโหแจวเรือขายหอยแมลงภู่ ราคาเพียงถังละ ห้าสิบสตางค์เท่านั้น
ในจินตภาพของผู้เขียนเวลานึกถึงคำว่า ลอยเท้งเต้ง มักนึกเป็นภาพเรือฉลอมขายหอยลอยเท้งเต้งในแม่น้ำทุกครั้ง มากกว่าเรืออื่นๆมาจนทุกวันนี้ รวมทั้งได้ยินคำว่าเรือฉลอมเมื่อไร ก็นึกถึงเพลงท่าฉลอม ที่อยู่ใกล้กับมหาชัย ของคุณชรินทร์ นันทนาคร

เรือฉลอมท้ายญวน

ลักษณะคล้ายเรือฉลอม แต่ขนาดของเรือจะโตและยาวกว่า มีทวนหัวทวนท้ายเป็นแท่งไม้ตรงเอียงไปทางหัวและท้าย กลางลำเป็นหลังคาประทุนไม้สานใช้ชันพอกกันฝน สามารถใช้เก็บสินค้า ส่วนใหญ่เป็นอาหารทะเล มีบ้านอยู่ท้ายเรือ

เรือหางยาว

เป็นเรือยนต์ชนิดหนึ่ง มีลักษณะเพรียวยาว ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ที่ท้ายเรือ มีท่อโลหะยาวคล้ายหางติดใบจักร ใช้แทนหางเสือไปในตัว และยกขึ้นลง โยกไปทางซ้าย ทางขวา เพื่อเปลี่ยนทิศทางได้


เรือหางยาวรุ่นแรกถือกำเนิดบนรูปร่างของเรือพายที่นำเครื่องยนต์ เช่น เครื่องสูบน้ำ หรือเครื่องฉุดระหัดเก่า มากลึงต่อกับเพลายาวที่มีปลายเป็นใบพัด แล้วนำไปติดตั้งที่ช่วงกลางของลำเรือ ให้ใบพัดจุ่มลงไปในน้ำพอควร ใช้กำลังของเครื่องยนต์ที่ส่งตรงจากเครื่องถึงใบพัด ฉุดใบพัดให้หมุน ใบพัดจะผลักน้ำในระยะไกลกว่าตัวเรือพอสมควร ทำให้เกิดแรงดันให้เรือวิ่งได้

เรือหางยาวในปัจจุบัน ใช้เครื่องยนต์จากรถยนต์มาติดตั้ง วิ่งได้ในแม่น้ำลำคลอง หนองบึง ชายทะเล บริเวณน้ำตื้น ใช้ได้ทั้งเรือเล็กและเรือใหญ่ เครื่องยนต์ที่มีกำลังสูงจะแล่นได้เร็ว สามารถยกใบพัดพ้นที่ตื้นเขินได้ การบังคับเรือง่าย เพียงแค่โยกใบพัดหรือใบจักรก็สามารถบังคับเลี้ยวได้ ถ้าถอดหางออกก็ใช้เป็นเครื่องสูบน้ำได้


เรือหางยาวที่วิ่งประจำที่บางกรูด ใช้เป็นเรือขายสินค้าเป็นสินค้าบริโภคสด เหมือนร้านขายของชำเคลื่อนที่ จะมีเรือหางยาววิ่ง 2 ลำ คือนายแกละและนายโต เรือลำของนายแกละ วิ่งขึ้นไปตัวเมืองเพื่อเอามาขายที่ตลาดโรงสีล่าง เรือลำของนายโตวิ่งจากตลาดสนามจันทร์ (ตัวอำเภอบ้านโพธิ์) เพื่อไปซื้อของในตัวเมืองแปดริ้วเอากลับมาขายที่ตลาดสนามจันทร์ นายโตดัดแปลงเครื่องยนต์ใช้การบังคับด้วยพวงมาลัย ขาไปนายโตจะแวะรับกุ้งก้ามกรามจากเรือที่ออกมานั่งตกกุ้ง เข้าไปขายในเมืองด้วย ขาล่องกลับจะมีบ้านเรือนระหว่างทางริมน้ำเรียกซื้อของ ที่บ้านก็เป็นบ้านลูกค้าเป้าหมายของนายโตและนายแกละ ที่จะมาแวะจอดเสนอสินค้าในเรือหากเป็นผลไม้ตามฤดูกาล ที่ย่านนี้ไม่นิยมปลูกกัน เช่นแตงโม มะม่วงบางชนิด สับปะรด แตงโมในสมัยก่อนเป็นแตงโมผลกลมสีเขียวอ่อนใบไม้ มีลายเส้นที่ผิว ผลใหญ่ มีเพียงปีละครั้งในช่วงปลายฤดูหนาว ( ชาวนาเมื่อเสร็จจากทำนาปี ก็จะปลูกแตงโมต่อ) คุณยายจะซื้อ ครั้งละยี่สิบผล บวกลบเล็กน้อยแล้วเอากองไว้ใต้โต๊ะพระ แตงโมนี้คุณยายชอบรับประทานในเวลาทานข้าว นิยมกินคู่กับหน้าปลาแห้งที่ทำจากปลาช่อน วันหยุดเรียนในช่วงเช้าพอมีแสงแดดอุ่นๆ เราจะกินข้าวเช้าล้อมวงนั่งพื้นพร้อมคุณยายกันที่นอกชานหน้าบ้าน เมื่อนึกถึงแตงโมก็ทำให้นึกถึงแสงแดดอ่อนอบอุ่น หน้าปลาแห้ง และนอกชานบ้าน แตงโมรุ่นก่อนก็ดีเหลือหลายเก็บได้เป็นเดือนไม่เสียหาย (คนบ้านนอกรุ่นคุณยายนิยมกินแตงโม มะม่วงสุกและสับปะรด ในเวลาทานข้าว เหมือนเป็นเครื่องเคียงไม่ใช่กับข้าวหลัก เวลากินอะไรเผ็ดๆ ผลไม้สามอย่างนี้ช่วยได้มากทีเดียวไม่ต้องดื่มน้ำมากๆดับรสชาติเผ็ดร้อน)

เรือของนายแกละเป็นเรือสำปั้นใหญ่ ดัดแปลงติดเครื่องยนต์

ที่บ้านมีมะม่วงหลายพันธุ์ในสวน ทยอยกันหมดรุ่นทีละชนิด (โดยไม่เคยเก็บขายเลย มะม่วงแต่ละพันธุ์จะทยอยติดผล และแก่ในเวลาห่างกัน มะม่วงแต่ละต้นจะมีผล เป็นรุ่นพี่ รุ่นน้อง กันหลายรุ่น) จนมาถึงมะม่วงแฟบ มะม่วงล่า และหมดสวนในที่สุด ก็จะมีมะม่วงต่างถิ่นที่นายแกละนายโตรับมาขายคือมะม่วงพิมเสนเปรี้ยวสุก การซื้อขายนับกันเป็นร้อยผล เช่น ร้อยละ สี่สิบบาท ห้าสิบบาท โดยไม่ชั่งกิโลขาย อย่างน้อยก็จะซื้อเป็น 100 ผล คุณยายไม่ค่อยซื้อมะม่วงนี้ แต่แม่ของพลอยโพยม กลับนิยมซื้อมะม่วงพิมเสนเปรี้ยวสุก ส่วนสับปะรดนั้นก็จะซื้อจำนวนพอสมควรเพราะเอาไว้กวนด้วย กวนแล้วแม่จะเก็บใส่โหลไว้ ให้กินได้นานๆ จนทุกวันนี้น้องชายคนถัดไปไม่กินสับปะรดกวนเจ้าไหนๆเลย น้องชายบอกว่า กินมากตอนเป็นเด็ก เบื่อมาจนทุกวันนี้
ต่อมาก็มีนายรอด น้องชายนายโต นำเรือหางยาว วิ่งรับซื้อกุ้งก้ามกราม ที่ชาวบ้านเอาเรือออกมาตกกุ้งกันในแม่น้ำในช่วงน้ำขึ้น เรือรับซื้อจะวิ่งมารับซื้อกุ้งในช่วงบ่าย สามหรือสี่โมงเย็น

เครื่องยนต์ที่ใช้กับเรือหางยาวนี้ ชาวบ้าน ก็จะซื้อหามาปรับปรุงติดท้ายเรือของตนเอง เป็นเครื่องยนต์ที่ใช้ สั่งมาจากต่างประเทศ เช่นเยอรมันนี อเมริกา และญี่ปุ่น มีขนาดเล็กใหญ่ ที่พัฒนามาเรื่อยๆ เช่นมียี่ห้อ บิ๊ก ยี่ห้อคูลเลอร์ ยี่ห้อโรบิน ยี่ห้อ เจลโล่ เครื่องโรบินมีขนาดเล็กสุด 1.5 แรงม้า นอกนั้นจะเป็น 3-6-9 แรงม้า
ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมา คือ โรแทกซ์ขนาด 18 แรงม้า 21 แรงม้า ( หรือที่เรียกว่า เครื่อง 2 สูบ) เป็นต้น
น้ำมันที่ใช้เป็นน้ำมันเบนซินผสมน้ำมันเครื่องพิเศษที่เหลวกว่าน้ำมันเครื่องธรรมดา ซึ่งมีไว้เพื่อผสมน้ำมันเบนซิน โดยมีสูตรในการผสม น้ำมันเครื่องที่ว่านี้ในยุคนั้นจะคล้าย ออโตลูป ในปัจจุบัน
การติดเครื่องยนต์ ต้องใช้เชือกที่ปลายด้านหนึ่งผูกแท่งไม้ยาวประมาณ4-5 นิ้วสำหรับสอดระหว่างนิ้วมือจับกระตุกเครื่อง ปลายเชือกอีกข้างพันรอบๆในร่องของหน้าเครื่องยนต์แล้วออกแรงกระตุกเต็มแรง เครื่องก็จะทำงาน คนที่กระตุกไม่เป็น ก็จะถูกเชือกนี้สะบัดใส่หน้าตัวเอง เจ็บมากน้อย ตามเรี่ยวแรงของคนกระตุกเชือกนั่นเอง

เรือเร็ว

ต่อมามีเรือติดเครื่องยนต์อีกประเภทเป็นเรือต่อหัวแหลมกว้างสั้นท้ายตัด สีสันของลำเรือฉูดฉาดลำเรือกว้างอ้วนสั้น นั่งได้อย่างมากประมาณ 4 คน รวมคนขับ บางลำนั่งได้แค่ 2 คน มีพวงมาลัยบังคับเรือ เครื่องยนต์จะแรง วิ่งเร็ว เรียกกันว่า เรือเร็ว แต่ศัพท์ของชาวบางกรูด เรียกเรือนี้ว่า เรือบรื๋อ.... สาวๆเวลานั่งเรือบรื๋อ รับรองว่าผมเผ้า กระจุยกระจายหมดศีรษะเพราะถูกลมตีนั่นเอง
เครื่องยนต์ของเรือเร็วหรือเรือบรื๋อ..นี้ส่วนใหญ่เป็น ยี่ห้อ เมอคิวรี่และ ยามาฮ่า

เรือเร็วหรือเรือบรื๋อนี้นับเป็นของเล่นชิ้นใหม่ของผู้มีอันจะกินขับเล่นกินลมชมวิว ในเทศกาลงานแห่หลวงพ่อโสธร ก็มีการแข่งขันเรือเร็วนี้ด้วย
เรือบรื๋อในความทรงจำ ก็เป็นเรื่องน่าตื่นเต้น ที่มีการขนของหนีภาษีมาจากปากน้ำบางปะกง วิ่งเข้ามาในแม่น้ำในบางครั้งก็มีเรือตำรวจน้ำแล่นเรือกวดไล่จับ เรือลำที่หลบหนี บางครั้งก็จะทิ้งของที่ขนมา เช่น เหล้า บุหรี่ ลงในแม่น้ำ บ้านเรือนที่อยู่ใกล้จะพายเรือออกไปเก็บถ้าเก็บได้ทันก่อนที่สินค้าจะจมน้ำไปก่อน ได้รวมกันก็หลายลังกระดาษทีเดียว
และในหน้าน้ำกร่อยชาวบ้านพากันกางอวนรอกุ้งเคยทำกะปิ ซึ่งถือเป็นการผิดกฎหมายเพราะกีดขวางการจราจรทางน้ำ ในรุ่นแรกๆที่กางอวนกันนั้นบางครั้งเจ้าหน้าที่ประมงจังหวัด ก็จะนำเรือเร็วออกมาตรวจจับ เมื่อพบเห็นเจ้าหน้าที่จะยกอวนของชาวบ้านขึ้นเรือของทางราชการ เจ้าของอวนต้องไปชำระค่าปรับ จนในปัจจุบันไม่ค่อยมีเรือสัญจรไปมาในแม่น้ำเหมือนสมัยก่อน ชาวบ้านริมน้ำรุ่นหลังก็สามารถกางอวนกันได้ โดยไม่ต้องอกสั่นขวัญหายกับการตรวจจับแต่ก็มีจำนวนน้อยรายทั่วลำน้ำในปัจจุบัน

(ข้อมูลเรือส่วนใหญ่มาจาก สำนักศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์,๒๕๔๗ )

วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2553

พิณเปี๊ยะเครื่องดนตรีแห่งสรวงสวรรค์ของลานนา...ที่กำลังจะสูญหาย...

อุ้ยบุญมา ไชยมะโน (2465-2548) ครูเพลงเปี๊ยะ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง
พ่อครู พิณเปี๊ยะ คนสุดท้าย ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว


พิณเปี๊ยะเครื่องดนตรีแห่งสรวงสวรรค์ของลานนา

กล่าวกันว่า "พิณเปี๊ยะ" หรือ "เปี๊ยะ" เป็นเครื่องดีดตระกูลพิณที่ไพเราะ เสียงเบา และ เล่นยากที่สุดอย่างหนึ่งในบรรดาเครื่องดนตรีทั้งหมดทั้งมวล ช่างดนตรีทางเหนือพูดเปรียบเปรยให้เข้าใจได้ง่ายว่า "หัดเปี๊ยะ 3 ปี หัดปี่ 3 เดือน" ก็เพราะการจะบรรเลงให้ได้ดีนั้น ต้อง ใช้เทคนิคและความชำนาญเป็นอย่างมากผู้หัดจำต้องมีพื้นฐานทางดนตรีที่ดีมาก่อน

เสรี ชุ่มไชยา หนึ่งในกลุ่มผู้สืบสานศิลปวัฒนธรรมการเล่นเครื่องดนตรีพิณเปี๊ยะ

การดีดต้องดีดด้วยเทคนิคพิเศษที่เรียกว่า "ป๊อก" เพื่อให้เกิดเสียง คม ใส ดังก้องกังวาลนานกว่าเสียงธรรมดา ไม่เพียงมีวิธีดีดที่พิเศษ เปี๊ยะยังมีโครงสร้างของระบบเสียงที่พิเศษอีกด้วยคือ เสียงที่เกิดจากการ "ป๊อก" จะส่งผ่านตามสายไปยังหัวเปี๊ยะ แล้วไหลผ่าน ตามสายมายังกล่องเสียงซึ่งทำจากกะลามะพร้าวผ่าครึ่งที่แนบอยู่กับหน้าอกผู้เล่น คลื่นเสียงจะผ่านอากาศในช่องของกล่องเสียง ไปสะท้อนกับแผ่นอกผู้เล่น แล้วสะท้อนออกมาทางช่องว่างระหว่างกะลากับหน้าอก ผู้เล่นต้องปรับขนาดช่องว่างนี้ด้วยมือซ้ายเพียง มือเดียว เพื่อให้ได้น้ำเสียงที่นุ่มนวลและทุ้มแหลม หนัก-เบา หรือโทนเสียงต่างๆได้อย่างต่อเนื่อง


เล่าขานตำนานพิณเปี๊ยะ

จากคำบอกเล่าของ อุ้ยบุญมา ไชยมะโน (2465-2548) ครูเพลงเปี๊ยะ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง พ่อครู พิณเปี๊ยะ คนสุดท้าย ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว "ในสมัยก่อน ในส่วนของพิณ ถ้าอู้เข้าเข้าไปลึกๆ ก็คือเฮาจะได้ฮีตได้ฮอย มาจากของตางอินเดีย ก็คือมันจะเป็นพิณน้ำเต้า แล้วมันก็จะพัฒนามาเป็นสองสายหรือเฮาจะฮ้องว่าพิณเปี๊ยะ เพราะกับกำว่าพิณมันก็คือการจั้กสาย แล้วก็เป็นเครื่องสาย หรือว่าเครื่องดีด ละก้อเปี๊ยะก็คือการอวดเนี้ยะ เพราะฉะนั้นในส่วนการได้ฮีตได้ฮอยจากอินเดียมา เฮาก็จะหันได้ว่ามันคงจะมีการพัฒนามาเรื่อยๆ แล้วก็คนในสมัยตะก่อน เปิ้นก็ว่ากันว่าจะใจ้ในส่วนของพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ แล้วก็ถ้าเฮากึ้ดย้อนนึกไปสมัยตะก่อน ในการตี้หัวของพิณเปี๊ยะทำด้วยสำริด มันก็จะต้องเป็นคนตี้ เป็นผู้ที่มีอำนาจ หรือว่าเป็นคนตี้อยู่ในศาสนาหรือคนจั้นสูง ถ้าจะมีหัวตี้เป็นสำริด แล้วก็สร้างขึ้นมาได้ แล้วแถมอย่างหนึ่งเปิ้นก็บอกว่า อาจจะเล่นในพระราชวังต่างๆ แล้วอยู่ต่อมา สืบทอดต่อๆ กันมาเรื่อยๆ อาจจะตกอยู่ใน สังคมของชนชั้นเจ้า แล้วก็ลงมาเรื่อยๆ ถอยมาเรื่อยๆ อาจจะเป็นสังคมที่สืบทอดจากเจ้ามาสู่คนธรรมดา ละก็มีว่ากันว่า เปิ้นก็ได้เอาพิณเปี๊ยะเนี้ยะ ไปเล่นแอ่วสาวเหมือนกัน เพราะว่าพ่ออุ้ยแปง นวลจา เปิ้นก็ได้เกยอู้ไว้ว่าพิณเปี๊ยะในสมัยตะก่อนเปิ้นก็เกยหัดเล่น เปิ้นก็เอาไปเล่นแอ่วสาวตามบ้านตามจองต่างๆ ละก้อ ช่วงจากป้ออุ้ยแปง นวลจา รู้สึกว่ามันก็จะหายไป แล้วก็มีการฟื้นกันขึ้นมาใหม่"...

ชาวล้านนาสมัยก่อนเรียกพิณเปี๊ยะ (เอกสารโบราญสมัยกรุงศรีอยุธยาเรียกพเยีย บางเล่มเรียก เพลี้ย, เพียะ) สั้นๆว่า “ เปี๊ยะ ” ในภาษาเหนือแปลว่า อวด หรือ เทียบเชิง คนที่เล่นเปี๊ยะได้จะดูโก้เก๋มากกว่าคนที่เล่นดนตรีพื้นๆ อย่างสะล้อ ซอ ซึง เวลาเล่นแต่ละครั้งจึงเหมือนเล่นอวดกัน เป็นการเล่นประชันขันแข่ง จึงทำให้สันนิษฐานกันว่า ชื่อ “ พิณเปี๊ยะ ” หรือ “ เปี๊ยะ ” อาจจะมีที่มาด้วยเหตุนี้ก็ได้ ส่วนใครเป็นคนคิดประดิษฐ์ขึ้นครั้งแรก ไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันแน่ชัด ได้แต่สันนิษฐานกันว่าพิณเปี๊ยะพัฒนามาจากพิณน้ำเต้าที่พวกพราหมณ์ เป็นผู้ทำขึ้นเล่นก่อน เพื่อประกอบการสวดโองการอ่านภควัตคีตา ต่อมาพราหมณ์ได้เผยแพร่เข้าสู่สุวรรณภูมิเมื่อประมาณพันกว่าปีมาแล้ว ดนตรีชนิดนี้จึงติดตามเข้ามาด้วยไม่ว่าจะเป็นที่รัฐฉานของประเทศพม่า ประเทศเขมร ภาคเหนือตอนบนของไทย แม้กระทั่งในกรุงศรีอยุธยาเองก็มีหลักฐานยืนยันว่ามีการเล่นพิณเปี๊ยะมาก่อน ช่วง ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา แทบจะไม่ปรากฏว่ามีการเล่นพิณเปี๊ยะในแถบภาคกลางและภาคอีสานอีกเลย แต่ยังคงเล่นอย่างแพร่หลายในภาคเหนือมาจนถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ระบบเศรษฐกิจและวัฒนธรรมจากภายนอกไหลบ่าเข้ามาแทนที่ วิถีชีวิตแบบสังคมเกษตรกรรมในชนบทเริ่มเปลี่ยนแปลงไป พิณเปี๊ยะเริ่มหายไปเพราะไม่ค่อยมีใครหัดหรือทำขึ้นมาเล่นอีก



ลักษณะของพิณเปี๊ยะ

พิณเพียะลักษณะคล้ายพิณน้ำเต้าแต่พิณเพียะทำเพิ่มขึ้นเป็น ๒ สาย และ ๔ สายก็มี คันทวนยาวประมาณ ๑ เมตรเศษ ลูกบิดก็ยาวประมาณ ๑๘ ซม. ใช้เชือกคล้องสายผูกโยงไว้กับทวนสำหรับเร่งเสียงเหมือนกับพิณน้ำเต้า กะโหลกก็ทำด้วยเปลือกลูกน้ำเต้าตัดครึ่งลูกก็มี ทำด้วยกะลามะพร้าวก็มีเวลาดีดก็เอากะโหลกประกบติดไว้กับหน้าอกขยับเปิดปิดเพื่อให้เกิดเสียงก้องกังวานตามต้องการเช่นเดียวกับดีดพิณน้ำเต้า ตามที่ปรากฏในท้องถิ่นภาคเหนือผู้เล่นมักจะดีดคลอขับร้องของตนเองและนิยมเล่นในขณะที่ไปเที่ยวเกี้ยวสาวตามหมู่บ้านในเวลาค่ำคืน เดี๋ยวนี้หาผู้ที่เล่นได้ยากแล้วแต่ยังพอมีพี่น้องชาวไทยทางภาคเหนือของประเทศไทยเล่นได้บ้าง ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมีเครื่องสายชนิดหนึ่งบอกไว้ว่า พิณเพียะ แต่ใช้ไม้จริงชนิดเบาทำเป็นกะโหลก ยาวตั้งแต่กะโหลกจนตลอดคันทวนประมาณ ๑.๒๒ เมตร แกะสลักฝังงาลงไปในเนื้อไม้เป็นลวดลายแพรวพราว ตัวกะโหลกกว้างประมาณ ๒๘ ซม. คันทวนแบนใหญ่กว้างประมาณ ๔๘ ซม. มีสายถึง ๕ สาย


พิณเปี๊ยะเครื่องดนตรีแห่งสรวงสวรรค์...ที่กำลังจะสูญหาย...

เรื่องราวของเครื่องดนตรีล้านนาที่เรียกว่า "พิณเปี๊ยะ" ที่กำลังจะสูญหาย เนื่องจากขาดผู้ที่จะรับสืบทอดหรือเผยแพร่ ทำให้ คุณคำหล้า หรือ “ธัญยพร อุตธรรมชัย” ศิลปินรุ่นใหม่แห่งลานนา เริ่มรณรงค์ผู้ต่อสู้เพื่อที่จะเผยแพร่ ศิลปะวัฒนธรรมล้านนา และเธอได้แต่งเพลงชื่อ เพลง “เพลงพิณเปี๊ยะ” ขับร้องท่วงทำนองด้วยภาษาคำเมืองของภาคเหนือ ประกอบดนตรีบรรเลงด้วย พิณเปี๊ยะ จนกระทั่งได้รับรางวัลพระพิฆเนศทองคำพระราชทาน : สาขา เพลงไทยพื้นบ้านภาคเหนือยอดเยี่ยม (21 มิ.ย. พ.ศ. 2548)

-----------------------------

เพลง “เพลงพิณเปี๊ยะ”
คำร้อง - ทำนอง - ขับร้อง : คำหล้า ธัญยพร



งาม….หนอไหนมาเปรียบปาน
สาย…ลมพริ้วพัดผ่าน
กาสะลองดอกน้อยกลีบบาน
หอมนวลภมวลซาบซ่านดังวิมานเพลงพิณ

ใจ …..ข้าเจ้าถวิล
โบก….โบยบิน.. คิดถึง
บอกเมฆขาว ลมหนาวตราตรึง
เสียงพิณปานสังข์ซาบซึ้ง เฝ้ารำพึงถึงเธอ

****เพลงพิณนี้ดั่งมนต์สวรรค์
มานพหนุ่มน้อยคนธรรพ์แดนสวรรค์ฉิมพลี
ฮ่วมกันบรรเลง เพลงพิณเปี๊ยะตามสายนที
ล่องลอยเหนือห้วงวารีกล่อมโลกนี้ชื่นบาน

...ลม…หนาวครวญแผ่วมา
แว่ว…พิณเปี๊ยะ ลานนา
มวลบุปผาบ่หอมโรยรา
หมอกเหมยเจ้าเย้ยใจข้า จำต้องลาเพลงพิณ ...


กาญจน์มุนี ศรีวิศาลภพ (ร้อยตะวัน) : เขียน

วันอังคารที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เรือล่อง......ท่องวารี 3


ขอเล่าเรื่องเรือที่มีล่องไปล่องมาในลำน้ำบางปะกงที่บางกรูดต่อ โดยจะกล่าวถึงรายละเอียดของเรือตามประเภทของเรือ ทั้งนี้มีกล่าวซ้ำกับเรือที่เคยเล่าแล้วหลายลำเพราะไม่ได้เขียนในรายละเอียดของเรือไว้

ประเภทเรือขุด :
เรือชะล่า นับว่าเป็นต้นแบบของเรือขุดทั้งหลายที่ขุดจากไม้ซุงทั้งต้น ทำให้เป็นรูปเรือ โดยไม่ต้องเปิดปากเรือให้กว้าง ท้องเรือแบน ความกว้างของลำเรือเท่ากันเกือบตลอดลำ ไม่มีการตกแต่งมากเพียงแต่ปาดหัวปาดท้ายเรือไม่ให้ต้านน้ำมากเท่านั้น ส่วนบนของหัวท้ายเรือจะแบนเชิดขึ้นเล็กน้อยพอสวยงาม หากมีขนาดใหญ่มากจะใส่กงเรือ บางลำใช้แจวท้ายเรือ บางลำใช้ถ่อ แต่ยืนถ่อได้เฉพาะตอนหัวและท้ายเรือเท่านั้น เพราะในตัวลำเรือไม่มีที่เดิน เป็นเรือที่ใช้บรรทุกข้าวเปลือกตามคลองตื้นๆ แคบๆ ลำเลียงเข้าบ้านหรือไปโรงสี เพราะท้องเรือแห้งสนิท ข้าวเปลือกไม่เปียกน้ำ และสามารถบรรทุกได้มาก

เรือชะล่า ที่ได้เห็นในลำน้ำเป็นเรือหางยาวต่อรูปทรงเป็นเรือชะล่า การหาถ่ายภาพเรือขุดชะล่า ไปพบที่วัดบางแตนอำเภอบ้านสร้าง ปราจีนบุรี มีอยู่ 2 ลำ เป็นเรือที่คุณประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฏร ที่รู้จักกันในนามโคว้โต้หมง ถวายให้วัดบางแตนไว้ ซึ่งทางวัดจัดเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ลำเรือค่อนข้างยาวใหญ่ เทอะทะ ในลำเรือเป็นที่แขวน ไหต่างๆเช่นไหกระเทียม เป็นต้นและยังมี อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้กับสัตว์น้ำ ตะเกียงรั้ว เรียงรายอยู่ข้างใต้หลังคาเรือ ที่ลำเรือตีพื้นกระดานจัดวางเครื่องใช้ดินเผาและอื่นๆ ผู้เขียนพยายามถ่ายภาพมาภาพที่ได้ไม่สมบูรณ์ไม่สวยงาม เนื่องเป็นการเริ่มหัดถ่ายภาพวันแรกครั้งแรกในชีวิต ไม่รู้วิธีการจัดมุมภาพ และดูองค์ประกอบภาพ ภาพเลยดูรกรุงรัง ได้ภาพท้ายเรือก็ไม่เห็นหัวเรือ ผู้สนใจไปดูของจริงกันเลย มีของใช้พื้นบ้านมากมายจัดไว้สวยงามในห้องพิพิธภัณฑ์ ส่วนเรืออยู่ด้านนอก มีหลายลำหลายประเภท

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสต้นที่จังหวัด กำแพงเพชรเมื่อ พ.ศ. 2449 ในบางคราวจะเสด็จประทับในเรือชะล่าประพาสเที่ยว



เรือมาด เป็นเรือเก่าแก่ชนิดหนึ่งของไทย ขุดจากซุงไม้สัก ตะเคียน ขนาดต่างๆกันตามประเภทของเรือ เมื่อขุดภายในและโกลน( เกลาไว้,ทำเป็นรูปเลาๆ)เป็นรูปมาด (ถ้าเพียงแต่ขุดไว้ แต่ยังไม่ได้เบิก เรียกว่ามาดเรือโกลน) ใช้ไฟลนให้เนื้อไม้ร้อนแล้วหงายใช้ปากกา( เครื่องสำหรับหนีบของใช้ทำด้วยไม้หรือเหล็กก็มี) จับปากเรือผายออกให้ได้วงสวยงามเป็นเรือท้องกลม หัวท้ายรีรูปร่างคล้ายเรือพายม้า แต่หัวท้ายเรือแบนกว้างกว่า ไม่เสริมกราบแต่มีขอบทาบปากเรือภายนอก เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของปากเรือ กลางลำกว้างเสริมกง เป็นระยะ หัวท้ายเรือมีแอกสั้นๆ ไม่ยื่นมากไว้ผูกโยงเรือ และแอกเหยียบขึ้นลงเรือ มีหลายขนาด ขนาดเล็กใช้พาย ขนาดใหญ่นิยมแจวมากกว่าพาย ใช้บรรทุกของหนัก ถ้าเดินทางไกลก็มีประทุนปูพื้นกลางลำเรือ จะเรียกว่าเรือมาดประทุน หากมีเก๋งกลางลำเรือจะเรียกเรือมาดเก๋ง สามารถทำประทุนและปูพื้นใช้ อยู่อาศัยแทนบ้านเรือนได้

เรือมาดเก๋ง 4 แจวเคยใช้เป็นเรือพระที่นั่งเสด็จประพาสต้นของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 และมีเรือมาดประทุน 4 แจวเป็นเรือเครื่องครัว ในบางคราวทรงใช้เป็นเรือพระที่นั่งรอง

เรือพายม้า ขุดจากซุงไม้สักหรือไม้ตะเคียน เป็นเรือท้องกลม หัวท้ายเชิด ทางหัวจะยาวแบะต่ำกว่าด้านท้ายเล็กน้อย เรือเสริมกราบให้สูงขึ้นด้วยไม้เพียงแผ่นเดียว กว้างประมาณ 4-5 นิ้ว มีกงตั้ง มีหูกระต่าย( ชาวเรือเรียกกระทงเหิน ) เป็นไม้กงตัวสุดท้ายติดขวางอยู่ทั้งหัวและท้ายเพื่อรับกราบเรือและเพื่อเสริมกราบเรือให้สูงขึ้น ตรงกลางลำป่องออก ปูแคร่เกือบเสมอปากเรือ กลางลำใช้บรรทุกสิ่งของ เรือพายม้าขนาดใหญ่จะมีขยาบหรือประทุนอยู่ตอนท้าย สำหรับพักอาศัยและใช้แจว

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ฯ ทรงสันนิษฐานว่า คงได้แบบอย่างเรือมาจากพม่า เพราะมีรูปร่างเหมือนเรือขุดขนาดเล็กของพม่าและชื่อเรือพายม้า คงเพี้ยนมาจากชื่อเดิมคือเรือพม่า นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกต่างกันไปอีก เช่นเรือเผ่นม้า เรือแพม้าหรือพะม้า หรือเรือพลายม้าก็มี

เรือชะล่า เรือมาดและเรือพายม้า ล้วนเป็นเรือขุด จึงเป็นเรือที่มีราคาแพง ทำให้ไม่เป็นที่นิยมที่จะใช้กันทุกบ้าน อีกทั้งลำเรือค่อนข้างใหญ่ แม้แต่เรือมาดขนาดเล็กเป็นเรือมาดพายก็ตามที ด้วยรูปทรงของเรือยังนับว่า เป็นเรือที่ยาวกว่าลำเรืออีกหลายประเภท บ้านเรือนที่มีเรือมาด เรือพายม้า ก็มักจะมีเรือลำอื่นๆใช้งานประจำวันอีกด้วย เช่นมีเรือสำปั้น เรือป๊าบ เรือบด เรือเป็ด เรืออีแปะ เป็นต้น เรือมาดและเรือพายม้า มักใช้ในการขนข้าวเปลือกเวลาไปตวงค่าเช่านากันเป็นส่วนใหญ่ หรือใช้ติดเครื่องยนต์ท้ายเรือไปทำธุระไกลๆ



เรืออีโปง ในปัจจุบันหาเรือเพื่อถ่ายภาพมาไม่ได้เลย บ้านที่เคยใช้สอยปล่อยให้ผุพังไปหมดแล้ว ส่วนใหญ่ที่เคยมีอยู่จะเป็นเรือโปงไม้สัก ที่กรมประมงกระทรวงเกษตรฯ เคยจัดแสดงอุปกรณ์ประมงและเรืออีโปงขุดจากต้นตาลไว้ที่ทางเข้าด้านหนึ่งของกรม ตากแดดตากฝนอยู่นาน แต่ปัจจุบันเคลื่อนย้ายออกไปแล้ว

เรือหมู ขุดจากไม้ซุงขนาดเล็ก จากไม้ตะเคียน มะค่า ไม้สัก ลักษณะคล้ายเรือพายม้าแต่เล็กกว่า หัวและท้ายเรือถากเป็นรูปแท่งเรียวเหลาแบน ส่วนท้ายงอนเชิดกว่าส่วนหัวเล็กน้อยเสริมกราบทั้ง 2 ข้าง เพื่อให้บรรทุกของได้มากขึ้น พื้นส่วนหัวและท้ายมีแคร่ปิดเปิดได้ ส่วนกลางลำบางทีมีแคร่โปร่งลูกระนาด ใช้ได้ทั้งพายและถ่อ ใช้โดยสารระยะใกล้ หรือใช้หาปลาตามทุ่งท้องนาด้วยการลงเบ็ดลงข่าย พอพบเห็นได้บ้างในอดีตที่บางกรูด แต่จำไม่ได้ว่าเป็นเรือของผู้ใด เคยเห็นจอดผูกโซ่เรือไว้ที่ทุ่นโป๊ะท่าน้ำของวัดบางกรูด

เรือยาว นับเป็นเป็นมรดกทางวัฒนธรรมแห่งสายน้ำ ใช้ตามงานประเพณีต่างๆ เป็นเรือขุดที่มีหลักการมากกว่าเรือขุดอื่นๆ ทั้งยุ่งยากในเรื่องของพิธีกรรม ต้องใช้คนมาก การขุดเรือต้องทำตามบริเวณวัด ขุดจากไม้ต้นเดียวตลอดลำ เรียกว่าลำเรือ มีลักษณะท้องขัน (แบน)และท้องรูปกระทะ ส่วนหัวเรือเรียกโขนเรือ ท้ายเรือเรียกหางเรือ ไม้ที่นำมาขุดเรือยาว หรือเรือแข่งได้แก่ ไม้ตะเคียน ไม้สำโรง ไม้มะหาด เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่นิยมเรือขุดจากไม้ตะเคียน ได้แก่ ตะเคียนทอง ตะเคียนหิน ตะเคียนหนู ตะเคียนหยวก ตะเคียนดง ตะเคียนไพร เพราะเป็นไม้เนื้อแข็ง ลอยน้ำได้ดี พุ่งน้ำด้วยดี แช่น้ำได้นาน เมื่อขุดเป็นเรือ ถ้ารักษาดีดี ทนทานนับร้อยปี

การขุดเรือยาวสำหรับใช้ในการแข่งขันทำให้ได้ใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านรวมกับความเชื่อด้านไสยาศาสตร์ควบคู่กัน เริ่มตั้งแต่ความเชื่อของต้นไม้ที่จะนำมาขุดเป็นเรือ คือต้นตะเคียนที่เชื่อกันมาตั้งแต่โบราณว่ามีนางไม้หรือนางตะเคียนสิงอยู่ เมื่อนำมาขุดเป็นเรือยาวก็จะเชิญนางไม้มาเป็นแม่ย่านางเรือ เชื่อกันว่าจะนำชัยชนะและความสำเร็จมาให้ อีกทั้งต้นตะเคียนทองจะมีนางไม้ที่มีวิญญาณที่แกร่งกล้า มีความเฮี้ยนกว่านางไม้ตะเคียนอื่น ๆ นอกเหนือไปจากคุณสมบัติของเนื้อไม้ที่ออกสีเหลือง เมื่อขุดเป็นเรือเสร็จตัวเรือจะมีสีผิวไม้สวยงาม จึงนิยมใช้ตะเคียนทองมากกว่าตะเคียนอื่นๆ



การเลือกต้นตะเคียนที่จะโค่นมาขุดเรือต้องเลือกให้ได้ลักษณะงามตามตำราขุดเรือ มีขนาดกว้างและความยาวเหมาะสม ต้องคำนึงถึงการโค่นต้นไม้ลงมาด้วยว่าจะสามารถนำมาขุดเรือตามวัตถุประสงค์ได้หรือไม่ ทิศทางในการล้มของต้นไม้ต้องไม่ล้มฟาดสิ่งอื่นในป่าทำให้ไม้ตะเคียนอาจหักหรือไส้ไม้ช้ำน่วมเสียหายได้ จึงต้องมีการคำนวณความสูงยาวของต้นไม้โดย อาศัยหลักคำนวณตรีโกณ คณิตศาสตร์ ด้วยการยืนหันหลังให้ต้นตะเคียน แล้วก้มลงมองลอดหว่างขาตัวเอง ศีรษะก้มอยู่ในระดับเข่า ถ้ามองเห็นยอดตะเคียนพอดี ก็วัดระยะทางจากจุดยืนถึงโคนต้นก็จะได้ความสูงของต้นตะเคียนพอดี บางครั้งใช้การปีนขึ้นต้นไม้แล้วใช้เชือกวัด หรือใช้เชือกผูกติดหน้าไม้ยิงไปที่ส่วนปลายของยอดไม้แล้วจึงวัดคำนวณความยาว หรือใช้วิธีปล่อยลูกโป่งอัดลมลายถึงกิ่งยอดตะเคียนแล้วจึงดึงลงมาหาความยาวของต้นไม้ นี่นับว่าเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่น่าทึ่งมาก

การโค่นต้นตะเคียนจากความเชื่อว่ามีนางไม้หรือนางตะเคียนสิงอยู่ ทำให้ก่อนโค่นต้องตั้งศาลเพียงตา 2 ศาล พร้อมเครื่องสังเวย อาทิ หัวหมู ไก่ ไข่ต้ม ขนมต้มแดง ต้มขาว เหล้าขาว หมากพลู บุหรี่ บายศรี 2 ที่ เพื่อขอขมาบอกกล่าวเจ้าป่าเจ้าเขา ขออนุญาตทำการโค่นต้นไม้ในป่า ซึ่งนิยมเซ่นไหว้ได้แต่เช้าจรดเย็นยกเว้นวันพระ ศาลที่ 2 เป็นการบอกกล่าวนางตะเคียนโดยงดเหล้า บุหรี่ ควรเพิ่มเครื่องตกแต่งผู้หญิง เช่น หวี แป้ง ผ้าแพร น้ำอบ น้ำหอม เป็นต้น ไม่ควรเซ่นไหว้เกินเที่ยงวัน เมื่อพลีกรรมแล้วจึงทำการตัดโค่น

ต้นตะเคียนที่นำมาขุดเรือ ต้องเป็นไม้ที่ไม่ได้ตีตราไม้ตามระเบียบราชการ เชื่อกันว่าไม้ต้นใดตีตราแล้วแม่ย่านางจะไม่มาอยู่ ช่างขุดเรือต้องพิจารณาว่าจะเอาส่วนไหนทำท้องเรือ หัวเรือ หางเรือ นิยมใช้โคนของต้นไม้เป็นหัวเรือ ปลายไม้เป็นส่วนท้ายเรือ จะได้เรือรูปทรงกว้าง ท้ายเรียวรูปร่างคล้ายปลาช่อน เพราะเชื่อว่าหัวเรือกว้างจะเบิกน้ำได้ดีทำให้เรือวิ่งได้เร็ว ถ้าใช้ปลายไม้เป็นหัวเรือเรือจะมีลักษณะหัวเรียวท้ายใหญ่

ก่อนขุดลำเรือจะตั้งศาลเพียงตาอัญเชิญนางไม้ขึ้นศาลฯ เมื่อขุดเรียบร้อยแล้วจะเชิญขึ้นเป็นแม่ย่านางประจำเรือ แล้วจึงเข้าสู่ขั้นตอนการขุดเรือ เมื่อสำเร็จเป็นลำเรือแล้วจะมีการตั้งชื่อเรือตามความนิยมหรือความเชื่อของเจ้าของเรือ ครั้งโบราณนิยมเชิญแม่ย่านางประทับทรงเพื่อขอให้ตั้งชื่อให้รวมทั้งถามถึงอาหาร เครื่องแต่งกายและสีเสื้อ ผ้าแพรประดับโขนเรือให้ถูกโฉลกกับแม่ย่านางเรือ เพื่อเป็นมงคลแก่ทีมเรือให้ประสบชัยชนะในการแข่งขัน เมื่อจะนำเรือลงน้ำ

พิธีนำเรือลงน้ำ โดยการตั้งศาลเพียงตาบวงสรวงเชิญแม่ย่านางเรือ โขนเรือจะตกแต่งด้วยผ้าแพรสีสันสวยงามตามที่ถามไว้ พิธีเบิกเนตร (ตาเรือ) บางครั้งอาจมีพิธีสงฆ์ทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลและรำถวายรับขวัญแม่ย่านางเรือ ครั้นได้ฤกษ์ฝีพายก็ช่วยกันโห่สามครั้งยกเรือลงน้ำทันที ฝีพายก็จะนั่งประจำเรือและทดสอบพายเรือ (ข้อมูลจาก ประวัติกีฬาเรือยาวประเพณี ของสมาคมเรือพายแห่งประเทศไทย)

จากหนังสือเรือของณัฐวุฒิ กล่าวว่า การนับถือแม่ย่านางเรือเป็นความเชื่อที่มีมาแต่โบราณไม่มีใครทราบสาเหตุว่าเหตุใดจึงเรียกแม่ย่านาง เท่าที่ค้นมามีบางท่านกล่าวว่าแม่ย่านางมาจากภาษาจีนว่า เหย่เหนียง

ประวัติอำเภอเสาไห้ได้ชื่อมาเพราะมีเสาร้องไห้มาจมอยู่ที่นั่น ส่วนอำเภอคูไม้ร้องเป็นที่เก็บเรือพระที่นั่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีเรื่องเล่าว่าเคยมีเสียงร้องออกมาจากเรือเหล่านั้น จึงได้เรียกคูที่เก็บเรือนั้นว่าคูไม้ร้อง

ส่วนความนิยมแกะตาไว้ที่หัวเรือ ทำกันที่เมืองจีนก่อน มีที่อียิปต์ด้วย เหตุที่ต้องแกะตา เพราะต้องการให้แล่นเรือไปข้างหน้าให้ตรงทาง การติดตาที่เรือ เคยมีกล่าวในพงศาวดารในสมัยพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา ว่านายมั่นมหาดเล็กเป็นคนบ้านนอกติดตาเรือข้างซ้ายขวาสลับที่กัน หางตาเรือเลยกลับที่กันด้วย เป็นต้น

(เรื่องการคำนวณความสูงของต้นไม้ ผู้เขียนพยายามใช้วิธีก้มมองลอดหว่างขาระดับเข่าตัวเองไปที่ยอดไม้ พบว่าการยืนต้องยืนย่อขาลงถ้ายืนตรงเก้าสิบองศาไม่สามารถก้มหน้าลงระดับเข่าได้ (หรือคนที่ฝึกแอโรบิค โยคะ หรือนักเต้นบัลเลต์ อาจทำได้ เป็นคนละประเด็นกัน) คิดว่าการย่อขาลงเป็นการจัดมุมองศาใหม่เพื่อให้สายตาที่ลอดออกจากหว่างขาไปที่ยอดไม้ เพื่อให้ได้มุม สี่สิบห้าองศา เมื่อมองเห็นยอดไม้จะทำให้เกิดสามเหลี่ยมด้านเท่าระหว่างจุดยืนกับยอดไม้ จุดยืนกับโคนไม้ และโคนไม้กับยอดไม้ ผู้อ่านไปลองทดสอบสนุกๆกันดู แต่ถ้าท่านสูงวัยแล้วทดลองเกิดอาการปวดหลังตามมาก็อย่าโทษผู้เขียนก็แล้วกัน คนธรรมดาจะจัดท่าอย่างไรก็แล้วแต่ ทำมุมต้องได้ สี่สิบห้าองศา จึงน่าที่จะใช้ภูมิปัญญานี้ได้ผล)

ที่บางกรูดในสมัยก่อนจะเห็นเรือยาวที่มีคณะฝีพายพายเรือผ่านล่องขึ้นไปเตรียมเข้าสู่การแข่งขัน ฝีพายจะถือโอกาสซักซ้อมการพายเรือไปด้วยจึงมีเสียงคึกคักของการให้จังหวะการพาย (จ้ำบึ๊ด .. จำบึ๊ด) และเสียงจ้วงน้ำ เมื่อเสร็จการแข่งขันก็จะพายล่องกลับลงมา ในราวช่วงเดือนสิบเอ็ด เดือนสิบสอง(คือฤดูกาลกฐิน และงานแห่หลวงพ่อโสธร)

แต่ในปัจจุบันการนำเรือไปสถานที่แข่งขันทั้งเรือยาวและเรือมาดพาย เปลี่ยนเป็นเคลื่อนที่ทางถนนหลวง โดยวางเรือยาวไว้บนรถบรรทุก ถ้าลำยาวมากก็เป็นรถพ่วงสิบแปดล้อแทน ส่วนเรือมาดพายก็เป็นการบรรทุกด้วยรถกระบะ ทั้งเรือยาวและเรือมาดพาย สำหรับการแข่งขัน จึงเปลี่ยนสภาพจากเรือล่องในลำน้ำขึ้นมาเคลื่อนไหวเพิ่มสีสันความคึกคักแปลกตาให้ท้องถนนแทนในระหว่างการเคลื่อนย้ายเรือ จากการที่จะได้เคยเห็นเรือลอยลำอยู่ตามท้องถนนเพราะภาวะน้ำท่วม ก็เลยทำให้ได้เห็นเรือบนท้องถนนในเวลาปกติด้วย แต่ภาพเหล่านี้ขาดสีสันความมีชีวิตชีวาของเรือ เพราะเป็นเรือเปล่าไม่มีฝีพายและเสียงประสานจังหวะของฝีพาย เสียงพายที่จ้วงแรงๆในน้ำนั่นเอง



ประเภทเรือต่อ :
เรือป๊าบหรือเรือแตะ เรือมีลักษณะหัวท้ายเรียวมนลำกว้างท้องแบน พัฒนามาจากเรือแตะของภาคกลาง ช่างต่อมักใช้ไม้สักต่อจากภาคเหนือ อาจส่งไม้มาต่อแถวย่านรังสิต โดยใช้กงเรือ มีพื้นส่วนหัวและส่วนท้ายเรือ กลางลำลดพื้นลงต่ำ ใช้เป็นเรือบรรทุกของเล็กๆน้อยๆ โดยสารได้ไม่เกิน 3-4 คน ความยาวเรือประมาณ 2 วา ใช้สอยทั่วไปตามริมหนอง คลองบึง มักจะเป็นเรือต่อสำเร็จรูปจากจังหวัดที่มีไม้สักมากและลำเลียงลงมาขายในภาคกลาง

เรือบด เรือต่อแบบฝรั่งทำด้วยไม้สักต่อกระดาน ๔ แผ่น มีรูปร่างหัวเรียว ท้ายเรียว เพรียวบาง ชาวเรือมีไว้ใช้พายออกจากเรือใหญ่ เรือของชาวบ้านใหญ่กว่า และมีไว้ติดบ้าน เข้าใจว่าเรียกเพี้ยนมาจากคำว่า โบต กล่าวกันว่าเข้ามาในเมืองไทยในสมัยรัชกาลที่ ๔
เรือบดนี้หลายๆวัดนิยมใช้เป็นเรือพระพายบิณฑบาต แต่การต่อลำเรือท้องเรือจะแบนมากขึ้น เพื่อให้ลำเรือ กว้าง นั่งพายสะดวก วางของได้มาก ตกแต่งหัวเรือท้ายเรือเล็กน้อยให้มองดูสวยงาม
เวลาที่เด็กๆจะพายเรือแข่งกันสนุกๆ ทุกคนจะอยากได้เรือบดมาก เรือสำปั้นนั้นจะเป็นเรือที่หัวป้านต้านน้ำ ลำเรือกว้างอ้วนกว่า ทำให้เรือเคลื่อนที่ช้า เรือที่ถูกใจเด็กรองลงมาจากเรือบด น่าจะเป็นเรือป๊าบ เพราะลำเล็กมีส่วนดีที่หัวเรือโค้งมน ดีกว่าเรือเป็ดด้วย ส่วนเรือหมูไม่ค่อยมีเห็นบ่อยนัก

เรือสำปั้น ใช้กระดาน ๓ แผ่น มาต่อประกบกันเข้าเป็นเรือ แผ่นหนึ่งเป็นท้องเรือ แล้วเสริมต่อข้างละแผ่น ภาษาแต้จิ๋วเรียกซำปั้ง แปลว่า กระดานสามแผ่น ชาวมลายูเรียกเรือสามป้าน เรือสามป้านมีออกชื่อในสมัยกรุงธนบุรี ในหมายรับสั่ง เมื่อคราวรับพระแก้วมรกตว่า “ พวกละคร โขน งิ้ว ลงเรือแสดงในเรือสามป้าน”
เรือสำปั้นในสมัยกรุงธนบุรี จะมีขนาดใหญ่ จึงสามารถบรรทุก โขน ละคร งิ้ว ลงไปแสดงได้ ต่อมาช่างไทย เห็นว่าเรือ สำปั้นจีนไม้ฉำฉาไม่งดงามไม่น่าดู จึงดัดแปลงแก้ไข ให้มีรูปร่าง เพรียวกะทัดรัดขึ้น โดยผู้เชี่ยวชาญในการต่อเรือ คือสมเด็จพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุญนาค) ครั้งยังเป็น พระยาสุริยวงศ์มนตรี จางวางมหาดเล็ก โดยขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้น และมีรูปร่างคล้ายเรือมาดมีขนาดยาวประมาณ ๗-๘ ศอก เรือชนิดนี้เดิม มีไว้ใช้ในราชการและเรียกชื่อว่า เรือสำปั้นตลอดมา

เรือสำปั้นมีหลายขนาด ขนาดเล็กมีหัวท้ายยาวเพรียวนั่งได้เพียงคนเดียว เรียกว่าสำปั้นเพรียว เป็นเรือพระใช้สำหรับบิณฑบาต ถ้าเป็นขนาดใหญ่กว่าเรือพระ แต่ยังมีขนาดเล็ก คือเรือขายก๋วยเตี๋ยว ขายกาแฟ ถ้าโตขึ้นอีกเท่าหนึ่ง ก็เรียกว่า สำปั้นคอน ใช้เป็นเรือบรรทุก ผักหญ้า ผลไม้ แต่ยังคงใช้พาย ถ้าเป็นเรือที่โตกว่าสำปั้นคอน ก็เป็นเรือขนาดเรือจ้าง ที่ต้องใช้แจวและบางทีก็ติดหางเสือ เพื่อช่วยให้ไม่ต้องวาดแรงนัก ถ้าโตกว่าเรือจ้าง เรียกว่าสำปั้นสวน เพราะชาวสวนนิยมใช้บรรทุก พืชผัก ผลไม้ของสวนออกมาขาย
เรือสำปั้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ก็คือเรือบรรทุกสินค้า ซึ่งใช้เป็นที่อยู่ด้วย เป็นเรือที่ อาศัยได้ มีขนาดกว้างราว ๒ วา เป็นเรือที่มีประทุน มีขยาบหัวขยาบท้าย ต้องใช้แจว ทั้ง หัวเรือ ท้ายเรือ ปูกระดานเต็มลำ ประทุนเรือสำปั้นขนาดใหญ่มุงด้วยจากและไม้ไผ่สานเป็นแผ่นปิดทับทาด้วยชันเหลวอีกชั้นหนึ่ง บนหลังคาประทุนมีรางไม้ยาวตลอด เมื่อต้องการเก็บขยาบหัวและท้าย ก็เลื่อนไปบนรางไม้นี้ได้สะดวก

เรือสำปั้นนี้ มักจะเป็นเรือพระราชทานที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้วัดต่างๆริมน้ำ ที่พระองค์เสด็จแวะเยือนในคราวเสด็จประพาสต้น เป็นไม้สักทองสวยงาม เป็นสำปั้นเพรียวเพื่อให้พระที่วัดนั้นๆ ใช้ออกบิณฑบาต จะพระราชทาน พร้อมบาตร และปิ่นโต เท่าที่ทราบที่ฉะเชิงเทรา มีวัดเทพราช อำเภอบ้านโพธิ์ ที่ปราจีนบุรี มีวัดบางแตนอำเภอบ้านสร้าง ได้รับพระราชทานมา

เรืออีแปะ เป็นเรือต่อคล้ายเรือสำปั้น แต่หัวท้ายเรือสั้นกว่า และถากตรงเสริมกราบรอบตลอดลำเรือ ท้องแบน มีตำนานเล่าว่า เดิมเป็นเรือสำปั้นหลุดลอยตามลมพายุฝนมา มีผู้เก็บเรือได้ และไม่รู้ว่าเรือลำนี้เป็นของใคร มีการสอบถามหาเจ้าของเรือ มีผู้อ้างเป็นเจ้าของหลายคน และตกลงไม่ได้ว่าใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง ผู้เก็บเรือได้ จึงทำการดัดแปลงเรือเสียใหม่ ให้แตกต่างจนจำไม่ได้ว่าเคยเป็นเรือสำปั้นมาก่อน ต่อมาเรืออีแปะเป็นที่นิยมของพ่อค้าชาวจีนนำไปใช้เป็นเรือขายโอเลี้ยง กาแฟ

ที่บางกรูดจะมีเรือขายก๋วยเตี๋ยวพายมาจากคลองท่าถั่วล่องขึ้นมาที่วัดบางกรูดเจ้าของเรือชื่อนายเฮือก โดยใช้เรืออีแปะนี้เอง กลิ่นหอมของน้ำในหม้อก๋วยเตี๋ยว ฟุ้งมาแต่ไกลในเวลาใกล้ๆเพล คือ 11 นาฬิกา เมื่อห้าสิบกว่าปีที่แล้วชามละ 1 บาท นายเฮือก จะมีแตรบีบเสียงดัง ปู้นๆ เป็นสัญญาณว่า ก๋วยเตี๋ยวมาแล้วจ้า.... บ้านไหนสนใจก็ร้องเรียกส่งเสียง วู้.วู้ นายเฮือกจะต้องเหนื่อยกับการพายเรือข้ามไปฟากแม่น้ำฟากโน้นกลับมาฟากนี้ ตามคำเรียกร้อง วู้ วู้...ชามก๋วยเตี๋ยวเมื่อกินเสร็จที่หัวสะพานบ้านไหน นายเฮือกก็เอาลงล้างในแม่น้ำตรงนั้นเอง สลัดน้ำ 2-3 ที ก่อนวางซ้อนลงไปในแถวชามที่วางไว้ในเรือ พอมาถึงวันนี้ก็เกิดความกังขาในใจว่าเวลาน้ำในหม้อก๋วยเตี๋ยวแห้งงวดลง นายเฮือกทำอย่างไร แต่อย่างน้อย ระยะทางบ้านนายเฮือกมาถึงบางกรูด ก็คงจะเป็นน้ำหม้อก๋วยเตี๋ยว หม้อแรก ( เขียนแซวนายเฮือก..เท่านั้นเอง เพราะน้ำในแม่น้ำสมัยก่อนสะอาด ที่บ้านก็ล้างหม้อชามรามไห ในแม่น้ำนี่แหละเพียงแต่ต้องเอามาล้างน้ำฝนเป็นน้ำสุดท้ายบนบ้านอีกครั้ง ส่วนนายเฮือกเอง ก็เอาน้ำเดือดในหม้อก๋วยเตี๋ยวลวกชามให้ก่อนอยู่แล้ว เอ..หรือว่า...ที่ก๋วยเตี๋ยวอร่อย เพราะได้น้ำธรรมชาติจากบางปะกงนี่เองกลิ่นถึงหอมยั่วยวนน้ำลายคนริมน้ำ)

ที่บ้านผู้เขียนเวลามีญาติๆครอบครัวใหญ่มาเยี่ยมคุณยายและพักค้างคืน ก็จะนัดหมายเหมาก๋วยเตี๋ยวทั้งลำมาเป็นมื้อกลางวัน พวกเราเด็กๆจะแข่งกันกินก๋วยเตี๋ยวว่าใครกินได้มาก มากที่สุดกี่ชาม เด็กๆจะไม่กินข้าวเช้าเพื่อเตรียมท้องรอก๋วยเตี๋ยวนายเฮือก พวกพี่ๆผู้ชายย่อมกินได้เยอะกว่าเด็กผู้หญิงที่อย่างเก่งแค่ 2 ชาม ก็จอดแล้ว พี่ผู้ชายบางคนกินได้ถึงสิบชาม วันนั้นทั้งวันกินอย่างอื่นไม่ได้อีกแล้ว

มีเรือพายขายขนมจีนลอดช่อง 2 ลำ เจ้าเด็ดเด่นดัง ก็ของป้าบุญช่วย งามวงษ์น้อย เจ้าตำรับขนมจีนเส้นเหนียวหนับลือชื่อ รวมทั้งลอดช่องใบเตยแท้ ตัวลอดช่องหอมกรุ่นเหนียวหนับไม่แพ้เส้นขนมจีน น้ำกะทิใหม่สด ทำเสร็จก็พายเรือออกขายเลย ป้าบุญช่วยจะถูกเชิญ เป็นแม่งานแทบทุกครั้งที่มีการโรยเส้นขนมจีนในงานต่างๆ เรือของป้าบุญช่วยถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นเรือมาด ส่วนอีกเจ้า เป็นเรือสำปั้นลำไม่ใหญ่นัก

เมื่อถึงเทศกาลวันพระผู้คนริมฝั่งน้ำต่างก็พายเรือของตนเองไปจอดที่ท่าน้ำวัด ใครมาก่อนก็ผูกโซ่เรือติดกับทุ่นโป๊ะ จนเต็ม คนมาทีหลังก็ใช้วิธีผูกโซ่เรือตัวเองกับเรือลำที่มาก่อน ในวันพระใหญ่ ก็จะผูกทอดต่อกัน สามทอดเลยทีเดียวสารพัดเรือที่แต่ละบ้านมีมารวมชุมนุมที่ท่าน้ำของวัด เมื่อเสร็จพิธีทำบุญก็จะโกลาหลเล็กน้อย เพราะผู้คนลงจากศาลามุ่งตรงมาที่จอดเรือ พร้อมๆกัน ไม่ทยอยกันมาเหมือนขามา ทั้งที่วัดมีท่าน้ำ 2 ท่า แต่ท่าหนึ่งนั้นเราชาวบ้านรู้ดีกว่า เป็นท่าสำหรับพระใช้ขึ้นลง ก็จะไม่มีชาวบ้านเอาเรือไปจอดที่ท่าน้ำนั้นทั้งที่ใกล้กันนิดเดียวและเป็นเวลาที่พระไม่ได้มีกิจต้องใช้ท่าน้ำ คนบางกรูด ก็ รู้ธรรมเนียมมีระเบียบปฏิบัติกันเองโดยไม่ต้องมีการบอกกล่าวออกกฏห้ามใช้



วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เรือล่อง..ท่องวารี 2


วิถีชีวิต “ วันวานของบางกรูด “ ในวัยเด็กของพลอยโพยม เป็นวิถีไทย 3 รูปแบบ คือ วิถีชาวน้ำริมฝั่งบางปะกง วิถีชีวิตของชาวสวน และวิถีชีวิตของชาวนา

วิถีชีวิตที่ผูกพันที่สุดคงเป็นวิถีชาวน้ำ เพราะสัมผัสทุกเมื่อเชื่อวัน เนื่องจากมีบ้านอยู่ริมน้ำบางปะกง พอลืมตาตื่นขึ้นมาหลังจากได้เห็นหลังคามุ้งสีขาวเป็นกรอบสี่เหลี่ยมครั้นพอเยี่ยมหน้าเปิดประตูบ้านออกมาก็ต้องเห็นบางปะกง ก่อนสิ่งอื่น เรียกว่าเห็นกันตั้งแต่เช้าจนหลับไป ส่วนชีวิตชาวสวนและชาวนาหากไม่ลงจากบ้านไป ก็จะไม่ได้สัมผัส นั่นเอง

นอกจากการเห็น ท้องฟ้า ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว ทิวไม้ ซึ่งนับว่าเป็นฉากประดับของ บางปะกงแล้ว สิ่งที่ต้องเห็นทุกวันตลอดทั้งวันอีกก็คือ เรือ นั่นเอง เพราะเรือเป็นสิ่งประดิษฐ์มา คู่กับลำน้ำตั้งแต่โบราณกาลเนิ่นนานมาแล้วนับเป็นวัฒนธรรมของสายน้ำอย่างหนึ่ง
ขอแนะนำสาระบางอย่างของเรือดังนี้

การสร้างเรือมี 2 ประเภทคือ

๑.เรือขุด เป็นเรือดั้งเดิมมาแต่โบราณ และมีหลายชาติ ที่นิยมใช้ไม้ซุงมาขุดเป็นเรือ
ในไทยใช้กันแพร่หลาย ทั้งในคู คลอง แก่งต่างๆที่มีโขดหิน เรือจะครูดไปตามพื้นดิน พื้นหินไม่แตกง่าย เพราะท้องเรือหนา ง่ายกว่าการต่อเรือ เพราะไม่ต้องใช้อุปกรณ์มากนัก
ใช้ไม้ซุงทั้งต้นนำมาขุดถากทำเป็นเรือ ส่วนมากเป็นไม้ตะเคียน ไม้เต็งรัง แต่ส่วนมากจะเป็นไม้ตะเคียน เพราะลำต้นใหญ่กว่าไม้อื่น โดยลอกเปลือกเว้นหัวท้ายข้าง ละ ๒ ศอกแล้วใช้ขวานขุดแซะ
เรือขุดได้แก่
อีโปง(เรือโปง ลุ่มโป ) เรือเป็ด เรือมาด เรือยาว เรือชะล่า เรือมอ เรือโกลน เรือสำปันนี เรือม่วง เรือเพรียว เรือสามเกล้า เรือแม่ปะ หรือเรือหางแมงป่องหรือหางแมลงป่อง

๒. เรือต่อ คือการนำแผ่นกระดานมาต่อเป็นรูปเรือ มี ส่วนประกอบ ต่างๆที่นำมาประกอบเป็นตัวเรือ มีมาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกาทศรถ มีการสั่งช่างต่อเรือมาจากประเทศฮอลันดา เข้าใจว่าคงจะดำริต่อเรือกำปั่นแบบฝรั่งสำหรับใช้ในราชการ ส่วนเรือสำเภาแบบจีนคงจะต่อได้อยู่แล้ว โดยช่างต่อเรือชาวจีน เป็นหัวหน้า

เรือต่อ มีหลายขนาด และได้แบบอย่างเรือมาจากประเทศจีน โดยเฉพาะเรือขนาดเล็กที่ใช้ไปมาระหว่างเรือสำเภากับฝั่ง ที่เรียกว่า ซำปัง ทำด้วยไม้ ฉำฉา มีเข้ามาเมืองไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แต่ยังไม่ได้รับความนิยม จนมาถึงรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อคราวที่ต้องการเรือเล็กและเบาสำหรับเจ้านายและท้าวนางฝ่ายใน ใช้พายเล่นในสระในพระราชอุทยานหลวงที่เรียกว่าสวนขวา เป็นต้นมา นับแต่นั้น ความนิยมต่อเรือ และใช้เรือต่อ ก็ได้แพร่หลายออกไป

เรือต่อได้แก่
เรือพ่วง เรือกระแซง เรือเอี้ยมจุ้น เรือบด เรือสำปั้น เรือฉลอม เรือฉลอมท้ายญวน เรือหางยาว เรืออีแปะ เรือป๊าบหรือเรือแตะ เรือผีหลอก เรือจู๊ด เรือโอ่ เรือข้างกระดาน เรือตังเก เรือเท้ง เรือกำปั่น

เรือแต่ละประเภท ก็มีรายละเอียดน่าสนใจมากมาย แต่พลอยโพยมขอหยิบยกมาเพียงบางลำ เล่าสู่กันเท่านั้น โดยขอเลือกเอาเรือที่ประทับใจในความรู้สึกของผู้เล่าก็แล้วกันนะคะ เคยกล่าวถึงเรืออีโปงในคราวที่เล่าเรื่องดอกโสน และ เรือล่อง..ท่องวารี วิถีแห่งลำน้ำ เขียนถึงเรือหลายลำ คราวนี้ขอเล่าถึงเรือพระบิณฑบาต ซึ่งที่มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ฉะเชิงเทรา ใช้เรียก ซากเรือ ที่มีรูปทรงนี้ว่า เรือเพรียว (เรือเพรียวเป็นเรือขุด) แต่พลอยโพยม ขอเรียกตามการใช้งานว่า เรือพระบิณฑบาต และเรือนี้ก็เป็นเรือต่อไม่ใช่เรือขุด



พลอยโพยมไปตระเวนหาเรือบิณฑบาตที่วัดอื่นๆหลายวัดที่ตั้งอยู่ริมน้ำเสียเกือบเดือน ทั้งที่ในอำเภอเมือง อำเภอบางคล้า อำเภอบ้านโพธิ์ คิดว่าคงพอมีเหลือบ้างเพราะน่าจะเป็นเรือที่สมัยก่อคงจะมีใช้กันที่แพร่หลายตามวัดวาอารามริมน้ำ แต่ไม่พบ ซี่งบางวัดไม่เคยใช้เลย บางวัดเคยมีบ้างและเลิกใช้ พากันผุพังไปกันหมดแล้ว ต่อมา ถึงทราบว่า ที่วัดบ้านเกิด ยังมีเรือลำนี้เหลืออยู่โดยไม่มีใครใส่ใจ ก็เลยไปติดตามดูและจ้างคนมาซ่อมแซมที่วัด ทำให้คนรุ่นหลังของวัดตื่นเต้นกันเพราะไม่เคยเห็นมาก่อน และรุ่นผุ้ใหญ่เอง ก็ไม่ได้สนใจ กับเรือ เก่าๆ ผุๆ ด้วยลำนี้เลย ที่เด็กรุ่นหลังของวัดไม่เคยเห็นเรือลำนี้ เพราะหลังจากที่พระภิกษุองค์ที่ใช้เรือลำนี้ สึก แล้ว ไม่มีใครใช้เรือนี้ต่อได้เพราะพายยากมาก

เรือพระลำนี้ ยกขึ้นบกทิ้งไว้ เกือบสี่สิบปี โชคดี ที่ยังไม่ผุชำรุดมากนัก เพราะตัวลำเรือเป็นไม้ตะเคียน

ขนาดคุณน้าของพลอยโพยม บวช 1 พรรษา ในสมัยนั้น หัดพายเรือลำนี้ ทุกวัน ก็พายไม่ได้ ลูกศิษย์วัดต้องคอยช่วยเวลาเรือล่มบ่อยๆ ในชีวิตวัยเด็ก เห็นพระชื่อพระอุ้น พายอยู่องค์เดียว แต่พี่ๆรุ่นใหญ่ ของบ้านจะเห็นหลายองค์ ที่พายได้และยังมีลำที่เล็กและเพรียวกว่านี้ อีกด้วย เป็นของอดีตเจ้าอาวาสที่ต่อจากหลวงตาเหลี่ยม ชื่อพระประสาทสรคุณ แต่ผุพังไปเสียแล้ว น่าเสียดายจริงๆ
ขนาดพระอุ้นเอง ยังพายล่มบ่อยๆ พวกพี่ผู้ชายต้องออกไปช่วยหลายครั้ง ท่านพายข้ามฝั่งของแม่น้ำมารับบิณฑบาต บ้านฝั่งตรงข้ามวัด ดังนั้นใต้ผืนน้ำบางปะกงที่บางกรูด คงจะมีถ้วยชามโบราณสวยงามกระจัดกระจายกันค่อนข้างมากทีเดียว

ในสมัยเด็ก ทุกบ้านจะมีเรือใช้งานต่างๆ บ้านละหลายลำ และทุกบ้านต้องซ่อมแซมเรือกันเอง ปัจจุบันนี้แทบไม่เหลือผู้คนที่จะซ่อมแซม ยาชันเรือกันแล้ว พอคิดจะซ่อมเรือพระลำนี้ ก็เหนื่อยยากกับการหาผู้มาซ่อมแซม ในที่สุดคุณลุงหอม อายุ 80 กว่า ช่วยมาซ่อมแซมให้เพราะสนับสนุนที่พลอยโพยมตั้งใจซ่อมแซมเรือลำนี้ให้วัดเก็บไว้ให้ลูกหลานรุ่นหลังได้รู้จักเรือที่ สุดแสน Classic ลำนี้

เรือพระบิณฑบาต
เรือลำนี้ classic มากจริงๆ สำหรับลุ่มน้ำบางปะกงตรงวัดบางกรูด
เป็นเรือที่ ลอยน้ำไว้เฉยๆไม่ได้ จะล่มทันที ต้องมีคนนั่งให้น้ำหนักเรือ เวลาพายเรือ ห้ามยกพายขึ้นจากน้ำ พายต้องแตะน้ำในลักษณะ เรี่ยน้ำตลอดเวลา เป็นท่าพายที่สวยงาม เพราะพายฉวัดเฉวียนไปมาในน้ำ ต้องให้น้ำหนักและจังหวะ กับใบพาย ไม้พายที่เหมาะกับเรือชนิดนี้ คือไม้พายที่ทำมาจากไม้แดง ไม้พายจึงจะกินน้ำได้ดี เมื่อพระจอดรับบิณฑบาตจะต้องเกาะบันไดท่าน้ำไว้มือหนึ่ง เพราะหยุดพาย เรือจะทรงตัวไม่ได้ พระที่รับบิณฑบาตต้องใช้มือเดียวในการถ่ายของที่ชาวบ้านถวายลงสำรับในเรือ เรือพายได้เร็วมาก เพราะเล็กเพรียว เมื่อกลับถึงวัดต้องยกเรือขึ้นบกทุกครั้ง พอจะใช้งานก็ยกลงมาใหม่ ท่วงท่าพายเรือสง่างามเพราะผู้พายต้องนั่งตัวตรงตั้งฉาก 90 องศา โดยนั่งเข่าชิด ฝ่าเท้าต่อส้นเท้าเพราะเรือแคบมาก พระบางองค์ที่รูปร่างใหญ่มากก็จะนั่งไม่ได้

เรือบ้าน
เป็นศัพท์ที่เด็กๆที่บางกรูดใช้เรียกขบวนแพ ที่โยงตามหลังเรือขุดของกรมชลประทาน ซึ่งต้องออกปฏิบัติภาระกิจ ขุดคลองลอกเลนที่ตื้นเขิน อยู่เนืองๆ ขบวนแพเป็นแพเหล็ก ไม่ใช่แพไม้ไผ่และมีบ้านพักเจ้าหน้าที่ของกรมชลประทาน แพละหลัง ขบวนละหลายๆแพ
บ้านไม้บนแพเหล็กลำต้นๆ จะเป็นบ้านของระดับหัวหน้างาน จะทาสีสวยงาม เช่นบางขบวนเป็นสีฟ้าอ่อน สีเขียวอ่อน บ้านเจ้าหน้าที่แพหลังๆ ไม่ทาสี รอบบ้านมีการล้อมลูกกรง กันเด็กตกน้ำ ปลูกต้นไม้ในกระถาง ตั้งพื้นบ้าง แขวนบ้าง พวกเราจะเห็นความเป็นอยู่ของคนบนบ้าน เช่น หุงข้าว ทำกับข้าว บางแพก็ควันโขมง บางแพก็กวาดบ้าน อาบน้ำให้เด็ก หรือเดินไปมาเป็นต้น กิจกรรมของบ้านแต่ละหลังในขบวนเดียวกัน จะแตกต่างกัน เป็นวิถีชีวิตที่ลอยมาให้เห็นแล้วก็ลอยเลยลับไปกับลำน้ำ เด็กๆจะตื่นเต้น เวลาเรือบ้านนี้มา ตะโกนบอกต่อๆกันว่า เรือบ้านมาแล้ว

เรือสำเป๊ะ เรือเช้าเป๊ะ เรือผีหลอก
รูปร่างเพรียวกว้างประมาณ ๕๐-๖๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๔ วา ๒ ศอก(ประมาณ ๙ เมตร ) หัวเรือเรียวเล็ก ท้องเรือแบนราบจึงแล่นในน้ำตื้นได้สะดวก คล่องตัวในการแจวหรือพายทวนน้ำ พื้นตอนท้ายเรือใช้ไม้กรุปิดและเปิดได้ยาว ๑ เมตร สำหรับให้คนยืนแจวเรือ พายเรือ ภายในมีที่ว่างสำหรับขังปลาขนาดใหญ่ที่จับได้ ตลอดลำเรือมีกงขึ้นห่างเป็นช่วง ๆ ท้องเรือปล่อยโล่งไม่มีไม้ปิดแต่ใช้ทางมะพร้าวตัดปลายใบเล็กน้อยป้องกันมิให้ปลาที่กระโดดเข้ามาหนีออกไปได้
สาเหตุที่เรียกชื่อว่า “ เรือผีหลอก “ ก็เพราะด้านข้างลำเรือมีไม้กระดานสีขาวหรือสังกะสีแผ่นสี่เหลี่ยม ผูกติดไว้กับแคมเรือมีความสูงเรี่ย ๆ น้ำ เมื่อแล่นผ่านสายน้ำก็จะสะท้อนเป็นเงาวาววับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลางคืน ทำให้ปลาที่อยู่บนผิวน้ำตกใจกระโดดลอยสูงและตกลงมาบนแผงได้ เลยเข้าสู่ท้องเรือ
การหาปลาจะหาในช่วงเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ เพราะเป็นฤดูที่มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ปลาก็ชุกชุมและมีขนาดใหญ่ ปลาที่เข้าเรือผีหลอกนี้ส่วนใหญ่เป็นปลาที่หากินน้ำตื้นเช่น ปลาตะเพียนขาว ปลาตะเพียนทอง ปลาซิว ปลาฉลาด ปลาเนื้ออ่อน ปลากระทุงเหว ปลาเสือ ปลากระดี่ ปลากระบอก ปลากะพง (กะพงขาว และกะพงข้างลาย ) เป็นต้น เวลาที่เหมาะสมในการใช้เรือผีหลอกออกจับปลา คือ เวลากลางคืนตั้งแต่ ๓ ทุ่ม ไปจนรุ่งสาง เมื่อฟ้าสว่างในตอนเช้า ผู้ที่มีบ้านอยู่ริมแม่น้ำ จะได้เห็นเรือผีหลอกพายกลับมาพร้อม ๆ กันหลายลำ (ฐิระวัตร,๒๕๓๙ )

การพายเรือและแจวเรือมี ๒ลักษณะ
๑.การวาด การกวาดพายเป็นแนวโค้งเข้าหาตัว
๒.การคัด ใช้พายวัดน้ำออกจากตัว (กดด้ามพายลงงัดกับข้าง-เรือ)
การคัดด้วยแจวไม่เหมือนการคัดด้วยพาย
การพายเรือนอกจากช่วยพุ้ยน้ำให้เรือแล่นไปได้ ยังช่วยพยุงเรือไม่ให้ล่มอีกด้วย