วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เรือล่อง..ท่องวารี 2


วิถีชีวิต “ วันวานของบางกรูด “ ในวัยเด็กของพลอยโพยม เป็นวิถีไทย 3 รูปแบบ คือ วิถีชาวน้ำริมฝั่งบางปะกง วิถีชีวิตของชาวสวน และวิถีชีวิตของชาวนา

วิถีชีวิตที่ผูกพันที่สุดคงเป็นวิถีชาวน้ำ เพราะสัมผัสทุกเมื่อเชื่อวัน เนื่องจากมีบ้านอยู่ริมน้ำบางปะกง พอลืมตาตื่นขึ้นมาหลังจากได้เห็นหลังคามุ้งสีขาวเป็นกรอบสี่เหลี่ยมครั้นพอเยี่ยมหน้าเปิดประตูบ้านออกมาก็ต้องเห็นบางปะกง ก่อนสิ่งอื่น เรียกว่าเห็นกันตั้งแต่เช้าจนหลับไป ส่วนชีวิตชาวสวนและชาวนาหากไม่ลงจากบ้านไป ก็จะไม่ได้สัมผัส นั่นเอง

นอกจากการเห็น ท้องฟ้า ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว ทิวไม้ ซึ่งนับว่าเป็นฉากประดับของ บางปะกงแล้ว สิ่งที่ต้องเห็นทุกวันตลอดทั้งวันอีกก็คือ เรือ นั่นเอง เพราะเรือเป็นสิ่งประดิษฐ์มา คู่กับลำน้ำตั้งแต่โบราณกาลเนิ่นนานมาแล้วนับเป็นวัฒนธรรมของสายน้ำอย่างหนึ่ง
ขอแนะนำสาระบางอย่างของเรือดังนี้

การสร้างเรือมี 2 ประเภทคือ

๑.เรือขุด เป็นเรือดั้งเดิมมาแต่โบราณ และมีหลายชาติ ที่นิยมใช้ไม้ซุงมาขุดเป็นเรือ
ในไทยใช้กันแพร่หลาย ทั้งในคู คลอง แก่งต่างๆที่มีโขดหิน เรือจะครูดไปตามพื้นดิน พื้นหินไม่แตกง่าย เพราะท้องเรือหนา ง่ายกว่าการต่อเรือ เพราะไม่ต้องใช้อุปกรณ์มากนัก
ใช้ไม้ซุงทั้งต้นนำมาขุดถากทำเป็นเรือ ส่วนมากเป็นไม้ตะเคียน ไม้เต็งรัง แต่ส่วนมากจะเป็นไม้ตะเคียน เพราะลำต้นใหญ่กว่าไม้อื่น โดยลอกเปลือกเว้นหัวท้ายข้าง ละ ๒ ศอกแล้วใช้ขวานขุดแซะ
เรือขุดได้แก่
อีโปง(เรือโปง ลุ่มโป ) เรือเป็ด เรือมาด เรือยาว เรือชะล่า เรือมอ เรือโกลน เรือสำปันนี เรือม่วง เรือเพรียว เรือสามเกล้า เรือแม่ปะ หรือเรือหางแมงป่องหรือหางแมลงป่อง

๒. เรือต่อ คือการนำแผ่นกระดานมาต่อเป็นรูปเรือ มี ส่วนประกอบ ต่างๆที่นำมาประกอบเป็นตัวเรือ มีมาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกาทศรถ มีการสั่งช่างต่อเรือมาจากประเทศฮอลันดา เข้าใจว่าคงจะดำริต่อเรือกำปั่นแบบฝรั่งสำหรับใช้ในราชการ ส่วนเรือสำเภาแบบจีนคงจะต่อได้อยู่แล้ว โดยช่างต่อเรือชาวจีน เป็นหัวหน้า

เรือต่อ มีหลายขนาด และได้แบบอย่างเรือมาจากประเทศจีน โดยเฉพาะเรือขนาดเล็กที่ใช้ไปมาระหว่างเรือสำเภากับฝั่ง ที่เรียกว่า ซำปัง ทำด้วยไม้ ฉำฉา มีเข้ามาเมืองไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แต่ยังไม่ได้รับความนิยม จนมาถึงรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อคราวที่ต้องการเรือเล็กและเบาสำหรับเจ้านายและท้าวนางฝ่ายใน ใช้พายเล่นในสระในพระราชอุทยานหลวงที่เรียกว่าสวนขวา เป็นต้นมา นับแต่นั้น ความนิยมต่อเรือ และใช้เรือต่อ ก็ได้แพร่หลายออกไป

เรือต่อได้แก่
เรือพ่วง เรือกระแซง เรือเอี้ยมจุ้น เรือบด เรือสำปั้น เรือฉลอม เรือฉลอมท้ายญวน เรือหางยาว เรืออีแปะ เรือป๊าบหรือเรือแตะ เรือผีหลอก เรือจู๊ด เรือโอ่ เรือข้างกระดาน เรือตังเก เรือเท้ง เรือกำปั่น

เรือแต่ละประเภท ก็มีรายละเอียดน่าสนใจมากมาย แต่พลอยโพยมขอหยิบยกมาเพียงบางลำ เล่าสู่กันเท่านั้น โดยขอเลือกเอาเรือที่ประทับใจในความรู้สึกของผู้เล่าก็แล้วกันนะคะ เคยกล่าวถึงเรืออีโปงในคราวที่เล่าเรื่องดอกโสน และ เรือล่อง..ท่องวารี วิถีแห่งลำน้ำ เขียนถึงเรือหลายลำ คราวนี้ขอเล่าถึงเรือพระบิณฑบาต ซึ่งที่มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ฉะเชิงเทรา ใช้เรียก ซากเรือ ที่มีรูปทรงนี้ว่า เรือเพรียว (เรือเพรียวเป็นเรือขุด) แต่พลอยโพยม ขอเรียกตามการใช้งานว่า เรือพระบิณฑบาต และเรือนี้ก็เป็นเรือต่อไม่ใช่เรือขุด



พลอยโพยมไปตระเวนหาเรือบิณฑบาตที่วัดอื่นๆหลายวัดที่ตั้งอยู่ริมน้ำเสียเกือบเดือน ทั้งที่ในอำเภอเมือง อำเภอบางคล้า อำเภอบ้านโพธิ์ คิดว่าคงพอมีเหลือบ้างเพราะน่าจะเป็นเรือที่สมัยก่อคงจะมีใช้กันที่แพร่หลายตามวัดวาอารามริมน้ำ แต่ไม่พบ ซี่งบางวัดไม่เคยใช้เลย บางวัดเคยมีบ้างและเลิกใช้ พากันผุพังไปกันหมดแล้ว ต่อมา ถึงทราบว่า ที่วัดบ้านเกิด ยังมีเรือลำนี้เหลืออยู่โดยไม่มีใครใส่ใจ ก็เลยไปติดตามดูและจ้างคนมาซ่อมแซมที่วัด ทำให้คนรุ่นหลังของวัดตื่นเต้นกันเพราะไม่เคยเห็นมาก่อน และรุ่นผุ้ใหญ่เอง ก็ไม่ได้สนใจ กับเรือ เก่าๆ ผุๆ ด้วยลำนี้เลย ที่เด็กรุ่นหลังของวัดไม่เคยเห็นเรือลำนี้ เพราะหลังจากที่พระภิกษุองค์ที่ใช้เรือลำนี้ สึก แล้ว ไม่มีใครใช้เรือนี้ต่อได้เพราะพายยากมาก

เรือพระลำนี้ ยกขึ้นบกทิ้งไว้ เกือบสี่สิบปี โชคดี ที่ยังไม่ผุชำรุดมากนัก เพราะตัวลำเรือเป็นไม้ตะเคียน

ขนาดคุณน้าของพลอยโพยม บวช 1 พรรษา ในสมัยนั้น หัดพายเรือลำนี้ ทุกวัน ก็พายไม่ได้ ลูกศิษย์วัดต้องคอยช่วยเวลาเรือล่มบ่อยๆ ในชีวิตวัยเด็ก เห็นพระชื่อพระอุ้น พายอยู่องค์เดียว แต่พี่ๆรุ่นใหญ่ ของบ้านจะเห็นหลายองค์ ที่พายได้และยังมีลำที่เล็กและเพรียวกว่านี้ อีกด้วย เป็นของอดีตเจ้าอาวาสที่ต่อจากหลวงตาเหลี่ยม ชื่อพระประสาทสรคุณ แต่ผุพังไปเสียแล้ว น่าเสียดายจริงๆ
ขนาดพระอุ้นเอง ยังพายล่มบ่อยๆ พวกพี่ผู้ชายต้องออกไปช่วยหลายครั้ง ท่านพายข้ามฝั่งของแม่น้ำมารับบิณฑบาต บ้านฝั่งตรงข้ามวัด ดังนั้นใต้ผืนน้ำบางปะกงที่บางกรูด คงจะมีถ้วยชามโบราณสวยงามกระจัดกระจายกันค่อนข้างมากทีเดียว

ในสมัยเด็ก ทุกบ้านจะมีเรือใช้งานต่างๆ บ้านละหลายลำ และทุกบ้านต้องซ่อมแซมเรือกันเอง ปัจจุบันนี้แทบไม่เหลือผู้คนที่จะซ่อมแซม ยาชันเรือกันแล้ว พอคิดจะซ่อมเรือพระลำนี้ ก็เหนื่อยยากกับการหาผู้มาซ่อมแซม ในที่สุดคุณลุงหอม อายุ 80 กว่า ช่วยมาซ่อมแซมให้เพราะสนับสนุนที่พลอยโพยมตั้งใจซ่อมแซมเรือลำนี้ให้วัดเก็บไว้ให้ลูกหลานรุ่นหลังได้รู้จักเรือที่ สุดแสน Classic ลำนี้

เรือพระบิณฑบาต
เรือลำนี้ classic มากจริงๆ สำหรับลุ่มน้ำบางปะกงตรงวัดบางกรูด
เป็นเรือที่ ลอยน้ำไว้เฉยๆไม่ได้ จะล่มทันที ต้องมีคนนั่งให้น้ำหนักเรือ เวลาพายเรือ ห้ามยกพายขึ้นจากน้ำ พายต้องแตะน้ำในลักษณะ เรี่ยน้ำตลอดเวลา เป็นท่าพายที่สวยงาม เพราะพายฉวัดเฉวียนไปมาในน้ำ ต้องให้น้ำหนักและจังหวะ กับใบพาย ไม้พายที่เหมาะกับเรือชนิดนี้ คือไม้พายที่ทำมาจากไม้แดง ไม้พายจึงจะกินน้ำได้ดี เมื่อพระจอดรับบิณฑบาตจะต้องเกาะบันไดท่าน้ำไว้มือหนึ่ง เพราะหยุดพาย เรือจะทรงตัวไม่ได้ พระที่รับบิณฑบาตต้องใช้มือเดียวในการถ่ายของที่ชาวบ้านถวายลงสำรับในเรือ เรือพายได้เร็วมาก เพราะเล็กเพรียว เมื่อกลับถึงวัดต้องยกเรือขึ้นบกทุกครั้ง พอจะใช้งานก็ยกลงมาใหม่ ท่วงท่าพายเรือสง่างามเพราะผู้พายต้องนั่งตัวตรงตั้งฉาก 90 องศา โดยนั่งเข่าชิด ฝ่าเท้าต่อส้นเท้าเพราะเรือแคบมาก พระบางองค์ที่รูปร่างใหญ่มากก็จะนั่งไม่ได้

เรือบ้าน
เป็นศัพท์ที่เด็กๆที่บางกรูดใช้เรียกขบวนแพ ที่โยงตามหลังเรือขุดของกรมชลประทาน ซึ่งต้องออกปฏิบัติภาระกิจ ขุดคลองลอกเลนที่ตื้นเขิน อยู่เนืองๆ ขบวนแพเป็นแพเหล็ก ไม่ใช่แพไม้ไผ่และมีบ้านพักเจ้าหน้าที่ของกรมชลประทาน แพละหลัง ขบวนละหลายๆแพ
บ้านไม้บนแพเหล็กลำต้นๆ จะเป็นบ้านของระดับหัวหน้างาน จะทาสีสวยงาม เช่นบางขบวนเป็นสีฟ้าอ่อน สีเขียวอ่อน บ้านเจ้าหน้าที่แพหลังๆ ไม่ทาสี รอบบ้านมีการล้อมลูกกรง กันเด็กตกน้ำ ปลูกต้นไม้ในกระถาง ตั้งพื้นบ้าง แขวนบ้าง พวกเราจะเห็นความเป็นอยู่ของคนบนบ้าน เช่น หุงข้าว ทำกับข้าว บางแพก็ควันโขมง บางแพก็กวาดบ้าน อาบน้ำให้เด็ก หรือเดินไปมาเป็นต้น กิจกรรมของบ้านแต่ละหลังในขบวนเดียวกัน จะแตกต่างกัน เป็นวิถีชีวิตที่ลอยมาให้เห็นแล้วก็ลอยเลยลับไปกับลำน้ำ เด็กๆจะตื่นเต้น เวลาเรือบ้านนี้มา ตะโกนบอกต่อๆกันว่า เรือบ้านมาแล้ว

เรือสำเป๊ะ เรือเช้าเป๊ะ เรือผีหลอก
รูปร่างเพรียวกว้างประมาณ ๕๐-๖๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๔ วา ๒ ศอก(ประมาณ ๙ เมตร ) หัวเรือเรียวเล็ก ท้องเรือแบนราบจึงแล่นในน้ำตื้นได้สะดวก คล่องตัวในการแจวหรือพายทวนน้ำ พื้นตอนท้ายเรือใช้ไม้กรุปิดและเปิดได้ยาว ๑ เมตร สำหรับให้คนยืนแจวเรือ พายเรือ ภายในมีที่ว่างสำหรับขังปลาขนาดใหญ่ที่จับได้ ตลอดลำเรือมีกงขึ้นห่างเป็นช่วง ๆ ท้องเรือปล่อยโล่งไม่มีไม้ปิดแต่ใช้ทางมะพร้าวตัดปลายใบเล็กน้อยป้องกันมิให้ปลาที่กระโดดเข้ามาหนีออกไปได้
สาเหตุที่เรียกชื่อว่า “ เรือผีหลอก “ ก็เพราะด้านข้างลำเรือมีไม้กระดานสีขาวหรือสังกะสีแผ่นสี่เหลี่ยม ผูกติดไว้กับแคมเรือมีความสูงเรี่ย ๆ น้ำ เมื่อแล่นผ่านสายน้ำก็จะสะท้อนเป็นเงาวาววับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลางคืน ทำให้ปลาที่อยู่บนผิวน้ำตกใจกระโดดลอยสูงและตกลงมาบนแผงได้ เลยเข้าสู่ท้องเรือ
การหาปลาจะหาในช่วงเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ เพราะเป็นฤดูที่มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ปลาก็ชุกชุมและมีขนาดใหญ่ ปลาที่เข้าเรือผีหลอกนี้ส่วนใหญ่เป็นปลาที่หากินน้ำตื้นเช่น ปลาตะเพียนขาว ปลาตะเพียนทอง ปลาซิว ปลาฉลาด ปลาเนื้ออ่อน ปลากระทุงเหว ปลาเสือ ปลากระดี่ ปลากระบอก ปลากะพง (กะพงขาว และกะพงข้างลาย ) เป็นต้น เวลาที่เหมาะสมในการใช้เรือผีหลอกออกจับปลา คือ เวลากลางคืนตั้งแต่ ๓ ทุ่ม ไปจนรุ่งสาง เมื่อฟ้าสว่างในตอนเช้า ผู้ที่มีบ้านอยู่ริมแม่น้ำ จะได้เห็นเรือผีหลอกพายกลับมาพร้อม ๆ กันหลายลำ (ฐิระวัตร,๒๕๓๙ )

การพายเรือและแจวเรือมี ๒ลักษณะ
๑.การวาด การกวาดพายเป็นแนวโค้งเข้าหาตัว
๒.การคัด ใช้พายวัดน้ำออกจากตัว (กดด้ามพายลงงัดกับข้าง-เรือ)
การคัดด้วยแจวไม่เหมือนการคัดด้วยพาย
การพายเรือนอกจากช่วยพุ้ยน้ำให้เรือแล่นไปได้ ยังช่วยพยุงเรือไม่ให้ล่มอีกด้วย



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น