วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2554

[บทความ] "น้ำตาแสงไต้" ...บทเพลงจากวิญญาณรักในรัตติกาล...





"น้ำตาแสงไต้" ...บทเพลงจากวิญญาณรักในรัตติกาล...
ครูสง่า อารัมภีร หรือ “แจ๋ววรจักร” นักเขียนและศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล) นักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่ของเมืองไทย ท่านเล่าเกี่ยวกับที่มาของเพลง “น้ำตาแสงใต้” ไว้ดังนี้

ผมจำได้แม่นยำว่า ...วันนั้น ในราวเดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2487 ศิวารมณ์กำลังซ้อมละครเรื่องพันท้ายนรสิงห์อยู่ที่ห้องครูเล็กศาลาเฉลิมกรุง ดูเหมือนจะเข้าโปรแกรมวันที่ 10 พฤศจิกายน เราซ้อมกันอย่างหนักเพราะเป็นสมัยที่เริ่มงานกันใหม่ๆ กำลังฟิต สุรสิทธิ์ จก สมพงษ์ และทุกๆ คนมาซ้อมตั้งแต่เช้าจรดเย็นทุกวัน
เนรมิต มารุต สมัยโน้น เข้าคู่กันคร่ำเครียดกับบท และวางคาแร็กเตอร์ตัวละครเป็นการใหญ่ นาฏศิลป์ก็ซ้อมกันไป นักร้องก็ร้องกันไป เสียงแซดไปทั่วห้องเล็กเฉลิมกรุงตั้งแต่ 9 น. ถึง 15.30 น. ทุกวัน

ตอนนั้นผมมีหน้าที่แต่เพียงดีดเปียโนสำหรับนาฎศิลป์เขาซ้อมและต่อเพลงนักร้องเท่านั้น ผู้แต่งเพลงศิวารมณ์คือ ประกิจ วาทยกร และ โพธิ์ ชูประดิษฐ์ ผมเป็นนักดนตรีใหม่ๆ ยังไม่ถึงปีเลย เพลงก็ยังแต่งกับเขายังไม่เป็น และไม่เคยคิดว่าจะแต่งกับเขาได้ยังไง ได้แต่ดูเขาแต่งเท่านั้น วันหนึ่งๆ ก็ได้แต่ดีดเปียโนจนเมื่อยนิ้วไปหมด…”

เหตุการณ์ต่อมาก็คือเพลงเอกของเรื่องยังแต่งไม่เสร็จ แม้ครูเพลงทั้งสองจะแต่งมาให้แล้ว แต่เจ้าของเรื่องและผู้กำกับยังไม่พอใจ เพราะต้องการให้เพลงนั้นมีท่วงทำนองแบบไทยๆ หวานเย็นและเศร้า โดยที่ทำนองเพลงของครูประกิจออกไปทางฝรั่ง ส่วนของครูโพธิ์ก็เป็นไทยครึ่ง ฝรั่งครึ่ง ทุกคนต่างพากันอึดอัด เพราะเรกงว่าจะเสร็จไม่ทันวันเปิดการแสดง

เย็นวันนั้นครูสง่า อารัมภีร ก็ไปนั่งดื่มเหล้ากับครูเวทางค์ที่ร้านโว่กี่ตรงข้ามศาลาเฉลิมกรุงและก็ปรารถถึงการแต่งเพลงน้ำตาแสงไต้ ซึ่งเป็นเพลงเอกในละครเรื่องพันท้ายนรสิงห์ที่ยังค้างคาอยู่ไม่แล้วเสร็จ

ครูทองอินหรือเวทางค์ ก็บอกว่า “เพลงไทยนั้นมีแยะ แต่ไอ้รสหวานเย็นและเศร้าที่หง่าว่ามันมีน้อย ที่อั๊วชอบมากและรู้สึกหวานเย็นเศร้าก็เห็นจะมีแต่ เขมรไทรโยค และลาวครวญเท่านั้น”

เมื่อพูดขาดคำ ครูเวทางค์ก็ร้องให้ฟัง เสียงดังลั่นร้านว่า “ร้อยชู้หรือจะสู้เนื้อเมียตน เมียร้อยคนหรือจะสู้พระแม่ได้…”

ร้องไม่ทันจบก็ขึ้นเพลงใหม่ “เสียงนกยูงทอง มันร้องโด่งดัง หูเราฟัง หูเราฟัง…” ทันที จนคนในร้านพากันขำ หัวร่อกันทุกคน

ซึ่งคืนนั้นครูสง่า อารัมภีร เล่าว่า ตนเองได้ข้ามฟากมานอนที่เก้าอี้ยาวของแผนกฉาก แล้วหลับฝันไปว่า

“…มีคนอยู่ 4 เป็นชาย 3 หญิง 1 แต่งกายแปลกมากเหมือนนักรบไทยโบราณ เขาถอดหมวกวางไว้บนเปียโน คนเล่นเปียโนผิวค่อนข้างขาว หน้าตาคมคาย อีกคนหนึ่งผิวคล้ำ นั่งอยู่ทางขวาของเปียโน คนที่ 3 อายุมากกว่า 2 คนแรก ผมหงอกประปราย ท่าทางเป็นผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ หน้าตาอิ่มเอิบ ปล่อยผมยาวปรกบ่า กำลังเอามือท้าวเปียโนอยู่ด้านซ้าย…”

ในความฝันนั้นครูสง่า อารัมภีร เล่าว่า ชายคนแรกที่ชื่อเทพ เล่นเปียโนเพลงเขมรไทรโยค ส่วนผู้หญิงที่ชื่อธิดานั้น เล่นเพลงลาวครวญ และชายผิวคล้ำคนที่สามที่ชื่อว่า อมรนั้นนำเอาเพลงทั้งสองเพลงมาผสมกันอย่างไพเราะ และกลมกลืนกัน



ครูสง่า อารัมภีร์ เขียนเล่าเอาไว้ว่า “…ท่านที่รัก เสียงที่ลอยมาจากเปียโนนั้น สำเนียงไทยแท้มีรส “หวานเย็นเศร้า”

ศิษย์ทั้งสองของเขาจับมือกันอย่างเป็นสุข หน้าของผู้มีอายุยืนยิ้มละไม

คุณครูอมรได้รวมวิญญาณของเขมรไทรโยคและลาวครวญ ให้เป็นเกลียวเขม็งเข้าหากันอย่างสนิทแนบ สำเนียงและวิญญาณถอดออกมาจากเพลงทั้งสองอย่างครบถ้วน โดยที่เพลงเดิมไม่ได้เสียหายอะไรแม้แต่น้อย ดูดุจสองวิญญาณเก่า เข้าเคล้ากันจนเกิดวิญญาณใหม่ที่สวยงามขึ้นอีกวิญญาณหนึ่ง…”

เพราะเหตุที่ครูสง่า อารัมภีร เป็นนักเขียนเล่าเรื่องเกี่ยวกับผีๆ สางๆ และวิญญาณต่างๆ และมีแฟนติดตามอ่านกันมากมายหลายเรื่องถึงขนาดพิมพ์รวมเล่มในชื่อว่าหนังสือแจ๋วเจอผี โดยใช้นามปากกาว่า “แจ๋ว วรจักร” เช่นเรื่อง วิญญาณสุนทรภู่ แจ๋วเจอพี่เหม ฯลฯ การเขียนเล่าเรื่องในแนวแบบนี้จึงน่าอ่าน น่าติดตาม

ครูสง่า อารัมภีร เล่าต่อไปอีกว่า “…บ่าย 3 โมงวันนั้น…เมื่อนาฎศิลป์และละครกลับกันไปแล้ว บนห้องเล็กเหลือ ผม เนรมิต มารุต สุรสิทธิ์

เนรมิตและมารุตพากันบ่นถึงเพลงน้ำตาแสงไต้ว่า ทำนองที่คุณประกิจส่งมายังใช้ไม่ได้ ไม่ตรงกับความประสงค์ สุรสิทธิ์บ่นว่าเหลืออีก 3 วัน เดี๋ยวก็ร้องไม่ทันหรอก ผมนั่งฟังเขาสักครู่ ก็หันมาดีดเปียโน

ท่านที่รัก ความรู้สึกที่บอกไม่ถูกได้พานิ้วมือของผมบรรเลงๆ ไปตามอารมณ์ ผมก็ไม่รู้ว่าเป็นเพลงอะไร เพราะเคลิ้มๆ ยังไงพิกล ก็ได้ยิน เนรมิต ถามว่า “หง่า…นั่นเพลงอะไร?”

ผมสะดุ้งพร้อมกับนึกขึ้นได้ และจำทำนองได้ทันทีว่าเป็นเพลงที่ครูอมรดีด เป็นเพลงที่ผมได้ฟังอย่างประหลาด ผมจำได้หมด

ในบัดนั้น ผมหันไปถามเนรมิตว่า “เพราะหรือฮะ”

เนรมิตพยักหน้า พลางบอกให้ผมเล่นใหม่ ผมก็บรรเลงอีกหนึ่งเที่ยว ทั้ง เนรมิต และมารุตก็พูดขึ้นว่า นี่แหละ “น้ำตาแสงไต้”

ผมดีใจรีบจดโน้ตและประพันธ์คำร้องกันเดี๋ยวนั้น จากพล็อตขององค์ชายใหญ่เจ้าของเรื่อง มารุตเอ่ยขึ้น…”นวล เจ้าพี่เอย…” เนรมิตต่อ “คำน้องเอ่ยล้ำคร่ำครวญ” แล้วก็ช่วยกันต่อ “ถ้อยคำดั่งเหมือนจะชวน ใจพี่หวนครวญคร่ำอาลัย”

พอจบประโยคแรก สุรสิทธิ์ก็ร้องเกลาทันที ร่วมกันสร้างจบคำร้องในราว 10 นาทีเท่านั้นเอง

สุดท้ายเพลงก็ทันละครแสดง สมัยนั้นฉากสุดท้ายเมื่อทำนองน้ำตาแสงไต้พลิ้วขึ้น คนร้องไห้กันทั้งโรงแม้ “พันท้ายนรสิงห์” จะสร้างเป็นภาพยนตร์ ก็ยังใช้ “น้ำตาแสงไต้” เป็นเพลงเอกอยู่ เนื้อเพลงน้ำตาแสงไต้ ที่ร่วมกันแต่งเสร็จภายใน 10 นาที…


เพลงน้ำตาแสงไต้
...นวลเจ้าพี่เอย คำน้องเอ่ยล้ำคร่ำครวญ
ถ้อยคำเหมือนจะชวน ใจพี่หวนครวญคร่ำอาลัย
น้ำตาอาบแก้ม เพียงแซมเพชรไสว
แวววับจับหัวใจ เคล้าแสงไต้ งามจับตา

นวลแสงเพชร เกล็ดแก้วอันล้ำค่า
ยามเมื่อแสงไฟส่องมา แวววาวชวนชื่นชม
น้ำตาแสงไต้ ดื่มใจพี่ร้าวระบม
ไม่อยากพรากขวัญภิรมย์ จำใจข่มใจไปจากนวล

นวลเจ้าพี่เอย...นวลเจ้าพี่เอย...

น้ำตาแสงไต้ - ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น