วันอังคารที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เรือล่อง......ท่องวารี 3


ขอเล่าเรื่องเรือที่มีล่องไปล่องมาในลำน้ำบางปะกงที่บางกรูดต่อ โดยจะกล่าวถึงรายละเอียดของเรือตามประเภทของเรือ ทั้งนี้มีกล่าวซ้ำกับเรือที่เคยเล่าแล้วหลายลำเพราะไม่ได้เขียนในรายละเอียดของเรือไว้

ประเภทเรือขุด :
เรือชะล่า นับว่าเป็นต้นแบบของเรือขุดทั้งหลายที่ขุดจากไม้ซุงทั้งต้น ทำให้เป็นรูปเรือ โดยไม่ต้องเปิดปากเรือให้กว้าง ท้องเรือแบน ความกว้างของลำเรือเท่ากันเกือบตลอดลำ ไม่มีการตกแต่งมากเพียงแต่ปาดหัวปาดท้ายเรือไม่ให้ต้านน้ำมากเท่านั้น ส่วนบนของหัวท้ายเรือจะแบนเชิดขึ้นเล็กน้อยพอสวยงาม หากมีขนาดใหญ่มากจะใส่กงเรือ บางลำใช้แจวท้ายเรือ บางลำใช้ถ่อ แต่ยืนถ่อได้เฉพาะตอนหัวและท้ายเรือเท่านั้น เพราะในตัวลำเรือไม่มีที่เดิน เป็นเรือที่ใช้บรรทุกข้าวเปลือกตามคลองตื้นๆ แคบๆ ลำเลียงเข้าบ้านหรือไปโรงสี เพราะท้องเรือแห้งสนิท ข้าวเปลือกไม่เปียกน้ำ และสามารถบรรทุกได้มาก

เรือชะล่า ที่ได้เห็นในลำน้ำเป็นเรือหางยาวต่อรูปทรงเป็นเรือชะล่า การหาถ่ายภาพเรือขุดชะล่า ไปพบที่วัดบางแตนอำเภอบ้านสร้าง ปราจีนบุรี มีอยู่ 2 ลำ เป็นเรือที่คุณประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฏร ที่รู้จักกันในนามโคว้โต้หมง ถวายให้วัดบางแตนไว้ ซึ่งทางวัดจัดเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ลำเรือค่อนข้างยาวใหญ่ เทอะทะ ในลำเรือเป็นที่แขวน ไหต่างๆเช่นไหกระเทียม เป็นต้นและยังมี อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้กับสัตว์น้ำ ตะเกียงรั้ว เรียงรายอยู่ข้างใต้หลังคาเรือ ที่ลำเรือตีพื้นกระดานจัดวางเครื่องใช้ดินเผาและอื่นๆ ผู้เขียนพยายามถ่ายภาพมาภาพที่ได้ไม่สมบูรณ์ไม่สวยงาม เนื่องเป็นการเริ่มหัดถ่ายภาพวันแรกครั้งแรกในชีวิต ไม่รู้วิธีการจัดมุมภาพ และดูองค์ประกอบภาพ ภาพเลยดูรกรุงรัง ได้ภาพท้ายเรือก็ไม่เห็นหัวเรือ ผู้สนใจไปดูของจริงกันเลย มีของใช้พื้นบ้านมากมายจัดไว้สวยงามในห้องพิพิธภัณฑ์ ส่วนเรืออยู่ด้านนอก มีหลายลำหลายประเภท

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสต้นที่จังหวัด กำแพงเพชรเมื่อ พ.ศ. 2449 ในบางคราวจะเสด็จประทับในเรือชะล่าประพาสเที่ยว



เรือมาด เป็นเรือเก่าแก่ชนิดหนึ่งของไทย ขุดจากซุงไม้สัก ตะเคียน ขนาดต่างๆกันตามประเภทของเรือ เมื่อขุดภายในและโกลน( เกลาไว้,ทำเป็นรูปเลาๆ)เป็นรูปมาด (ถ้าเพียงแต่ขุดไว้ แต่ยังไม่ได้เบิก เรียกว่ามาดเรือโกลน) ใช้ไฟลนให้เนื้อไม้ร้อนแล้วหงายใช้ปากกา( เครื่องสำหรับหนีบของใช้ทำด้วยไม้หรือเหล็กก็มี) จับปากเรือผายออกให้ได้วงสวยงามเป็นเรือท้องกลม หัวท้ายรีรูปร่างคล้ายเรือพายม้า แต่หัวท้ายเรือแบนกว้างกว่า ไม่เสริมกราบแต่มีขอบทาบปากเรือภายนอก เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของปากเรือ กลางลำกว้างเสริมกง เป็นระยะ หัวท้ายเรือมีแอกสั้นๆ ไม่ยื่นมากไว้ผูกโยงเรือ และแอกเหยียบขึ้นลงเรือ มีหลายขนาด ขนาดเล็กใช้พาย ขนาดใหญ่นิยมแจวมากกว่าพาย ใช้บรรทุกของหนัก ถ้าเดินทางไกลก็มีประทุนปูพื้นกลางลำเรือ จะเรียกว่าเรือมาดประทุน หากมีเก๋งกลางลำเรือจะเรียกเรือมาดเก๋ง สามารถทำประทุนและปูพื้นใช้ อยู่อาศัยแทนบ้านเรือนได้

เรือมาดเก๋ง 4 แจวเคยใช้เป็นเรือพระที่นั่งเสด็จประพาสต้นของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 และมีเรือมาดประทุน 4 แจวเป็นเรือเครื่องครัว ในบางคราวทรงใช้เป็นเรือพระที่นั่งรอง

เรือพายม้า ขุดจากซุงไม้สักหรือไม้ตะเคียน เป็นเรือท้องกลม หัวท้ายเชิด ทางหัวจะยาวแบะต่ำกว่าด้านท้ายเล็กน้อย เรือเสริมกราบให้สูงขึ้นด้วยไม้เพียงแผ่นเดียว กว้างประมาณ 4-5 นิ้ว มีกงตั้ง มีหูกระต่าย( ชาวเรือเรียกกระทงเหิน ) เป็นไม้กงตัวสุดท้ายติดขวางอยู่ทั้งหัวและท้ายเพื่อรับกราบเรือและเพื่อเสริมกราบเรือให้สูงขึ้น ตรงกลางลำป่องออก ปูแคร่เกือบเสมอปากเรือ กลางลำใช้บรรทุกสิ่งของ เรือพายม้าขนาดใหญ่จะมีขยาบหรือประทุนอยู่ตอนท้าย สำหรับพักอาศัยและใช้แจว

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ฯ ทรงสันนิษฐานว่า คงได้แบบอย่างเรือมาจากพม่า เพราะมีรูปร่างเหมือนเรือขุดขนาดเล็กของพม่าและชื่อเรือพายม้า คงเพี้ยนมาจากชื่อเดิมคือเรือพม่า นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกต่างกันไปอีก เช่นเรือเผ่นม้า เรือแพม้าหรือพะม้า หรือเรือพลายม้าก็มี

เรือชะล่า เรือมาดและเรือพายม้า ล้วนเป็นเรือขุด จึงเป็นเรือที่มีราคาแพง ทำให้ไม่เป็นที่นิยมที่จะใช้กันทุกบ้าน อีกทั้งลำเรือค่อนข้างใหญ่ แม้แต่เรือมาดขนาดเล็กเป็นเรือมาดพายก็ตามที ด้วยรูปทรงของเรือยังนับว่า เป็นเรือที่ยาวกว่าลำเรืออีกหลายประเภท บ้านเรือนที่มีเรือมาด เรือพายม้า ก็มักจะมีเรือลำอื่นๆใช้งานประจำวันอีกด้วย เช่นมีเรือสำปั้น เรือป๊าบ เรือบด เรือเป็ด เรืออีแปะ เป็นต้น เรือมาดและเรือพายม้า มักใช้ในการขนข้าวเปลือกเวลาไปตวงค่าเช่านากันเป็นส่วนใหญ่ หรือใช้ติดเครื่องยนต์ท้ายเรือไปทำธุระไกลๆ



เรืออีโปง ในปัจจุบันหาเรือเพื่อถ่ายภาพมาไม่ได้เลย บ้านที่เคยใช้สอยปล่อยให้ผุพังไปหมดแล้ว ส่วนใหญ่ที่เคยมีอยู่จะเป็นเรือโปงไม้สัก ที่กรมประมงกระทรวงเกษตรฯ เคยจัดแสดงอุปกรณ์ประมงและเรืออีโปงขุดจากต้นตาลไว้ที่ทางเข้าด้านหนึ่งของกรม ตากแดดตากฝนอยู่นาน แต่ปัจจุบันเคลื่อนย้ายออกไปแล้ว

เรือหมู ขุดจากไม้ซุงขนาดเล็ก จากไม้ตะเคียน มะค่า ไม้สัก ลักษณะคล้ายเรือพายม้าแต่เล็กกว่า หัวและท้ายเรือถากเป็นรูปแท่งเรียวเหลาแบน ส่วนท้ายงอนเชิดกว่าส่วนหัวเล็กน้อยเสริมกราบทั้ง 2 ข้าง เพื่อให้บรรทุกของได้มากขึ้น พื้นส่วนหัวและท้ายมีแคร่ปิดเปิดได้ ส่วนกลางลำบางทีมีแคร่โปร่งลูกระนาด ใช้ได้ทั้งพายและถ่อ ใช้โดยสารระยะใกล้ หรือใช้หาปลาตามทุ่งท้องนาด้วยการลงเบ็ดลงข่าย พอพบเห็นได้บ้างในอดีตที่บางกรูด แต่จำไม่ได้ว่าเป็นเรือของผู้ใด เคยเห็นจอดผูกโซ่เรือไว้ที่ทุ่นโป๊ะท่าน้ำของวัดบางกรูด

เรือยาว นับเป็นเป็นมรดกทางวัฒนธรรมแห่งสายน้ำ ใช้ตามงานประเพณีต่างๆ เป็นเรือขุดที่มีหลักการมากกว่าเรือขุดอื่นๆ ทั้งยุ่งยากในเรื่องของพิธีกรรม ต้องใช้คนมาก การขุดเรือต้องทำตามบริเวณวัด ขุดจากไม้ต้นเดียวตลอดลำ เรียกว่าลำเรือ มีลักษณะท้องขัน (แบน)และท้องรูปกระทะ ส่วนหัวเรือเรียกโขนเรือ ท้ายเรือเรียกหางเรือ ไม้ที่นำมาขุดเรือยาว หรือเรือแข่งได้แก่ ไม้ตะเคียน ไม้สำโรง ไม้มะหาด เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่นิยมเรือขุดจากไม้ตะเคียน ได้แก่ ตะเคียนทอง ตะเคียนหิน ตะเคียนหนู ตะเคียนหยวก ตะเคียนดง ตะเคียนไพร เพราะเป็นไม้เนื้อแข็ง ลอยน้ำได้ดี พุ่งน้ำด้วยดี แช่น้ำได้นาน เมื่อขุดเป็นเรือ ถ้ารักษาดีดี ทนทานนับร้อยปี

การขุดเรือยาวสำหรับใช้ในการแข่งขันทำให้ได้ใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านรวมกับความเชื่อด้านไสยาศาสตร์ควบคู่กัน เริ่มตั้งแต่ความเชื่อของต้นไม้ที่จะนำมาขุดเป็นเรือ คือต้นตะเคียนที่เชื่อกันมาตั้งแต่โบราณว่ามีนางไม้หรือนางตะเคียนสิงอยู่ เมื่อนำมาขุดเป็นเรือยาวก็จะเชิญนางไม้มาเป็นแม่ย่านางเรือ เชื่อกันว่าจะนำชัยชนะและความสำเร็จมาให้ อีกทั้งต้นตะเคียนทองจะมีนางไม้ที่มีวิญญาณที่แกร่งกล้า มีความเฮี้ยนกว่านางไม้ตะเคียนอื่น ๆ นอกเหนือไปจากคุณสมบัติของเนื้อไม้ที่ออกสีเหลือง เมื่อขุดเป็นเรือเสร็จตัวเรือจะมีสีผิวไม้สวยงาม จึงนิยมใช้ตะเคียนทองมากกว่าตะเคียนอื่นๆ



การเลือกต้นตะเคียนที่จะโค่นมาขุดเรือต้องเลือกให้ได้ลักษณะงามตามตำราขุดเรือ มีขนาดกว้างและความยาวเหมาะสม ต้องคำนึงถึงการโค่นต้นไม้ลงมาด้วยว่าจะสามารถนำมาขุดเรือตามวัตถุประสงค์ได้หรือไม่ ทิศทางในการล้มของต้นไม้ต้องไม่ล้มฟาดสิ่งอื่นในป่าทำให้ไม้ตะเคียนอาจหักหรือไส้ไม้ช้ำน่วมเสียหายได้ จึงต้องมีการคำนวณความสูงยาวของต้นไม้โดย อาศัยหลักคำนวณตรีโกณ คณิตศาสตร์ ด้วยการยืนหันหลังให้ต้นตะเคียน แล้วก้มลงมองลอดหว่างขาตัวเอง ศีรษะก้มอยู่ในระดับเข่า ถ้ามองเห็นยอดตะเคียนพอดี ก็วัดระยะทางจากจุดยืนถึงโคนต้นก็จะได้ความสูงของต้นตะเคียนพอดี บางครั้งใช้การปีนขึ้นต้นไม้แล้วใช้เชือกวัด หรือใช้เชือกผูกติดหน้าไม้ยิงไปที่ส่วนปลายของยอดไม้แล้วจึงวัดคำนวณความยาว หรือใช้วิธีปล่อยลูกโป่งอัดลมลายถึงกิ่งยอดตะเคียนแล้วจึงดึงลงมาหาความยาวของต้นไม้ นี่นับว่าเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่น่าทึ่งมาก

การโค่นต้นตะเคียนจากความเชื่อว่ามีนางไม้หรือนางตะเคียนสิงอยู่ ทำให้ก่อนโค่นต้องตั้งศาลเพียงตา 2 ศาล พร้อมเครื่องสังเวย อาทิ หัวหมู ไก่ ไข่ต้ม ขนมต้มแดง ต้มขาว เหล้าขาว หมากพลู บุหรี่ บายศรี 2 ที่ เพื่อขอขมาบอกกล่าวเจ้าป่าเจ้าเขา ขออนุญาตทำการโค่นต้นไม้ในป่า ซึ่งนิยมเซ่นไหว้ได้แต่เช้าจรดเย็นยกเว้นวันพระ ศาลที่ 2 เป็นการบอกกล่าวนางตะเคียนโดยงดเหล้า บุหรี่ ควรเพิ่มเครื่องตกแต่งผู้หญิง เช่น หวี แป้ง ผ้าแพร น้ำอบ น้ำหอม เป็นต้น ไม่ควรเซ่นไหว้เกินเที่ยงวัน เมื่อพลีกรรมแล้วจึงทำการตัดโค่น

ต้นตะเคียนที่นำมาขุดเรือ ต้องเป็นไม้ที่ไม่ได้ตีตราไม้ตามระเบียบราชการ เชื่อกันว่าไม้ต้นใดตีตราแล้วแม่ย่านางจะไม่มาอยู่ ช่างขุดเรือต้องพิจารณาว่าจะเอาส่วนไหนทำท้องเรือ หัวเรือ หางเรือ นิยมใช้โคนของต้นไม้เป็นหัวเรือ ปลายไม้เป็นส่วนท้ายเรือ จะได้เรือรูปทรงกว้าง ท้ายเรียวรูปร่างคล้ายปลาช่อน เพราะเชื่อว่าหัวเรือกว้างจะเบิกน้ำได้ดีทำให้เรือวิ่งได้เร็ว ถ้าใช้ปลายไม้เป็นหัวเรือเรือจะมีลักษณะหัวเรียวท้ายใหญ่

ก่อนขุดลำเรือจะตั้งศาลเพียงตาอัญเชิญนางไม้ขึ้นศาลฯ เมื่อขุดเรียบร้อยแล้วจะเชิญขึ้นเป็นแม่ย่านางประจำเรือ แล้วจึงเข้าสู่ขั้นตอนการขุดเรือ เมื่อสำเร็จเป็นลำเรือแล้วจะมีการตั้งชื่อเรือตามความนิยมหรือความเชื่อของเจ้าของเรือ ครั้งโบราณนิยมเชิญแม่ย่านางประทับทรงเพื่อขอให้ตั้งชื่อให้รวมทั้งถามถึงอาหาร เครื่องแต่งกายและสีเสื้อ ผ้าแพรประดับโขนเรือให้ถูกโฉลกกับแม่ย่านางเรือ เพื่อเป็นมงคลแก่ทีมเรือให้ประสบชัยชนะในการแข่งขัน เมื่อจะนำเรือลงน้ำ

พิธีนำเรือลงน้ำ โดยการตั้งศาลเพียงตาบวงสรวงเชิญแม่ย่านางเรือ โขนเรือจะตกแต่งด้วยผ้าแพรสีสันสวยงามตามที่ถามไว้ พิธีเบิกเนตร (ตาเรือ) บางครั้งอาจมีพิธีสงฆ์ทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลและรำถวายรับขวัญแม่ย่านางเรือ ครั้นได้ฤกษ์ฝีพายก็ช่วยกันโห่สามครั้งยกเรือลงน้ำทันที ฝีพายก็จะนั่งประจำเรือและทดสอบพายเรือ (ข้อมูลจาก ประวัติกีฬาเรือยาวประเพณี ของสมาคมเรือพายแห่งประเทศไทย)

จากหนังสือเรือของณัฐวุฒิ กล่าวว่า การนับถือแม่ย่านางเรือเป็นความเชื่อที่มีมาแต่โบราณไม่มีใครทราบสาเหตุว่าเหตุใดจึงเรียกแม่ย่านาง เท่าที่ค้นมามีบางท่านกล่าวว่าแม่ย่านางมาจากภาษาจีนว่า เหย่เหนียง

ประวัติอำเภอเสาไห้ได้ชื่อมาเพราะมีเสาร้องไห้มาจมอยู่ที่นั่น ส่วนอำเภอคูไม้ร้องเป็นที่เก็บเรือพระที่นั่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีเรื่องเล่าว่าเคยมีเสียงร้องออกมาจากเรือเหล่านั้น จึงได้เรียกคูที่เก็บเรือนั้นว่าคูไม้ร้อง

ส่วนความนิยมแกะตาไว้ที่หัวเรือ ทำกันที่เมืองจีนก่อน มีที่อียิปต์ด้วย เหตุที่ต้องแกะตา เพราะต้องการให้แล่นเรือไปข้างหน้าให้ตรงทาง การติดตาที่เรือ เคยมีกล่าวในพงศาวดารในสมัยพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา ว่านายมั่นมหาดเล็กเป็นคนบ้านนอกติดตาเรือข้างซ้ายขวาสลับที่กัน หางตาเรือเลยกลับที่กันด้วย เป็นต้น

(เรื่องการคำนวณความสูงของต้นไม้ ผู้เขียนพยายามใช้วิธีก้มมองลอดหว่างขาระดับเข่าตัวเองไปที่ยอดไม้ พบว่าการยืนต้องยืนย่อขาลงถ้ายืนตรงเก้าสิบองศาไม่สามารถก้มหน้าลงระดับเข่าได้ (หรือคนที่ฝึกแอโรบิค โยคะ หรือนักเต้นบัลเลต์ อาจทำได้ เป็นคนละประเด็นกัน) คิดว่าการย่อขาลงเป็นการจัดมุมองศาใหม่เพื่อให้สายตาที่ลอดออกจากหว่างขาไปที่ยอดไม้ เพื่อให้ได้มุม สี่สิบห้าองศา เมื่อมองเห็นยอดไม้จะทำให้เกิดสามเหลี่ยมด้านเท่าระหว่างจุดยืนกับยอดไม้ จุดยืนกับโคนไม้ และโคนไม้กับยอดไม้ ผู้อ่านไปลองทดสอบสนุกๆกันดู แต่ถ้าท่านสูงวัยแล้วทดลองเกิดอาการปวดหลังตามมาก็อย่าโทษผู้เขียนก็แล้วกัน คนธรรมดาจะจัดท่าอย่างไรก็แล้วแต่ ทำมุมต้องได้ สี่สิบห้าองศา จึงน่าที่จะใช้ภูมิปัญญานี้ได้ผล)

ที่บางกรูดในสมัยก่อนจะเห็นเรือยาวที่มีคณะฝีพายพายเรือผ่านล่องขึ้นไปเตรียมเข้าสู่การแข่งขัน ฝีพายจะถือโอกาสซักซ้อมการพายเรือไปด้วยจึงมีเสียงคึกคักของการให้จังหวะการพาย (จ้ำบึ๊ด .. จำบึ๊ด) และเสียงจ้วงน้ำ เมื่อเสร็จการแข่งขันก็จะพายล่องกลับลงมา ในราวช่วงเดือนสิบเอ็ด เดือนสิบสอง(คือฤดูกาลกฐิน และงานแห่หลวงพ่อโสธร)

แต่ในปัจจุบันการนำเรือไปสถานที่แข่งขันทั้งเรือยาวและเรือมาดพาย เปลี่ยนเป็นเคลื่อนที่ทางถนนหลวง โดยวางเรือยาวไว้บนรถบรรทุก ถ้าลำยาวมากก็เป็นรถพ่วงสิบแปดล้อแทน ส่วนเรือมาดพายก็เป็นการบรรทุกด้วยรถกระบะ ทั้งเรือยาวและเรือมาดพาย สำหรับการแข่งขัน จึงเปลี่ยนสภาพจากเรือล่องในลำน้ำขึ้นมาเคลื่อนไหวเพิ่มสีสันความคึกคักแปลกตาให้ท้องถนนแทนในระหว่างการเคลื่อนย้ายเรือ จากการที่จะได้เคยเห็นเรือลอยลำอยู่ตามท้องถนนเพราะภาวะน้ำท่วม ก็เลยทำให้ได้เห็นเรือบนท้องถนนในเวลาปกติด้วย แต่ภาพเหล่านี้ขาดสีสันความมีชีวิตชีวาของเรือ เพราะเป็นเรือเปล่าไม่มีฝีพายและเสียงประสานจังหวะของฝีพาย เสียงพายที่จ้วงแรงๆในน้ำนั่นเอง



ประเภทเรือต่อ :
เรือป๊าบหรือเรือแตะ เรือมีลักษณะหัวท้ายเรียวมนลำกว้างท้องแบน พัฒนามาจากเรือแตะของภาคกลาง ช่างต่อมักใช้ไม้สักต่อจากภาคเหนือ อาจส่งไม้มาต่อแถวย่านรังสิต โดยใช้กงเรือ มีพื้นส่วนหัวและส่วนท้ายเรือ กลางลำลดพื้นลงต่ำ ใช้เป็นเรือบรรทุกของเล็กๆน้อยๆ โดยสารได้ไม่เกิน 3-4 คน ความยาวเรือประมาณ 2 วา ใช้สอยทั่วไปตามริมหนอง คลองบึง มักจะเป็นเรือต่อสำเร็จรูปจากจังหวัดที่มีไม้สักมากและลำเลียงลงมาขายในภาคกลาง

เรือบด เรือต่อแบบฝรั่งทำด้วยไม้สักต่อกระดาน ๔ แผ่น มีรูปร่างหัวเรียว ท้ายเรียว เพรียวบาง ชาวเรือมีไว้ใช้พายออกจากเรือใหญ่ เรือของชาวบ้านใหญ่กว่า และมีไว้ติดบ้าน เข้าใจว่าเรียกเพี้ยนมาจากคำว่า โบต กล่าวกันว่าเข้ามาในเมืองไทยในสมัยรัชกาลที่ ๔
เรือบดนี้หลายๆวัดนิยมใช้เป็นเรือพระพายบิณฑบาต แต่การต่อลำเรือท้องเรือจะแบนมากขึ้น เพื่อให้ลำเรือ กว้าง นั่งพายสะดวก วางของได้มาก ตกแต่งหัวเรือท้ายเรือเล็กน้อยให้มองดูสวยงาม
เวลาที่เด็กๆจะพายเรือแข่งกันสนุกๆ ทุกคนจะอยากได้เรือบดมาก เรือสำปั้นนั้นจะเป็นเรือที่หัวป้านต้านน้ำ ลำเรือกว้างอ้วนกว่า ทำให้เรือเคลื่อนที่ช้า เรือที่ถูกใจเด็กรองลงมาจากเรือบด น่าจะเป็นเรือป๊าบ เพราะลำเล็กมีส่วนดีที่หัวเรือโค้งมน ดีกว่าเรือเป็ดด้วย ส่วนเรือหมูไม่ค่อยมีเห็นบ่อยนัก

เรือสำปั้น ใช้กระดาน ๓ แผ่น มาต่อประกบกันเข้าเป็นเรือ แผ่นหนึ่งเป็นท้องเรือ แล้วเสริมต่อข้างละแผ่น ภาษาแต้จิ๋วเรียกซำปั้ง แปลว่า กระดานสามแผ่น ชาวมลายูเรียกเรือสามป้าน เรือสามป้านมีออกชื่อในสมัยกรุงธนบุรี ในหมายรับสั่ง เมื่อคราวรับพระแก้วมรกตว่า “ พวกละคร โขน งิ้ว ลงเรือแสดงในเรือสามป้าน”
เรือสำปั้นในสมัยกรุงธนบุรี จะมีขนาดใหญ่ จึงสามารถบรรทุก โขน ละคร งิ้ว ลงไปแสดงได้ ต่อมาช่างไทย เห็นว่าเรือ สำปั้นจีนไม้ฉำฉาไม่งดงามไม่น่าดู จึงดัดแปลงแก้ไข ให้มีรูปร่าง เพรียวกะทัดรัดขึ้น โดยผู้เชี่ยวชาญในการต่อเรือ คือสมเด็จพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุญนาค) ครั้งยังเป็น พระยาสุริยวงศ์มนตรี จางวางมหาดเล็ก โดยขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้น และมีรูปร่างคล้ายเรือมาดมีขนาดยาวประมาณ ๗-๘ ศอก เรือชนิดนี้เดิม มีไว้ใช้ในราชการและเรียกชื่อว่า เรือสำปั้นตลอดมา

เรือสำปั้นมีหลายขนาด ขนาดเล็กมีหัวท้ายยาวเพรียวนั่งได้เพียงคนเดียว เรียกว่าสำปั้นเพรียว เป็นเรือพระใช้สำหรับบิณฑบาต ถ้าเป็นขนาดใหญ่กว่าเรือพระ แต่ยังมีขนาดเล็ก คือเรือขายก๋วยเตี๋ยว ขายกาแฟ ถ้าโตขึ้นอีกเท่าหนึ่ง ก็เรียกว่า สำปั้นคอน ใช้เป็นเรือบรรทุก ผักหญ้า ผลไม้ แต่ยังคงใช้พาย ถ้าเป็นเรือที่โตกว่าสำปั้นคอน ก็เป็นเรือขนาดเรือจ้าง ที่ต้องใช้แจวและบางทีก็ติดหางเสือ เพื่อช่วยให้ไม่ต้องวาดแรงนัก ถ้าโตกว่าเรือจ้าง เรียกว่าสำปั้นสวน เพราะชาวสวนนิยมใช้บรรทุก พืชผัก ผลไม้ของสวนออกมาขาย
เรือสำปั้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ก็คือเรือบรรทุกสินค้า ซึ่งใช้เป็นที่อยู่ด้วย เป็นเรือที่ อาศัยได้ มีขนาดกว้างราว ๒ วา เป็นเรือที่มีประทุน มีขยาบหัวขยาบท้าย ต้องใช้แจว ทั้ง หัวเรือ ท้ายเรือ ปูกระดานเต็มลำ ประทุนเรือสำปั้นขนาดใหญ่มุงด้วยจากและไม้ไผ่สานเป็นแผ่นปิดทับทาด้วยชันเหลวอีกชั้นหนึ่ง บนหลังคาประทุนมีรางไม้ยาวตลอด เมื่อต้องการเก็บขยาบหัวและท้าย ก็เลื่อนไปบนรางไม้นี้ได้สะดวก

เรือสำปั้นนี้ มักจะเป็นเรือพระราชทานที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้วัดต่างๆริมน้ำ ที่พระองค์เสด็จแวะเยือนในคราวเสด็จประพาสต้น เป็นไม้สักทองสวยงาม เป็นสำปั้นเพรียวเพื่อให้พระที่วัดนั้นๆ ใช้ออกบิณฑบาต จะพระราชทาน พร้อมบาตร และปิ่นโต เท่าที่ทราบที่ฉะเชิงเทรา มีวัดเทพราช อำเภอบ้านโพธิ์ ที่ปราจีนบุรี มีวัดบางแตนอำเภอบ้านสร้าง ได้รับพระราชทานมา

เรืออีแปะ เป็นเรือต่อคล้ายเรือสำปั้น แต่หัวท้ายเรือสั้นกว่า และถากตรงเสริมกราบรอบตลอดลำเรือ ท้องแบน มีตำนานเล่าว่า เดิมเป็นเรือสำปั้นหลุดลอยตามลมพายุฝนมา มีผู้เก็บเรือได้ และไม่รู้ว่าเรือลำนี้เป็นของใคร มีการสอบถามหาเจ้าของเรือ มีผู้อ้างเป็นเจ้าของหลายคน และตกลงไม่ได้ว่าใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง ผู้เก็บเรือได้ จึงทำการดัดแปลงเรือเสียใหม่ ให้แตกต่างจนจำไม่ได้ว่าเคยเป็นเรือสำปั้นมาก่อน ต่อมาเรืออีแปะเป็นที่นิยมของพ่อค้าชาวจีนนำไปใช้เป็นเรือขายโอเลี้ยง กาแฟ

ที่บางกรูดจะมีเรือขายก๋วยเตี๋ยวพายมาจากคลองท่าถั่วล่องขึ้นมาที่วัดบางกรูดเจ้าของเรือชื่อนายเฮือก โดยใช้เรืออีแปะนี้เอง กลิ่นหอมของน้ำในหม้อก๋วยเตี๋ยว ฟุ้งมาแต่ไกลในเวลาใกล้ๆเพล คือ 11 นาฬิกา เมื่อห้าสิบกว่าปีที่แล้วชามละ 1 บาท นายเฮือก จะมีแตรบีบเสียงดัง ปู้นๆ เป็นสัญญาณว่า ก๋วยเตี๋ยวมาแล้วจ้า.... บ้านไหนสนใจก็ร้องเรียกส่งเสียง วู้.วู้ นายเฮือกจะต้องเหนื่อยกับการพายเรือข้ามไปฟากแม่น้ำฟากโน้นกลับมาฟากนี้ ตามคำเรียกร้อง วู้ วู้...ชามก๋วยเตี๋ยวเมื่อกินเสร็จที่หัวสะพานบ้านไหน นายเฮือกก็เอาลงล้างในแม่น้ำตรงนั้นเอง สลัดน้ำ 2-3 ที ก่อนวางซ้อนลงไปในแถวชามที่วางไว้ในเรือ พอมาถึงวันนี้ก็เกิดความกังขาในใจว่าเวลาน้ำในหม้อก๋วยเตี๋ยวแห้งงวดลง นายเฮือกทำอย่างไร แต่อย่างน้อย ระยะทางบ้านนายเฮือกมาถึงบางกรูด ก็คงจะเป็นน้ำหม้อก๋วยเตี๋ยว หม้อแรก ( เขียนแซวนายเฮือก..เท่านั้นเอง เพราะน้ำในแม่น้ำสมัยก่อนสะอาด ที่บ้านก็ล้างหม้อชามรามไห ในแม่น้ำนี่แหละเพียงแต่ต้องเอามาล้างน้ำฝนเป็นน้ำสุดท้ายบนบ้านอีกครั้ง ส่วนนายเฮือกเอง ก็เอาน้ำเดือดในหม้อก๋วยเตี๋ยวลวกชามให้ก่อนอยู่แล้ว เอ..หรือว่า...ที่ก๋วยเตี๋ยวอร่อย เพราะได้น้ำธรรมชาติจากบางปะกงนี่เองกลิ่นถึงหอมยั่วยวนน้ำลายคนริมน้ำ)

ที่บ้านผู้เขียนเวลามีญาติๆครอบครัวใหญ่มาเยี่ยมคุณยายและพักค้างคืน ก็จะนัดหมายเหมาก๋วยเตี๋ยวทั้งลำมาเป็นมื้อกลางวัน พวกเราเด็กๆจะแข่งกันกินก๋วยเตี๋ยวว่าใครกินได้มาก มากที่สุดกี่ชาม เด็กๆจะไม่กินข้าวเช้าเพื่อเตรียมท้องรอก๋วยเตี๋ยวนายเฮือก พวกพี่ๆผู้ชายย่อมกินได้เยอะกว่าเด็กผู้หญิงที่อย่างเก่งแค่ 2 ชาม ก็จอดแล้ว พี่ผู้ชายบางคนกินได้ถึงสิบชาม วันนั้นทั้งวันกินอย่างอื่นไม่ได้อีกแล้ว

มีเรือพายขายขนมจีนลอดช่อง 2 ลำ เจ้าเด็ดเด่นดัง ก็ของป้าบุญช่วย งามวงษ์น้อย เจ้าตำรับขนมจีนเส้นเหนียวหนับลือชื่อ รวมทั้งลอดช่องใบเตยแท้ ตัวลอดช่องหอมกรุ่นเหนียวหนับไม่แพ้เส้นขนมจีน น้ำกะทิใหม่สด ทำเสร็จก็พายเรือออกขายเลย ป้าบุญช่วยจะถูกเชิญ เป็นแม่งานแทบทุกครั้งที่มีการโรยเส้นขนมจีนในงานต่างๆ เรือของป้าบุญช่วยถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นเรือมาด ส่วนอีกเจ้า เป็นเรือสำปั้นลำไม่ใหญ่นัก

เมื่อถึงเทศกาลวันพระผู้คนริมฝั่งน้ำต่างก็พายเรือของตนเองไปจอดที่ท่าน้ำวัด ใครมาก่อนก็ผูกโซ่เรือติดกับทุ่นโป๊ะ จนเต็ม คนมาทีหลังก็ใช้วิธีผูกโซ่เรือตัวเองกับเรือลำที่มาก่อน ในวันพระใหญ่ ก็จะผูกทอดต่อกัน สามทอดเลยทีเดียวสารพัดเรือที่แต่ละบ้านมีมารวมชุมนุมที่ท่าน้ำของวัด เมื่อเสร็จพิธีทำบุญก็จะโกลาหลเล็กน้อย เพราะผู้คนลงจากศาลามุ่งตรงมาที่จอดเรือ พร้อมๆกัน ไม่ทยอยกันมาเหมือนขามา ทั้งที่วัดมีท่าน้ำ 2 ท่า แต่ท่าหนึ่งนั้นเราชาวบ้านรู้ดีกว่า เป็นท่าสำหรับพระใช้ขึ้นลง ก็จะไม่มีชาวบ้านเอาเรือไปจอดที่ท่าน้ำนั้นทั้งที่ใกล้กันนิดเดียวและเป็นเวลาที่พระไม่ได้มีกิจต้องใช้ท่าน้ำ คนบางกรูด ก็ รู้ธรรมเนียมมีระเบียบปฏิบัติกันเองโดยไม่ต้องมีการบอกกล่าวออกกฏห้ามใช้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น