วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2554

[บทความ] ..."วรรณกรรมวันแม่" เรื่อง...มหาชาติกัณฑ์มัทรี...


[บทความ]...วรรณกรรมวันแม่...
Original : http://bangkrod.blogspot.com/



คุณร้อยตะวันนำเรื่องราวหลากหลายของชาวล้านนามาเล่าสู่ท่านผู้อ่าน ล้วนแต่น่าสนใจเพลงก็ไพเราะคงถูกใจท่านผู้อ่านกันนะคะ เผอิญเดือนนี้คือเดือน...สิงหาคม.... นับเป็นเดือนที่มีความหมายต่อปวงชนชาวไทย เป็นเดือนแห่งวาระสำคัญยิ่งคือวันแม่แห่งชาติไทย พลอยโพยมเลยขอขัดจังหวะบรรยากาศล้านนาทั้งเรื่องเล่า อาหารและดอกไม้ซึ่งล้วนเป็นมนตร์เมืองเหนือที่มีเสน่ห์ล้ำลึก และน่าศึกษา

พลอยโยมพบหนังสือของคุณพ่อเป็นเล่มเล็ก ๆ คือวรรณกรรม "เรื่องแม่" พิมพ์แจกในงานวันแม่ เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2493 นับอายุหนังสือ ก็ 61 ปีล่วงมาแล้ว จัดพิมพ์โดยสำนักวัฒนธรรมทางวรรณกรรม สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ประกอบด้วย หกหัวข้อเรื่อง เขียนโดยนักประพันธ์หกท่านคือ "นายเปลื้อง ณ นคร, พระวรเวทย์พิสิฐ์, หลวงสารานุประพันธ์, หลวงบุณยมานพพาณิชย์. นายมนตรี ตราโมท และนายนเจือ สตะเวทิน"

ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการบรรเลงและกล่อมเกลาให้รู้คุณของแม่ ตามที่รัตนกวีของชาติที่วาดไว้ในบทประพันธ์ ซึ่งเคยบรรยายทางวิทยุกระจายเสียง พลอยโพยมขอเสนอเรียงตามลำดับจากในหนังสือที่มีอายุมากกว่าพลอยโพยม




...เรื่องที่ 1 มหาชาติกัณฑ์มัทรี...


ตั้งแต่เด็กพลอยโพยมไปฟังเทศน์มหาชาติที่วัดจะชอบฟังอยู่ สองกัณฑ์ คือกัณฑ์กุมารและกัณฑ์มัทรี นั่งพนมมือฟังเทศน์ไป เศร้าจนน้ำตาคลอ ในยามนั้นได้แต่สงสารพระชาลี พระกัณหา และพระนางมัทรี ไม่ได้สะดุดใจกระไร แต่พอหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาในวัยนี้ ถึงระลึกได้ในเรื่องความรักของแม่ที่ยิ่งใหญ่มากมายสุดคณานับ ของพระนางมัทรี

สำนวนเขียนเทศน์มหาชาติมีหลายสำนวน เฉพาะกัณฑ์มัทรีนี้ นายเปลื้อง ณ นคร เขียนไว้ว่า กัณฑ์มัทรีนี้ต้องสรรเสริญเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ว่าท่านช่างกลั่นเอาความรู้สึกของแม่มาพรรณนาได้ละเอียดลออ
กัณฑ์มัทรีมีผู้แต่งหลายสำนวนด้วยกันแต่ไม่มีสำนวนไหนเกินสำนวนของเจ้าพระยาพระคลัง(หน)

ในสมัยก่อน หนังสือมหาเวสสันดรชาดก เป็นหนังสือเรียนของนักเรียน เป็นหนังสืออ่านประกอบประโยชน์แก่การศึกษา ครบทั้งสิบสามกัณฑ์ พลอยโพยมอึ้งว่า ตอน ม.ศ.5 ท่องอาขยาน ที่ขึ้นต้นว่า โส โพธิสัตโต ปางนั้นสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์........ ท่องแค่จบบท ประมาณ 2 หน้ากระดาษหนังสือเรียน ก็แทบแย่แล้ว ที่ไหนได้ รุ่นคุณปู่ของพลอยโพยม ท่านต้องอ่านทั้ง สิบสามกัณฑ์ คำบาลีมากมายที่เรียกกันว่าคาถาพันนั่นเอง

หนังสือที่อยู่ในมือ เป็นหนังสือเรียนของน้องชายคุณปู่ พิมพ์เมื่อ รศ. 128 ราคา 2 บาท 50 สตางค์ ปกแข็งหุ้มผ้า จึงพบว่า ในสารบัญ ซึ่งในสมัย ร.ศ. 128 เรียกว่าสารบบ มหาเวสสันดรชาดก เล่มนี้ มีที่เป็นพระนิพนธ์ของ พระเจ้าอัยกาเธอ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส 5 กัณฑ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 3 กัณฑ์ เจ้าพระยาพระคลังหน 2 กัณฑ์ พระเทพโมลีกลิ่น 1 กัณฑ์ สำนักวัดถนน 1 กัณฑ์ สำนักวัดสังข์กระจาย 1 กัณฑ์ ซึ่งมีรายละเอียดขี้แจงว่า มีผู้แต่งมากมาย บางท่านแต่งบางกัณฑ์ บางกัณฑ์แต่งหลายคน มีการคัดลอกต้นฉบับ คัดลอกต่อกันไปกันมา ก็มีถ้อยคำที่วิปลาสคลาดเคลื่อนผิดแผกกันออกไปอีก กรมศึกษาธิการจึงจึงสืบสวนค้นคว้า เลือกเฟ้นมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือเรียนเล่มนี้

พลอยโพยม มี มหาเวสสันดร อีก 1 เล่ม เป็นหนังสือที่กรมศิลปากร จัดพิมพ์ ในปี พ.ศ.2514 ก็จะมีสำนวนไปอีกแบบ เมื่อเปิดอ่านเทียบ จึงพบความจริงอย่างที่ "นายเปลื้อง ณ นคร" เขียนไว้ในหนังสือวรรณกรรมเรื่องแม่

...ในวันที่ชูชกมาขอสองกุมารจากพระเวสสันดร...พระนางมัทรีไปเก็บผลไม้ในป่า ขากลับ พบเสือและราชสีห์นอนขวางทาง เนื่องจากเทวดาตั้งใจมาขัดขวางมิให้พระนางมัทรีกลับมาถึงอาศรมตามเวลา เพราะเกรงว่า เมื่อพระนางมัทรีรู้เรื่อง ก็คงจักคิดติดตามไปอย่างไม่คิดชีวิต ซึ่งนายเปลื้อง ณ นคร เขียนไว้ว่า เรื่องของเทวดาและของอัศจรรย์ทั้งหลายนี้เป็นของอจินไตย คือไม่ควรนำมาคิด ถ้าจะถกเถียงว่า เทวดามีจริงหรือไม่ สัตว์พูดกับคนได้หรือไม่ คงเถียงกันอีกนาน

พระนางมัทรี... ตั้งแต่เสด็จออกจากบรรณศาลา ก็หวาดหวั่นพะวงถึงพระลูกมาตลอดทาง ผลไม้ต่างๆ ก็วิปริต ที่เคยมีผลก็กลายเป็นมีดอก ที่เคยมีดอกร่วงพรั่งพรูอยู่เมื่อวันก่อนกลับกลายเป็นมีผล ทุกทิศมืดคลุ้ม ขอบฟ้าเป็นสายเลือด แสรกคานก็พลิกตกจากพระอังสา ทุกอย่างวิปริตผิดไปหมด พระนางรีบเก็บผลไม้ตามแต่จะได้ แล้วสาวพระบาทกลับอาศรม ก็พบราชสีห์กับเสือนอนขวางทางอยู่ ทรงตกพระทัย หลบเข้าข้างทางทรงกันแสงไห้ทั้งเวลาก็เย็นลงไรไรจะค่ำแล้ว ยังไม่เห็นหน้าพระลูกแก้วของแม่เลย อกเอ๋ยจะทำไฉนดี จึงจะได้วิถีทางที่จะครรไล...จึงทรงเข้าไปอ้อนวอนสามสัตว์ที่ขวางทางอยู่บอกว่าพระนางเป็นใคร

อนึ่งพระสุริย์ศรีก็ย่ำสนธยาสายัณห์แล้ว เป็นเวลาพระลูกแก้วจะอยากนมกำหนดเสวย พระพี่เจ้าของน้องเอ๋ยทั้งสามรา ขอเชิญกลับไปยังรัตนคูหาห้องแก้ว แล้วจะได้เชยชมซึ่งลูกรักและเมียขวัญ อนึ่งน้องจะแบ่งปันผลไม้ให้กึ่งหนึ่ง ครึ่งหนึ่งนั้นน้องจะขอไปฝากพระหลานน้อยๆ ทั้งสองรา พระพี่เจ้าทั้งสามของน้องเอ๋ย จงมีจิตคิดกรุณาสังเวชบ้าง ขอเชิญท่านล่วงครรไลให้หนทางพนาวันอันสัญจร แก่น้องที่วิงวอนอยู่นี้เถิด

นายเปลื้อง ณ นคร กล่าวว่า "จะว่าทางสำนวนก็งามหมดทุกอย่าง แต่ความงามของสำนวน ยังไม่เท่าความรู้สึกทางความกระเทือนใจ พระนางมัทรีควรกระตือรือร้นถึงชีวิตของตัวตามวิสัยปุถุชน แต่กลับคิดถึงลูก ความคิดถึงลูกนี้ยังเผื่อแผ่ ไปถึงผู้อื่นด้วย แสดงให้เห็นหัวอกแม่ ย่อมมีความรักอาลัยเหมือนกันหมดไม่ว่าคนหรือสัตว์"



เทวดาที่จำแลงกายฟังคำอ้อนวอน...ก็เกิดความสังเวชจึงลุกขึ้นหลีกทางให้ พอดีเป็นเวลาพระจันทร์ขึ้น พระนางมัทรี วิ่งพลางกันแสงพลาง จนถึงใกล้อาศรมที่พระลูกรักเคยวิ่งเล่นก็ไม่เห็นที่พระลูกเจ้าเคยประพาสแล่นเล่น ประหลาดแล้วแลไม่เห็นก็ใจหาย ดังว่าชีวิตนางจะวางวายลงทันที จึงตรัสเรียกว่า แก้วกัณหาพ่อชาลีของแม่เอ่ย แม่มาถึงแล้วเหตุไฉนไยพระลูกแก้วจึงมิมาเล่าหลากแก่ใจ แต่ก่อนสิพร้อมเพรียง เจ้าเคยวิ่งแข่งเคียงพากันมาคอยรับพระมารดา ทรงพระสรวลสำรวลร่าระรื่นเริงรีบรับเอาขอคาน แล้วพากันกราบกรานพระชนนี พ่อชาลีเจ้าเลือกผลไม้ แม่กัณหาฉะอ้อนวอนไหว้ว่าจะเสวยนม ผธมเหนือพระเพลาพลางฉอเลาะแม่นี้ต่างๆ ตามประสาทารกเจริญใจ มีอุปไมยเสมือนหนึ่งลูกทรายทรามคะนอง ปองที่ว่าจะชมแม่เมื่อสายัณห์ โอพระจอมขวัญของแม่เอ่ย เจ้ามิเคยได้ความยากย่างลงเหยียบดิน ริ้นก็มิได้ไต่ไรก็มิได้ตอม เจ้าเคยฟังแต่เสียงพี่เลี้ยง...

แม่กลับเข้ามาถึงแล้วได้เชยชมชื่นสบาย ที่เหนื่อยยากก็เสื่อมหายคลายทุกข์ทุเลาลง ลืมสมบัติทั้งวงศาในวังเวียง โอแต่ก่อนแม่เคยได้ยินแต่เสียงเจ้าเจรจาแจ้ว ๆ อยู่ตรงนี้ นั่นก็รอยเท้าพ่อชาลี นี่บทศรีแม่กัณหาพระมารดายังแลเห็น โน่นก็กรวดทรายเจ้ายังเคยปรายเล่นเป็นกอง ๆ สิ่งของทั้งหลายเครื่องเล่นยังเห็นอยู่ แต่ลูกรักทั้งคู่ไปอยู่ไหนไม่เห็นเลย โอพระอาศรมเจ้าเอ๋ยน่าอัศจรรย์ใจ แต่ก่อนดูนี่สุกใสด้วยสีทอง เสียงเนื้อนกนี่ร่ำร้องสำราญรังเรียกคู่คูขยับขัน ทั้งจักจั่น พรรรณลองไน เรไรร้องอยู่หริ่ง ๆระเรื่อยโรย โหยสำเนียงดังเสียงสังคีตขับประโลมไพร โอเหตุไฉนเหงาเงียบเมื่อยามนี้ ทั้งอาศรมก็หมองศรีเสมือนหนึ่งว่าจะเศร้าโศก เออชะรอยว่าพระเจ้าลูกจะวิโยค พลัดพรากไปจากอกพระมารดาเสียจริงแล้วกระมังในครั้งนี้

พระนางไปทูลถามพระเวสสันดร พระเวสสันดรทรงนิ่งเฉยเสีย ถามหนักเข้า พระเวสสันดรหาเหตุบริภาษว่าพระนาง ไปเที่ยวเพลินในป่า ไม่ยอมตรัสเรื่องพระลูกยา พระนางมัทรีกลับออกมา บริเวณพระอาศรมสว่างด้วยแสงจันทร์ควรเป็นที่จำเริญตาจำเริญใจ ถ้าแม่ลูกอยู่พร้อมหน้า บังคมคืนออกมาเที่ยวหาพระลูกรักทุกหนแห่ง กระจ่างแจ้งด้วยแสงพระจันทร์ส่องสว่างพื้นอัมพรประเทศวิถี

นางเสด็จจรลีไปหยุดยืนในภาคพื้นปริมณฑลใต้ต้นหว้าจึงตรัสว่า ควรจะสงสารเอ่ยด้วยต้นหว้าใหญ่ใกล้อาราม งามด้วยกิ่งก้านประกวดกัน ใบชอุ่มประชุมช่อเป็นฉัตรชั้นดังฉัตรทอง แสงพระจันทร์ดั้นส่องต้องน้ำค้างที่ขังให้ไหลลงหยดย้อย เหมือนหนึ่งน้ำพลอย พร้อย ๆ อยู่ พราย ๆ ต้องกับแสงกรวดทรายที่ใต้ต้นอร่ามวามวาวดูเป็นวงวนแวว ดังบุคคลเอาแก้วมาระแนงแกล้งมาปรายโปรยโรยรอบปริมณฑลก็เหมือนกัน งามดั่งไม้ปาริชาติในเมืองสวรรค์มาปลูกไว้ ลูกรักเจ้าแม่เอ่ยเจ้าเคยมาอาศัยนั่งนอน ประทับร้อนสำราญร่มรื่น ๆสำรวลเล่นเย็นสบาย พระพายรำเพยพัดมาฉิวเฉื่อย เรไร ระรี่ เรื่อยร้องอยู่หริ่งๆ แต่ลูกรักแม่ทั้งชายหญิงไปอยู่ไหนไม่เห็นเลย อนิจจาเอ๋ยเห็นแต่ไทรทองถัดกันไป กิ่งก้านใบรากห้อยยื่นระย้า เจ้าเคยมาห้อยโหนโยนชิงช้าชวนกันแกว่งไกว แล้วไล่ปิดตาหาเร้นแทบหลังบริเวณพระอาวาส เจ้าเคยมาประพาสสรงสนานในสระศรี โบกขรณีตำแหน่งนอกพระอาวาส

นางเสด็จลีลาศไปเที่ยวเวียนรอบ จึงตรัสว่าน้ำเอ๋ยเคยมาเปี่ยมขอบเป็นไรจึงขอดข้นลงขุ่นหมอง พระพายเจ้าเอ๋ยเคยมาพัดต้องกลีบอุบล พากลิ่นสุคนธ์ขจรรสมารวยรื่น เป็นไรจึงเสื่อมหอมหายชื่นไม่เฉื่อยฉ่ำ ฝูงปลาเอ๋ยเคยมาผุดคล่ำดำแฝงฟอง บ้างก็ขึ้นล่องว่ายอยู่ลอยเลื่อน ชมแสงเดือนอยู่พราย ๆ เป็นไรจึงไม่ว่ายเวียนวง นกเจ้าเอ๋ยเคยบินลงไล่จิกเหยื่อทุกเวลา วันนี้แปลกเปล่าตาแม่แลไม่เห็น พระลูกเอ๋ยเจ้าเคยมาเที่ยวเล่นแม่แลไม่เห็นแล้ว โอ้แลเห็นแต่สระแก้วอยู่อ้างว้างวังเวงใจ

นางก็เสด็จล่วงตำบลเที่ยวค้นหาพระลูกตามลำเนาเนินป่า ทุกสุมทุมพุ่มพฤกษาป่าสูงยูงยางใหญ่ไพรระหง พนัสแดนดงเย็นยะเยือกเงียบสงัดเหงา ได้ยินแต่เสียงดุเหว่าละเมอร้องก้องพนาเวศ พระกรรณเธอสังเกตว่าสองดรุณเยาวเรศ เจ้าร้องขานอยู่แว่ว ๆ ให้หวาดว่าเสียงสำเนียงพระลูกแก้วเจ้าขานรับพระมารดา นางเสด็จลีลาเข้าไปหาดู เห็นหมู่สัตว์จตุบาทกลาดกลุ่มเจ้าสุมนอน นางก็ยิ่งสะท้อนถอนพระทัยเทวศครวญ เสด็จด่วนดะดุ่มเดินเมินมุ่งละเมาะไม้มองหมอบ แต่ย่างเหยียบกรอบก็เหลียวหลัง พระโสตฟังให้หวาดแว่วว่าสำเนียงเสียงพระลูกแก้วเจ้าบ่นอยู่งึมงึม พุ่มไม้ครึ้มเป็นเงา ๆ ชะโงกเงื้อม พระเนตรเธอแลเหลือบให้ลายเลื่อม เห็นเป็นรูปคนตะคุ่ม ๆ อยู่คล้าย ๆ แล้วหายไป



สมเด็จอรทัยเธอเที่ยวตะโกนกู่ กู่ ก้อง พระพักตรเธอฟูมฟองนองไปด้วยน้ำพระเนตรเธอโศกา จึงตรัสว่าโอ้โอ๋เวลาป่านฉะนี้เอ่ยมิดึกดื่น จวนจะสิ้นคืนค่อนรุ่งไปเสียแล้วหรือกระไรมิรู้เลย พระพายรำเพยพัดมารี่เรื่อยอยู่เฉื่อยฉิว อกแม่นี้ให้อ่อนหิวสุดละห้อย ทั้งดาวเดือนก็เคลื่อนคล้อยลงลับไม้ สุดที่แม่จะติดตามเจ้าไปเมื่อยามนี้ ฝูงลิงค่างบ่างชะนีที่นอนหลับ ก็กลิ้งกลับเกลือกตัวอยู่ยั้วเยี้ย ทั้งนกหกก็งัวเงียเหงาเงียบทุกรวงรัง แต่แม่เที่ยวเซซังเสาะแสวงทุกแห่งห้องหิมเวศ ทั่วประเทศทุกราวป่า สุดสายนัยนาที่แม่จะตามไปเล็งแล สุดโสตแล้วที่แม่จะรับทราบฟังสำเนียง สุดสุรเสียงที่แม่จะร่ำเรียกพิไรร้อง สุดฝีเท้าที่แม่จะเยื้องย่องยกย่างลงเหยียบดิน ก็สุดสิ้นสุดปัญญา สุดหา สุดค้น เห็นสุดคิด จะได้พานประสบรอยพระลูกน้อยแต่สักนิดไม่มีเลย จึงตรัสว่าเจ้าดวงมณฑาทองทั้งคู่ของแม่เอ๋ย หรือว่าเจ้าทิ้งขว้างวางจิตไปเกิดอื่น เหมือนแม่ฝันเมื่อคืนนี้แล้วแล

ดูกรสงฆ์ผู้ทรงพรมจารี...เมื่อสมเด็จพระมัทรีทรงพระกำสรดแสนกัมปนาท เพียงพระสันดานจะขาดดับสูญปริเทวิต์วา นางเสวยพระอาดูรพูลเทวศในอุรา น้ำพระอัสสุชลนัยนาเธอไหลนองคลองพระเนตร ทรงพระกรรแสงแสนเทวศพิไรรำ ตั้งแต่ประถมยามค่ำไม่หยุดหย่อนแต่สักโมงยาม นางเสด็จไต่เต้าติดตามทุกตำบล ละเมาะไม้ไพรสณฑ์ศิขริน ทุกห้วยธารละหานหินเหวหุบห้องคูหาวาศ ทรงพระพิไรร้องก้องประกาศเกริ่นสำเนียง พระสุรเสียงเธอเยือกเย็นระย่อทุกอกสัตว์ พระพายรำเพยพัดทุกกิ่งก้าน บุษบาก็เบิกบานผกากร รัศมีพระจันทรก็มัวหมองเหมือนหนึ่งจะเศร้าโศก แสนวิโยคเมื่อยามประจุสมัย ทั้งรัศมีพระสุริโยทัยส่องอยู่ราง ๆ ขึ้นเรืองฟ้า เสียงชะนีเหนี่ยวไม้ไห้หาละห้อยโหย พระกำลังนางก็อิดโรยพิไรร่ำร้อง พระสุรเสียงเธอกู้ก้องกังวานดง...

เทพยเจ้าทุกพระองค์กอดพระหัตถ์เงี่ยพระโสตสดับสาร พระเยาวมาลย์เธอเที่ยวหาพระลูก พระนางเธอเสวยทุกข์แสนเข็ญ ตั้งแต่ยามเย็นจนรุ่งเช้า ก็สุดสิ้นที่จะเที่ยวค้น ทุกตำแหน่งแห่งละสามหนเธอเที่ยวหา ถ้าจะคลี่คลายขยายมรคาก็ได้สิบห้าโยชน์โดยนิยม นางจึงเซซังไปสู่พระอาศรม บังคมบาทพระภัสดา ประหนึ่งชีวาจะวางวาย ทำลายล่วงสองพระกรเธอข้อนทรวง ทรงพระกรรแสงครวญแล้วรำพันว่า โอดวงสุริยันจันทรทั้งคู่ของแม่เอย แม่ไม่รู้เลยว่าเจ้าจะหนีพระมารดา ไปสู่ภาราใดไม่รู้ที่ หรือว่าจะข้ามนที ทะเลวน หิมเวศ ประเทศทิศแดนใด ถ้ารู้แจ้งประจักษ์ใจแม่ก็จะตามเจ้าไปสุดแรง นี่ก็เหลือที่แม่จะเที่ยวแสวงสืบเสาะหา...

เมื่อเช้าแม่จะเข้าไปสู่ป่า พ่อชาลีแม่กัณหายังทูลสั่ง แม่ยังกลับหลังมาโลมลูบจูบกระหม่อมจอมเกล้าทั้งสองรา กลิ่นยังจับนาสาอยู่รวยริน โอพระลูกข้านี้จะไม่คืนเสียแล้วกระมังในครั้งนี้ กัณหาชาลีลูกรักแม่ นับวันแต่จะแลลับล่วงไปเสียแล้วแลหนอ ใครจะกอดพระศอเสวยนมผธมด้วยแม่เล่า ยามเมื่อแม่จะเข้าที่บรรจถรณ์ เจ้าเคยเคียงเรียงหมอนแนบข้างทุกราตรี...

แต่นี้แม่จะกล่อมใครให้นิทรา โอ้แม่อุ้มท้องประคองเคียงเลี้ยงเจ้ามาก็หมายมั่น สำคัญว่าจะได้อยู่เป็นเพื่อนยากจะฝากผีพึ่งลูกทั้งสองคน มิรู้ว่าจะไม่เป็นผลอาเพศผิดประมาณ เจ้าเอาแต่ห่วงสงสารนี่หรือมาสรวมคล้อง ให้แม่นี้ติดต้องข้องอยู่ด้วยอาลัย เจ้าทิ้งชื่อและโฉมไว้ให้เปล่าอกในวิญญา เมื่อเช้าเมื่อแม่จะเข้าไปสู่ป่ายังได้เห็นหน้าเจ้าอยู่หลัด ๆ ควรแหละหรือมาสลัดแม่นี้ไว้ เหมือนจะเตือนให้แม่นี้บรรลัยเสียจริงแล้ว ควรจะสงสารเอ่ยด้วยนางแก้วกัลยาณี น้อมพระเกศีลงทูลถาม หวังจะติดตามพระลูกรักทั้งสองรา...

พระนางมัทรีได้ทรงเที่ยวค้นหาพระลูกรักแต่ยามค่ำไม่หยุดยั้ง จนแสงแดดอ่อนขึ้นจับฟ้าก็มิได้พบ พระนางจึงหวนกลับเข้าเฝ้าคร่ำครวญอยู่เฉพาะพระพักตรพระสามี จนกระทั่งสิ้นวิสัญญีภาพฟุบลงตรงพระพักตรพระเวสสันดร...

พระเวสสันดรตกพระทัย...สำคัญว่าพระนางมัทรีสิ้นพระชนม์ด้วยความเหน็ดเหนื่อยและความรักอาลัยลูก ก็ทรงพระกรรแสงสลด โอ้อนิจจามัทรีเจ้าพี่เอ๋ย บุญพี่นี้น้อยแล้วนะเพื่อนยาก เจ้ามาตายจากพี่ไปในวงวัด เจ้าจะเอาป่าชัฏนี่หรือมาเป็นป่าช้า จะเอาบรรณศาลานี่หรือเป็นบริเวณพระเมรุทอง จะเอาแต่เสียงสาลิกาอันร่ำร้องนั่นหรือมาเป็นกลองประโคมใน จะเอาแต่เสียงจักจั่นและเรไรอันร่ำร้องนั่นหรือมาต่างแตรสังข์และพิณพาทย์ จะเอาแต่เมฆหมอกในอากาศนั่นหรือมากั้นเป็นเพดาน จะเอาแต่ยูงยางในป่าพระหิมพานต์มาต่างฉัตรเงินและฉัตรทอง จะเอาแต่แสงพระจันทร์อันผุดผ่องมาต่างประทีปแก้วงามโอภาส อนิจจามัทรีเอ๋ย มาตายอเนจอนาถไร้ญาติที่กลางดง...

เมื่อทรงพิจารณาทรงเห็นว่าพระนางมัทรีแค่สลบไปจึงเอาน้ำมาประพรมจนฟื้น แล้วจึงบอกว่าพระองค์บริจาคพระลูกให้เป็นทานแก่ชูชกเสียแล้ว ที่ไม่บอกพระนางมัทรีแต่แรก เพราะพระนางเพิ่งเหน็ดเหนื่อยมาจากป่า ความร้อนจากการเดินทางและความอาลัยพระลูกรัก จะทำให้เกิดทุกข์ทับทวีอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ในที่สุดพระนางมัทรี ก็ได้ขออนุโมทนาด้วยปิยบุตรทานบารมี...

ใจความของกัณฑ์มัทรีนี้คือแสดงให้เห็นความรักของมารดาซึ่งมีต่อบุตร เป็นความรักอันใหญ่หลวง ตามสำนวนของท่านเจ้าพระยาพระคลัง(หน) แม้แต่ฉบับของกรมศิลปากร พ.ศ. 2514 ก็ไม่จับใจเท่า...

1 ความคิดเห็น:

  1. ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก

    ตอบลบ